โสภณธรรม ครั้งที่ 148
ตอนที่ ๑๔๘
เท่าที่ได้ฟังจากท่านผู้ฟัง รู้สึกว่าบางท่านยังสับสน คือ ยังไม่เข้าใจชัดเจนในเรื่องของชวนวิถีทางปัญจทวารและทางมโนทวาร บางท่านก็คิดว่า ขณะใดเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตซึ่งเป็นชวนวิถี ขณะนั้นต้องเป็นวิถีจิตทางมโนทวาร ถึงจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตได้
เพราะฉะนั้นก็จะขอกล่าวถึงเรื่องของทวารและกิจของจิตอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นสิ่งที่สะสมและจะได้ไม่หวั่นไหว เมื่อเข้าใจเรื่องของสภาพธรรม และเมื่อสติปัฏฐานมีโอกาสจะเกิดจนกระทั่งถึงสังขารุเปกขาญาณ ก็จะมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่ไม่หวั่นไหวได้ ซึ่งถ้าท่านผู้ใดจะซักถาม เพราะเหตุว่ายังไม่เข้าใจเรื่องของทวารหรือกิจของจิต ก็ขอเชิญ เพราะเหตุว่าการที่จะเข้าใจเรื่องของทวารได้ ก็ต้องเข้าใจเรื่องกิจของจิต หรือจะเข้าใจเรื่องกิจของจิตได้ ก็ต้องเข้าใจเรื่องทวารประกอบกันไปด้วย ซึ่งทั้งกิจของจิตและทวารก็คือในขณะนี้เอง
ข้อสำคัญที่จะต้องเข้าใจก็คือว่า จิตทุกดวงเกิดขึ้นกระทำกิจการงานของจิตนั้นแล้วจึงดับไป ไม่มีจิตดวงไหนเลยซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ทำกิจการงาน
การฟังธรรมต้องพยายามเข้าใจ แล้วจะได้ไม่ต้องท่องเลย เช่น จิตทุกดวงที่เกิดขึ้นต้องทำกิจการงาน ไม่มีจิตสักขณะเดียวหรือสักดวงเดียวที่เกิดขึ้นโดยไม่ทำกิจอะไร เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวถึงโดยละเอียดจริงๆ ก็ขอเริ่มตั้งแต่ขณะจิตแรกที่เกิดขึ้นในชาติหนึ่ง ซึ่งจิตขณะแรกที่เกิดขึ้นในชาติหนึ่งต้องมีแน่ๆ มิฉะนั้นแล้วจิตในขณะนี้ก็มีไม่ได้เลย จิตขณะแรกที่เกิดขึ้นในชาติหนึ่งๆ เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นจิตขณะแรกที่เกิดขึ้นนั้นจึงเป็นชาติวิบาก คือ เป็นวิบากจิต จิตที่เกิดขึ้นขณะแรกทำกิจด้วย ไม่ใช่ไม่ทำกิจ จิตขณะแรกที่เกิดขึ้นนั้นทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เพราะฉะนั้นจิตขณะแรกนั้นทำปฏิสนธิกิจ คือ กิจเกิดสืบต่อจากชาติก่อน
ถ้าได้ยินคำว่า “ปฏิสนธิจิต” รู้เลยว่าหมายความถึงจิตที่ทำกิจปฏิสนธิ ซึ่งเป็นกิจแรกของชาติหนึ่งๆ
อย่าลืมว่า รู้จักกิจที่ ๑ ของจิตดวงแรกแล้ว คือ ปฏิสนธิกิจ เพราะฉะนั้นในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ยังไม่ตาย ด้วยเหตุผล จะมีจิตเกิดขึ้นทำปฏิสนธิกิจอีกได้ไหม ไม่ได้เลย กิจนี้มีจิตที่ทำเพียงดวงเดียว คือ วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมหนึ่งเท่านั้นเอง
ปฏิสนธิจิตรู้อารมณ์อะไร นี่เป็นเหตุที่จะทำให้เข้าใจเรื่องของทวารด้วย ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เดียวกับจิตก่อนจะจุติของชาติก่อน เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย
ทวาร คือ ประตู หรือทางที่จิตจะเกิดขึ้นเป็นไป แต่ว่าปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม และมีอารมณ์เดียวกับจิตก่อนจุติของชาติก่อน เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์เลย
ข้อความในมโนรถปุรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ตติยกัมมสูตรข้อ ๑๙๖ มีข้อความว่า
จะชื่อว่า เทพ ชื่อว่า สัตว์นรก ชื่อว่า สัตว์เดรัจฉาน ก็เพราะปฏิสนธิจิต
เพราะฉะนั้นที่ชื่อว่า มนุษย์ในขณะนี้ก็เพราะปฏิสนธิจิตเป็นผลของกุศลนั่นเอง แต่ถ้าเป็นผลของอกุศล ก็ต้องเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าปฏิสนธิจิตขณะแรกเป็นผลของกรรมที่จะประมวลมาซึ่งผลของกรรมอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น ในระหว่างที่ยังไม่จุติ
กิจที่ ๑ คือ ปฏิสนธิกิจ ซึ่งจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นทำกิจนี้เป็นขณะแรกแล้วก็ดับไป เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น
จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น ก็ควรจะพิจารณาว่า จิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิตนั้นทำกิจอะไร และรู้อารมณ์อะไร
นี่คือชีวิตของแต่ละคนก่อนที่จะมีการเห็น การได้ยิน เป็นสุข เป็นทุกข์ มีปัญหาชีวิตมากมาย มีความเพลิดเพลินต่างๆ ก็ควรที่จะรู้สภาพธรรมที่เป็นอนัตตาโดยการที่เหมือนแว่นแก้วที่ส่องขยายจิตโดยละเอียด ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นขณะแรกดับไป และจิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิต เป็นจิตประเภทไหน ทำกิจอะไร รู้อารมณ์อะไร จิตที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิต เป็นวิบากจิต คือ เป็นผลของกรรมประเภทเดียวกันกับปฏิสนธิจิตนั่นเอง
กิจที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิกิจ ทำกิจภวังค์ คือ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นไว้
คำว่า “ภวังค์” มาจากคำว่า “ภพ” หรือ ภว กับคำว่า อังค ภพ คือ ความเป็น อังค คือ ส่วน เพราะฉะนั้นก็คือส่วนที่เป็นอยู่ หรือสภาพที่เป็นอยู่ที่จะต้องดำรงความเป็นสภาพนั้นอยู่ในขณะที่ภวังคจิตเกิด จะไม่เปลี่ยนเป็นบุคคลอื่นเลย
เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิต เป็นผลของกรรมเดียวกับปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้นก็ทำกิจดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นไว้ในขณะที่ภวังคจิตเกิด แล้วดับไป แล้วภวังคจิตก็เกิดแล้วก็ดับไป ภวังคจิตทุกขณะมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต เป็นชาติวิบากและรู้อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องอาศัยทางทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่น
ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดและภวังคจิตเกิด ขณะนั้นอารมณ์ไม่ปรากฏเลย จริงหรือไม่จริงคะ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดและดับไป และขณะที่ภวังคจิตเกิดสืบต่อแล้วก็ดับไป ตราบใดที่ยังเป็นภวังคจิต ตราบนั้นอารมณ์ไม่ปรากฏ นี่เป็นเหตุที่ไม่ต้องอาศัยทวาร เพราะเหตุว่าไม่มีอารมณ์ปรากฏทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้นเพื่อที่จะได้เข้าใจเรื่องของทวารและเรื่องของจิต ก็ควรที่จะได้ทราบว่า ขณะใดที่อารมณ์ไม่ปรากฏ ขณะนั้นเพราะจิตไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้น
อีกครั้งหนึ่งนะคะ ขณะใดที่อารมณ์ไม่ปรากฏ ขณะนั้นเพราะจิตไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นหลังจากปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไป และภวังคจิตเกิดสืบต่อ ภวังคจิตจะเกิดดับสืบต่อไปเรื่อยๆ โดยอารมณ์ไม่ปรากฏเลย จนกว่าจิตประเภทอื่นจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่น ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิจิตและภวังคจิต
ตอนนี้ที่จะต้องอาศัยทวารเป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังคจิต ถ้าเกิดในครรภ์เป็นมนุษย์ มีหทยรูป มีภาวรูป มีกายปสาทรูปเกิดพร้อมกับ ปฏิสนธิจิตก็จริง แต่ว่าการรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังคจิตนั้น สำหรับวาระแรกต้องเป็นวิถีจิตทางมโนทวาร
เพราะฉะนั้นขอกล่าวถึงมโนทวารก่อน สำหรับผู้ที่ตายแล้วเกิดอีกนั้นก็คือผู้ที่ไม่เป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นการสะสมความพอใจในแต่ละภพในแต่ละชาติที่มีมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เมื่อปฏิสนธิจิตและภวังคจิตเกิดแล้วก็ดับไป การสะสมความยินดีพอใจในภพชาติที่สะสมมานับประมาณไม่ได้เลยนั้น ก็เป็นปัจจัยให้ภวังค์ไหว ตามความยินดีพอใจที่สะสมมา
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ทันทีที่เกิดแม้จะอยู่ในครรภ์ และมีรูปกลุ่มที่เล็กที่สุด ๓ กลุ่ม แต่ว่าวิถีจิตแรกที่ไม่ใช่ภวังคจิต จะต้องเกิดขึ้นทางมโนทวาร โดยเป็นความยินดีพอใจในภพชาติ การที่จิตจะเกิดขึ้นยินดีพอใจในภพชาติได้ ก็เพราะเหตุว่าเคยสะสมความยินดีพอใจในภพชาติมามากมายทีเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเกิดแล้วก็ดับเกิดแล้วก็ดับ เป็นภวังค์อยู่ วาระแรกที่จะรู้อารมณ์อื่นนั้นก็เพราะความยินดีพอใจในภพชาตินั่นเองทำให้ภวังคจิตไหว และภวังคจิตไหวซึ่งภาษาบาลีว่า “ภวังคจลนะ” ดับไปแล้ว ภวังคุปเฉทะก็เกิดต่อ เป็นการสิ้นสุดกระแสภวังค์ เมื่อภวังคุปเฉทะดับไปแล้ว จิตอื่นจึงเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์
เพราะฉะนั้นจิตใดๆ ก็ตามที่รู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ จิตนั้นเป็นวิถีจิต การที่จิตจะรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังคจิตได้นั้น ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใด ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “ทวาร” ซึ่งทั้งหมดมี ๖ ทาง ได้แก่ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑
เพราะฉะนั้นทางใจก็คือสภาพของจิตที่เป็นภวังค์ที่เกิดก่อนวิถีจิตจะเกิดนั่นเอง เป็นมโนทวาร เป็นทางที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใจ
เพราะฉะนั้นมโนทวาร ได้แก่ ภวังคุปเฉทจิต ซึ่งเกิดก่อนวิถีจิต
พระ คือที่เรียกทวาร เพราะเป็นทางรับอารมณ์ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เพราะเหตุว่าธรรมดาแล้วเมื่อปฏิสนธิจิตดับไป ภวังคจิตจะเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดรู้อารมณ์อื่น เพราะเหตุว่ายังมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิตอยู่ ต่อเมื่อใดที่จะไม่มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต เมื่อนั้นจึงต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้น เพื่อที่จะรู้อารมณ์อื่น ต่อเมื่อใดที่จะเปลี่ยนจากการรู้อารมณ์เดียวกับภวังคจิต เมื่อนั้นจึงต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใด ซึ่งมีอยู่ ๖ ทาง ได้แก่ จักขุปสาทรูป เป็นทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นเห็นสี เป็นไปกับสีที่ปรากฏ ๑ รูป หรือ ๑ ทวาร
ทวารที่ ๒ คือ โสตปสาทรูป เป็นทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงและเป็นไปกับเสียงที่ปรากฏทางโสตทวาร นี่เป็นทวารที่ ๒
ทวารที่ ๓ คือ ฆานปสาทรูป เป็นทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นได้กลิ่นและเป็นไปกับกลิ่นที่ปรากฏที่จมูก
ทวารที่ ๔ คือ ชิวหาปสาทรูป เป็นรูปที่เป็นทางให้จิตเกิดขึ้นลิ้มรสและเป็นไปกับรสที่ปรากฏ
ทวารที่ ๕ คือ กายปสาทรูป เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วกาย เป็นทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นรู้เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่กระทบสัมผัสกาย
นี่คือรูป ๕ รูปซึ่งเป็นทางหรือทวารให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่สำหรับมโนทวาร ไม่ใช่รูป เพราะเหตุว่าแม้ไม่มีรูปกระทบ แต่เคยสะสมความยินดีพอใจไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายซึ่งดับไปแล้ว แต่ว่าสัญญา ความทรงจำ ที่สะสมความจำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็เป็นปัจจัยทำให้วิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นอีก ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์
เพราะฉะนั้นขณะใดที่จิตไม่รู้อารมณ์เดียวกับภวังค์ ขณะนั้นเป็นวิถีจิตทางหนึ่งทางใด ถ้าไม่ใช่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ต้องเป็นวิถีจิตทางมโนทวาร เพราะเหตุว่าอาศัยจิตซึ่งเกิดก่อนเป็นทางที่จะให้จิตที่เป็นวิถีจิตที่จะรู้อารมณ์อื่นเกิดขึ้น รู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์
พระ มีการสั่งสมทำให้วิถีจิตเกิดได้ โดยไม่ต้องอาศัยปสาทใดๆ
ท่านอาจารย์ ที่ไม่อาศัยปสาทใดๆ ก็เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่การเห็นสิ่งที่กระทบทางตา ไม่ใช่การได้ยินเสียงที่กระทบหู เพราะฉะนั้นจึงเป็นแต่เพียงการนึกถึงเรื่องราว และสิ่งต่างๆ ที่เคยสั่งสมมา ไม่ว่าจะเป็นการระลึกด้วยความยินดี หรือความไม่ยินดีพอใจด้วยกุศลจิตก็ตาม การสะสมนั้นเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการนึกถึงอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้นขณะที่จะนึกถึงอารมณ์นั้น ก่อนที่จะนึกถึงอารมณ์นั้น จิตเป็นภวังค์ เพราะฉะนั้นเมื่อจะนึกถึง ภวังคุปเฉทะต้องดับก่อน โดยก่อนภวังคุปเฉทะ ภวังคจลนะต้องเกิดไหวเพื่อที่จะทิ้งอารมณ์ของภวังค์ เพื่อที่จะรู้อารมณ์ใหม่
นิภัทร มีเด็กๆ เขาสนใจและถามผม ผมก็ตอบไม่ได้ คือ เขาบอกว่าขณะที่คนใกล้จะตายถึงขั้นโคม่าก็ตาม ไม่รู้สึกอารมณ์แล้ว แม้แต่สมองก็ไม่ได้สั่งงานแล้ว อยู่เฉยๆ นิ่งไม่รู้สึกอะไร แต่หายใจ จิตขณะนั้นเป็นทางมโนทวารใช่ไหมครับ หรือจะบอกได้ไหมครับว่าเป็นทางมโนทวาร
ท่านอาจารย์ คนอื่นจะบอกไม่ได้ นอกจากคนที่รู้วาระจิต
นิภัทร ผมก็บอกว่า ปสาททั้ง ๕ ไม่รู้อารมณ์แล้ว ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายไม่รู้สึกแล้ว แม้แต่สมองก็ไม่ทำงาน แต่หายใจได้ อย่างกรณีเจ้าหญิงนิทราซึ่งสลบมาหลายๆ ปี
ท่านอาจารย์ ถ้าจะกล่าวอย่างนี้ได้ไหมว่า ขณะใดก็ตามที่จิตไม่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะนั้นเป็นภวังคจิต มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่ไม่ใช่ภวังคจิต ปฏิสนธิจิตนั้นไม่ต้องคิดถึง เพราะเหตุว่าเพียงชั่วขณะเดียว ขณะใดที่จิตรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์เดียวกับภวังคจิต ขณะนั้นเป็นวิถีจิต เป็นจิตประเภทอื่นที่ไม่ใช่ภวังคจิต
นิภัทร ขณะที่คนเจ็บหนัก เราก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า จิตของเขาขึ้นสู่วิถีทางมโนทวารหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ทางกายทวาร เราก็ไม่สามารถจะรู้ได้
นิภัทร ทางกายทวารคงไม่มีแน่ เพราะไม่มีความรู้สึก
ท่านอาจารย์ ใครรู้ว่า เขาไม่มีความรู้สึก ถ้าตราบใดที่มีกายปสาท มีโผฏฐัพพะกระทบ ก็เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้โผฏฐัพพะ เย็น ร้อน อ่อน แข็งทางกาย ที่กำลังกระทบ
นิภัทร อย่างคนที่เป็นอัมพาตทั้งตัว หยิกก็ไม่เจ็บ เข็มแทงก็ไม่เจ็บ
ท่านอาจารย์ ทุกส่วนหรือคะ กายปสาทนี่ซึมซาบอยู่ทั่วตัว ถ้าอย่างนั้นคนนั้นต้องไม่เจ็บ ถ้าไม่มีกายปสาทรูป รูปนั้นไม่เจ็บ แต่ถ้าเจ็บหมายความว่ามีกายปสาทรูป
นิภัทร อย่างนั้นก็พอสรุปได้เพียงว่า ถ้าหากจิตไม่ขึ้นสู่วิถีทางปัญจทวาร ทางมโนทวาร จิตนั้นก็เป็นภวังคจิต
ท่านอาจารย์ แต่ก็ไม่อยากให้ใช้สำนวนเก่าที่ว่า ขึ้นสู่วิถี ใช้คำว่า ขณะที่เป็นภวังค์ และขณะใดที่เป็นวิถีจิต เพราะอาจจะทำให้นึกถึงภาพขึ้นๆ ลงๆ เข้าๆ ออกๆ ซึ่งความจริงจิตเป็นนามธรรม ไม่มีขึ้นไม่มีลง ไม่มีเข้า ไม่มีออก
สำหรับจุดประสงค์ในวันนี้ ขอเพียงให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจปฏิสนธิจิต และปฏิสนธิกิจที่เป็นกิจที่ ๑ และภวังคกิจ เป็นกิจที่ ๒ เพราะเหตุว่ากิจทั้งหมดของจิต มี ๑๔ กิจ ไม่มากเลย แต่ว่าจิตมีจำนวนถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท เพราะฉะนั้นก็จะต้องทราบว่า จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภทนั้นที่เกิดขึ้นจะต้องทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ และก็ค่อยๆ เข้าใจไปทีละกิจ สำหรับวันนี้ก็เป็นปฏิสนธิกิจและภวังคกิจ และเริ่มที่จะเข้าใจเรื่องของทวาร คือ ทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์เดียวกับภวังคจิต เพราะเหตุว่าในขณะที่เป็นภวังค์ อารมณ์ไม่ปรากฏ แต่ว่ากรรมไม่ได้ทำให้ปฏิสนธิแล้วก็เป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ กรรมนั้นก็จะทำให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่างๆ เป็นผลของกุศลกรรมบ้าง เป็นผลของอกุศลกรรมบ้าง แต่ว่าก่อนที่จะกล่าวถึงอารมณ์อื่นๆ ทางทวารอื่นๆ ก็ควรที่จะได้ทราบว่า ขณะใดที่เป็นภวังคจิต ขณะนั้นไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร เพราะเหตุว่าในขณะนั้นไม่ได้รู้อารมณ์อื่น เพียงแต่เป็นจิตที่เป็นภวังค์ มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ไม่ปรากฏ
อดิศักดิ์ เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิสนธิจิต ชั่วนิดเดียวก็เป็นภวังคจิต ภวังคจิตก็ยังไม่มีอารมณ์
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษค่ะ ภวังคจิตต้องรู้อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต ยังไม่เปลี่ยนอารมณ์
อดิศักดิ์ แล้วจะเริ่มเปลี่ยนอารมณ์เมื่อไร ออกจากครรภ์มารดา หรืออยู่ในครรภ์มารดา
ท่านอาจารย์ ในครรภ์มารดาก็ยังเปลี่ยนอารมณ์ได้ เพราะเหตุว่าจิตทุกขณะเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นยังไม่ทันที่จะมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น แม้ว่าขณะนั้นมีกายปสาทรูป เพราะเหตุว่ากายปสาทรูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิด จะมีกลุ่มของรูป ๓ กลุ่มเกิดพร้อมกับปฏิสนธิ กลุ่มหนึ่งคือ หทยวัตถุ เรียกว่า หทยทสกะ มีรูปรวมกัน ๑๐ รวม เป็นที่เกิดของปฏิสนธิจิต เพราะเหตุว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องมีรูปเป็นที่เกิดของจิต ๑ กลุ่ม และก็มีภาวทสกะ กลุ่มของรูปที่เป็นเพศหญิงหรือเพศชาย ๑ กลุ่ม แล้วก็มีกายทสกะ ซึ่งมีกายปสาทรูปเกิด แต่แม้กระนั้นความรวดเร็วของการเกิดดับของจิตซึ่งจากปฏิสนธิแล้วก็เป็นภวังค์ๆ ๆ ๆ วิถีจิตแรกเป็นมโนทวารวิถี ซึ่งโลภมูลจิตจะเกิดขึ้นยินดีพอใจในภพในภูมิที่กำลังเป็นอยู่ตามการสะสม
อดิศักดิ์ โลภมูลจิตเกิดขึ้นขณะนั้นก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลย
ท่านอาจารย์ โลภมูลจิตมีอารมณ์อื่นจากปฏิสนธิและภวังค์ เพราะฉะนั้นจึงยินดีพอใจในภพชาติที่กำลังเป็นอยู่
อดิศักดิ์ ยินดีพอใจโดยไม่รู้ตัว ตอนนั้นยังไม่คลอดจากครรภ์มารดา
ท่านอาจารย์ ความยินดีพอใจเกิดรวดเร็วและตามการสะสม ชั่วระยะสั้นๆ จะรู้ตัวไหม ถ้าไม่ใช่เป็นวาระนานๆ ที่เรารู้สึกว่าเราเป็นสุขมากๆ จิตต้องเกิดหลายวาระ หลายวิถีจิต ถ้าเพียงวาระเดียวซึ่งมีวิถีจิตหลายวิถี แต่เป็นวาระเดียวเท่านั้น ก็เร็วมากทีเดียว เพราะขณะนี้ที่กำลังเห็น จักขุทวารวิถีจิต ที่ได้เคยกล่าวถึงแล้วว่า รูปมีอายุ ๑๗ ขณะ และที่เป็นวิถีจิตก็เริ่มตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต พวกนี้เป็นวิถีจิตทั้งหมด เพราะเหตุว่าไม่ใช่ภวังค์ เพราะกำลังรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา ชวนจิตที่เป็นโลภมูลจิตเกิดยินดีพอใจในขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ดับ ชวนวิถีจิตที่เป็นโลภะเกิดดับ ๗ ขณะ และรูปก็ยังไม่ดับ และหลังจากนั้นตทาลัมพนจิตเกิด ๒ ขณะ
ในขณะที่เป็นจักขุทวารวิถีจิต ซึ่งกำลังมีรูปที่มีอายุ ๑๗ ขณะจิต ยังไม่ดับ เป็นขณะที่สั้นมาก
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160