โสภณธรรม ครั้งที่ 121


    ตอนที่ ๑๒๑

    ผู้ฟัง ก่อนอื่นผมต้องแสดงความรู้สึกนึกคิดให้พระเดชพระคุณท่านอาจารย์ ซึ่งเป็นผู้อบรมเจริญสติในชีวิตเป็นปกติประจำวัน ผมก็จะแสดงเหตุผล ที่กระผมได้ผ่านพ้นมาในชีวิต คือ ผมได้เคยปฏิบัติมาถึง ๓๐ กว่าปีเศษ มีแต่ทุกข์ทรมาน โดนล่ามโซ่ โดนทุบโดนตีทุกวิธีทาง โดยการปฏิบัติสมถะหรือภาวะจากสัจจะ คือ ความจริง ก็ไปอยู่ในถ้ำบ้าง ไปอยู่อะไรเข้า ๗ วัน ก็ไปทำทุกวิถีทาง แต่จะฆ่ากิเลสอันทำให้ทุกข์เกิดนั้น ยากแสนยาก ปฏิฆะ ฟุ้งซ่าน จุดสำคัญ คิดว่าเมื่อไรจะหมดกิเลสเสียที แต่วันนั้นมาถึงวันต่อมา ผมเคยไปอยู่ในป่า เท่ากับเกิดมาผมมีหลายชาติชีวิตจิตวิญญาณ ผมจะคิดว่า เรื่องศาสนาพุทธนี้ถ้าจะมองแบบผิวเผิน ในระยะที่ผมปฏิบัติไม่เคยเจอกับความบริสุทธิ์ในทางจิตนั้น ผมนึกว่าเป็นเรื่องขบคิดสนุกสนาน เป็นเรื่องธรรมดา ด้วยเตชะที่ผมมีโอกาสหายจากความทุกข์ทางจิตของผมได้ ก็โดยพระเดชพระคุณท่านอาจารย์แนะให้ผมปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง ให้รู้ไปทุกขณะ เมื่ออารมณ์จะดีจะชั่ว ก็ให้จับว่า มีแต่นามรู้ แต่รู้สึกว่าปกติ ชีวิตของผมก็กลับคืนชีพมา ในฐานะที่ลุงจ่าเดินทางมาจากถ้ำอมตะนี้ ก็ไม่เคยเห็นด้วยภาวะสายตา ก็เพียงแต่ได้ยินทางหู รับหูมาเป็นเหตุว่าอาจารย์แสดงธรรม ทั้งนำพระสูตร พระวินัยในพระอภิธรรม ๓ ปิฎก หยิบยกเอามาให้เวไนยสัตว์ทั้งหลาย รู้สึกว่าให้เจริญสติในชีวิตประจำวัน จะมีคุณค่าที่จะตัดภพตัดชาติในวัฏฏะสงสารอันยืดยาว นี่จะเปรียบความที่เป็นอมตะนี้ แต่อย่างน้อยผมก็จะไม่ขอวิจารณ์ว่า สมถะเกิดก่อน หรือวิปัสสนาเกิดก่อน

    อย่างไรก็ตามที่ อาจารย์ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นเพศสตรี ผมก็ขอให้จิตดวงเดิมของผมไหว้ท่านอย่างเต็มที่อีกสักครั้งหนึ่งว่า ท่านเป็นผู้ให้ปัญญา เพราะว่าท่านสอนนั้น ไม่ได้บังคับให้ผมยอมจำนนในคนอื่น ท่านเพียงแต่ชี้ให้รู้ปัญหาของผม ผมก็ไม่เคยพบอาจารย์คนหนึ่งคนใดที่จะมาถอนหลักวิชาการ ให้มุ่งแต่เชื่อเท่านั้นเอง โดยไม่ให้ศิษยานุศิษย์คิดค้นหาเหตุผลด้วยศรัทธาปสาทะ ที่จะรับภาวะขันธ์ ๕ ที่ยังมีอัตตาตัวตน ก็รู้สึกว่าท่านเป็นผู้ให้แสงสว่างแก่ผม ผมจะลืมไม่ได้ และต่อไปนี้ผมก็จะต้องฟังธรรมท่านมาก เพราะว่าผมไม่ได้เรียนปริยัติเจนจัดมาเหมือนอย่างท่าน จึงเป็นผู้ที่แตกฉานตามที่เรียนมา ผมเป็นผู้ที่โง่เขลาเบาปัญญา สติกับปัญญาน้อย แต่ผมถือว่าผมฟังอาจารย์แล้ว ผมก็อาจจะสามารถแตกฉานรู้พระสูตร พระวินัย พระธรรมตามความเป็นจริงได้ในโอกาสหน้า

    ท่านอาจารย์ ก็ขออนุโมทนา ท่านที่สนใจในพระธรรม ก็จะเป็นผู้มีปัญญาเจริญขึ้นเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถ์ แต่ว่าบัญญัติก็มีความสำคัญมาก จิตที่คิดนึกเรื่องราว เรื่องราวไม่ใช่ของจริง แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน การจะทำการงานอะไรก็ต้องคิดถึงเรื่องราว ทุกวันนี้จะมาฟังธรรมที่นี่ ตอนเช้าอยู่ที่บ้านก็ต้องคิดนึกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการคิดนึก ฟังแล้วดูเหมือนว่าไม่ใช่ของจริง แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ การคิดนึกเป็นสิ่งที่มีจริง ที่ปัญญาจะรู้ว่า ไม่ใช่เราที่คิด สำคัญที่ว่า ไม่เป็นตัวตนอีกต่อไป เพราะเหตุว่าถ้าต่อไปปัญญายังไม่เกิด เราคิด และเรื่องที่เราคิดก็แสนจะจริง เพราะเหตุว่าไม่ประจักษ์ลักษณะของปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นแม้ว่าบัญญัติจะมีจริง เพราะว่าทุกคนต้องคิด แต่ว่ารู้ความจริงของจิตที่คิดหรือเปล่าว่า ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง หมายความจิตที่คิดนึก จะคิดอย่างไรก็เป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง แล้วเวลาที่คิดนึกอะไร เราก็เพียงแต่มีสติว่า นั่นเป็นจิตที่คิดนึกอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ รูปคิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังคิด สภาพคิดเป็นของจริง เป็นสภาพรู้ซึ่งไม่ใช่เห็น

    ผู้ฟัง เวลาคิดนึกถึงเรื่องราวก็เจริญสติปัฏฐานได้ เพียงแต่ว่ามีคิดเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพทั้งหมดที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นตัวตน ถ้าตราบใดที่ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของขณะที่คิด จะเอาความเป็นตัวตนออกไม่ได้ เพราะเหตุว่าเพียงเห็นโดยไม่คิด จะไม่มีการยึดถือสภาพที่เห็นว่าเป็นเรา เพราะเหตุว่าวิญญาณขันธ์เป็นเพียงสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ แต่ไม่ใช่ความเห็นผิด

    เพราะฉะนั้นถ้าปราศจากสัญญาขันธ์ คือ สภาพที่จำสิ่งที่จิตทางจักขุทวารเห็น แล้วก็ไม่มีการตรึกนึกคิด ความเห็นผิดก็มีไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเรื่องของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันแต่ละขณะที่เกิดขึ้นสลับซับซ้อน จนกระทั่งมีความยึดมั่นในในสิ่งที่ปรากฏ แม้ว่ากำลังเกิดดับว่า เป็นสิ่งที่ไม่ดับ แล้วก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ที่ถาวร ก็จะเห็นได้ว่า เพราะความไม่รู้ลักษณะของขันธ์ทั้งหลายนั่นเอง

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ โดยการฟังแล้วฟังอีก จนกระทั่งสติปัฏฐานระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง เพราะว่าการปฏิบัติธรรมที่กระผมได้ย่างเหยียบเป็นประสบการณ์ชีวิตของผมเอง ผมคิดว่า ถ้าตราบใดที่อาจารย์สอนให้เจริญสติในชีวิตประจำวัน จากทักษะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้รู้ตัวทั่วพร้อมไปทุกขณะ โดยไม่บังคับมิติหนึ่งมิติใด เมื่อเกิด ก็ให้เห็นว่า เกิดเป็นอย่างนี้ แต่เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ผมก็มาพิจารณาว่า ตารู้อย่างหนึ่ง หูรู้อย่าง มันกระจัดกระจายกัน จึงหาสัตว์ บุคคล ตัวตนไม่ได้ แต่เมื่อผมเจริญไปแล้ว แล้วมันจะมีอะไรตาย ผมไม่เห็นว่ามีอะไรตาย

    ฉะนั้นความตายนี่ คนไปตั้งกฏเกณฑ์ เมื่อเหตุยังไม่ปรากฏ ไปตั้งรันทดหดหู่ ไปฝากชีวิตไว้กับความตาย หลังจากไม่เคยหาเจอะ เมื่อไม่เจอะ ความโศกเศร้าย่อมเป็นของธรรมดา ถ้าเจริญเป็นปกติ แล้วอะไรจะตาย ผมไม่เห็นว่ามีอะไรตาย ความตายอยู่กับคนเป็นไปกำหนดกฎเกณฑ์ ความตายอยู่กับคนเป็น ผมเห็นอย่างนั้นจะถูกหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีขณะไหนที่ยั่งยืนเลย นี่คือขณิกมรณะ ความตายทุกขณะ

    ผู้ฟัง แต่ที่จะรู้ความตาย ตอนเป็นหรือตอนตาย

    ท่านอาจารย์ เวลาที่บอกว่า คนเกิด ก็คือจิต เจตสิก รูปในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เกิด เวลาที่บอกว่าคนตาย ก็หมายความว่า จิต เจตสิก รูปในภูมินั้นดับ แล้วไม่เกิดต่ออีก จึงชื่อว่าตาย เพราะว่าขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็คือขณะที่จิต เจตสิก รูปเกิดดับ แล้วก็เกิดอีก ดับอีก เกิดอีก ดับอีก สืบต่อไปเรื่อยๆ ในระหว่างที่ยังมีชีวิต แต่ที่ชื่อว่าตาย ก็คือ จิต เจตสิก รูปดับแล้วไม่เกิดอีกในชาตินั้น ในความเป็นบุคคลนั้น

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างสมมติว่าเราไปตั้งโปรแกรมเป้าหมาย เมื่อเหตุไม่ปรากฏ ก็ผิดวัตถุประสงค์ที่อาจารย์สอน ก็เอาความอยากไปตั้งกำหนดไว้ล่วงหน้า

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้มีความอยาก นี่เป็นสิ่งที่มีจริง คือว่า เห็นดับ ได้ยินดับ คิดนึกดับ จิตเกิดขึ้นทีละขณะเดียว และไม่ใช่เฉพาะจิตอย่างเดียวที่เกิด มีเจตสิกเกิดร่วมกัน เป็นนามขันธ์ ๔ และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็มีรูปเกิดด้วยตามสมุฏฐาน ซึ่งเป็นรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานก็มี เป็นรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานก็มี เป็นรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานก็มี เป็นรูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐานก็มี บังคับไม่ได้ เวลานี้รูปที่ดับไปแล้ว ก็มีปัจจัยทำให้เกิดอีก อย่างจักขุปสาทที่ดับแล้ว ก็มีปัจจัยให้จักขุปสาทนั้นเกิดอีก ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ว่ามีเหตุมีปัจจัยที่จะให้สังขารธรรม คือ ขันธ์ทั้ง ๕ เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปสืบต่อกัน

    การเกิดดับแต่ละขณะมีจริง เป็นจริง เป็นขณิกมรณะ

    ผู้ฟัง ขณะที่ดับไปแล้ว ก็ดับไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าดับแล้วดับเลย ไม่มีเหลือเลย ถ้าเข้าใจขณิกมรณะ ก็จะเข้าใจสมมติมรณะ คือขณะที่จิต เจตสิก รูปดับ แล้วไม่เกิดสืบต่ออีกในชาตินี้ ในความเป็นบุคคลนี้ สิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้ นั่นเป็นสมมติมรณะ แต่จะมีปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจุติจิตทันที ด้วยเหตุนี้จึงชื่อว่า การตายในชาติหนึ่งๆ เป็นสมมติมรณะ จนกว่าจะถึงสมุจเฉทมรณะ เมื่อดับกิเลส และจุติจิตเกิดแล้วดับไป เป็นการปรินิพพานของพระอรหันต์

    ผู้ฟัง อย่างนั้นที่ผมปฏิบัติก็อาจจะผิดพลาดไป คิดว่าเราไม่ตาย เราจะไปตั้งความหมายว่าตาย มันคนละทิศทาง หรือว่าเราเกิดมาเราต้องยอมจำนน เมื่อเหตุผลยังไม่ปรากฏแก่เรา อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่ได้ศึกษาธรรม จะมีความคิดต่างๆ มากมายหลายอย่างทีเดียว แต่ถ้าศึกษาพระธรรมแล้ว จะรู้ได้ว่า ไม่จำเป็นต้องไปคิดเองเลย เพราะเหตุว่ามีผู้ที่ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมโดยละเอียด เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียดให้พิจารณาตามว่า เป็นความจริงอย่างที่ทรงแสดงหรือไม่

    พระ สักครู่หนึ่งบอกว่า ขณะใดที่คิดจะไปทำอย่างอื่น มีสติรู้ว่าหลงลืมสติ ขณะนั้นก็เริ่มเป็นปัจจัยให้ครั้งต่อๆ ไป จะไปทำอย่างอื่น สติก็เกิดขึ้นระลึกเสียเลย ขณะนั้นเป็นปัจจัยใช่ไหมที่จะทำให้สติเป็นปกติเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าระลึกก็มีปัจจัยที่จะระลึกแน่นอน แต่ถ้ายังจำไม่ได้ คำนี้ ลืมเสียอีกแล้ว ก็อยากจะไปทำอย่างอื่นอีก ก็ตามปัจจัยที่สะสมมา ไม่มีใครสามารถจะบังคับได้ แต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่จะเกิดขึ้น ต้องมีปัจจัยจึงเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นความเห็นถูกหรือความเห็นผิด ก็จะต้องมีปัจจัยที่จะต้องเกิดขึ้น

    พระ ใหม่ๆ อาตมาเคยปฏิบัติผิด ก่อนเดินก็เล็งจะหาแข็ง หรือนกร้องอยู่ตั้งนานแล้ว ก็คอยจะฟังว่าเมื่อไรจะร้องใหม่ แล้วก็พิจารณาเสียง แต่ก่อนปฏิบัติผิดมากเพราะว่าฟังน้อย จนเดี๋ยวนี้สิ่งนั้นยังเกิดขึ้นอีกได้ คือ โลภะที่เกิดแทรก ใหม่ๆ อาตมาไม่รู้เลยว่าผิด จนเมื่อสนทนาก็ตกใจเหมือนกันว่า ทำไมตัวเองเป็นอย่างนั้น ใหม่ๆ ไม่รู้ว่าอกุศลเจริญมาแบบนี้จนกระทั่งมีกำลัง ก็เกิดได้อีก

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้นจะต้องทราบว่า ขณะใดที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นจะค่อยๆ ละสีลัพพตปรามาส การประพฤติผิดปฏิบัติผิดไปจากมรรคมีองค์ ๘ แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้ ถ้าพระคุณเจ้าไม่ได้ฟังจนกระทั่งเข้าใจ สิ่งนั้นจะติดตามมามากยิ่งกว่านั้น แต่ว่าเมื่อได้ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว แล้วก็เริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ความรู้ถูกก็จะมี และเวลาที่ความเห็นผิดเกิดขึ้น ก็ยังสามารถที่จะรู้ได้ว่า นี่เป็นความเห็นผิดที่เกิดเพราะการสะสม ซึ่งจะต้องค่อยๆ จางไป เมื่อความเห็นถูกเพิ่มขึ้น

    พระ ใช่ ต้องค่อยๆ เพราะว่าสังเกตดู เดี๋ยวนี้ไม่ได้หายไปเลย บางครั้งนานๆ ก็ยังต้องเกิดอีก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นหนทางคือมรรคมีองค์ ๘ เป็นหนทางเดียวที่จะดับสีลัพพตปรามาสกายคันถะ แต่ถ้ายังอบรมเจริญไม่พอ สีลัพพตปรามาส คือ การลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติผิด ซึ่งเคยทำมาแล้ว ก็เกิดแทรกได้ตามเหตุตามปัจจัย แต่แม้กระนั้นปัญญาก็สามารถที่จะรู้ได้

    และสำหรับเรื่องของความสงบในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ก็จะดีกว่าการที่จะไปทำมิจฉาสมาธิ

    มีท่านผู้ฟังที่อยู่ต่างประเทศ ท่านก็ไม่ค่อยได้มาที่วัดที่จะฟังพระธรรม แต่ท่านก็ได้รับเทปจากกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้ส่งไปให้ ขณะที่ฟังพระธรรม ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดในขณะนั้น สามารถที่จะรู้ลักษณะความผ่องใสของจิต ในขณะที่กำลังระลึกถึงพระคุณที่กำลังเข้าใจพระธรรม

    เพราะฉะนั้นอนุสติหรือสมถภาวนา การอบรมเจริญความสงบในชีวิตประจำวันของพุทธบริษัทจะไม่พ้นจากอนุสติ ๖ คือ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ จาคานุสติ สีลานุสติ เทวตานุสติ เพราะเหตุว่าขณะใดที่เข้าใจพระธรรม แล้วระลึกถึงพระคุณ ย่อมเป็นปัจจัยให้น้อมประพฤติปฏิบัติตามทั้งทาน ศีล และความสงบของจิต รวมทั้งสติปัฏฐานด้วย

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การเจริญความสงบในชีวิตประจำวัน ที่เห็นผลได้ทุกขณะโดยไม่ผิด ก็คือขณะที่กุศลจิตเกิด แล้วสติสัมปชัญญะก็จะเริ่มสังเกตลักษณะความสงบของจิต และถ้าขณะนั้นมีการดื่มด่ำในพระคุณที่ได้เข้าใจเพิ่มขึ้น สติสัมปชัญญะก็เริ่มจะสังเกตลักษณะความสงบ ซึ่งมากกว่าเคย และถ้ามีปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น การที่ความสงบของจิตจะปรากฏเป็นความผ่องใส ก็ย่อมเพิ่มขึ้นปรากฏด้วย

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เมื่อมีสติสัมปชัญญะ ก็สามารถจะรู้ลักษณะของความสงบที่ผ่องใสขึ้น เพียงแต่ว่าจะถึงอุปจารสมาธิ หรือไม่ถึงอุปจารสมาธิ ซึ่งไม่ใช่เป็นความหวัง หรือความต้องการที่จะถึง เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ควรจะเป็นการเจริญปัญญาเพื่อละ

    ถาม เท่าที่ฟังมาก ท่านอาจารย์ไม่สนับสนุนการนั่งสมาธิ อยากทราบว่าการไปนั่งสมาธิจะช่วยให้จิตสงบได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นคำถามที่น่าสนใจและมีประโยชน์มาก เพราะรู้สึกว่า สมัยนี้ทุกคนจะใช้คำว่า “ทำสมาธิ” หรือ “นั่งสมาธิ” หรือ “ทำสมถภาวนา” แต่ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ทำให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งเป็นปัญญาของผู้ที่ศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าศึกษาพระพุทธศาสนาโดยละเอียด จะทำให้เข้าใจถูกต้อง หมดความสงสัย แต่จะต้องฟังความละเอียดของแต่ละเรื่องพอสมควร ไม่ใช่เพียงใครบอกว่า ทำสมาธิ ก็ทำเลย ฝนั่นก็ไม่มีความเข้าใจอะไรสักนิดเดียว เพียงแต่บอกให้ทำ ก็ทำ แต่ว่าไม่เข้าใจจุดประสงค์

    สำหรับในพระพุทธศาสนา มีการอบรมเจริญกุศลนอกจากขั้นทานและขั้นศีล อีก ๒ อย่าง คือ สมถภาวนาอย่างหนึ่ง และวิปัสสนาภาวนาอย่างหนึ่ง

    คำว่า “ภาวนา” เราก็เคยได้ยินบ่อยๆ แต่ว่าแม้เราจะได้ยินศัพท์ต่างๆ ก็ใช่เราจะเข้าใจความหมายของศัพท์ที่เราใช้จริงๆ เช่นคำว่า “ภาวนา” หมายความว่าการอบรม ค่อยๆ เจริญให้สิ่งซึ่งยังไม่เคยเกิด เคยมี เกิดขึ้น มีขึ้น เพิ่มขึ้น มากขึ้น นี่คือความหมายของภาวนา

    เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงภาวนา คือ การอบรมในพระพุทธศาสนา ที่ว่ามี ๒ อย่าง คือ อบรมเจริญความสงบของจิตใจอย่างหนึ่ง ชื่อว่า “สมถภาวนา” และอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะละความไม่รู้ ละกิเลสจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เป็นพระอริยบุคคล เหมือนพระอริยเจ้าในครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระอนาคามีบุคคล จนถึงความเป็นพระอรหันต์ นั่นคือการเจริญวิปัสสนาภาวนา

    เพราะฉะนั้นเพียงแต่จะนึกถึงภาวนา ๒ อย่าง คือ สมถภาวนาอย่างหนึ่ง และวิปัสสนาภาวนาอย่างหนึ่ง ก็น่าจะคิดว่าจะเจริญอย่างไหน

    นี่เป็นสิ่งที่เพียงแต่จะให้พิจารณาในเหตุผลขั้นต้นก่อนว่า จะเจริญความสงบของจิตชั่วครั้งชั่วคราว แต่ว่าไม่สามารถที่จะดับกิเลสใดๆ ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ อิสสา ความริษยา ความตระหนี่ อะไรๆ ก็ตามที่เป็นอกุศล สมถภาวนาดับไม่ได้ แต่ว่าวิปัสสนาภาวนาดับได้

    เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะทราบว่า ก่อนที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทรงตรัสรู้อริยสัจจธรรม การอบรมเจริญสมถภาวนามีแล้ว ไม่ใช่ไม่มี กุศลทุกประการมีแล้ว กุศลที่เป็นขั้นทานก็มีแล้ว กุศลที่เป็นขั้นศีลก็มีแล้ว กุศลที่เป็นขั้นสมถะ คือ ความสงบของจิตก็มีแล้ว แต่ถ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสรู้ การอบรมเจริญปัญญาที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ที่จะให้ดับกิเลส ไม่มี เพราะเหตุนั้นจึงมีผู้สามารถอบรมเจริญความสงบของจิตก่อนการตรัสรู้ขั้นสูงด้วย แต่ก็ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวถึงสมถภาวนา ก็คือกุศลอีกขั้นหนึ่ง นอกจากขั้นทาน ขั้นศีล แต่ว่าจะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง เพราะเหตุว่าถ้าไม่เข้าใจจะเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเหตุว่าในพระไตรปิฎกจะมีคำว่า สัมมาปฏิบัติ มิจฉาปฏิบัติ มรรคมีองค์ ๘ สัมมามรรคก็มี เป็นมิจฉามรรคมีองค์ ๘ ก็มี

    เพราะฉะนั้นการที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงข้อปฏิบัติ ก็จำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจให้ละเอียดจริงๆ ถ้ายังไม่ได้ศึกษาเลย แต่ใครบอกให้ทำอะไรก็ทำ โดยที่ไม่ได้เข้าใจว่า กำลังทำอะไร และผลที่จะเกิดนั้นคืออะไร

    เพราะฉะนั้นขอเรียนให้ทราบเรื่องของสมถภาวนาว่า เป็นกุศลอีกขั้นหนึ่ง ที่ขณะนั้นจิตสงบจากอกุศล วันหนึ่งๆ ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม จะไม่ทราบเลยว่า ถ้าขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นเป็นอกุศลหมด ถ้าเราไม่กล่าวถึงจิตประเภทที่เป็นวิบาก คือ ผลของกรรม ได้แก่ ขณะที่กำลังเห็น เป็นจิตที่เป็นวิบาก กำลังได้ยินก็เป็นผลของกรรม กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังกระทบสัมผัส ขณะต่างๆ เหล่านี้ แค่ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นผลของกรรม แต่ว่าเมื่อเห็นแล้ว ชอบหรือไม่ชอบ ไม่ใช่เป็นผลของกรรมแล้ว แต่เป็นเหตุที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ที่จะทำให้เกิดการกระทำที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ซึ่งจะทำให้เกิดสังสารวัฏฏ์วนเวียน คือ เมื่อเหตุที่ไม่ดีมี กรรมที่ไม่ดีมี ผลของกรรมที่ดีและไม่ดี ก็ต้องมีตามเหตุด้วย

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เราต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า เมื่อยังไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่เคยรู้ตัวว่า มีกิเลสมากแค่ไหน มีอกุศลจิตมากแค่ไหน ต่อเมื่อได้ศึกษาแล้วจึงรู้ว่า ขณะใดที่กุศลไม่เกิด ขณะนั้นเว้นจิตที่เป็นวิบาก คือ เป็นผลของกรรมแล้ว เป็นอกุศลหมดเลย

    ชอบดอกไม้สวยๆ ไหม เป็นอะไรคะ ไม่เคยคิดเลยว่า อกุศลแล้ว ตื่นขึ้นมาก็อาหารอร่อยไหม วันนี้จะทำอะไรบ้าง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยเรื่องของโลภะทั้งนั้น ความต้องการ ความปรารถนา ความติดข้อง เวลาที่ไม่ได้สิ่งที่ต้องการก็เป็นโทสะ ความโกรธหรือความไม่พอใจมีทุกระดับ ตั้งแต่เห็นฝุ่นนิดเดียว ขณะนั้นถ้าสังเกตความรู้สึก จะรู้ได้เลยว่า จิตใจไม่ผ่องใส ขณะนั้นก็เป็นอกุศลแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเห็นคนที่ไม่พอใจ ยิ่งกว่าเห็นฝุ่นเล็กๆ น้อยๆ ความไม่ชอบใจ ความรำคาญใจ กระวนกระวายใจก็ต้องเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ โลภะ โทสะ มากทีเดียว ขณะนั้นไม่สงบ เพราะฉะนั้นกุศลอีกขั้นหนึ่ง ที่ว่า ขณะใดก็ตามที่ไม่ได้ให้ทาน ไม่เป็นไปในทาน การให้วัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ขณะใดที่ไม่ได้วิรัติทุจริต ไม่ได้วิรัติปาณาติบาต อทินนาทาน อย่างที่เราเคยทราบเรื่องศีล ๕ ขณะนั้นจิตใจเราเป็นอย่างไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    14 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ