โสภณธรรม ครั้งที่ 131


    ตอนที่ ๑๓๑

    สุ. เราขณะนี้ก็กำลังฟังพระธรรม จากการที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน ก็เริ่มฟังไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าใจขึ้น เป็นการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันด้วย เพราะว่าธรรมสำหรับปฏิบัติในชีวิตประจำวันนี่เอง ไม่ใช่ว่าต้องไปสู่มุมหนึ่งมุมใด แต่เป็นการรู้ของจริงๆ ที่มีจริงๆ โดยการฟังเสียก่อนให้เข้าใจ อย่าเพิ่งปฏิบัติใดๆ ทั้งสิ้น

    ถาม เพื่อนป่วย อยากให้ได้รับความสุขบ้าง โดยการแผ่เมตตาไปให้ เขาจะได้รับในลักษณะใด

    ท่านอาจารย์ อันนี้คงจะต้องพูดถึงเรื่องเมตตาที่เราจะต้องเจริญ และเพราะอะไรเราจึงเจริญเมตตาก่อนที่จะแผ่ ถ้าจิตของเราไม่มีความเป็นเพื่อน เราแผ่ไม่ได้ แผ่นี่หมายความว่ามีจนเต็มเปี่ยม จนสามารถที่จะกว้างออกๆ ๆ ขณะใดที่เราโกรธใครก็ตาม ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา เพราะเหตุว่าเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับโทสะ เวลาที่เราเห็นใครสักคนในที่นี่ เราเคยดูหมิ่น ดูถูก หรือว่ามีความสำคัญตนไหม ถ้าขณะนั้นกำลังดูถูกดูหมิ่น ขณะนั้นก็ไม่ใช่เมตตา

    เพราะฉะนั้นเมตตาควรใช้เมื่อเวลาพบใครก็ได้ พรหมวิหารทั้ง ๔ ไม่ใช่อยู่ในมุมมืด แต่ว่าเป็นขณะที่กำลังประสบพบสัตว์บุคคล

    ผู้ฟัง จะแผ่เมตตาให้เพื่อนฝูงญาติพี่น้องมีความสุข แต่เวลาเขารับจะอยู่ในลักษณะใด

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เหมือนกับการอุทิศส่วนกุศล ถ้ากุศลจิตเขาไม่เกิด เขาก็ไม่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นในขณะเดียวกันเราอาจจะไม่โกรธเขา แต่เขายังโกรธเรา เพราะฉะนั้นเราไม่เบียดเบียนเขา แต่อกุศลจิตของเขายังคิดร้ายต่อเรา เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของจิตของแต่ละบุคคล ซึ่งต้องเห็นโทษของกิเลส ตราบใดที่เขาไม่เห็นว่า อกุศลของเขาเป็นโทษ เขาก็ยังโกรธเรา ยังไม่ชอบเราอยู่นั่นเอง ทั้งๆ ที่ใจของเราไม่ได้ทำร้ายเขาเลย

    นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่า จิตต่างกัน เราเมตตาเขาได้ แต่เขาจะเมตตาเราหรือเปล่า แล้วแต่การสะสมของเขา เราไม่เบียดเบียนเขา แต่เขาจะคิดเบียดเบียนเราหรือเปล่า นั่นก็เป็นเรื่องจิตใจของเขา

    เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่เราจะเข้าใจสภาพธรรม คือ ศึกษาพระธรรมโดยตรงจากพระไตรปิฎก มีข้ออ้างอิงที่จะทำให้เราเข้าใจชัด

    ถาม ...

    ท่านอาจารย์ คือถ้าพูดในสิ่งที่มองไม่เห็นจะมีประโยชน์ไหม กับพูดถึงสิ่งที่เราสามารถพิสูจน์ได้ อย่างแข็ง อ่อน เราพิสูจน์ได้ ควรพิสูจน์ว่าดับจริงๆ หรือเปล่า ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ หรือเปล่า แทนที่จะไปสนใจสิ่งที่เรามองไม่เห็น

    ถาม

    ท่านอาจารย์ ปาฏิหาริย์มี ๓ อย่าง คือ อาเทสนาปาฏิหาริย์ อิทธปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์

    อิทธิปาฏิหาริย์ คือ การที่สามารถจะเหาะเหินเดินอากาศได้ แต่ต้องเป็นของจริง ไม่ใช่ของปลอม ทำในเวลาคนไม่เห็น แล้วก็มีข้าวทิพย์ใส่ในบาตรอะไรอย่างนั้น ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเหตุทุกอย่างต้องสมควรแก่ผล ผลที่จะทำอย่างนั้นได้จริงๆ จิตใจจะต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะอย่างที่ได้เรียนให้ทราบแล้วว่า ขณะนี้ไม่รู้ลักษณะของกุศลจิตและอกุศลจิต ซึ่งเกิดสลับกันแล้วละก็ไม่ถึงฌานจิต และการที่จะได้อิทธิปาฏิหาริย์ไม่ใช่เพียงปฐมฌาน ซึ่งก่อนจะถึงปฐมฌาน ก็จะต้องมีสมาธิเป็นลำดับขั้นที่จิตเป็นกุศลแล้วสงบขึ้น เพราะฉะนั้นก็ผ่านไปได้เลยเรื่องของการที่จะทำให้จิตสงบจนกระทั่งฌานจิตเกิด จนกระทั่งกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ เพราะเหตุว่าแม้ผู้ที่กระทำอิทธิปาฏิหาริย์ก็ต้องตาย แล้วก็ต้องเกิด แล้วจะมีประโยชน์อะไรกับการหลงทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ซึ่งไม่มีทางที่จะรู้จักสภาพธรรมจนกระทั่งดับกิเลสหรือดับทุกข์ได้

    กิเลสอยู่ที่จิต ขณะนี้มีกิเลสประเภทไหน ถ้าคนนั้นยังไม่รู้ตามความเป็นจริงก็ดับกิเลสไม่ได้ เหมือนอย่างจะดับไฟ ยังไม่รู้เลยว่าไฟอยู่ที่ไหน แต่จะดับไฟ แล้วจะดับไฟได้ไหม ฉันใด ขณะนี้จิตกำลังมีกิเลสประเภทไหนบ้าง ขณะไหนบ้าง ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่มีทางที่จะดับได้เลย เพราะฉะนั้นอิทธิปาฏิหาริย์ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเหตุว่าผู้ที่จะทำอิทธิปาฏิหาริย์ก็ต้องตายโดยมีกิเลส เมื่อปัญญาไม่เกิด

    สำหรับอาเทสนาปาฏิหาริย์ก็คือการที่สามารถที่จะดักใจ หรือรู้จิตของคนอื่น ซึ่งแม้ยังไม่ใช่อิทธิปาฏิหาริย์ ทุกคนก็พอจะเดาๆ ใจกันได้บ้าง ถ้าเป็นผู้อันคุ้นเคย เพราะฉะนั้นถ้ามีปาฏิหาริย์ขั้นนั้น ก็ต้องเป็นการอบรมเจริญสมถภาวนาที่ต้องรู้ลักษณะของจิตขณะนี้เอง คือ สติสัมปชัญญะต้องสมบูรณ์ และปัญญาต้องมีกำลังพอที่จะระลึกรู้ลักษณะของจิตได้ จึงจะบรรลุถึงฌาน แล้วก็น้อมฌานจิตนั้นไปทำการฝึกหัด เป็นหูทิพย์บ้าง เป็นตาทิพย์บ้าง เป็นเหาะเหินเดินอากาศบ้าง เดินบนน้ำบ้างเหล่านี้ ซึ่งแม้ในเรื่องของการรู้ใจของบุคคลอื่น การรู้วาระจิตจริงๆ ก็จะต้องอาศัยความชำนาญของตนเอง ในการที่สติสัมปชัญญะสามารถที่จะระลึกแม้จิตของตนเองได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นจึงสามารถจะระลึกรู้แม้จิตของคนอื่นได้อย่างรวดเร็วด้วย ซึ่งแม้จะระลึกอย่างนี้ ถ้ากิเลสยังไม่ดับหมด ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

    เพราะฉะนั้นปาฏิหาริย์ที่ ๓ คือ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์ คือ คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสัจจธรรม เป็นความจริง ซึ่งทำให้ผู้ฟังเริ่มเกิดปัญญาที่จะรู้จักตัวเอง และรู้จักโลก รู้จักสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกตามความเป็นจริง จนกระทั่งดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ก็เป็นเลิศ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เป็นสาวกทุกท่านต้องฟังพระธรรม เพราะเหตุว่าตนเองไม่ได้สะสมบารมีมาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง ก็เกิดปัญหาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จนิพพานไปแล้วอยู่ชั้นโน้นชั้นนี้ ต้องเรียนถามอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีท่านผู้หนึ่งผู้ใดกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังอยู่สวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใด แสดงว่าบุคคลนั้นไม่เข้าใจพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพราะเหตุว่าพระองค์ทรงตรัสรู้ว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้น สิ่งนั้นเป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดบนสวรรค์ เกิดในพรหมภูมิ หรือที่หนึ่งที่ใดก็ตาม สภาพของทุกข์ ก็คือเกิดดับ ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นจะใช้คำว่า “ปรินิพพาน” ไม่ได้ เพราะคำว่า ปรินิพพาน คือ ดับกิเลส หรือดับขันธ์โดยรอบ ไม่เหลือเลย ไม่มีการเกิดอีกเลย จึงจะเป็นปรินิพพานได้ ถ้าขันธ์ยังเกิดอยู่ หลังจากที่ตายแล้วยังอยู่บนสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใด คือ เกิดขึ้นที่หนึ่งที่ใด ขณะนั้นก็จะไม่ใช่ผู้ดับกิเลส ก็ยังคงเป็นสัตว์โลกประเภทหนึ่ง ซึ่งบางลัทธิเข้าใจว่าเป็นผู้สร้าง เพราะเหตุว่าเป็นผลของการเจริญฌาน ทำให้เกิดเป็นท้าวมหาพรหมในพรหมภูมิ ภูมิหนึ่งภูมิใด แต่พระพุทธเจ้าไม่ใช่อย่างนั้นเลย ทรงแสดงว่าสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับนั้นเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเมื่อปรินิพพาน คือ ดับเหตุที่จะให้มีการเกิดทั้งหมด ไม่มีการเกิดอีกเลย นั่นจึงจะเป็นความสงบอันแท้จริง เพราะเหตุว่าไม่ต้องเกิดดับอีกต่อไป ยากไหมการที่จะไม่ต้องเกิดดับอีกต่อไปอีก

    นามธรรมเกิดมาได้อย่างไร อย่างเมื่อวานนี้ก็เห็น วันนี้ก็ยังเห็นอีก ก็เป็นนามธรรม การคิดนึกเมื่อวานนี้ก็มี วันนี้ก็ยังคิดนึกอีก และพรุ่งนี้เมื่อเรายังไม่ตาย เราก็ต้องเห็นอีก และคิดนึกอีก และถึงแม้ว่าตายแล้วก็ไม่ใช่ตายไปเลยแบบปรินิพพาน ตราบใดที่ยังมีกิเลสก็ต้องเกิดอีก เมื่อเกิดอีกก็ต้องเห็นอีก ได้ยินอีก แล้วแต่ว่าจะเกิดที่ไหนตามกรรม ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมก็มีที่เกิดหลายชั้นที่เป็นสวรรค์ชั้นต่างๆ ที่เป็นผลของอกุศลกรรม เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็เห็น แต่ว่าเห็นอย่างสัตว์ดิรัจฉาน ไม่สามารถที่จะฟังหรือว่าดูแล้วก็เข้าใจ อย่างในขณะนี้จะมีสัตว์ดิรัจฉาน เป็นแมว เป็นนก ได้ยินเสียงอย่างนี้ แต่ก็ไม่สามารถจะเข้าใจว่า นี่เป็นเรื่องของธรรม นี่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ผลของกรรม มี ยังจะต้องเกิด แล้วแต่ว่าเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ถ้าจะไม่เกิด ก็มีทางเดียว คือ จะต้องดับกิเลส ดับความไม่รู้ ซึ่งมีตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ถ้าไม่ฟังพระธรรมแล้ว เกิดมาแล้วไม่รู้อย่างไร ก็ตายไปโดยไม่รู้อย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นเรื่องอบรมเจริญปัญญา ในพระพุทธศาสนามีคำสอนที่ทำให้ทุกคนอบรมเจริญความรู้ถูก ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งทุกคนรู้ว่าไม่เที่ยง เมื่อวานนี้ก็ไม่ใช่วันนี้ แต่ว่านามธรรมไม่มีใครสามารถจะดับได้ เพราะเหตุว่ามีอวิชชา ความไม่รู้ตราบใด ก็ยังจะต้องมีเหตุปัจจัยที่จะต้องให้นามธาตุเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นไปทุกภพทุกชาติ จนกว่าปัญญาสามารถที่จะรู้แจ้งแทงตลอด แล้วก็ละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่เพียงเราว่าเราคลาย แต่ยังมีเรา นี่คือยังไม่ได้คลาย และยังไม่ได้ดับ ต่อเมื่อใดปัญญาเจริญที่จะรู้ว่า เมื่อไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไรล่ะที่กำลังเห็น แต่ว่าเป็นอะไร ต้องบอกด้วย เพราะว่าสิ่งนี้มีจริงๆ ใช่ไหม

    การเห็นเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ อาศัยตาจึงเห็น เห็นอะไร เห็นสีต่างๆ เวลาที่หลับตาแล้วมีสีเดียวปรากฏ ขณะนี้ลองหลับ มีเห็นไหม สีเดียวยังเห็น เพราะว่ามีจักขุปสาท ถ้าคนตาบอด หลับตาหรือลืมตามีค่าเท่ากัน คือ จะไม่ปรากฏแม้เพียงแสงสว่าง หรือสีหนึ่งสีใด เพราะฉะนั้นเพียงสีหนึ่งสีใดที่ปรากฏเมื่อกระทบกับประสาทตา แต่ความหลงลืม สีต่างๆ ก็ลวงให้เราคิดนึกเป็นคนนั้นคนนี้ เป็นรูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็มีความยึดมั่นพอใจด้วย สีดอกกุหลาบต้องสีนี้ สีดอกไม้ชนิดนั้นก็ต้องสีนั้น ก็เป็นความคิดนึกเรื่องสี และก็เป็นความผูกพันต้องการสี

    นี่ถ้าปัญญารู้จริงๆ ถึงขณะที่เกิดเห็นแล้วดับไปจริงๆ แล้วจิตที่คิดนึกถึงสีต่างๆ เป็นเพียงความคิด ซึ่งความคิดก็ดับ เมื่อวานนี้เห็นอะไรก็คิดถึงเรื่องนั้น วันนี้เห็นเรื่องใหม่ ก็คิดเรื่องใหม่ พรุ่งนี้เห็นอะไร ก็คิดเรื่องนั้นต่อไป ชีวิตในสังสารวัฏฏ์ก็เป็นไปอย่างนี้ คือ ไม่ว่าเห็นแล้วก็คิดเรื่องนั้น ได้ยินแล้วก็คิดเรื่องนั้น หลงเพลินไปกับเรื่องราวต่างๆ ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับไป เสียงที่ปรากฏทางหูก็ดับไป แต่ปัญญายังไม่ประจักษ์ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เพียงแต่ฟังเรื่องนามธรรมแล้วก็เริ่มเข้าใจ ฟังเรื่องรูปธรรมแล้วก็เข้าใจ แต่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้นปัญญาก็จะต้องเพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ จนกว่าจะไม่ใช่เรา โดยเป็นนามธรรมที่เกิดแล้วดับ โดยเป็นรูปธรรมที่เกิดแล้วดับ

    เพราะฉะนั้น ปัญญานี้จะสามารถแทงตลอดในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ต้องอาจหาญร่าเริงที่จะเผชิญความจริง เพราะเหตุว่าเรายึดถือการเห็นว่าเป็นเรา เราชอบสิ่งที่เราเห็น เพราะฉะนั้นการที่จะละคลายความพอใจ ก็ต้องรู้ว่าเป็นเพียงสีเท่านั้นที่ปรากฏ สีของมหาภูตรูปที่อ่อนที่แข็ง สิ่งใดที่ปรากฏลักษณะที่อ่อนที่แข็งเมื่อกระทบ พอลืมตาก็เห็นสีของสิ่งนั้นเท่านั้นเอง เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏได้แต่ละทาง รสก็ต้องปรากฏทางลิ้น จะมองดูสักเท่าไรก็ไม่หวาน ไม่เค็ม ไม่เปรี้ยว จนกว่าจะกระทบลิ้น และจิตที่กำลังลิ้มรสที่พอใจกันนักหนาทุกมื้อ ก็เพียงเกิดขึ้นและก็ดับไป ต้องเข้าใจในการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม

    นี่คือวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น ตามความเป็นจริงของชีวิตปกติ การไถ่ถอนการยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็ในชีวิตปกติที่ปัญญาค่อยๆ เข้าใจและสติค่อยๆ ระลึก แล้วเพิ่มปัญญาความรู้ชัดขึ้น

    ผู้ฟัง ก่อนจะเข้าสู่นิพพาน มีลักษณะอย่างไร อย่างพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่นิพพาน สภาพจิตของท่านตอนนั้นเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ผ่านหลายขั้นตอนไปสู่สุดยอดคือปรินิพพานของพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าพระโสดาบันยังไม่ปรินิพพาน ยังดับกิเลสไม่หมด ยังต้องเกิด พระสกทาคามีก็ยังดับกิเลสไม่หมด พระอนาคามีก็ยังดับกิเลสไม่หมด ทำไมเราถึงจะไปสู่พระอรหันต์อย่างรวดเร็ว โดยเลยข้ามขั้นที่จะเป็นพระโสดาบัน

    ผู้ฟัง หมายความว่ากิเลสไม่มีแล้ว …

    ท่านอาจารย์ เมื่อไม่ประจักษ์ลักษณะของนิพพาน ไม่สามารถที่จะเดาหรือคาดคะเนได้ว่า นิพพานมีลักษณะอย่างไร เพียงแต่รู้ว่านิพพานต้องเป็นสิ่งที่มีจริงแน่นอน โดยที่มีผู้ประจักษ์แจ้งแล้ว คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประจักษ์แจ้งพระนิพพาน จึงได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยบุคคลทุกท่านต้องประจักษ์แจ้งสภาพของนิพพาน มิฉะนั้นแล้วจะดับกิเลสไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวัน เราประจักษ์แจ้งอะไรบ้าง สีสันวัณณะต่างๆ ทางตามี เพราะเห็นปรากฏ เสียง มี เพราะได้ยินปรากฏ กลิ่น มี เพราะได้กลิ่น รสต่างๆ มี เพราะลิ้มรส เย็นร้อนอ่อนแข็ง มี เพราะกระทบสัมผัส คือ เราพูดถึงสิ่งที่มีจริง ก่อนที่จะพูดถึงนิพพานว่า นิพพานก็มีจริง แต่เมื่อนิพพานยังไม่ปรากฏ ยังไม่ประจักษ์ เราก็จะต้องรู้สี รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะทุกวันๆ จนกว่าปัญญาของเราจะรู้ความจริงของสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส เหล่านี้ เมื่อใดจิตละคลายการยึดมั่น ความติด ความต้องการในสิ่งต่างๆ ซึ่งเกิดดับ

    เพราะฉะนั้นต้องประจักษ์การเกิดดับของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก่อน และไม่ใช่ว่าประจักษ์แล้วจะละคลายทันที วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นแสนที่จะต้องอบรมอย่างนานทีเดียว เมื่อได้ประจักษ์แล้ว ยังจะต้องถึงปัญญาที่คลายความที่เคยพอใจอย่างเหนียวแน่น เพราะเหตุว่าการพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ใช่ในชาตินี้ชาติเดียว ต่อให้ใครเจริญฌาน แล้วก็ไปเกิดเป็นพรหม เมื่อกิเลสยังไม่ดับ ก็ต้องกลับมาสู่ความพอใจรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนี้แหละ

    ด้วยเหตุนี้กว่าที่จะละคลายความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ปัญญาต้องประจักษ์แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏนี่เสียก่อน แล้วถึงจะทิ้ง คือ คลายความพอใจในขันธ์ไปสู่สภาพที่ไม่ใช่ขันธ์ เพราะว่าคำว่า “ขันธ์” เพราะเหตุว่าสิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้วดับ สิ่งนั้นสามารถที่จะจำแนกเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต สามารถที่จะจำแนกเป็นหยาบ เป็นละเอียด เป็นใกล้ เป็นไกล เป็นเลว เป็นประณีตได้ เพราะเหตุว่าแม้แต่ความรู้สึกก็ยังละเอียดมากทีเดียว จำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ เหล่านี้ได้ถึง ๑๑ อย่าง

    เพราะฉะนั้นนิพพานซึ่งเป็นสภาพที่ไม่เกิดจึงไม่ดับ เป็นอมตะ เพราะไม่ตาย เพราะเหตุว่าไม่มีการเกิดขึ้น ต่างจากจิต ต่างจากเจตสิก ต่างจากรัก ต่างจากโลภ ต่างจากดีใจ ต่างจากรูปใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นปัญญาจะข้ามไม่ได้เลย ที่ใครจะไปเดาว่า นิพพานเป็นอย่างนี้ นิพพานเป็นอย่างนั้น ก็เพียงแต่ว่าฟัง แล้วก็เข้าใจว่า มีสภาพธรรมที่โลภะสามารถจะไปยึดครอง จะไปเฉียดเข้าใกล้ หรือจะไปยินดีพอใจได้เลย เพราะเหตุว่าสภาพนั้นไม่เกิดขึ้นให้โลภะพอใจ แต่ว่าสิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้ว โลภะต้องการหมด วันนี้ต้องการสีไม่รู้กี่สี ต้องการเสียงไม่รู้กี่เสียง ต้องการกลิ่น ต้องการรส ต้องการสิ่งที่กระทบสัมผัสได้ตลอดไป จนกว่าจะประจักษ์แจ้งความจริง แล้วคลายเมื่อไร จึงจะน้อมไปสู่สภาพที่ไม่เกิด ซึ่งเป็นสภาพธรรมอย่างเดียวที่จะดับกิเลสได้ คือ นิพพาน

    เพราะฉะนั้นพระอริยบุคคลที่จะดับกิเลสได้ เพราะประจักษ์ลักษณะของนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่เกิด

    ผู้ฟัง ...

    ท่านอาจารย์ ง่ายอย่างไร ทุกอย่างต้องมีเหตุผล ถ้าจะกล่าวว่าง่าย คืออย่างไร ถ้าจะว่ายากคืออย่างไร

    ง่ายคือไม่ต้องไปแสวงหา ไม่ต้องไปตระเตรียม ไม่ต้องไปตลาด ไม่ต้องปีนภูเขา ไม่ต้องไปต่างประเทศ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมกำลังเป็นของจริงให้ปัญญารู้ได้ แต่ว่าแม้ว่าสภาพธรรมกำลังเผชิญหน้าปรากฏจริงๆ แต่ว่าอวิชชา หรือความไม่รู้ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้

    ที่ว่าง่าย คือ ไม่ต้องไปแสวงหา ที่ว่ายาก คือ เมื่อไรจะฟังแล้วเข้าใจว่า ปัญญาจะต้องเจริญรู้ของจริงๆ ขณะนี้

    ถาม ผมเองอยากจะทราบว่า นอกจากการบรรยายของท่านโดยตรงแล้ว มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาได้พิมพ์หนังสือแจกจ่ายไปทั่วราชอาณาจักร โดยบริจาค อันนี้เราแปลกใจหรือเกินว่าทุนรอนมาจากไหน...ได้ยินเรื่องที่ท่านบรรยายอยู่เสมอว่า ธรรมดับกิเลสได้อย่างไร คล้ายๆ กับปูพื้นไปเสียเลยว่า มีขอบเขตความหมายประการใดบ้าง

    ท่านอาจารย์ ขอบพระคุณ เพราะว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่มีประโยชน์มากทีเดียว เพราะว่าตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว คนก็คิดว่า ธรรมเป็นส่วนหนึ่ง ชีวิตหรือชีวิตประจำวันเป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา บางท่านก็บอกว่าวันนี้ไม่มีเวลาสำหรับธรรม หรือว่าไม่ว่างพอสำหรับธรรม เอาไว้เมื่อออกจากราชการแล้ว หรือว่าเวลาพักผ่อน ถึงจะสนใจธรรม แต่ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจว่า ธรรมคือธรรมดา ทุกอย่างในขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมดที่จะไม่ใช่ธรรมไม่มีเลย

    นี่เป็นเหตุที่ได้ศึกษาแล้วจะรู้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเรื่องชีวิตของทุกคนแต่ละวัน และละเอียดจนกระทั่งถึงแต่ละขณะ ที่จะไม่ใช่ธรรมนั้น ไม่มีเลย เพราะฉะนั้นก็แยกกันไม่ได้เลย เช่น ทุกคนมีความต้องการ ความอยากได้ ความสุข ทุกอย่างเป็นธรรมประเภทหนึ่ง ความต้องการทุกอย่างเป็นลักษณะของธรรมที่ทางภาษาบาลี เรียกว่า โลภะ เป็นสภาพความติดข้อง ความต้องการ และวันนี้ทุกคนก็คงจะมีความไม่พอใจบ้าง แม้ว่าจะเพียงเล็กๆ น้อยๆ เช่นความขุ่นเคืองใจนิดเดียว ก็เป็นสภาพธรรมที่ภาษาบาลีใช้คำว่า โทสะ หรือว่าเวลาที่เห็นคนอื่น แล้วก็มีจิตใจเอื้อเฟื้อ มีความเป็นมิตร มีความหวังดีเกื้อกูล ขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวท่าน บุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง คือ เมตตา

    เพราะฉะนั้นในแต่ละวันจะไม่พ้นจากสภาพธรรมเลยสักขณะเดียว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    14 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ