โสภณธรรม ครั้งที่ 143
ตอนที่ ๑๔๓
อดิศักดิ์ อยากจะกล่าวว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก แต่ก็คงไม่มีสิทธิจะกล่าว เพราะผมยังไม่เข้าใจถึง ๑,๐๐๐ นัย สมมติเทศนาของพระพุทธองค์มีมากในพระไตรปิฎก และผู้ที่ได้ฟังสมมติเทศนาแล้วได้ดวงตาเห็นธรรมก็มาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาฟังแต่เรื่องสมมติบัญญัติอย่างเดียว เขาได้เจริญสติปัฏฐาน ได้รู้เรื่องปรมัตถธรรมอย่างแจ่มแจ้ง อย่างลึกซึ้งมาแล้ว เขาฟังแต่สมมติเทศนา ก็แทงตลอดเป็น ๑,๐๐๐ นัย หรือจะเป็น ๖,๐๐๐ นัย ผมเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นแน่นอน เพราะฉะนั้นการที่มีบุคคลนำสมมติเทศนาไปแล้ว เอาพระไตรปิฎกก็ดี เอาอรรถกถามายันเลยบอกว่า บัญญัติก็เจริญสติปัฏฐานได้ เห็นไหมเขาได้ดวงตาเห็นธรรมเพราะพระพุทธเจ้าแสดงเรื่องสมมติบัญญัติ เพราะฉะนั้นที่อาจารย์ชี้แจงบรรยายวันนี้แจ่มแจ้งจริงๆ ผม
ท่านอาจารย์ ข้อความต่อไปมีว่า
แม้พระดำรัสที่ตรัสว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน ดังนี้ ก็นัยเดียวกันนั่นแหละ
เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสปุคคลกถาเพื่อทรงแสดงความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน
แม้พระดำรัสที่ตรัสว่า มหาวิหาร มีพระเวฬุวัน เป็นต้น ขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งหลายสร้างไว้ ดังนี้ ก็นัยเดียวกันนั่นแหละ ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสปุคคลกถาเพื่อทรงแสดงถึงการกระทำของคนโดยเฉพาะตัว แม้ในพระดำรัสที่ตรัสว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งหลายปลงชีวิตมารดาบิดา พระอรหันต์ ทำโลหิตตุปทาธรรม คือ ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต และทำลายสงฆ์ให้แตกกันดังนี้ ก็โดยนัยเดียวกันนั่นแหละ
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสปุคคลกถาเพื่อทรงแสดงถึงอนันตริยกรรม
แม้พระดำรัสที่ตรัสว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งหลายย่อมเมตตา ดังนี้ ก็นัยเดียวกันนั่นแหละ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสปุคคลกถาเพื่อทรงแสดงถึงพรหมวิหารธรรม
คงจะเกรงว่าไม่พอที่จะเข้าใจ ก็ได้กล่าวถึงโดยนัยต่างๆ เพื่อที่จะทรงแสดงให้เห็นว่า จุดประสงค์ของการทรงแสดงสมมติสัจจะก็เพื่อให้เข้าใจปรมัตถสัจจะนั่นเอง
แม้พระดำรัสที่ตรัสว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งหลายระลึกชาติที่เคยอยู่ก่อนของเราได้ดังนี้ ก็นัยเดียวกันนั่นแหละ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสปุคคลกถาเพื่อทรงแสดงถึงเพื่อแสดงถึงการระลึกชาติที่เคยอยู่ก่อนได้
คือทรงแสดงถึงปัญญาที่สามารถระลึกชาติได้
แม้พระดำรัสที่ตรัสว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งหลายรับทานดังนี้ มหาชนจะไม่เข้าใจพากันพิศวงงงงวย โต้แย้งว่า นี่อะไรกัน ขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งหลายรับทานด้วยหรือ ดังนี้ แต่เมื่อตรัสว่า บุคคลผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม รับทานดังนี้ มหาชนก็เข้าใจ ไม่พิศวงงงงวย ไม่โต้แย้ง เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสปุคคลกถาเพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์แห่งทักษิณาทาน เพราะว่าธรรมดาพระผู้มีพระภาคทั้งหลายจะไม่ทรงละทิ้งสมมติของโลก ทรงดำรงอยู่ในถ้อยคำของชาวโลก ในภาษาของชาวโลก ในการเจรจาของชาวโลกนั่นแหละ ทรงแสดงธรรม เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสปุคคลกถาไว้ เพื่อไม่ละทิ้งสมมติของโลกเสีย
ไม่น่าจะมีข้อสงสัยในเรื่องของสมมติบัญญัติและในเรื่องของปรมัตถ์ว่า การที่จะประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรมได้นั้น ต้องเป็นการรู้แจ้งปรมัตถธรรม
ถาม เมี่อสักครู่ที่อาจารย์กล่าวว่า เทศนามี ๒ นัย คือ สมมติเทศนากับปรมัตถเทศนา จากข้อความนี้ผมได้ระลึกถึงพระสูตรหนึ่ง คืออนุราธสูตร ที่กล่าวว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาหารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี ครั้งนั้นแลอนุราธอยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค อัญญเดียรถีย์พวกหนึ่งได้เข้าไปหาท่านพระอนุราธ แล้วได้สนทนาข้อความนี้ว่า
ดูกรอนุราธ พระตถาคตเป็นอุดมบุรุษ เป็นยอดบุรุษ ถึงความบรรลุชั้นเยี่ยม เมื่อจะทรงบัญญัติ ย่อมทรงบัญญัติในฐานะ ๔ เหล่านี้
คำว่า “ฐานะ ๔ เหล่านี้” ก็เป็นสมมติใช่ไหม ที่ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิด ย่อมไม่เกิดอีก เกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี เกิดอีกก็หามิได้ ไม่เกิดอีกก็หามิได้
กระผมมีความสงสัยว่า เกิดอีกก็หามิได้ ไม่เกิดอีกก็หามิได้ หมายเอาถึงเนื้อแท้ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ใช่ไหม ที่เป็นอรรถเนื้อแท้อันยิ่ง คือ ขันธ์ ๕ นั่นเอง ที่อัญญเดียรถีย์เห็นผิดว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นต้องรู้จุดประสงค์ของการทรงแสดงธรรม แล้วผู้ศึกษาก็ต้องรู้ด้วยว่า ศึกษาเพื่ออะไร การศึกษาพระธรรม การฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจอะไร
ผู้ฟัง เข้าใจขันธ์ ๕
ท่านอาจารย์ เข้าใจขันธ์ ๕ ในขณะไหน
ผู้ฟัง ขณะที่กำลังเกิดมีปรากฏขึ้น
ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีขันธ์ ๕ กำลังเกิด แล้วจะเข้าใจได้อย่างไร ต้องถึงจุดประสงค์นี้ด้วยใช่ไหม เพราะเหตุว่าการฟังพระธรรมทั้งหมดจะไม่มากจะน้อย ใครจะกล่าวกับใครว่าอย่างไรก็ตาม ถ้าจุดประสงค์เพื่อที่จะเข้าใจขันธ์ ๕ แล้ว ต้องหมายถึงเข้าใจลักษณะของขันธ์ ๕ ในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง ขอให้อาจารย์ชี้แนะขันธ์ ๕ คร่าวๆ ให้กระผมฟังด้วย
ท่านอาจารย์ ขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑วิญญาณขันธ์ ๑ การจะเข้าใจขันธ์ ๕ จะเข้าใจได้มากและละเอียดขึ้น ชัดขึ้น เมื่อพิจารณาขันธ์ที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เป็นชื่อเท่านั้น ถ้าอ่านตามตำราก็จำได้ว่า มีขันธ์ ๕ แต่ขณะนี้หลงลืม ไม่รู้ว่าขันธ์ ๕ อยู่ที่ไหน อย่างนั้นจะทำให้ไม่เข้าใจขันธ์ ๕ เลย จำได้แต่ชื่อจริงๆ เช่น รูปขันธ์ ได้แก่ ธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ แต่ในขณะนี้ก็มีสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นการที่จะรู้จักแม้รูปขันธ์ ก็จะต้องระลึกลักษณะของสภาพของรูปที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด เช่น ทางตา มีลักษณะของรูปขันธ์กำลังปรากฏ และไม่ใช่คิดว่าเข้าใจแล้วว่า ทางตามีรูปขันธ์กำลังปรากฏ จะต้องรู้ด้วยว่า ขณะที่เป็นรูปขันธ์ ที่ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์นั้นคืออย่างไร ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ..
ผู้ฟัง หมายความว่าสภาพนี้เป็นรูปขันธ์ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ อันไหนเป็นรูปขันธ์
ผู้ฟัง ก็รูปร่างกายนี้
ท่านอาจารย์ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีรูปหลายประเภท ไม่ใช่รูปเดียว แต่ละรูปปรากฏได้แต่ละทาง
ผู้ฟัง ถ้าเราเดินอยู่ก็เป็นรูป ..
ท่านอาจารย์ ทำไมต้องเดิน เดี๋ยวนี้กำลังยืนอยู่แล้ว เอาเดี๋ยวนี้
ผู้ฟัง ถ้าจะเข้าใจรูปขันธ์ให้ถ่องแท้ ต้องเข้าใจจากจุดนี้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ต้องในขณะนี้ เพราะเหตุว่ารูปหมายถึงสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นการที่จะรู้จักรูปขันธ์ ไม่ใช่ดูจากหนังสือ แล้วก็จำชื่อ
ผู้ฟัง และตัวที่ศึกษารู้ว่าเป็นรูปขันธ์ เป็นจิต ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นปัญญา เพราะเหตุว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ปัญญาเป็นสังขารขันธ์
ผู้ฟัง ขันธ์ศึกษาขันธ์หรือ
ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะเหตุว่าในขันธ์ทั้ง ๕ ขันธ์ ๔ ขันธ์เป็นนามขันธ์ เป็นสภาพรู้
ผู้ฟัง ขันธ์รู้ขันธ์ ขันธ์ศึกษาขันธ์ แต่จิตไม่ใช่ขันธ์
ท่านอาจารย์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์
ผู้ฟัง จิตเป็นวิญญาณขันธ์ และวิญญาณขันธ์ศึกษาสังขารขันธ์ สังขารขันธ์ศึกษาสัญญาขันธ์ สัญญาขันธ์ศึกษาเวทนาขันธ์ และเวทนาเป็นนามขันธ์
ท่านอาจารย์ เวลานี้อย่าไปศึกษาเป็นชื่ออย่างนั้น เริ่มตั้งแต่รูปขันธ์ เพราะเหตุว่าอยากจะเข้าใจรูปขันธ์ใช่ไหม ยังไม่ต้องไปคิดถึงอย่างอื่น มีขันธ์ ๕ จริง และขณะนี้รูปขันธ์ก็มี
ผู้ฟัง ถ้าแบ่งโดยนัยของธาตุ ๔ ได้ไหม
ท่านอาจารย์ อย่าเพิ่งไปถึงไหน ก็บอกว่าจะเอาอะไรก็เอาเป็นเรื่องๆ เวลานี้อยากจะรู้จักขันธ์ ๕ ใช่ไหม เมื่อกี้ให้ช่วยอธิบายขันธ์ ๕ ดิฉันก็บอกให้ทราบว่า อย่าไปคิดถึงขันธ์ ๕ ในหนังสือ การที่จะเข้าใจขันธ์ ๕ จะต้องในขณะที่กำลังปรากฏ จะทำให้เข้าใจได้ดีขึ้น ชัดเจนขึ้น ถูกต้องขึ้น เพราะในขณะนี้ก็มีขันธ์ ๕ เพราะฉะนั้นก็จะไล่เรียงไปทีละขันธ์
ผู้ฟัง หมายความว่าในอัตภาพของผมที่มีอาการ ๓๒ ก็มีขันธ์ ๕ ใช่ไหม เป็นรูปขันธ์ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ อาการ ๓๒ มีอะไรบ้าง
ผู้ฟัง ตั้งแต่ผมไปจนถึงโน่นเลย
ท่านอาจารย์ เป็นรูปขันธ์หรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ เพราะอะไรจึงเป็นรูปขันธ์
ผู้ฟัง เพราะเป็นสภาพที่ต้องแปล
ท่านอาจารย์ เพราะไม่ใช่สภาพรู้ เพราะไม่รู้อะไร
ผู้ฟัง เพราะไม่รู้นามธรรม
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สภาพรู้
ผู้ฟัง รู้สึกว่าขันธ์กว้างขวางมาก แค่นี้ก่อนก็แล้วกัน
พระ อาตมาไม่ทราบจะเข้าใจถูกไหม เพราะว่าคำว่า “ทะลุปรุโปร่ง” ทั้งปรมัตถเทศนาและสมมติเทศนา สมมติเทศนาก็พวกผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อย่างอาตมาต้องเข้าใจทั้ง ๒ อย่าง คือ ฟังทั้ง ๒ อย่าง ก็ยังแทบไม่แทงตลอด แล้วผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็ยังทะลุปรุโปร่งต่อไปอีกว่า มีดิน น้ำ ไฟ ลม หรืออุปาทายรูปต่างๆ หรือมีขันธ์ต่างๆ ในอาการ ๓๒ นั้น เสร็จแล้วยังต้องฟังปรมัตถเทศนาในอภิธรรมอีก ของปรมัตถธรรมว่า จะเป็นตับหรือปอด หรือเป็นผมก็ดี ยังต้องประกอบด้วยมหาภูตรูป หรืออุปาทายรูป แล้วก็ค่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ ว่า จริงหรือไม่จริง อาตมาเข้าใจถูกไหมคำว่า ทะลุปรุโปร่ง คือต้องรู้เข้าไปถึงสัจจะ ความเป็นจริง ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าทะลุปรุโปร่ง คือในขณะนี้เองที่กำลังมีขันธ์ปรากฏ มีอายตนะ มีธาตุ
พระ นั่นเสียงใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่กำลังปรากฏที่เป็นของจริงที่เป็นปรมัตถธรรม เข้าใจปรุโปร่ง ก็หมายความถึงเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรม ถ้าจะกล่าวว่า กษัตริย์ พระเจ้าปเสนทิโกศล หรือพระเจ้าพิมพิสาร เข้าใจทะลุปรุโปร่ง เข้าใจอย่างไร เข้าใจถึงกุศลจิต โสภณเจตสิกต่างๆ ที่เกิดขึ้น เข้าใจเรื่องการสร้างพระวิหารเชตวันของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็คือเข้าใจถึงกุศลจิตของท่านที่เป็นไปในการสร้างพระวิหาร หมายความถึงสภาพปรมัตถธรรม แทนที่จะกล่าวว่า ขันธ์ ๕ สร้างพระวิหาร ก็ไม่มีใครเข้าใจได้ว่า เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์สร้างพระวิหารเชตวัน เพราะฉะนั้นก็กล่าวว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างพระวิหารเชตวัน แต่ว่าเพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะของปรมัตถธรรม จึงจะเป็นการเข้าใจที่ทะลุปรุโปร่ง แม้แต่ในเรื่องของรูปขันธ์ที่จะเข้าใจทะลุปรุโปร่งได้ก็คือ ขณะที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของรูปขันธ์หนึ่งรูปขันธ์ใดที่กำลังปรากฏ
มิฉะนั้นแล้วปัญญาก็เจริญไม่ได้เลย ไม่ว่าจะอ่านพระไตรปิฎกหรือว่าฟังพระธรรมมากสักเท่าไรก็ตาม ถ้าไม่รู้ว่าจะต้องระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงจะเป็นปัญญาที่เข้าใจทะลุปรุโปร่งได้จริงๆ
อดิศักดิ์ แล้วผู้ที่กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานต้องไปที่สงบสงัด อย่างนี้เรียกว่าเข้าใจทะลุปรุโปร่งไหม
ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังเห็น สติเกิด
อดิศักดิ์ อย่างนี้ต้องถือว่าเขาไม่เข้าใจใช่ไหม ถ้าเข้าใจแล้วจะต้องไม่ไปที่สงบสงัด
ท่านอาจารย์ เป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมบ่อยๆ เนืองๆ เพราะฉะนั้นปกติอยู่ที่ไหน ขณะนี้กำลังเป็นปกติ บางท่านพอฟังแล้ว ความที่คัดค้านกับความเข้าใจเดิมของท่าน ท่านก็ถึงกับไม่เข้าใจว่า ที่ว่าเป็นปกตินั้นคืออย่างไร สงสัยแม้คำว่า เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน บอกหน่อยซิว่า ปกติคืออย่างไร ไม่เข้าใจถึงปกติว่า ในขณะที่กำลังเห็น เป็นปกติ ในขณะที่กำลังได้ยินในขณะนี้เป็นปกติ ในขณะที่กำลังคิดนึกเดี๋ยวนี้ มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเป็นปกติ คือไม่ต้องทำอะไร ก็มีเหตุปัจจัยทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นปกติ ในที่สุดก็เลยไม่เข้าใจคำว่า “ปกติ” เพราะว่าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะไม่สงสัยเลยว่า ปกติคืออย่างไร กำลังนั่ง กำลังนอน กำลังยืน กำลังเดิน กำลังประกอบกิจการงาน กำลังเคลื่อนไหว มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก นี่คือปกติ ยังไม่ต้องทันทำอะไรเลย สติก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
สติเจตสิกซึ่งเป็นองค์หนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติจะประกอบด้วยมรรค ๕ องค์ จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มีตัวตนที่กำลังปฏิบัติ แต่ว่ามรรคมีองค์ ๕ เจริญขึ้น โดยการเกิดขึ้นบ่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจผิด หรือความเข้าใจคลาดเคลื่อน ก็จะทำให้สงสัยแม้ในสิ่งซึ่งไม่เคยคิดว่าจะมีใครสงสัย หรือไม่น่าจะสงสัย คือ ปกติ ก็คือขณะเดี๋ยวนี้เอง ไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้าทำขึ้นด้วยความเข้าใจผิด ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปกติ
แรื่องของสังขารุเปกขาญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณก่อนที่มรรควิถีจะเกิด ก็เป็นเรื่องที่แสนไกล แต่ว่าชีวิตประจำวันทุกขณะที่จะอบรมจนกว่าจะถึง ก็คือการที่จะเข้าใจข้อปฏิบัติที่เป็นการอบรมเจริญปัญญาอย่างถูกต้อง รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงทีละเล็กทีละน้อย แล้วสามารถที่จะรู้ว่า ปรมัตถธรรมที่หลงยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป
แต่เรื่องของสังขารุเปกขาญาณก็เป็นสิ่งที่ไกลมากทีเดียว เพราะเหตุว่าใกล้ต่อการที่มรรควิถีจิตจะเกิด รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคล
เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้ามีความวางเฉยด้วยปัญญาบ้าง แม้เพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อย นั่นก็เป็นการสะสมที่ถูกต้อง ไม่ใช่คิดว่าเราจะวางเฉย แล้วเราก็วางเฉยได้ แล้วก็พอใจที่เราสามารถจะวางเฉยได้ โดยปัญญาไม่รู้อะไร คือ ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นก็ควรเห็นคุณค่าของการสะสมการวางเฉยด้วยปัญญาทีละเล็กทีละน้อยในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นในขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงขั้นของสติปัฏฐาน ความวางเฉยด้วยกุศลก็เป็นไปได้ แต่ก็เป็นสิ่งซึ่งไม่มั่นคง ไม่เหมือนกับขณะที่สติปัฏฐานเกิด แล้วระลึกสังเกตพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น
ความไม่หวั่นไหวที่จะเป็นสังขารุเปกขาญาณ เป็นจุดประสงค์ของการอบรมเจริญปัญญา แต่ว่าจะต้องรู้ด้วยว่า ปัญญาที่จะไม่หวั่นไหวจริงๆ นั้น จะเริ่มเกิดในขณะไหน เช่นในขณะที่กำลังฟังพระธรรม จะเป็นเหตุที่จะให้วางเฉยด้วยปัญญา เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิด เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหมดต้องสัมพันธ์กัน เกื้อกูลกัน ปรุงแต่งกัน ปรุงแต่งจนกว่าจะเป็นสังขารขันธ์ที่จะทำให้ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม จนละคลาย เพราะเหตุว่าการยึดถือสภาพนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนมากมายเหลือเกิน ถ้ายิ่งฟัง ยิ่งศึกษา ยิ่งพิจารณา จะเห็นว่าละเอียดมาก เช่นในขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของรูป ไม่ว่าจะเป็นทางหนึ่งทางใดก็ตาม แล้วก็กำลังสังเกตในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นอย่าลืมว่า ความเป็นตัวตนยังมีอยู่ในเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ที่กำลังสังเกตลักษณะของรูป เพราะเหตุว่าในขณะนั้นสติกำลังสังเกตลักษณะของรูป กำลังพิจารณาลักษณะของรูป เพราะฉะนั้นความเป็นตัวตน ก็ยังมีอยู่ที่เวทนาบ้าง สัญญาบ้าง สังขารบ้าง วิญญาณบ้าง
เพราะฉะนั้นยากจริงๆ ที่จะต้องฟังโดยละเอียด และเป็นผู้ที่อดทนต่อการที่จะเป็นพหูสูต โดยการฟังให้เข้าใจ ให้ละเอียดยิ่งขึ้น เป็นการเกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจและละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
เพราะฉะนั้นสำหรับในวันนี้ขอทบทวนเพื่อจะกล่าวถึงความละเอียดของจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งท่านผู้ฟังก็ได้เคยฟังมาแล้ว แต่ถ้ายิ่งพิจารณาถึงความละเอียดเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เห็นการที่ปัญญาจะต้องอบรมเจริญมากขึ้นพร้อมกับความอดทนจริงๆ
ทุกท่านทราบแล้วว่า สภาวรูปทุกรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นก็ขอให้คิดถึงความรวดเร็วของรูปซึ่งมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะว่า จะสั้นแล้วก็จะเล็กน้อยสักแค่ไหน ทางตา อาจจะไม่มองไม่เห็นเลยว่าเป็นรูปที่มีอายุเพียงแค่ ๑๗ ขณะแล้วก็ดับ แต่สำหรับทางหู ลองคิดถึงเสียงเล็กๆ นิดเดียว ขณะนั้นที่เรารู้สึกว่าสั้นมาก แต่ความจริงแล้วก็เกิน ๑๗ ขณะของจิตแล้ว เพราะเหตุว่าจะต้องมีทั้งวิถีจิตทางปัญจทวาร และภวังค์คั่น และวิถีจิตทางมโนทวาร
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้เพียงรูปที่สั้นที่สุด เล็กน้อยที่สุดที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ก็เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ถ้าปัญญาไม่ตามรู้ความจริงของสภาพธรรม จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมได้อย่างไร เพราะเหตุว่าบางท่านอาจจะได้ยินเสียงบางเสียง เช่นเสียงยุงบิน เคยได้ยินไหม เคยสังเกตไหม ทันทีที่ได้ยินเสียง กำลังนอนอยู่ จะรู้ได้เลยว่า ยุงบิน ชั่วขณะที่สั้นนิดเดียว แต่ก็ยังสามารถจะเกิดการตรึกนึกคิดเป็นเรื่องของเสียงที่ปรากฏว่า ยุงบิน ในขณะนั้นก็มีความรู้สึกเหมือนกับว่า มีการเคลื่อนไหว มีตัวตน คือมีสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งบินด้วย เพราะเหตุว่าเสียงนั้นเป็นเสียงของยุงบิน ถ้ายุงไม่บิน ก็คงไม่มีเสียงอะไร แต่เวลาที่ยุงบินเกิดขึ้นแม้สั้นนิดเดียว ก็ยังทำให้เกิดความคิดในเรื่องของความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้
นี่แสดงให้เห็นว่า กว่าปัญญาจะรู้ความจริงของรูปที่สั้นกว่านั้น คือ ไม่ใช่ยุง แล้วก็ไม่ได้บินด้วย จะมีบินได้อย่างไร เสียงบินได้ไหม เสียงบินไม่ได้ แต่ว่าเสียงของยุงที่บิน ทำให้รู้สึกว่า ในขณะนั้นสามารถที่จะนึกรู้ได้ถึงสิ่งที่มีตัวตนว่า เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งทำเสียงชนิดหนึ่ง คือบินผ่านไปแม้ช่วงสั้นๆ
เพราะฉะนั้นก็จะมีประโยชน์มาก ถ้าจะได้พิจารณาเรื่องของวิถีจิตทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเพิ่มขึ้น
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160