โสภณธรรม ครั้งที่ 138
ตอนที่ ๑๓๘
ท่านอาจารย์ สำหรับดิฉันเอง การที่เริ่มต้นศึกษาพระพุทธศาสนา เพราะยังไม่รู้ว่า พระพุทธศาสนาคืออะไร ได้เคยกราบไหว้บูชาพระรัตนตรัย แต่เมื่อไม่เข้าใจว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร ก็จะทำให้เข้าใจในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้
เพราะฉะนั้นเมื่อได้ชื่อว่า นับถือพุทธ ก็ควรที่จะได้รู้ว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไรด้วย นี่เป็นเหตุที่ทำให้ศึกษาพระพุทธศาสนา
และเมื่อศึกษาพระพุทธศาสนาแล้วก็รู้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นเป็นสัจจธรรม เป็นธรรมที่มีจริงที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ นี่ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่าคำสอนอื่น เพราะเหตุว่าคำสอนอื่นไม่ได้กล่าวถึงเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ และคำสอนของพระผู้มีพระภาคนั้นทำให้ผู้ศึกษารู้จักตัวเอง มีใครบ้างที่จะสอนให้คนอื่นรู้จักตัวเองโดยถ่องแท้ทุกขณะจิตได้ ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะคิดนึก จะเกิดความโลภ เกิดความโกรธ หรือจะเกิดความเมตตากรุณาต่างๆ ไม่มีผู้ใดสามารถจะแสดงความจริงที่แทงตลอดไปถึงการสะสมของจิตของแต่ละบุคคลได้ และยังชี้ให้เห็นโทษของอกุศล และให้เห็นประโยชน์ของกุศล ทำให้ปัญญาเจริญขึ้นที่จะรู้ว่า กิเลสคืออะไร และมีมากน้อยแค่ไหน จนกระทั่งสามารถที่จะให้ปัญญา ความรู้ถูกที่เพิ่มขึ้นนั้น ละคลายกิเลสได้
แต่การศึกษาพระธรรม จะทำให้เป็นผู้ที่เข้าใจธรรมโดยละเอียด โดยถูกต้อง แล้วก็เห็นกิเลสของตนเอง แม้ใครจะชื่นชมโสมนัสสักเท่าไรก็ตาม ผู้ที่ยังมีกิเลสก็รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า ยังมีกิเลสอยู่ ไม่ได้หลงไปตามคำชม หรือสักการะ หรือสรรเสริญ เพราะเหตุว่ารู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะใดอกุศลจิตเกิด ขณะใดกุศลจิตเกิด
นี่ก็เป็นการที่พระธรรมจะประคับประคองชีวิตของบุคคลที่เข้าใจพระธรรม และปฏิบัติตามพระธรรมให้ละคลายอกุศลได้ โดยที่ถ้าเป็นคำสอนอื่น ก็จะไม่สอนเรื่องของเหตุและผล และสภาพธรรมที่มีจริงที่พิสูจน์ได้
ถาม อาจารย์เห็นด้วยไหมว่า ต้นไม้ขาดรากก็จะตาย ศาสนาถ้าขาดพิธีกรรมก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ทีนี้ถ้าศาสนามีพิธีกรรมมากมายเกินไป ก็จะไม่ถึงแก่นแท้ของศาสนา
ท่านอาจารย์ ที่กล่าวเมื่อกี้ว่า สุขทุกข์อยู่ที่ใจ ขอเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย ไม่ทราบว่าจะเห็นด้วยหรือเปล่าว่า อยู่ที่กิเลส ถ้ากิเลสมากก็ทุกข์มาก ถ้ากิเลสน้อยก็ทุกข์น้อย เพราะฉะนั้นจะทุกข์มากทุกข์น้อยนั้นขึ้นอยู่กับกิเลสมากหรือกิเลสน้อย เพราะเหตุว่าความทุกข์มีหลายอย่าง ถ้าเป็นความทุกข์กาย แม้แต่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอริยสาวกทั้งหลายก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรมที่เป็นอกุศลในอดีตที่ได้กระทำแล้ว เมื่อมีกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ย่อมเป็นทางที่จะให้เกิดทุกข์กายได้ทั้งสิ้น ที่ศีรษะก็เป็นทุกข์ได้ ที่ปลายเท้าก็เป็นทุกข์ได้ ในเมื่อมีกายอยู่ นั่นก็เป็นเรื่องของทุกข์กาย แต่ผู้ที่ไม่มีกิเลส แม้ว่าจะมีทุกข์กาย ก็ไม่เดือดร้อนเลย
เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลก็มีทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ มากน้อยตามกิเลส
เพราะฉะนั้นที่ว่าต่อไปเรื่องพิธีกรรมต่างๆ ที่จริงแล้วถ้ากุศลจิตเกิดขณะใด ปัญญาเกิดขณะใด จะเข้าใจสิ่งซึ่งเรียกว่า พิธีกรรมพอสมควร แต่ไม่ใช่หมายความว่าต้องติด หรือว่าไปยึดมั่นแบบขาดเหตุผล
ถ้าเป็นศาสนาที่ขาดเหตุผล ก็จะกล่าวว่า บ้านไหนปลูกดอกดาวกระจาย ก็จะทำให้บ้านแตกสาแหรกขาด เพราะว่ากระจายไปหมด นี่เพียงดอกไม้ ก็คิดว่ามีอิทธิพลที่สามารถทำให้ความสงบสุขในบ้านแตกได้ หรือว่าดอกลั่นทมก็ไม่กล้าปลูก เพราะเหตุว่าชื่อ ลั่นทม ก็คงจะเต็มไปด้วยความทุกข์ความโศกต่างๆ นี่ก็เป็นเรื่องของชื่อที่ขาดเหตุขาดผล
เพราะฉะนั้นนี่ก็จะแสดงให้เห็นว่า เมื่อไม่เข้าใจเหตุผลแล้ว ความคิดความเชื่อความรักตัว ก็ทำให้เกิดแม้การจะปลูกต้นไม้ดอกไม้ ก็จะต้องปลูกต้นมะยม หรือต้นดาวเรือง ไม่ปลูกต้นลั่นทม ซึ่งในคำสอนของพระพุทธศาสนาไม่มีเลย
สำหรับที่ใช้คำว่า “พิธีกรรม” ก็อาจจะหมายความถึงขนบธรรมเนียมระเบียบซึ่งทำให้เรียบร้อยขึ้นเท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่หมายความว่า ถ้าไม่ทำแล้วก็จะเกิดโทษ เพียงแต่เมื่อทำแล้ว ก็ทำให้เรียบร้อยเท่านั้นเอง จะยกตัวอย่างบ้างไหม เพื่อเราจะได้พูดถึงพิธีกรรมเป็นเรื่องๆ ว่าควรหรือไม่ควรอย่างไร
ผู้ฟัง เรายังแยกพิธีกรรมออกจากกันไม่ได้ ทั้งทางพุทธและทางพราหมณ์ ใจเราไม่ยอมรับว่า มีพิธีทางพุทธแล้วก็มีพิธีทางพราหมณ์
สมพร พิธีกรรมเกิดขึ้นภายหลัง เดิมทีไม่มี พระพุทธเจ้าตรัสรู้ครั้งแรก ไม่มีพิธีกรรมอะไรเลย เช่นไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ ก็บอกให้พระปัญจวัคคีย์เชื่อถือเสียก่อนว่า พระองค์ตรัสรู้แล้ว ก็แสดงธรรมเลย ไม่ต้องบอกว่า ต้องทำพิธีกรรมต่างๆ ไม่มีในตอนนั้น คือเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว แล้วก็โปรดสาวกมากมาย เมื่อมีพระสงฆ์มากมายเกิดขึ้น พิธีบางอย่างซึ่งจำเป็น เพื่อที่จะรวบรวมให้เป็นกลุ่ม เป็นพวกเดียวกัน ก็ทรงบัญญัติพระวินัย ถ้าเราจะเรียกว่า พระวินัยเป็นพิธีกรรม ก็เรียกได้ แต่ว่าพิธีกรรมเราต้องเข้าใจ ถ้าทำโดยความงมงาย อันนั้นก็ไม่เหมาะสม ถ้าทำเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม และเราต้องเข้าใจด้วยว่า อันนี้หมายความว่าอย่างไร ถ้าเราเข้าใจทุกแง่ทุกมุมแล้ว ไม่เป็นปัญหา ที่เขาบอกว่า ศาสนาเราเหมือนต้นไม้ มีแก่น มีเปลือก มีกระพี้ ต้นไม้มีความสำคัญอยู่ที่แก่น แต่ว่าแก่นอย่างเดียวก็อยู่ไม่ได้ ก็ต้องอาศัยรากบ้าง เปลือกบ้าง กระพี้บ้าง ใบบ้าง ประชุมกันอยู่ ต้นไม้จึงจะดำรงอยู่ได้ฉันใด ศาสนาเราก็เหมือนกัน ต้องมีพระวินัย พระสูตร จะมีแต่เฉพาะพระอภิธรรมก็ดำรงอยู่ไม่ได้
เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจเรื่องพิธีกรรมดีแล้ว ถ้าเราไม่เข้าใจก็ต้องศึกษา อันนี้เป็นเพียงพิธีกรรม ไม่สำคัญเท่าไร มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ข้อสำคัญ คือ จิตเราถ้าเกิดขึ้นเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว อันนี้สำคัญที่สุดเลย พิธีกรรมในตัวเรา เพราะถ้าจิตเราขณะนี้เศร้าหมองด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นไม่ถูกต้อง ควรละเสีย ถ้าจิตเราผ่องใส อันนั้นเป็นพิธีกรรมที่ดี ควรประกอบ
ท่านอาจารย์ คงจะข้องใจเรื่องพิธีพุทธ พิธีพราหมณ์ ใช่ไหมว่า ทำไมต้องมีทั้ง ๒ อย่าง ไม่ต้อง ไม่มีความสำคัญอะไรเลย ยิ่งถ้าเป็นผู้ที่มีเหตุมีผลแล้ว ก็จะตัดสิ่งซึ่งใจเคยผูกพันว่าต้องมี เพราะว่าส่วนใหญ่บางคนที่ยังต้องมีพิธีกรรมต่างๆ อยู่ เพราะความกลัว เพราะความรักตัว ที่ชีวิตจะเคลื่อนไหวไปทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ มีจุดแกนกลางก็คือ ความรักตัว ตัวตนที่ยังยึดมั่นอยู่ทำให้ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์แก่ตัว คิดเสียว่า ถ้าทำอย่างนี้ ไม่ทำอย่างนั้น เดี๋ยวตัวจะมีโทษ เพราะฉะนั้นก็เลยทำเสียหมดทุกพิธีกรรม เพื่อว่าตัวก็จะได้สบายๆ พ้นจากโทษภัยต่างๆ แต่ถ้าเป็นผู้หนักแน่นในเหตุผลจริงๆ จะไม่คล้อยตามพิธีกรรมซึ่งไร้สาระ หรือปราศจากเหตุผล
ที่บ้านของดิฉันไม่มีศาลพระภูมิ ไม่ทราบคิดว่าศาลพระภูมิเป็นพิธีกรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ คิดว่าอย่างนั้น โดยที่ดิฉันระลึกถึงคุณของเทพ เพื่ออะไร เพื่อจะได้รู้ว่า ความดี กุศลกรรมให้ผลทำให้ปฏิสนธิเป็นเทวดา เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นเทพ มีคุณความดีที่เราระลึกถึงได้ เช่นเดียวกับการระลึกถึงคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณของพระอริยสงฆ์ คือ ระลึกเพื่อเป็นอนุสติเพื่อจะประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่ว่าเมื่อผู้ใดเป็นเทพแล้ว เขาก็เป็นเทพไป แล้วเราก็มานั่งบูชา หรืออาจจะมานั่งอ้อนวอนขอสิ่งต่างๆ ซึ่งท่านไม่สามารถจะบันดาลให้ได้เลย บุคคลใดทำกรรมอย่างใด ต้องได้รับผลของกรรมอย่างนั้น ช้าหรือเร็ว ไม่ใช่กรรมของคนอื่นจะมาให้พ่อ ให้แม่ ให้ลูก ให้ญาติ ให้พี่น้อง ไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นการเข้าใจในเหตุในผลอย่างนี้ก็จะเป็นผู้ที่ประกอบกุศลกรรม แล้วระลึกถึงกุศลกรรมของเทพ เพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เพราะเหตุว่าแม้ผู้ที่จะเป็นเทวดาได้ ก็ต้องมีคุณธรรมของเทพด้วย จะต้องมีความกตัญญู จะต้องมีความอ่อนน้อม จะต้องมีอะไรหลายอย่างซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แม้ว่าจะไม่ระลึกถึงเทพ ก็ยังกระทำความดีได้ แต่เมื่อระลึกถึงเทพด้วยความนอบน้อมในคุณความดี แต่ไม่ใช่กลัวว่า ถ้าไม่นับถือแล้ว เทพจะมาหักคอ หรือจะมาอันตราย ไม่เป็นเช่นนั้นเลย และสถานที่อยู่ของเทพก็ไม่จำเป็นว่า เราทำให้ เพราะเทพต้องมีกรรมของเทพซึ่งเทพจะมีที่อยู่ของเทพ ไม่ใช่เทพจะต้องอาศัยสิ่งที่มนุษย์ทำให้เป็นที่อยู่
ไม่ทราบมีพิธีกรรมอะไรอีกหรือเปล่า แต่สำหรับดิฉันเองเป็นผู้ที่ไม่รู้เรื่องพิธีกรรมต่างๆ เพราะฉะนั้นเวลาถามก็จะไม่ทราบว่า หมายถึงพิธีกรรมอะไรบ้าง แต่ที่ได้ยินทั่วไป ก็จะเป็นเรื่องศาลพระภูมิ
ศุกล คือคงจะมีญาติผู้ใหญ่ที่ทราบข่าวจากว่าหลานได้รับอุบัติเหตุ แล้วก็คิดว่า ยังจะมีเคราะห์กรรมอะไรอีกหรือเปล่า เมื่อไปเข้าทรง ผู้ที่เข้าทรงก็บอกว่า เคราะห์กรรมที่เกิดครั้งนี้ยังไม่หมด จำเป็นต้องมีการสะเดาะเคราะห์เพิ่มเติม โดยการปล่อยโคกระบือและปล่อยปลา ซึ่งเมื่อคุณกาญจนาทราบเช่นนั้นก็สั่งให้จัดการทำเลย อยากจะเรียนถามว่า การกระทำในลักษณะเช่นนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยน หรือทำด้วยมีเมตตา เพราะถ้าคิดว่ายังมีเคราะห์กรรมเหลืออยู่ก็อยากจะรีบให้ชีวิตแก่สัตว์อื่นเป็นการตอบแทนกัน ถ้าคิดว่าถึงจะมีเคราะห์กรรมหรือไม่มีเคราะห์กรรม แต่ถ้าเป็นการให้ชีวิตแก่สัตว์อื่น ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่
ท่านอาจารย์ คือรู้สึกว่า เรื่องการศึกษาพระธรรมกับการฟังพระธรรมเพื่อปฏิบัติ เราจะต้องมีความมั่นใจในเหตุในผลจริงๆ และเราต้องรู้จุดประสงค์ด้วยว่า เราศึกษาเพื่ออะไร อย่างเราศึกษาเพื่อให้เข้าใจเรื่องของกรรมว่า กรรมต้องเป็นเหตุให้เกิดวิบากซึ่งเป็นผล และกรรมก็ไม่ใช่เรามีชาตินี้ชาติเดียว อย่างทุกคนเกิดมาต้องเพราะกรรม กรรมจำแนกให้เราต่างกันทั้งตั้งแต่เกิดจนกระทั่งระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ให้เห็น ให้ได้ยิน ให้ได้กลิ่น ให้ลิ้มรส ให้กระทบสัมผัสต่างๆ กันไป แล้วก็ให้ตายต่างๆ กันด้วย เวลาที่เราตายเพราะกรรมที่ทำให้จุติจิตเกิด ถ้ากรรมยังไม่ให้จุติจิตเกิด ในระหว่างนี้กรรมก็ทำให้เราเห็น เช่นในขณะนี้ที่เรากำลังเห็น กรรมก็ทำให้เราได้ยินเสียงนี้ในขณะที่เรากำลังได้ยิน เพราะเหตุว่ากรรมนั้นยังไม่ทำให้จุติจิตของเราเกิด
เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือว่าปวดเจ็บทุกข์ทรมานอย่างไร ก็ต้องมีกรรมที่ได้ทำแล้วเป็นเหตุที่จะให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาที่ใครก็ตามกำลังได้รับผลของกรรมที่ได้ทำแล้ว อย่างเช่นอุบัติเหตุ หรือว่าปวดเจ็บต่างๆ เหล่านี้ เขาควรที่จะได้ระลึกถึงว่า ปวดเจ็บมาจากไหน ไม่มีใครทำให้เลย สมมติว่ามีขโมยเข้าบ้านคุณกาญจนา แล้วก็ขู่เข็ญจับมัดประทุษร้ายคุณกาญจนา คุณกาญจนาก็คิดว่า เพราะขโมยหรือโจรคนนั้นทำ แต่เพราะเหตุว่าไม่ใช่โจร ไม่ใช่ขโมย เป็นอุบัติเหตุ เพราะฉะนั้นคุณกาญจนาก็น่าจะคิดได้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นโจรหรือไม่ใช่โจร อย่างที่คุณสุชาดานึกออก บอกว่า เมื่อมีร่างกายก็ต้องมีทุกข์ ใครมีร่างกายแล้วไม่มีทุกข์บ้าง มีร่างกายก็ต้องปวดต้องเจ็บ ต้องเมื่อย จะน้อยจะมาก ที่ตา ที่หู ที่แขน ที่ขาก็แล้วแต่ อันนี้เป็นเครื่องที่จะทำให้ได้รับผลของกรรมอยู่แล้ว ถ้าสบายขณะใดก็เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าไม่สบายขณะใดก็เป็นผลของอกุศลกรรม
ถ้าทุกคนมีความมั่นใจในเรื่องเหตุผล คือในเรื่องของกรรมและในเรื่องของวิบากจริงๆ ความหวั่นไหวในเหตุผล ในพระธรรมของเรามากหรือน้อย ถ้าเราเป็นคนที่ไม่มั่นคงในพระธรรม เราก็กลัวแล้ว รีบจะต้องทำอย่างนั้น รีบจะต้องทำอย่างนี้ เพราะความรักตัว เพราะว่าทุกคนรักตัวมากที่สุด ที่ทุกคนไม่อยากตาย หรือกลัวตาย ก็เพราะเหตุว่ายึดถือตัว ไม่ได้รู้เลยว่า เป็นจิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ
ถ้าจะพูดถึงความจริงที่เป็นปรมัตถ์ ทุกคนกำลังเกิดและตาย เพราะว่าจิตเกิดแล้วดับ ไม่มีจิตของใครเลยซึ่งเกิดแล้วไม่ดับ ไม่ว่าจะเป็นในภพภูมิไหน อย่างคนที่เขาตายจากเราไปแล้ว ก็ไม่ใช่เขาจะไปไหน ปฏิสนธิจิตเขาเกิดแล้วก็ดับ ภวังคจิตเขาก็เกิด แล้วจักขุวิญญาณเขาก็เกิด โสตวิญญาณเขาก็เกิด ก็เหมือนกันทั้งนั้นแหละ เพียงแต่สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น
เพราะฉะนั้นถ้ากรรมจะทำให้จุติจิตของเราเกิด เราก็ไม่ได้สูญอะไร เพราะเรามีปฏิสนธิจิตที่จะเกิดต่อ เพียงแต่ว่าเราหมดสภาพความเป็นบุคคลนี้ แต่ไม่รู้ว่า เราจะเกิดเป็นบุคคลไหน เหมือนกับชาตินี้เราก็ไม่รู้เลยว่า ตอนที่เราจะตายชาติก่อนว่า เราจะเกิดเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้
เพราะฉะนั้นเราต้องเป็นคนที่ไม่หวั่นไหวจริงๆ ในเรื่องกรรม ในเรื่องผลของกรรม และความไม่หวั่นไหว จะทำให้เราพ้นจากความที่ไปติดในพิธีกรรม ซึ่งไม่ใช่เหตุและผล อย่างเรื่องของการปล่อยสัตว์ รู้สึกว่าจะทำกันแบบพิธีกรรมหลายประการ คือ ประการที่ ๑ เพื่อสะเดาะเคราะห์ เพราะคิดว่ามีเคราะห์ก็ต้องทำอย่างนั้น แต่คนที่มีกรรมจริงๆ มีเคราะห์จริงๆ ต่อให้ปล่อยถึง ๑๐๐ ตัว ถ้าถึงคราวที่กรรมนั้นจะให้ผล จะช่วยได้ไหม ก็ช่วยไม่ได้ ถูกไหม เพราะเหตุว่าการที่ปล่อยสัตว์ เราไม่ได้ระลึกถึงจิตของเราในขณะนั้นที่กำลังปล่อยว่า เราต้องการอะไร จะพ้นไปจากความต้องการได้ไหม หรือว่าเราเป็นผู้มีปกติมีความเมตตา ถึงแม้ว่าเราจะไม่ปล่อยควาย ไม่ปล่อยปลา แต่เราก็เป็นคนที่มีเมตตาต่อทุกคน ไม่ว่าเขาจะตกทุกข์ได้ยาก หรือไม่ตกทุกข์ได้ยาก ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจของเราที่คิดต่อเขา เป็นไปในเรื่องของการไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาต ไม่พยาบาท ไม่เบียดเบียนแม้ด้วยใจ ถ้าเรามีใจอย่างนี้แล้ว ไม่ต้องหวั่นเกรงว่าจะต้องไปปล่อยวัว ควาย ปลา ตั้งร้อยตั้งพันอะไรเลย
ถ้าทีนี้คนที่ปล่อยปลา หรือปล่อยวัว ปล่อยควาย เมตตาคนอื่นหรือเปล่า หรือว่าอยากจะปล่อยเท่านั้นเอง ปล่อยเพื่อตัวเอง แต่ลืมว่าเราต้องมีเมตตาต่อคนอื่น
เพราะฉะนั้นถึงได้ไม่เข้าใจจุดประสงค์ว่า ถ้าเราไม่มั่นคงในพระธรรมจริงๆ ชีวิตวันหนึ่งๆ ของเรา เราเคลื่อนไปมาตามกำลังของอกุศล ของความไม่มั่นคงในเหตุผล แต่ทั้งหมดมีความรักตัวเป็นแกนสำคัญ เป็นโมหะ เป็นอวิชชา เป็นทิฏฐิ เป็นความยึดมั่นในตัวตน แต่ถ้าเราเป็นคนที่รู้จริงๆ ว่า แท้ที่จริงคนที่จะปล่อยวัวควายด้วยจิตที่เมตตา ไม่ใช่หวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการตอบแทน นี่เป็นจุดที่ต่างกันของคนที่ปล่อยวัวควายสัก ๑๐ คน จะมีจิตของใครที่ปล่อยด้วยความเมตตา แต่ว่าเมตตาควายตัวที่ปล่อยยังไม่พอ ขอให้คิดอย่างนั้น ถ้าเมตตาควายที่ปล่อย แล้วทำไมไม่เมตตาคนนั้นล่ะ คนนี้ล่ะ คนโน้นล่ะ ยุงนี่ล่ะ มดนี่ล่ะ ทำไมถึงจะต้องเมตตาเฉพาะควายที่จะปล่อย สงสารตัวอื่นหรือเปล่า
สงวน สงสารมด
ท่านอาจารย์ อย่างนั้นก็หมายความว่า มีเมตตาและเจริญเมตตาอย่างถูกต้อง แต่ทีนี้บางคนปล่อยควายแล้วฆ่ามด
สงวน ...
ท่านอาจารย์ นี่พูดถึงคนส่วนใหญ่ แต่บางคนโกรธคนอื่น แต่ว่าปล่อยควาย
สงวน ...
ท่านอาจารย์ โกรธเป็นของธรรมดา แต่บางคนผูกโกรธ เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงคน เราไม่ได้พูดถึงคนเดียว เราพูดทั่วๆ ไปเลยว่า บางทีเขาไม่เข้าใจเรื่องการเจริญเมตตา แต่ละคนรู้จักตัวเอง ถ้าปล่อยด้วยเมตตาก็แน่นอน แต่บางคนปล่อยเพราะต้องการบุญ นี่ผิดกันแล้ว
ถ้าเราศึกษาธรรม เราก็รู้ว่า เขายังหมดไม่ได้แน่ๆ มีใครบ้างที่จะหมดอกุศลกรรม เป็นไปไม่ได้เลย
ศุกล แต่คิดว่าถ้ามีโอกาสได้ปล่อยสัตว์บ้าง เป็นสิ่งที่ควรกระทำ
ท่านอาจารย์ พิสูจน์ตัวของตัวเองว่า เพราะต้องการผลบุญหรือด้วยเมตตา นี่คือความต่างกัน เพราะเดี๋ยวนี้มีคนอยู่ ๒ จำพวก คนหนึ่งปล่อยเพราะต้องการได้บุญ อีกคนหนึ่งปล่อยเพราะเมตตา เพราะฉะนั้นเราก็รู้จักตัวของเราเองว่า เราทำเพื่ออะไร
ศุกล ในกรณีคุณกาญจนาเท่าที่ทราบ ปล่อยเพราะเคราะห์ยังมีเหลืออยู่ เพราะถ้าไม่ทำ อาจจะได้รับอุบัติเหตุอีก ประโยชน์ของการปล่อยสัตว์มีอะไร
ท่านอาจารย์ ที่จริงการปล่อยสัตว์ คือ การเจริญเมตตา เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ว่า เราเป็นคนที่ขาดเมตตาหรือมีเมตตา แต่ไม่ใช่หมายความว่า เราจะปล่อยเฉพาะควาย หรือวัว หรือปลา แต่เรายังคงมีความโกรธอยู่มากๆ เราไม่เมตตาคนอื่นเลย
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160