โสภณธรรม ครั้งที่ 102
ตอนที่ ๑๐๒
เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานต้องมีนามธรรมหรือรูปธรรมเป็นอารมณ์ จนกว่าจะประจักษ์ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม
สุชาติ อาจารย์กำลังพูดถึงตัวอารมณ์ ขณะที่มีสติระลึก เราก็มีนามรูปเป็นอารมณ์ แต่เรายังหาปัจจุบันไม่ได้ เพราะว่าถ้าพูดถึงเป็นอารมณ์ บอกว่านามรูปเป็นทั้งปัจจุบัน อนาคต ที่เรานึกถึงมัน แต่ยังไม่เป็นปัจจุบัน
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่นึก การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่นึก แต่ว่ามีลักษณะของปรมัตถธรรมกำลังปรากฏให้พิจารณา เช่น แข็ง ไม่ใช่ไปนึกถึงความแข็ง แต่ว่ามีลักษณะที่แข็งกำลังปรากฏให้พิจารณาว่า ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย นอกจากรูปแข็ง และเมื่อปัญญาสมบูรณ์ขึ้น ก็จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของรูป ของนาม ตามความสมบูรณ์ของปัญญา ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น
สุชาติ เราต้องพยายามจับปัจจุบันอารมณ์ เพื่อที่จะเป็นปรมัตถธรรม
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เราพยายามจับ ต้องพยายามฟังให้ละเอียด และให้เข้าใจด้วยว่า ไม่ใช่พยายามจับ เมื่อสติเกิด คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วไม่ใช่ทำอย่างอื่น พิจารณาเพื่อที่จะรู้ว่า ลักษณะรู้คืออย่างนี้ที่กำลังรู้แข็ง ลักษณะที่รู้แข็งเป็นลักษณะของสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ลักษณะของสภาพที่กำลังเห็นทางตา นี่ก็เป็นลักษณะรู้ สภาพรู้อย่างหนึ่ง ไม่ใช่ไปพยายามจับปัจจุบัน แต่ว่าเป็นการพิจารณา
สุชาติ ผมพูดถึงความเพียร
ท่านอาจารย์ ความเพียรก็คือเพียรที่จะรู้ลักษณะของรูปธรรม และเพียรที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม แต่ไม่ใช่ไปเพียรจับปัจจุบัน
สุชาติ อย่างผมกำลังได้ยินเสียงอาจารย์พูดอยู่ ผมก็ทราบว่า เสียงอาจารย์เป็นรูป ตัวรู้ที่รู้เสียงที่เกิดครั้งแรกเป็นนาม ผมอยากทราบว่าตอนนี้เป็นปัจจุบันแล้วใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ปกติก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน เข้าใจความหมายของปัจจุบันว่าอย่างไร เข้าใจความหมายของอดีตว่าอย่างไร เข้าใจความหมายของอนาคตว่าอย่างไร ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน
สุชาติ ปัจจุบันก็หมายความว่า สติระลึกรู้ว่ารูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หรืออย่างไร
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน เข้าใจคำว่า อดีตว่าอย่างไร เข้าใจคำว่า ปัจจุบัน ว่าอย่างไร เข้าใจอนาคตว่าอย่างไร
สุชาติ อดีตก็คือสิ่งที่มันผ่านไปแล้ว
ท่านอาจารย์ ผ่านไปแล้ว ไม่ปรากฏแล้วใช่ไหม แล้วอนาคต
สุชาติ ก็ยังไม่เกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปัจจุบันคืออะไร
สุชาติ ขณะที่ตั้งอยู่
ท่านอาจารย์ ปัจจุบันคือขณะที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นขณะนี้กำลังเห็น เป็นปัจจุบัน หรือว่าเป็นอดีต หรือเป็นอนาคต
สุชาติ ถ้าไม่มีการรู้สติปัฏฐาน ก็ไม่ใช่เป็นปัจจุบัน
ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่นี้บอกแล้วว่า อดีตเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว ไม่ปรากฏแล้ว ดับไปแล้ว และอนาคตคือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังได้ยินเสียงก็ดี กำลังเห็นก็ดี กำลังคิดนึกก็ดี กำลังรู้ว่าเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งก็ดี กำลังเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ก็ดี ขณะนั้นเป็นอะไร
สุชาติ พูดโดยทั่วๆ ไป ก็เป็นปัจจุบัน
ท่านอาจารย์ ก็เป็นปัจจุบันที่สติจะต้องระลึกเท่านั้นเอง ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน เข้าใจว่าอดีตคืออย่างไร อนาคตคืออย่างไร ปัจจุบันคืออย่างไร เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ก็คือเมื่อสิ่งใดกำลังปรากฏ ก็ระลึกตรงลักษณะนั้น
พระ อาตมากำลังสนใจลักษณะของสภาพรู้ อยากจะศึกษาเข้าถึงอรรถ คือ ขณะใดที่อารมณ์ทุกๆ อารมณ์ปรากฏขึ้น เช่น เสียงก็ดี หรือคิดนึกก็ดี ขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกศึกษา ในขณะนั้นบางครั้งก็เป็นความคิดเกิดขึ้นว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ในขณะนั้นรู้สึกว่าเป็นเรื่องของความคิด ซึ่งไม่ใช่สติที่กำลังระลึกตรงสภาวะ แต่บางครั้งสติเกิดขึ้นแล้วโน้มที่จะศึกษาว่า ในขณะที่อะไรก็ตามแต่กำลังปรากฏขึ้น ขณะนั้นจะต้องมีลักษณะของสภาพรู้กำลังรู้อยู่ จะเป็นเสียงก็ดี หรือว่าจะเป็นเรื่องราวคิดนึกถึงอะไรก็ตาม มันจะเป็นลักษณะของสภาพหนึ่งที่กำลังคิดนึกเรื่องอยู่ อาตมาคิดว่า ลักษณะของสภาพรู้ คือการรู้เรื่องต่างๆ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
พระ และบางครั้งก็มีความอยากที่จะระลึก ก็เป็นเรื่องคิดถึงนามธรรมก็มี อาตมาคิดว่าตลอดเวลาจะเป็นสติทุกครั้ง ก็ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย จะไม่มีใครที่จะมีสติปัฏฐานอยู่ตลอดเวลา โดยไม่หลงลืมสติ นอกจากพระอรหันต์
พระ แต่ต้องรู้ว่าขณะใดเป็นสติ ขณะใดเป็นคิดนึก
ท่านอาจารย์ ขณะที่เป็นสติปัฏฐาน คือ กำลังมีลักษณะของปรมัตถธรรมปรากฏ แล้วสติระลึกที่ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม แม้ว่าปัญญายังไม่รู้ชัดว่า ลักษณะนั้นเป็นนามธรรม แต่ขณะนั้นเมื่อนามธรรมกำลังรู้สิ่งใด ก็รู้ว่า ลักษณะรู้ สภาพรู้นั้นเป็นนามธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เช่น เสียงเมื่อสักครู่นี้ ถ้าสติปัฏฐานของใครจะเกิด ก็จะรู้ได้จริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพรู้เสียงยาวๆ หรือว่าเป็นสภาพที่กำลังรู้เสียงที่เกิด ลักษณะรู้ อาการรู้ กำลังรู้เสียงนั้น เช่นในขณะนี้ลักษณะรู้เสียงนั้นดับไปแล้ว แต่มีสภาพรู้ทางตา คือกำลังเห็น
พระ ถ้าเกิดรู้ได้อย่างนั้น ก็ไม่ใช่เรา สิ่งนั้นเป็นสภาพอย่างหนึ่งเกิดขึ้นรู้ แล้วก็หมดหน้าที่ในสภาพนั้นที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ เช่นเสียงที่บอกว่าเสียงนั้นก็ไม่มีแล้ว
ท่านอาจารย์ ความเป็นเรานี่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมมานานแสนนานทีเดียว เพราะฉะนั้นการที่สติปัฏฐานจะเกิดเพียงเล็กน้อย แล้วก็กำลังศึกษาลักษณะของอาการรู้ หรือสภาพรู้ ยังดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราไม่ได้ แต่ว่าขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่กำลังศึกษา และกำลังเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพรู้ จนกว่าวันหนึ่งก็จะละการยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นตัวตนได้ แต่ต้องอาศัยสติปัฏฐานที่เกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั่นเอง
พระ และอีกเรื่องหนึ่ง ขณะนี้เห็นเป็นคน ถ้าสติไม่เกิดระลึกศึกษาลักษณะที่ปรากฏทางตา จิตที่คิดนึกถึงรูปร่างสัณฐานก็มีด้วยในขณะนั้น
ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้นจะทิ้งรูปที่ปรากฏทางตาที่เคยเห็นว่าเป็นคนออกไปทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เพราะอาศัยการฟังแล้วฟังอีกเรื่องของรูปารมณ์ จนกระทั่งเข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วสติปัฏฐานก็ระลึกเพิ่มขึ้น การละคลายการยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตาว่าเป็นตัวตน จะค่อยๆ ละคลายไป ไม่ใช่ว่าจะหมดไปทีเดียว เช่น ทุกท่านลองหลับตา ลอง แล้วก็ไม่ทราบว่าขณะนี้จะมีอะไรปรากฏบ้างหรือเปล่า
พระ หลับตา มีสี
ท่านอาจารย์ สีอะไร
พระ อาจจะเป็นมืดก็ได้ ที่เราบัญญัติไปว่าเป็นมืด
ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าจะอยู่กลางแจ้ง หรือว่าในร่มมากน้อยแค่ไหน แต่ก็มีสีหนึ่งกำลังปรากฏใช่ไหม
พระ ใช่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นนั่นคือรูปารมณ์แน่นอน ซึ่งคนตาบอดไม่เห็น แม้ว่าหลับตาแล้ว คนที่มีจักขุปสาทก็ยังมีสีปรากฏ ไม่มีการยึดถือสีที่ปรากฏในขณะที่ปรากฏลางๆ ในขณะที่หลับตาว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ทั้งๆ ที่กำลังอยู่ในห้องนี้ แล้วก็มีผู้ฟังมากมายหลายท่าน แต่พอหลับตาลงไปมีเพียงสีเดียวที่ปรากฏ ไม่มีรูปร่างสัณฐานปรากฏเลย เพราะฉะนั้นทั้งๆ ที่อยู่ในห้องนี้ ก็เหมือนไม่มีใครอยู่ในที่นี้เลย เมื่อปรากฏเพียงสีเดียว ฉันใด พอลืมตาขึ้น ทำไมไม่เข้าใจให้ถูกว่า เพียงแต่เปลี่ยนสีเท่านั้นเอง จากสีเดียวก็เพิ่มเป็นหลายๆ สี แต่ก็ยังคงเป็นสีเท่านั้น
ถ้ารู้อย่างนั้นจริงๆ ก็จะเข้าใจอรรถของรูปารมณ์ว่า เป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วก็จะมองเห็นได้ว่า ทำไมถึงช่างไปคิดถึงสีสันวัณณะที่เป็นสีต่างๆ เปลี่ยนจากสีเดียวเป็นหลายๆ สี ทำให้เกิดรูปร่างสัณฐาน แล้วก็ยังยึดถือในรูปร่างสัณฐานนั้นว่า เป็นเพื่อน เป็นญาติ เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทั้งๆ ที่ตามความเป็นจริงก็เปลี่ยนจากสีเดียวเป็นหลายสี เพราะฉะนั้นสีก็คือสี ไม่ว่าจะเป็นสีเดียวหรือหลายสีฉันใด ถ้าปัญญารู้แจ้งจริงๆ พิจารณาบ่อยๆ ก็จะรู้ชัดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นไม่พ้นจากสี ไม่ว่าจะสีเดียวหรือหลายสี ก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น
การฟังเรื่องของรูปารมณ์บ่อยๆ อย่างนี้ เป็นปัจจัยที่จะทำให้สติปัฏฐานระลึกตามปกติในขณะที่เห็น เพราะฉะนั้นการที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ต้องเป็นปัญญาที่พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน อาจหาญร่าเริงที่จะรู้ความจริง เพราะเหตุว่าผู้ที่ประจักษ์ความจริง ก็เข้าใจว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ว่าจะเป็นกี่สีก็ตาม จนกว่าจะไถ่ถอนการยึดถือรูปารมณ์ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้
นี่คือการที่สติปัฏฐานจะค่อยๆ เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ไปที่หนึ่งที่ใด แล้วก็ไปรู้อะไรก็ไม่ทราบ แล้วก็กลับมาก็เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็ไม่เคยละคลายว่า แท้ที่จริงแล้วก็คือสีต่างๆ ขอให้ทราบความจริงว่า คือสีต่างๆ เท่านั้นที่ปรากฏ
พระ ส่วนต่างๆ นั้นก็คือ จิตที่กำลังคิดถึงเรื่องสัณฐาน
ท่านอาจารย์ หลังจากเห็นแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็เกิด แล้วก็คิดถึงรูปร่างสัณฐานพร้อมทั้งความทรงจำในเรื่องของสิ่งที่ปรากฏเป็นสีต่างๆ
เพราะฉะนั้นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจึงรู้ว่า ปรมัตถธรรมปรากฏสั้นมากให้คิดเรื่องของปรมัตถธรรม เป็นเรื่องยาวๆ แล้วก็ทรงจำยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะฉะนั้นผู้ที่สามารถระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง ก็จะรู้ได้ว่า สติปัฏฐานเกิดสลับกับปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าก่อนนั้นปรมัตถธรรมปรากฏเพื่อให้คิดเป็นเรื่อง เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่เวลาที่สติปัฏฐานมีกำลัง มีปัญญาเพิ่มขึ้น ปรมัตถธรรมที่ปรากฏนั้นก็ปรากฏให้สติระลึกรู้ตามความเป็นจริงของแต่ละทวารได้ถูกต้อง แล้วก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นก็รู้ว่าสิ่งใดที่ล่วงไปเลย คือ ดับไป และสิ่งที่กำลังปรากฏก็ปรากฏเพียงชั่วระยะที่สั้นมาก เพราะเหตุว่าในขณะที่ทางตาเห็นต้องดับในขณะที่ทางหูได้ยิน เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่เบาสบายด้วยข้อปฏิบัติที่สามารถจะรู้การเกิดดับของสภาพนามธรรมและรูปธรรม โดยความเป็นปรมัตถธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ
พระ ถ้าสติระลึกตรงลักษณะ
ท่านอาจารย์ แล้วก็ศึกษาจนกระทั่งรู้จริงๆ
พระ ซึ่งต่างกับถ้าไม่มีสติก็คิดถึงเรื่องราว ในขณะนั้นไม่รู้ของจริง
ท่านอาจารย์ ถ้าขณะใดที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ แล้วก็สติปัฏฐานไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมที่คิด ขณะนั้นก็จะยึดถือบัญญัติว่าเป็นตัวตน แล้วก็ยึดถือจิตที่คิดด้วยว่าเป็นเราที่คิด ไม่มีทางที่จะดับกิเลสได้ เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของปรมัตถธรรมซึ่งกำลังเกิดดับ
พระ ต้องอบรม ฟัง แล้วต้องเข้าใจมากๆ เพราะไม่อย่างนั้นสติเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่า สิ่งที่กำลังเผชิญหน้าอยู่คืออะไร
ท่านอาจารย์ ต้องอาศัยการฟังและการพิจารณาจริงๆ
นิภัทร ขณะที่สภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏ แล้วสติระลึกรู้ เช่นตัวอย่าง ขณะที่ยินดีหรือขณะที่ดีใจ ขณะที่เสียใจ ขณะที่โกรธ แล้วก็มีสติระลึกรู้ในขณะนั้น แต่ว่าความดีใจก็ดี ความเสียใจก็ดี ความโกรธก็ดียังไม่หาย อย่างนี้แสดงว่าเราไม่รู้ตรงลักษณะของสภาวธรรมจริงๆ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จุดประสงค์ต้องการอะไร ต้องการให้หมดความโกรธ ความโลภ หรือต้องการรู้ว่า แม้แต่ความยินดีที่เกิดขึ้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าปัญญายังไม่ได้ดับการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลแล้วละก็ จะดับโลภะ จะดับโทสะ จะดับกิเลสทั้งหลายไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นไม่ว่าโลภะจะเกิด ลักษณะของโลภะก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีเหตุปัจจัยก็เกิด ใครไม่มีโลภะ พระโสดาบันยังมี และผู้ที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพของโลภะนั้นเป็นใคร
นิภัทร แต่มันก็ยังไม่เบาบาง ควรจะเบาบางบ้าง ถ้าเรารู้ว่านี่เป็น ลักษณะของความดีใจ ไม่ใช่เรา เราก็รู้อยู่ แต่มันก็ยังเท่าเก่าอยู่ ความเสียใจเกิดขึ้น ก็บอกว่านี่ไม่ใช่เรานะ เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง มันก็ยังเท่าเก่าอยู่ ขณะที่ความโกรธเกิดขึ้น เราบอกว่านี่เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งนะ ไม่ใช่เรา มันก็ยังเท่าเก่าอยู่
ท่านอาจารย์ นั่นคือนั่งบอก นั่งบอกว่าไม่ใช่เรา บอกว่าไม่ใช่เรา ก็ไม่ใช่การศึกษาลักษณะของนามธรรม
นิภัทร ก็แสดงว่ายังไม่ได้ศึกษาลักษณะของสภาวธรรมนั้นๆ ตรงจริงๆ
ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แล้วถึงจะเข้าใจความหมายว่าสติปัฏฐานคืออะไร ไม่ใช่เพียงบอกเฉยๆ ว่า นี่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เรา
อดิศักดิ์ ผมอยากจะตอบว่า สติยังไม่มีกำลังพอ ยังไม่เป็นกำลังพอ เพราะว่าความเข้าใจธรรมของพระพุทธเจ้า แม้กระทั่งขณะที่เจริญสติปัฏฐานนั้น ถึงจะระลึกตรง และก็ศึกษา ระลึกในนามธรรมรูปธรรม ก็ไม่ใช่ว่าจะดับได้เดี๋ยวนั้น แต่จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่า มันได้ละได้คลายแล้ว จะไปบอกว่ายังเท่าเดิม เอาอะไรเป็นเครื่องวัด มันไม่เท่าเดิมแล้ว แต่เราไม่รู้ เหมือนอย่างจับด้ามมีดจนสึก ไม่รู้ แต่จะรู้เมื่อไร มองไม่เห็นหรอก มันสึกก็ยังไม่รู้ แต่กว่าจะรู้เมื่อไร มองไม่เห็นหรอก ก็ยังไม่สามารถเปล่งวาจาว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ก็ยังเปล่งไม่ได้ จะเปล่งได้เมื่อไร ก็เมื่อนั้นด้ามมีดจะสึก ถึงจะเห็น
กระผมก็ได้เจริญสติปัฏฐานมาเป็นเวลาพอสมควร ในระยะนี้ก็ได้พิสูจน์ธรรมอยู่บ่อยๆ หลายครั้ง เมื่อสัก ๒-๓ วันมานี้ ก็ได้โต้เถียงกับภรรยาที่บ้าน ตอนนั้นอาจารย์ก็กำลังบรรยายอยู่ เขาก็โต้เถียงกับผม ผมก็โต้เถียงกับเขา เสร็จแล้วสติระลึกได้ ซึ่งเป็นช่วงที่สั้นมาก เราก็ฟังธรรมไม่รู้เรื่อง ก็ยังเป็นตัวเป็นตน มีเขามีเราก็ซัดกับเขาเต็มที่เลย จะให้เขาหยุดให้ได้ ในตอนนั้นมีความรู้สึกว่า เราทั้งหยาบ ทั้งกระด้าง นี่เป็นโทสะ และเสียงที่เราโต้เถียงกับเขามันหยุดไป มันหยุดแล้ว เราก็ระลึกได้ว่าที่ว่าโทสะมันดุร้าย มันหยาบ กระด้าง แล้วก็คิดนึกถึงสภาพธรรม ถึงแม้ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมบ้าง หรือไม่เป็นบ้าง ผมไม่ได้โต้ตอบอีก ก็ฟังธรรมไปจนกระทั่งจบ ถึงเช้าผมก็ไม่ได้โต้เถียงอะไรกับเขาอีก รู้สึกก็เรียบร้อยดี ถ้าเป็นแต่ก่อนก็คงจะเลยเถิดไปกว่านี้
นี่คือการพิสูจน์ธรรม แต่ก่อนนี้ไม่มีทางหรอก ผมต้องเอาชนะเขาจนไม่ได้ตั้งตัวเลย นี่เป็นการพิสูจน์ธรรมทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้นต้องขอโทษด้วย มันละแล้ว แต่ว่าท่านยังไม่เห็น
ท่านอาจารย์ นี่คือชีวิตประจำวันจริงๆ
นิภัทร ก็อย่าเพิ่งภูมิใจ ทีหลังมันจะมาอีก คือที่กระผมว่าความโกรธเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่น่าเกลียด และกระด้างหยาบคายจริงๆ เพราะว่าขณะนั้น ทั้งๆ ที่เราก็เรียนธรรมพอสมควร จนเขาดูถูกดูหมิ่นเอาได้ว่าเป็นอย่างไรให้ความโกรธเกิดขึ้นได้ จนกระทั่งกล่าววาจาหยาบออกไป เพราะไม่สามารถจะระงับยับยั้งได้ ไม่มีขันติเลย กล่าววาจาหยาบออกไป ซึ่งกล่าวออกไปแล้วก็ตกใจว่า เราศึกษาธรรมแค่ไหน นึกไม่ถึงว่าเราจะพูดออกไปได้ ซึ่งพูดออกไปแล้วก็เสียใจ แต่ที่ผมพูดว่า ความโกรธเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง มันคงรู้ไม่จริง มันแค่จำ สภาวะนั้นๆ จริงๆ ไม่ปรากฏ สติยังระลึกไม่ได้จริงๆ ถ้าระลึกได้จริงๆ ซึ่งขณะนั้นควรจะจางหายไป แต่ที่ว่ามันค่อยเบาบางไป ผมก็ไม่ทราบว่าตอนหลังจะกลับแข็งแรงขึ้นอีกหรือเปล่า เพราะว่ากิเลสผมกลัวมันจริงๆ เพราะมันทำท่าจะอ่อนแอ แต่ไปๆ กลับแข็งแรงขึ้นกว่าเก่าอีก แข็งแรงยิ่งกว่าเมื่อเรายังไม่ได้ศึกษาธรรมอีกบางที กระผมก็เห็นว่าอย่างนี้ ทำอย่างไรมันจะเบาบางลงได้บ้าง ไม่ต้องถึงขนาดละได้ เอาแค่เบาบาง
ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ธรรมคือชีวิตประจำวัน และทุกท่านก็ดูจะรังเกียจอกุศลเวลาที่เกิดขึ้น แต่ว่าจะมีการรังเกียจอกุศลไม่ว่าจะในขณะที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏ หรือแม้แต่สติจะเกิดระลึกลักษณะที่เป็นนามธรรมที่หยาบกระด้าง แต่ไม่ใช่ว่าขณะนั้นจะดับความโกรธไม่ให้เกิดอีก หรือว่าไม่ให้รุนแรงอีก เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่คิดว่าเพียงแต่จะละเสีย ละเสีย โดยไม่อบรมเจริญปัญญาให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมยิ่งขึ้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นจุดประสงค์คือการดับกิเลสทั้งหมด แน่นอนที่สุดสำหรับผู้ที่ศึกษาธรรม แต่การที่จะบรรลุจุดประสงค์นี้ได้ ต้องเริ่มจากละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล โดยปัญญาเจริญขึ้น เพราะฉะนั้นทิ้งปัญญาไม่ได้เลย ถ้ามีใครที่มีความโกรธ แล้วก็สติปัฏฐานระลึกตรงลักษณะของนามธรรมแล้วประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน กับคนที่ไม่ค่อยจะโกรธ แต่ว่าปัญญาก็ไม่เกิด ก็ไม่มีทางที่จะรู้ว่า กำลังเห็น ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง กำลังโกรธ ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง กำลังยินดีก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง อย่างไหนจะเป็นเหตุทำให้ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
เพราะฉะนั้นยังไม่ต้องคิดถึงเรื่องความโกรธน้อยลง มากขึ้น หรือเดี๋ยวมากเดี๋ยวน้อย เดี๋ยวละเดี๋ยวเพิ่ม แต่ว่าให้คิดถึงว่าในขณะนี้เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองว่า ปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรมเพิ่มขึ้นหรือยัง แต่ยังไม่ควรที่จะไปหวังที่จะให้โทสะไม่เกิด หรือว่าโลภะไม่เกิด เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ ก็ควรที่จะคิดถึงพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน ท่านก็ยังมีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ แต่ว่าปัญญาของท่านเจริญถึงขั้นประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพของนามธรรมและรูปธรรมจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ท่านก็ไม่ได้เป็นห่วงกังวลเรื่องโลภะของท่าน เรื่องโทสะของท่าน ก็ต้องเป็นไปตามขั้นของปัญญาที่ดับกิเลส ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ต้องเต็มไปด้วยกิเลสทุกประการ ถ้าเป็นพระโสดาบันก็จะดับมิจฉาทิฏฐิ การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เมื่อเป็นพระสกทาคามีก็จะดับโลภะ โทสะ อย่างหยาบ เมื่อเป็นพระอนาคามีก็จะดับความยินดีพอใจในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และโทสะเป็นสมุจเฉท เหลืออีกขั้นเดียว ก็คือ จะเป็นพระอรหันต์ ซึ่งก็จะต้องดับความยินดีในภพชาติด้วยอรหัตตมรรค
เพราะฉะนั้นปัญญาก็จะต้องอบรมเจริญไปตามลำดับขั้น
เพราะฉะนั้นก็มีปัญหาที่น่าคิด เพราะเหตุว่าถ้าจะพิจารณาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ผ่านความตายไปทุกวัน แต่ละวันๆ หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า ผ่านความตายไปแต่ละขณะๆ
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160