โสภณธรรม ครั้งที่ 135
ตอนที่ ๑๓๕
ผู้ฟัง ท่านวิทยากรที่มาอบรม ผมรู้สึกปลาบปลื้มปีติเป็นที่สุด ขอให้ท่านคิดว่าเรามาอบรมในเรื่องธรรม ผมก็เป็นผู้หนึ่งที่มีจิตใจเป็นธรรม แต่ว่าบางสิ่งบางอย่างที่ผมมาถาม ไม่ได้หมายความว่าจะคิดอย่างอื่น คิดแต่ว่าสิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ก็ให้พี่น้องชาวพุทธพึงรับไป ถ้าสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เราก็ไม่ต้องรับ เพราะกระผมเป็นกรรมการพุทธสมาคม ศาสนาเสื่อมเพราะบุคคล ๓ เหล่า เมื่อครั้งก่อน ๔ เหล่า คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แต่ปัจจุบันภิกษุณีไม่มีแล้ว ก็มีแต่ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ศาสนาไม่ได้เสื่อม เสื่อมอยู่ที่เรา
ท่านอาจารย์ ธรรมที่ได้ฟังจะมีประโยชน์เมื่อปฏิบัติ แน่นอน ไม่ว่าเรื่องของศีล หรือเรื่องของทาน
ผู้ฟัง ...
ท่านอาจารย์ บุญอยู่ที่ไหน ถ้าไม่รู้ว่าบุญอยู่ที่ไหน แล้วจะได้บุญมาก ไม่รู้หรอกค่ะ แล้วอาจจะไม่ได้ด้วย เพราะเหตุว่าไม่รู้ว่าบุญอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า บุญอยู่ที่ไหน ถ้าใครตอบได้ คนนั้นถึงจะรู้ว่า บุญมากหรือบุญน้อย แต่ถ้าตอบไม่ได้ ไม่ได้บุญค่ะ ถ้าจะได้บุญเดี๋ยวนี้ หมายความว่าต้องเกิดความเข้าใจถูกว่า บุญอยู่ที่ไหนเสียก่อน มีท่านผู้ใดจะตอบบ้างไหม
บุญอยู่ที่ไหน ก็รู้สึกว่าทุกคนก็มุ่งหวังบุญ เพราะฉะนั้นก็ต้องคิดถึงจะรู้ว่า เป็นบุญจริงๆ หรือเปล่า คำตอบที่ว่า บุญอยู่ที่ตัวเรา ไม่ผิดเลย ตอบให้ชัดไปกว่านั้นอีกว่า ที่ไหนในตัวเรา ที่จิตนะคะ เพราะฉะนั้นบุญก็คือจิตที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะนั่นเอง ขณะใดที่จิตใจมีเมตตา ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ขณะนั้นเป็นบุญแล้ว ขณะที่สละวัตถุให้บุคคลอื่น เพราะเหตุว่าในโลกนี้มีทั้งผู้ที่มีมากมายล้นเหลือ และก็มีทั้งผู้ที่ขาดแคลนยากไร้ กำลังลำบากมากทีเดียว เพราะฉะนั้นถ้าขณะใดประสบพบผู้ที่กำลังทุกข์ยากเดือดร้อน และมีจิตใจอ่อนโยน มีความเป็นมิตรต้องการที่จะเกื้อกูล ขณะนั้นจิตที่ปราศจากโลภะ ไม่ตระหนี่ แล้วก็สละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น ขณะนั้นเป็นบุญ
นี่คือธรรมปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ที่ว่าจะได้บุญ จะไปได้เมื่อไร แต่ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นบุญ ชอบไหมบุญอย่างนี้ ต้องการบุญมากๆ ใช่ไหม เวลาที่เห็นคนกำลังเดือดร้อนทุกข์ยาก ช่วยทันทีขณะใด ขณะนั้นเป็นบุญ แต่โดยไม่หวัง ไม่ใช่ว่าจะต้องได้บุญมากๆ ทำไปเพื่อที่จะได้บุญมากๆ แต่ว่าขณะใดถ้ากุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นบุญ จะมากหรือจะน้อย อยู่ที่กุศลจิตเกิดมาก หรือกุศลจิตเกิดน้อย แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อทำไปแล้ว ช่วยไปแล้ว ก็หวังผล ขณะที่กำลังหวังบุญ หรือต้องการบุญ ขณะนั้นไม่ใช่บุญ ขอให้ทราบไว้ด้วย ที่จะได้บุญมากหรือบุญน้อย ก็คือกุศลจิตเกิดมาก หรือกุศลจิตเกิดน้อย
เวลาใดที่โกรธใครก็ตาม ขณะนั้นเป็นบุญหรือเปล่า ไม่เป็นนะคะ เวลาที่ให้อภัย และเข้าใจเขาว่า ไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะโกรธ การโกรธนั้นไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลยทั้งเขาทั้งเรา เวลาที่เราโกรธ ก็ไม่ได้ทำให้คนที่เขาถูกเราโกรธ ดีขึ้น หรือว่าใจของเราในขณะนั้นก็รุ่มร้อน ขณะนั้นไม่ใช่บุญ เพราะฉะนั้นถ้ามีเมตตาและไม่โกรธ ขณะนั้นเป็นบุญหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่โกรธเป็นบุญ
ท่านอาจารย์ ไม่โกรธเป็นบุญ เพราะฉะนั้นก็รู้แล้วว่า บุญอยู่ที่ไหน วันหนึ่งๆ อยากจะได้บุญมากสักเท่าไร หาเอาเอง คือไม่ต้องไปทำอะไรให้ลำบากเลยสักนิดเดียว ขณะที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ขณะนั้นเป็นบุญ ไม่ใช่ถามว่า ทำอย่างนี้แล้วจะได้บุญมากไหม ทำอย่างนั้นแล้วจะได้บุญมากไหม นั่นคือการหวังผลบุญ ซึ่งไม่ใช่บุญ ความหวังผลนั้นจะต้องเป็นโลภะ เป็นความต้องการ
ผู้ฟัง คือเรานับถือศาสนานี้ ตอนเช้าเราก็ทำวัตรเช้า ตอนเย็นก็ทำวัตรเย็น....ที่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด หมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ ไพเราะเพราะว่าเป็นสัจจธรรมที่พิสูจน์ได้ทุกกาลสมัยแม้ในขณะนี้ อย่างเรื่องการเห็นก็เป็นสิ่งที่มีจริง และก็เป็นอนัตตาด้วย เพราะฉะนั้นคำที่ไพเราะ คือ คำจริง ถ้าเป็นคำไม่จริง เป็นคำเท็จ แม้เมื่อฟังดูเหมือนจะไพเราะ แต่ว่าเมื่อไม่จริงแล้ว ก็ย่อมไม่ใช่ความไพเราะ
ผู้ฟัง อยากจะรักษาศีล
ท่านอาจารย์ อยากจะรักษาศีลเพราะอะไร ทุกอย่างจะสมบูรณ์เมื่อรู้และเข้าใจเหตุผล แต่ว่าถ้าทำๆ ไปโดยไม่เข้าใจ จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะฉะนั้นแม้แต่จะรักษาศีล ก็ควรจะรู้ว่าเพื่ออะไร หรือเพราะอะไร ทำไมถึงจะรักษาศีล ถ้าตอบได้ก็เป็นกุศล ถ้าตอบไม่ได้ก็อยากได้ผลของศีล อยากได้บุญอีก
ศีล คือ การวิรัติทุจริต ธรรมดาของทุกคนที่จะไม่มีกิเลส เฉพาะพระอรหันต์เท่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อยังไม่ใช่พระอรหันต์ก็ต้องมีกิเลสมากน้อยตามลำดับขั้น ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นเป็นอกุศล นี่คือความหนาแน่นของปุถุชน ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว ก็จะเห็นกิเลสเป็นขั้นๆ ว่ากิเลสมีถึง ๓ ขั้น คือ ขั้นละเอียด ขั้นกลาง และขั้นหยาบ กิเลสหยาบก็คือในขณะที่กระทำทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา ซึ่งได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ นั่นคือกิเลสหยาบ เพราะว่าธรรมดาแล้วกิเลสอย่างกลาง ก็คือความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ทุกคนมีโลภะเสมอ ตั้งแต่ลืมตาจนหลับตา ทันทีที่ลืมตาต้องการอะไร แม้แต่การที่จะลุกขึ้นบริหารร่างกาย รักษาสุขภาพร่างกาย แปรงฟัน ล้างหน้า บริโภคอาหาร ทุกขณะขอให้ทราบว่าเป็นโลภมูลจิตทั้งนั้น ขณะที่ยังไม่ขุ่นเคืองใจ แต่ถ้าขณะใดเห็นสิ่งใด แม้จะฝุ่นสักเล็กน้อยตามซอกเก้าอี้ เครื่องเรือน เครื่องใช้ แล้วก็เกิดความไม่พอใจขึ้น นั่นก็คือลักษณะของอกุศลประเภทหนึ่ง คือ โทสมูลจิต
เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ จะเต็มไปด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วโลภะเป็นสมุทัยของสังสารวัฏฏ์ ที่จะทำให้ไม่มีการสิ้นสุดการเกิดขึ้นเลย เพราะว่ายังมีความพอใจที่จะเห็น มีความพอใจที่จะได้ยิน มีความพอใจที่จะได้กลิ่น ที่จะลิ้มรส ที่กระทบสัมผัส มีความต้องการสิ่งที่เห็น กลับไปบ้าน ดูเถอะ ทุกสิ่งในบ้านเป็นสิ่งที่พอใจทั้งนั้น ถ้าสิ่งไหนไม่พอใจ สิ่งนั้นจะทิ้งไป ไม่ให้อยู่ในบ้านอีกต่อไป
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ถ้วยแก้ว ภาชนะใดๆ ทั้งสิ้นในบ้านทั้งหมด เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจทั้งหมด นี่คือสมโลภะ คือ ความพอใจที่เป็นโลภะตามธรรมดา ผิดปกติที่ยังไม่ใช่ล่วงเป็นทุจริต
สมพร ที่อาจารย์พูดนั้นถูกแล้วนะ เพราะว่าทุจริตถ้าเกิดทางกาย เช่นเราเบียดเบียนเขา จะตีเขา ทำร้ายด้วยมือเป็นต้น เรียกว่าเป็นกิเลสอย่างหยาบ ออกมาทางกายมีกำลังแล้ว ถ้าเกิดอยู่แต่ในจิตใจ ทำจิตใจเรารุ่มร้อน เรียก ปริยุฏฐานะ คือ มันกลุ้มรุมจิต ปริยุฏฐานะ แปลว่า กลุ้มรุมจิตให้ไม่เป็นตัวของตัวเอง เป็นไปตามอำนาจของกิเลส รายละเอียดนี้เป็นเรื่องยาก มีปัจจัยจึงเกิดขึ้น ไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในขณะนี้ ก็พอจะทราบได้ว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ขณะนี้ เรื่องของจิตเป็นเรื่องพิสูจน์ทันที ขณะที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เป็นกุศล ขณะใดที่ไม่ใช่กุศล ขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นการรักษาศีลก็เพื่อที่จะวิรัติอกุศลที่มีกำลังแรง ที่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน เวลาที่เกิดโลภะมากๆ เกินสภาพปกติ เพราะเหตุว่าทุกคนมีโลภะ ทุกคนแสวงหาทรัพย์สินเพื่อที่จะได้สิ่งที่พอใจได้ตามปกติ ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน นั่นก็เป็นเรื่องของสมโลภะ แต่เวลาที่ความโลภเกิดมากขึ้นจนกระทั่งกระทำทุจริตเพื่อให้ได้สิ่งนั้นๆ มา นั่นก็ทำให้คนอื่นเดือดร้อนแล้ว
เพราะฉะนั้นการรักษาศีล คือ การเห็นโทษของกิเลสหยาบ แล้วก็วิรัติ คือ ละเว้นทุจริตกรรม นั่นคือการรักษาศีล
พอที่จะเข้าใจได้ว่า รักษาศีลเพราะอะไร เพราะเห็นโทษของอกุศลอย่างหยาบ ที่จะทำให้คนอื่นและตนเองเดือดร้อน
ผู้ฟัง การรักษาศีลอุโบสถให้บริสุทธิ์นี้ ทำอย่างไร
ท่านอาจารย์ รักษาอุโบสถศีลเพราะต้องการอะไร
ผู้ฟัง ต้องการบุญ
ท่านอาจารย์ ก็ไม่พ้นจากความต้องการบุญ แต่ถ้าคิดหรือเข้าใจว่า ศีล ๕ ยังไม่พอเลย ควรที่จะขัดเกลากิเลส คือ ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะให้ยิ่งกว่านั้น ถ้าสามารถจะกระทำได้ แม้ว่าเพียงวันหนึ่งหรือคืนหนึ่ง ก็ยังดีที่จะสะสมเป็นอุปนิสัย ถ้าเข้าใจอย่างนี้ถึงจะถูกนะคะ แต่ไม่ใช่ไปเพราะเหตุว่าได้ยินได้ฟังว่า ผู้ที่รักษาอุโบสถศีลแล้วได้ผลของบุญมาก นั่นก็คือการต้องการผลของบุญ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญา ก็จะเห็นกิเลสของตนเองแล้วก็รู้ว่า วันหนึ่งๆ ตลอดชีวิตมามีความติดความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นการรักษาอุโบสถศีลเป็นการขัดเกลายิ่งกว่าขั้นของศีล ๕ แม้ว่าเพียงชั่วคืนหนึ่งหรือวันหนึ่ง ถ้าจะกระทำได้ นั่นจึงควรเป็นจุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีล แต่ว่าบางคนอาจจะรักษาแล้วก็นอนเสีย เพราะว่าจะได้ไม่ไปล่วงศีล อันนั้นก็ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าต้องเข้าใจจุดประสงค์จริงๆ ว่า เพื่อขัดเกลากิเลส ยิ่งมีศีลมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการขัดเกลากิเลสมากเท่านั้น เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ ถ้าสามารถที่จะรักษาศีลเพียง ๕ ข้อให้สมบูรณ์ นั่นก็เรียกว่าเป็นการกระทำที่กระทำได้ยาก แม้การเป็นคฤหัสถ์ที่ดีก็ไม่ง่ายเลย ถ้าจะพิจารณาว่ามีศีล ๕ เป็นนิจ ครบถ้วนหรือไม่ เพราะว่าตามความเป็นจริงผู้ที่จะรักษาศีล ๕ ได้สมบูรณ์นั้น คือ พระอริยบุคคล
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160