โสภณธรรม ครั้งที่ 120
ตอนที่ ๑๒๐
อดิศักดิ์ เนื่องจากยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ทำให้คิดหาวิธีกันอยู่เรื่อยเวลาเจริญสติปัฏฐาน ผมเองในระยะที่ผ่านมาก็คิดเหมือนกันว่า สติไม่ค่อยได้ระลึกเท่าไร คือระลึกน้อย ก็เกิดคิดว่า ถ้าเกิดสติไม่ระลึก เราก็ท่องพระพุทธคุณเลย อิติปิโส ภควา อรหันตสัมมาสัมพุทโธไปเรื่อย เพราะว่าการท่องอิติปิโส ภควา ก็เป็นสมถภาวนาอย่างหนึ่ง ผมก็คิดว่าเป็นกุศล ก็น่าจะเจริญ และเนื่องจากยังมีสัตว์ มีบุคคลเป็นอารมณ์ คือไม่เป็นอนัตตา คือเราสามารถจะเปล่งวาจาออกมาได้ น่าจะง่ายกว่าสติปัฏฐานที่จะต้องระลึกรู้ ซึ่งเป็นอนัตตา เหตุปัจจัยยังไม่ได้ก็ยังไม่ระลึก
อันนี้ก็รู้สึกว่าจะตรงกับคำถามของพระคุณเจ้าที่ถามอาจารย์ อาจารย์ว่าเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วตอนที่ระลึกได้ว่า ขณะนั้นสติไม่เกิด สติควรจะระลึกทันทีแทนที่จะไปทำอย่างอื่น ในเมื่อรู้ว่าเมื่อสักครู่นี้หลงลืมสติ ต้องมีสิ่งที่สติจะระลึก ทำไมไม่ระลึกทันที กลับไปทำอย่างอื่น
อดิศักดิ์ เพราะเหตุปัจจัยยังไม่มี ก็เพียรระลึกไม่ได้ อาจารย์บอกให้เพียรระลึกเลยใช่ไหม
ท่านอาจารย์ มิได้ เวลาที่รู้ว่าหลงลืมสติ ขณะนั้นคือสติที่รู้ว่าหลงลืมสติแล้ว ทำไมมีลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏแล้วไม่ระลึกละคะ ในเมื่อรู้แล้วว่า เมื่อสักครู่นี้หลงลืมสติ สติปัฏฐานก็ระลึกทันที
อดิศักดิ์ ก็นั่นซิ ก็เนื่องจากอินทรีย์ยังไม่แก่กล้าก็ไม่ระลึก ไม่ระลึกก็ไปหาวิธีอื่น ผมว่าเป็นธรรมดาของปุถุชน ที่จะไขว่คว้า ที่จะหาสติปัฏฐานมาให้ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจุดที่ควรจะพิจารณาก่อนที่จะทำอย่างอื่น เริ่มใหม่ ก่อนที่จะไปทำอย่างอื่น รู้ว่าสติไม่เกิด ก็สติเกิดระลึกทันที ก่อนที่จะไปทำอย่างอื่น ให้ทราบไว้เมื่อรู้ว่าสติไม่เกิด และก่อนที่จะไปทำอย่างอื่น ก็ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
อดิศักดิ์ เอาแค่มาฟังอย่างนั้นหรือ
ท่านอาจารย์ ไม่ ก็วันนี้ก็จำได้ว่า เวลาที่รู้ตัวว่า สติไม่เกิด ก่อนที่จะไปทำอย่างอื่น ก็ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
อดิศักดิ์ นั่นซิ พอระลึกได้ เดี๋ยวก็ไม่ได้อีก มันเป็นอนัตตานี่
ท่านอาจารย์ แต่ก็ยังดีกว่าที่จะไปหวังรอ โดยที่ไม่มีจะกลับมาสู่การระลึกเลย
อดิศักดิ์ แต่ก็มีความคิดอีกอย่างหนึ่ง ช่างมัน ไม่เกิดก็ไม่เกิด แล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัย สบายๆ ดีกว่า
ท่านอาจารย์ สบายๆ แต่ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา
อดิศักดิ์ ไม่อย่างนั้นซิ มันสบายๆ ไปหาโลภะ
ท่านอาจารย์ แสดงว่าไม่สบายๆ ด้วยปัญญา
นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะต้องเข้าใจมัชฌิมาปฏิปทา ที่ใช้กันบ่อยมากทีเดียว คือ ทางสายกลาง ไม่ใช่ไปทำอย่างเคร่งครัด เคร่งเครียด พยายามหลายวัน ตั้งอกตั้งใจ แล้วก็เหน็ดเหนื่อย เพราะว่าหลายคนทีเดียวที่อยากจะปฏิบัติ ก็เข้าใจว่าจะต้องปฏิบัติ ก็ไปทำปฏิบัติด้วยความเหนื่อย แล้ววันนั้นทั้งวันก็เหนื่อยเปล่า เพราะปัญญาก็ไม่ได้รู้อะไร
อดิศักดิ์ แต่ไม่เคยทำถึงขนาดนั้นหรอก แม้จะอิติปิโส ภควา ผมว่าแม้จะท่องอิติปิโส ก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน ไม่ได้ท่องได้ตลอด
ท่านอาจารย์ ได้นานสักเท่าไร
อดิศักดิ์ ก็รู้สึกว่าจะสัก ๒ เที่ยว
ท่านอาจารย์ แล้วหลังจาก ๒ เที่ยวแล้วเกิดอะไรขึ้น
อดิศักดิ์ ก็เรื่อยๆ ทีนี้ก็ตามเรื่องตามราว
ท่านอาจารย์ ก็เหมือนเดิม คือว่าจะอิติปิโส หรือว่าไม่อิติปิโส ก็เหมือนเดิม คือ สติไม่ได้ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม ที่หวังไว้ว่า อิติปิโส เสียก่อน แล้วสติจะได้ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม ก็หวังเปล่าอีก เพราะเหตุว่าเข้าใจว่าต้องไปทำอย่างอื่น แล้วสติปัฏฐานจะได้เกิด แต่เมื่อท่องอิติปิโส ภควา ๒ เที่ยว สติปัฏฐานก็ไม่ได้เกิด เพราะฉะนั้นถ้าท่องอีกมากกว่านั้น สติปัฏฐานจะเกิดหรือ แต่ถ้าระลึกทันทีแม้นิดเดียว ก็ยังปัจจัยให้เตือนตัวเองได้อีกต่อไปข้างหน้าว่า เมื่อสักครู่หลงลืม แต่ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วสติก็ระลึกได้
อดิศักดิ์ ก็อย่างที่อาจารย์พูดก็ได้ เพราะเวลานี้ผมเอง ผมนึกว่าผมไม่ทุกข์ไม่ร้อนเท่าไร เนื่องจากสติระลึกได้เกือบทุกวัน วันละเล็กละน้อย แต่ความที่เป็นปุถุชน การที่อยากจะได้สติมากๆ ยังมีอยู่
ท่านอาจารย์ พิจารณาถึงปัญญาดีไหม แทนที่จะไปคิดถึงเฉพาะอยากจะให้สติเกิด เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น ดีกว่าต้องการให้สติเกิดแล้วไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม
อดิศักดิ์ สบายๆ แบบมัชฌิมาปฏิปทา
ท่านอาจารย์ มัชฌิมาปฏิปทาต้องประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่หมายความว่าไม่ขาดความเพียร แต่รู้ว่าความเพียรนั้นต้องเกิดกับปัญญา พร้อมสติปัฏฐาน จึงจะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าเพียรท่อง
อดิศักดิ์ ไม่ใช่อย่างนั้น คือมันเป็นเพียงความคิดที่เพิ่งเข้ามาประมาณอาทิตย์หนึ่ง บอกตัวเองว่า อันนี้ก็เป็นสมถภาวนาอย่างหนึ่ง
ท่านอาจารย์ อิติปิโส ภควา นี่รู้สึกว่าในชีวิตหนึ่งหลายท่านก็คงจะได้หลายพันจบ หรือว่าหลายหมื่นจบ แต่ว่าอิติปิโส ภควา ก่อนที่จะได้ศึกษาธรรม ก็ไม่ได้เข้าใจเลยว่า อิติปิโส ภควานั้นคืออย่างไร
อดิศักดิ์ แต่ผมคิดตาม
ท่านอาจารย์ แต่เมื่อได้เข้าใจพระธรรมแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่กล่าวคำว่า อิติปิโส ภควา แต่ขณะที่เข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด และเป็นสิ่งที่สามารถจะพิสูจน์ได้ ขณะใดที่เห็นพระคุณ ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่สามารถที่จะแสดงปรมัตถธรรมโดยละเอียดอย่างนี้ได้ ในขณะนั้นถึงแม้จะไม่กล่าวว่า อิติปิโส ภควา ขณะนั้นก็คือ อิติปิโส ภควา นั่นเอง
เพราะฉะนั้นก็ลองพิจารณาดูว่า ขณะที่กำลังเข้าใจพระธรรมกับเพียงท่อง ขณะไหนควรจะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์
นิภัทร ขณะที่ลืมสติ แล้วรู้ตัวว่า ตอนนี้เราลืมสติ ตอนนั้นมีสติหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ว่าหลงลืมสติ ขณะนั้นก็ยังเป็นสตินิดหนึ่งที่รู้ว่า หลงลืมสติ
นิภัทร แล้วขณะนั้นก็ควรจะเจริญ
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็สติระลึกเสียเลย แทนที่จะไปทำอย่างอื่น คือ แทนที่จะทำอย่างอื่น ถ้ารู้ว่าหลงลืมสติ ก็ต้องเข้าใจว่า มีสติคือขณะไหน ใช่ไหม เมื่อเข้าใจว่า มีสติขณะไหน เมื่อสักครู่นี้หลงลืมสติ เดี๋ยวนี้ก็มีสติเสีย
นิภัทร เรื่องสมถภาวนา เมื่อกระผมได้อ่านปรมัตถธรรมสังเขปแล้ว ก็รู้สึกกลัว ไม่อยากเจริญ เพราะที่เข้าใจมาแต่แรก นึกว่าอะไรๆ ก็สมถะได้ ไม่ใช่วิปัสสนา ก็ต้องเป็นสมถะทั้งนั้น เช่นอย่างท่องอิติปิโส ภควา ท่องไปกี่จบก็แล้วแต่ บางทีท่องแต่ปาก แต่ว่าใจไปนึกถึงเรื่องอื่น ไม่ได้นึกถึงพระพุทธคุณหรอก แล้วอย่างนี้จะเป็นสมถะได้หรือ
ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจสมถะไงว่า ต้องแยกจากสมาธิ เพราะเหตุว่าสมาธิเป็นคำกลางๆ เพราะฉะนั้นก็มีทั้งมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ เช่นเดียวกับทิฏฐิ ก็เป็นคำกลางๆ เป็นความเห็น เพราะฉะนั้นก็มีทั้งมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด และสัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นปัญญา แต่ส่วนสมถะ คือ ความสงบของจิต เพราะฉะนั้นก็จะต้องศึกษาเพิ่มเข้าไปให้ชัดเจนว่า ความสงบของจิต ไม่ใช่เราคิดเองว่าเราชอบ เรากำลังสบายใจ เราพอใจ ขณะนั้นเป็นความสงบ ซึ่งไม่ใช่เลย แต่ว่าความสงบต้องเป็นสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศล เพราะฉะนั้นก็จะต้องเป็นกุศลจิต จึงจะสงบ
เพราะฉะนั้นขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นจะสงบไม่ได้เลย แต่ว่าขณะใดที่จิตเป็นกุศล จะเห็นได้ว่ากุศลจิตนั้นเล็กน้อยมากเพราะการสะสม อย่างเวลาที่จะให้ทานสักครั้งหนึ่ง มีกุศลเจตนาเกิด แต่เวลาที่ไปตลาดซื้อของเพื่อที่จะเป็นไทยธรรมสำหรับถวาย ก็อาจจะมีทั้งโลภะ โทสะเกิดสลับมากมาย
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่า กุศลจิตจริงๆ ที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นสงบ ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ถ้าไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่รู้สภาพความสงบของจิต ซึ่งต่างกับขณะที่เป็นอกุศล ก็เพียงจะรู้จากตำราว่า ขณะใดที่ให้ทาน ขณะนั้นเป็นกุศล หรือว่าขณะใดที่วิรัติทุจริต ขณะนั้นเป็นกุศล นั่นชื่อกุศล แต่ว่าลักษณะของกุศลซึ่งสงบจากอกุศล ถ้าสติสัมปชัญญะไม่ระลึก จะไม่มีการเทียบเคียงว่า ลักษณะนี้สงบ ลักษณะนั้นไม่สงบ
นิภัทร เวลาสวดมนต์ไหว้พระก็ดี บางทีว่า นโม ว่าไปแล้ว ก็สงสัยว่าเป็นจบที่เท่าไร แสดงว่าขณะที่ว่า นโม ใจไม่สงบ ใจคิดถึงอย่างอื่น อย่างนั้นก็ไม่เป็นสมถะ
ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้ คำว่า “นะ” เฉพาะคำว่า “นะ” ไม่ได้ทำให้จิตสงบ เฉพาะคำว่า “โม” ก็ไม่ได้ทำให้จิตสงบ แต่จิตที่น้อมระลึกถึงพระคุณ สงบ เพราะฉะนั้นความสงบไม่ได้อยู่ที่คำ แต่ว่าอยู่ที่สภาพของจิต ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าชาติใดภาษาใดจะมีการทำสมาธิ จะเห็นได้ว่า จะไม่พ้นจากมิจฉาสมาธิ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของสติสัมปชัญญะที่จะระลึกรู้ลักษณะของจิต
นิภัทร ด้วยเหตุนี้เอง กระผมถึงได้บอกว่ากลัว เพราะเดี๋ยวนี้รู้สึกว่าจะทำสมาธิมาก ไม่ใช่สมถะ คือต้องการอย่างเดียว คือ ให้จิตสงบ จิตสงบที่เป็นสมาธิก็หมายความว่า ให้อยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เช่นอยู่ในดวงแก้วใสๆ กึ่งกลางกาย เหนือสะดือ ๒ นิ้ว
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ กุศลจิตจะเกิดได้อย่างไร เวลาเห็นดวงแก้ว
นิภัทร นั่นซิ มันเป็นสมาธิ กระผมก็เลยบอกว่า สมาธิอย่างนี้ไม่ใช่สมาธิในพระพุทธศาสนา เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะสับสนก็เลยไม่รู้ว่าอะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นสมาธิ ก็เลยเข้าใจว่า สมาธิกับสมถะนี้เป็นอันเดียวกัน
ท่านอาจารย์ ต้องแยก
นิภัทร เพราะฉะนั้นอย่างในสมถกัมมัฏฐาน ๔๐ อย่างกสิณ ๑๐ ปฐวีกสิณ ระลึกถึงดินสีอรุณ ถ้าสมมติว่าผู้ภาวนาเพ่งดิน แล้วก็สามารถที่จะหลับตาแล้วเห็นเหมือนอย่างที่ลืมตาเห็นรูปกสิณ อย่างนี้เป็นสมถะไหม
ท่านอาจารย์ ผิด เมื่อสักครู่นี้เราก็กล่าวแล้วว่า ความสงบอยู่ที่จิต ไม่ได้อยู่ที่รูปอีก
นิภัทร ไม่ใช่อยู่ที่รูปใช่ไหม เมื่อไม่ได้อยู่ที่รูปแล้ว ทำไมท่านถึงเอาอารมณ์ต่างๆ ตั้ง ๔๐ มาให้เรายึด ให้เราภาวนา ให้เรานึกถึง
ท่านอาจารย์ ท่านไหน
นิภัทร ก็ในตำรา
ท่านอาจารย์ ตำราก็ต้องอ่านให้เข้าใจว่า ผู้ที่จะปราศจากสติสัมปชัญญะเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาไม่ได้ นี่คือตำราที่กล่าวไว้ว่าอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องเข้าใจลักษณะของสติสัมปชัญญะที่จะรู้สภาพของจิต มิฉะนั้นแล้วกุศลจิตก็เจริญไม่ได้ ไม่ใช่ทำด้วยความอยากที่จะเห็นดวงแก้ว ขณะนั้นต้องอยากแน่ๆ ปัญญารู้ได้อย่างไรว่า ขณะนั้นจิตสงบหรือเปล่า เพราะว่าถ้าจิตสงบ เห็นดวงแก้วแล้วสงบอย่างไร ใช่ไหม
อย่างท่านที่บอกว่า ไปจ้องดิน ถ้าดูดินแล้วเป็นกุศล ก็สบาย วันนี้ก็ดูดินกันเยอะๆ หรือเอาก้อนดินมาแล้วก็จ้องดู จ้องไปจ้องมา จ้องมาจ้องไป กุศลจิตเยอะแยะ นั่นไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีเหตุผลเลยว่า ดูดินแล้วเป็นกุศล
นิภัทร นี่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เรื่องสมถภาวนานี่แหละที่พาเข้ารกเข้าป่า ไม่ได้ตรงตามหลักตามแนวของพระพุทธศาสนาเลย เพราะเข้าใจสมาธิกับสมถะผิดนี่แหละ แล้วเมื่อไรจะเข้าใจคำว่า สมถะ ให้ถูกต้อง คือ คิดว่าเมื่อใจสงบแล้ว ก็ภาวนาจะนั่งทรมานอยู่นั่นแหละ เดี๋ยวจิตก็สงบเอง เพราะจิตดิ้นรนไปไม่ไหว เหมือนเอาลูกวัวมาผูกไว้กับหลัก พรากออกจากแม่ มันวิ่งไปวิ่งมา หมดกำลังแล้ว มันก็นอนอยู่กับหลัก อย่างเราเอาจิตไปผูกไว้กับอานาปานสติ มันตกไป ก็เอามา ตกไปก็เอามา จับไปจับมา หนักๆ เข้าจิตก็จะสงบ การพยายามตั้งใจจะให้เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่สมถะ ในหลักท่านว่าไว้อย่างนั้นจริง แต่เราไม่เข้าใจ เราเข้าใจแต่สมาธิ นี่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง
ท่านอาจารย์ ก็คงจะเป็นเครื่องเตือนสำหรับท่านที่คิดว่า เมื่อสติไม่เกิด ก็จะไปทำอย่างอื่น จะได้พิจารณาว่า ตอนที่จะไปทำอย่างอื่น จะไปทำอกุศล หรือว่าจะไปเจริญกุศล
ประทีป การอบรมเจริญสมถภาวนา ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะ ก็ไม่สามารถอบรมเจริญสมถภาวนาได้ กระผมใคร่เรียนถามว่า สติสัมปชัญญะแตกต่างจากสติปัฏฐานอย่างไร
ท่านอาจารย์ สติสัมปชัญญะขั้นสมถภาวนา ไม่ใช่การระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม โดยสภาพที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม
ประทีป สติสัมปชัญญะที่ผมเคยพูดบ่อยๆ ว่า เป็นสติในขั้นนึกคิด ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นสติ ต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย และขณะที่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ก็ต้องมีสัมปชัญญะ คือ ปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ประทีป เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ สติสัมปชัญญะ หรือสติในขั้นนึกคิดในขณะที่เจริญสมถะ ถ้าหากว่ามีอะไรมากระทบทางทวารใดทวารหนึ่ง ถ้าสติสัมปชัญญะหรือสติในขั้นนึกคิด กระผมขอใช้อย่างนั้น ระลึกรู้ขึ้นมาได้ว่า ขณะนี้เป็นกุศล อกุศล แล้วถ้าเป็นอกุศลก็เจริญกุศลต่อไป ลักษณะนั้นกระผมคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะว่าในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่เราตื่นขึ้นมาจนกระทั่งหลับไป เราได้เจริญกุศลมากน้อยแค่ไหน และสติสัมปชัญญะลักษณะอย่างนี้ในชีวิตประจำวัน ถ้าหากว่า สติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวันไม่ค่อยได้เกิดเลย หรือเกิดน้อยมาก แล้วการที่จะไปอบรมเจริญสมถภาวนาในลักษณะอย่างนั้น สติสัมปชัญญะลักษณะอย่างนี้ ไม่น่าที่จะเกิดมาก ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้เข้าใจเรื่องของสมถภาวนา อย่างในชีวิตประจำวัน เคยเห็นโทษของโทสะไหม แต่ว่าเห็นโทษจริงๆ หรือเพียงแต่ไม่อยากรู้สึกไม่สบายใจ นี่เป็นข้อที่ต่างกัน ใช่ไหม เวลาที่ใครโกรธ ไม่อยากจะโกรธ เพราะว่ารู้สึกตัวว่า เวลาโกรธแล้วจิตใจไม่เหมือนกับเวลาสนุกสนาน เพลิดเพลิน ขณะนั้นรู้สึกพอใจที่จะเพลิดเพลิน แต่ลักษณะของความโกรธ ตรงกันข้ามกับความเพลิดเพลิน เพราะฉะนั้นขณะโกรธก็ไม่อยากจะมีลักษณะอย่างนั้น ซึ่งไม่เพลิดเพลินเท่านี้ คือ ไม่อยากจะไม่เพลิดเพลิน หรือว่าเห็นโทษของโทสะ รังเกียจแล้วก็หวั่นเกรงในโทษของโทสะ
เพราะฉะนั้นผู้ที่ตรงก็จะรู้ได้ว่า ขณะใดที่เกิดโกรธ แล้วก็เกิดสติระลึกได้ ขณะนั้นจะเห็นภัยเห็นโทษของโทสะ ไม่ใช่ว่า ทำอย่างไรโทสะถึงจะหมด ซึ่งทุกคนมักจะถามคำเดียวว่า ไม่อยากจะโกรธ แล้วก็ขี้โกรธ ขี้โมโห ทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นอย่างนี้ เหมือนกับพระพุทธศาสนาจะมียาวิเศษเพียงเม็ดเดียว ที่ทานเข้าไปก็จะหายโกรธได้ แต่นั่นไม่ได้รักษาสมุฏฐานเลย เพราะเหตุว่าปัญญาไม่ได้เห็นโทษของโทสะ เพียงแต่ว่ามีความเป็นตัวตนที่ไม่อยากจะมีความรู้สึกไม่เพลิดเพลินอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นการที่จะอบรมเจริญความสงบ ต้องเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล ไม่ชอบใครบ้างไหม
ประทีป มีแน่นอน
ท่านอาจารย์ ถ้าสติสัมปชัญญะเกิด เห็นภัยเห็นโทษของความโกรธที่เกิดในขณะนั้น ที่จะติดตามต่อไปถึงชาติหน้าด้วยไหม ถ้ายังไม่เกิดความเมตตา บุคคลนั้นจริงๆ แล้วก็ไม่มี เพียงแต่เราคิดแล้วก็จำไว้ว่า รูปร่างอย่างนี้เป็นคนนั้น แล้วแม้แต่ทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้ ก็เป็นสิ่งอื่น ไม่ใช่คนนั้น แต่เพียงนึกถึงคนนั้น จำเรื่องของคนนั้น จำกาย วาจา เรื่องราวต่างๆ ที่ทำให้ไม่พอใจ ขณะนั้นก็เกิดความโกรธขึ้น ถ้าสติระลึกได้จริงๆ ก็จะรู้ได้ว่า แท้ที่จริงแล้วคนนั้นไม่มี แต่ความโกรธของเราต่างหากที่มี แล้วก็ยังไม่ได้ดับ แล้วก็จะสืบต่อไปถึงชาติต่อๆ ไปด้วย และถ้าสะสมความโกรธนี้ไว้มากๆ ต่อไปแม้ว่าจะไม่พบคนนั้น แต่พบคนอื่น ก็จะเกิดความโกรธ ความหงุดหงิด ความหมั่นไส้ ความไม่พอใจขึ้นมาอีก
เพราะฉะนั้นถ้าเห็นโทษของความโกรธ แล้วก็ระงับด้วยการมีเมตตา แล้วก็รู้ว่าขณะที่มีเมตตา จะเป็นขณะที่เป็นกุศล นั่นคือการเห็นโทษ แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่ชอบความโกรธ เพราะว่าไม่เพลิดเพลิน แล้วก็เพียงอยากจะไม่โกรธ ขณะนั้นก็เห็นได้ว่า จะไปทำสิ่งที่เข้าใจว่า จะช่วยทำให้หายโกรธ และขณะนั้นก็อาจจะไม่ใช่สมถภาวนาด้วย เพราะเหตุว่าไม่เห็นโทษของความโกรธ
ประทีป คือกระผมก็นิยมทำสมาธิ หลังจากที่มาฟังอาจารย์แล้ว ก็เริ่มจะเข้าใจได้บ้าง อย่างที่อาจารย์พูดว่า มีคนไม่ชอบใจบ้างไหม บางคราวสติสัมปชัญญะก็เกิด แต่คงจะไม่มีกำลัง เกิดก็ยังรู้สึกว่า ไม่ได้ ต้องโกรธต่อไป
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าจะอบรมให้มีกำลังขึ้น นั่นคือ การอบรมเจริญสมถะ ความสงบของจิตในชีวิตประจำวัน แทนที่จะไปนั่งจ้องดิน แล้วไม่รู้ว่าเป็นกุศลได้อย่างไร เพียงแต่ดูดิน นี่ไม่ต้อง ดิน ก็คือดิน แต่ว่าความโกรธที่มีอยู่ในใจ จะระงับได้อย่างไร นี่คือเรื่องของความโกรธ ถ้าเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลจริงๆ ต้องเห็นต่อไปถึงโทษของความรักด้วย คือ อย่าไปเพียงพอใจขั้นเห็นโทษของความโกรธ แม้แต่ความรัก ความผูกพันก็เป็นอกุศล
เพราะฉะนั้นกว่าจะเป็นผู้มีพรหมวิหาร ปราศจากอคติ และเป็นผู้เจริญกุศล คือ ความสงบในชีวิตประจำวัน เพียงแค่ชีวิตประจำวันชั่วขณะ สองขณะ ก็ควรจะเพิ่มขึ้น มากกว่าหวังที่จะไปนั่งทำ นั่งท่อง แล้วขณะนั้นก็ยังโกรธ ยังหลง ยังรักอยู่
ประทีป จากการศึกษา และฟังธรรมมาเรื่อยๆ ตอนแรกๆ อาจจะเป็นอย่างที่กระผมว่า และต่อมาก็เริ่มเข้าใจว่า ในขณะให้ทาน ถ้าสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่สติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะในขั้นนึกคิดเกิด ก็จะรู้สึกตัวเองว่า ผ่องแผ้ว หรือผ่องใส
ในการที่ได้ศึกษาและอบรมมาเรื่อยๆ อย่างนี้ ก็เป็นการเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน จากการที่รู้ว่า โกรธ แล้วก็ยังโกรธอยู่ และสติสัมปชัญญะก็ยังสามารถเกิดระลึกซ้อนๆ ไปได้ ถ้าในชีวิตประจำวัน ทุกๆ ท่านเริ่มเข้าใจ และอบรมในชีวิตประจำวัน กระผมคิดว่า น่าจะเป็นการดี ก็คือเริ่มต้นศึกษาและฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องเจตนาหรือจดจ้องที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงแต่ว่าในชีวิตประจำวันนั้นได้พิจารณาตัวเองว่า ได้ฟังธรรมพอหรือยัง และจากการฟังธรรม ผมคิดว่าจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยอันหนึ่ง ซึ่งทำให้สติสัมปชัญญะมีกำลังและแก่กล้ามากขึ้น พอที่จะรู้ว่า การที่โกรธ และยังโกรธอยู่นี่ เป็นการเบียดเบียนตัวเองทั้งในชาตินี้ยังไม่พอ และยังชาติต่อไป เป็นการสะสมต่อไป ถ้าทำอย่างนี้หรือเข้าใจอย่างนี้ คือ ฟังธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ผมคิดว่า สภาพจิตของเราก็คงจะค่อยๆ อ่อนโยนลง เพียงแต่ให้ระลึกว่า ต้องฟังธรรมให้มากกว่านี้ เพื่อจะได้เป็นเหตุเป็นปัจจัย กระผมคิดว่าอย่างนั้น
ผู้ฟัง ก่อนอื่นผมต้องแสดงความรู้สึกนึกคิดให้พระเดชพระคุณท่านอาจารย์ ซึ่งเป็นผู้อบรมเจริญสติในชีวิตเป็นปกติประจำวัน ผมก็จะแสดงเหตุผล
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160