โสภณธรรม ครั้งที่ 106
ตอนที่ ๑๐๖
นิภัทร อย่างนั้นในสมัยอดีต ที่ล่วงมาแล้วนานๆ อย่างท่านดาบสต่างๆ ที่ท่านเจริญฌานจนได้สมาบัติ เหาะเหินเดินอากาศมีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ท่านก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้ เพราะท่านไม่ได้เข้าใจการเจริญวิปัสสนา
ท่านอาจารย์ ถ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสรู้ ไม่ทรงแสดงพระธรรม ฤาษีเหล่านั้นก็ไม่รู้หนทาง และบางท่านก็สิ้นชีวิตไปก่อน เช่นท่านอาฬารดาบส และอุทกดาบส เพราะฉะนั้นท่านทั้งสองก็หมดโอกาสที่จะเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคล เพราะเหตุว่าท่านเกิดในอรูปพรหมภูมิ ไม่มีการได้ยินธรรมใดๆ ทั้งสิ้น
นิภัทร และถ้าเจริญสติปัฏฐานในขณะที่จิตเป็นฌานไม่ได้ ก็ต้องออกจากฌานอย่างที่เขาพูดกัน หมายความว่าอย่างไร ต้องออกจากฌานมาถึงจะเจริญวิปัสสนาได้
ท่านอาจารย์ ผู้ที่ได้ฌานแล้ว แล้วก็เป็นผู้ที่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน ก็รู้ว่า การเจริญสติปัฏฐานเพื่อละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมทั้งหมดในชีวิตประจำวันว่าเป็นตัวตน เพราะว่าจะมีการเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ คิดดูเคยเกิดมามากมายแสนโกฏิกัปป์ นับไม่ถ้วน แต่จะเหลือการเกิดอีกเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ปัญญาจะต้องรู้อะไร
เพราะฉะนั้นผู้ที่เคยเจริญฌานในอดีต ในสมัยพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีผู้ที่ได้อบรมเจริญสมถภาวนา บรรลุฌานจิตมากมาย และเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ท่านก็เป็นผู้ที่ต้องมีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าฌานจิตดับกิเลสไม่ได้ ดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะไม่ได้ การที่จะดับโลภะ ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะได้ ต้องบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล โดยที่ว่าในการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันนั้น ยังไม่ได้ดับความยินดีพอในในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ว่าผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา รู้หนทางเพียงระงับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยไม่ให้เห็น ในเมื่อเป็นอัปปนาสมาธิแล้วจิตจะแนบแน่นอยู่ในอารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบทางมโนทวาร ทวารเดียว แต่ไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริง คือการเกิดขึ้นและดับไปของสิ่งซึ่งเคยเป็นที่พอใจ เพลิดเพลินยิ่งนัก ตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
นี่คือความต่างกัน เพราะฉะนั้นเหตุกับผลต้องตรงกัน ถ้าปัญญายังไม่เกิดที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ยังไม่ประจักษ์การเกิดดับ ไม่มีทางเลยที่ว่าจะละคลายความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้
นิภัทร ในขณะที่จิตเป็นฌาน เรียกว่าฌานจิตนั้น เจริญวิปัสสนาไม่ได้แน่
ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังเป็นฌานจิต เป็นมหัคคตจิต จะมีอารมณ์ของสมถะที่ทำให้จิตสงบเพียงอย่างเดียวทางมโนทวาร ไม่เห็น แล้วก็จะศึกษาลักษณะสภาพของรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ จนรู้ว่าเป็นแต่เพียงสีต่างๆ เท่านั้นได้อย่างไร
นิภัทร แล้วที่ว่าออกจากฌานนั้น หมายความว่าต้องไม่อยู่ในฌานใดฌานหนึ่ง อย่างนั้นใช่ไหมที่จะเจริญวิปัสสนา
ท่านอาจารย์ คนที่ไม่ได้ฌาน เห็นแล้วก็คิด ใช่ไหม ได้ยินแล้วก็คิด ได้กลิ่นแล้วก็คิด ลิ้มรสแล้วก็คิด กระทบสัมผัสแล้วก็คิด แม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ก็คิด ตัดความคิดออกไม่ได้เลย และความคิดของคนที่ไม่ได้ฌานก็คิดในเรื่องรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง คิดถึงเรื่องคนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง วันหนึ่งๆ คิดถึงเรื่องสิ่งนั้นสิ่งนี้บ้างในวันหนึ่งๆ
นี่คือปกติของผู้ที่ไม่ได้ฌาน ซึ่งสติปัฏฐานของบุคคลนั้นก็จะต้องเกิดตามรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยินในขณะนี้ตามปกติ
เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่ได้ฌาน ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีวสี ฌานจิตก็ไม่ได้เกิดอีก ไม่ได้เป็นผู้ที่มีความคล่องแคล่วที่จะนึกถึงฌานในขณะไหนก็ได้ ณ สถานที่ใดก็ได้ เพราะเหตุว่ายังเป็นผู้ที่ไม่ชำนาญ เพราะฉะนั้นสำหรับบุคคลนั้นซึ่งเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ฌานจิตก็ไม่เกิดให้ระลึกรู้ แต่สำหรับผู้ที่มีวสี มีความคล่องแคล่วมาก มีปัจจัยที่จะให้ฌานจิตเกิด ฌานจิตดับ คือไม่เกิดสืบต่อกัน แล้วสติปัฏฐานจึงเกิดระลึกลักษณะของฌาน ซึ่งเกิดสลับได้
สำหรับการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงพิจารณาการเกิดดับของฌานจิต
สุชาติ ในขณะที่เข้าฌานอยู่ วิปัสสนาไม่ได้แน่นอน ทราบกันอยู่ จะยกขึ้นวิปัสสนาได้ ต้องเป็นผู้ได้วสีด้วย
ท่านอาจารย์ คือความเข้าใจต้องถูก และต้องละเอียดจริงๆ ถ้าใช้คำว่า “ยกขึ้น” หมายความว่าอย่างไร
สุชาติ หมายความว่ามีอยู่แล้ว แล้วก็ยกขึ้น ผมจะไม่ใช้คำนั้น ตามระลึกก็แล้วกัน ตามระลึกถึงฌานที่ดับไปในปัจจุบันนั้น
ท่านอาจารย์ แล้วก็เกิดสลับ เหมือนการเห็น การได้ยินในขณะนี้ก็เกิดสลับกัน
สุชาติ ก็เจริญวิปัสสนาได้ เรียกว่า
ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานสามารถที่จะเกิดระลึกลักษณะของฌานจิตได้ เช่นเดียวกับกำลังระลึกลักษณะของจิตที่เห็นในขณะนี้ หรือจิตที่ได้ยิน
สุชาติ ถ้าคนที่ได้ฌานแล้ว แล้วสติปัฏฐานเอาฌานนั้นเป็นอารมณ์
ท่านอาจารย์ เอาฌานนั้นเป็นอารมณ์ก็ไม่ได้ ไม่มีทาง แล้วแต่สติปัฏฐานจะเกิดหรือไม่เกิด จะระลึกหรือไม่ระลึก ไม่ใช่มีใครจงใจตั้งใจจะเอาฌานเป็นอารมณ์
สุชาติ เมื่อเจริญวิปัสสนาได้แล้ว
ท่านอาจารย์ จะรู้ความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น จะไม่มีการทำอะไร ยกอะไรทั้งนั้น
สุชาติ เมื่อรู้เห็นแล้ว จะออกจากวิปัสสนาเข้าฌานได้ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่มีออก ไม่มีเข้า ทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยซึ่งปัญญาที่ได้สะสมมาแล้ว สามารถที่จะรู้ในความเป็นอนัตตานั้นยิ่งขึ้น
สุชาติ หมายความว่าจากฌานเป็นวิปัสสนานั้นได้ ทีนี้คนที่ได้วิปัสสนาแล้วเข้าฌานสู่นิโรธสมาบัติ หรือสัญญาเวทยิตนิโรธ
ท่านอาจารย์ แล้วแต่เหตุปัจจัย เมื่อมีเหตุปัจจัยที่สภาพธรรมใดจะเกิด สภาพธรรมนั้นก็เกิด
สุชาติ พูดง่ายๆ ว่า จากฌานไปสู่วิปัสสนานี่เรารู้กันแล้ว
ท่านอาจารย์ หรือจากวิปัสสนาไปสู่ฌานก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
สุชาติ และอีกเรื่องหนึ่งที่มีคำกล่าวอ้างพระพุทธพจน์ว่า “เมื่อเจริญสมาธิมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมยังปัญญาให้เกิด ย่อมเห็นแจ้งตามความเป็นจริง” ถ้าเราถามโดยทั่วๆ ไปที่บอกว่า ทำสมาธิแล้วปัญญาก็เกิด ผมคิดว่าคำพูดนี้อาจจะแยกได้ แต่ส่วนมากแล้วฟังแล้ว ก็อาจจะคิดว่าเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อเป็นสมาธิแล้วจะรู้อะไรได้ ถ้าไม่เจริญสติ อันนี้ผมคิดว่า ผมมองได้ ๒ แง่ ถ้าเข้าใจอย่างนั้น ก็เป็นไปตามที่เราเข้าใจว่า เขาเข้าใจผิด แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ คำกล่าวของสมเด็จพระผู้มีพระภาคจะผิดอย่างนั้นหรือ ถ้ามองในแง่ถูก ก็คือว่า อาจารย์ก็ตอบท่านผู้ฟังเมื่อสักครู่นี้ว่า ในมรรคก็มีสัมมาสมาธิ
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ถ้านอกจากสัมมาสมาธิที่เกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิและสัมมาสติแล้ว จะมีสมาธิใดที่จะเป็นบาทให้ปัญญาเกิด
สุชาติ ผมก็จะถามว่า คำที่ว่า เมื่อมีสมาธิแล้วย่อมเห็นแจ้งตามความเป็นจริง
ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพุทธพจน์นี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า แม้ขณะที่วิปัสสนาญาณเกิดก็ไม่ได้ปราศจากสมาธิ ไม่ใช่ว่าต้องไปทำสมาธิอื่น
สุชาติ ถ้าอย่างนั้น ต้องเห็นแจ้งเสียก่อน จึงมีสมาธิ
ท่านอาจารย์ มรรคมีองค์ ๘ เกิดร่วมกัน
สุชาติ พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีสมาธิแล้วจึงเห็นแจ้ง
ท่านอาจารย์ ถ้าโดยปัจจัยแล้วก็อาศัยซึ่งกันและกัน เป็นสหชาตปัจจัย
พระ สักครู่พูดถึงเรื่องการเจริญสมถะวิปัสสนาที่ว่า วิปัสสนาเกิดสลับกับฌาน เดี๋ยวนี้มีการปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ก่อนที่จะเจริญจนปฏิภาคนิมิตเกิด จะต้องมีดินสีอรุณ หรือวัตถุต่างๆ เช่น ดิน น้ำ ไฟ ลม ผู้เจริญสติปัฏฐานรู้ว่า นั่นคือรูปธรรม ขณะที่นิมิตเกิดขึ้น เขาบอกว่า สติปัฏฐานสามารถเกิดได้ โดยพิจารณานิมิตนั้นว่าเป็นรูปธรรม
ท่านอาจารย์ ประทานโทษ นี่เป็นการสับสนปะปนกันอย่างมากทีเดียว ขอความกรุณาพระคุณเจ้าช่วยพูดเป็นลำดับขั้นด้วยเจ้า คือ จะเจริญอะไร
พระ คือจะเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะเป็นบาท
ท่านอาจารย์ แม้แต่เพียงขั้นต้น ก็ควรจะต้องพิจารณาว่า จะเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะเป็นบาท เลือกอย่างนี้ คิดอย่างนี้ ถูกหรือผิด เวลานี้เห็น มีแล้ว แล้วก็จะเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะเป็นบาท ขณะนี้ได้ยินก็กำลังมีแล้ว แต่ว่าจะเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะเป็นบาท นี่เข้าใจถูกหรือเปล่า
พระ คือหารูปนาม ทำรูปนามขึ้นมา
ท่านอาจารย์ ทำรูปนามขึ้นมา ไม่มีใครสามารถที่จะทำนามธรรมหรือรูปธรรมได้เลย นามธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย รูปธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครเคยรู้หรือเคยพิจารณาว่า เกิดมาได้อย่างไร มีตามาได้อย่างไร ถ้าไม่มีกรรม แต่เมื่อเกิดมาแล้วมีทุกอย่าง ก็เลยรวบรัดมาเป็นของเรา โดยที่ไม่รู้สาเหตุเลยว่า มาจากไหน ตาเมื่อวานก็ดับแล้ว รูปเมื่อวานก็ดับแล้ว หูเมื่อวานก็ดับแล้ว จมูกเมื่อวานก็ดับแล้ว หรือไม่ต้องถึงเมื่อวาน แม้ขณะเดี๋ยวนี้เองก็ดับแล้ว ก็ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่รู้เลย ก็จะบอกว่าทำให้รูปนามเกิดขึ้น ใครจะเป็นคนสามารถทำให้รูปนามเกิดขึ้นได้ เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้เข้าถึงอรรถนี้ ที่ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้าไม่เข้าถึงอรรถนี้แล้วจะเจริญวิปัสสนาได้อย่างไร ต้องเข้าใจ “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” แล้วจึงจะเจริญวิปัสสนาได้
พระ ทีนี้ถ้าให้ผู้ปฏิบัติแบบนี้ฟังการเจริญสติปัฏฐาน เพิ่งเริ่มฟังใหม่ๆ คือเป็นคนชอบเพ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ เป็นคนที่ชอบเพ่งสิ่งต่างๆ จะสนทนาธรรมกันก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดมากทีเดียว ถึงจะรู้ว่าส่วนใดผิด ส่วนใดถูก และรีบทิ้งส่วนผิดเสีย
เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่า ชอบเพ่งสิ่งต่างๆ ขอทราบว่าสิ่งต่างๆ นั้นคืออะไร ที่ชอบเพ่ง
พระ เช่นดวงแก้วกลมๆ ใสๆ
ท่านอาจารย์ เพ่งทำไมดวงแก้ว เพ่งแล้วเกิดอะไรขึ้น
พระ ถ้าดวงแก้วอยู่ในความคิดของใจ แล้วก็ชัด และจะเกิดความสบายใจ
ท่านอาจารย์ จะชัดไม่ได้ เพราะไม่มีดวงแก้ว
ข้อความในสัมโมหวิโนทนี พระวิภังคปกรณ์ มีข้อความว่า
อรรถของสัจจะ คือ อริยสัจจะ ภาวะใดเมื่อบุคคลเพ่งอยู่ด้วยปัญญาจักษุ ย่อมไม่วิปริตเหมือนมายากล ไม่ลวงตาเหมือนพยับแดด ไม่เป็นสภาวะที่ใครๆ หาไม่ได้ เหมือนอัตตาของพวกเดียรถีย์ โดยที่แท้เป็นโคจร คือ เป็นอารมณ์ของอริยญาณ
ต้องเป็นของจริง และก็ดวงแก้วมีหรือเปล่า
พระ ไม่มี
ท่านอาจารย์ ไม่มีแล้วไปทำอะไรที่ดวงแก้ว ไปเพ่งทำไม ก็ไม่เกิดปัญญาอะไรเลย แล้วบอกว่าชอบเพ่ง ก็หมายความว่า ไม่ชอบของจริง ไม่ชอบสัจจธรรม ไม่ชอบอริยสัจจธรรม
พระ ถ้าไปเพ่งของไม่จริง ก็ไม่เห็นสักทีว่าเกิดดับ
ท่านอาจารย์ แน่นอนเจ้า ปัญญาไม่เกิดเลย ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเลย
พระ แล้วคิดเทียบเอาว่าเป็นรูป
ท่านอาจารย์ คิดได้อย่างไร สิ่งที่ไม่มี ก็ไปคิดเอาว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้
พระ เห็นในใจ
ท่านอาจารย์ เห็นได้อย่างไร ในเมื่อไม่มี
พระ ลูกแก้วปรากฏทางใจเหมือนกับของจริง
สุ. เวลานี้ใครมีลูกแก้วในใจบ้าง
พระ เดี๋ยวนี้ไม่มี
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ไม่มี เพราะฉะนั้นไม่จริงเจ้า เห็นมีไหม
พระ มี
ท่านอาจารย์ จริงไหม
พระ จริง
ท่านอาจารย์ ดวงแก้วไม่มี
พระ ต้องทำก่อน
ท่านอาจารย์ ทำไม่ได้ นึกได้ แต่ทำไม่ได้ เป็นความคิดเท่านั้นเอง ยังไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นจิตชนิดหนึ่งซึ่งคิดแล้วก็ดับ
พระ อย่างนี้ก็เข้าใจผิดว่าเป็นรูปธรรม
ท่านอาจารย์ ไม่มีลักษณะที่ปรากฏที่จะศึกษาให้รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ทราบยังจะมีใครจะทำอะไรกันอีกหรือเปล่า
ประทีป ผมขอเรียนถามว่า สภาพธรรมของคำว่า “ฉันทะ” กับ “ศรัทธา” กับ “โลภมูลจิต” ลักษณะสภาพธรรมใกล้เคียงกันไหม
ท่านอาจารย์ โลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง ศรัทธาเป็นสภาพที่ผ่องใสจากอกุศล ฉันทะเป็นสภาพที่พอใจที่จะกระทำ
ประทีป ลักษณะของฉันทะกับโลภะ พอใจที่จะกระทำกับติดข้อง ถ้าพูดกันแล้วอาจารย์ช่วยกรุณาให้ละเอียดด้วยได้ไหม
ท่านอาจารย์ โลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง แล้วฉันทะเป็นสภาพที่พอใจที่จะกระทำ เพราะฉะนั้นฉันทเจตสิกเกิดกับโลภเจตสิกได้ ฉันทเจตสิกเป็นปกิณณกเจตสิก เกิดกับกุศลก็ได้ เกิดกับอกุศลก็ได้ แต่ว่าโลภเจตสิกเป็นอกุศล เกิดกับกุศลไม่ได้เลย
เพราะว่าบางท่านมีฉันทะในการให้ทาน เป็นกุศลหรือเปล่า ในขณะนั้นเป็นฉันทะ มีความพอใจในการให้ บางท่านมีฉันทะในอกุศล คือ ชอบมีโลภะเยอะๆ ชอบอยากจะมี นั่นคือฉันทะ รู้ว่าเป็นโลภะ รู้ว่าเป็นอกุศล แต่ก็ยังมีฉันทะที่พอใจที่จะกระทำอย่างนั้น
ประทีป แล้วศรัทธาละ
ท่านอาจารย์ ศรัทธาเป็นโสภณเจตสิก เป็นสภาพที่ผ่องใส เพราะเหตุว่าไม่เศร้าหมองด้วยอกุศล
ประทีป คือพูดกันถึงเรื่องสมาธิ กระผมก็เคยปฏิบัติสมาธิมามากพอสมควร และการนึกเอารูปนามก็ท่องเสียจนชำนาญเหมือนกัน อย่างขับรถไปเห็นไฟแดง ก็สีเป็นรูป เห็นเป็นนาม จนคล่อง ก็คิดว่าตัวเองคงจะได้เห็นรูปเห็นนาม และต่อมาได้ฟังอาจารย์มากขึ้นๆ จากความเข้าใจอันนั้นก็เข้าใจว่า การเจริญสมถภาวนาที่ผมได้เจริญนั้น เป็นการเจริญโลภมูลจิตตลอดมา จนกระทั่งเข้าใจว่าในขณะที่จะไปเริ่มเจริญสมาธิหรือสมถภาวนานั้น ถ้าหากสติสัมปชัญญะในขั้นนึกคิดไม่ใช่สติปัฏฐาน ในขณะที่ตั้งใจจะไปเจริญสมถะหรือสมาธินั้น ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดขึ้นและก็ไม่รู้ว่าในขณะนั้นเป็นศรัทธาหรือเป็นฉันทะ หรือเป็นโลภะ ก็จะไม่รู้เลยว่า ในขณะนั้นเราไปเจริญกุศลหรืออกุศล
ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจว่าการเจริญสมถภาวนา เพราะเห็นอกุศลมากในชีวิตประจำวัน ผู้ที่เห็นโทษของอกุศลก็เพียรที่จะให้กุศลจิตเกิด โดยการที่มีปัญญารู้ว่า ตรึก คือ วิตกเจตสิก จะต้องตรึกถึงอารมณ์อะไรที่จะทำให้จิตสงบได้
เพราะฉะนั้นในขณะที่จิตสงบเป็นกุศล สติสัมปชัญญะจะต้องรู้ว่า ขณะนี้เป็นกุศล แล้วก็เป็นจิตที่สงบ ด้วยเหตุนี้เวลาที่มีอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดแทรก สติสัมปชัญญะก็จะรู้เพื่อที่จะขจัดนิวรณธรรมเหล่านั้นออกไป จนกว่ากุศลนั้นจะตั้งมั่น เช่น กามฉันทนิวรณ์ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีมากในชีวิตประจำวัน แล้วก็ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้นเวลาที่กุศลจิตเกิดระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบนิดหนึ่งแล้วก็ดับ กามฉันทะนิวรณ์ ความพอใจในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง ในกลิ่นบ้าง ในรสบ้าง ในโผฏฐัพพะบ้าง หรือแม้การคิดนึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วยความยินดีพอใจ ในขณะนั้นก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะจะต้องไวและก็จะต้องรู้ว่ามีอกุศลธรรมใดเกิดขึ้นแทรก และวิตก วิจารเจตสิกก็จะต้องเป็นองค์ของฌานที่จะทำให้จิตตั้งมั่นที่อารมณ์ที่จะทำให้สงบจริงๆ ได้ เพิ่มขึ้น โดยที่ว่านิวรณธรรมทั้งหลายก็จะไม่มีโอกาสที่จะแทรกคั่นได้ เพราะฉะนั้นสติสัมปชัญญะต้องไวที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต มิฉะนั้นแล้วกุศลจิตก็จะเพิ่มมั่นคงสงบจนกระทั่งถึงสมาธิขั้นต่างๆ ไม่ได้
ประทีป ที่กระผมเรียนนี่เพราะว่า ในขณะที่นั่งเจริญสมาธินั้น
สุ. ขอทราบนิดนึงว่าทำยังไง
ประทีป ก็ในสมัยที่แล้วๆ อย่างที่ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งคือ ได้เจริญว่าหายใจเข้า “พุทธ” หายใจออก “โธ” แล้วก็จากการอบรมเจริญในเรื่องศึกษามาเล็กๆ น้อยๆ ว่าพุทธโธหมายถึงผู้รู้ ผู้เบิกบาน หมายถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งได้ทรงตรัสรู้ นำพระธรรมคำสั่งสอนมาและก็มีพระเมตตาคุณ พระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ จากอะไรต่างๆ นะ กระผมก็ได้เจริญลักษณะอย่างนั้นมา แต่จากที่แล้วๆ มา พอเริ่มที่มาฟังอาจารย์ ผมก็เข้าใจว่า จากการเจริญสมาธิอย่างนั้นมา ในขณะที่เจริญ สติสัมปชัญญะส่วนใหญ่แล้วเกือบ เก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ ผมจะไม่รู้เลยว่าในขณะไหนเป็นกุศล ในขณะไหนเป็นอกุศล เพราะว่าถ้าวันนี้เกิดจิตตั้งมั่น และมีความสบาย ไม่เมื่อย ไม่ขบ ก็รู้สึกพึงพอใจ ในขณะนั้นก็ไม่รู้เลยว่าโลภะกำลังเข้ามา ในขณะใดที่นั่งแล้วไม่พอใจ ได้ยินเสียงหรือได้กลิ่นอะไรที่ไม่พอใจ กลิ่นเหม็นหรือกลิ่นหอมหรือกลิ่นดอกอะไรที่เราไม่พึงพอใจ ก็รู้สึกไม่พอใจ โดยไม่รู้ตัวเลยว่าในขณะนั้นเป็นยังไง จากการที่ได้มาฟังอาจารย์แล้วก็รู้ว่าในขณะที่สมัยเก่าที่ผมได้เคยนั่งสมาธินั้น ไม่ได้รู้เลยว่าในขณะไหนเป็นกุศล อกุศล จากการที่ได้มาฟังอาจารย์ก็รู้ว่า ถ้าสติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เช้ามาจนกระทั่งหลับไป ถ้าหากว่าเราได้อบรมเจริญกุศล ละอกุศลในชีวิตประจำวันบ่อยๆ ผมก็คิดว่าก็น่าจะเป็นเหตุ เป็นปัจจัยอันหนึ่ง ถ้าหากว่าในขณะที่นั่งสมาธิแล้ว สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นแล้วก็รู้ว่าเป็นกุศล เป็นอกุศล ในขณะนั้นก็สามารถที่จะน้อม ผมคิดเอานะ ก็สามารถที่จะน้อมพิจารณาได้ว่าในขณะที่เป็นอกุศลนั้น เราจะน้อมใจหรือจะเจริญอย่างไร ในสมถะกรรมฐาน 40 วิธี
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160