โสภณธรรม ครั้งที่ 124
ตอนที่ ๑๒๔
สรุปรวมปัจจัยใหญ่ๆ มีทั้งหมด ๒๔ ปัจจัยซึ่งทุกคนเคยได้ยิน เพราะว่าทุกคนเคยไปงานศพ และงานศพก็มีการสวดพระอภิธรรม ซึ่งจะเป็นการแสดงปัจจัยต่างๆ ที่ให้เห็นความเป็นอนัตตา เริ่มตั้งแต่เหตุปัจจโย คือ เหตุปัจจัย ได้แก่ โลภะเป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ โทสะเป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ โมหะเป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ แต่ว่าเราไม่เข้าใจเท่านั้นเองว่า ชีวิตของเราวันหนึ่งๆ โลภะเป็นเหตุให้ชีวิตของเราก้าวไปทุกๆ ขณะในสังสารวัฏฏ์
เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาเรื่องของปัจจัย ๒๔ ก็จะทราบได้ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่พ้นจากปัจจัย และสภาพธรรมที่เกิดขึ้นไม่ใช่อาศัยเพียงปัจจัยเดียว แต่ว่ามีหลายปัจจัยทีเดียว
ข้อ ๓. อารมณ์ จิตของพระอรหันต์ที่ว่า ละกิเลสทั้งปวง จะมีลักษณะอย่างไร
ตอบ จิตของพระอรหันต์ เช่นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เห็น ก็ได้ยิน ก็ได้กลิ่น ก็ลิ้มรส ก็กระทบสัมผัส แต่ว่าเมื่อเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ไม่มีกิเลสใดๆ เหลืออยู่เลย เพราะเหตุว่ามีโลกุตตรจิตประกอบด้วยโลกุตตรปัญญาเกิดขึ้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรม จึงดับกิเลสตามลำดับขั้น คือ จากการเป็นพระโสดาบัน ดับความเห็นผิดทั้งหมด เมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้นก็ดับความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างหยาบ เป็นพระสกทาคามี และเมื่ออบรมเจริญปัญญาขึ้น ก็ดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นพระอนาคามี และเมื่อดับความยินดีในภพชาติทั้งหมด ก็เป็นพระอรหันต์
เพราะฉะนั้นก็ลองคิดถึงความต่างกัน เรายังชอบรูปสวยๆ ยังชอบเสียงเพราะๆ ยังชอบกลิ่นหอมๆ ยังชอบรสอร่อย ยังชอบการกระทบสัมผัสที่สบาย แต่สำหรับพระอรหันต์ท่านมีชีวิตอยู่เหมือนผู้ที่ทำงานแล้วก็รอเวลาเลิกงานเท่านั้นเอง ตราบใดที่จิตของท่านยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท คือ ยังไม่จุติ ที่เราใช้คำว่า สิ้นชีวิต หรือปรินิพพาน
เพราะฉะนั้นโดยสภาพก็เป็นจิตที่ต่างกันมาก เพราะเหตุว่าได้อบรมเจริญปัญญาจนสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้
มีคำถามของพระคุณเจ้าที่ถามว่า อาตมามีความสงสัย คือ พระอริยบุคคลทั้ง ๔ จำพวก คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ แต่ละท่านได้ปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลได้หรือไม่ ส่วนญาณ ๑๖ นั้นให้คุณโยมอธิบายให้กระจ่างด้วย
ตอบ สำหรับสติปัฏฐาน ๔ ใช้เวลาบรรยายตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ จนถึงขณะนี้ ๒๕๓๑ ก็คงจะต้องบรรยายต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบ เพราะเหตุว่าใครจะจบได้ ในเมื่อยังมีชีวิตดำเนินไป เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง แล้วก็ยังไม่เข้าใจเรื่องของจิต เรื่องของสภาพธรรม เรื่องของปัญญา เพราะฉะนั้นก็จะต้องแสดงพระธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพื่อเกื้อกูลให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น ตั้งแต่ขั้นการฟัง จนกระทั่งถึงขั้นที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เพียงพูดเรื่องเห็น แต่ว่าเห็นมีจริงๆ ที่จะต้องประจักษ์แจ้ง
เพราะฉะนั้นที่ว่า ญาณ ๑๖ นั้น ให้คุณโยมอธิบายให้กระจ่างด้วย
ตอบ ที่ห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ไม่ทราบจำไม่ได้ เพราะโดยมากไม่ได้จำวันเดือนปีที่แน่นอน บรรยายเรื่องของญาณยังไม่ถึง ๑๖ แต่ว่าได้บรรยายมาถึง ๑๓ ไม่ทราบตั้งต้นเมื่อไร อาจจะถึงปี เพราะฉะนั้นในเวลา ๒ ชั่วโมง ก็เป็นไปไม่ได้ ขอเชิญท่านที่สนใจฟังทางวิทยุ สทร. ๒ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ถึงญาณ ๑๖ แต่ต่อไปก็คงจะถึง
สมพร ผมว่าแทนที่จะบรรยายญาณ ๑๖ คืออาจารย์บรรยายญาณเริ่มต้น ถ้าเข้าใจญาณเบื้องต้นให้ดี แล้วค่อยคิดถึงญาณ ๑๖ ญาณ ญาณต้นๆ เป็นญาณที่สำคัญ ที่อาจารย์บรรยายตอนต้น ถือว่าเป็นญาณเริ่มต้น คือ นามรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าเข้าใจสิ่งเหล่านี้ดี ก็ค่อยกระเถิบขึ้นไปทีละญาณๆ อย่างนี้จะมีประโยชน์ แต่ละญาณ อาจารย์บรรยายใช้เวลานานมากเหลือเกิน
ท่านอาจารย์ เพราะว่าถ้าพูดถึงผลโดยไม่พูดถึงเหตุ ก็ย่อมไร้ประโยชน์ ที่ว่าใช้เวลานานก็เพราะเหตุว่าเมื่อกล่าวถึงญาณใดก็กล่าวถึงเหตุที่จะให้บรรลุถึงญาณนั้นด้วย
มีคำถามที่ถามว่า เครื่องย้อมเครื่องทาอันเป็นฐาน คือ เหตุแห่งการแต่งตัว คำว่าเครื่องย้อมนี้จะรวมทั้งสบู่ ยาสระผม ยาสีฟันทั้งหมด หรือเฉพาะแต่ละอย่างด้วยหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้ก็จะมีพวกน้ำหอมผสมอยู่ด้วย ผู้รักษาอุโบสถศีลจะใช้ได้หรือไม่
ตอบ อาจารย์สมพรได้เคยรักษามาแล้ว ก็ขอความกรุณาอาจารย์ตอบด้วย
สมพร เครื่องย้อม เครื่องทา ก็เป็นเครื่องประดับตบแต่งให้สวยงาม ทำให้เรามัวเมาหลงใหลในความสวย ความงาม ก็เป็นเหตุให้ประมาท เมื่อความประมาทเกิดขึ้น ก็ไม่สมควรเลย เพราะเราถืออุโบสถ ต้องประกอบด้วยความไม่ประมาท เครื่องทาทุกชนิดที่เกี่ยวกับความสวยความงาม ทาคิ้ว หรือทาผิวให้สวยงาม จัดอยู่ในเครื่องประทินผิวทั้งหมดเลย ส่วนเครื่องทำความสะอาดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เกี่ยวกับประเทือง ทำให้สวยงามเหล่านั้น ไม่จัดว่าเป็นเครื่องย้อมเครื่องทานะ
ท่านอาจารย์ อาจารย์หมายความว่า สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน พวกนี้ใช้ได้ ใช่ไหม แม้ว่าจะมีน้ำหอมผสมอยู่ด้วย
สมพร ถ้าเราไม่ติดอยู่ในสิ่งนั้น ไม่ยินดีติดใจในน้ำหอม คิดว่าช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกออกไป เป็นธรรมดาของร่างกาย เป็นของปฏิกูล ถ้าไม่เกี่ยวกับการประดับตบแต่งร่างกาย ก็ใช้ได้
ท่านอาจารย์ ข้อ ๒. อุโบสถศีลข้อ ๘ อุจจาสยนมหาสยนาเวรมณี งดเว้นจากการนั่งและนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ แล้วเบาะรถทุกชนิด เก้าอี้ทุกชนิดที่บุฟองน้ำ จะนั่งได้ไหม สำหรับผู้รักษาอุโบสถศีล
สมพร อันนี้ขึ้นอยู่กับเจตนาของเราเป็นใหญ่ บางครั้งเราต้องอาศัยรถไป ไม่มีที่อื่น ถ้าหากเราหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะประมาทได้ เราก็ควรหลีกเลี่ยง ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็พิจารณาว่า การกระทำนี้ไม่มีทางหลีกเลี่ยง แต่ว่าจิตเราไม่ยินดี ความประสงค์ของเขา คือ ไม่ต้องการให้เพลิดเพลินยินดีติดใจในอารมณ์นั้น แล้วให้มาสนใจเรื่องสติปัฏฐาน พิจารณาร่างกายนี้เป็นใหญ่ คือ ต้องการไม่ให้มัวเมาเท่านั้นเอง อันนี้เป็นศีลที่ขัดเกลาเล็กๆ น้อยๆ กว่าจะถึงการเจริญภาวนา
ถาม ความตั้งใจอยากปฏิบัติเป็นโลภะหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถ้าเปลี่ยนเป็นความอยากเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะดีกว่าไหม
ผู้ฟัง ก็หมายความว่า...
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของปัญญา ไม่ใช่เป็นศาสนาของความงมงายไร้เหตุผล เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำอะไรทั้งสิ้น เหตุกับผลต้องตรงกัน
ผู้ฟัง ทีนี้เราก็มีความตั้งใจที่ประกอบด้วยโลภะ เพราะว่า...
ท่านอาจารย์ ถ้าประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่ความเห็นผิด อันนั้นเป็นฉันทะ ไม่ใช่โลภะ มีสภาพธรรม ๒ อย่างที่คล้ายกัน แต่ว่าโลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง ฉันทะเป็นสภาพที่พอใจที่จะกระทำกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้
ผู้ฟัง ทีนี้เราจะแยกได้อย่างไร เมื่อไรเกิดโลภะ เมื่อไรเกิดฉันทะ
ท่านอาจารย์ ถ้าขณะที่ติดข้องด้วยความเป็นตัวเรา ขณะที่ยึดมั่นติดข้อง ไม่ปล่อย เป็นเรา ขณะนั้นเป็นโลภะ ทุกอย่างที่ต้องการให้เป็นของเรา แม้แต่ปัญญาของเราก็เป็นโลภะด้วย
ผู้ฟัง
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเกิดเองไม่ได้เลย แม้แต่เราทุกคนก็คงอยากจะเป็นคนดี เรารักคนดี เวลาที่มีใครเป็นคนดีให้เราเห็น เราก็ชื่นชม อยากจะเหมือนอย่างเขา แต่รู้สึกว่าเราทำไม่ได้ เพราะว่าสะสมมาไม่เหมือนกัน แต่ละคนที่ต่างๆ กันไป ไม่เหมือนกันเลย ก็เพราะเหตุว่าสะสมมาต่างๆ กัน สะสมทางฝ่ายอกุศลก็วิจิตรประณีตมาก ถ้าศึกษาชีวิตแต่ละชีวิตในพระไตรปิฎก และทางฝ่ายกุศลก็วิจิตรต่างๆ กันไปมาก ทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าในสมัยพระไตรปิฎกหรือในสมัยนี้ คนเราก็ต่างกันไป แต่ว่าทุกคนสามารถจะอบรมเจริญปัญญา แล้วก็ละคลายกิเลสได้ ไม่ควรที่จะท้อถอย หรือรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ตามตามความเป็นจริง ไม่รีบร้อน ไม่ฮวบฮาบ เพราะเหตุว่าเรามีอวิชชามากมายเหลือเกินในแสนโกฏิกัปป์ แล้ววันนี้เราจะให้หมด เป็นไปได้ไหม หรือว่าเดือนนี้ ปีนี้ ชาตินี้ เราจะดับกิเลส เป็นไปไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง ถึงได้เป็นผู้ที่เข้าใจว่า ปัญญารู้อะไร ถ้าปัญญายังไม่รู้ ก็หมายความว่าถูกกิเลสหลอกว่า เรารู้มาก แต่ความจริงแล้วบางคนอาจจะคิดว่า ละเสียตั้งเยอะแยะแล้ว ไม่ติดโน่นไม่ติดนี่ แต่ตราบใดที่ปัญญาไม่เกิด ขอให้รู้ว่าถูกกิเลสหลอกอีก ไม่ได้ละอะไรเลย แต่เข้าใจว่าละ เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้อะไร เมื่อไม่รู้แล้วจะละได้อย่างไร ความรู้ก็ละความไม่รู้ แต่ว่าถ้ายังคงไม่รู้ ก็จะไปละความไม่รู้ไม่ได้
ถาม ศีลข้อ ๑ ปาณาติบาต ที่บ้านมียุง มด ที่ไม่อยากจะฆ่า แต่ก็ก่อกวนเรามาก จะต้องฉีดยา ทำอย่างไรถึงจะไม่ผิดศีล
ท่านอาจารย์ ผู้ที่จะมีศีล ๕ ได้สมบูรณ์ไม่ล่วงเลย คือ พระโสดาบันบุคคล รอดตัวไปใช่ไหมสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล คือ ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็ยังมีเหตุที่ทำให้ล่วงศีลได้ แต่ว่าไม่ใช่ให้เราเป็นผู้ประมาท หมายความว่าควรละเว้นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แทนที่จะฆ่าให้มากที่สุด ที่จะทำกระทำได้ แต่ว่าควรละเว้นให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ถ้าไม่จำเป็นต้องฆ่า พยายามจะใช้วิธีอื่น เพราะเหตุว่าทุกชีวิตรักชีวิต ไม่มีใครอยากเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ เวลาที่เราเจ็บ เราไม่รู้ตัวเลยว่า เพราะกรรมที่ได้ทำไว้ กรรมของเราเอง เราอาจจะคิดว่าเป็นเพราะคนอื่นทำให้ แต่ความจริงถ้าเราไม่เคยทำอกุศลกรรม การเบียดเบียนคนอื่นให้เจ็บปวด เราก็ไม่มีเหตุให้เราได้รับวิบากอันนั้น แต่เวลาที่เรากำลังทำสัตว์อื่น ทำไมเราไม่คิดถึงความเจ็บซึ่งสัตว์นั้นกำลังได้รับ และวันหนึ่งเราก็จะเหมือนกับสัตว์นั้น คือกำลังได้รับความเจ็บอย่างนั้น ซึ่งเป็นผลของการที่เราทำ ถ้าเราคิดอย่างนี้จริงๆ เราก็พยายามจะหลีกเลี่ยง ใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช่การฆ่า พยายามที่จะเลี่ยงจากการฆ่า โดยใช้วิธีอื่น ซึ่งจะต้องมีความอดทน กุศลทุกอย่างต้องมีขันติ มีความเพียร อาจจะจับไปปล่อยในที่หนึ่งที่ใดไกลๆ หรืออะไรอย่างนั้นก็ได้ แล้วสัตว์เล็กสัตว์น้อยนั้นก็ต้องตาย ไม่ใช่จะไม่ตาย เขาก็มีชีวิตอยู่เพียงชั่วระยะหนึ่งเท่านั้นเอง โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเบียดเบียนให้เขาตายเดี๋ยวนี้ วันนี้
การคุมกำเนิดไม่ใช่การฆ่า เป็นการป้องกัน ใช่ไหม
สมพร การที่ท่านบอกว่า ฆ่าสัตว์ หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ศีลธรรม ๒ อย่างเป็นของคู่กัน ถ้าเรามีธรรม คือ มีเมตตา แทนที่จะฆ่าสัตว์มาก เราก็ฆ่าเล็กน้อย หรืออาจจะไม่ฆ่าเลย เพราะฉะนั้นที่บอกว่า ศีลต้องอาศัยธรรม คือ เมตตา ธรรมก็ต้องอาศัยศีล ศีลคือการไม่ฆ่าสัตว์ เพราะพิจารณาเห็นว่าสัตว์อื่นก็เหมือนเรา รักชีวิตฉันใด เราก็รักเหมือนกัน เพราะฉะนั้นศีลกับธรรมถ้ามีคู่กัน การฆ่าสัตว์อาจไม่มีเลย หรืออาจจะมีเล็กน้อย ซึ่งเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเข้าใจด้วยว่า ศีลธรรมอาศัยซึ่งกันและกัน แต่ถ้าเรามีอย่างเดียว ก็อาจจะบกพร่องมากสักหน่อย ถ้ามี ๒ อย่าง สติสัมปชัญญะก็อาจจะเกิดได้ง่าย เพราะอาศัยศีลและธรรม อันนี้เป็นข้อที่ควรระวังสำหรับศีลข้อที่ ๑ ข้ออื่นๆ ก็คงเหมือนกัน ศีลอาศัยธรรม ธรรมอาศัยศีล เช่น เราไม่ลักทรัพย์ การไม่ลักทรัพย์เพราะเราเมตตาคนอื่น กลัวเขาจะเดือดร้อน อันนี้เป็นธรรม การไม่ลักทรัพย์ก็เป็นศีล
เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า “ศีลอาศัยธรรม ธรรมอาศัยศีล” ทั้ง ๕ ข้อ ก็ทำนองเดียวกัน
ผู้ฟัง สมมติว่ามีมดอยู่บนโต๊ะ แล้วเราจะต้องเช็ดโต๊ะให้สะอาด ก็กวาดไป แต่ไม่มีเจตนาจะทำร้ายมด จะบาปไหม จะเป็นอกุศลจิตไหม หรืออย่างลูกน้ำยุง ก็เอายาฆ่ายุงใส่ลงไป จะบาปไหม หรืออย่างหนูในบ้าน อยากจะขับไล่มัน แต่ไม่อยากฆ่า ก็เลยเก็บอาหารไม่ให้เหลือเลย เมื่อสะอาดหนูก็ไป อย่างนี้ไม่ได้เจตนาฆ่า จะเลี่ยงทำอย่างไร
ท่านอาจารย์ เห็นมด รู้ด้วยว่าเป็นมด รู้ว่ามดไม่ตาย คือครบองค์ของการฆ่า คือ ๑. มีเจตนา ข้อนี้อาจจะยังไม่สมบูรณ์ เพราะเมื่อสักครู่บอกว่าไม่มี แต่ขอให้พิจารณาว่า รู้ว่าเป็นสัตว์มีชีวิต และมีความเพียร คือ การจะเช็ดโต๊ะ แล้วก็มดตายหรือเปล่าเวลาเช็ด
ผู้ฟัง ต้องตาย
ท่านอาจารย์ มดตาย ครบองค์ เพราะว่าถ้าสามารถจะเลี่ยง เลี่ยงได้ คงจะเคยเห็นคนที่สงสารมด คือ สงสารสัตว์เล็กสัตว์น้อย แล้วในสังสารวัฏฏ์ เราก็ฆ่ามานักต่อนักแล้ว แล้วถ้าเราจะเว้นไม่ฆ่าเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ คือ ลดการฆ่าของเราลงไปเท่าที่จะกระทำได้ เพราะเหตุว่าบางสิ่งบางอย่าง บางคนอาจจะบอกว่า จำเป็นเหลือเกิน แต่การที่จะบอกว่า เช็ดโต๊ะ จำเป็นเหลือเกินไหมที่ต้องให้มดตาย หรือสามารถจะช่วยชีวิตโดยที่ว่า เช็ดก็เช็ด แต่ไม่ให้ตายก็ได้ ถ้าเป็นคนที่เพิ่มความขยันขึ้นอีกเพียงเล็กน้อย คิดว่าทำได้ บางคนใช้ไม้กวาดเบาๆ หรือว่าใช้ปากเป่าไป นิดๆ หน่อยๆ สะบัดก็ได้ ก็ไปแล้ว หรือไม่ชอบที่จะให้อยู่ในห้อง ก็เอาออกไปสะบัดข้างนอก คือ ทำอะไรที่อาจจะต้องเพิ่มความขยันหรือความอดกลั้น ความอดทนขึ้นอีกสักเล็กน้อย แต่ช่วยชีวิตตั้งหลายชีวิต เพราะเหตุว่ามดหลายตัว
ลองคิดถึงว่า ถ้าเราวิรัติ ไม่ฆ่าตั้งหลายชีวิตขณะนั้น ขณะที่ไม่ฆ่า จิตของเราอ่อนโยน เป็นกุศล แล้วก็มีเมตตา แล้วก็สะสมความเพียรที่ว่า จะไม่ทำสิ่งที่รุนแรง โดยไร้ความจำเป็น ถ้าจำเป็นจริงๆ สักวันหนึ่งที่มีเหตุการณ์ที่จะต้องทำ ก็เรียกว่าอย่างสุดขีดจริงๆ ดีกว่าจะหัดเป็นคนที่ฆ่าง่ายๆ ทำลายชีวิต หรือทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อนได้ง่ายๆ
นี่ก็เริ่มเห็นได้ว่า ถ้าเริ่มสะสม เราจะสะสมบารมีตั้งหลายอย่าง คือ ๑. สะสมขันติ ความอดทนด้วย อย่างมีท่านผู้หนึ่งถามว่ายุงร้องที่หู และได้ยินอยู่ แล้วตบ จะบาปไหม คือท่านถามทุกอย่าง อะไรๆ ก็บาปไหม อะไรๆ ก็บุญไหม แม้แต่ว่าเวลาพูด ท่านไม่ชอบมองหน้าคนที่พูดด้วย บาปไหม คือท่านมาสรุปที่บาปไหมๆ บุญไหม บาปไหม อยู่อย่างนั้น แต่ความจริงแล้ว ต้องเรียนถามท่านว่า บาปของท่านคืออะไร บุญของท่านคืออะไร ถ้าท่านยังไม่เข้าใจว่าบาปคืออะไร บุญคืออะไร ท่านก็ต้องมีคำถามอยู่อย่างนี้ ตลอดชีวิตของท่าน แล้วแต่ว่าเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง แต่ถ้าท่านตอบให้ตรงจริงๆ คือ ถามท่านว่า บุญคืออะไร และถ้าท่านตรง และท่านตอบ ท่านก็ตอบเองได้ทุกกรณีว่า ขณะใดที่จิตเป็นอกุศล เป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นโมหะ นั่นคือบาป ขณะใดที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ มีอโลภะ อโทสะ อโมหะ ขณะนั้นเป็นบุญ ถ้ารู้อย่างนี้ก็ตอบเองได้
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะสะสมอบรมจิตใจที่เป็นกุศล เว้นการไม่ฆ่าแม้แต่มดในขณะนั้น เราก็มีทั้งสะสมขันติ ความอดทน สะสมวิริยบารมีด้วย ความเพียร บางคนก็อาจจะเก็บมดไปทีละตัวๆ ก็ได้ และในขณะนั้นจิตจะอ่อนโยนจริงๆ จะมีเมตตาจริงๆ และรู้สึกว่าจะไม่เดือดร้อนใจในการที่ทำอย่างนั้น แต่ถ้าสมมติว่าเราไม่อดทน เราไม่อดกลั้น เราฆ่าไปทีเดียว ๑๐๐ ตัว วันหลังเราก็รู้สึกว่าเราฆ่าสัตว์ไปตั้ง ๑๐๐ ตัว แล้วเราได้ทำกรรมไปแล้วด้วย จิตใจก็ต่างกัน การที่จิตใจจะเดือดร้อนเพราะการกระทำอกุศล ก็ต้องมี แต่เวลาที่ทำกุศลอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วระลึกขึ้นมาได้ในภายหลัง จะไม่เดือดร้อน ถ้าเป็นกุศลจริงๆ
มด หนู แมลงสาบ ก็เหมือนกัน ถ้าเกิดจิตเมตตา จะต่างกับขณะที่เป็นโทสะ ความไม่ชอบ
ผู้ฟัง ...
ท่านอาจารย์ ก็เอาออกไปข้างนอกก็ได้ เปิดประตูให้ออกไปเสียหน่อยหนึ่ง
ผู้ฟัง ...อย่างหนูนี่ เราเก็บของไม่ให้มีอะไรกินเลย ในที่สุดเขาก็ตาย
ท่านอาจารย์ เคยเห็นคนเลี้ยงจิ้งจกไหม มี ก็เวลารับประทานอาหารเสร็จแล้ว ในบ้านมีจิ้งจก เขาก็เหลือข้าวไว้ในจานสักเม็ดสองเม็ดให้จิ้งจกกิน แต่จิ้งจกอาจจะไม่นำเชื้อโรค หรือไม่ทำอะไร แต่ความจริงก็อาจจะนำเชื้อโรคได้เหมือนกัน ใช่ไหม
ขึ้นกับเมตตาว่าจะมากหรือน้อยแค่ไหน ไม่มีกฎ พระพุทธศาสนาไม่เหมือนศาสนาอื่นที่มีบัญญัติ หรือข้อห้าม แต่ว่าเป็นศาสนาที่ชี้แจงในเรื่องเหตุและผล และแล้วแต่ว่าใครจะเลือกมีฉันทะสะสมมาที่จะทำกุศล หรือจะทำอกุศล แต่ว่าไม่เป็นข้อห้าม แม้แต่ศีล ก็เป็นการสมาทาน หมายความว่าผู้นั้นเจตนาวิรัติ งดเว้นด้วยตนเอง ไม่มีใครบังคับ เพราะว่าบังคับไม่ได้ เมื่อบังคับไม่ได้ เมื่อยังมีกิเลส มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ บังคับไม่ได้ แล้วจะบังคับทำไม ไร้ประโยชน์
เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทำสิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะรู้ว่าเมื่อบังคับไม่ได้ ก็ทรงแสดงเหตุผล แต่ไม่ใช่บังคับ
เคยมีชาวอิสลามถามปัญหาที่จังหวัดตากว่า เมืองเราเป็นเมืองพุทธ แต่ทำไมถึงสิ่งเสริมการผลิตสุรา และการจำหน่ายสุรา การดื่มสุราด้วย
ก็ต้องเรียนชี้แจงไปว่า ไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวไทย ชาวเทศ เมื่อเป็นมนุษย์เหมือนกันทั้งโลกที่มีโลภะ โทสะ โมหะ ก็เป็นของธรรมดาว่า อกุศลกรรมหรือการกระทำที่ไม่ดีทั้งหลาย ก็ต้องมาจากอกุศลจิต บังคับไม่ได้เลย ต่อเมื่อใดดับกิเลสแล้ว ก็ไม่ต้องบังคับ ไม่มีการบังคับอีกต่อไป เพราะเหตุว่าไม่มีเชื้อปัจจัยที่จะให้เกิดการกระทำที่เป็นอกุศลนั้นๆ
มีคำถาม ข้อ ๑. การบูชาไหว้เจ้า ตั้งศาลต่างๆ หรือมีสิ่งเหล่านี้อยู่เพื่อบูชากราบไหว้ จะถือว่างมงาย หรือผิดหลักพุทธศาสนิกชนหรือไม่
ข้อ ๒. วิญญาณมีจริงหรือไม่ คนเราตายแล้วไปไหน
ข้อ ๓. การทำบุญ บุญจะตกอยู่กับผู้ทำ แต่ถ้าเราต้องการแผ่ส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับ เขาจะได้รับหรือไม่
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160