โสภณธรรม ครั้งที่ 141


    ตอนที่ ๑๔๑

    ธนิต เรียนให้อาจารย์ทราบย่อๆ เกี่ยวกับเรื่องกรรมที่สลับซับซ้อน ที่บ้านผมใกล้สระน้ำ วันหนึ่งไปยืนบนกระท่อมกลางสระ เห็นงูตัวหนึ่งกำลังกินกบ แล้วนอนนิ่ง พอผมเห็นผมก็แปลกใจ ผมยืนดูอยู่ ๒๐ นาที ไม่กระดุกกระดิกเลยทั้งงูทั้งกบ เมื่อผมพิจารณาดูก็รู้ว่า งูตัวนี้ไม่สามารถจะกินกบต่อไปได้อีก เพราะกบตัวนี้ใหญ่มาก มันอมขาเข้าไปติดอยู่ที่สะโพก ก็เลยลองเอาก้อนหินปาดูไปถูกงู มันตกใจก็ค่อยคลายๆ กบออกแล้วงูก็หนีไป ผมก็นำกบมาทอด ก็มีคนมาว่าผมว่า ไปแย่งอาหารงู งูมันหิว ผมก็เถียงว่า งูมันกลืนไม่เข้าแล้ว ผมเคยเลี้ยงงู ผมทราบดี ผมจึงไม่สนใจ ผ่าท้องกบดู พบปูตัวเบ้อเร้ออยู่ในท้องกบ จึงเอาปูมาใส่ในขัน สักครู่ปูก็กระดุกกระดิกได้ ผมก็ปล่อยปู ปูก็ลงสระไปเลย ผมจึงเรียนให้อาจารย์ทราบถึงกรรมที่สลับซับซ้อน ให้ท่านอาจารย์อธิบายว่า กรรมแต่ละขั้นแต่ละตอนมีเรื่องมากมาย เหมือนจิ้งจกตกลงไปในปากแมวอย่างที่ท่านอาจารย์เล่า

    ท่านอาจารย์ แต่เห็นกรรมของปูวิจิตรแค่ไหน ใครจะมาคิดว่าจะมีคนมาช่วย ขนาดที่ว่าอยู่ในท้องกบ และกบอยู่ในปากงู ก็เป็นไปตามกรรม จุติจิตของปูยังเกิดไม่ได้

    ขอเรียนให้ทราบว่า ข้อความที่เป็นประโยชน์ในการสนทนาธรรมและตอบปัญหาธรรมที่จังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดเลย ในวันที่ ๕ – ๖ – ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ นั้น ได้ตัดออกอากาศให้ท่านอาจารย์ได้รับฟังแล้ว ซึ่งผู้ร่วมสนทนาธรรมและตอบปัญหาธรรมก็มี ท่านอาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์ และคุณธนิต ชื่นสกุล เป็นต้น

    ไม่ทราบมีข้อสงสัยอะไรบ้างหรือเปล่าในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน และในเรื่องของวิปัสสนาญาณที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ สังขารุเปกขาญาณ

    ข้อที่น่าคิดซึ่งจะต้องพิจารณาอยู่เสมอก็คือว่า การอบรมเจริญกุศลและการอบรมเจริญปัญญานั้นเพื่ออะไร

    นี่เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มากสำหรับชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจนกระทั่งประจักษ์ลักษณะของพระนิพพาน สามารถจะดับกิเลสเป็นพระอริยบุคคลได้ เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมจริงๆ ด้วยการขัดเกลากิเลส ด้วยปัญญาที่พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน เพื่อบรรลุถึงสังขารุเปกขาญาณ คือ ปัญญาที่เป็นกลางวางเฉย ไม่หวั่นไหวในนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลายในชีวิตประจำวัน เป็นการละคลายความผูกพันยึดมั่นในนามธรรมและรูปธรรมด้วยปัญญา ซึ่งสังขารุเปกขาญาณก็เป็นญาณสุดท้ายก่อนที่มรรควิถีจิตจะเกิด

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า หนทางหรือระยะทางที่ปัญญาจะอบรมเจริญ จากขณะหนึ่งสู่อีกขณะหนึ่งในชีวิตประจำวันจริงๆ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญานั้นสามารถที่จะรู้ได้จริงๆ ว่า เริ่มมีการละคลายความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในชีวิตประจำวันจริงๆ เพิ่มขึ้นหรือไม่ ไม่ใช่หวังเพียงว่า เมื่อทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ปัญญาก็จะเกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันที รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ปัญญาที่เพิ่ม จะเพิ่มพร้อมกับสติที่ระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียดว่า ปัญญาต้องเพิ่มขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คือ ในขณะนี้ จากการฟัง และเป็นการพิจารณาสิ่งที่ได้ฟังด้วยความเข้าใจ จนถึงแม้ในขณะนี้เอง สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมหรือรูปธรรมทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่ฟังพระธรรมอยู่เรื่อยๆ แล้วก็ไม่พิจารณาโดยละเอียด ก็ไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่า การวางเฉยมีหลายลักษณะ บางท่านอาจจะหลงเข้าใจผิดคิดว่า วางเฉยได้มากแล้ว แต่ว่าตามความเป็นจริงถ้าปัญญาไม่เกิด จะไม่ใช่การวางเฉยด้วยปัญญา แต่จะเป็นการหลงเข้าใจว่า ได้ละคลายความผูกพันในนามธรรมและรูปธรรมและวางเฉย

    ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ที่จะต้องเข้าใจโดยไม่ผิด โดยไม่คลาดเคลื่อนแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะต้องรู้ว่า ขณะใดเกิดความเข้าใจผิด หรือว่าหลงเข้าใจผิดบ้างหรือเปล่า

    สำหรับอุเบกขามี ๑๐ อย่าง ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว สำหรับวันนี้ก็เป็นการทบทวนเพื่อที่จะได้ทราบว่า ในวันหนึ่งๆ ที่เข้าใจว่า วางเฉยบ้าง สำหรับบางท่าน จะเป็นการวางเฉยในอุเบกขาประเภทใด

    สำหรับอุเบกขา ๑๐ คือ

    ๑. ฉฬังคุเปกขา เป็นจิตของพระอรหันต์เมื่อเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ คิดนึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่หวั่นไหว เพราะเหตุว่าเป็นผู้ดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้นก็ไม่มีผู้ใดที่จะมีฉฬังคุเปกขาแน่นอน นอกจากผู้ที่เป็นพระอรหันต์เท่านั้น

    ๒. พรหมวิหารุเปกขา อุเบกขาที่เป็นพรหมวิหาร ไม่หวั่นไหวเป็นกลางในสัตว์ ในบุคคลทั้งหลาย คือ ไม่หวั่นไหวเอนเอียงไปด้วยความรักและความชัง ในชีวิตประจำวันก็จะต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า หวั่นไหวหรือเปล่า หรือว่าเป็นกลางหรือเปล่า ในสัตว์ ในบุคคลทั้งหลาย

    ๓. โพชฌังคุเปกขา ได้แก่ อุเบกขาที่เป็นองค์ที่จะให้ตรัสรู้อริยสัจจธรรม ซึ่งเป็น วิปัสสนาญาณที่อบรมเจริญถึงขั้นต่อการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ยังอีกไกล

    ๔. วิริยุเปกขา สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา เป็นความเพียรที่ไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนัก เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่ไม่ได้เจริญสมถภาวนาที่จะให้ถึงสมาธิขั้นต่างๆ ขณะนั้นก็จะไม่มีวิริยุเบกขา

    ๕. สังขารุเปกขา ได้แก่ ปัญญาที่ได้ประจักษ์ไตรลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนชิน จนละคลาย จนละวาง จนใกล้ต่อการละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    เพราะฉะนั้นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็ย่อมเป็นผู้รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า เมื่อปัญญายังไม่ถึงขั้นวิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้นๆ สังขารุเปกขาญาณก็เกิดไม่ได้

    ๖. เวทนุเปกขา คือ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ อันนี้เป็นสิ่งที่มีได้ในชีวิตประจำวันบ่อยๆ

    ๗. วิปัสสนูเปกขา ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของไตรลักษณ์

    ๘. ตัตตรมัชฌัตตตุเปกขา ก็ได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิต นี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดในขณะที่จิตเป็นกุศล

    ๙. ฌานุเปกขา ได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาในตติยฌานโดยจตุตถนัย และจตุตถฌานโดยปัญจกนัย

    ๑๐. ปาริสุทธุเปกขา ก็ได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาในจตุตถฌานโดยจตุตถนัย หรือปัญจมฌาน โดยปัญจกนัย

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ในวันหนึ่งๆ แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงพระธรรมเป็นภาษาบาลีชื่อต่างๆ เพื่อจะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แต่ถ้าเข้าใจอรรถ คือ ลักษณะของสภาพธรรม ก็จะไม่ต้องคำนึงถึงชื่อต่างๆ ซึ่งอาจจะคิดว่ายากต่อการจำ แต่ถ้าเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะรู้โดยลักษณะที่ไม่ต้องคิดถึงชื่อ แต่กำลังรู้ในลักษณะของปรมัตถธรรมนั้นๆ

    เพราะฉะนั้นสำหรับอุเบกขา ๑๐ อย่าง ยังไม่ชินกับชื่อของอุเบกขาทั้ง ๑๐ เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่ชีวิตประจำวัน แต่ว่าในอุเบกขา ๑๐ นั้น สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์และผู้ที่ไม่เจริญสมถภาวนา อุเบกขาในชีวิตประจำวันก็จะมีเพียง ๓ ประเภท คือ เวทนุเปกขา ๑ ตัตตรมัชฌัตตตุเปกขา ๑ พรหมวิหารุเปกขา ๑

    นี่เป็นการรู้จิตของแต่ละคนในแต่ละวันตามความเป็นจริง ในเรื่องของการวางเฉย ว่าเป็นการวางเฉยที่ถูกหรือที่ผิด เป็นการวางเฉยที่เป็นกุศลหรือที่เป็นอกุศล เช่น เวทนุเปกขา ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ก็จะต้องพิจารณาว่า ในวันหนึ่งๆ ตามความเป็นจริงแล้วเกิดบ่อยไหม บ่อยกว่าความรู้สึกโสมนัสหรือโทมนัส แต่ว่าเวทนุเปกขา ความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นนั้น ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา และเมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะต้องพิจารณาว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลด้วย

    เพราะฉะนั้นแต่ละท่านซึ่งเป็นผู้ตรง ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ความรู้สึกเฉยๆ ในวันหนึ่งของแต่ละคน ส่วนใหญ่แล้วเป็นอกุศล ในขณะที่ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบของจิต ไม่เป็นไปในการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าอุเบกขาเวทนา หรือความรู้สึกเฉยๆ ไม่ใช่การวางเฉยด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นก็เป็นเพียงความรู้สึกไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ในขณะที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตหรือโมหมูลจิต ซึ่งเป็นอกุศลจิต ในขณะที่ไม่เป็นกุศลในวันหนึ่งๆ เริ่มรู้จักว่า โลภมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาบ่อยไหม แต่ว่าไม่ใช่วางเฉยด้วยปัญญา หรือว่าในขณะที่เกิดกับกุศล ขณะนั้นแม้เป็นกุศล แต่ก็เป็นความรู้สึกที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่ใช่ปลาบปลื้มดีใจ เป็นกุศลด้วยอุเบกขาเวทนา คือ ไม่รู้สึกว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เช่น ในขณะที่กำลังฟังพระธรรม เป็นกุศลจิต ลองพิจารณาความรู้สึกในขณะนี้ เป็นอุเบกขาหรือเปล่า เฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ขณะนั้นก็เป็นมหากุศล แต่ว่ามีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า สำหรับเวทนุเปกขาในวันหนึ่งๆ เกิดบ่อย แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นอกุศล คือ เป็นโลภมูลจิต หรือโมหมูลจิต จะเป็นกุศลก็ได้ในขณะที่เป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในความสงบของจิตบ้าง หรือในขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม

    สำหรับอุเบกขาที่ ๒ คือ ตัตตรมัชฌัตตตุเปกขา ก็ได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิตทุกประเภท ความเป็นกลาง ไม่หวั่นไหว เกิดร่วมด้วยกับโสภณจิตรึกุศลจิตในชีวิตประจำวัน มิฉะนั้นแล้วก็เป็นกุศลไม่ได้

    สำหรับพรหมวิหารุเปกขา ก็เป็นกุศลในขณะที่วางตนเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งๆ ความวางเฉย ที่เป็นพรหมวิหารุเปกขา จะเกิดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคล

    เพราะฉะนั้นกว่าจะถึงสังขารุเปกขาญาณ ซึ่งเป็นญาณสุดท้ายก่อนที่มรรควิถีจะเกิด ก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ที่จะรู้จักแม้ความเป็นกลางที่เกิดกับตนเองในวันหนึ่งๆ ว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้นการศึกษาพระธรรม ช่วยให้เป็นผู้ละเอียด และเป็นผู้ฟังพระธรรมด้วยการพิจารณาที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม โดยไม่คลาดเคลื่อน และต้องไม่เป็นผู้ที่เพียงอ่านพระธรรม แล้วก็เข้าใจโดยพยัญชนะ แต่ว่าไม่เข้าถึงอรรถ ซึ่งเป็นลักษณะของปรมัตถธรรม

    ผู้ที่ศึกษาพระธรรมในขณะนี้ จะรู้จุดประสงค์ไหมว่า ศึกษาเพื่อที่จะสามารถเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง โดยแยกบัญญัติออกจากปรมัตถธรรมได้

    พระธรรมมีหลายขั้น แต่ขั้นที่จะสามารถดับกิเลสได้จริงๆ นั้น ต้องเป็นการฟังพระธรรมที่สามารถจะแยกบัญญัติออกจากปรมัตถธรรมได้ มิฉะนั้นแล้วปัญญาก็ไม่สามารถจะเจริญถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    อดิศักดิ์ อยากเรียนถามว่า อุเบกขา ๑๐ นี่ค้นได้ที่ไหน

    ท่านอาจารย์ อรรรถสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์

    อดิศักดิ์ ในพระไตรปิฎกคงไม่มี

    ท่านอาจารย์ เรื่องที่จะค้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อความที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกหรืออรรถกถาก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่ท่านอรรถกถาจารย์ท่านประมวลรวบรวมข้อความในพระไตรปิฎกให้เป็นประเภทขึ้นเท่านั้น

    อดิศักดิ์ ผมดูหนังสือหลายเล่มแล้ว บางทีก็เจอแค่ ๓ อุเบกขา ยังไม่เคยพบถึง ๑๐

    ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฎกหรือในอรรถกถา

    อดิศักดิ์ เป็นหนังสือของท่านพระมหาปยุตต์

    ท่านอาจารย์ หนังสือของท่านผู้ใดก็แล้วแต่ แต่ก็ควรจะศึกษาหรืออ่านจากพระไตรปิฎกโดยตรง และในอรรถกถา เช่น ในอรรถสาลินีด้วย

    อดิศักดิ์ เมื่อสักครู่อาจารย์บอกว่า อุเบกขา ๓ จะเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเราได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ ๒ วันนี้เอง คือคนที่เคยเกี่ยวข้องและผูกพันกันมา แต่ภายหลังในระยะ ๑๐ ปีก็ไปอยู่ที่อื่น แต่ความผูกพันกันมาก็ยังมีอยู่ แต่เป็นไปในทางเกลียดชังกันมากกว่า แต่เมื่อไม่พบกันก็ไม่มีอะไร เมื่อ ๒ วันก่อนเขาถูกยิงตาย เราศึกษาธรรม ความรู้สึกของเราก็อยากให้เป็นอุเบกขาว่า อย่าไปยินดียินร้ายเลย แต่มันสู้ไม่ไหว สู้กิเลสไม่ไหว อย่างน้อยที่สุดก็ได้ไปเล่าให้คนอื่นฟัง อันนี้เป็นการพิสูจน์เลยว่า ตัตตรมัชฌัตตตาเกิดไม่ไหว ขนาดที่บางทีมีสติ ก็ไม่พูด แต่พอไปพบคนที่เขาก็รู้จัก เราก็รู้จัก ก็อดที่จะเล่าให้ฟังอีกไม่ได้ด้วยจิตเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เรื่องของอกุศลจิต เป็นเรื่องที่เมื่อมีปัจจัยก็เกิด โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งได้ เพราะเหตุว่ายังมีปัจจัยที่จะให้อกุศลจิตเกิด อกุศลจิตก็เกิด แต่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน แม้อกุศลในขณะนั้นก็เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จึงเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ คือ มีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏ แม้ขณะนั้นอกุศลจิตก็มีปัจจัยจึงเกิดขึ้น แสดงความเป็นอนัตตา เพราะเหตุว่าไม่ชอบอกุศล และไม่อยากให้อกุศลเกิด แต่แม้กระนั้นก็ตามก็ไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาได้

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เรื่องหวัง หรือไม่ใช่เรื่องบังคับที่จะให้จิตประเภทนั้นเกิด หรือว่าไม่ให้จิตประเภทนี้เกิด แต่เป็นเรื่องเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ลักษณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง หรือว่าเป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่จะต้องมีใครทำอะไรขึ้นมาเลยการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เป็นปกติจริงๆ โลภะจะเกิดอย่างมาก บางคนกลัว เดือดร้อน เดือดร้อนแล้วทำอะไรได้กับโลภะซึ่งมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอย่างมากอย่างนั้น นอกจากจะระลึกได้และก็รู้ว่า เมื่อไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ไม่ใช่จะไปทำลายโลภะอะไรได้ด้วยความตั้งใจหรือด้วยความต้องการ เพียงแต่ระลึกรู้ว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน นี่เป็นกิจที่จะต้องกระทำตามลำดับขั้น คือ ไม่ว่าสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นอย่างไรก็ระลึกรู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น ก็จะละคลายความเดือดร้อนใจ ใช่ไหมว่า โลภะเกิดขึ้นแล้ว หรือว่าอกุศลเกิดขึ้นแล้ว อย่างท่านที่ถาม เดือดร้อนใจที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่อยากจะให้เกิด แต่ถ้าเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะเดือดร้อนทำไม ในเมื่อจะต้องรู้ว่าเป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    23 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ