โสภณธรรม ครั้งที่ 155


    ตอนที่ ๑๕๕

    จิตที่จะปฏิสนธิในกามภูมิ ๑๑ ภูมิ มีทั้งหมด ๑๐ ดวง ในจิต ๑๐ ดวงเป็นกามาวจรปฏิสนธิอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นผลของอกุศลกรรม ไม่ว่าจะเป็นกรรมเล็กน้อย กรรมใหญ่ กรรมทางกาย กรรมทางวาจาที่เป็นอกุศล อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม เวลาที่ให้ผลก็จะทำให้อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ แต่ทุกท่านก็เกิดในที่นี้แล้ว เพราะฉะนั้นรู้แน่ได้ว่า ปฏิสนธิจิตของแต่ละท่านที่ทำให้เกิดมาในโลกนี้ ไม่ใช่อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก และแต่ละท่านซึ่งไม่เป็นผู้ที่พิการทางกาย ไม่เป็นผู้ที่พิการทางใจ ก็รู้ได้ว่าไม่ใช่เป็นผลของมหากุศลอย่างอ่อนที่จะทำให้อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิเป็นมนุษย์ก็จริง แต่ก็เป็นผู้ที่พิการทางกายบ้าง หรือว่าทางใจบ้างตั้งแต่กำเนิด เพราะฉะนั้นก็จะต้องเป็นผลของกุศลที่มีกำลังพอสมควร ซึ่งทุกท่านก็สามารถที่จะฟังพระธรรม และพอที่จะคาดคะเนหรือพิจารณาได้ว่า ปฏิสนธิของท่านจะเป็นผลของมหากุศลดวงใด เพราะเหตุว่าเหตุให้ปฏิสนธิได้แก่ มหากุศลจิต ๘ ดวง แต่ว่ามหากุศลจิต ๘ ดวงนี้เป็นปัจจัยให้เกิดกามาวจรปฏิสนธิ ๙ ดวงที่เป็นสุคติภูมิ คือ มนุษย์และสวรรค์

    คนที่เป็นมนุษย์นี้ก็มากมาย แต่ว่าจิตที่ทำกิจปฏิสนธิในมนุษย์มี ๙ ดวง ข้อความในปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททกนิกาย อุทาน อรรถกถาโลกสูตร

    ที่ใช้คำว่า “โลก” มีหลายความหมาย สำหรับความหมายในพระสูตรนี้กล่าวถึงโลก ๓ ความหมาย คือ โลก คือ โอกาสโลก โลก คือ จักรวาล ๑ โลก คือ สังขาร ๑ และโลก คือ สัตวโลก ๑

    สำหรับ คือ จักรวาล ชื่อว่า โอกาสโลก

    โอกาสโลกนั้นก็มีอรรถว่า เห็น คือ ปรากฏโดยอาการวิจิตร

    แต่ละประเทศไม่เหมือนกันเลย บางประเทศหนาว บางประเทศร้อน มีภูเขาไฟ มีทะเล มีแม่น้ำ มีป่าต่างๆ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นโอกาสโลก โดยอาการวิจิตรต่างๆ

    สำหรับโลกอีกความหมายหนึ่ง คือ สังขารโลก เพราะอรรถว่า ย่อยยับ คือ ผุพังได้แก่เกิดดับนั่นเอง

    สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม เพราะฉะนั้น สังขารธรรมทั้งหลายเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ ไม่เที่ยง มีทั้งสังขารที่มีใจครองและสังขารที่ไม่มีใจครอง แต่ถ้ากล่าวทั้งหมดแล้ว ไม่ว่านามธรรมหรือรูปธรรมที่เกิดขึ้นก็ชื่อว่า สังขารทั้งหมด เพราะเหตุว่าไม่เที่ยง

    ชื่อว่า สัตวโลก เพราะว่าเป็นที่ดูบุญและบาป และผลแห่งบุญและบาป

    ไม่ว่าจะเกิดในกำเนิดใด ในโลกมนุษย์ก็เห็นมนุษย์เยอะ แต่ว่าในขณะเดียวกันก็มีภูมิอื่นอีกภูมิหนึ่ง คือ สัตว์ดิรัจฉานด้วย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ตาม ชื่อว่า สัตวโลก เพราะอรรถว่าเป็นที่ดูบุญและบาป และผลแห่งบุญและบาป

    แม้พระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงไว้อย่างนี้ แต่ไม่ทราบว่าวันนี้มีใครที่พิจารณาบุญและบาป และผลแห่งบุญและบาปของสัตวโลกบ้าง เช่นเมื่อสักครู่นี้ก็มีสุนัขขี้เรื้อน ๑ ตัว ถ้าจะพิจารณาสามารถจะเห็นแล้วได้ใช่ไหม ผลแห่งบุญและบาป ไม่ว่าจะเป็นผิวพรรณวรรณะ รูปร่างหน้าตา แม้แต่เครื่องใช้ ที่อยู่อาศัย มีทุกสิ่งทุกอย่างสามารถจะชื่อว่า สัตวโลก เพราะอรรถว่า เป็นที่บุญและบาป และผลแห่งบุญและบาป ดูตัวเองก็ได้ พี่น้องเพื่อนฝูงก็ได้ ดูสัตว์อื่นๆ รอบข้างก็ได้ ใครกำลังเจ็บป่วย ใครกำลังทุกข์ทรมาน ใครกำลังเดือดร้อน ใครกำลังมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่น่าแปลกที่เกิดกับบุคคลทั่วไป แต่ก็เกิดเฉพาะกับบางบุคคล เพราะเหตุว่าเป็นผลแห่งบุญและบาปของบุคคลนั้น

    นี่คือผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่ว่าที่สำคัญกว่านั้นคือดูบุญและบาปที่กระทำอยู่ ซึ่งจะทำให้ปฏิสนธิจะเป็นประเภทใด เพราะเหตุว่าถ้าเป็นอกุศลกรรม เวลาที่ปฏิสนธิ จะไม่ทราบเลยว่าสัตว์ตัวนั้นเคยเป็นใคร มีสติปัญญามากน้อยแค่ไหน แต่ว่าเร็วยิ่งกว่ากระพริบตา เปลี่ยนจากจุติจิต จิตสุดท้ายของชาตินี้ ซึ่งเคยเป็นมนุษย์ ซึ่งเคยเป็นผู้มีปัญญา แต่ว่าเมื่อจุติจิตดับลง อกุศลกรรมทำให้เกิดในภูมิที่เป็นอบายภูมิ

    เวลาที่เห็นสัตว์ประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้นในโลกนี้ อาจจะเป็นสัตว์ที่น่ารัก เป็นสัตว์เลี้ยง ลืมคิดถึงอดีตกรรมที่ทำให้สัตว์นั้นเกิดด้วยอเหตุกสันตีรณอกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม เป็นเครื่องเตือนจริงๆ ว่า เมื่อสัตว์นั้นยังเกิดอย่างนั้นได้ และแต่บุคคลจะไม่เกิดอย่างนั้นหรือ ถ้ายังมีเหตุ คือว่ายังไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคล ก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิโดยรวดเร็วเหลือเกิน เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า จุติจิตจะเกิดเมื่อไร และทันทีที่จุติเกิดแล้วดับ ปฏิสนธิซึ่งเป็นผลของกรรมก็จะเกิดทันที แล้วแต่ว่าจะเกิดในภูมิไหน ถ้าเกิดในภูมิที่ดีก็ดี

    ข้อความในปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททกนิกาย เรวตีวิมาน มีข้อความว่า

    ขึ้นชื่อว่า สมบัติในเทวโลกย่อมเป็นที่พอใจยิ่ง เหมือนทุบภาชนะดินแล้วรับเอาภาชนะทองฉะนั้น

    ขณะนี้ทุกคนกำลังอยู่ในโลกมนุษย์ ก็รู้สึกว่าพอใจมากที่จะเป็นผู้สุขสบายในโลกมนุษย์ แต่ถ้าจุติจิตเกิดแล้วก็ดับไป แล้วปฏิสนธิเกิดต่อในสวรรค์ จะรู้ได้ทีเดียวว่า ขึ้นชื่อว่า สมบัติในเทวโลกย่อมเป็นที่พอใจยิ่ง เหมือนทุบภาชนะดินแล้วรับเอาภาชนะทองฉะนั้น

    สำหรับบุญกุศลทั้งหลายก็จะติดตามให้ผลได้หลังจากที่ปฏิสนธิแล้ว ไม่ว่าอาจจะมีกำเนิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นผลของอกุศลกรรมก็จริง กรรมหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่ว่ากรรมอื่นๆ ที่จะตามมาอุปถัมภ์หรือเบียดเบียนก็ยังมีโอกาสหลังจากปฏิสนธิจิตแล้ว

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า สัตว์บางชนิด เช่น สัตว์เลี้ยงบางตัวนอนเตียงทองคำ เพราะฉะนั้นผลของบุญไม่ว่าจะอยู่ในกำเนิดใดทั้งสิ้น ก็เหมือนกับมิตรและพวกพ้องทั้งหลายย่อมยินดีต้อนรับคนที่จากไปนานแล้วกลับมา ฉันใด บุญทั้งหลายของตนๆ ย่อมต้อนรับประคับประคองบุคคลที่ทำบุญไว้ ผู้จากโลกนี้ไปปรโลกฉะนั้น

    ฟังแล้วก็น่าจะกระทำบุญเสียจริงๆ แต่ว่าวันหนึ่งๆ ก็ลองคิดดูว่า สัตว์โลกเป็นที่ดูบุญและบาป เพราะฉะนั้นน่าจะพิจารณาจิตที่เป็นเหตุในขณะนี้ด้วยว่า วันหนึ่งๆ นั้นกุศลจิตเกิดมากไหม ถ้ากุศลจิตเกิดน้อยกว่าอกุศลจิตก็ต้องพิจารณาอีกว่า เป็นอกุศลกรรมหรือไม่ เพราะเหตุว่าเพียงความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นสมโลภะ เป็นความยินดีพอใจที่ไม่ถึงกับให้เกิดกระทำทุจริตกรรม เพราะฉะนั้นแม้ว่ายังเป็นผู้ที่ยังมีโลภะอยู่ ก็จะต้องระวังที่จะไม่ทำอกุศลกรรม เพราะเหตุว่าถ้ากระทำอกุศลกรรมแล้วก็ไม่แน่ว่าจะเกิดในกำเนิดใด

    สำหรับเหตุที่จะให้เกิดกุศลวิบากซึ่งทำกิจปฏิสนธิ ได้แก่ มหากุศลจิต ๘ ดวง สำหรับกุศลที่มีกำลังมากขั้นที่สูงที่สุด ก็คือ เป็นกุศลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาและประกอบด้วยปัญญา และเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยการชักจูง

    เคยมีไหม กุศลอย่างนี้ เป็นกุศลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา และโดยไม่อาศัยการชักจูง ไม่ว่าจะเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล หรือเป็นไปในการศึกษาพระธรรม ในการสนทนาธรรม ในเรื่องที่เกี่ยวกับการกุศลทั้งหลาย กุศลใดที่ทำแล้วปลาบปลื้ม จิตผ่องใสทั้ง ๓ กาล คือ ทั้งในขณะก่อนให้ จิตก็ผ่องใส ในขณะที่กำลังให้ จิตก็ผ่องใส ครั้นให้แล้วก็ยังปลาบปลื้มอีก ถ้าเป็นผลของกุศลนั้น ก็จะทำให้มหาวิบากที่เป็นโสมนัสเวทนา มีปัญญาเกิดร่วมด้วย และเป็นอสังขาริกเกิด

    มหากุศลดวงที่ ๒ คือ เป็นกุศลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา แต่ต้องอาศัยการชักจูง

    ที่จริงก็เป็นชีวิตประจำวัน แต่เมื่อออกมาเป็นเรื่องประเภทของจิตแต่ละชนิด แล้วก็มีภาษาบาลีด้วย ท่านผู้ฟังก็คิดว่า ไม่ใช่ขณะที่ทำกุศล แต่ที่จริงแล้วอาจจะเป็นในขณะนี้เอง มหากุศลจิตกำลังเกิด ก็พิจารณาเวทนา ความรู้สึกได้ว่า ความรู้สึกในขณะนี้โสมนัสไหม หรือว่าเป็นอุเบกขา ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นอสังขาริก หรือเป็นสสังขาริก เพราะฉะนั้นผลก็ต้องต่างกันไป

    นี่คือกุศลที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ดวงที่ ๑ และดวงที่ ๒

    สำหรับดวงที่ ๓ ก็ยังเป็นกุศลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา นี่แสดงให้เห็นถึงกำลังของกุศลว่า กุศลประเภทที่เกิดกับโสมนัสเวทนามีกำลังมากกว่ากุศลที่เกิดกับอุเบกขาเวลา เพราะฉะนั้นสำหรับกุศลจิตดวงที่ ๓ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาจริง แต่ว่าเป็นกุศลที่อ่อนกว่าดวงที่ ๑ และดวงที่ ๒ เพราะเหตุว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา และเป็นกุศลจิตที่เกิดโดยไม่อาศัยการชักจูง

    สำหรับมหากุศลดวงที่ ๔ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา และอาศัยการชักจูง

    ในชีวิตประจำวันของแต่ละคนก็เป็นอย่างนี้ กุศลดวงนั้นบ้าง ดวงนี้บ้างประกอบด้วยโสมนัสบ้าง ไม่ประกอบด้วยปัญญาบ้าง มีการชักจูงบ้าง ไม่มีการชักจูงบ้าง

    เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว กุศลก็จำแนกโดยเวทนา ๑ และโดยมีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ๑ และอาศัยการชักจูงหรือไม่อาศัยการชักจูง ๑ ทำให้กุศลนั้นต่างกันไปเป็น ๔ ดวง หรือ ๔ ประเภทที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา

    และสำหรับอีก ๔ ดวง ก็เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา โดยนัยเดียวกัน คือ บางขณะประกอบด้วยปัญญาและไม่ต้องอาศัยการชักจูง บางขณะประกอบด้วยปัญญาแต่ต้องอาศัยการชักจูง และบางขณะไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่อาศัยการชักจูง และบางขณะก็ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ต้องอาศัยการชักจูง และถ้ากุศลดวงที่เป็นอุเบกขา ไม่ประกอบด้วยปัญญาและอาศัยการชักจูงอ่อนมาก ก็ให้ผลทำให้พ้นจากอบายภูมิ ไม่ต้องเกิดเป็นเปรต ไม่ต้องเกิดในนรก ไม่ต้องเกิดเป็นอสุรกาย ไม่ต้องเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เกิดเป็นมนุษย์ แต่ว่าพิการ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น ชื่อว่า สัตวโลก เพราะอรรถว่า เป็นที่ดูบุญและบาป และผลแห่งบุญและบาป

    อดิศักดิ์ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม และมันช่างจะเป็นความจริงอย่างมากๆ ที่อาจารย์พูดถึงเมื่อกี้นี้ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ก็เห็นแมวหิวร้อง ก็เกิดเมตตา แต่จิตไม่โสมนัส และไม่ประกอบด้วยปัญญา แม้กระทั่งจิตก็ยังเป็นสสังขาริก ไม่มีกำลัง แต่มีเหตุมีปัจจัยก็ไปเรียกสหายธรรมผู้หนึ่งให้ไปซื้อปลา สหายธรรมผู้นั้นผมเชื่อว่า ไม่มีประกอบด้วยปัญญา ไม่ประกอบด้วยโสมนัส จิตก็อ่อน แล้วก็ยังเป็นอุเบกขา และขณะที่เดินไปซื้อ ก็ยังหันไปว่าแมวว่า ทำให้ฉันต้องเดิน ก็แสดงว่าเป็นกุศลที่อ่อนมากๆ และเป็นอุเบกขาด้วย แต่ก็ยังดีที่อาจารย์บอกว่า คงจะพ้นจากอบายได้

    ท่านอาจารย์ ที่จริงการที่ได้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ แล้วสติเกิดได้ระลึกทัน สามารถที่จะปรากฏความโทมนัสดีใจ แทนที่ ฉันต้องเดิน เป็นดีใจที่ได้เดิน และมีโอกาสที่จะทำให้ชีวิตหนึ่งที่กำลังหิวโหย ได้พ้นจากความทุกข์ทรมาน ถ้ามีสติเกิดระลึกได้ การทำกุศลก็จะเพิ่มกำลังขึ้น เพราะเหตุว่าในขณะนั้นผ่องใส ไม่ใช่มีอกุศลจิตเกิดแทรกแซง

    อดิศักดิ์ แต่เหตุการณ์ยังไม่จบแค่นั้น หลังจากสหายธรรมผู้นั้นไปซื้อปลามาแล้ว ก็ได้แกะเฉพาะเนื้อๆ ไม่มีก้างให้มันกิน ก็มีสหายธรรมผู้อื่นได้อนุโมทนากับเขาว่า ให้กินแต่เนื้อๆ จัดให้อย่างดีประณีต ก็เกิดโสมนัสกัน ผมคิดว่าก็คงมีทั้งโสมนัสและอนุโมทนากันอีก ๓ ถึง ๔ คนทีเดียว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอย่าประมาทกุศล หรือคิดว่าเพียงเล็กน้อย เพียงการซื้อปลาให้แมว แล้วก็แกะแต่เนื้อๆ ให้ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงกุศลจิตที่โสมนัสจริงๆ เมื่อจะให้ก็ให้อย่างดี และให้เขามีความสุข และก็เกิดปีติดีใจที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นถ้ากุศลกรรมนี้ให้ผล ก็จะทำให้มหาวิบากที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาเกิดได้ แต่ว่าแล้วแต่จะประกอบกับปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะว่าเรื่องของปัญญาเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจเรื่องกรรม และต้องเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อย่างที่เข้าใจว่าเป็นเรื่องของกรรม ถ้ามีสัตว์ดิรัจฉานลักษณะอาการอย่างหนึ่งอย่างใด เคยระลึกด้วยความเมตตาว่า ผู้นี้อาจจะเคยเป็นผู้ที่มีพระคุณในชาติก่อนๆ ชาติหนึ่งชาติใดที่เคยกระทำคุณความดีต่อท่าน เกื้อกูลท่านในชาติหนึ่ง หรือว่าได้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอนว่า แม้ว่าเป็นผู้ที่อาจจะเคยมีปัญญา แต่เมื่ออกุศลกรรมให้ผลก็ทำให้มีสภาพที่ต่างจากที่เคยเป็นในชาติก่อน

    ถ้าคิดอย่างนี้ จิตใจก็คงจะอ่อนโยน แทนที่จะรังเกียจว่า เป็นแมว และต้องรับใช้แมวโดยต้องไปซื้อปลามาให้แมว นี่ก็เป็นได้

    ไม่ทราบยังมีข้อสงสัยอะไรไหมในเรื่องนี้

    และสำหรับการที่จะรู้กรรม ไม่ควรที่จะเป็นเพียงเหตุการณ์ แต่สามารถที่จะรู้แม้ในขณะที่กำลังเห็น คือ ในขณะที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็จะต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลวิบาก แต่ว่าจิตที่เกิดหลังจากนั้นอาจจะเป็นกุศลก็ได้ หรือว่าอาจจะเป็นอกุศลก็ได้ แล้วแต่การพิจารณาในขณะนั้น

    ชีวิตก็ดำเนินไปอย่างนี้ทุกวันๆ ถ้าเป็นผู้ละเอียดก็จะสังเกตเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ ไม่พ้นจากผลของกรรมและกรรมซึ่งเป็นเหตุ ได้แก่บุญและบาป

    สำหรับภัยของชีวิต ซึ่งแต่ละคนก็ประสบอยู่ทุกคน แต่อาจจะไม่ได้สังเกต เพราะเหตุว่าบางท่านอาจจะประสบภัยเพียงเล็กน้อย แต่บางท่านก็อาจจะประสบภัยของชีวิตที่ร้ายแรง สำหรับเหตุการณ์ธรรมดาๆ ที่พบกันอยู่ทุกวัน ก็ได้แก่ความไม่สะดวกสบายต่างๆ นี่เป็นภัยของชีวิตเหมือนกัน เพราะเหตุว่าทุกคนอยากจะมีชีวิตที่สะดวกสบาย ไม่ต้องการพบกับความไม่สะดวกสบายใดๆ เลย เพราะฉะนั้นเวลาที่ประสบกับความไม่สะดวกสบายแม้เพียงเล็กน้อย ทำให้เห็นภัยของชีวิตว่า นี่คือภัยอย่างหนึ่งเหมือนกัน

    เวลาที่เจ็บป่วย ทุกคนก็เริ่มจะเห็นภัยซึ่งในขณะที่ไม่เจ็บป่วย ไม่เคยเห็น นอกจากนั้นก็ยังมีภัยอื่นๆ ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ต่างๆ

    ข้อความในปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกนิกาย สุตตนิบาต มหาวรรคที่ ๓ สัลลสูตรที่ ๘ ได้กล่าวถึงความยากลำบากของชีวิต ความเล็กน้อยของชีวิต ซึ่งมีภัยมาก เพราะเหตุว่าถ้าจะพิจารณาจริงๆ แล้ว ความเป็นไปของชีวิตแต่ละขณะเนื่องกับปัจจัยหลายอย่างจึงดำรงอยู่ได้ เพราะฉะนั้นชีวิตก็ไม่ได้ให้เป็นไปเพื่อความสุขเท่านั้น เพราะบางคนหวังเหลือเกิน เกิดมาชาตินี้ก็จะให้มีความสุขมากๆ สิ่งที่ต้องการ คือ ความสุขเท่านั้น แต่ไม่ควรจะลืมอีกด้านหนึ่งของชีวิตด้วยว่า ชีวิตไม่ใช่ให้เป็นไปเพื่อความสุขเท่านั้น

    สำหรับปัจจัยที่จะทำให้ชีวิตซึ่งบอบบาง เล็กน้อยและยากลำบากดำรงอยู่ได้ ก็คือ

    ๑. ชีวิตเนื่องด้วยลมหายใจเข้าออก ตราบใดที่ยังหายใจเข้าออกโดยสม่ำเสมอ จะไม่รู้สึกเลยว่า ชีวิตทั้งชีวิตแขวนอยู่กับลมหายใจแผ่วๆ ซึ่งถ้าเกิดขัดข้อง คือ เมื่อไม่หายใจเข้า ไม่หายใจออก ก็เป็นอยู่ไม่ได้ และก่อนที่จะไม่หายใจเข้า ไม่หายใจออก จะทรมานสักแค่ไหนในขณะที่หายใจไม่ออก อย่างบางคนเวลาที่เป็นหวัด คัดจมูก แม้เพียงเท่านั้นก็อึดอัดมากมาย และถ้ามากกว่านั้นซึ่งหลายชีวิตก็ต้องประสบกับภาวะเช่นนั้น ขณะนั้นก็จะต้องเป็นภัยอย่างหนึ่ง ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า ชีวิตบอบบางแล้วก็เล็กน้อยมาก เพียงมีชีวิตดำรงอยู่ได้ด้วยลมหายใจที่เข้าออกเท่านั้น

    ๒. ชีวิตเนื่องด้วยมหาภูตรูป ซึ่งอาศัยความสม่ำเสมอของธาตุทั้ง ๔ เป็นปกติ ถ้าธาตุทั้ง ๔ มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ปกติ ธาตุลมมีมากปั่นป่วนในร่างกาย ก็ทำให้ถึงสิ้นสติได้ หรืออาจจะทำให้ถึงพิการเป็นอัมพาตได้ นั่นคือความไม่สม่ำเสมอของธาตุทั้ง ๔

    ๓. ชีวิตเนื่องด้วยกวฬีการาหาร คือ อาหารที่บริโภคเป็นคำๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    24 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ