โสภณธรรม ครั้งที่ 159
ตอนที่ ๑๕๙
ขอเรียนให้ทราบว่า เมื่อวานนี้มีผู้โทรศัพท์มาแล้วบอกว่า ชอบฟังคำถามที่มีท่านถามในการบรรยายนี้มากทีเดียว เพราะว่าเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นถ้าท่านผู้ฟังมีคำถาม ขอเชิญ เพื่อประโยชน์กับท่านผู้ฟังท่านอื่นด้วย
ประทีป ผมเกรงว่าผู้ที่สนใจธรรมจะเข้าใจผิดอย่างที่ผมเข้าใจหรือเปล่าไม่ทราบ คือในสมัยพระพุทธเจ้ากัสสปะ ซึ่งทาสีคนนั้นได้ถูกทำร้ายมาก แล้วก็ทำกุศล แล้วก็ตั้งเจตนาว่า ในชาติต่อไปขอให้ได้เป็นนาย จะได้ลงโทษทัณฑ์บ้าง ผมเข้าใจว่าในขณะที่ทำกุศล และตั้งเจตนาเป็นนายต่อไปเพื่อจะทำร้าย อาจารย์ช่วยกรุณาขยายความให้ละเอียดสักหน่อย ถ้าหากว่าทุกคนเข้าใจว่าชาตินี้ถูกนายเล่นงาน ก็จะทำบุญแล้วก็จะตั้งเจตนาว่า ชาติต่อไปขอเป็นนายเพื่อจะได้ลงโทษลงทัณฑ์เขาบ้าง
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ข้อความในอรรถกถามีว่า
นางได้กระทำบุญให้ทาน เป็นต้น ตามกำลัง และได้ตั้งความปรารถนาว่า ในอนาคตขอเราพึงเป็นนาย มีความเป็นใหญ่เหนือหญิงนั้น
ไม่ได้ตั้งใจจะไปประทุษร้ายอะไร แต่ว่าขอให้ได้เป็นนายบ้าง แต่ว่ากิเลสที่ยังมีก็อาจจะทำให้มีความโกรธ และไม่ชอบหน้า และประทุษร้ายด้วยประการต่างๆ เพราะยังไม่ได้ดับกิเลส เพราะฉะนั้นต้องแยกผลของกุศลว่า เวลาที่กระทำกุศลแล้วหญิงนั้นปรารถนาที่จะเป็นนาย แต่ไม่ทราบว่าหญิงนั้นจะไปทำร้ายหรือเปล่า แต่ว่าคนละขณะจิต ใช่ไหม
ขณะนี้ท่านผู้ฟังที่ฟังพระธรรมก็กำลังเป็นกุศลจิต แต่ว่าเคยโกรธใครที่อยากจะประทุษร้ายด้วยวาจา หรือด้วยกายบ้างไหม ในขณะที่กำลังฟังพระธรรมก็คงจะไม่มี แต่ว่าหลังจากที่ฟังแล้ว มีไหม โกรธ และบางคนก็เคยชินกับการที่จะประทุษร้ายด้วยวาจา หรือด้วยกาย เป็นปโยควิบัติ เป็นความเพียรทางกายที่ไม่ถูกต้อง เป็นอกุศล
ประทีป กระผมยังสงสัยว่า ในขณะที่ทำบุญและตั้งเจตนาว่า จะเป็นนาย ในขณะนั้นจะเป็นกุศลจิตได้ หรือจะคนละขณะ
ท่านอาจารย์ นี่เป็นความละเอียดมากทีเดียว ในขณะที่กระทำกุศล ขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ แต่ขณะที่ปรารถนาผลของกุศล ก็ขอให้ดูว่าความปรารถนานั้นเป็นด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต ถ้าปรารถนาที่จะหมดกิเลส ปรารถนาที่จะไม่ผูกโกรธ ปรารถนาที่จะมีความเมตตากรุณาต่อทุกคนที่กระทำไม่ดีต่อ ขณะนั้นก็เป็นกุศล ไม่ใช่อกุศล ปรารถนาที่จะหมดความวุ่นวายในโลกที่จะต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลทั้งหลาย แล้วก็มีแต่ความเดือดเนื้อร้อนใจ ถ้าคิดอย่างนั้นก็เป็นกุศล แต่ถ้าคิดจะประทุษร้ายคนอื่น ขณะนั้นก็ต้องเป็นอกุศล
ขณะที่เป็นกุศล ก็ต้องเป็นกุศล ขณะที่ปรารถนา ก็แล้วแต่ว่าความปรารถนานั้นเป็นกุศล หรือความปรารถนานั้นเป็นอกุศล ถ้าทำบุญแล้วก็อยากสวย อยากเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะที่อยากสวย หรืออยากเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นกุศลหรืออกุศล
ประทีป ก็เป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ เป็นอกุศล เพราะเหตุว่ายังมีกิเลส เพราะฉะนั้นกำลังของกิเลสจะสังเกตได้ว่า แม้กุศลจิตเพิ่งได้กระทำและดับไปใหม่ๆ ยังไม่นานเลย โลภะตามติดทันที คือ หวังผลของกุศลนั้น
เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นกุศลเป็นกุศล และเห็นอกุศลเป็นอกุศลตามความเป็นจริง จะเป็นผู้ที่ตรง ขณะใดเป็นกุศล ก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นกุศล ขณะใดที่เป็นอกุศล ก็รู้ว่าขณะนั้นยังเป็นอกุศลอยู่ ยังไม่ใช่กุศล ทุกท่านที่กระทำบุญแล้ว ก็ลองพิจารณาดูว่า ทันทีที่ได้กระทำบุญเสร็จลงไป โลภะสามารถจะติดตามมาทันที แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ขณะใดเป็นกุศล ก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นกุศล และขณะใดที่เป็นอกุศล ก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าเป็นผลของกุศล จะไม่ให้ผลเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นถึงแม้จะไม่หวังที่จะสวยงาม หรือจะเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไม่ต้องคิดหวัง เหตุได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นผลก็ย่อมเป็นไปตามเหตุ แล้วต่อไปนี้จะหวังไหม หรือจะปรารถนาหรือจะขออีกไหม ทันทีที่ได้ทำกุศลไป จะให้โลภะติดตามมาทันทีหรือไม่
นิภัทร จิตที่ทำให้ทาสีที่ปรารถนาจะเป็นนาย แล้วก็ได้ไปเกิดเป็นนายจริงๆ ขณะนั้นคงไม่ใช่จิตขณะที่ปรารถนาอยากจะเป็นนาย ที่ให้ผลเป็นปฏิสนธิจิต คงจะเป็นผลของมหากุศลที่ทำกุศลแล้ว คงไม่ใช่จิตที่ปรารถนาอยากจะเป็นนายให้ปฏิสนธิ จะถูกไหม
ท่านอาจารย์ กุศลวิบากจิตเกิดขึ้นเพราะกุศลกรรม คือ กุศลจิตที่เกิดแล้วดับไปแล้วเป็นเหตุ เป็นกรรมปัจจัย
นิภัทร ก็แปลว่ามหาวิบากที่ทำให้ปฏิสนธิก็เนื่องจากมหากุศลที่นางได้ทำไว้
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
นิภัทร แต่ไม่ใช่ตรงที่ปรารถนาเป็นใหญ่ จะได้ทรมานคนอื่นบ้าง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องแยกอย่างละเอียดทีเดียวว่า กุศลวิบากเป็นผลของกุศลกรรม อกุศลวิบากเป็นผลของอกุศลกรรม ขณะที่เป็นโลภะ จะให้ผลเป็นกุศลวิบากไม่ได้
นิภัทร และอีกอย่างหนึ่ง ที่คุณอดิศักดิ์บอกว่า ชื่อ รัชชุมาลา เพราะ ที่จริงตามศัพท์ รัชชุ แปลว่า เชือก มาลา แปลว่าระเบียบ หรือทำไว้ เหมือนอย่างพวงมาลาที่ร้อย ที่เอาเชือกมาวนรอบ คงจะหลายรอบ คงจะดูสวยบ้างเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ สมัยนี้ก็ยังเป็นสมัยนิยมอยู่ ไม่ล้าสมัย ความสวยไม่ว่าสมัยก่อน สมัยนี้สมัยหน้า ก็คงจะพอใจเช่นเดียวกัน
นิภัทร แต่ว่าปฏิสนธิจิตของนางรัชชุมาลาจะต้องเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ เพราะว่าตอนหลังได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ส่วนหญิงที่ก่อนเป็นทาสแล้วมาเป็นนายในชาติปัจจุบัน ได้แค่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยเท่านั้นเอง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าจะพิจารณาชีวิตเปรียบเทียบกับชีวิตของรัชชุมาลา ซึ่ง ปฏิสนธิจิตเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์จึงสามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
ลองพิจารณาดูขณะปฏิสนธิจิตเกิด มหาวิบากจิตญาณสัมปยุตต์ทำกิจปฏิสนธิแล้วดับ แต่กรรมที่จะทำให้ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นสืบต่อไป ทำให้จิตที่เกิดสืบต่อเป็นมหาวิบากจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต เกิดขึ้นทำภวังคกิจ
ถ้าได้ยินคำว่า ปฏิสนธิ ให้ทราบว่าเป็นกิจของจิต แต่ถ้าได้ยินคำว่า ภวังค์ ให้ทราบว่าเป็นกิจของจิต เพราะฉะนั้นเมื่อจิตมีถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง ก็ควรที่จะได้ทราบว่า จิตใดทำกิจปฏิสนธิ และจิตใดทำภวังคกิจ
สำหรับปฏิสนธิจิตต้องเป็นวิบากจิต ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ที่ไม่พิการ ก็ต้องเป็นมหาวิบากดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวง ซึ่งเมื่อดับไปแล้ว กรรมนั้นที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ก็ทำให้จิตที่เกิดสืบต่อเป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้นจึงเป็นมหาวิบากจิต
สำหรับรัชชุมาลา ปฏิสนธิจิตเป็นมหาวิบากจิตญาณสัมปยุตต์ดับไป ภวังคจิตก็เป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตนั่นเอง ต่อไปคือกิจที่ ๒ คือภวังคกิจ
ถาม มีผู้ฝากมาถามว่า การทำบุญที่ท่านอาจารย์บอกว่าเป็นกิเลส โดยมีโลภะเข้ามาร่วม อันนั้นจะไม่ขัดกับความปรารถนากับอธิษฐานบารมี ๑๐ ทัศ อะไรแบบนี้หรือ
ท่านอาจารย์ บารมีไม่มีเรื่องเกี่ยวกับความสวยความงาม หรือสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดเลยทั้งสิ้น แล้วก็ไม่ใช่มาร่วมกัน คนละขณะ ขณะที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่มีโลภะ โทสะ โมหะเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นจะมีอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ซึ่งเป็นโสภณสาธารณเจตสิกเกิดร่วมกับโสภณเจตสิกอื่นๆ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีอโมหะหรือปัญญาเจตสิกเกิดร่วมไหม
เพราะฉะนั้นขณะนั้นถ้าเป็นกุศลจะไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย แต่ทันทีที่กุศลจิตดับ วิถีจิตทางหนึ่งทางใดไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจ เมื่อกุศลชวนะดับแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น หลังจากนั้นวิถีวาระต่อไปจะเป็นอกุศลชวนะที่ปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ไม่เป็นไปในกุศล เช่น ปรารถนาที่จะเป็นคนสวย หรือว่าปรารถนาจะเกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ ขณะนั้นเป็นกุศลได้ไหมที่อยากจะเกิดที่นั่นที่นี่
ผู้ฟัง ก็เป็นโลภะแน่นอน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่ทำกุศลเป็นขณะหนึ่ง ขณะที่เป็นกุศลจิตเป็นวาระหนึ่ง และขณะที่เป็นอกุศลจิตหลังกุศลนั้นเป็นอีกวาระหนึ่ง เกิดพร้อมกันไม่ได้
ผู้ฟัง เป็นความไวของจิต
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเรื่องของรัชชุมาลาก็ทำให้ระลึกได้ทันทีที่ทำกุศลว่า เมื่อกุศลจิตดับแล้ว วาระต่อไปใครจะมีอกุศลชวนะเกิดติดตามมาหรือไม่ อยากจะได้อะไรซึ่งเป็นผลของกุศลนั้นหรือเปล่า
ผู้ฟัง ขออนุญาตพูดนอกเรื่องหน่อย อย่างผมมาฟังคำบรรยายของอาจารย์ การฟังธรรมมีหลายแบบ และมีหลายอาจารย์ที่ถ่ายทอดพระพุทธพจน์มา ผมมานึกตรึกตรองดูว่า การฟังธรรมของเราทุกท่านเปรียบเหมือนการตัดสินพิพากษา ตัวเรานี่เหมือนตุลาการ อาจารย์ว่าเป็นอย่างนั้นไหม อย่างเช่นฟังอาจารย์ก็แบบหนึ่ง เรื่องการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน การที่เจริญวิปัสสนาก็คือจะหลุดพ้นจากวัฏฏสงสาร อย่างในประเทศไทย ที่ผมวิเคราะห์วินิจฉัยดูว่าเหมือนอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน อย่างของพระภิกษุก็มีจะวิธีการของท่านอีกแบบหนึ่ง ผมเคยคุยกับหลวงพ่อองค์หนึ่งอายุ ๘๐ กว่า ผมก็เคยคุยว่า การเจริญวิปัสสนาคือการฟังพระธรรมให้เข้าใจ แล้วเอามาพิจารณาระลึกถึงรูปนามให้ได้แบบวิธีของอาจารย์ หลวงพ่อองค์นั้นก็บอกว่า อย่างนั้นก็เหมือนการเรียนทั่วๆ ไป คือ เรียนแล้วก็รู้ไปเรื่อยๆ เหมือนกับไม่เห็นผลที่แน่นอน เหมือนเรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย เรียนจบแล้วก็เลิกกันไป แต่มีอีกวิธีหนึ่งที่แน่นอน เป็นวิธีที่จะต้องทำกัมมัฏฐาน ส่วนใหญ่แล้วทางด้านพระภิกษุท่านก็เป็นอย่างนั้น พอเริ่มต้นท่านก็จะต้องทำกัมมัฏฐานก่อน อาจจะเป็นการเดิน หรือนั่งนานๆ ใช้สมาธิเบื้องต้นก่อน ผมก็อธิบายตามความรู้นิดหน่อยของผมให้ท่านฟังว่า การสำเร็จอย่างที่อาจารย์บอกไว้ว่า มี ๒ แบบ โดยปัญญาวิมุติ และเจโตวิมุติ ใช่ไหม ผมก็บอกว่าวิธีนั้นอาจจะเป็นเจโตวิมุติ ผมก็วินิจฉัยไปง่ายๆ แบบนี้ แต่การสำเร็จโดยปัญญาวิมุตินั้นมีมากกว่า และทุกอย่างก็จะต้องอาศัยเวลาอบรมทั้งสิ้น แต่การสำเร็จด้วยเจโตวิมุติ โดยนั่งสมาธิก่อนไปบรรลุทีหลัง ในที่สุดก็ต้องมารู้รูปนามเหมือนกัน ระลึกรู้จริงๆ ในตัวเราว่า รูปและนามทุกขณะจิต จึงเรียกว่าเป็นการสำเร็จโสดาบัน ใช่ไหม แต่เหมือนกับว่าท่านก็ยังไม่ยอมรับอยู่ดี ผมก็เลยไม่สามารถจะตัดสินอะไร แต่มาคิดดูว่า เดี๋ยวนี้ในเมืองไทยถ้าฟังธรรมของท่านอาจารย์ต่างๆ ก็ขอให้นึกว่าตัวเราเองเหมือนตุลาการ กำลังตัดสินทุกอย่างอยู่ ฟังทางด้านโจทก์ก็จะได้เนื้อหาอีกแบบหนึ่ง ฟังจำเลยจะได้เนื้อหาอีกแบบหนึ่ง สองคนพยายามจะให้ประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ เพราะฉะนั้นตัวเราเองตัดสิน เห็นว่าทางโจทก์ถูก ก็ไม่รู้ว่าถูกจริงหรือเปล่า ทางจำเลยถูก ก็ไม่รู้ว่าถูกจริงหรือเปล่า แต่จะรู้ว่าจริงหรือไม่ ขึ้นกับหลักฐานที่เราหาได้มากที่สุด ผมคิดแบบนี้ อาจารย์คิดว่าจะเหมาะสมไหม
ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่นี้ก็วิถีจิตหลายวาระทีเดียว นับไม่ถ้วนเลย ในขณะที่กำลังฟังแล้วก็คิด ฟังแล้วก็คิดว่าเป็นเสียงที่ได้ยินและขณะที่เข้าใจก็เป็นวิถีจิตแต่ละวาระไป และที่ท่านผู้ฟังกล่าวว่า เปรียบเสมือนตัวท่านที่ฟังเรื่องหนทางปฏิบัติหลายๆ ทาง ตัวท่านเป็นประดุจตุลาการ ที่จริงแล้วอย่างที่เรียนให้ทราบว่า ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายไม่มีอะไรเลย นอกจากจิต เจตสิก รูป
เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังเข้าใจว่า กำลังพิจารณา กำลังไตร่ตรอง กำลังเป็นตุลาการ ก็คือวิถีจิตแต่ละวาระนั่นเองที่ฟังด้วยความแยบคาย ฉลาดที่จะรู้ว่า สิ่งใดมีเหตุมีผล หรือว่าจะฟังอย่างไม่แยบคาย คือ ไม่สามารถจะเข้าใจได้ว่า ธรรมที่จริงที่ถูกต้องที่มีเหตุผลนั้นคืออย่างไร
นี่เป็นเหตุที่บางท่านที่มีความเห็นผิดเพราะอโยนิโสมนสิการ ขาดการพิจารณาโดยแยบคาย โดยถูกต้องจริงๆ แต่บางท่านที่ฟังด้วยกัน วิถีจิตแต่ละวาระนั้นก็เป็นโยนิโสมนสิการ เป็นกุศลจิตซึ่งสามารถที่จะพิจารณาความถูกต้องในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่า ตรงกับลักษณะของสภาพธรรมนั้น
เพราะฉะนั้นถ้าจะระลึกได้ แม้ในเพียงขั้นที่ฟังว่า ขณะที่กำลังเป็นตุลาการ ก็คือวิถีจิตแต่ละวาระนั่นเอง และการที่จะกล่าวว่า ฟังไปเข้าใจไป แล้วก็รู้ไป จะถูกหรือจะผิด
ผู้ฟัง สำหรับผมยากจริงๆ เลย จะต้องมีศรัทธา และก็เหมือนกับเด็กที่อยากได้ของเล่น อย่างอาจารย์บอกว่า เราต้องแยกรูปนามให้ได้ ถ้าแยกไม่ได้ก็ยังเป็นกลุ่มก้อนอยู่ดี เหมือนกับเรื่องตลกเล่นๆ วันอาทิตย์ผมจะหยุดงาน ผมก็จะไปนั่งที่สนามเด็กเล่น และตลอดเวลา ๒ – ๓ ปีที่ผ่านมา มาฟังอาจารย์บรรยาย เหมือนกับพยายามจะชี้ถึงความสำคัญอะไรสักอย่างหนึ่ง ถึงความจริงอะไรสักอย่างหนึ่งในเรื่องวิปัสสนา ซึ่งถ้าเทียบกับท่านอาจารย์อื่นๆ ก็จะไม่ชี้สิ่งเหล่านี้ จะบอกว่าเริ่มก็ให้นั่งเลย ให้ระลึกถึงสิ่งต่างๆ อาจจะระลึกถึงลมหายใจ ถึงความรู้สึกที่ศูนย์กลางกาย เหมือนกับจับให้เด็กได้เล่นของเลย แต่อย่างของท่านอาจารย์ ก็เหมือนกับพยายามจะบอกๆ ๆ แล้วไปคิดเองให้ได้นะ เหมือนกับปริศนาธรรม เหมือนฤๅษีสมัยก่อน วันนั้นผมก็ไปนั่งมองใบไม้มันสั่นไหว ผมก็พยายามจะดูว่า ขณะที่ผมเห็นเป็นใบไม้ ผมก็จะเห็นอยู่อย่างนั้น ระหว่างที่นั่งมองอยู่หลายอาทิตย์ ก็ดูว่า การเห็นกับการรู้ว่าเห็น มันแยกกันตรงไหน ผมจะแยกให้ได้ พยายามแยกๆ ก็ไม่ได้สักที ผมก็กลับบ้านใช้เวลาประมาณ ๒ – ๓ ชั่วโมง เป็นปี อันนี้ผมจะเน้นให้เห็นว่า การพยายามเข้าไประลึก โดยรับฟังมาและเอาไปใช้จริงๆ ให้ได้ ต้องใช้ความพยายามถึงขนาดนั้น วันนั้นประมาณ ๑๐ โมงเช้า ผมดีใจว่าผมแยกได้แล้วว่า เห็นกับรู้สึกว่าเราเห็นต่างกันอยู่นิดหนึ่งแล้ว อาทิตย์ต่อมาผมก็มาอีก ก็มามองอย่างนี้อีก และก็แยกได้อีกว่า การเห็นกับที่รู้ว่าเห็น เริ่มต่างกันอีก มากกว่าเดิมอีกนิดหนึ่ง ทีนี้ก็มาฟังอาจารย์บรรยาย ที่ว่าตั้งใจทำก็เป็นความเห็นผิดอีก เมื่อมาฟังท่านอาจารย์บรรยาย ก็ดูเหมือนว่ายังผิดอยู่ๆ อยู่เยอะเลย
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ที่ว่ายังผิดอยู่ๆ พอจะรู้ไหมว่า ตรงไหนที่ผิด
ผู้ฟัง ผิดจริงๆ ด้วย ผิดตรงที่ว่า ๑. ตั้งใจ
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง นอกจากจะตั้งใจแล้ว ระหว่างที่ตั้งใจก็เป็นตัวตนแน่นอนเลย
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง แล้วถ้าหากว่า ยังใช้เวลาพิจารณาสิ่งเหล่านี้น้อยอยู่ พอเลิกพิจารณาแล้ว ก็จะรู้ว่า เมื่อสักครู่ที่ผ่านไปตอนนั้นผิด และพิจารณาต่อไปเรื่อยๆ จะได้ช่องว่างของความผิดน้อยลงๆ จนกระทั่งเกือบจะไม่ผิด อันนี้ผมกำลังจะบอกว่า วิธีการบรรยายโดยฟังให้เข้าใจก่อน ไปเทียบกับวิธีการอื่นๆ ซึ่งตามสำนักต่างๆ ในเมืองไทย ดูเหมือนว่าวิธีการของอาจารย์จะยากเย็นเสียเหลือเกิน แล้ววิธีอื่นๆ ดูจะง่าย เช่นการนั่งสมาธิ นั่งระลึกให้เห็นศูนย์กลางกาย จึงทำให้คนที่ฟังโดยทั่วไป ถ้าไม่มีศรัทธาจริงๆ และไม่เห็นประโยชน์จริงๆ ก็จะเลิกฟัง และเสียประโยชน์ไป
ท่านอาจารย์ ถ้ายังจะต้องนั่งสงบ แล้วก็ทำสมาธิที่ศูนย์กลางกาย ขณะนั้นรู้อะไร
ผู้ฟัง คนที่นั่งจะไม่รู้หรอก
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้แล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงเรื่องให้ไม่รู้ หรือปฏิบัติเพื่อไม่รู้
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ถามว่า รู้อะไร จริงๆ แล้วไม่รู้ แต่ระหว่างที่เขาไม่รู้ เขาก็คิดว่า อันนี้เป็นวิธีที่ค่อนข้างจะถูกต้อง
ท่านอาจารย์ นี่เป็นตัวอย่างของการเพียรผิดได้ไหม
ผู้ฟัง ได้
ท่านอาจารย์ มีความเห็นผิด แล้วมีความเพียร ความเพียรนั้นก็ต้องผิดตามความเห็นด้วย
ผู้ฟัง ผมขอเรียนถามอีกนิดหนึ่ง แล้วถ้าเป็นวิธีโดยที่ให้นั่งระลึกที่ศูนย์กลางกาย ถ้านั่งไปจริงๆ แล้ว ก็จะเห็นแสงสว่างจริงๆ มันเป็นนิมิตใช่ไหม
ท่านอาจารย์ อยากเห็นไหม
ผู้ฟัง ถ้าหากว่าเริ่มต้น อยากแน่นอน เป็นสิ่งที่ผิด
ท่านอาจารย์ ก็อยาก แล้วจะเป็นกุศลได้อย่างไร
ผู้ฟัง ก็เป็นโลภะอีกแล้ว
ท่านอาจารย์ แน่นอน
ผู้ฟัง เหมือนตุลาการอีกแล้ว เราต้องพิจารณาตัวเองเรื่อย
ท่านอาจารย์ โยนิโสมนสิการ คือ รู้ว่าสภาพธรรมใดมีจริง และควรที่จะเข้าใจลักษณะจริงๆ ของสิ่งนั้นให้ถูกต้อง ไม่ใช่นึกคาดคะเนเท่านั้น
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160