โสภณธรรม ครั้งที่ 160
ตอนที่ ๑๖๐
ผู้ฟัง ผมขอเรียนถามอีกนิดหนึ่ง แล้วถ้าเป็นวิธีโดยที่ให้นั่งระลึกที่ศูนย์กลางกาย ถ้านั่งไปจริงๆ แล้ว ก็จะเห็นแสงสว่างจริงๆ มันเป็นนิมิตใช่ไหม
ท่านอาจารย์ อยากเห็นไหม
ผู้ฟัง ถ้าหากว่าเริ่มต้น อยากแน่นอน เป็นสิ่งที่ผิด
ท่านอาจารย์ ก็อยาก แล้วจะเป็นกุศลได้อย่างไร
ผู้ฟัง ก็เป็นโลภะอีกแล้ว
ท่านอาจารย์ แน่นอน
ผู้ฟัง เหมือนตุลาการอีกแล้ว เราต้องพิจารณาตัวเองเรื่อย
ท่านอาจารย์ โยนิโสมนสิการ คือ รู้ว่าสภาพธรรมใดมีจริง และควรที่จะเข้าใจลักษณะจริงๆ ของสิ่งนั้นให้ถูกต้อง ไม่ใช่นึกคาดคะเนเท่านั้น อย่างการเห็นมีจริง แล้วทุกคนก็ได้ยินได้ฟังว่า เห็นเป็นนามธรรม นี่เป็นสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แต่ว่าประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาที่จะรู้ว่า ลักษณะที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ ที่ไม่ใช่เราที่กำลังเห็น นี่คือปัญญา เพราะฉะนั้นฟังไป เข้าใจไป อบรมเจริญสติปัฏฐานไป เพื่อรู้แล้วละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ถ้าความรู้ไม่เกิด อะไรจะละได้ เห็นอยู่ทุกวัน ทุกชาติ ทั้งชาติก่อนๆ แสนโกฏิกัปป์ ชาตินี้ ชาติหน้า ถ้าไม่ฟังเรื่องการเห็นให้เข้าใจจริงๆ เพื่อจะให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้ ซึ่งเป็นจริงอย่างนั้น คือ เกิดขึ้นเห็นแล้วดับ
นี่คือสังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ใช่เพียงพอใจเพียงแค่ได้ยินได้ฟัง แต่จะต้องประจักษ์แจ้งด้วย ด้วยการฟังให้เข้าใจจริงๆ แล้วก็จะไปเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้สติปัฏฐานระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น แม้ในขณะที่ระลึก ความเป็นตัวตนก็ยังมีอยู่ที่สัญญาขันธ์ ที่เวทนาขันธ์ ที่สังขารขันธ์อื่น ที่วิญญาณขันธ์ด้วย
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เพียงชั่วขณะที่สติเกิดเล็กๆ น้อยๆ ลักษณะสภาพของสิ่งที่สติระลึกไม่เปลี่ยน คือ แข็ง จะไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเลย สภาพที่รู้แข็งก็ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ในขณะที่กำลังรู้แข็ง มีลักษณะจริงๆ ที่กำลังรู้แข็งที่ปรากฏ และแข็งนั้นก็ปรากฏ แต่ความรู้ที่จะละการยึดถือว่า เป็นเราที่รู้แข็ง จะรู้ได้ว่า ขณะที่สติระลึกปัญญาในขณะนั้นเพิ่มหรือยัง ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่เพิ่มขึ้น ก็ยังคงเป็นรู้แข็งกับแข็ง มีใครบ้างที่ไม่รู้ว่าแข็ง ทุกคนก็รู้ว่าแข็ง แต่ก็ยังคงเป็นแต่เพียงรู้แข็งเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญาอะไรเลยที่รู้ว่า สภาพรู้ไม่ใช่เราอย่างไร
นี่เป็นเหตุที่จะต้องฟังเรื่องของสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนกว่าจะเป็นสังขารขันธ์ที่จะให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ จึงจะเป็นสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่ไปนั่งทำอะไร
ผู้ฟัง ระหว่างที่ผมสนทนากับหลวงพ่อท่านนั้น ท่านก็มีความคิดตอนท้ายว่า ปัญญาจะเกิดในชาตินี้คงยาก เพราะฉะนั้นการที่ท่านบำเพ็ญวิธีนั้น ก็เหมือนกับว่าบำเพ็ญให้ได้จุดหนึ่งก่อนแล้วก็ไปพักอีกที่หนึ่ง และเมื่อถึงพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ท่านก็จะได้ฟังธรรมจนตรัสรู้เลย
ท่านอาจารย์ ก็ชาตินี้ยังไม่เข้าใจ แล้วพอไปถึงพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ก็ไปนั่งพักอยู่ที่จุดนั้นอีก เพราะว่าไม่ได้ทำอะไรให้ก้าวหน้าเลย
คือ ส่วนใหญ่แล้วจะไม่เข้าใจว่า ปัญญาคืออะไร แล้วปัญญารู้อะไร เพราะฉะนั้นก็หวังว่า ปัญญาจะเกิดหลังจากที่นั่งสมาธิ แล้วเพิ่งสมาธิที่จุดหนึ่งจุดใด แต่ความจริงขณะใดก็ตามที่ไม่มีปัญญา ขอให้พิจารณาดูว่า ขณะนั้นเป็นกุศลได้ไหม หรือว่าเป็นโลภะเพราะอยาก เพราะต้องการ
ผู้ฟัง อย่างนี้ก็เป็นการตัดสินว่า ระหว่างที่ทำอะไรก็แล้วแต่ ก็เหมือนตุลาการ ถ้าเราพิจารณาตัวเราอยู่เรื่อยๆ ถ้าเราทำวิธีไหน ก็ต้องสำรวจตัวเองว่า ขณะจิตนั้นเป็นอะไรบ้าง ในโลภะ โทสะ โมหะทั้งหมด
ท่านอาจารย์ แต่ว่าถ้าเป็นจริงที่มีจริง ก็ย่อมสามารถที่จะพิจารณาเข้าใจได้ แล้วพระธรรมจะต้องตรงทั้ง ๓ ปิฎก ตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุด เช่น ปัญญามี ๓ ขั้น สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา ถ้าไม่มีขั้นฟัง มีอะไรที่จะคิดไหมเรื่องทางตาที่กำลังเห็น เป็นนามธรรมอย่างไร ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย เพราะฉะนั้นก็จะต้องอาศัยการฟัง แล้วก็มีการคิดพิจารณาในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่า จริงหรือเปล่า เมื่อใคร่ครวญไตร่ตรองรู้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ก็เป็นปัจจัยให้ภาวนามยปัญญาเกิดได้
เพราะฉะนั้นที่ว่าจะปฏิบัติๆ ขอให้เข้าใจตามความเป็นจริงก่อนว่า เข้าใจหรือยัง ถ้ายังไม่ได้เข้าใจจะปฏิบัติอะไร ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ไม่ใช่เพียงหวังลอยๆ ว่า ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ จะเกิดปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
อดิศักดิ์ ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ใช่จะหยิบเอามาเล่นๆ กันได้ จะจับดวงแก้วมาเพ่งกัน หรือให้นั่ง ให้นอน ให้เดิน ไม่มีใครจะไปจับวิธีขึ้นมาได้ พระพุทธเจ้าบอกแล้วว่า มีอยู่ทางเดียว คือ ต้องเจริญต้องอบรม ไม่ง่ายหรอก ที่ท่านมีความเข้าใจว่าไม่ง่ายนั้น ถูกต้องแล้ว ยืนยันได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนตรัสรู้ ก็ทรงยืนยันว่าไม่ใช่ของง่าย ทรงจะไม่สั่งสอนเสียด้วย ท่านลองคิดดู อย่าเพิ่งท้อถอย และจะยืนยันอีกว่า ผมมีความรู้สึกเหมือนท่านตั้ง ๘๐ – ๙๐% ตอนฟังใหม่ๆ ๒ – ๓ ปีทีเดียวที่มีความรู้สึกเหมือนที่ท่านมาพูด ผมเองฟังมาถึงขนาดนี้ ก็ยังแยกรูป แยกนามไม่ได้ แต่สติเริ่มระลึกแล้ว ถ้าสติของท่านเริ่มระลึกแสดงว่าท่านเริ่มมีความเข้าใจเข้าไปสู่อีกก้าวหนึ่งแล้ว แล้วความมั่นคงจะมีมากขึ้น และก็จะไปเรื่อยๆ แล้วอยากจะพูดต่อไปอีกว่า สำหรับคนที่มาฟังอาจารย์สุจินต์ ไม่ใช่คนสองคนที่เบื่อ เบื่อแล้วถอยไปเป็นสิบๆ เพราะธรรมของพระพุทธเจ้ายาก แล้วยืนยันได้ว่าที่ท่านอาจารย์สอนอยู่นี่ เป็นทางที่ตรง และวิธีการต่างๆ ก็อยากจะบอกต่อไปว่า สำหรับในประเทศไทยน่าเห็นใจผู้ที่ศึกษาธรรมที่สุด เพราะว่าไม่ใช่เฉพาะผมเอง สหายธรรมที่อยู่ใกล้ๆ ก็โดนมาอย่างหนัก รับรองว่าไม่ได้น้อยกว่าท่านเลย ที่โดนสิ่งผิดไปสัมผัสฉาบทาเข้า เพราะกิเลสของเราอยากจะรู้เร็ว อยากจะได้ผล ความอยากได้ผล เป็นความรู้สึกของปุถุชน ผมเองก็ยังเป็นปุถุชน ก็มีความรู้สึกอยากจะบรรลุเร็วๆ แต่มาศึกษาแล้ว ฟังอาจารย์ไปเรื่อยๆ แล้ว จับตำราบ้างแล้ว อ่านอรรถกถาบ้างแล้ว จะมีความรู้สึกว่า นี่แหละเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถึงได้ยากอย่างนี้ ก็ฟังอาจารย์ต่อไป อย่าหยุด บอกว่าอันนี้ก็ฟังแล้ว อันโน้นก็ฟังแล้ว ไม่ได้ คำพูดคำเดียวกันนั้นจะย้ำเข้ามา และจะเพิ่มความเข้าใจเที่ยวที่ ๒ เที่ยวที่ ๓ เที่ยวที่ ๔ เที่ยวที่ ๕ จะเพิ่มความเข้าใจไปเรื่อย เหมือนกับการเจริญหรืออบรมขึ้น
ท่านอาจารย์ ท่านที่ต้องการผลเร็ว ก็ควรที่จะระลึกได้ว่า ขณะนั้นท่านละอะไรหรือเปล่า เพราะว่าพระธรรม หรือความเข้าใจพระธรรมจะละความเห็นผิด จะละความต้องการผล เพราะเหตุว่าใครจะต้องการผลได้ ถ้าเหตุไม่พอที่จะให้ผลนั้นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเป็นการอบรมเจริญปัญญาอย่างถูกต้อง จะไม่เป็นผู้ที่หวังผลมากมาย หรือว่าหวังผลอย่างรวดเร็ว หรือต้องการผลมากๆ ในชาตินี้โดยวิธีต่างๆ แต่จะเป็นผู้ที่สะกิดใจ เฉลียวใจระลึกได้ว่า รู้อะไรหรือยัง ละอะไรหรือเปล่า เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ เป็นเรื่องละโดยตลอด แต่ถ้ายังหวังผล หรือต้องการผล นั่นคือเครื่องกั้น เป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า
สำหรับท่านที่ได้กล่าวถึงข้อปฏิบัติการอบรมเจริญวิปัสสนา โดยการเพ่งจุดศูนย์กลางกาย หรือว่าจะโดยการเพ่งที่ลมหายใจ หรือจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น ควรพิจารณาว่า ภาวนาคืออะไร ถ้าไปเพ่งที่ศูนย์กลางกาย ก็หมายความว่า ภาวนา คือ การไปจดจ้องท่องบ่นให้มีสมาธิตั้งมั่นอยู่ที่หนึ่งที่ใด แล้วหวังว่าเมื่อสงบแล้วปัญญาก็จะเกิดขึ้น แต่ต้องเข้าใจว่า ภาวนา ไม่ใช่อย่างนั้น ภาวนาไม่ใช่ไปทำอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อที่จะให้ปัญญาเกิด แต่ว่าภาวนาคือการอบรมเจริญปัญญาจนกว่าปัญญานั้นจะเจริญขึ้นๆ จนรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน คือ ในขณะนี้เอง ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะต้องรู้ว่า อบรมอย่างไรปัญญาจึงจะเกิดได้ แต่ไม่ใช่ไปนั่งจ้องเพ่งที่ศูนย์กลางกาย เพราะเหตุว่าในขณะนั้นไม่รู้อะไร ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางหูที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส ทางใจที่กำลังคิดนึก ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริง ก็ไม่ควรจะทำ เพราะเหตุว่าถ้าทำแล้วไม่รู้ ขณะนั้นจะชื่อว่า อบรมเจริญปัญญาไม่ได้ เพราะฉะนั้นปัญญาจริงๆ ที่จะเกิดได้ ก็จะต้องอาศัยการฟัง พิจารณาสภาพธรรมจนกระทั่งเข้าใจจริง เป็นสังขาขันธ์ที่ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกได้ในขณะกำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน ตามปกติ จนกว่าจะรู้ชัด
ถ้าคิดว่าจะไปเพ่งที่กลางกาย ก็ไม่ทราบว่าขณะนั้นผลคืออะไร เพราะเหตุว่าขณะที่จะนั่ง ก็ต้องอยากที่จะนั่งหรือต้องการที่จะนั่ง และเมื่อนั่งแล้ว เพ่งที่กลางกายแล้ว ประโยชน์คืออะไร ประโยชน์จะไม่ตรงกับปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เลย
บางท่านก็อาจจะสงสัยว่า ในอดีตสมัยมีพระภิกษุที่นั่งไหม เพราะเหตุว่าโดยมากก็มักจะอ้างว่า นั่งกันทั้งนั้นแหละ แต่ก็ควรจะได้พิจารณาชีวิตประจำวันของพระภิกษุในอดีตด้วยว่า ท่านนั่งมากและเดินมาก เพราะว่าท่านไม่มีกิจของคฤหัสถ์ที่จะต้องกระทำ แต่ความจริงส่วนใหญ่วันหนึ่งๆ คฤหัสถ์ก็นั่ง แต่ก็กระทำกิจการงานของคฤหัสถ์ แต่ขณะที่บรรพชิตนั่ง ท่านกระทำกิจของบรรพชิต ซึ่งถ้าไม่ใช่กิจเล็กกิจน้อยในชีวิตประจำวัน ในขณะนั้นก็จะต้องพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เหมือนทุกคนที่เกิดมาแล้วก็ต้องนั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง แต่ชีวิตของบรรพชิตนั้นท่านนั่งมากและเดินมาก แต่เป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
สำหรับชีวิตประจำวันของพระภิกษุบางท่านในอดีต หรืออาจจะเป็นในสมัยนี้ แต่ว่าอาจจะต่างกันที่เหตุผล สำหรับชีวิตประจำวันของพระภิกษุในอดีตที่ท่านมีความเข้าใจในหนทางปฏิบัติ การอบรมเจริญปัญญาที่ถูกต้อง บางท่านไม่นอนเลย ลองคิดดู ที่ท่านไม่นอน เพราะเห็นประโยชน์ของการหลับน้อย หรือเป็นผู้ที่ควรจะตื่นมากและตื่นเร็ว ด้วยเหตุนี้ถ้านอน ท่านก็จะต้องหลับนาน แต่ว่าถ้านั่งท่านก็จะหลับน้อยและตื่นเร็ว เพราะเหตุว่าท่านเห็นประโยชน์ของการที่สติปัฏฐานจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นคนที่อยากจะนั่งมากหรืออยากจะไม่นอน ก็ไม่ใช่เพียงแต่จะทำตามอย่างท่านที่เคยทำ โดยที่ข้อปฏิบัติหรือหนทางปฏิบัติไม่ถูกต้องเลย แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจหนทางปฏิบัติว่า ภาวนา คือ การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นในขณะที่หลับมากๆ สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์จริงๆ และอยากจะหลับน้อย บางท่านไม่นอนเลย ตามอัธยาศัยที่สะสมมา ที่แต่ละบุคคลจะประพฤติปฏิบัติที่จะขัดเกลากิเลส
สำหรับการที่จะขัดเกลากิเลสพิเศษต่างหากจากศีลของบรรพชิต คือ
บางท่านเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เพราะห้ามคฤหบดีจีวร
ต้องมีเหตุผลทั้งนั้น คฤหบดีจีวรก็น่าจะนุ่งห่มสบายกว่า แต่ในเมื่อท่านเป็นผู้จะมีชีวิตอยู่เพียงเพื่อเจริญปัญญา ไม่ใช่เป็นการอยู่สบาย แล้วก็ติดข้องในสิ่งที่จะบริโภคใช้สอย เพราะฉะนั้นสำหรับบางท่านที่เห็นโทษของการติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ท่านผู้นั้นก็ถือผ้าบังสกุลเป็นวัตร เพราะห้ามคฤหบดีจีวร
บางท่านถือการบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะห้ามสังฆภัต
ท่านที่จะไปนั่งๆ ท่านก็ควรจะพิจารณาว่า ท่านจะไม่นอน แล้วก็จะนั่งเพื่อจะขัดเกลากิเลส ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะเรื่องที่จะไม่นอน แต่จะต้องพิจารณาว่าทุกอย่างที่จะทำให้ติด แม้แต่ชีวิตของพระภิกษุบางท่าน ท่านก็เป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะห้ามสังฆภัต อาหารที่มีผู้นิมนต์ไป ก็จะเป็นอาหารที่ได้ปรุงถวายอย่างประณีต มีรสโอชะทีเดียว แต่ท่านที่เห็นโทษของการติดในรส เห็นประโยชน์ของการที่จะมีชีวิตโดยเป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย ท่านก็เป็นผู้ถือผู้บิณฑบาตเป็นวัตร เพราะห้ามสังฆภัต
เพราะฉะนั้นท่านที่เป็นผู้ที่รู้สึกว่า ยังติดในรส ก็ควรที่จะได้ทราบว่า มีวันไหนบ้างไหมที่ไม่เดือดร้อนเวลาที่รสอาหารที่บริโภคไม่อร่อย
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ ต้องเป็นผู้มีความวางเฉยโดยไม่หวั่นไหวในอารมณ์ต่างๆ ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
บางท่านเป็นผู้ที่ถือไตรจีวรเป็นวัตร เพราะห้ามอดิเรกจีวร
บางท่านเป็นผู้ถือบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร เพราะห้ามการเที่ยวบิณฑบาตโลเล
บางท่านทราบว่า อาหารที่บ้านไหมมีรสอร่อยก็มุ่งที่จะไปบิณฑบาตที่บ้านนั้น แต่ถ้าไม่เป็นผู้ที่ติดในรสจริงๆ ก็จะเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ตามลำดับบ้าน โดยไม่เว้น นี่คือผู้เห็นโทษของกิเลส
เพราะฉะนั้นชีวิตของบรรพชิตกับชีวิตของคฤหัสถ์ ทั้งๆ ที่เป็นผู้อบรมเจริญปัญญาก็จะเห็นได้ว่า ต่างๆ กันไปตามอัธยาศัย และสำหรับผู้เป็นคฤหัสถ์ ก็จะเกิดระลึกได้และเทียบเคียงกับชีวิตของท่านกับชีวิตของบรรพชิต ก็ยังพอที่จะเห็นกิเลสของตนเอง และพอที่จะรู้สึกได้ว่า ควรที่จะขัดเกลาแม้ในเพศของคฤหัสถ์ เมื่อไม่สามารถจะขัดเกลาในเพศของบรรพชิตได้
บางท่านเป็นผู้การนั่งฉันบนอาสนะเดียวเป็นวัตร เพราะห้ามการฉันบนอาสนะต่างๆ
แม้แต่การบริโภคอาหารแต่ละครั้ง การที่จะรู้ตัวว่าติดในรสมากน้อยแค่ไหน ก็สังเกตจากอาจาระในขณะที่บริโภคได้ บริโภคด้วยความเรียบร้อย ไม่เที่ยวเดินไปที่จะแสวงอาหารที่ต่างๆ แต่บริโภคเฉพาะในขณะที่นั่งฉันบนอาสนะเดียว
บางท่านเป็นผู้ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร เพราะห้ามภาชนะอื่นๆ อีก
บางท่านเป็นผู้ถือการห้ามอาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร เพราะห้ามโภชนะที่เหลือเฟือ
เมื่อได้รับถวายเท่าไรก็บริโภคเท่านั้นแม้ว่าจะมีผู้นำอาหารที่ประณีตมาถวายภายหลังก็ไม่รับ
บางท่านเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เพราะห้ามเสนาสนะใกล้บ้าน
บางท่านเป็นผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร เพราะห้ามการอยู่ที่มุงบัง
บางท่านเป็นผู้ถือการอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร เพราะห้ามการอยู่ที่มุงบังและโคนไม้
บางท่านเป็นผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร เพราะห้ามที่มิใช่ป่าช้า
บางท่านเป็นผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร เพราะห้ามความโลเลในเสนาสนะ
ที่อยู่ก็สำคัญ บางท่านก็ตรงนี้ไม่ได้ ตรงนั้นไม่ได้ ตรงนี้สบาย ตรงนั้นไม่สบาย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ ในเรื่องของที่อยู่อาศัย
ประการสุดท้ายของธุดงควัตร ๑๓ ข้อ ข้อที่ ๑๓ คือ
บางท่านเป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตร เพราะห้ามการนอน
นี่ก็ในเรื่องของการนั่งที่จะอบรมเจริญปัญญา เพื่อท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาได้ถูกต้องว่า เรื่องที่จะพูดเรื่องการนั่ง ก็จะต้องด้วยการเข้าใจด้วยว่า จะพูดถึงเรื่องนั่งในข้อปฏิบัติอย่างไร ในข้อปฏิบัติที่เป็นปกติ เป็นธุดงควัตร หรือว่าปกติไม่เป็นอย่างนั้นเลย แต่ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่า จะต้องนั่งให้สงบแล้วปัญญาจะเกิด แต่ไม่ใช่ปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
อดิศักดิ์ อาจารย์ก็ได้พูดเสมอๆ ว่า ต้องฟังให้เข้าใจจนจิตเป็นสังขารขันธ์ จนได้ปัจจัยที่จะให้ระลึกถึงนามถึงรูปที่เกิดขึ้นมาได้ ทีนี้ก็มีคำถามย้อนมาว่า แล้วจะทำอย่างไรที่จะให้สังขารขันธ์ปรุงแต่งได้อย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ทำอย่างไรถึงจะเข้าใจได้ไหม เพราะว่าถ้าไม่เข้าใจแล้วก็ไม่เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้ปัญญาเจริญขึ้น เพราะฉะนั้นที่จะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้ปัญญาเจริญขึ้น คือ ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยการฟังเรื่องของสภาพธรรม โดยการสนทนา โดยการตรึกตรอง โดยการใคร่ครวญลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
อดิศักดิ์ เพราะว่าที่อาจารย์บอกว่าให้ฟัง ให้สนทนาธรรมกัน มองดูอย่างเผินๆ แล้ว ไม่ได้ผลทันใจเหมือนอย่างที่ไปนั่งกัน
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160