โสภณธรรม ครั้งที่ 142


    ตอนที่ ๑๔๒

    อย่างท่านที่ถาม เดือดร้อนใจที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่อยากจะให้เกิด แต่ถ้าเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะเดือดร้อนทำไม ในเมื่อจะต้องรู้ว่าเป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ไปเดือดร้อน แต่ต้องเข้าใจลักษณะของนามธรรมว่าเป็นนามธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ถ้าปัญญาไม่พอก็เดือดร้อนอีก เพราะเหตุว่าถ้าขณะใดที่หวัง จะเห็นลักษณะของโลภะได้ว่า เพียงต้องการไม่ให้โลภะเกิด ก็เป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าโลภะต้องเกิดแน่ๆ ไม่มีใครจะยับยั้งไม่ให้โลภะเกิดได้ เพราะฉะนั้นความหวังหรือความต้องการ หรือความปรารถนานั้นเปล่าประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย นอกจากจะทำให้เกิดความผิดหวังเมื่ออกุศลประเภทนั้นเกิด เพราะฉะนั้นก็จะต้องผิดหวัง หรือจะต้องมีความโทมนัส ความขุ่นเคืองใจอยู่เรื่อยๆ เมื่อไม่รู้ว่า ควรที่สติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น จึงจะละอภิชฌาและโทมนัสได้ ละทั้งความต้องการและความไม่ต้องการในสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ตามปกติ ตามความเป็นจริง

    นี่ก็เป็นเรื่องละเอียด ซึ่งไม่ใช่ละเอียดเพียงการฟัง แต่ต้องละเอียดแม้ในขณะที่อกุศลเกิด ไม่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดก็ตาม

    พระ ในสังขารุเปกขาญาณ การวางเฉยในสังขารธรรม เพราะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมจนชิน จนชัดแล้ว คำว่า “เป็นกลาง” คือ ไม่มากและไม่น้อย อาตมาเข้าใจแบบนี้ และการละอภิชฌาและโทมนัส คือ อภิชฌาหมายถึงการยึด การติดในสังขารธรรม ส่วนโทมนัส หมายถึงไม่ต้องการ ส่วนการวางเฉยนั้น หมายถึงละอภิชฌาและโทมนัสหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แน่นอน แต่ว่าตามลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นสติปัฏฐาน จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้นถึงเป็นสังขารุเปกขาญาณ

    พระ และในวิปัสสนูเปกขาก็เป็นตัตตรมัชฌัตตตาในวิปัสสนาญาณ จะมีตัตตรมัชฌัตตตาในวิปัสสนูเปกขา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ วิปัสสนูเปกขาเป็นปัญญาที่ประจักษ์ไตรลักษณ์ ไม่สงสัยในไตรลักษณะ เพราะเหตุว่าได้ประจักษ์ในขณะนั้นก็ทำให้วางเฉยในขณะนั้น

    พระ แทนที่จะเป็นอภิชฌาและโทมนัสใช่ไหม แทนที่จะสงสัย ยึดแล้วก็ติด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่ประจักษ์ไตรลักษณะ หมดความสงสัยในการเกิดดับของสภาพธรรมนั้น ในขณะที่กำลังประจักษ์นั้นต้องวางเฉยด้วยปัญญาขั้นที่ประจักษ์ไตรลักษณะ

    พระ เป็นการเข้าใจสภาพธรรมที่แท้จริง

    ท่านอาจารย์ ที่กำลังเผชิญหน้า หรือเห็นแจ้งในการเกิดดับนั้น เพราะฉะนั้นไม่มีตัวตนที่จะหวั่นไหว

    พระ เท่ากับแยกปรมัตถธรรมออกจากบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ การแยกปรมัตถธรรมออกจากบัญญัติต้องเริ่มจากขั้นของการฟังเรื่องของปรมัตถธรรม จึงจะรู้ได้ว่า แท้ที่จริงแล้วที่เคยหลงเข้าใจว่าเป็นสัตว์ บุคคลซึ่งเป็นบัญญัติ สภาพธรรมที่มีจริงๆ นั้นเป็นปรมัตถธรรม คือ เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป มีสภาวะลักษณะปรากฏให้รู้ได้

    พระ เนื่องจากไม่เห็นลักษณะที่แท้จริงแต่ละขณะ

    ท่านอาจารย์ เนื่องจากสติเริ่มระลึก ศึกษา สังเกต พิจารณาลักษณะของปรมัตถธรรม จึงเพิ่มความรู้ว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะเหตุว่าถ้าฟังเพียงว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แต่ว่าเวลาเห็นก็ยังเห็นคน เวลาคิดก็ยังคิดเรื่องคน ขณะนั้นจะชื่อว่า รู้แจ้งปรมัตถธรรมไม่ได้ เพียงแต่ฟังแล้วก็เข้าใจว่า สภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ต้องเรียกอะไรเลย เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาอย่างหนึ่ง ทางหูอย่างหนึ่ง ทางจมูกอย่างหนึ่ง ทางลิ้นอย่างหนึ่ง ทางกายอย่างหนึ่ง ทางใจอย่างหนึ่ง เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ

    เพราะฉะนั้นถ้าสติระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้น ในขณะนั้นไม่ได้คิดถึงบัญญัติใดๆ เลยทั้งสิ้น เมื่อปัญญารู้ลักษณะของปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้นมากเท่าไร การละคลายการที่เคยยึดถือปรมัตถธรรมนั้นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล จึงจะละคลายลงไป แต่จะต้องรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้น มากขึ้น ทั่วขึ้นกว่าจะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    พระ เป็นการละคลายสักกายทิฏฐิ เช่น ถ้าเกิดมีอาการของแข็งปรากฏ ถ้าไม่เข้าใจปรมัตถธรรม ก็เข้าใจว่าถนนแข็งหรือตัวแข็ง ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของปัญญาเริ่มคลายความเห็นผิดชัดขึ้นเรื่อยๆ จากการมีสติทีละเล็กทีละน้อย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เจ้า เพราะเหตุว่าถ้าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า “ธรรมทั้งหลาย” หมายความว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้นธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏ ปัญญาจะต้องอบรมจนกว่าจะรู้แจ้งจริงๆ สามารถจะแยกบัญญัติออกจากปรมัตถธรรม ซึ่งเคยหลงยึดถือปรมัตถธรรมเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นบัญญัติ

    พระ จนกว่าจะเป็นพระอริยเจ้า ซึ่งท่านสามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว แต่ว่าท่านจะต้องรู้บัญญัติ ใช้บัญญัติให้เป็นประโยชน์ได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะเป็นพระอริยเจ้า ปัญญาก็จะต้องเพิ่มความรู้ในลักษณะของปรมัตถธรรม

    พระ อาตมาจะเข้าใจถูกไหม ผู้ที่ไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ของนามธรรม ของรูปธรรม ยังไม่เข้าใจว่าตอนไหนเป็นบัญญัติ ตอนไหนเป็นปรมัตถธรรม จึงรวมๆ กัน ถือว่ายังไม่รู้จักบัญญัติที่แท้จริงได้ไหม

    ท่านอาจารย์ บัญญัติ รู้อยู่ตลอดเวลา แต่ว่าไม่รู้ปรมัตถ์ ถ้าบอกว่าเห็นคน เป็นบัญญัติแล้ว สัตว์ บุคคล ตัวตน หญิง ชาย สิ่งของต่างๆ

    พระ คิดในสิ่งที่เห็นใช่ไหม แล้วบัญญัติแต่งตั้งสิ่งที่เห็นขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ นอกจากนั้นยังเป็นคำ หรือชื่อต่างๆ

    นิภัทร บัญญัติจริงๆ นั้นไม่มีหรอก บัญญัติก็คือบัญญัติ คือบัญญัตินั้นไม่จริงอยู่แล้ว ถ้าจริงก็ไม่ใช่บัญญัติ คือบัญญัติไม่มีสภาวะรับรอง จะไปพิจารณาบัญญัติให้มีสภาวะรับรองเป็นไปไม่ได้ ความเข้าใจของผมเป็นอย่างนี้ ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม มีใครรู้บ้างว่า มีแต่ปรมัตถธรรมที่เป็นสภาวธรรมจริงๆ ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม มีสัตว์ มีบุคคล มีหญิง มีชาย มีวัตถุ มีสิ่งต่างๆ นั่นคือมีบัญญัติ มีความคิดนึกเรื่องของสิ่งที่ปรากฏต่างๆ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว จึงรู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว บัญญัติคือในขณะที่จิตคิดเรื่องราว หรือรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ และยึดถือว่าเป็นตัวตน หรือเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เช่นเห็นคน เป็นปรมัตถธรรมหรือเป็นบัญญัติ

    พระ เป็นบัญญัติ เพราะว่าแต่งตั้งให้ว่านี่คือคน

    ท่านอาจารย์ จำได้ว่าเป็นรูปร่างสัณฐานสีอย่างนี้เป็นคน

    พระ อาจจะเรียกว่า นายแดง นายดำ ก็ได้ ใช่ไหม ในอภิธัมมัตถสังคหะ ท่านกล่าวว่า บัญญัติก็อุปมาเหมือนเงาของปรมัตถธรรม โยมอาจารย์ช่วยขยายหน่อย

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าไม่มีบัญญัติจริงๆ ต่างหาก นอกจากว่าปรมัตถธรรมเกิดแล้วก็ดับไป แต่ว่าเมื่อปัญญาไม่สามารถจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ ก็ยึดถือรูปร่างสัณฐานที่รวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็ยึดมั่นว่าสิ่งนั้นมีจริง แต่จริงๆ แล้ว ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นคิดนึก บัญญัติก็มีไม่ได้เลย

    พระ นั่นคือความคิดนึกของจิตเป็นเงา

    ท่านอาจารย์ ใช้เป็นคำอุปมาให้เข้าใจเท่านั้นเองว่า ไม่ใช่หมายความถึงสิ่งที่มีจริง เมื่อไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ก็หลงยึดถือปรมัตถธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้นกว่าที่จะสามารถแยกปรมัตถธรรมออก เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่รวมกัน ก็ยากที่จะต้องค่อยๆ ฟังและค่อยๆ อบรมเจริญไปเรื่อยๆ

    การฟังพระธรรมหรือการศึกษาพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด และไม่เพียงเข้าใจแต่พยัญชนะเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจถึงอรรถด้วย

    ข้อความในอรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อนังคณสูตร ข้อ ๕๓ มีข้อความว่า

    พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคมี ๒ อย่าง คือ สมมติเทศนา ๑ ปรมัตถเทศนา ๑ ในจำนวนเทศนาทั้ง ๒ อย่างนั้น สมมติเทศนา มีรูปความอย่างนี้ว่า บุคคล สัตว์ หญิง ชาย กษัตริย์ พราหมณ์ เทพ มาร เป็นต้น

    ส่วนปรมัตถเทศนา มีรูปความอย่างนี้ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ สติปัฏฐานเป็นต้น

    แม้เพียงได้อ่านอย่างนี้ ก็จะต้องพิจารณาโดยละเอียดว่า พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคมี ๒ คือ คือ สมมติเทศนา ๑ ปรมัตถเทศนา ๑

    นี่แสดงถึงการที่จะต้องเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมแล้ว มิฉะนั้นแล้วถ้าคิดว่า เพียงบัญญัติหรือสมมติก็สามารถที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ก็จะต้องไม่มีปรมัตถเทศนา

    ในจำนวนเทศนาทั้ง ๒ อย่างนั้น สมมติเทศนา มีรูปความอย่างนี้ว่า บุคคล สัตว์ หญิง ชาย กษัตริย์ พราหมณ์ เทพ มาร เป็นต้น

    ในพระไตรปิฎกมีข้อความอย่างนี้ มีเรื่องสัตว์ เรื่องบุคคล เรื่องพราหมณ์ เรื่องกษัตริย์ เรื่องหญิง เรื่องชาย เรื่องเทพ เรื่องมาร แต่จะต้องเข้าใจว่า ทรงหมายถึงสภาพที่ต่างกันของปรมัตถธรรม มิฉะนั้นแล้วผู้ที่ไม่ได้ศึกษาเข้าใจในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ที่เป็นอริยสัจจธรรม ก็จะคิดว่า เพียงศึกษาสมมติเทศนาก็สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่นี่ทรงแสดงให้เห็นว่า การที่กล่าวถึงบุคคลก็ตาม สัตว์ หญิง ชาย กษัตริย์ เทพ มารนั้น ก็เพื่อให้รู้ลักษณะที่ต่างกันที่เป็นปรมัตถธรรมต่างๆ นั่นเอง

    ในจำนวนเทศนาทั้ง ๒ อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสมมติเทศนาแก่เหล่าพุทธเวไนย ผู้ที่ฟังพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องสมมติแล้ว เข้าใจเนื้อความทะลุปรุโปร่ง สามารถละโมหะ บรรลุคุณวิเศษได้ ส่วนคนเหล่าใด ฟังพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องปรมัตถ์แล้ว เข้าใจเนื้อความทะลุปรุโปร่ง สามารถละโมหะ บรรลุคุณวิเศษได้ พระองค์ก็ทรงแสดงปรมัตถเทศนาให้เขาฟัง

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ในขณะนี้ซึ่งท่านผู้ฟังกำลังฟังข้อความนี้ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของท่านผู้ฟังว่า ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่มีความเข้าใจถูกในพระธรรมที่ได้ฟัง หรือว่ามีความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนในพระธรรม เพราะเหตุว่าบางท่านอาจจะจับความโดยพยัญชนะ ที่ว่า

    ในจำนวนเทศนาทั้ง ๒ อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสมมติเทศนาแก่เหล่าพุทธเวไนย ผู้ที่ฟังพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องสมมติแล้วเข้าใจเนื้อความทะลุปรุโปร่ง สามารถละโมหะ บรรลุคุณวิเศษได้

    ถ้าฟังเผินๆ แล้วเข้าใจผิดก็จะคิดว่า เพียงสมมติเทศนาก็สามารถที่จะเข้าใจเนื้อความทะลุปรุโปร่ง สามารถละโมหะ บรรลุคุณวิเศษได้ แต่ขอให้คิดดูว่า ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมทุกท่าน เป็นผู้ที่ต้องบรรลุถึงอริยสัจจธรรมด้วยปัญญา

    เพราะฉะนั้นข้อความที่ว่า เวไนย ผู้ที่ฟังพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องสมมติแล้วเข้าใจเนื้อความทะลุปรุโปร่ง

    อย่าลืม แล้วเข้าใจเนื้อความทะลุปรุโปร่ง ไม่ใช่ไม่เข้าใจ เข้าใจเนื้อความอะไร ถ้าไม่ใช่ปรมัตถธรรม จะมีเนื้อความอะไรที่จะเข้าใจทะลุปรุโปร่ง ถ้าไม่ใช่ปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นจะไม่พ้นจากปรมัตถธรรมเลย การที่ปัญญาจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จนกระทั่งละคลายสักกายทิฏฐิ การยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ ก็จะต้องเป็นผู้ที่สามารถเข้าใจปรมัตถธรรม อบรมเจริญปัญญา แต่การที่จะขัดเกลาละคลายกิเลสโดยการเพียงแสดงว่า จิตมีจำนวน ๘๙ ประเภท เจตสิกมีจำนวน ๕๒ ประเภท รูปมีจำนวน ๒๘ ประเภทเท่านั้น ต่อให้จะแสดงอย่างนี้สักเท่าไร การละคลายมีไหม ในเมื่อชีวิตประจำวันของแต่ละคนก็ยังจะมีการที่จิตจะน้อมเอียงไปในเรื่องของโลภะบ้าง โทสะบ้าง กุศลบ้าง อกุศลบ้าง

    เพราะฉะนั้นอาศัยพระธรรมเทศนาที่ไพเราะ ที่วิจิตรต่างๆ ที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดจิตที่อ่อน คล้อยตามการที่จะละคลาย เช่น ถ้าจะทรงแสดงเรื่องมรณสติโดยนัยต่างๆ ก็ตาม หรือว่าทรงแสดงเรื่องของการเกิดแล้ว เกิดอีก ตายแล้ว ตายอีก ก็ฟังดูเหมือนสมมติ เพราะเหตุว่ามีเกิดมีตายจากความเป็นบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่ง จากการที่เคยเป็นเศรษฐีสู่ความเป็นผู้ลำบากเดือดร้อน สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง ถ้าฟังอย่างนี้ผู้ที่รู้เรื่องของปรมัตถธรรมขณะนั้น ก็สามารถมีจิตที่จะน้อมไปสู่การที่ไม่ยึดถือปรมัตถธรรมในขณะที่สติระลึกขณะนั้นได้

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องพิจารณาจริงๆ ว่า แม้ข้อความที่ว่า

    ส่วนคนเหล่าใด ฟังพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องปรมัตถ์แล้ว เข้าใจเนื้อความทะลุปรุโปร่ง สามารถละโมหะ บรรลุคุณวิเศษได้ พระองค์ก็ทรงแสดงปรมัตถเทศนาให้เขาฟัง

    ถึงอย่างไรก็จะไม่พ้นจากปรมัตถเทศนาไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นการที่จะละคลายกิเลสจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้นก็ด้วยเทศนาโดยนัยสมมติเทศนาหรือโดยนัยของปรมัตถเทศนาตามอัธยาศัย

    ท่านผู้ฟังซึ่งเป็นผู้เข้าใจการอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ รู้ว่าขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดสติเกิด ในขณะที่กำลังฟังอย่างนี้เอง เป็นเรื่องของสมมติบัญญัติก็มี แต่ว่าสติปัฏฐานก็สามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมในขณะนั้น จึงจะรู้ว่าไม่ใช่เราที่กำลังฟัง มิฉะนั้นแล้วจะละความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นเราได้อย่างไร

    ข้อความในอรรถกถาอธิบายต่อไปว่า

    ในการทรงแสดงพระธรรมเทศนาทั้ง ๒ อย่างนั้น มีข้อเปรียบเทียบดังต่อไปนี้

    อุปมาเหมือนอาจารย์ผู้บรรยายไตรเพท รู้ภาษาถิ่น เมื่อพูดภาษาทมิฬ นักเรียนพวกใดเข้าใจความหมาย ก็จะบอกเขาเหล่านั้นด้วยภาษาทมิฬ แต่ถ้าพวกใดเข้าใจความหมายด้วยภาษาใดภาษาหนึ่งในจำนวนภาษาทั้งหลาย มีภาษาอันธกะ เป็นต้น ก็จะบอกเขาเหล่านั้นด้วยภาษานั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น มาณพน้อย (นักเรียน) เหล่านั้นได้อาศัยอาจารย์ผู้ฉลาด หลักแหลม จะเรียนศิลปะได้เร็วทีเดียว ฉันใด

    ในข้ออุปไมยนั้น ก็ฉันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า พึงทราบว่าเหมือนอาจารย์ พระไตรปิฎกที่อยู่ในภาวะที่จะต้องทรงสอนเหมือนไตรเพท พระปรีชาฉลาดในสมมติ และปรมัตถ์ เหมือนความฉลาดในภาษาถิ่น เวไนยสัตว์ผู้สามารถแทงตลอดด้วยสมมติเทศนาและปรมัตถเทศนา เหมือนมาณพน้อยหรือนักเรียนผู้พูดภาษาถิ่นต่างๆ พระธรรมเทศนาว่าด้วยสมมติ และปรมัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนการบอกไตรเพทด้วยภาษาทมิฬเป็นต้นของอาจารย์

    ไม่มีสภาพธรรมใดเลยที่จะพ้นจากปรมัตถธรรม ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยของสมมติต่างๆ ก็ตาม ก็จะต้องเข้าใจถึงปรมัตถธรรมด้วย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    และในการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสมมติเทศนา และปรมัตถเทศนานี้ พระโบราณาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่าผู้สอนทั้งหลายได้ตรัสสัจจะไว้ ๒ อย่าง คือ สมมติสัจจะ ๑ ปรมัตถสัจจะ ๑ ไม่มีสัจจะอย่างที่ ๓ พระพุทธดำรัสเกี่ยวกับสมมติ ชื่อว่า เป็นสัจจะ เพราะเหตุที่เป็นสมมติของโลก ส่วนพระพุทธดำรัสเกี่ยวกับปรมัตถ์ ชื่อว่า เป็นสัจจะ เพราะเหตุที่เป็นความจริงของธรรมทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้นสำหรับพระโลกนาถศาสดาผู้ทรงฉลาดในโวหารเทศนา ตรัสถึงสมมติ มุสาวาทจึงไม่เกิดขึ้น คือ ไม่เป็นการกล่าวเท็จ ดังนี้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสบุคคลกถา คือ ถ้อยคำระบุบุคคล ด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ

    ๑. เพื่อทรงแสดงถึงหิริและโอตตัปปะ

    ๒. เพื่อทรงแสดงถึงความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน

    ๓. เพื่อทรงแสดงถึงการกระทำของคนโดยเฉพาะตัว

    ๔. เพื่อทรงแสดงถึงอนันตริยกรรม

    ๕. เพื่อทรงแสดงถึงพรหมวิหารธรรม

    ๖. เพื่อทรงแสดงถึงบุพเพนิวาสานุสสติญาณ

    ๗. เพื่อทรงแสดงถึงทักขิณาวิสุทธิ

    ๘. เพื่อไม่ทรงละทิ้งสมมติของโลก

    นี่แสดงให้เห็นชัดว่า ไม่ว่าจะทรงแสดงสมมติอย่างไร ก็เพื่อให้เข้าใจปรมัตถธรรมนั่นเอง ไม่ใช่ไม่มีปรมัตถธรรมที่จะเข้าใจ และสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ด้วยสมมติบัญญัติ

    ขยายความเหตุ ๘ ประการ มีข้อความว่า

    เมื่อพระองค์ตรัสว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งหลาย ละอายแก่ใจอยู่ เกรงกลัวบาปอยู่ มหาชนจะไม่เข้าใจ พากันพิศวงงงงวย โต้แย้งว่า นี้อะไรกัน ขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งหลาย ละอายแก่ใจ เกรงกลัวต่อบาปด้วยหรือ ดังนี้ แต่เมื่อพระองค์ตรัสว่า บุรุษ กษัตริย์ พราหมณ์ เทพ มาร ดังนี้ ละอายแก่ใจ เกรงกลัวต่อบาป มหาชนจะเข้าใจ ไม่พิศวงงงงวย ไม่โต้แย้ง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบุคคลกถา เพื่อทรงแสดงถึงหิริและโอตตัปปะ

    ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังจะสงสัยอะไรบ้างหรือเปล่าในเรื่องสมมติบัญญัติ ในเรื่องของปรมัตถธรรม

    อดิศักดิ์ อยากจะกล่าวว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก แต่ก็คงไม่มีสิทธิจะกล่าว เพราะผมยังไม่เข้าใจถึง ๑,๐๐๐ นัย สมมติเทศนาของพระพุทธองค์มีมากในพระไตรปิฎก และผู้ที่ได้ฟังสมมติเทศนาแล้วได้ดวงตาเห็นธรรมก็มาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาฟังแต่เรื่องสมมติบัญญัติอย่างเดียว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    23 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ