โสภณธรรม ครั้งที่ 122
ตอนที่ ๑๒๒
ขณะใดก็ตามที่ไม่ได้ให้ทาน ไม่เป็นไปในทาน การให้วัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ขณะใดที่ไม่ได้วิรัติทุจริต ไม่ได้วิรัติปาณาติบาต อทินนาทาน อย่างที่เราเคยทราบเรื่องศีล ๕ ขณะนั้นจิตใจเราเป็นอย่างไร ถ้าไม่ทราบก็ไม่เจริญสมถภาวนา แต่ถ้าทราบจึงจะมีปัญญาที่จะรู้ว่า ไม่ควรที่จะให้อกุศลนั้นๆ ครอบครองจิตใจทั้งวัน ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบของจิต ซึ่งเป็นกุศลอีกขั้นหนึ่ง จึงต้องเป็นผู้มีปัญญาจึงจะเจริญได้ ไม่ใช่ไม่รู้อะไรเลย ก็จะไปทำสมาธิ โดยที่เข้าใจว่า ขณะนั้นสงบ โดยที่ไม่ได้ศึกษาเลยว่า ในพระไตรปิฎกทรงแสดงมิจฉาสมาธิ และมิจฉามรรคไว้
เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจ ก็ย่อมจะปฏิบัติด้วยความไม่รู้ เมื่อไม่รู้จะเป็นข้อปฏิบัติที่ถูกไม่ได้
เพราะฉะนั้นก่อนอื่นขอให้ทราบว่า สมถะ คือ ขณะที่เป็นกุศล ที่ไม่ได้เป็นไปในทาน ในศีล เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ จิตที่สงบเวลาที่ไม่เป็นไปในทาน ในศีล จะเป็นไปได้อย่างไร
ทุกคนคิด ทุกวัน ไม่มีใครที่ไม่คิด ตื่นมาวันนี้คิดแล้วตั้งหลายเรื่อง เวลาที่คิดถึงคนนั้นคนนี้ ถ้าสติไม่เกิด ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า คิดถึงด้วยความผูกพัน หรือว่าคิดถึงด้วยความขุ่นเคือง ถ้าคิดถึงคนที่เราพอใจ ญาติ ความรู้สึกอย่างหนึ่ง มิตรสหายที่รัก ความรู้สึกอย่างหนึ่ง คิดถึงคนที่โกรธกัน ผู้ร่วมงานที่ไม่ถูกกัน ไม่เข้าใจกัน ความรู้สึกก็อีกอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้นแม้แต่ความคิด ก็เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอกุศล ถ้าปัญญาไม่เกิด เพราะฉะนั้นจิตที่จะสงบด้วยความคิดที่สงบในชีวิตประจำวัน ต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่า คิดอย่างไรจิตจึงจะสงบได้ นี่คือสมถภาวนา การอบรมจิตซึ่งเกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ให้เป็นกุศลขึ้น ให้สงบขึ้น ไม่ใช่ให้ไปนั่งแล้วไม่รู้อะไร
เพราะฉะนั้นที่ถามเมื่อสักครู่ว่า ฟังดูเหมือนไม่ได้ส่งเสริมการนั่งสมาธิ เพราะเหตุว่าจะไม่ส่งเสริมมิจฉาสมาธิ แต่ถ้าเป็นการอบรมเจริญความสงบของจิต ซึ่งเป็นกุศลอีกขั้นหนึ่งแล้ว ควรเจริญในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้แก่พรหมวิหาร ๔ เพราะเหตุว่าชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่ขาดการคิดถึงคนอื่น วันนี้แม้จะเพิ่งพบกัน ก็ยังมีความคิดต่อกันได้ว่า จะเมตตาต่อกัน หรือจะคิดร้ายต่อกัน หรือจะไม่ชอบหน้ากัน เพราะว่าบางคนเพียงเห็น ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ถ้าสะสมความไม่พอใจไว้มากๆ มีข้อติตลอดเวลา คนนี้ก็เป็นอย่างนั้น คนนั้นก็เป็นอย่างนี้ อาจจะมองดูคนอื่นด้วยความไม่เป็นมิตร ความคิดถึงคนอื่นด้วยความไม่เข้าใจกัน ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต แต่ถ้าในชีวิตประจำวัน ทุกคนเข้าใจประโยชน์ของเมตตา คือ เข้าใจความรู้สึกและจิตใจที่ประกอบด้วยเมตตาจริงๆ ว่า ไม่ใช่การท่อง ไม่ใช่เพียงนึกว่า สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด
เมตตา มาจากคำว่า “มิตต” หรือไมตรี
ไม่ทราบถูกไหมอาจารย์ เพราะเหตุว่าดิฉันขอเรียนให้ทราบว่า ดิฉันมีท่านอาจารย์สมพร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลี ซึ่งจะทำให้การกล่าวถึงพระธรรมเพิ่มความสมบูรณ์ขึ้นเมื่อได้เข้าใจความหมายหรืออรรถของคำ โดยที่ว่าไม่ใช่เราคิดเอาเองว่า คำนี้เป็นอย่างนี้ แต่ความหมายที่ลึกซึ้ง และหรืออาจจะมี ๒ หรือ ๓ ความหมายของคำนั้นก็ได้ ก็ต้องขอเรียนปรึกษาท่านด้วย
สมพร คำว่าเมตตาที่ท่านอาจารย์พูดนั้นถูกต้องทุกอย่าง เพราะว่า เมตตา ก็คือความไมตรี มีจิตยินดีต่อกัน แต่ไม่ใช่ยินดีในด้านโลภะ
ปัญหาที่อาจารย์พูดเป็นปัญหาที่ขาวสะอาดพร้อมทุกอย่าง ไม่ใช่แต่ตอบคำถามเท่านั้น อาจารย์ยังให้เข้าใจเรื่องสมาธิที่เป็นมิจฉาสมาธิ
ขอให้ท่านอาจารย์ต่อไปอีก
ท่านอาจารย์ มิตรหรือไมตรี คือ ความเป็นเพื่อน ไม่ใช่ศัตรู เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะเห็นใคร แล้วก็มีความรู้สึกว่า เขาเป็นเพื่อนของเรา ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างประเทศ ต่างวัย ต่างความรู้ ต่างฐานะ แต่มีความเสมอกัน เข้ากันได้เหมือนเพื่อนสนิท เพราะเหตุว่าใครก็ตามที่จะเป็นเพื่อนกันแล้ว หมายความว่าคนนั้นต้องไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเขาหรือเป็นเรา หรือว่ามีความต่างกัน เพราะฉะนั้นจิตใจในขณะที่กำลังมีเพื่อนพร้อมที่จะเกื้อกูลช่วยเหลือผู้หนึ่งผู้ใด ขณะนั้นคือเมตตา
ธรรมเป็นสิ่งที่จะต้องอบรมเจริญประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าชีวิตประจำวันของเราดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว บางขณะจิตเราก็เป็นอกุศล ซึ่งต่างกับขณะที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นจิตจะเกิดดับสลับเปลี่ยนแปลงกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าจิตเที่ยง แต่ว่าจิตที่เป็นอกุศล ก็ไม่ใช่จิตที่เป็นกุศล
เพราะฉะนั้นขณะที่มีเมตตา มีความเป็นเพื่อน ขณะนั้นเป็นกุศล แล้วถ้าเราเพิ่มความเมตตากับทุกๆ คนขึ้น ที่เราพบปะ นั่นคือเราอบรมเจริญความสงบของจิต ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปนั่งท่องภาวนาอยู่ที่มุมหนึ่งมุมใด แต่พอพ้นจากห้องนั้นมาแล้ว เห็นคนอื่นก็หมั่นไส้ หรือไม่ชอบ หรือรำคาญ ขณะนั้นที่เราไปนั่งท่องตั้ง ๒๐ นาที หรือครึ่งชั่วโมง จะไม่มีความหมายเลย เพราะเหตุว่าไม่เป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน
เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจเรื่องสมถภาวนาให้ถูกต้องว่า เป็นการอบรมเจริญกุศลในชีวิตประจำวันที่จิตสงบ แม้ขณะนั้นไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล และที่จะกล่าวว่า “สมถะ” คำเดียว คือความสงบ ก็ยังจะต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า สงบอย่างไร ไม่ใช่อยากจะนั่งนิ่งๆ แล้วให้จิตไม่นึกถึงอะไรเลย นอกจากสิ่งที่เรากำลังจดจ้องอยู่ แล้วก็เข้าใจว่าขณะนั้นจิตสงบ แต่นั่นไม่ใช่ เพราะเหตุว่าสงบ สมถะ หมายความว่า สงบจากอกุศล สงบจากโลภะ สงบจากโทสะ สงบจากโมหะ คือ ความไม่รู้
เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังอยากจะอยู่คนเดียว แล้วก็จดจ้องที่อารมณ์เดียว ลองคิดดูว่า ขณะนั้นสงบ หรือว่าอยาก ความอยากมีหลายอย่าง อยากเห็นสิ่งที่สวยๆ งามๆ ก็เป็นความอยากอย่างหนึ่ง อยากจะได้ยินเสียงที่เพราะๆ หรือแม้เสียงชม ไม่ต้องเป็นเสียงดนตรี เพียงแต่ใครจะชมสักนิดสักหน่อยก็พอใจ เพียงเสียงที่กล่าวเป็นคำชมออกมา นั่นก็เป็นสิ่งที่เราต้องการ อยากได้กลิ่นหอมๆ อยากลิ้มรสอาหารอร่อยๆ ทั้ง ๓ มื้อ ๓ เวลา หรือทั้งวัน แล้วก็อยากจะกระทบสัมผัสสิ่งที่สบาย เก้าอี้ก็ต้องอ่อนนุ่มสบายสะดวกทุกอย่าง
นี่คือโลภะ แต่ว่าไม่ใช่จะมีความยินดีพอใจเพียงในรูปที่เห็นทางตา ในเสียงที่กระทบหู ในกลิ่นที่กระทบจมูก ในรสที่กระทบลิ้น ในโผฏฐัพพะที่สัมผัสทางกาย โลภะจะชอบทุกอย่างหมด เพราะฉะนั้นแม้เพียงแต่อยากนั่งเฉยๆ ไม่ให้จิตนึกถึงอย่างอื่นเลย ขณะนั้นไม่ได้มีปัญญาอะไรเลยที่จะรู้ว่า กุศลเป็นอย่างไร อกุศลเป็นอย่างไร มีแต่ความต้องการที่จะพักจิตใจ ไม่ให้เที่ยวเตร็ดเตร่ไปตามอารมณ์ที่ปั่นป่วน เดือดร้อน วุ่นวาย นั่นคือลักษณะของความต้องการชนิดหนึ่งเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นในขณะนั้นก็ไม่ประกอบด้วยปัญญา จึงไม่ใช่สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะเจริญสมถภาวนา ต้องเข้าใจความหมายของ “สมถะ” และต้องรู้วิธีว่า การอบรมเจริญต้องเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ใช่จะไปนั่งทำอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วก็เข้าใจว่าสงบ แต่พอพบคนอื่นจริงๆ ก็ไม่สงบเสียแล้ว
ถาม ..เรื่องอานาปานสติก็ดี เรื่อง...
ท่านอาจารย์ ต้องประกอบด้วยปัญญาค่ะ เพราะฉะนั้นถ้าใครมาชักชวนให้ทำอะไร ต้องเข้าใจตัวของเราเองก่อนว่า ทำทำไม และสิ่งที่ทำ เราเข้าใจอะไรขึ้น อย่างกสิณ ที่ใช้คำว่า “กสิณ” มี ๑๐ อย่าง
คำว่า “กะ สิ ณะ” ต้องแปลเสียก่อนอีกแล้ว ถ้าอย่างนั้นเราก็พูดถึงคำที่เหมือนเข้าใจ แต่ความจริงเราไม่ได้เข้าใจอะไรเลยสักอย่างเดียว เขาบอกอะไรก็เชื่อ ขอเรียนเชิญอาจารย์ คำว่า กสิณ
สมพร คำว่า กสิณ เดิมมาจากคำว่า “กสิณัง” หมายความว่าทั้งปวง คือ อารมณ์ทั้งปวง ผู้ที่จะปฏิบัติต้องเข้าใจ เบื่อหน่ายในเรื่องกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ เพื่อจะหลีกเลี่ยง แต่ว่าผู้นั้นต้องเข้าใจในอารมณ์นั้น จึงไปกำหนดสติอารมณ์อยู่ แต่บางครั้งไปสงบสติอารมณ์อยู่ โลภะไม่สงบ โทสะสงบจริง โลภะทำให้ยินดีติดใจ เพราะเหตุนั้นคำว่า “กสิณ” ถ้าไม่เข้าใจแล้ว ปฏิบัติ อาจจะเป็นมิจฉาทิฏฐิได้นะครับ ขอเชิญอาจารย์ครับ
ท่านอาจารย์ ที่เรียนให้ทราบว่า กสิณมี ๑๐ อย่าง ขอเริ่มจาก ปฐวีกสิณ ซึ่งรู้สึกว่าทุกคนจะได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ปฐวี ภาษาไทยก็แปลว่า ดิน แต่ว่าดินก็มีหลายอย่าง ลักษณะที่เป็นธาตุดิน ต่างกับดินที่เราเข้าใจกัน ลักษณะที่เป็นธาตุดิน คือ ไม่ว่าอะไรก็ตามที่แข็ง กระทบสัมผัสแล้วแข็งทั้งหมด คือ ลักษณะของธาตุชนิดหนึ่ง แม้ว่าเราจะไม่เรียกว่า แข็ง แม้เราจะไม่เรียกว่า ดิน แม้เราจะไม่เรียกว่า ปฐวี แต่ลักษณะที่แข็งกระทบสัมผัสทางกาย สำหรับทุกคนที่มีกายปสาท
นี่คือลักษณะของธาตุ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช้คำ ใช้ชื่อใดๆ สิ่งนั้นมีจริง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ลักษณะที่แข็งเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ชื่อว่า ปฐวีธาตุ เหมือนกับเสียง เป็นสิ่งที่มีจริง ทุกคนที่มีโสตปสาท มีการได้ยิน ก็รู้ว่าเสียงมีลักษณะอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นเสียงเป็นสัททธาตุ เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่ง
ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง โดยที่เราไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาบาลี หรืออะไร แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ถ้าทางธรรมจะใช้คำว่า ปรมัตถธรรม แต่ก็จะไม่ต่อไปถึงนั่น เพราะกำลังพูดถึงเรื่องปฐวีว่า ดินมีหลายอย่าง ลักษณะของธาตุก็แข็ง แต่ว่าดินที่เราเข้าใจกัน ก็เป็นพื้นดินทั่วๆ ไป การที่จิตจะสงบ โดยการระลึกถึงดิน ลองคิดดูถึงเหตุผลว่าเป็นไปได้ไหม ก่อนที่ใครจะมาชักชวนเราให้ทำอะไร เราต้องซักฟอกความเข้าใจกับข้อปฏิบัตินั้นให้ตรงว่า เหตุต้องตรงกับผล
เพราะฉะนั้น ปฐวี แปลว่า ดิน กสิณ แปลว่า ทั้งปวง
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมีอะไรที่ปราศจากดิน หรือลักษณะที่แข็ง เราอาจจะเห็นสิ่งนี้ แล้วก็อาจจะรู้ว่า เป็นเครื่องใช้อย่างหนึ่ง แต่ลองกระทบสัมผัสก็เพียงแข็ง นี่ก็แข็ง ดอกไม้ที่ว่าสวย เรียกชื่อหลายๆ ชื่อ ทั้งดอกไม้จริง ดอกไม้ปลอม ในกระดานหรือเกิดขึ้นมาอย่างไรก็ตาม กระทบสัมผัสแล้วก็เพียงแค่แข็ง รูปธรรมทั้งหมดที่เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจทางตา คือ สีของสิ่งที่แข็ง เมื่อมีสิ่งที่แข็งกระทบสัมผัสได้ ถ้ามองดูจะเห็นสีของสิ่งนั้น แต่ไม่กระทบความแข็งของสิ่งนั้น
นี่ก็เป็นการแยกออกแล้ว เพราะว่ากสิณมี ๑๐ อย่าง นอกจากกสิณที่เป็นธาตุกสิณ ที่เป็นดิน น้ำ ไฟ ลม แล้วก็ยังมีกสิณที่เป็นสีต่างๆ ด้วย เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจเรื่องของสมถภาวนา หรือว่ากสิณ ก็จะต้องรู้ที่มาที่ไปทุกอย่างด้วย ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่พ้นจากธาตุดินสักอย่างเดียวที่เป็นรูปธรรม โต๊ะ เก้าอี้ อาหาร เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ วิทยุ โทรทัศน์ แม้แต่รถยนต์ หรืออะไรต่างๆ ก็ไม่พ้นไปจากธาตุดินเลย
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราปรารถนาต้องการกันเหลือเกินในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่แข็งเท่านั้นเอง จริงหรือไม่จริงคะ ใครจะปรารถนาอะไรก็แล้วแต่ ลองกระทบสัมผัสดูก็แค่แข็งเท่านั้น ประเทศทั้งประเทศที่กำลังแย่งชิงกัน รบราฆ่าฟันกัน ก็แย่งดินกันเท่านั้นเอง ถ้าคิดถึงจริงๆ แล้ว ก็แย่งดินกัน ทุกสิ่งทุกอย่างมีเพียงแค่ดินเท่านั้นเอง แต่ว่าถ้าเราไม่เข้าใจอย่างนี้ เรายังไม่รู้เลยว่า ทุกอย่างที่เราต้องการ เมื่อลอกสภาพลวงตาเป็นสีต่างๆ ออก ก็เหลือแต่เพียงความอ่อนหรือความแข็ง ซึ่งเป็นลักษณะของดินชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นถ้าลองเป็นดินอย่างเดียว ดินจริงๆ ดินเท่านั้น ยังอยากได้ไหมคะ หรือว่าพอเอาดินมาปั้นให้เป็นถ้วยโถโอชามสวยๆ ให้มีรูปร่างต่างๆ ชอบเสียแล้ว เปลี่ยนสภาพนิดเดียว วัตถุยังคงเป็นดิน ยังแข็ง แต่ว่าทำให้รูปร่างเปลี่ยนแปลงไป แล้วก็แต้มสีสันต่างๆ ความยึดมั่น ความพอใจก็เกิดขึ้น อาจจะตีราคาเป็นเครื่องเบญจรงค์สวยงามเพิ่มขึ้นมากมาย โดยที่ลักษณะแท้ๆ ก็คือธาตุดินเท่านั้นเอง
ถ้าคิดอย่างนี้จริงๆ มองทุกอย่างให้เสมอเหมือนกับเพียงดินเท่านั้น ความต้องการของเราก็จะลดลง เพราะเหตุว่าไม่มีอะไรพ้นจากดิน ไม่มีอะไรนอกจากดิน มีแต่ดิน เมื่อระลึกถึงกสิณ ปฐวีกสิณ คือ ดินทั้งปวง ความรู้สึกของเราที่เคยโลดเต้นพึงพอใจในถ้วยชามเบญจรงค์ ในอะไรต่ออะไรทุกอย่างก็ลดลง เพราะว่ารู้ความจริงว่า ไม่มีอะไรเลย เหลือเพียงดินอย่างเดียวเท่านั้น จิตก็สงบลงได้ แต่ไม่ใช่ไม่รู้อะไรเลย ก็ไปนั่งจ้องดินสีอรุณที่เป็นวงกลม แล้วลองคิดดูจริงๆ ว่า มีใครในโลกนี้ที่มองดินสีอรุณแล้วจิตจะสงบ โดยปัญญาไม่เกิด มีใครไหมคะที่มอง เวลานี้ถ้ามีดินสีอรุณ ที่เป็นปฐวีกสิณตั้งอยู่ที่นี่ แล้วคนที่เห็น มีใครบ้างที่กุศลจิตจะเกิด เป็นไปไม่ได้เลย เพียงมองดูแล้วกุศลจิตเกิด นี่ก็แปลกมากว่า ดูอย่างไรกุศลจิตจะเกิด แต่เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้น น้อมระลึกถึงเพียงดินเท่านั้น ทุกอย่างเป็นแต่เพียงดิน ไม่มีอะไรนอกจากดิน ขณะนั้นก็จะทำให้จิตสงบได้
เพราะฉะนั้นแม้แต่การเจริญสมถภาวนา ทุกๆ อารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบ อารมณ์ของสมถภาวนาทั้งหมดมี ๔๐ อารมณ์ ทุกอารมณ์จะต้องมีปัญญาที่พิจารณาแล้วจิตจึงจะสงบได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนาต้องประกอบด้วยปัญญา ต้องเป็นมหากุศลจิตญาณสัมปยุตต์ มิฉะนั้นแล้วเจริญไม่ได้ สงบไม่ได้ เห็นดินสีอรุณแล้วก็อาจจะชอบก็ได้ สวยดี เท่านั้นเอง ยิ่งดูก็สวยดี ขณะนั้นก็ไม่มีทางที่จิตจะสงบได้
ถาม ถ้าสมมติว่าเราใช้ในชีวิตปกติประจำวัน ถ้าว่างเราก็รวมอารมณ์...
ท่านอาจารย์ ถ้าสติเกิดจริงๆ จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล ขณะที่อยากเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศลแล้ว
ถาม ถ้าเราน้อมอย่างที่อาจารย์ว่า มนสิการ
ท่านอาจารย์ อันนี้หมายความว่า มีบางท่านที่พยายามผสมสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา ทีนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า วิปัสสนาคืออะไร ถ้าเข้าใจแล้วจะไม่ผสม แต่จะรู้ว่า ขณะใดจิตสงบ ขณะนั้นเป็นกุศลชนิดหนึ่ง แต่ปัญญาจะรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นก็ไม่ไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมาเลย แต่เป็นผู้ที่รู้ว่า ทุกขณะจิตมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น เพื่อละความเป็นตัวตน
นี่เป็นเหตุที่สมถภาวนาแยกกับวิปัสสนาภาวนา
ผู้ฟัง อย่างเรียนวิชาอะไรก็ตาม ถ้าเราไม่มีเวลามาทบทวน... ถ้าไม่เป็นกุศล ก็เป็นอกุศล ทีนี้ถ้าเราให้เวลากุศลต่อเนื่องกันไป...
ท่านอาจารย์ นามรูปปริจเฉทญาณ คือ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ ไม่ใช่ว่าต้องไปนั่งที่อื่น ทำอย่างอื่น
ผู้ฟัง ...
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ธรรมเป็นเรื่องปฏิบัติทันที แล้วเดี๋ยวนี้ด้วย เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้จะทำอย่างไร
ผู้ฟัง เสียงคือรูปเกิดขึ้น ตอนรู้ก็คือนาม ถ้าเราเพ่งเสียงอย่างเดียว....
ท่านอาจารย์ อันนี้เป็นสิ่งที่หลายคนอาจจะคิดอย่างนี้ มีความเป็นเราที่จะจัดการ ที่จะทำ แต่ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า ทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้ ดับ จิตที่ได้ยินเสียง ไม่ใช่จิตเห็น เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังมีเสียง เสียงขณะนั้นปรากฏต้องไม่มีเห็นในขณะนี้ นี่ถึงจะเป็นการประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับสลับกันจริงๆ
เพราะฉะนั้นปัญญาต้องรู้ทั่ว ไม่ใช่ไปเลือก ต้องการที่จะรู้อย่างเดียว แล้วก็เข้าใจว่ารู้มาก ในขณะนั้นมีความเป็นตัวตน ไม่ใช่มีความเป็นอนัตตาที่จะรู้ว่า แม้แต่เสียงที่จะเกิด ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย หรือว่าเห็นที่กำลังปรากฏนี้ สติจะระลึกหรือไม่ระลึก ก็แล้วแต่ว่ามีปัจจัยที่สติจะเกิด เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจจริงๆ จะมีเราที่ทำ ซึ่งถ้ามีเราที่ทำแล้ว ไม่สามารถที่จะเอาความเป็นตัวตนออกจากเราที่จะทำได้เลย
เพราะฉะนั้นปัญญาจริงๆ คือ ปัญญาที่ค่อยๆ อบรมให้รู้ว่า แม้แต่สติจะเกิดระลึกก็เป็นอนัตตา ขณะที่กำลังฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมเดี๋ยวนี้ ถ้าสะสมเหตุปัจจัยมาเหมือนผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลในครั้งพุทธกาล ที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ปัญญาสามารถที่จะแทงตลอดแม้ในขณะที่กำลังฟัง โดยที่ว่าไม่ใช่ทำอะไร แต่หมายความว่า อบรมเจริญความรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมจริงๆ ที่กำลัง ปรากฏ โดยรู้ว่าขณะไหนที่สติเกิด ไม่ใช่เราจะทำ และขณะไหนที่สติไม่เกิดขึ้น หลงลืมสติ คือบังคับไม่ได้ ที่เรียกว่า จะไปอยู่ตรงนั้นตรงนี้ เริ่มเวลานั้น หมดเวลานี้ แต่ว่ามีความลักษณะของธรรมว่า เป็นอนัตตายิ่งขึ้น ต้องเป็นผู้ที่อดทนอย่างมาก
ถาม เข้าใจว่าที่นั่งสมาธิ เพื่อให้จิตสงบจากอกุศลเหมือนกัน ถ้ามีสมาธิมากขึ้น ในชีวิตประจำวันก็มีสติมากขึ้น สามารถดูตัวเองได้ดีขึ้นกว่าเดิม คิดว่ามีประโยชน์ ไม่ทราบว่าอาจารย์จะให้ทำอย่างไร
ท่านอาจารย์ ฟังดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น เหมือนจะเป็นอย่างนั้น แต่ขอให้พิจารณาที่ว่า ทำสมาธินี่ ขอถามว่าทำอย่างไร
ผู้ฟัง ...บางทีก็เดินจงกรม บางทีก็ใช้อานาปานสติ
ท่านอาจารย์ เดินจงกรม หมายความว่าเดินอย่างไร
ผู้ฟัง ก็กำหนดอิริยาบถ
ท่านอาจารย์ แล้วปัญญารู้อะไร
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160