โสภณธรรม ครั้งที่ 150
ตอนที่ ๑๕๐
ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิต เจตสิก ก็ต้องเกิดที่รูป ขณะนั้นก็ยังไม่ถึงขณะนี้ ขอย้อนกลับไปถึงตอนที่ปฏิสนธิจิตเกิด และก็มีรูปเล็กๆ ๓ กลุ่ม แล้วหลังจากนั้น ก็มีรูปที่เกิดจากกรรม รูปที่เกิดจากจิต รูปที่เกิดจากอุตุ รูปที่เกิดจากอาหาร ก็ทยอยกันเกิดดับอยู่เรื่อยๆ แล้วจิตก็เป็นภวังค์ ในขณะนั้น จิตเกิดดับที่หทยวัตถุ แต่ว่ายังไม่รู้แม้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย แม้ว่าจะมีกายปสาทรูปแล้ว
สำหรับการรู้อารมณ์ทางใจ คือ มโนทวารวิถีจิตซึ่งเกิดเป็นวาระแรก หลังจาก ปฏิสนธิจิตดับไป แล้วภวังคจิตเกิดต่อ
วิถีจิตวาระแรกที่จะเปลี่ยนอารมณ์จากภวังค์เป็นอารมณ์อื่น จิตขณะแรกที่เปลี่ยนอารมณ์ของภวังค์เป็นอารมณ์อื่นนั้น คือ จิตที่นึกถึงอารมณ์ ชื่อว่า มโนทวาราวัชชนจิต ถ้าจะกล่าวว่า เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้วก็ดับ ภวังคจิตเกิดสืบต่อแล้วดับอยู่เรื่อยๆ ยังไม่เปลี่ยนอารมณ์เลย เพราะฉะนั้นการที่จะเปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์ซึ่งเกิดดับเหมือนกระแสน้ำ ก็โดยการที่จะต้องมีการนึกถึงอารมณ์ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า มโนทวาราวัชชนจิต ถ้าแปลโดยศัพท์ จะแปลว่า จิตที่รำพึงถึงอารมณ์ แต่สำหรับภาษาไทย ถ้าใช้คำว่า “รำพึงถึงอารมณ์” คนก็จะต้องคิดว่า ต้องรำพึงนานทีเดียว แต่ถ้าจะเข้าใจอรรถ ไม่ต้องติดที่พยัญชนะ เข้าใจอรรถของ “อาวัชชนจิต” คือ นึกถึงอารมณ์ จะเร็วไหม เพียงแค่ขณะที่เป็นภวังค์อยู่ เกิดดับเป็นกระแสภวังค์ ไม่รู้อารมณ์ทางทวารไหนเลย แล้วก็เกิดนึกถึงอารมณ์ขึ้น ขณะนั้นถ้าเป็นทางใจ ก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตขณะแรกที่เปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์เป็นอารมณ์อื่น
นี่เป็นกิจที่ ๓ เพราะเหตุว่าถ้าจะเข้าใจชีวิตในวันหนึ่งๆ ก็จะต้องเข้าใจจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นกระทำกิจต่างๆ ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว คือ กิจที่ ๑ ปฏิสนธิกิจ กิจที่ ๒ คือ ภวังคกิจ และกิจที่ ๓ ที่เปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์เป็นอารมณ์อื่น คือ อาวัชชนกิจ นึกถึงอารมณ์ กำลังนึกถึงอารมณ์ทางใจในขณะนี้หรือเปล่า นั่งๆ อยู่เกิดนึกอะไรขึ้นมา ให้ทราบว่าขณะนั้นมโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจ เปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์เป็นอารมณ์อื่นซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์
เป็นประจำทุกวัน แต่ไม่เคยทราบเลยว่า มีจิตที่ทำกิจนี้ทุกครั้งที่นึกถึงอารมณ์อะไร ที่กำลังคิดเรื่องอะไรทางใจ วิถีจิตแรกที่ไม่ใช่ภวังค์ต้องเป็นอาวัชชนกิจ เมื่อเป็นทางใจก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นนึกถึงอารมณ์
มีใครสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของมโนทวาราวัชชนจิตไหม จิตนี้เกิดขึ้นเพียงขณะเดียว ทำกิจนึก เร็วมาก หลังจากที่มโนทวาราวัชชนจิตเกิดแล้วดับไป คือ เพียงนึกถึงอารมณ์ ขณะนั้นจะเกิดกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง โลภมูลจิต ชอบในเรื่องที่กำลังคิดบ้าง หรือว่าเป็นโทสมูลจิต คือ ไม่ชอบเรื่องที่กำลังคิดบ้าง ในขณะนั้นจะเห็นได้ว่า ในขณะที่กำลังชอบหรือไม่ชอบ ยังสามารถที่จะรู้ได้ แต่ขณะที่เป็นมโนทวาราวัชชนจิต คือ เพียงนึกถึงอารมณ์ขณะเดียว ก่อนที่โลภมูลจิตจะเกิด โทสมูลจิตจะเกิดนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้
ด้วยเหตุนี้แม้จิตจะเกิดขึ้นกระทำกิจ ส่วนใหญ่เป็นกิจที่ไม่สามารถจะรู้ได้ ตั้งแต่ปฏิสนธิกิจ ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ ภวังคกิจ ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ อาวัชชนกิจ คือ การนึกถึงอารมณ์ต่างๆ ถ้าเป็นทางใจได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทางตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย จะได้แก่จิตอีกดวงหนึ่ง ซึ่งชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่มโนทวาราวัชชนจิต แต่ว่าจิตที่ทำปฏิสนธิกิจก็ดี ทำกิจภวังค์ก็ดี ทำกิจอาวัชชนะก็ดี ไม่สามารถจะรู้ได้ ต่อเมื่อทางใจ มโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว โลภมูลจิตเกิด หรือโทสมูลจิตเกิด หรือเมตตาเกิดเป็นกุศล ขณะนั้นจึงสามารถที่จะรู้ได้
จริงหรือไม่จริง จิตเกิดขึ้นกระทำกิจการงานของแต่ละกิจๆ ไป โดยไม่รู้ นอกจากในขณะที่เป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต ซึ่งไม่ใช่อาวัชชนกิจ เพราะเหตุว่าเกิดหลังจากที่จิตนึกแล้ว เพราะฉะนั้นโลภมูลจิตก็ดี โทสมูลจิตก็ดี หรือกุศลจิตก็ดี ที่รู้เพราะเหตุว่าทำชวนกิจ โดยศัพท์ ชวนะ หมายความว่า ไปอย่างเร็ว คือ แล่นไปในอารมณ์ที่จิตนึก ไม่ว่าจิตจะนึกเรื่องอะไรขณะหนึ่งแล้วดับไป โลภมูลจิตจะแล่นไปหรือว่าไปอย่างเร็วในอารมณ์นั้น ไม่รั้งรอเลยที่จะเป็นโลภะ โลภมูลจิตซึ่งเกิดต่อจากมโนทวาราวัชชนจิตจะเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ
นี่เป็นการสามารถรู้ลักษณะของจิตที่กำลังชอบหรือไม่ชอบ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าเกิดดับซ้ำกัน ๗ ขณะ แล้วก็เป็นจิตที่ไปอย่างเร็ว คือ แล่นไปตามอารมณ์ที่มโนทวาราวัชชนจิตนึก
ทุกคนที่คิดเรื่องต่างๆ ทุกคืนทุกวัน ถ้าระลึกก็จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าคิดถึงเรื่องที่สนุกสนาน น่าเพลิดเพลิน ขณะนั้นก็เป็นความรู้สึกที่สบาย เป็นสุข ถ้าคิดถึงเรื่องที่ไม่น่าสบายใจเลย เป็นทุกข์กังวลเดือดร้อน ขณะนั้นก็เป็นโทสมูลจิต และใครจะยับยั้งได้ที่จะไม่ให้จิตคิด ที่จะบอกว่าอย่าคิด ถ้าเรื่องที่ไม่ดี เป็นทุกข์ ก็อย่าคิด ห้ามไม่ได้เลย เพราะว่าแล้วแต่อาวัชชนจิต คือ มโนทวาราวัชชนจิตจะเกิดขึ้นนึกถึงอารมณ์ใด และจิตที่เกิดต่อก็จะแล่นไปตามอารมณ์ที่จิตคิดนั้นอย่างรวดเร็วด้วยโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือกุศลจิต
เพราะฉะนั้นถ้าใครอยากจะคิดเรื่องที่เป็นกุศล มีทางเดียว คือ สะสมการกระทำกุศลที่กุศลจิตเกิดมากๆ จนกระทั่งเป็นปัจจัยให้มโนทวาราวัชชนจิตนึกถึงเรื่องนั้นแล้วกุศลจิตก็เกิดต่อได้
ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านซื้อกล้วยแขกไปถวายพระภิกษุด้วยความยินดี เห็นว่าเป็นอาหารที่ท่านไม่ค่อยได้ฉัน ต่อมาท่านก็ฝันอีกว่า ท่านเคยซื้อกล้วยแขกไปถวายพระ ทำไมไม่ซื้ออีกล่ะ ในฝันท่านคิดอย่างนั้น เพราะฉะนั้นวันรุ่งขึ้นท่านก็ซื้อกล้วยแขกไปถวายพระอีก
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กุศลที่ทำบ่อยๆ หรือที่ทำด้วยความปลาบปลื้ม หรืออาจจะเป็นกุศลพิเศษ อย่างกล้วยแขก ก็คงไม่มีใครคิดที่จะถวายพระภิกษุ แต่ว่าเมื่อผู้ใดได้ถวาย ผู้นั้นก็เกิดจิตที่ทำให้ปลาบปลื้มว่า เราได้ถวายสิ่งซึ่งคนส่วนใหญ่คงจะไม่ค่อยถวาย ท่านคงจะไม่ค่อยได้ฉัน เป็นปัจจัยให้ฝัน เป็นกุศล และผลก็คือว่า ทำให้เกิดกุศลต่อไป คือ วันต่อไปท่านก็ซื้อกล้วยแขกถวายพระภิกษุอีก
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาจริงๆ แม้แต่ความคิด มโนทวาราวัชชนจิตจะเกิดขึ้นคิดอะไร ก็เป็นไปตามการสะสม
คืนนี้ทุกคนก็จะฝัน ขณะที่ฝันคงจะไม่รู้ว่า มโนทวาราวัชชนจิตคิดแต่ละเรื่อง แล้วแต่ว่าในฝันนั้นบางขณะก็เป็นโลภะ บางขณะก็เป็นโทสะ บางขณะก็เป็นกุศล
เพราะฉะนั้นความฝันของแต่ละคนก็จะพิจารณาได้ว่า เป็นโลภะมาก หรือว่าเป็นโทสะมาก หรือว่าเป็นกุศลมาก แต่ยับยั้งไม่ได้ เมื่อไม่ใช่ความฝันก็ยังยับยั้งไม่ได้อีก ไม่ใช่จะยับยั้งไม่ได้เฉพาะในขณะที่ฝัน แม้ไม่ฝันก็ไม่มีใครสามารถให้มโนทวาราวัชชนจิต เกิดนึกคิดแต่ในเรื่องที่จะทำให้สบายใจ หรือเป็นกุศล เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
ข้อความในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถา จริยานานัตตญาณนิทเทส ข้อ ๑๖๕ มีข้อความว่า
ชื่อว่า อาวัชชนะ เพราะอรรถว่า นำออกไปจากสันตาน คือ การสืบต่ออันเป็นภวังค์ แล้วนึก คือน้อมไปสู่อารมณ์
จะต้องนึกกันอีกมากมายเหลือเกินในสังสารวัฏฏ์ แต่ให้ทราบว่าขณะใดเป็นจิตประเภทใดก็ยังดี คือ ให้รู้ว่าขณะที่นึกเป็นจิตประเภทหนึ่ง ไม่ใช่โลภมูลจิต โทสมูลจิต แต่เป็นจิตที่ทำอาวัชชนกิจ มี ๒ ดวง คือ ถ้าเป็นเพียงการนึกถึงอารมณ์ทางใจ ขณะนั้นไม่ใช่อารมณ์ที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ใจนึกถึงอารมณ์ ขณะนั้นเป็นมโนทวาราวัชชนจิต แต่ถ้าขณะใดที่อารมณ์กระทบตา ทำให้เกิดนึกถึงอารมณ์ที่กระทบตา ขณะนั้นเป็นปัญจทวาราวัชชนจิตที่นึกถึงรูปารมณ์ที่กระทบตา ถ้าเป็นทางหู เสียงกระทบหูขณะใด การที่เสียงกระทบหูเป็นปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นนึกถึงเสียง
เพราะฉะนั้นจิตที่ทำอาวัชชนกิจ มี ๒ ดวง คือ มโนทวาราวัชชนจิต นึกถึงอารมณ์ทางใจ ๑ ดวง และปัญจทวาราวัชชนจิต นึกถึงอารมณ์ที่กระทบตา กระทบหู กระทบจมูก กระทบลิ้น กระทบกาย ๑ ดวง ก่อนที่วิถีจิตอื่นๆ จะเกิด เช่น ทางใจ ก่อนที่โลภะจะเกิด โทสะจะเกิดเป็นไปในอารมณ์ต่างๆ ก่อนที่จะฝันเป็นเรื่องราวต่างๆ มโนทวาราวัชชนจิตจะเกิดเพียงขณะเดียวแล้วดับไป และหลังจากนั้นจิตที่เกิดต่อก็แล่นตามอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดต่อ คือ กุศลจิตหรืออกุศลจิตที่เกิดต่อจากมโนทวาราวัชชนจิต จึงทำชวนกิจ คือ กิจที่แล่นตามอารมณ์ที่มโนทวาราวัชชนจิตนึก
นี่ก็เป็น ๔ กิจแล้ว คือ ปฏิสนธิกิจ ๑ ภวังคกิจ ๑ อาวัชชนกิจ ๑ และชวนกิจ ๑
ก่อนที่จะเติบโตออกจากครรภ์มารดา มโนทวารวิถีจิตก็เกิดมากมายนับไม่ถ้วนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นบางท่านก็จะเห็นหลังจากเด็กคลอดจากครรภ์มารดาแล้ว บางครั้งก็ยิ้ม ก็แสดงให้เห็นว่า ในขณะนั้นก็ต้องนึกถึงเรื่องที่ทำให้เกิดโสมนัส ความรู้สึกที่เป็นสุข แม้จะหลับตา บางคนก็ยังยิ้ม ก็แสดงว่าขณะนั้นมโนทวารวิถีจิตเกิด โดยมโนทวาราวัชชนจิตนึก แล้วโสมนัสเวทนาที่เกิดกับโลภมูลจิต หรืออาจจะเป็นมหากุศลจิตที่เกิดกับโสมนัสเวทนาเกิดก็ได้ โดยที่ไม่มีใครรู้ เพราะว่าขณะใดก็ตามที่ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะนั้นเป็นมโนทวารวิถีจิตสลับกับภวังคจิต ขณะใดที่ไม่รู้อารมณ์ใดเลยทั้งสิ้น ขณะนั้นเป็นภวังค์ แต่ขณะใดที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่คิดนึก ขณะนั้นเป็นวิถีจิตทางใจ เป็นมโนทวารวิถีจิต
สำหรับกิจ ๔ กิจนี่คงไม่ต้องท่องใช่ไหม ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ อาวัชชนกิจ ชวนกิจ
นี่เป็นเรื่องทางใจ ต่อไปก็เป็นเรื่องทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
โลภมูลจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องเกิดที่รูป และขณะใดที่ไม่ใช่จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ จิตอื่นทั้งหมดต้องเกิดที่หทยวัตถุ เพราะฉะนั้นหทยวัตถุเกิดแล้วก็มีอายุ ๑๗ ขณะจิตแล้วก็ดับ แล้วแต่ว่าหทยวัตถุนั้นจะเป็นที่เกิดของจิตประเภทใด ขณะที่มโนทวาราวัชชนจิตเกิดนึกถึงอารมณ์ ขณะนั้นก็ต้องเกิดที่หทยวัตถุ ขณะที่เป็นโลภมูลจิต หลังจากที่มโนทวาราวัชชนจิตดับลง โลภมูลจิตขณะนั้นก็ต้องเกิดที่หทยวัตถุ แต่ว่าหทยวัตถุไม่ใช่ทวาร ไม่ใช่ทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เป็นแต่เพียงที่เกิดของจิต
เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ของรูปก็คือ รูปซึ่งที่เป็นที่เกิดของจิตมี ๖ รูป ได้แก่ หทยวัตถุรูป เป็นที่เกิดของจิตส่วนใหญ่ นอกจากนั้นแล้วก็มีจักขุปสาทรูป เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ ๒ ดวง โสตปสาทรูป เป็นที่เกิดของโสตวิญญาณ ๒ ดวง ฆานปสาทรูปเป็นที่เกิดของฆานวิญญาณ ๒ ดวง ชิวหาปสาทรูปเป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณ๒ ดวง กายปสาทรูปเป็นที่เกิดของกายวิญญาณ ๒ ดวง
นี่คือรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต
ถาม ปฏิสนธิจิตพอเกิดแล้วก็เป็นภวังคจิต จากภวังคจิตก็เป็นอตีตภวังค์ ใช่ไหม จากอตีตภวังค์ ก็เป็นภวังคจลนะ จากภวังคจลนะ ก็เป็นภวังคุปเฉทะ จากนั้นก็เป็นทวาราวัชชนจิต แล้วต่อไปก็เป็นทวิปัญจวิญญาณ และหลังจากนั้นก็เป็นสัมปฏิจฉันนะ แล้วก็สันตีรณะ แล้วก็โวฏฐัพพนะ แล้วก็เป็นชวนจิตที่เกิดโลภะ โทสะ ๗ ขณะ จากนั้นก็เป็นตทาลัมพนะ และจากตทาลัมพนะก็เป็นภวังคจิตอีกที ภวังคจิตอีกทีก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิตอีกที จากมโนทวาราวัชชนจิตจะกลับไปเป็นสัมปฏิจฉันนะอะไรพวกนี้อีกหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ วิถีจิตที่กล่าวถึงตั้งแต่อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปเฉทะ และปัญจทวาราวัชชนะ และปัญจวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ ตทาลัมพนะ นั่นคือขณะที่รูปกระทบกับตาแล้วจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือว่าเสียงกระทบกับหูแล้วจิตก็เกิดขึ้นได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏ หรือขณะที่กลิ่นกระทบกับจมูกแล้วจิตเกิดขึ้นรู้กลิ่น หรือว่าขณะที่รสกระทบลิ้นแล้วจิตเกิดขึ้นลิ้มรส หรือขณะที่โผฏฐัพพะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวกระทบกาย แล้วจิตก็เกิดขึ้นรู้เย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหวที่กระทบกาย
นี่คือเรื่องของปัญจทวารวิถี แต่ว่าสำหรับมโนทวารวิถี ไม่ใช่ขณะที่สิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ดับ ไม่ใช่การรู้เสียงที่ยังไม่ดับ มโนทวารวิถีจิตกับปัญจทวารวิถีจิต ต่างกันที่ ปัญจทวารวิถีจิตทางตา วิถีจิตทั้งหมดมีรูปที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์ ถ้าเป็นทางหู วิถีจิตทั้งหมดก็รู้เสียงที่ยังไม่ดับ นี่คือโสตทวารวิถี ถ้าเป็นทางจมูก ถ้าเป็นขณะที่ได้ยิน จิตทั้งหมดที่เป็นฆานทวารวิถีจิต อาศัยฆานปสาทรูปเกิด ต้องรู้กลิ่นที่ยังไม่ดับ แต่ทางมโนทวารวิถี ไม่ใช่จิตที่กำลังรู้รูปที่กระทบตาที่ยังไม่ดับ ถ้าเป็นอย่างนั้น วิถีจิตต้องเป็นจักขุทวารวิถีจิต มโนทวารวิถีจิตไม่ใช่โสตทวารวิถีจิต เพราะเหตุว่าโสตทวารวิถีจิตต้องเป็นวิถีจิตทั้งหมดที่กำลังรู้เสียงที่ยังไม่ดับ แต่ว่ามโนทวารวิถีจิตไม่ใช่อย่างนั้น
ผู้ฟัง เมื่อมโนทวารวิถีจิตดับไปแล้วก็เป็นชวนจิตที่เกี่ยวกับโลภะ โทสะ ใช่หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เวลาที่มโนทวารวิถีจิตจะเกิดก่อนนั้นต้องเป็นภวังค์ และการที่จิตจะเกิดขึ้นนึกถึงอารมณ์ ภวังค์ต้องไหว เป็นภวังคจลนะ ไม่มีอตีตภวังค์ เพราะเหตุว่าการที่กล่าวถึงอตีตภวังค์ เพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า ปสาทรูปเกิดพร้อมกับรูปที่กระทบปสาทรูปเกิดพร้อมกัน และรูปนั้นจะมีอายุ ๑๗ ขณะ ในระหว่าง ๑๗ ขณะที่รูปไม่ดับ จะมีจิตประเภทใดเกิดขึ้นบ้างจนกระทั่งรูปดับและเป็นภวังคจิต หลังจากนั้นมโนทวารวิถีจิตจึงจะเกิด เพราะฉะนั้นมโนทวารวิถีต้องแยกออกจากปัญจทวารวิถี อย่าปนกัน ถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องของปัญจทวารวิถีและมโนทวารวิถี ก็คือมโนทวารวิถีเป็นปัญจทวารวิถีนั่นเอง หรือคิดว่าปัญจทวารวิถีนั่นเป็นมโนทวารวิถี เมื่อโลภมูลจิตเกิด โทสมูลจิตเกิด
เพราะฉะนั้นก่อนที่จะถึงทางปัญจทวารวิถี ก็ขอกล่าวถึงตั้งแต่ปฏิสนธิ แล้วก็เป็นภวังค์ แล้ววิถีจิตวาระแรกต้องเป็นมโนทวารวิถีก่อน เพราะเหตุว่าการเกิดในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งมีความยินดีพอใจในภพชาติ หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไป ภวังคจิตดับไป จะมีการนึกถึงอารมณ์ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เป็นมโนทวารวิถีจิตเกิด มีความยินดีพอใจในภพชาติที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่มีจักขุวิญญาณ ไม่มีสัมปฏิจฉันนะ ไม่มีสันตีรณะ ไม่มีโวฏฐัพพนะ
ทางมโนทวารวิถี ทันทีที่มโนทวาราวัชชนจิตซึ่งทำอาวัชชนกิจดับลง โลภมูลจิตหรือโทสมูลจิต หรือกุศลจิตเกิดขึ้นแล่นไปซ้ำกัน ๗ ขณะ
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160