โสภณธรรม ครั้งที่ 128
ตอนที่ ๑๒๘
พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ๔๕ พรรษา แล้วเราจะฟังเพียงในเวลา ๒ ชั่วโมง หรือ ๔ ชั่วโมง เป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจโดยตลอด แต่ว่าสามารถที่จะฟังอีกได้ เข้าใจอีกได้ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเห็นประโยชน์
ถาม ถ้าเราอยากเจริญสติ เวลาที่เกิดอกุศล เราก็รู้ว่าเป็นแค่รูปแค่นาม ทำให้เกิดกุศลจิต และอกุศลจิตลดลง...
ท่านอาจารย์ คือทางฝ่ายอกุศลที่เกิดแต่ละขณะก็ไม่สูญหาย เช่นเดียวกับทางฝ่ายกุศลแต่ละขณะก็ไม่สูญหาย
ผู้ฟัง ...
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ อบรมเจริญจนกระทั่งทางฝ่ายกุศลมีกำลังที่จะตัดอกุศลได้
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นการสะสม ก็หมายถึงว่าเราพยายามลดกำลังของอกุศลจิต ให้กุศลจิตเข้ามาแทน
ท่านอาจารย์ คือสะสมทางฝ่ายกุศลเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นแล้วก็เป็นการสะสมแต่ฝ่ายอกุศล ทุกคนมีที่เก็บกรรมที่ปลอดภัยที่สุด ไม่มีใครสามารถจะหยิบขโมยหรือว่าเอาไปได้เลย แม้แต่แดดลมก็ไม่ถูกต้องสัมผัสกระทบที่เก็บกรรมเลย เพราะว่าเก็บไว้ที่จิตทุกขณะ กรรมใดๆ ที่กระทำแล้วในอดีตอนันตชาติ หรือแม้ในชาตินี้ หรือแม้อกุศลในชาติหนึ่งที่เกิดแล้วก็ดับไป หรือกุศลขณะหนึ่งที่เกิดแล้วก็ดับไป สะสมสืบต่อทำให้แต่ละคนมีอัธยาศัยต่างๆ กัน เพราะฉะนั้นบางคนจึงปรากฏว่า เป็นคนที่โลภมาก ต้องการทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีพอ แต่บางคนก็มักโกรธ เจ้าโทสะ นี่ก็เป็นอีกอัธยาศัยหนึ่ง
เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการแบบไหน เราก็สามารถที่จะสะสมเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ได้ ถ้าต้องการที่จะเป็นคนใจดี มีเมตตา ให้อภัย ไม่ผูกโกรธ เสียสละ ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อคนอื่น เราก็เริ่มทำ คือสะสมเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ แล้วเรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่พ้นเลย เพราะว่าเก็บไว้ในที่ๆ ปลอดภัยที่สุด คือ ที่จิตทุกขณะ ทรัพย์สมบัติอื่นมีทางที่จะสูญไปได้ทั้งนั้น แต่ว่ากรรม หรือกุศลอกุศลที่เก็บสะสมไว้ ไม่มีทางที่จะสูญไปเลย สะสมสืบต่อไปเรื่อยๆ แม้แต่ความรู้วันนี้ก็ไม่หายไปไหน ความเข้าใจวันนี้ หลายๆ วัน พอได้ยินคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง ก็รู้ได้แล้วว่า ได้แก่สภาพธรรมที่เกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นก็ดับไป และเข้าใจความหมายของคำว่า “อนัตตา” เพิ่มขึ้น ถ้าฟังต่อไปเรื่อยๆ
ปัญญามีหลายระดับขั้นมากทีเดียว ปัญญาขั้นที่เกิดจากการฟังยังเป็นขั้นที่อ่อนมาก เพราะเหตุว่าดับกิเลสอะไรไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่รู้แสนรู้ว่า โลภะไม่ดี รู้แสนรู้ว่าโทสะก็ไม่ดี รู้แสนรู้ว่าโมหะก็ไม่ดี แล้วที่จะมีโลภะ มีโทสะ ก็เพราะมีโมหะนั่นเอง และแทนที่จะเห็นโทษของโมหะ จนกระทั่งขวนขวายที่จะละโมหะนั้นให้หมด และทำไมเมื่อเห็นว่าโลภะเป็นโทษ แต่ว่าตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ยังมีโลภะ ทั้งๆ ที่รู้ว่าต้องตาย ทุกคนต้องตาย อาจจะเป็นพรุ่งนี้ หรืออาจจะเป็นเย็นนี้ แต่ตราบใดที่ยังไม่ตาย ก็ยังโลภ
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ปัญญาขั้นการฟังเป็นปัญญาขั้นที่อ่อนมาก แต่ว่าจะต้องเจริญขึ้นอีกหลายขั้น กว่าที่จะรู้แจ้งแทงตลอดในการเกิดดับ สามารถจะประจักษ์ได้จริงๆ จนกระทั่งไม่ใช่เป็นเพียงความเชื่อในพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เป็นเพราะการประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาของตนเอง ก็จะทำให้ค่อยๆ ดับกิเลสไปตามลำดับขั้นได้
ถ้าจะพิจารณาก็รู้ว่า โมหะผ่านไปหลายขณะ ใช่ไหม กำลังเห็น สติไม่เกิด ก็ต้องเป็นการหลงลืมสติว่า เป็นเราเห็น ขณะที่กำลังได้ยิน ไม่รู้เลยว่า เพียงเกิดขึ้นได้ยินชั่วขณะเดียวแล้วก็หมด ไม่มีอีกในสังสารวัฏฏ์ที่ได้ยินนั้นจะเกิดขึ้นได้ นอกจากจะเป็นได้ยินอีกขณะหนึ่ง และก็รู้เสียงอีกเสียงหนึ่ง ไม่ใช่เสียงเก่าที่ดับไปแล้ว
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้ละเอียด แทนที่จะคิดถึงเหตุการณ์ยาวๆ เป็นวัน หรือเป็นชั่วโมง ก็จะย่อลงมาเป็นเพียงชั่วขณะจิต และจะประจักษ์ได้ว่า คำใดที่ได้ตรัสรู้และทรงแสดง คำนั้นจะไม่ผิดเลย เพราะว่าเป็นสัจจธรรม
น้ำลืมชาตินี่นานแล้วหรือ
สมพร เรื่องน้ำลืมชาตินี่ ก็พูดกันหลายนัย บางคนก็บอกว่าดื่มน้ำเฉยๆ แล้วก็ลืม บางคนก็บอกว่า ไปข้ามต้นไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วก็ลืม แล้วก็มีอย่างอื่นอีก ซึ่งไม่เป็นมาตรฐาน ผมจึงว่าคงจะเป็นความฝันชนิดหนึ่ง แต่ว่าความจำของเก่าอาจจะมีอยู่บ้าง แต่ว่านิดๆ หน่อยๆ แต่ว่าในปัจจุบันนี้ บางทีเราก็หลงลืมอย่างรวดเร็ว บางทีก็จำได้ถึงอดีตตอนที่เราเล็กๆ ก็ยังจำได้ แต่ถ้าเรามีเรื่องราววุ่นวายมากก็ลืม
เพราะฉะนั้นน้ำลืมชาติก็ตาม ข้ามต้นไม้แล้วทำให้ลืมชาติก็ตาม อันนี้ไม่เป็นมาตรฐาน
ถาม ...
ท่านอาจารย์ เหล้าไม่ใช่กิเลส แต่ว่าผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เวลาที่มีอาหาร คือ รูปกับนามต้องมีความสัมพันธ์กัน เพราะว่าอาหารบางอย่างก็มีปฏิกิริยาบางอย่างได้กับรูป ธาตุเย็น ธาตุร้อน ธาตุอ่อน ธาตุแข็ง ธาตุตึง ธาตุไหวในส่วนผสมลักษณะหนึ่ง ก็จะมีปฏิกิริยากับร่างกายได้ แต่ว่าเหล้าไม่ใช่กิเลส แต่ว่าบุคคลที่มีกิเลสอยู่ในเมื่อได้รับกระทบกับสิ่งนั้น ก็ทำให้เกิดมีความรู้สึกประเภทนั้นๆ ขึ้นมาได้ตามการกระทบนั้นๆ ด้วย อย่างถ้ากระทบรูปบางรูปซึ่งเป็นที่พอใจ ความยินดีพอใจ ความสุขอย่างมากก็เกิด แต่ถ้ากระทบกับรูปบางรูปที่ไม่พอใจ ความไม่พอใจก็ต้องเกิด อาจจะรุนแรงมากก็ได้
เพราะฉะนั้นความวิจิตรของความรู้สึกของการกระทบย่อมมี และมีความทรงจำซึ่งช่วยผสมที่จะทำให้เป็นปัจจัยให้ความรู้สึกอย่างนั้นเกิดขึ้นอีกได้ ก็เป็นไปได้
สมพร คล้ายๆ กับว่าเป็นอาหารชนิดหนึ่ง เป็นธาตุภายนอก เหมือนกับไฟมากระทบร่างกาย เกิดความรู้สึกร้อนขึ้น และเหล้าก็เป็นอาหารชนิดหนึ่ง เมื่อกระทบสัมผัสในร่างกายแล้ว ก็มีปฏิกิริยาทำให้หลงลืมสติ คือ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามปัจจัยทั้งสิ้น อาศัยภายนอกก็ได้ อาศัยภายในก็ได้ อาศัยภายนอกก็เช่น อาหารต่างๆ ที่เราดื่มเข้าไป จะเป็นเหล้าหรือเป็นอาหารที่เป็นพิษก็ได้ คือ สภาพอย่างไรปรากฏแก่ร่างกายเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่จะทำให้เป็นร้อน เป็นเย็น หรือเมาบ้าง อาศัยเหตุต่างๆ
ท่านอาจารย์ อันนี้ขอความกรุณาอาจารย์ตอบ
ดิฉันเรียนรู้ว่า ฆราวาสจะต้องปฏิบัติศีล ๕ ให้ได้บริสุทธิ์ จะต้องมีกรรมบถ ๑๐ กำกับไปด้วย ท่านอาจารย์เห็นว่าจำเป็นจะต้องมีกรรมบถ ๑๐ ด้วย และกรรมบถ ๑๐ ประการมีอะไรบ้าง
สมพร เรื่องกรรมบถ ก็ศีล ๕ ก็รวบยอดมาจากกรรมบถ กรรมบถ แปลว่า ทางของการทำกรรมซึ่งแบ่งเป็น ๒ อย่าง เป็นกุศล และอกุศล ถ้าเป็นกุศล เรียกว่า กุศลกรรมบถ ถ้าเป็นอกุศล เรียกว่า อกุศลกรรมบถ ถ้าเราขาดศีล ๕ กรรมบถก็ขาดไปด้วย ก็เป็นอกุศลกรรมบถ กรรมบถก็เกี่ยวกับทางกาย ทางวาจา ทางใจ
ทางกายก็มี ๓ ทางวาจาก็มี ๔ ทางใจก็มี ๓ ก็รวมเป็น ๑๐ ทางกายก็เช่นไม่ฆ่าสัตว์ สำหรับกุศล ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม เรียกว่า กายสุจริต ทางวจี ก็ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบ ทางมโน ก็ไม่เบียดเบียน ไม่มีความโลภ ไม่พยาบาท และไม่มีความเห็นผิด
กรรมบถนี่จะกล่าวว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับศีล ๕ ถ้าฆ่าสัตว์ เป็นต้น ก็เรียกว่าล่วงกรรมบถ เพราะฉะนั้นถ้าจะแยกศีล ๕ ออกจากกรรมบถก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นควรจะถือว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อาจารย์ช่วยต่อ
ท่านอาจารย์ อกุศลกรรมบถก็คงทราบ
ทางกาย ๓ ได้แก่ ปาณาติบาต การฆ่าสัตว์มีชีวิต ๑ อทินนาทาน การถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ ๑ กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดในกาม ๑
ทางวาจา ก็มี ๔ คือ มุสาวาท พูดสิ่งที่ไม่จริง ๑ ผรุสวาท พูดคำหยาบ ๑ ปิสุณาวาท พูดคำส่อเสียด ๑ สัมผัปปลาปวาท คือ พูดคำเพ้อเจ้อ คำที่ไม่มีประโยชน์ ๑ นี่เป็นวจีกรรม ๔ ซึ่งหักรอนประโยชน์ของผู้อื่น
มโนกรรม ๓ คือ อภิชฌา การเพ่งเล็งอยากได้ของของคนอื่น ๑ พยาปาท การคิดเบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น ๑ และมิจฉาทิฏฐิ ๑
นี่คืออกุศลกรรมบถ เพราะฉะนั้นศีล คือ การวิรัติทุจริต คือ เว้นอกุศลกรรมทั้ง ๑๐ ขณะใด ขณะนั้นเป็นกุศลกรรมบถ คือ เป็นทางของกุศล ซึ่งได้แก่ศีลนั่นเอง การวิรัติทุจริตทั้งหมด ได้แก่ศีล ขณะใดที่เว้นทุจริต ขณะนั้นเป็นกุศล นอกจากนั้นกุศลก็ยังมีทางของกุศล ๑๐ ประการด้วย คือ เป็นไปในทาน การที่วิรัติทุจริต ไม่ทำทุจริต จิตขณะนั้นไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง จึงเป็นไปในเรื่องของการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น ๑ หรือการอุทิศส่วนกุศลที่ได้กระทำแล้วให้คนอื่นได้อนุโมทนา ๑ และขณะใดจิตเกิดอนุโมทนา ขณะนั้นก็เป็นกุศลที่เป็นไปในทาน แสดงว่าเวลาที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ นอกจากในเรื่องของศีลแล้ว ก็ยังเป็นไปในเรื่องของทานได้ เป็นไปในเรื่องของการอบรมเจริญภาวนาได้ เช่น ในเรื่องของการฟังธรรม การแสดงธรรม หรือการเจริญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนาเป็นต้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเมื่อเว้นทุจริตแล้ว ก็จะหมดเรื่องของการเจริญกุศล แม้ว่าจะมีศีล ซึ่งเป็นการวิรัติทุจริตแล้ว ก็ยังควรจะมีกุศลอื่นๆ ที่ควรเจริญขึ้นด้วย
คำถามต่อไปคือ การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อความพ้นทุกข์ เช่น พิจารณาอสุภกัมมัฏฐาน แล้วปลงปัญญาสู่พระไตรลักษณ์ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ประเภทเจโตวิมุตติ แสดงว่าทางสู่ความพ้นทุกข์ ไม่จำเป็นต้องเจริญวิปัสสนาล้วนๆ อย่างเดียว ใช่หรือไม่
ตอบ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อจะทรงตรัสรู้ พระองค์ก็ทรงได้ฌานจิตก่อน ไม่มีใครที่จะได้ฌานจิตคล่องแคล่วชำนาญเท่าพระองค์ ถ้าศึกษาต่อไปจะทราบว่า ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากยิ่งทีเดียว ต้องเป็นผู้ที่ชำนาญมากจึงจะกระทำได้ แต่อย่าลืมว่า ที่กล่าวว่า แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อจะทรงตรัสรู้ พระองค์ก็ทรงได้ฌานจิตก่อน พระองค์ทรงได้ฌานจิต แต่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยฌานจิตเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเจริญปัญญาบารมีครบ ที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในปัจฉิมยามในยามที่ ๓ ในยามที่ ๑ ทรงระลึกชาติ มากมายนับไม่ถ้วน แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะทรงสามารถระลึกชาติได้ ในมัชฌิมยาม ทรงพิจารณาจุติและปฏิสนธิของสัตว์มากมายสักเท่าไร ก็ไม่ได้ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการรู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ เพราะฉะนั้นแม้ว่าฌานทั้งหลายจะสามารถทำให้ระลึกชาติได้ก็ดี สามารถจะรู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ได้ก็ดี สามารถจะเป็นพื้นฐานสำหรับการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้มากมายสักเท่าไรก็ดี ก็ไม่ใช่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงถึงพร้อมทั้งวิชชาและจรณะ จรณะ คือ ฌานทั้งหลาย ในขณะที่ผู้ที่เป็นพระอริยสาวกบางท่านไม่ได้ฌาน แต่ว่ารู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะฉะนั้นในสมัยนี้หรือแม้ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน บรรดาสาวกที่เป็นพระอริยบุคคลที่ได้ฌานด้วย มีจำนวนน้อยกว่าผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การที่จะได้ฌาน ไม่ใช่ของง่ายเลย นอกจากไม่ง่ายแล้ว การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ยังยากด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อยากทั้ง ๒ อย่าง ใครจะสามารถจะบรรลุได้ทั้ง ๒ อย่าง หรือว่าสามารถจะบรรลุได้เพียงเป็นพระอริยสาวกที่ไม่ได้ฌานจิต คือ บุคคลในสมัยนี้จะพิจารณาตัวเองได้ว่า สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมพร้อมกับได้ฌานด้วย หรือว่าฌานนั้นก็แสนยาก การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็แสนยาก เพราะฉะนั้นถ้าจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ก็ดีแล้ว ไม่ต้องถึงกับทั้งรู้แจ้งอริยสัจจธรรมและได้ฌาน เพราะแม้บุคคลในครั้งพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็ยังมีผู้ที่ได้ฌานด้วยและรู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วย น้อยกว่าผู้ที่ได้รู้แจ้งเพียงอริยสัจจธรรม
นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา และข้อแรกที่ถามว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อความพ้นทุกข์ เช่นพิจารณาอสุภกัมมัฏฐาน แล้วปลงปัญญาสู่พระไตรลักษณ์
ตอบ ฟังแล้วไม่ยากเลย เพียงแต่พิจารณาอสุภกัมมัฏฐาน แล้วปลงปัญญาสู่พระไตรลักษณ์ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ฟังดูแค่นี้เอง แต่ว่าพิจารณาอย่างไรที่จะเป็นพระไตรลักษณ์ได้ นี่เป็นเรื่องใหญ่กว่าการที่จะเพียงกล่าวว่า พิจารณาอสุภกัมมัฏฐาน แล้วปลงปัญญาสู่พระไตรลักษณ์
เหมือนอย่างบางคนบอกว่า เห็น ก็อย่าไปยึดถือ ก็ละๆ เสีย ได้ยินก็อย่าไปยึดถือ ก็ละๆ เสีย ไม่ใช่ตัวตน พูดได้ ทำได้ไหม ละอย่างไรถ้าปัญญาไม่เกิด นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาอสุภอย่างไร ปลงปัญญาอย่างไรถึงจะสู่พระไตรลักษณ์ได้ เพราะเรื่องของสมถภาวนาไม่ใช่เรื่องการรู้ลักษณะของสัจจธรรม คือ นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ แต่เป็นเรื่องทำให้จิตสงบโดยที่ไม่รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน นั่นคือสมถภาวนา
เพราะฉะนั้นเมื่อขณะที่ทำอย่างนั้น ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นจะเพียงปลงปัญญาสู่พระไตรลักษณ์ เฉยๆ ง่ายๆ เป็นไปไม่ได้เลย แม้แต่การที่จะพิจารณาอสุภ ที่จะเป็นกุศล พิจารณาอย่างไร ที่จะให้จิตสงบจริงๆ ถ้าเป็นเรื่องของปัญญา ก็รู้ว่าต้องเป็นเรื่องของการอบรมเจริญ เพราะปัญญาจะโตทันที โดยที่ว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรเลยไม่ได้
สมพร พิจารณาอสุภ ความจริงซากศพก็เพียงแต่ว่าข่มจิตไม่ให้ฟุ้งซ่านเกินไป แต่ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องวิปัสสนา พิจารณาแค่นั้น ทำอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้ ไม่สามารถสำเร็จแม้โสดาบันได้ จำเป็นที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจเรื่องปัญญาเสียก่อน คือเรื่องวิปัสสนาปัญญา เมื่อเราเข้าใจเรื่องวิปัสสนาแล้ว เราจะอบรมสมถะอย่างอื่น เช่นพิจารณาซากศพก็ไม่เป็นไร เมื่อจิตเราสงบ หรือมีความสังเวชเกิดขึ้น เข้าใจเรื่องวิปัสสนาแล้วก็ดำเนินตามต่อไป มาพิจารณาเรื่องนามเรื่องรูป ถ้าไม่พิจารณาเรื่องนามเรื่องรูปแล้ว ทำอย่างไรก็ไม่สามารถสำเร็จมรรคผลได้
ท่านอาจารย์ ปัญหาก็คงจะมีอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจแล้วก็จะทำให้ไม่เสียเวลา คือรู้ว่าพระอริยบุคคลที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้นดับกิเลสอะไร เพราะเหตุว่ากิเลสมีมาก เพราะฉะนั้นการที่ปัญญาจะดับกิเลส จะดับกิเลสทันทีทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน ปัญญาขั้นแรกที่เป็นโลกุตตระ จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนก่อน
นี่คือสิ่งที่จะต้องเข้าใจว่า เมื่อปัญญาจะต้องรู้อย่างนี้ เราก็ต้องฟังเรื่องความไม่ใช่เรา ความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรม จนกระทั่งปัญญาค่อยๆ พิจารณา แล้วก็เข้าใจขึ้น แล้วสติปัฏฐานก็จะเกิดระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน เป็นต้น จนรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนอย่างไร
นี่ก็แสดงให้เห็นความต่างกันของสมถะและวิปัสสนาว่า ถ้าเป็นอสุภกัมมัฏฐานไม่มีการที่จะพิจารณาว่า ขณะที่เห็นอสุภนั้นไม่ใช่เราเห็น และสิ่งที่ปรากฏที่เราเคยยึดถือว่าเป็นซากศพของคนนั้นคนนี้ แท้ที่จริงแล้วทางตาอะไรกำลังปรากฏที่เป็นอนัตตา
นี่ก็จะแสดงให้เห็นว่า การที่จะดับการยึดถือสภาพธรรม ต้องปัญญารู้ความจริงว่า นามธรรมไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา รูปธรรมไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะไม่ขวนขวายทำอย่างอื่น นอกจากจะพยายามศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่เห็นจริงๆ เดี๋ยวนี้ ได้ยินจริงๆ เดี๋ยวนี้ว่า ไม่ใช่เราอย่างไร
ถาม ...
ท่านอาจารย์ ต้องคิดก่อนว่าถ้าเขาไม่ได้ทำเอง เขาจะได้รับไหม ถ้าได้รับก็สบาย โดยที่ว่าเราก็ทำแทนไปให้หมดเลย คนอื่นไม่ต้องทำ เพราะเหตุว่าบุญหมายความถึงขณะที่จิตไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ขณะนั้นจึงจะเป็นกุศล หรือว่าเป็นบุญ เวลาที่เราทราบว่าใครทำความดี แล้วเราก็เกิดปีติอนุโมทนาด้วย จิตของเราที่ผ่องใสอนุโมทนาด้วย นั่นเป็นบุญของเรา ซึ่งเกิดจากการกระทำบุญของคนอื่น เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นคนอื่นทำบุญ แล้วเราก็อนุโมทนา นั่นคือกุศลของเราเอง ขณะที่เราอนุโมทนาเป็นกุศลจิตของเราที่จะได้คือกุศลจิตเกิด ไม่ใช่เขาเอาบุญของเขาแบ่งมาแล้วเราก็รับเอามาเฉยๆ ไม่ได้ บุญของใครก็ของคนนั้น เพราะเหตุว่าบุญคือกุศลจิต ถ้าสมมติว่าเราแบ่งบุญให้เขา แต่เขาโกรธเรา เขาไม่อยากได้ เขาไม่ชอบเรา เขาไม่ยินดีด้วย อย่างนั้นก็ไม่มีทางที่จะให้กุศลจิตของเขาเกิดเลย
ถาม แล้วอย่างที่เราไปวัดที่ไม่มีอะไรเลย เราชักชวนคนอื่นไปสร้าง ทีนี้เราก็มีอาหารหวานคาวไปเพื่อถวายเป็นสังฆทาน เพื่ออุทิศให้วิญญาณในที่นั้นที่มีแต่กระดูกที่เราเห็นอยู่ แล้วเราแผ่เมตตา เขาจะได้รับไหม
ท่านอาจารย์ เหมือนกัน ไม่ว่าเราจะทำบุญแบบไหนก็ตาม กุศลจิตของใครเกิดก็เป็นบุญของคนนั้น อกุศลจิตของใครเกิด ก็ไม่ใช่บุญในขณะนั้น มิฉะนั้นแล้วคนอื่นต้องกระทำให้ใครๆ ได้ โดยที่คนนั้นไม่ต้องทำเลย เป็นไปไม่ได้
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160