โสภณธรรม ครั้งที่ 123
ตอนที่ ๑๒๓
ท่านอาจารย์ ทำสมาธินี่ ขอถามว่าทำอย่างไร
ผู้ฟัง ...บางทีก็เดินจงกรม บางทีก็ใช้อานาปานสติ
ท่านอาจารย์ เดินจงกรม หมายความว่าเดินอย่างไร
ผู้ฟัง ก็กำหนดอิริยาบถ
ท่านอาจารย์ แล้วปัญญารู้อะไร
ผู้ฟัง คิดว่าช่วงนั้นไม่ใช่การเจริญปัญญา
ท่านอาจารย์ นี่คือคำตอบ ช่วงที่ไปทำแล้วก็เข้าใจว่า สงบ แต่ปัญญาไม่เกิด ถูกต้องใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า จุดประสงค์ของวิปัสสนาภาวนาหรือว่าจุดประสงค์ของชาตินี้ดีกว่า ทุกคนต้องตาย ช้าหรือเร็ว ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าเลย และชีวิตของเราก็เล็กน้อยเหลือเกิน จะทำอะไรดี มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ มีรัก มีชัง มีโลภ มีโกรธ มีริษยา มีทุกอย่าง และเราเกิดมาชาตินี้เราจะทำอะไร จะคงสะสมให้โลภะมากขึ้นอีก โทสะให้มากขึ้นอีก อิสสามากขึ้นอีก หรือว่าเราจะทำอะไร แต่ว่าผู้ที่เป็นศาสนิกชนมีพระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์ และทุกคนเข้าใจว่า ไม่มีใครเลยที่อยู่ดีๆ ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม แล้วจะรู้หนทางที่จะดับกิเลสได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ไม่ต้องอาศัยพระบารมีสี่อสงไขยแสนกัปป์ ที่พากเพียรแสวงหาทางที่จะอบรมปัญญาที่จะ ดับกิเลส เพราะว่าเรื่องการดับกิเลสเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้จริงๆ เพราะเหตุว่านอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็มีพระอรหันต์อีกมากมาย ระดับของพระอริยบุคคลที่ต่ำกว่าพระอรหันต์ เช่น พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบันในครั้งนั้นก็มีมากมาย เป็นเครื่องพิสูจน์ เป็นเครื่องยืนยันว่า ปัญญาที่ดับกิเลสนั้นอบรมได้ เจริญได้ มีได้ เพียงแต่ว่าต้องเข้าใจให้ถูกว่า ปัญญารู้อะไร และจุดมุ่งหมายของชาตินี้เพื่ออะไร ถ้าตอบ ทุกคนในที่นี้ก็คงจะตอบพร้อมกันว่า เพื่ออบรมเจริญปัญญา ใช่ไหมคะ หรือยังไม่เอา กิเลสจะดับไม่ได้ ถ้าปัญญาไม่เกิด สิ่งที่กิเลสกลัว หรือจะละคลายลดน้อยไปได้ ด้วยสิ่งเดียวคือปัญญา ตราบใดที่ปัญญายังไม่เกิด กิเลสจะพาเราไปสงบตรงนี้หน่อยสัก ๓๐ นาที ก็ดีแล้ว คิดว่าอย่างนั้น แต่ว่าไม่มีการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเลย ไม่เข้าใจแม้ว่าปัญญาเริ่มจากไหน เพราะเหตุว่าปัญญาต้องหมายความถึง สภาพของความรู้ชัด สภาพของความรู้จริง สภาพของการประจักษ์แจ้ง ซึ่งก็จะต้องเจริญแล้วที่จะใช้คำว่า “ปัญญา” แต่ก่อนที่ปัญญาระดับนั้นจะเจริญ ปัญญาขั้นต้นมาจากไหน แล้วปัญญานั้นรู้อะไร ถ้ายังไม่เข้าใจอย่างนี้จริงๆ จนกระทั่งมั่นคง ชาตินี้ทั้งชาติ เราก็ไม่ได้เกิดปัญญาประเภทนี้ เป็นแต่เพียงสิ่งที่เราคิดว่า พอแล้ว ที่เราจะพอใจ สงบดี หรือว่าจิตใจไม่วุ่นวาย พักผ่อนพอสมควร
เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องทราบว่า ปัญญาที่จะดับกิเลสนั้นรู้อะไร และจะอบรมเจริญอย่างไร
คุณหมอพอจะชี้แจงได้ไหมคะว่า ปัญญาที่จะดับกิเลส ที่คุณหมอจะต้องการรู้อะไร
หมอ เจริญปัญญาเพื่อให้เข้าใจความเป็นไปของชีวิต และกิเลสเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ขณะนี้จริงไหมที่กำลังเห็น ปัญญาสามารถที่จะรู้ขณะนี้ได้ไหม รู้ได้ แต่ต้องมีเหตุที่จะให้รู้ได้ ซึ่งไม่ใช่ไปนั่งสงบ ถูกไหม เพราะว่ากำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ถ้าฟังเรื่องของการเห็นเดี๋ยวนี้ให้เข้าใจขึ้น นี่คือการเริ่มเข้าใจชีวิตในภพหนึ่งชาติหนึ่ง
เพราะฉะนั้นปัญญาคือความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ทุกขณะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยังไม่ต้องถึงขั้นที่ปัญญาจะแหลมคมถึงกับจะดับกิเลส เพียงแต่เริ่มเข้าใจการเห็นในขณะนี้ ก็มีประโยชน์กว่าการที่เราไม่เข้าใจ เราก็ไปนั่ง แล้วก็คิดว่าเราจะรู้การเห็นขณะนี้ได้ แต่การที่จะรู้ความจริงของการเห็นและสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ได้ ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ไม่ใช่ไปนั่งเฉยๆ และปัญญาที่เริ่มเข้าใจจะเป็นสังขารขันธ์ เป็นสิ่งที่จะปรุงแต่งให้ปัญญาในกาลต่อไปเจริญขึ้น คมกล้าขึ้น แต่ต้องเริ่มจากการฟังเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรื่องของจิต เรื่องของสภาพธรรมที่เกิดกับจิตซึ่งเรียกว่า เจตสิก ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ และเรื่องของรูปซึ่งมีจริงๆ คือสิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฏ แล้วไม่เคยรู้ ไม่เคยฟัง ไม่เคยเข้าใจ ปัญญาจะเริ่มจากการฟังเรื่องสิ่งต่างๆ เหล่านี้จนกระทั่งเข้าใจขึ้น แล้วถึงจะรู้ชัดได้ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น เหตุกับผลต้องตรงกัน
ผู้ฟัง ...ขอให้อาจารย์อธิบายสัมมาสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ เป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ โดยมากคนคิดว่าสมาธิ คือ ที่จิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดอารมณ์เดียวนานๆ ที่ใช้คำว่า สมาธิ หมายความว่าอย่างนั้นหรือเปล่า ด้วยเหตุนี้จึงมีทั้งมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ และถ้าจะศึกษาพระธรรมโดยละเอียด จะทราบว่ามีเจตสิก คือ มีสภาพธรรมที่เกิดกับจิตชนิดหนึ่ง ที่ชื่อว่า เอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง ก็คงขอเชิญอาจารย์
สมพร เอกะ จริงๆ ก็แปลว่า หนึ่ง หมายความว่ามีอารมณ์เลิศเป็นอย่างเดียว เพราะว่าสัมมาสมาธิในองค์มรรคต้องประกอบด้วยปัญญาด้วย ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่เป็นองค์มรรค เพราะฉะนั้นต้องประกอบ ๒ อย่าง สัมมาทิฏฐิ สัมมาสมาธิ
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ก็มี มีเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง แต่ว่าเมื่อไม่ได้ตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ก็ทำให้ลักษณะของสมาธิไม่ปรากฏ แต่ว่าใครก็ตามที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขอให้เห็นว่า ถ้าเป็นสิ่งที่ยาก เราต้องใช้สมาธิ เช่นการเดินบนไม้ไผ่ลำหนึ่ง หรือว่าลวดเส้นหนึ่ง จะเห็นได้เลยว่า ต้องมีความตั้งใจแน่วแน่ ไม่คิดปั่นป่วนวุ่นวาย ใช่ไหม ในขณะนั้นลักษณะของสมาธิก็ปรากฏ แต่ขณะที่กำลังไต่ลวดเป็นกุศลหรือเปล่า เป็นสมาธิ แต่ไม่ใช่กุศล ใช่ไหม หรือการที่จะเย็บเสื้อผ้า ปักเสื้อผ้า ทำอะไรก็ตามให้ประณีต ให้สวยงาม ก็จะต้องมีลักษณะของสมาธิ ความตั้งใจมั่นอยู่ที่สิ่งที่กำลังทำ แต่ขณะนั้นก็ไม่ใช่กุศล เพราะฉะนั้นนั่นไม่ใช่สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิจะเกิดกับจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น และโดยเฉพาะเมื่อเป็นมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นสัมมามรรค จะต้องเกิดร่วมกับปัญญา
เพราะฉะนั้นเมื่อทิฏฐิ คือ ความเห็น ก็มี ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก และมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ฉันใด สมาธิก็เป็นคำกลางทั่วๆ ไป หมายความถึงขณะที่จิตตั้งมั่น ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิก็เกิดกับอกุศลจิต ถ้าเป็นสัมมาสมาธิก็เกิดกับกุศลจิตเท่านั้น ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ถูกก็ต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าทำเพราะอยากจะทำ นั่นก็ต้องเป็นโลภะ ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ผลของความอยากไม่ได้ทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นชีวิตจริงๆ ชั่วขณะหนึ่งๆ เพราะว่าชีวิตของแต่ละคนดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว ไม่มีใครมีจิตสองขณะเกิดพร้อมกันได้เลย ขณะจิตหนึ่งต้องดับไปก่อน แล้วก็เป็นปัจจัยให้ขณะจิตต่อไปเกิดขึ้นทีละขณะ เพราะฉะนั้นชีวิตของแต่ละคนก็สั้นแสนสั้น นี่เป็นสังสารวัฏฏ์
ผู้ฟัง อยากขอคำแนะนำจากอาจารย์ว่า ควรทำอย่างไร
ท่านอาจารย์ ขอให้ฟังพระธรรมจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมที่มีจริง ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยในชีวิตประจำวันทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย ทำให้เราเริ่มเข้าใจขึ้น
เพราะฉะนั้นปัญญาก็คือว่า เริ่มเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้นเป็นขั้นสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็นการไปทำวิปัสสนา โดยที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรเลย แต่ว่าสติปัฏฐานเป็นการระลึกได้ตามที่ได้ฟังจนกระทั่งเข้าใจแล้ว แต่ต้องฟังก่อน และเข้าใจก่อน จนกระทั่งสติเกิดระลึกได้ว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ขณะที่กำลังได้ยินเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ถ้ายังไม่เข้าใจอย่างนี้ ทำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าไม่ใช่เรื่องทำ แต่ว่าเป็นเรื่องอบรมเจริญความรู้ ความเข้าใจขึ้น
ในภพหนึ่งชาติหนึ่ง ก็ขอให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏขึ้น นี่คือการสะสมของผู้ที่เป็นอริยสาวก ที่ท่านได้บรรลุอริยสัจจธรรมแล้ว ท่านบำเพ็ญบารมีกันมาถึงแสนกัปป์ โดยฟังเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นเสียก่อน
ถ้าใครยังไม่ได้ศึกษา ยังไม่ได้ฟังเลยแล้วไปทำ ก็ต้องผิดแน่ๆ เพราะว่าปัญญายังไม่เกิด ไม่รู้อะไร แล้วจะทำได้อย่างไร กำลังเห็นเป็นของจริง แต่ไม่เคยรู้ว่า ไม่ใช่เราที่เห็น ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลรู้ว่าไม่ใช่เราแน่นอน กำลังได้ยินก็เป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้นอนัตตาไม่ใช่อยู่ในหนังสือ หรือไม่ใช่อยู่ที่อื่น แต่ทุกขณะ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นดับไป ให้พิสูจน์ได้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
เมื่อสักครู่นี้ทุกคนได้ยินเสียง จิตที่ได้ยินเสียง เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดเมื่อเสียงกระทบหู เมื่อได้ยินแล้วก็ดับพร้อมกับเสียง ของเราหรือเปล่า จิต จิตที่ได้ยิน ดับแล้ว ฉันใด จิตที่กำลังเห็นก็คือจิตชนิดหนึ่ง โต๊ะไม่มีจิต โต๊ะไม่มีการเห็นเลย ไม่มีธาตุรู้ ไม่มีอาการรู้ แต่ว่าทุกคนที่กำลังนั่งในขณะนี้เห็น และก็ยังดูเสมือนว่าเป็นเราที่กำลังเห็น และก็เห็นคนด้วย เยอะแยะหลายคน ใช่ไหม แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า เห็นเป็นอนัตตา และสิ่งที่กำลังปรากฏก็เป็นอนัตตาด้วย
ฟังจนกว่าจะเข้าใจ ไม่ใช่ไปทำอะไรเลย เมื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้น สติปัฏฐานซึ่งประกอบด้วยปัญญา ก็จะเกิดระลึกแล้วก็พิจารณารู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตรงตามที่ได้เคยเข้าใจแล้ว
นี่คือการอบรมเจริญภาวนาให้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ให้ไปทำอะไร แต่ว่าให้เข้าใจเพิ่มขึ้นๆ ๆ จึงจะเป็นการอบรมเจริญปัญญา มิฉะนั้นแล้วในครั้งโน้นก็คงไม่มีผู้ที่เฝ้าติดตามเพื่อฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเสด็จจาริกไปที่ใดก็ตาม ก็มีพุทธบริษัทไปเฝ้าแล้วฟังธรรม ไม่ใช่ไม่ฟัง แล้วก็ไปทำอะไรกัน
ข้อสำคัญก็คือว่า ฟังพระธรรมพอหรือยังเท่านั้นเอง พอไหม แม้แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ก็ยังฟัง ถ้าอ่านดูในพระไตรปิฎก ท่านสนทนาธรรมกัน ท่านฟังธรรมตลอด และคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ฟังพระธรรมพอหรือยัง
นี่เป็นเรื่องที่กว้างมาก และจะต้องฟังกันนานมากทีเดียว เพราะฉะนั้นก็ขอตอบเท่าที่สามารถจะตอบได้ในเวลาสั้นๆ
๑. กำเนิดของสังสารวัฏฏ์ มีความเป็นมาอย่างไร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้หรือเปล่า
ก่อนที่จะพูดถึงกำเนิดของสังสารวัฏฏ์ ก็ควรที่จะทราบว่า สังสารวัฏฏ์ คืออะไร ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรทั้งหมด อย่าเพิ่งพอใจว่าเข้าใจความหมายของคำนั้นแล้ว แต่ว่าแม้ว่าจะเข้าใจบ้างแล้วก็ตาม แต่ว่าควรจะเข้าใจให้ชัดเจน ให้ละเอียดกว่าที่เคยคิดว่าเข้าใจแล้วด้วย ขอเรียนถามอาจารย์ถึงศัพท์ที่มาของสังสารวัฏฏ์
สมพร คำว่า “สังสารวัฏฏ์” ถ้าแปลตามศัพท์ ก็แปลว่า การท่องเที่ยวไป ไม่รู้จักสิ้นสุด พระองค์ตรัสไว้ย่อๆ ว่า สังสารวัฏฏ์ไม่ปรากฏเบื้องต้นและเบื้องปลาย ตรัสไว้ใน อนมตัคคสังยุตต์ การที่จะรู้เบื้องต้นและเบื้องปลายนั้นรู้ไม่ได้ จะรู้ได้เฉพาะปัจจุบัน
ท่านอาจารย์ สังสารวัฏฏ์ คือ การท่องเที่ยววนเวียน ตั้งแต่ ๑๐ นาฬิกาจนถึงเดี๋ยวนี้ นั่งอยู่ที่นี่ หรือว่าท่องเที่ยววนเวียน จากทางตาที่เห็น ก็มาถึงทางหูที่ได้ยิน มาถึงทางกายที่กระทบสัมผัส มาถึงทางใจที่คิดนึก และก็เห็นอีก ได้ยินอีก กระทบสัมผัสอีก คิดนึกอีก ไม่ได้ท่องเที่ยวไปไหนเลย นอกจากจากตา มาหู มาจมูก มาลิ้น มากาย มาใจ กี่ภพกี่ชาติก็วนเวียนอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เพราะฉะนั้นการที่จะรู้จัก การที่จะเข้าใจสังสารวัฏฏ์ ไม่น่าจะยากมากมายอะไรเลย เพราะว่าอยู่ใกล้ที่สุด สังสารวัฏฏ์กำลังเกิด กำลังวนเวียน แต่ไม่ฟัง ไม่รู้ ไม่เข้าใจ จึงไม่รู้ว่า สังสารวัฏฏ์เกิดขึ้นได้อย่างไร มาจากไหน และจะจบสิ้นลงเมื่อไร ต่อเมื่อใดเข้าใจสังสารวัฏฏ์ว่า ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังกระทบสัมผัส กำลังคิดนึก นี่แหละเป็นสังสารวัฏฏ์ ไม่ว่ากี่ภพกี่ชาติ ชาติก่อนก็มีตาเห็น มีหูได้ยิน มีจมูกได้กลิ่น มีลิ้นลิ้มรส อาหารของชาติก่อนก็อาจจะประณีต ไม่เหมือนของชาตินี้เลย ไม่รู้ว่าใครจะเกิดภพไหนภูมิไหน แล้วก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจที่จะคิดนึกวนเวียนไปในเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง พอถึงชาตินี้ก็ไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอีก และเมื่อจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น ก็จะไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง
เพราะฉะนั้นการวนเวียน ก็วนเวียนอยู่เพียงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต่อเมื่อใดได้ประจักษ์แจ้งธรรมลักษณะจริงๆ ของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อนั้นก็ดับสังสารวัฏฏ์ได้ เมื่อปัญญาเกิดขึ้นรู้ความจริง แต่ต้องเป็นปัญญา และไม่ใช่รู้อย่างอื่น ขอให้ทราบว่า ปัญญาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้อบรม ให้เจริญเพื่อที่จะดับกิเลสนั้น ไม่ใช่จะรู้อย่างอื่น แต่จะต้องรู้ว่า ขณะนี้ทางตาไม่รู้อะไร และจะต้องฟังให้เข้าใจอย่างไร และจะต้องประจักษ์แจ้งได้อย่างไร ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เช่นเดียวกัน
ถ้าใครจะชักชวนให้ไปทำอย่างอื่น โดยไม่รู้ความจริงของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขอถามสักนิดหนึ่งว่า จะไปไหมเมื่อถูกชักชวนให้ไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่การรู้ความจริงที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึกเดี๋ยวนี้ จะไปทำไหม ถ้าไปทำ หมายความว่าไม่มีวันที่จะพบของจริง และไม่มีวันที่จะประจักษ์แจ้งสัจจธรรม เพราะเหตุว่าไปทำขึ้น แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นเห็น จึงเกิดขึ้นได้ยิน โดยเป็นอนัตตาจริงๆ
นี่ก็ขอตอบเพียงเท่านี้ ท่านก็สนใจก็คงต้องฟังต่อไปอีก
ที่ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ก็ลงไปได้ที่สภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ อวิชชา ความไม่รู้นั่นเอง เมื่อเกิดมาด้วยความไม่รู้ และก็ตายไปด้วยความไม่รู้ ก็เกิดอีกด้วยความไม่รู้ และก็ตายไปด้วยความไม่รู้ จะหมดความไม่รู้ได้ก็ต่อเมื่อความรู้ค่อยๆ เกิดขึ้น เช่น เวลาที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่รู้เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่พอฟังแล้วก็เริ่มรู้ ขณะใดที่รู้ ขณะนั้นก็ละความไม่รู้ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าความรู้เรื่องของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจจะเพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้นกิจของปัญญา คือ ละความไม่รู้ สำหรับกิจของอวิชชา คือ ทั้งๆ ที่เห็น ตั้งแต่เกิดจนตายก็ไม่รู้ความจริงของเห็น เป็นเราเห็น และสิ่งที่ปรากฏก็เป็นสัตว์บุคคลที่ไม่ใช่อนัตตาเลยสักอย่างเดียว
ข้อ ๒. ในชีวิตปกติประจำวัน มีสิ่งอื่นใดกำหนดชีวิตให้เป็นไปต่างๆ นานาหรือไม่ หรือว่าตัวเรากำหนดตัวของเราเอง
ตอบ ถ้ายังมีตัวเราหรือของเรา ขณะนั้นก็ไม่ใช่อนัตตา ค้านกับพระพุทธพจน์ เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ความจริงก็เป็นอนัตตานั่นแหละ แต่คนที่ยังเห็นว่าเป็นอัตตา เป็นเรา เป็นของเรา ก็ย่อมมี เพราะเหตุว่าความเห็นมี ๒ อย่าง คือ ความเห็นถูกก็มี ความเห็นผิดก็มี เพราะฉะนั้นทุกคนฟังพระธรรมเพื่อพิสูจน์ว่า พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นความจริงหรือไม่ ไม่ใช่ว่าต้องเชื่อ เพราะเหตุว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าเพราะพระธรรมที่ทรงแสดงนั้นทรงแสดงเรื่องของธรรมที่มีจริง ที่พิสูจน์ได้ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะเป็นขณะไหนก็ตาม ทุกชีวิตที่เกิดมาสามารถจะพิสูจน์พระธรรมได้ทั้งสิ้น
ที่ว่ามีอะไรกำหนดชีวิตให้เป็นไปต่างๆ นานา เมื่อธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ธรรมแต่ละอย่างที่เป็นอนัตตานั้น ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น โดยที่ว่าไม่มีใครสามารถจะสร้างหรือจะทำขึ้นตามความพอใจได้ ขณะนี้มีใครทำเห็นได้บ้าง หรือว่าเห็นมี เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยโดยไม่ต้องทำ ขณะที่กำลังได้ยิน มีใครทำได้ยินได้บ้าง หรือว่าต้องได้ยิน เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะให้ยินเกิดขึ้น ได้ยินก็เกิดขึ้น
นี่คือการที่จะเข้าใจปัจจัย คือ สิ่งที่ทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นปรากฏ สำหรับคนหูหนวก คนที่ไม่มีโสตปสาท มีใครจะทำให้เขาได้ยินได้บ้าง แต่สำหรับคนที่มีโสตปสาท จะห้ามเขาไม่ให้ได้ยินได้ไหม ในเมื่อเสียงกระทบหู เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาเรื่องของปัจจัย ทุกขณะมีปัจจัยหลายอย่าง เพียงจิตเกิดขึ้นขณะเดียว สั้นมาก คือเพียงที่จะมีการได้ยินนิดเดียว แล้วก็ดับไป ต้องอาศัยหลายสิ่งหลายอย่าง การได้ยินจึงจะเกิดได้ เช่นต้องมีโสตปสาท ซึ่งเป็นรูปพิเศษมีลักษณะที่กระทบเสียง ไม่มีใครสามารถสร้างรูปนี้ได้เลย นอกจากกรรมเป็นปัจจัย
เพราะฉะนั้นรูปทั้งหลายที่เกิดมีสมุฏฐาน ๔ อย่าง คือ บางรูปเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย บางรูปเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นปัจจัย บางรูปเกิดขึ้นเพราะอุตุ คือ ความเย็นความร้อนเป็นปัจจัย บางรูปเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย
นี่เรื่องของรูป ส่วนเรื่องของนาม ก็มีปัจจัยอีกมากมายหลายอย่าง สรุปรวมปัจจัยใหญ่ๆ มีทั้งหมด ๒๔ ปัจจัยซึ่งทุกคนเคยได้ยิน เพราะว่าทุกคนเคยไปงานศพ และงานศพก็มีการสวดพระอภิธรรม ซึ่งจะเป็นการแสดงปัจจัยต่างๆ ที่ให้เห็นความเป็นอนัตตา เริ่มตั้งแต่เหตุปัจจโย คือ เหตุปัจจัย ได้แก่ โลภะเป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ โทสะเป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ โมหะเป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ แต่ว่าเราไม่เข้าใจเท่านั้นเอง
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160