โสภณธรรม ครั้งที่ 134


    ตอนที่ ๑๓๔

    ผู้ฟัง ในวาระที่ท่านมาให้การอบรมครั้งนี้ เท่าที่ผมได้รับการอบรมหลายอย่างมา ไม่ซาบซึ้งถึงจิตใจเท่ามาพบท่านอาจารย์ในวันนี้ จะเป็นด้วยเหตุอย่างไรไม่ทราบ กระผมเป็นคนที่ยึดมั่นมากเกินไปหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ บางสิ่งบางอย่างขอเรียนให้พ่อแม่พี่น้องที่มาร่วมกันอบรมครั้งนี้ ให้คิดที่ผมจะถามต่อไปนี้ หรือท่านจะไม่คิดก็ตามแต่ท่าน พระกินหมากอย่างนี้ ถือว่าเป็นกิเลสอย่างหนึ่งหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ความพอใจมีหลายทาง ทางตาก็ชอบสิ่งที่สวยๆ ทางหูก็ชอบเสียงเพราะๆ ทางจมูกก็ชอบกลิ่นหอมๆ ทางลิ้นก็ชอบรสอร่อยๆ ทางกายก็ชอบสัมผัสสิ่งที่สบาย ผู้ที่จะละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีบุคคล เหลืออีกเพียงขั้นเดียวจะถึงความเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง ท่านตอบมา ผมไม่มีอะไรสงสัย แจ่มแจ้งชัดเจนที่สุด แต่ทีนี้ก็อยากจะถามเรื่องพระที่เกิดอกุศล เราจะแก้ไขได้ไหม หรือว่าเราก็ไม่ต้องแก้

    ท่านอาจารย์ ที่อกุศลเกิด อกุศลของใคร

    ผู้ฟัง อกุศลของตัวผมเอง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่อกุศลของพระ

    ผู้ฟัง พูดออกมาโดยชัดเจน คิดเหมือนกับผมก็มี หรือไม่คิดก็มี

    ท่านอาจารย์ มิได้ หมายความว่า พอเห็นพระแล้วเป็นอกุศล ที่พูดเกี่ยวกับพระ แล้วมีอกุศลนี่ ยังไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง คือของผมคิดถึงท่าน ท่านก็เป็นถึงขนาดนั้น แต่ทำไมถึงเป็นอยู่นะ

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เช่นเรื่องผู้หญิง ซึ่งเป็นสิ่งไม่สมควร

    ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เป็นกิเลส

    ผู้ฟัง แต่เรื่องวิปัสสนา สามารถรู้ได้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง แต่สำหรับเรา เราคิดไม่ถึง ในข้อนี้ทำไมท่านถึงทำ

    ท่านอาจารย์ ทำไมถึงทราบว่าท่านรู้

    ผู้ฟัง ก็คนส่วนมากทั่วประเทศ แต่ทำไมท่านถึงไม่คิดข้อนี้ ไม่มีคนเคารพทั่วประเทศ แต่ทำไมเราจึงมาครุ่นคิดคนเดียว

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เกี่ยวกับส่วนมาก เกี่ยวกับตัวเองที่จะเคารพใคร หรือไม่เคารพใคร ต้องเป็นผู้ที่มีเหตุผลด้วยว่า เคารพในลักษณะใด

    สมพร ความคิดเห็นแต่ละคนไม่เหมือนกัน เรื่องทานหมาก สูบบุหรี่ แม้แต่ทานอาหารหรือทานอย่างอื่น ถ้าเรามีความยินดีติดใจ ความยินดีติดใจนั้นจะเป็นเครื่องผูกพัน แต่ถ้าทานสิ่งที่จำเป็นเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป ไม่ยินดีติดใจ เพื่อจะศึกษาธรรม คือตามธรรมดาอย่างพระ โดยมากก็จะไม่ค่อยพูดถึงท่านหรอก เพราะว่าท่านก็พ้นจากทางโลกไปแล้ว การที่ท่านจะสูบบุหรี่หรือกินหมากอะไรเหล่านี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เรื่องกิเลสนี่ละยาก ใครๆ ก็ละยาก พระก็ละยาก ฆราวาสก็ละยาก เพราะว่าเรายังยินดีติดใขอยู่ แม้เห็น เห็นสีที่สวยงาม เราก็ยังชอบใจอยู่ นอกจากว่า เห็นเพียงสีเท่านั้น ยังไม่เห็นว่าเป็นวัตถุอย่างอื่น จิตเราก็คลายความยินดีได้ เฉยๆ ได้ แต่ถ้าเห็นว่าสีนี้สวยงาม หรือเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ จะห้ามความยินดีไม่ให้เกิดขึ้น ห้ามไม่ได้ นอกจากมาพิจารณาตอนหลังว่า สิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ก็ระงับไปได้นิดหน่อย แต่แท้จริง ต้องรู้ตามความเป็นจริง ต้องแยกออกแต่ละอย่าง อย่าให้รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เช่น เห็นคน เห็นสัตว์ ความจริงมันไม่ใช่ ที่ปรากฏครั้งแรก เป็นสีเท่านั้น เมื่อเห็นสีเราก็นึกถึงคน เพราะเคยจำได้ว่า นี้เป็นคน สัตว์ สิ่งของ ก็นึกเลยไป จริงๆ เห็นก็แค่เห็นสี สีนั้นก็คือรูป ตัวเห็นคือจิตนั่นเอง ที่กล่าวว่า ผู้รู้ จริงๆ คือ จิตรู้ จิตเห็น ถ้าเห็นสีแล้วไม่ชอบใจ โทสะก็เกิดขึ้นอีก โทสะหมายถึงความไม่สบายใจ ความขุ่นใจ จิตมักจะตกไป ๒ ทางคือ ยินดี กับ ยินร้าย (ความไม่ยินดี) ยินดีก็เป็นที่ตั้งของโลภะ ความไม่ยินดีเป็นที่ตั้งของโทสะ ถ้าไม่สามารถจะแยกรูป แยกนาม ไม่เข้าใจเรื่องรูปนาม ก็ไม่อาจพ้นจากกิเลสเหล่านี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ขั้นแรก ต้องเข้าใจและทำลายความเห็นผิด ทุกคนที่ยังเป็นปุถุชน ยังมีความเห็นผิด คือ เห็นสีทีไร ก็บอกว่าเห็นเป็นคน เห็นเป็นสัตว์ เมื่อเสียงปรากฏ ก็บอกว่าเป็นเสียงดนตรี เสียงคน เสียงสัตว์ เป็นต้น ที่เรียกว่าความเห็นผิด เพราะว่าผิดจากความเป็นจริง สีก็เป็นเพียงสีเท่านั้น ไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์ เสียงก็เป็นเพียงเสียงเท่านั้น ไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์ แต่เรานึกเลยไป สิ่งที่เกิดกับเราทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เกิดขึ้นเพราะเป็นวิบาก จากกรรมที่เคยทำไว้ ถ้าได้เห็นสีที่ชอบใจ เพราะเกิดจากกุศลกรรมที่เคยทำไว้ในอดีต แต่อย่าลืมว่า สิ่งที่ชอบใจก็เป็นที่ตั้งของตัณหา ดังนั้นต้องเข้าใจเรื่องรูป เรื่องนาม ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ ขอตอบเรื่องเมื่อสักครู่ เพราะรู้สึกว่าเป็นปัญหาของชาวพุทธ แล้วก็คงจะมีชาวพุทธอีกมากทีเดียวในกาลข้างหน้า ที่จะเกิดความข้องใจหรือไม่สบายใจ ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เวลาที่มีผู้ไปเฝ้าฟังพระธรรม แล้วได้เข้าใจพระธรรมแล้ว ก็น้อมประพฤติที่จะปฏิบัติตาม แต่พุทธบริษัทก็แบ่งออกเป็น ๔ คือ ภิกษุ ๑ ภิกษุณี ๑ อุบาสก ๑ อุบาสิกา ๑ ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว มีเป็นจำนวนมากที่ไม่บวชเป็นบรรพชิต เพราะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ไม่มีคุณธรรมของจิตระดับขั้นที่จะออกบรรพชาอุปสมบท เจริญปัญญาในเพศของบรรพชิต เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือท่านอุบาสิกาวิสาขา ท่านก็ยังครองเรือน โดยที่ท่านก็ยังเป็นพระโสดาบันบุคคล และพวกคฤหัสถ์ที่เป็นพระสกคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคลก็มีโดยไม่บวช แต่ก็มีหลายท่านทีเดียวที่พิจารณาเห็นว่า ชีวิตของท่านที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจ์จธรรมนั้น ท่านใคร่จะบำเพ็ญในเพศสมณะ เพราะฉะนั้นท่านเหล่านั้นก็บวช แล้วก็อบรมเจริญปัญญา แต่ว่ากิเลสที่มีอยู่ของแต่ละบุคคล ก็ทำให้มีการประพฤติสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร จนกระทั่งพระผู้มีพระภาคต้องทรงบัญญัติเป็นสิกขาบท เพื่อให้เห็นว่าเพศของบรรพชิตนั้นต่างกับคฤหัสถ์อย่างมากทีเดียว

    เพราะฉะนั้นสิ่งใดซึ่งคฤหัสถ์จะติเตียนได้ สิ่งนั้นทรงบัญญัติ และสิ่งใดที่ไม่เกื้อกูลต่อการที่จะให้กิเลสลดลง พระผู้มีพระภาคก็ทรงบัญญัติ

    เพราะฉะนั้นพระวินัยบัญญัติสำหรับบรรพชิตจึงมีมากถึง ๒๒๗ ข้อ เมื่อกาลสมัยล่วงมาจนกระทั่งถึงสมัยนี้ ชาวพุทธก็จะเห็นว่า การบวชเปลี่ยนแปลงไปจากการที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจจึงบวช เพราะเหตุว่ารู้จักตนเองว่า จะบำเพ็ญชีวิตที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต แต่ว่าในสมัยนี้บวชก่อนที่จะเข้าใจพระธรรม บางท่านไม่ได้ฟังเลย เรื่องของอริยสัจจ์ ๔ เรื่องของอนัตตา เรื่องของการที่จะขัดเกลากิเลส แต่มีศรัทธา อาจจะเป็นศรัทธาของตนเอง หรือศรัทธาของมารดาบิดาก็ได้ ที่ใคร่จะให้ผู้นั้นได้บวช แม้ว่าเพียง ๑๕ วัน ๑ พรรษาก็ตามแต่

    นี่ก็เป็นสมัยที่ต่างกัน ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน จนกระทั่งถึงกาลสมัยที่ล่วงมาถึง ๒,๕๐๐ ปี เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ผู้ที่ยังไม่เข้าใจพระธรรมแล้วบวช ย่อมไม่มีเครื่องผูกมัดที่จะให้ดำรงอยู่ในเพศบรรพชิตเท่ากับผู้ที่ฟังแล้วเข้าใจ แล้วรู้จักตัวเอง แล้วพร้อมที่จะสละเพศคฤหัสถ์จริงๆ

    ด้วยเหตุนี้แม้คฤหัสถ์เอง ก็ไม่ทราบพระวินัยบัญญัติ และแม้พระภิกษุที่ท่านบวชก็ยังไม่ได้ศึกษาธรรม ท่านเพียงแต่ท่องข้อที่ท่านจะต้องกล่าวขานเวลาที่ท่านบวชได้ และหลังจากที่ท่านบวชแล้ว ก็มีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้แนะนำว่า สำหรับเพศบรรพชิตแล้ว จะต้องนุ่งห่มอย่างไร จะต้องมีอาจาระกิริยามารยาทอย่างไร แต่ว่าสำหรับพระธรรมจริงๆ มีการศึกษาเป็นส่วนที่น้อยมาก เพราะเหตุว่ามักจะนิยมศึกษาภาษาบาลี ถูกต้องไหมอาจารย์

    สมพร ใช่ เพราะว่าภาษาบาลีเป็นภาษาธรรมของพระพุทธเจ้า แต่ว่าภาษาบาลี พวกเราเป็นคนไทยก็เข้าใจยาก แต่ที่ท่านอาจารย์พูดภาษาง่ายๆ อย่างทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อันนี้ก็มาจากภาษาบาลีนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ในเมื่อกาลสมัยต่อมา พระพุทธศาสนาก็ไปสู่ประเทศต่างๆ แล้วอย่างประเทศไทยเรา ก็ไม่ได้ใช้ภาษาบาลี เพราะฉะนั้นจุดมุ่งของพระภิกษุท่านเวลาที่ท่านบวชแล้ว ก็คือจะศึกษาภาษาบาลี เพื่อที่จะได้รักษาพระศาสนาไว้ เพราะเหตุว่าพระศาสนาเป็นภาษาบาลีที่มีข้อความชัดเจน และกระชับมาก ไม่ทำให้เคลื่อนไปตามภาษาต่างๆ ซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะแปลจากบาลีเป็นไทย หรือเป็นจีน หรือเป็นอังกฤษ หรือเป็นลาว เขมรต่างๆ ความหมายก็ยังคงกลับมาสู่ภาษาบาลีซึ่งเป็นหลักยึดไว้ ด้วยเหตุนี้ส่วนใหญ่พระภิกษุจึงมุ่งที่จะศึกษาภาษาบาลีเพื่อที่จะรักษาพระธรรม แต่ว่าภาษาบาลีเป็นภาษาที่ยากมาก จะใช้เวลาเพียง ๕ ปี ๑๐ ปี ไม่พอ ถ้าจะศึกษาจริงๆ ให้เก่งอย่างที่ท่านอาจารย์สมพรสามารถที่จะแปลอรรถกถา ซึ่งไม่ใช่ง่ายเลย เป็นเล่มๆ ออกมาเกื้อกูลต่อการที่จะเข้าใจพระไตรปิฎกได้ เพราะฉะนั้นนอกจากพระไตรปิฎกแล้ว ก็ยังจะต้องมีคำอธิบายซึ่งเป็นอรรถกถาด้วย ต้องใช้เวลาที่นานมากทีเดียว เมื่อชีวิตของบรรพชิตส่วนใหญ่มุ่งไปศึกษาภาษาบาลีแล้ว การที่จะศึกษาพระธรรมวินัยก็น้อยกว่าการศึกษาบาลี นี่เป็นสิ่งที่ปรากฏมาในแต่ละสมัย แม้ในสมัยนี้ โดยเฉพาะสำหรับการศึกษาพระอภิธรรมสำหรับบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็คงจะเริ่มไม่นานนี้เอง ประมาณสัก ๓๐ – ๔๐ ปี คงจะได้

    เพราะฉะนั้นก็เป็นที่เห็นใจว่า ถ้าท่านผู้ใดก็ตามได้ศึกษาพระวินัยปิฎก จะเห็นว่าพระภิกษุแม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ทำให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสมด้วยกำลังของกิเลส แม้ในสมัยนั้นยังมีได้ เพราะฉะนั้นเมื่อกาลเวลาผ่านมาจนถึงสมัยนี้ แล้วพระภิกษุมุ่งที่จะศึกษาทางด้านภาษาบาลี เพราะฉะนั้นกิเลสก็ยังคงเหมือนชาวบ้านธรรมดาที่เป็นปุถุชน

    เพราะฉะนั้นสิ่งใดซึ่งท่านเคยติดเคยคุ้นเคย เช่นหมากบ้าง บุหรี่บ้าง ท่านจะละได้อย่างไร ในเมื่อจุดประสงค์ของการบวชในครั้งโน้น บวชหลังที่ได้ฟังพระธรรมแล้วรู้จักตนเองว่าจะเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต แต่ในครั้งนี้บวชเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรจะอบรมฝึกฝนตนชั่วระยะหนึ่ง หรือว่าจะตลอดชีวิต ก็แล้วแต่บางท่าน แต่การที่ข้อประพฤติปฏิบัติจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ ก็ด้วยการเข้าใจพระธรรมละเอียดขึ้น

    เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่เข้าใจพระธรรมละเอียด ทุกคนยังมีกิเลสมากๆ ยังเป็นสภาพของปุถุชนอยู่ จนกว่าจะศึกษาพระธรรมและเข้าใจ และเห็นโทษของอกุศล และก็รู้ว่าเพศของบรรพชิตต่างจากเพศคฤหัสถ์อย่างมากทีเดียว

    ด้วยเหตุนี้เมื่อกาลสมัยผ่านมาจนกระทั่งเกือบจะหมดสิ้น คือ ถึงครึ่งหนึ่งแล้ว ๒,๕๐๐ ปี ครึ่งหนึ่งของพุทธกาล เพราะเหตุว่าการศึกษาก็ห่างไปตามลำดับ จนกระทั่งเกือบจะไม่เข้าใจว่าธรรมจริงๆ คืออะไร อริยสัจจธรรม หรือหนทางที่จะดำเนินไปรู้แจ้งอริยสัจจธรรมคืออย่างไร เพราะฉะนั้นปฏิปทาอาจาระของท่านก็ห่างจากพระวินัยมาโดยลำดับ แต่ว่าคงจะไม่ทุกรูป แต่ว่าแล้วแต่ท่านผู้ฟังจะเห็นส่วนมากส่วนน้อยอย่างไร นั่นก็เป็นเรื่องของพระภิกษุท่าน ซึ่งทำให้ผู้เป็นคฤหัสถ์ บางท่านอาจจะกังวลใจเหลือเกิน เพราะเห็นว่า พระภิกษุท่านไม่ได้เป็นพระภิกษุอย่างที่หวัง อย่างที่คิด อย่างที่พระวินัยบัญญัติกล่าวไว้ แต่ว่าทุกคนเกิดมาแล้ว มีชีวิตสั้นมาก แทนที่จะมุ่งไปจัดระเบียบคนอื่น หรือว่าคำนึงถึงจิตของคนอื่น ซึ่งไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ ควรคิดว่ามีทางใดที่คฤหัสถ์จะเกื้อกูลบรรพชิตแม้ในทางวินัย และบรรพชิตมีอะไรที่จะเกื้อกูลต่อคฤหัสถ์ได้ มีเมตตาจิตต่อกันที่จะเกื้อกูลกัน ถ้าท่านเป็นผู้ขาดโอกาสในการจะศึกษาพระธรรม คฤหัสถ์ที่ได้เข้าใจพระธรรมแล้ว ก็เกื้อกูลท่านโดยการให้โอกาส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหนังสือ ตำรับตำรา หรือเทป หรือการสนทนาธรรม เพราะแม้ในครั้งพุทธกาล ท่านจิตตคฤหบดี ท่านเป็นพระอนาคามีบุคคล เวลาที่พระภิกษุทั้งหลายไม่ได้สนทนาธรรมกับท่าน ท่านสนทนาธรรมกับพระภิกษุนั้น คือ ท่านขอโอกาสที่จะเรียนถามปัญหา และพระภิกษุในครั้งนั้น ท่านก็เป็นผู้ที่ตรง ปัญหาใดที่ท่านตอบไม่ได้ แต่ท่านรู้ว่าจิตตคฤหบดีเป็นผู้ที่เป็นธรรมกถึกสามารถที่จะตอบได้ ท่านก็ย้อนถามจิตตคฤหบดีเพื่อที่จะฟังพระธรรม นี่ก็เป็นการเกื้อกูลกันระหว่างบรรพชิตกับคฤหัสถ์

    เพราะฉะนั้นกิจของคฤหัสถ์ที่จะพึงมีต่อบรรพชิต นอกจากจะมีเมตตาจิตที่จะเกื้อกูลต่อท่าน ทั้งในด้านธรรมและด้านวินัยแล้ว ก็ควรที่จะนอบน้อมต่อเพศบรรพชิต ใช้คำว่า ต่อเพศบรรพชิต ไม่ใช่ต่อบุคคล เพราะเหตุว่าถ้าจะพิจารณาถึงปฏิปทาอาจาระของภิกษุบุคคล จะเห็นว่าบางรูปมีอาจาระที่ไม่น่าเลื่อมใส เพราะฉะนั้นเราไม่ส่งเสริมอาจาระที่ไม่น่าเลื่อมใส แต่ว่าไม่ใช่โดยการดูหมิ่น เพราะเหตุว่าในขณะนั้นจิตใครเป็นอกุศล ขณะที่กำลังดูหมิ่นบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม เพราะฉะนั้นที่ใช้คำว่า สังฆะ หรือพระสงฆ์ก็ตาม หมายถึงหมู่คณะของเพศบรรพชิต ไม่ใช่หมายความถึงพระภิกษุแต่ละรูป เพราะฉะนั้นถ้าบุคคลใดก็ตามเมื่อเห็นพระภิกษุรูปใด มีความนอบน้อมในเพศบรรพชิตเสมอกับท่านเป็นพระอริยบุคคล หรือว่าท่านมีข้อปฏิบัติสืบเนื่องมาจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ประทานอนุญาตให้คฤหัสถ์ได้บวชเป็นเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้นก็มีบรรพชิตที่เป็นพระอริยบุคคลผู้เลิศในทางต่างๆ เช่น ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระอานนท์ ท่านพระกัสสปะ ท่านพระอนุรุทธะ ล้วนครองเพศบรรพชิตอย่างนี้ ให้เราได้น้อมระลึกถึงพระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์ในครั้งอดีต

    นี่ก็จะทำให้จิตใจของเราอ่อนโยน และถ้าพระภิกษุบุคคลรูปใดมีการกระทำใดที่ไม่เหมาะสม เราก็อย่าส่งเสริม เพราะเหตุว่ามีชาวพุทธหลายท่านที่กำลังคำนึงถึงว่า ขณะนี้ชาวพุทธส่วนใหญ่มุ่งที่จะส่งเสริมทางด้านวัตถุ มีการสร้างวัด หรือสถานที่ใดๆ ก็ตามที่ใหญ่ที่สุด กว้างที่สุด สูงที่สุด หรืออะไรๆ ที่สุดอยู่เสมอ แต่ดิฉันก็ได้เรียนท่านผู้นั้นว่า บรรพชิตรูปหนึ่งรูปใดท่านไม่สามารถจะสร้างได้ ถ้าคฤหัสถ์ไม่มอบปัจจัยถวายท่าน

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่ความผิดของท่าน แต่เป็นความผิดของคฤหัสถ์ ถ้าคฤหัสถ์ไม่ต้องการให้มีการส่งเสริมด้านวัตถุ คฤหัสถ์ก็ไม่ถวายปัจจัย แล้วท่านจะสร้างได้อย่างไร แต่เวลาที่ท่านสร้างแล้ว ก็เป็นข้อติเตียนว่า ท่านสร้างสิ่งที่เป็นแต่วัตถุเหมือนกับการแข่งว่า สูงที่สุดบ้าง ใหญ่ที่สุดบ้าง

    ผู้ฟัง ท่านวิทยากรที่มาอบรม ผมรู้สึกปลาบปลื้มปีติเป็นที่สุด ขอให้ท่านคิดว่าเรามาอบรมในเรื่องธรรม ผมก็เป็นผู้หนึ่งที่มีจิตใจเป็นธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    15 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ