โสภณธรรม ครั้งที่ 130


    ตอนที่ ๑๓๐

    การอบรมเจริญภาวนา ต้องทราบคำว่า “ภาวนา” หมายถึง อบรมให้สิ่งที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือให้สิ่งที่เกิดขึ้นเจริญยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องความเข้าใจ เป็นเรื่องสติปัญญา เป็นเรื่องของกุศลจริงๆ เช่น ถ้ายังไม่เคยเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นเราเห็น เราได้ยินเลย ก็จะต้องฟังเสียก่อน อย่าไปปฏิบัติอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าถ้าความเข้าใจไม่มี ปฏิบัติอย่างไร ปัญญาก็ไม่เกิด เพราะไม่มีพื้นฐานคือความเข้าใจสิ่งที่สติจะต้องระลึก จนปัญญารู้ชัด ต่อเมื่อใดได้ฟังเรื่องของสภาพธรรม แล้วก็เข้าใจว่าปัญญาจะต้องรู้ของจริงอย่างนี้ แล้วสติจึงจะค่อยๆ เกิดระลึกได้ว่า เห็นเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ซึ่งคนตายไม่เห็น เพราะฉะนั้นการเห็นไม่ใช่รูปธรรม คือ แยกนามธรรมและรูปธรรมซึ่งอยู่รวมกันออกจนกระทั่งไม่เหลือความเป็นตัวตน

    ถาม ถ้าเจริญพรหมวิหาร ๔ ก็ต้องเจริญสมาธิด้วย ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่สมาธิยังไม่มากมาย....

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ปัญญาเท่านั้นที่จะละกิเลสได้ สมาธิละกิเลสไม่ได้เลย แล้วก็ขอเรียนให้ทราบเรื่องของสมาธิ ที่เราใช้คำว่า “สมาธิ” ต้องเป็นฝ่ายกุศล จึงควรเจริญ ถ้าเป็นฝ่ายอกุศลแล้ว ไม่ควรเจริญเลย และการที่จะเจริญสมาธิ หมายความว่า จิตจะต้องสงบเพราะเป็นกุศล ขณะใดที่เป็นอกุศล ไม่ชื่อว่าสงบ เพราะฉะนั้นสมาธิที่เกิดกับอกุศลจิตจะไม่มีกำลังเลย อย่างเวลาที่เราจะเย็บผ้า หรือเดินในที่มีอันตราย ก็ต้องมีการระวังตัว นั่นก็เป็นลักษณะของสมาธิ แต่ว่าเป็นไปในอกุศล ไม่ใช่เป็นไปในกุศลเลย

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นก็จะต้องเข้าใจว่า ผู้ที่จะเจริญกุศลอีกประเภทหนึ่ง ขั้นสูงกว่าทาน ขั้นสูงกว่าศีล คือ ความสงบของจิต จะต้องประกอบพร้อมด้วยสติและสัมปชัญญะ ขณะนี้ทุกคนมีสัมปชัญญะ คือ ความรู้สึกตัวตามปกติ ไม่ใช่ทำสิ่งที่ผิดปกติขึ้นมา คือ ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ หรือว่าไปบังคับจิตใจ แต่ว่าขณะที่กำลังฟังพระธรรม ยังไม่รู้ลักษณะของจิตที่กำลังฟังเลยสักนิดเดียว ว่าสงบไหม เป็นกุศลหรือเปล่า ซึ่งความจริงแล้วขณะที่ฟังพระธรรม ไม่ใช่ขณะที่เรากำลังเพลิดเพลินดูทีวี สนุกสนาน คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือเล่นดนตรี ฟังดนตรี เพราะเสียงที่ฟัง เป็นเรื่องที่จะทำให้เราค่อยๆ ฟังไป ค่อยๆ พิจารณาเรื่องตัวของเราให้รู้ว่า แม้แต่จิตใจที่เกิดอยู่กับเราตั้งแต่เกิดจนตาย บางครั้งเป็นอกุศล เราก็ไม่รู้ บางครั้งเป็นกุศล เราก็แยกไม่ออก เช่น การที่จะทำบุญสักครั้งหนึ่ง เจตนาที่จะให้เป็นกุศล แต่ระหว่างที่ไปตระเตรียมซื้อของ เข้าครัว อกุศลเกิดตั้งมากมาย ถ้าอาหารอร่อยก็ดีใจ ถ้าอาหารไม่อร่อย ก็วุ่นวายเดือดร้อนโกลาหล ก็เป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้นชีวิตของเราซึ่งบางครั้งเป็นกุศล บางครั้งเป็นอกุศล เมื่อสติสัมปชัญญะไม่เกิด ปัญญาไม่เกิด แยกไม่ออก เพราะฉะนั้นผู้ที่แม้กุศลจิตเกิดวันหนึ่งๆ แต่ว่าเล็กน้อยมาก จึงไม่ปรากฏลักษณะความสงบที่เป็นขั้นสมาธิ แต่เวลาที่จิตใจเข้าใจพระธรรมและเห็นพระคุณ มีการระลึกถึงพระมหากรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ ขณะนั้นลักษณะความสงบจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเพียงนิดหน่อย แต่ว่าต้องเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะจึงจะรู้ได้ว่า จิตขณะนี้ไม่ใช่อกุศล กำลังเป็นกุศล และถ้าจะไม่ทำให้กุศลนั้นมั่นคงขึ้น ก็จะต้องมีความเข้าใจประกอบด้วยปัญญาว่า จิตที่เป็นกุศลจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร นั่นคือการอบรมเจริญสมถภาวนา หรือสมาธิที่ยังไม่ถึงฌานจิตเลย ไม่ต้องกล่าวถึงระดับขั้นต่างๆ ของสมาธิอีกหลายขั้นกว่าจะเป็นฌานจิต ซึ่งยากแสนยาก ถ้าขั้นนี้ไม่มี เราจะทำฌานก็ไม่ได้ สมาธิอะไรก็ไม่ได้ทั้งหมด เพราะว่ายังแยกจิตที่เป็นกุศลและอกุศลไม่ออก แต่ผู้ที่สามารถมีสติสัมปชัญญะแยกออก เพราะรู้ว่า จิตที่เป็นกุศลกำลังเกิดบ่อยๆ ต่างกับขณะที่เป็นอกุศล บ่อยแค่นี้ ความสงบเพิ่มหรือยัง ความสงบยังไม่เพิ่ม ลักษณะของความสงบยังไม่ปรากฏ ต่อเมื่อใดเขารู้ว่า ขณะนี้เองที่เป็นกุศล มีปัจจัยที่จะให้ความสงบปรากฏ ความสงบขั้นนั้นก็ยังไม่ถึงฌานจิต อีกแสนไกลกว่าจะถึง เพราะเหตุว่าในขณะนี้ที่สงบก็ยังเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ถ้าเป็นฌานจิตแล้ว จะไม่มีการเห็น การได้ยิน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจก็จะไม่นึกคิดเรื่องอื่นเลย นอกจากอารมณ์ที่จิตตั้งมั่นแล้วสงบ เพราะฉะนั้นก็ยากที่ฌานจิตจะเกิด เราอย่าคิดว่าเป็นเรื่องง่าย เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรต้องสนใจอะไรนัก กับการที่จะให้จิตตั้งมั่น จนกระทั่งความสงบเกิด โดยไม่ใช่ปัญญาขั้นวิปัสสนา ซึ่งรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเพื่อจะทิ้งความเห็นผิดว่า เป็นเราที่เห็น เราที่ได้ยิน เราที่คิดนึก

    นี่เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่แยกกันจริงๆ ระหว่างมิจฉาสมาธิซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญา แล้วก็หลงเข้าใจว่าเป็นฌานหรือว่าเป็นญาณ โดยที่ปัญญาไม่เกิดเลย เป็นปัญญานั่นเองแต่ว่าต่างระดับขั้น ปัญญาขั้นฌาน ก็คือ ปัญญาที่รู้ว่าจิตที่สงบมีกำลังเพิ่มขึ้นดื่มด่ำซาบซึ้งในอารมณ์นั้นขั้นไหน นั่นคือการอบรมเจริญสมถภาวนาที่จิตสงบ แต่สำหรับวิปัสสนา ปัญญาประจักษ์แจ้ง แล้วก็สามารถระลึกได้

    สมพร เรื่องของโสดา เป็นเรื่องไกล การที่จะบรรลุโสดาได้ ต้องเข้าใจตั้งแต่เบื้องต้น คือ ทำลายความเห็นผิดเสียก่อน เห็นผิดว่า เป็นคน เป็นสัตว์ หรือเป็นตัวตน ซึ่งความเห็นผิดก็มาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เรายึดอารมณ์ที่มาทางตาว่าเราเห็นคน เห็นสัตว์ เราไม่ได้เห็นความจริงเลย ความจริงสีที่ปรากฏไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ แม้ตัวที่เห็นก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เรียกว่าจักขุวิญญาณ เราต้องทิ้งความเห็นผิดเบื้องต้นเสียก่อน ทางทวารทั้ง ๖ เมื่อทำลายความเห็นผิดแล้วก็สามารถแยกรูปว่าอันไหนเป็นรูป อันไหนเป็นนาม เมื่อแยกรูปแยกนามได้ ต่อไปก็จะพิจารณารูปนามนั่นแหละอาศัยปัจจัยอะไรเกิดขึ้น เมื่อรู้ว่ารูปมีปัจจัยเกิดขึ้น นามก็มีปัจจัยเกิดขึ้น พิจารณาอย่างนี้บ่อยๆ ต่อไปก็จะเห็นความเกิดและความดับ และโสดากว่าจะเกิดก็อีกนาน ต้องพิจารณาเพื่อทำลายความเห็นผิดอย่างนี้ก่อน เรื่องของโสดา ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

    ท่านอาจารย์ ขอถามนิดหนึ่งว่า เวลาที่เข้าใจว่า รู้ว่าไม่มีอะไรเลยนั้น ปัญญารู้อะไร เฉยๆ ไม่ได้แน่ ขณะนี้มีเห็นกับมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะของสติต่างกับสมาธิ แค่นี้ก็จะต้องรู้แล้ว การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เจริญสมาธิ แต่เป็นการเจริญสติ เพราะฉะนั้นลักษณะของสติต่างกับสมาธิ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เคยเจริญสติปัฏฐานมาเลย จะคิดว่าสมาธินั้นเป็นสติ แต่แท้ที่จริงแล้วสมาธิไม่ใช่สติ สมาธิก็เป็นสมาธิ แต่สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ว่า ทางตาเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ที่ใช้คำว่า จิต หรือนามธรรมอย่างไร ต้องแยกกับสิ่งที่ปรากฏทางตาเสียก่อน

    เพราะฉะนั้นปัญญาที่ว่าเข้าไปรู้เฉยๆ และรู้เหมือนกับว่าไม่ปรุงแต่งเลย แล้วในเดี๋ยวนี้ปัญญารู้อะไร ถ้าเดี๋ยวนี้ไม่รู้ ทั้งหมดที่เคยปฏิบัติมาก็ใช้ไม่ได้ เพราะเหตุว่าเรายึดถือเห็นเดี๋ยวนี้ว่าเป็นเรา เราพอใจสิ่งที่กำลังเห็น หรือไม่พอใจสิ่งที่กำลังเห็น ทางหูเรายึดถือว่าเป็นเราได้ยิน ตลอดตั้งแต่เช้ามาก็เป็นเราได้ยิน เพราะฉะนั้นปัญญาต้องสามารถรู้ของจริงๆ ตามปกติ ถ้าผิดปกติ หรือเฉพาะเวลาอย่างนั้นใช้ไม่ได้ ต้องสามารถจะรู้ของจริงในขณะนี้ด้วย เป็นปัญญาที่ค่อยๆ สะสมอบรมขึ้น

    คุณธนิตเคยมีประสบการณ์ที่เคยเข้าใจว่า ได้บรรลุฌานมาแล้ว คงจะเป็นแบบเดียวกันหรือเปล่าไม่ทราบ ลองแสดงความคิดเห็น

    ธนิต ไม่ทราบที่คุณทำสมาธิอยู่ที่นี่ เริ่มต้นอย่างไร

    ผู้ฟัง ...

    ธนิต ผมจะเรียนให้ทราบว่า ผมเริ่มต้นทำสมาธิมานานแล้ว และเมื่ออยู่ที่กรุงเทพก็มาพบคุณลุงท่านหนึ่งสอนทำอานาปานสติสมาธิ ตอนแรกผมก็ไม่สนใจ เพราะว่าตอนที่ผมเรียนทำสมาธิอยู่ที่นั่น ผมเล่นไสยศาสตร์ เล่นเครื่องรางของขลัง จนกระทั่งเอาไปใช้ประโยชน์ทางไสยศาสตร์ ตอนนั้นผมไม่ทราบว่า สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิหรือมิจฉาสมาธิเป็นอย่างไร รู้อย่างเดียวว่า การที่มีความตั้งมั่นที่ทำสมาธิอย่างนี้ได้ และก็บริกรรมคาถาอาคม มันมีพลังจิต สามารถที่จะทำอะไรต่ออะไรพิเศษได้ ก็คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ทำไปประมาณเกือบ ๑๐ ปี ใครต่อใครก็เรียกอาจารย์กันใหญ่ เวลาเขามีพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลัง เขาก็เชิญไปนั่งปรก พอผมเข้ามากรุงเทพ ผมก็พบคุณลุงที่เป็นอาจารย์สอนอานาปานสติสมาธิ ทีนี้แรกผมไปก็ไม่สนใจ แต่ทีนี้ที่นี่เขาสอนเริ่มต้นมีขั้นตอน เมื่อทำสมาธิได้ตั้งแต่ขั้นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ แล้วก้าวเข้าสู่อัปปนาสมาธิได้ และอบรมให้เราเริ่มต้นทำวสี คือ ความชำนาญในการเข้าสมาธิ ออกจากสมาธิ หรือดำรงอยู่ในสมาธิ ผมเรียนมาอีก ๔ – ๕ ปี ไปเรียนกับท่าน และในที่สุดคุณลุงท่านก็เลื่อนว่า ขณะนี้ผมมีความสงบ ความตั้งมั่นเข้าสู่อัปปนาสมาธิแล้ว และก็เริ่มต้นให้ผมขึ้นองค์ฌาน ถึงปฐมฌาน กว่าจะได้ผมไปติดอยู่ในทุติยฌาน ฌานที่ ๒ นานเหลือเกิน แล้วก็ค่อยๆ ขึ้นมา จนกระทั่งผมได้ปัญจมฌาน ผมไม่ทราบว่าได้ขึ้นมาได้อย่างไร เพราะว่าในขณะที่ทำสมาธิ ผมมีแต่ความสงบนิ่งวันทั้งวัน ผมตื่นตั้งแต่ตีสี่ทำสมาธิกว่าจะออกจากสมาธิ ๖ โมงเช้า และพออาบน้ำทานข้าวเสร็จ พอสองโมงก็นั่งต่อไปอีก กว่าจะเลิกเกือบเที่ยง วันทั้งวันผมก็อยู่อย่างนั้น ผมก็ไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เวลาไปแล้วมีครูฝึกคอยคุม คอยบอกว่าเวลานี้ผมได้ขั้นนั้นขั้นนี้ มีอยู่บางครั้งก็มีสิ่งที่ปรากฏ ครั้งหนึ่งผมเห็นตัวผมค่อยๆ ออกจากร่าง เห็นตัวผมนั่งทำสมาธิ ผมตกใจใหญ่ แล้วไปเรียนครู ครูบอกว่าถ้าเป็นอย่างนี้ไปทำที่บ้านไม่ได้ ต้องมาทำที่สำนักท่าน เพราะถ้าไปทำเดี๋ยวจะเป็นบ้า แล้วหลังจากนั้นเริ่มต้นมาเรียนที่บ้านคุณลุง ไปถึงก็ไม่ต้องทำอะไร ไปถึงก็นั่งหลับตา แล้วท่านก็เปิดเทป ให้เราน้อมใจตามเทปไป คนใหม่ๆ ก็หายใจเข้า พุทธ หายใจออก โธ สติจับไว้ที่ปลายจมูกตรงจุดลมหายใจกระทบ ทำไปอย่างนี้ ก็ทำไปๆ จนกระทั่งมันนิ่งไป แล้วเขาก็คอยมาเตือนเราไม่ให้เผลอสติ และผลจากการทำสมาธิ มีเรื่องแปลกๆ ปรากฏขึ้น ผู้ที่นั่งทำสมาธิควบคุมร่างกายไว้ไม่ได้ พอนั่งทำไป ลืมตาขึ้นไม่ได้ นั่งขัดสมาธิแข็งอยู่อย่างนั้น พอผมบอกว่าให้ออกจากสมาธิ ตอนที่ผมสอน เขาบอกว่าออกไม่ได้ ผมก็คิดว่าถ้าจะยุ่งแล้ว ผมก็เริ่มต้นใหม่บอกว่า คุณฟังผมให้ดีนะ ขณะนี้คุณดำรงอยู่ในสมาธิ ฟังผมแล้วโน้มใจตามไปเรื่อยๆ ในที่สุดผมก็ให้เขาค่อยถอยๆ ออกจากสมาธิแล้วลืมตาขึ้นได้ อีกรายหนึ่งเขานั่งทำสมาธิ ตัวเขาเริ่มต้นจะเอียง เอียงไปจนศีรษะจะติดพื้น เขาไม่สามารถจะบังคับตัวเองได้

    นี่แหละเรื่องของการทำสมาธิผิดๆ มีผลอย่างนี้ พอผมนั่งที่บ้านท่านอาจารย์ที่ฝั่งธน ไม่ใช่ท่านอาจารย์นี้นะ อยู่ได้ประมาณปีที่ ๕ เขาบอกว่าผมได้อรูปฌานแล้ว ทั้งๆ ที่การนั่งทำก็ทำแบบเดียวกัน แล้วความสงบก็ความสงบเหมือนกัน ตอนนั้นเขาให้ผมเริ่มดูไฟฉายที่ส่องแล้วหลับตา มีนิมิตปรากฏที่ตา แล้วให้ขยายออกไปได้ มีความสามารถที่จะเห็นเหมือนความฝัน ขณะที่นั่งไม่ได้หลับ เหมือนกับว่าท่านมีอำนาจอะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งสามารถทำให้จิตผมตรงกับท่านได้

    นี่ผมไปนั่งทำอยู่ ผมโชคดีมากที่เห็นอาจารย์ที่สอน ที่ผมเรียกคุณลุง ท่านฟังรายการของท่านอาจารย์สุจินต์ พอฟังแล้วผมก็ตามมาฟังด้วย คือ พอรู้ว่าสถานีวิทยุ สทร. เปิดเทปอาจารย์ ผมก็ตามมาฟังด้วย ผมฟังอยู่ได้ประมาณสัก ๒ – ๓ เดือน ผมเริ่มต้นอัดเทป ก็โชคดีที่ได้ฟังเทปของท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องสมถภาวนา ผมก็ฟังว่าทำไมไม่เหมือนกัน เพราะว่าท่านอาจารย์เริ่มต้นบอกว่า ผู้ที่จะทำสมาธิ ถ้าไม่ทราบว่า สติมีลักษณะเป็นอย่างไร เราจะไม่ทราบว่าขณะนั้นที่เรานั่งทำสมาธิ เป็นกุศลหรืออกุศล ผมฟังไม่รู้เรื่องเลยว่า ท่านพูดประโยคนี้หมายความว่าอย่างไร ผมฟังต่อไปเรื่อยๆ จนในที่สุดผมก็เข้าใจ ตอนหลังผมก็ได้คำอธิบายว่า คำว่า “สมาธิ” คือการทำให้จิตมีความสม่ำเสมอขั้นสูง พอคำอธิบายอย่างนี้ ผมก็เลิกทำดีกว่า เพราะที่เห็นๆ คนที่นั่งทำเกิดอันตรายขึ้นหลายคน เช่นบางคนบังคับตัวเองให้ลืมตา ให้ลุกขึ้นไม่ได้ อย่างคนที่ตัวเอียงไปบังคับไม่ได้เลย ผมก็บอกให้เขาเลิกทำ ขณะที่ผมแนะนำหลายปีเหมือนกัน พอผมทราบเหตุว่า เรื่องของการแนะนำสมาธิที่ผิดอันตราย จะเกิดวิกลจริตก็ได้ ผมก็เลยชวนเขาให้มาฟังอาจารย์สุจินต์ที่วัดบวรเถอะ แล้วผมจะตามมา และในที่สุดผมก็ตามมาฟังท่านอาจารย์ที่วัดบวร และตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ ผมไม่กล้าทำสมาธิอีกเลย ความจริงถ้าจะคุยกันในรายละเอียด เป็นขั้นตอน ถึงการทำวสี เรื่ององค์ฌาน ถ้าอ่านถ้าศึกษาก็พูดได้หมด ไม่ว่าขั้นตอนองค์ฌานไหน และแต่ละขั้นที่ปฏิบัติ ผมปฏิบัติมาอย่างไรมีเรื่องละเอียดมาก ที่ผมพูดมาย่อๆ อยากจะบอกว่า สมาธิที่เราพูดกันนี่เป็นแต่ความตั้งมั่นของจิต เราไม่ทราบว่าในขณะนั้น สติมีลักษณะอย่างไร จิตของเราในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล นี่เป็นขั้นต้นก่อน และที่ว่ามีความรู้สึกตัว ที่ใช้พูดว่า สัมปชัญญะ ตอนที่ผมนั่งทำสมาธินั้นก็รู้สึกตัว แต่รู้สึกตัวก็มีอะไรๆ ประหลาดเกิดขึ้น ผมเคยทดลองเรื่องสมาธิ ถ้าใครที่เจ็บป่วย ไม่สบาย ถ้าบอกผม ผมสามารถจะกำหนดจิตเพ่งไปที่เขาป่วย แล้วเขาก็หาย ตอนนั้นผมคิดว่าผมเป็นอาจารย์ใหญ่โตเก่งเหลือเกิน วันนี้ผมอายเขาที่สุด วันนี้มาพูดที่นี่ เพราะว่าอยากจะเอาสิ่งที่ไม่ดีไม่งามที่ตนเองได้ประพฤติปฏิบัติมา ผมหลงทางเรื่องทำสมาธิมา ๓๓ ปี

    เพราะฉะนั้นเมื่อมาเรียนให้ทุกๆ ท่านทราบว่า ขอให้เข้าใจกุศลในพระพุทธศาสนาขั้นสมาธิ ไม่ใช่ขั้นที่ท่านอาจารย์กำลังพูดอยู่เมื่อสักครู่นี้ และตอนนี้ที่เรามาคุยกันนี่ เหมือนญาติทางธรรม อะไรที่ไม่ถูกทางไม่ดี ถ้าสงสัยในขั้นตอนอะไรเกี่ยวกับสมถกัมมัฏฐาน ลองถามท่านอาจารย์สมพรเกี่ยวกับภาษาบาลี จะขยายคำให้หมด

    ส่วนความหมายอีกขั้นหนึ่งว่า เรานับถือพระพุทธศาสนา เป้าหมายคืออะไร ถ้ารู้เป้าหมายอย่างที่อาจารย์กำลังอธิบายให้ฟัง หมายถึงความหมายของวิปัสสนา คือ ปัญญา ปัญญารู้อะไร แต่สมาธิแค่ความสงบระงับชั่วขณะ ไม่ได้เกิดอะไรเลย นอกจากอิทธิฤทธิอภินิหาร ซึ่งสมัยก่อนผมทำอะไรแปลกๆ อย่างที่คนอื่นเขาทำไม่ได้ เขายกย่องไปไหนก็เรียกครูอาจารย์ เดี๋ยวนี้อาย ต้องขอร้องว่าอย่าเรียกเลย ให้เรียกชื่อเฉยๆ

    เพราะฉะนั้นเรื่องของสมาธิ ผมเข้าใจ ผมคิดว่าเมื่อเลิกแล้วจะมาคุยกันเป็นเรื่องส่วนตัว ใครที่เคยทำสมาธิมา อยากจะคุยเป็นพิเศษ ไม่อยากรบกวนเวลาของท่านอาจารย์ เดี๋ยวคุยกันนอกเวลาได้

    ท่านอาจารย์ ก็ดีที่การฟังพระธรรมทำให้เข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ได้ถึงขั้นฌานหรืออะไรๆ เลย เพียงแต่ว่าเมื่ออ่านตำราก็เข้าใจเอาเองว่า คงจะเป็นอย่างนั้น คงจะถึงขั้นนี้ ซึ่งความจริงแล้วยากกว่านั้นมากเลย เพราะว่าจะต้องเป็นขณะนี้ที่ปัญญาสามารถจะรู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นความสงบที่เป็นขั้นสมถภาวนาจริงๆ หรือขั้นวิปัสสนาจริงๆ ตัวปัญญาสามารถจะรู้ได้ถ่องแท้จริงๆ แต่จะต้องอบรมจากการค่อยเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    ถาม ...

    ท่านอาจารย์ ฟังให้เข้าใจเสียก่อน อันนี้สำคัญมาก นี่เป็นเหตุให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา แล้ววันหนึ่งๆ ไม่น้อยเลย ไม่เคยสั่งให้ใครไปนั่งเฉยๆ เลย แต่ว่าเสด็จไปโปรดคนที่รู้ว่า เขาสามารถที่จะรับฟัง แล้วแม้ว่าจะยังไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาตินั้น แต่ถ้าฟังต่อไป ก็สะสมเป็นอุปนิสัยปัจจัยไป ก็ทรงพระมหากรุณาเสด็จไปแสดงธรรมหรือสนทนาธรรมด้วย นี่ก่อนบิณฑบาต หลังจากทำภัตกิจเสร็จแล้ว ทรงพักผ่อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง แล้วก็แสดงธรรมกับพระภิกษุ และตอนเย็นก็ทรงแสดงธรรมแก่อุบาสกอุบาสิกา พอตอนค่ำพระภิกษุก็ไปถามปัญหา พอตอนดึกเทวดาก็ไปถามปัญหา แล้วก็ทรงบรรทมเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเองตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อที่จะให้ผู้ฟังเกิดปัญญา

    เพราะฉะนั้น เราขณะนี้ก็กำลังฟังพระธรรม จากการที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน ก็เริ่มฟังไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าใจขึ้น เป็นการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันด้วย เพราะว่าธรรมสำหรับปฏิบัติในชีวิตประจำวันนี่เอง ไม่ใช่ว่าต้องไปสู่มุมหนึ่งมุมใด แต่เป็นการรู้ของจริงๆ ที่มีจริงๆ โดยการฟังเสียก่อนให้เข้าใจ อย่าเพิ่งปฏิบัติใดๆ ทั้งสิ้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    14 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ