โสภณธรรม ครั้งที่ 107


    ตอนที่ ๑๐๗

    จากการที่ได้มาฟังอาจารย์แล้วก็รู้ว่าในขณะที่สมัยเก่าที่ผมได้เคยนั่งสมาธินั้น ไม่ได้รู้เลยว่าในขณะไหนเป็นกุศล อกุศล จากการที่ได้มาฟังอาจารย์ก็รู้ว่า ถ้าสติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เช้ามาจนกระทั่งหลับไป ถ้าหากว่าเราได้อบรมเจริญกุศล ละอกุศลในชีวิตประจำวันบ่อยๆ ผมก็คิดว่าก็น่าจะเป็นเหตุ เป็นปัจจัยอันหนึ่ง ถ้าหากว่าในขณะที่นั่งสมาธิแล้ว สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นแล้วก็รู้ว่าเป็นกุศล เป็นอกุศล ในขณะนั้นก็สามารถที่จะน้อม ผมคิดเอานะ ก็สามารถที่จะน้อมพิจารณาได้ว่าในขณะที่เป็นอกุศลนั้น เราจะน้อมใจหรือจะเจริญอย่างไร ในสมถะกรรมฐาน 40 วิธี ที่จะเจริญให้เป็นกุศล กระผมคิดว่าอย่างนี้ อย่างที่กระผมได้ฟังอาจารย์มา ถ้าหากว่าในชีวิตประจำวัน เพียงแต่คิดถึงคนไม่ชอบหน้าสักคนหนึ่ง ก็โกรธแล้ว ไม่พอใจแล้ว หายใจขัดข้อง อึดอัดมันเร่าร้อนมีความขุ่นข้องหมองใจ ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว เราจะไปเจริญสมถะกรรมฐานจะได้หรือ ก็คิดว่าอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ จะเจริญกรรมฐานไหน ถึงจะหายความเร่าร้อนในขณะที่กำลังคิดถึงคนนั้นแล้วก็ขุ่นใจ

    ประทีป กระผมคิดว่าอย่างนั้น ถ้าในชีวิตประจำวัน กระผม.....

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่าต้องเป็นกรรมฐานไหน ต้องตรง ถ้าไม่ตรงก็ไม่สามารถที่จะละความเร่าร้อนนั้นได้ เพราะฉะนั้นจะเจริญกรรมฐานไหน ในขณะที่คิดถึงใครก็ตามแล้วขุ่นใจ นี่ต้องเป็นปัญญาแล้วใช่ไหม

    ประทีป คือกระผมพอเข้าใจว่า ถ้าเป็นลักษณะอย่างนี้ น่าที่จะน้อมใจพิจารณาเจริญในเรื่องเมตตา ซึ่งในขณะนี้ในเมตตา ถ้าผมนึกถึงคนอื่น คนที่ชอบใจก็ยังดี ก็ยังพอไหว แต่ถ้าคนที่ไม่ชอบใจ หรือเพียงแต่ไม่ชอบใจอย่างเดียว คนที่เราไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้าเลย เพียงแต่ว่าหน้าตาหรือลักษณะท่าทางเขามันดูไม่ถูกใจ เพียงเท่านี้ก็เกิดโทสะแล้ว แล้วเราจะเจริญเมตตาเพื่อที่จะน้อมพิจารณาในเรื่องเมตตาได้อย่างไร กระผมจึงคิดว่าที่แล้วๆ มา กระผมคงเจริญที่เป็นอกุศลธรรมมาตลอด

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ว่า เมตตาเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะ ก็จะไม่คิดที่จะเจริญเมตตา เพราะเหตุว่าเมตตาก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดง่าย แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของกุศลธรรมและเห็นโทษของอกุศลธรรมจริงๆ แล้วก็จะรู้ได้ว่า ถ้ายังคงมีอกุศลมากมาย การที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทนี่ก็ยากแสนยากที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นในเรื่องของการฟังพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ที่จะต้องฟังแล้วพิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองเพื่อประโยชน์อันแท้จริง

    ขอกล่าวถึงคาถาของท่านพระเถระท่านหนึ่ง คือ ข้อความในขุททกนิกาย ยสทัตตเถรคาถา ข้อ ๓๔๔ ท่านกล่าวว่า

    คนมีปัญญาทรามคิดจะยกโทษ

    ยกโทษ คือ กล่าวถึงหรือแสดงโทษของคนอื่น ไม่ใช่ให้อภัย

    ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมเป็นผู้ไกลจากสัทธรรมเหมือนฟ้ากับดินฉะนั้น

    ทุกท่านกำลังฟังพระสัทธรรม แล้วก็ฟังมาแล้วหลายชาติ ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว แต่ขอให้คิดถึงความละเอียดว่า ท่านฟังพระธรรมเพื่ออะไร ถ้าฟังเพื่อจะขัดเกลากิเลส ถูก แต่ถ้าฟังเพื่ออย่างอื่น เพราะเหตุว่าบางท่านฟังพระธรรมแบบร้อนๆ ก็มี คือว่า กังวลๆ ห่วงๆ เรื่องนี้ก็ไม่เข้าใจ จะต้องรู้ ถ้าไม่รู้จะไม่เก่ง หรืออะไรอย่างนั้น ก็ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าแท้ที่จริงแล้วจุดประสงค์ของการฟังพระธรรมคือกุศลจิตเกิดขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่มีการเร่าร้อน ไม่มีการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย สิ่งใดที่ยังไม่เข้าใจก็ค่อยๆ พิจารณาในเหตุผลทีละเล็กทีละน้อยพร้อมกับเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าถ้าอยากจะเข้าใจเรื่องของฉันทะ เรื่องของโลภะ เรื่องของตัตตรมัชฌัตตตา หรือเรื่องของโทสะ หรือเรื่องของสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม หนทางเดียวที่จะเข้าใจชัดและก็แตกละเอียดย่อยออกไป ทั้งหยาบ ทั้งกลาง ทั้งละเอียดนั้น ก็ด้วยสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วความแตกฉานก็จะแตกออกไปได้อีกหลายบท ด้วยปัญญาที่ชัดในลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ฟัง แล้วก็รีบร้อนที่อยากจะมีความรู้มากๆ เพราะฉะนั้นในเรื่องการฟังพระสัทธรรม ท่านพระยสทัตตเถระก็ได้กล่าวว่า

    คนมีปัญญาทรามคิดจะยกโทษ ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมเป็นผู้ไกลจากสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดินฉะนั้น

    ก็เทียบตัวเองแต่ละภพแต่ละชาติที่จะต้องค่อยๆ ขัดเกลากิเลสไปเรื่อยๆ จนกว่าการฟังจะเป็นจุดประสงค์ที่ถูกต้องจริงๆ

    ข้อความต่อไปท่านกล่าวว่า

    คนมีปัญญาทรามคิดจะยกโทษ ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมเสื่อมจากสัทธรรม เหมือนพระจันทร์ข้างแรมฉะนั้น

    มีหลายลักษณะที่จะเปรียบเทียบให้เห็น ถ้าฟังโดยลักษณะที่เป็นอกุศล คิดจะยกโทษ ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่เสื่อมจากสัทธรรม คือไม่พยายามที่จะเข้าใจพระธรรมให้ตรง ให้ถูกต้องในเหตุในผล แต่ว่าฟังเพื่อที่จะให้ตรงกับความคิดของตนเอง หรือความเข้าใจของตนเอง โดยไม่ได้คิดว่าผู้ที่จะรู้มากกว่าตนก็ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นถ้าสิ่งใดที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดควรที่จะศึกษาให้เข้าใจ เพื่อที่จะไม่คิดในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือว่าในทางที่พยายามจะคิดให้พระธรรมตรงกับความเห็นของตนเอง มิฉะนั้นแล้ว ก็จะเหมือนพระจันทร์ข้างแรมคือ มืดลง มืดลง หรือว่าเป็นอกุศลเพิ่มขึ้น

    ข้อความต่อไปท่านกล่าวว่า

    คนมีปัญญาทรามคิดที่จะยกโทษ ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมเหี่ยวแห้งในสัทธรรม เหมือนปลาในน้ำน้อยฉะนั้น

    คือฟังแล้วไม่เบิกบาน เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่ตรงกับความคิดของตนเอง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เป็นผู้ที่ฟังแล้วพิจารณา แล้วก็เข้าใจ เข้าใจพระธรรมในขณะใด จะเบิกบานในขณะนั้น พร้อมกับปัญญาที่ปีติ ในความเข้าใจพระธรรมได้ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังลองสังเกต พอฟังพระธรรมแล้วก็เข้าใจ จะเกิดความเบิกบานปีติเป็นกุศลที่ได้เข้าใจถูก ไม่ใช่ว่าได้เป็นผู้ที่รู้มากๆ แต่ว่าเป็นผู้ที่ได้เข้าใจถูก

    เพราะฉะนั้นถ้าฟังพระธรรมแล้วเหี่ยวแห้งในสัทธรรม ก็รู้ได้ว่าในขณะนั้นเป็นอกุศล จะต้องมีอะไรสักอย่างที่แอบแฝงอยู่ ที่ทำให้ไม่เบิกบาน นั่นก็เป็นผู้มีปัญญาทราม

    ข้อความต่อไปท่านกล่าวว่า

    คนมีปัญญาทรามคิดที่จะยกโทษ ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมไม่งอกงามในสัทธรรม

    จะเจริญในสัทธรรมไม่ได้เลยเพราะเหตุว่าจุดประสงค์ผิด แล้วก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้นบางท่านฟังแล้วก็เพียงฟัง แต่ว่าไม่ประพฤติปฏิบัติตาม แล้วก็กล่าวว่าทำไม่ได้ ซึ่งความจริงก็ถูก ทำไม่ได้แน่ แต่ว่าเมื่อฟังแล้วปัญญาเกิดเมื่อไหร่ ปัญญาปฏิบัติกิจของปัญญา คือความเข้าใจถูก เป็นโยนิโสมนสิการ แต่ว่าถ้าฟังแล้ว เพียงฟัง แล้วก็ไม่เข้าใจ จะให้ไปละกิเลสใดๆ จะให้ไม่โกรธ ไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนี้ก็เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นก็ต้องทราบเหตุผลตามความเป็นจริงว่า ที่จะงอกงามในพระสัทธรรมได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่ฟังเพื่อขัดเกลากิเลส และเพื่อเข้าใจพระธรรม

    คนมีปัญญาทรามคิดที่จะยกโทษ ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมไม่งอกงามในสัทธรรม เหมือนพืชเน่าในไร่นาฉะนั้น

    ก็เป็นประโยชน์มากสำหรับคาถาของพระอรหันต์ที่ท่านได้ประจักษ์ชัดเจนถึงกว่าปัญญาจะเจริญถึงขั้นที่จะดับกิเลสได้ จะต้องเป็นผู้ที่ตรง

    ข้อความต่อไปท่านกล่าวว่า

    ส่วนผู้ใดมีจิตอันคุ้มครองแล้ว ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ผู้นั้นทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอันไม่กำเริบ พึงได้บรรลุความสงบอย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ย่อมปรินิพพาน

    ไม่ว่าจะเป็นคาถาของพระอรหันต์ท่านใดก็เป็นประโยชน์ที่จะทำให้ตรวจสอบจิตใจของตนเองอย่างละเอียด เพราะเหตุว่ามีความซับซ้อน ลึกซึ้งของการสะสมของทั้งกุศลและอกุศลซึ่งจะเกิดสลับแทรกได้แม้ว่าจะเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม

    ผู้ฟัง ร้องไห้เป็นกรรมหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ร้องให้มีความรู้สึกดีใจหรือเสียใจ

    ผู้ฟัง เสียใจก็ได้ ดีใจก็ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งต้องเป็นอกุศล เป็นทุมนัส เพราะเหตุว่าในขณะนั้นเป็นจิตเสีย เป็นสภาพที่ไม่ดี

    ผู้ฟัง เป็นอกุศลกรรมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นอกุศลจิต ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ ๑๐

    ผู้ฟัง เพราะว่าเป็นกรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นอกุศลจิตไง

    ผู้ฟัง ไม่ใช่กรรม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เห็นของสวยๆ ชอบ เป็นกรรมหรือเปล่า ไม่ควรที่จะถามเป็นเรื่องแล้วก็ให้ตอบ แต่หมายความว่าต้องพิจารณาเองให้เข้าใจว่ากุศลจิตคืออย่างไร กุศลกรรมคืออย่างไร อกุศลจิตคืออย่างไร อกุศลกรรมเป็นอย่างไร เพราะถ้าเป็นโดยลักษณะนี้จะถามไม่จบใช่ไหม แต่ถ้าเข้าใจว่า ปรกติธรรมดาเวลาที่อกุศลจิตเกิด แต่ว่ายังไม่มีกำลังที่จะเป็นเจตนาที่จะล่วงทุจริตกรรมทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ ทางใจ ๓ ขณะนั้นก็ไม่ชื่อว่าเป็นอกุศลกรรม

    ผู้ฟัง หนูแย้งเค้าแล้วว่าไม่เป็นกรรม แล้วถามเค้าว่ามีเจตนาหรือเปล่า เวลาร้องให้ เค้าบอกว่ามีเจตนา

    ท่านอาจารย์ มีเจตนาที่เป็นอกุศลกรรมบถหรือเปล่า เพราะว่าทุกคนก็ต้องรู้เรื่องอกุศลกรรมบถ ๑๐ ใช่ไหม กายกรรม ๓ ขณะนั้นมีหรือเปล่า วจีกรรม ๔ มีหรือเปล่า มโนกรรม ๓ มีหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็ไม่ใช่อกุศลกรรมบท

    ผู้ฟัง ที่เขาว่าเจตนา เขาคงจะหมายเอามโนกรรม

    ท่านอาจารย์ เจตนาที่เกิดกับวิบากจิตเป็นกรรมหรือเปล่า เป็นสหชาตกรรมปัจจัย ถ้าจะพูดถึงความละเอียดก็จะต้องพูดถึงความละเอียดไปว่า หมายความถึงเจตนาระดับไหน ถ้าเป็นระดับสหชาตกรรม หมายความถึงเจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง เกิดพร้อมจิตดับพร้อมจิต แต่ว่าเนื่องจากเจตนาเจตสิกเป็นสภาพที่จงใจกระทำ เพราะฉะนั้นเจตนานั่นเองเป็นกรรมปัจจัย เป็นสภาพที่จงใจกระทำ ถ้าเกิดกับกุศลจิต เจตนานั้นก็เป็นกุศล ถ้าเกิดกับอกุศลจิต เจตนานั้นก็เป็นอกุศล ถ้าเกิดกับวิบากจิต เจตนานั้นก็เป็นวิบาก ถ้าเกิดกับกิริยา เจตนานั้นก็เป็นกิริยา ก็จะต้องเข้าใจด้วยว่าหมายความถึงกรรมไหน เพราะเหตุว่ากรรมมีสอง คือ สหชาตกรรมอย่างหนึ่ง แล้วก็นานักขนิกกรรมอย่างหนึ่ง ถ้าสหชาตกรรม ก็ได้แก่เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง ดับพร้อมจิต ซึ่งอาศัยเจตนานั้นเกิดร่วมกันเป็นสหชาต แต่ถ้าเป็นนานักขนิกกรรมก็หมายความว่าเมื่อเจตนานั้นดับแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกที่ซึ่งเป็นวิบากเกิดขึ้น นั่นเป็นการให้ผลต่างขณะ จึงชื่อว่า นานักขนิกกรรม เพราะฉะนั้นในขณะนั้น ก็ถามเค้าดูว่าเค้าเข้าใจว่ายังไง เพราะว่าเป็นกรรม เป็นกรรมประเภทไหน เป็นกรรมที่เป็นสหชาต หรือว่าเป็นกรรมที่เป็นนานักขนิกะ

    ผู้ฟัง ประเด็นที่ ๓ ที่ว่า หนูรู้สึกว่าหนูจะเคยฟังอาจารย์แล้ว และเข้าใจว่า ที่เขาว่าฆ่าคนอื่น หรือฆ่าตัวเอง อะไรบาปมากกว่า แล้วก็ให้หลวงลุงเฉลย หลวงลุงบอกฆ่าคนอื่นบาปมากกว่า

    ท่านอาจารย์ ตอบเองได้ใช่ไหม ถ้าจะตอบว่ามากกว่าน้อยกว่าสั้นๆ แล้วความเข้าใจในเรื่องสภาพธรรมแจ่มแจ้งไหม นี่เป็นสิ่งที่สำคัญกว่า ถ้ามีความเข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง ไม่ว่าจะมีปัญหาธรรมใดๆ ก็ยังจะมีหลักที่จะวินิจฉัย แต่ถ้ายังไม่เข้าใจธรรมแล้วก็มีปัญหาธรรมมา บางครั้งก็จะพิจารณาโดยขาดหลักได้ แล้วก็ต่างคนก็ต่างความคิดเห็น

    ผู้ฟัง ก็พยามยามหาเหตุผลอ้างหลายอย่างแต่ก็ไม่ตกลง

    ท่านอาจารย์ ก็เขาไม่ตกลง ก็เรื่องของการที่จะไปเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของเขาไม่ได้

    มีจดหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะแสดงความคิดเห็นอนุเคราะห์ท่านที่ถามก็คงจะเป็นประโยชน์มาก เพราะว่าเข้าใจว่าดิฉันก็ได้เคยบรรยายไปแล้ว ท่านผู้ฟังเขียนมาจากศรีประจันต์ สุพรรณบุรี วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๑ เขียนมาถึงคุณดวงเดือน

    คุณดวงเดือนที่นับถือ ผมได้ส่งเงินมาให้มูลนิธิสองร้อยบาทเพื่อกิจกรรมเผยแพร่พระพุทธธรรมของมูลนิธิ หนังสือที่คุณดวงเดือนกรุณาส่งไปให้ผมนั้นมีคุณประโยชน์แก่ผมมากจริงๆ ผมพอจะเข้าใจความละเอียดลึกซึ้งของธรรมในแง่ของการปฏิบัติขึ้นบ้างหลังที่ได้ฟังคำบรรยายทางวิทยุของอาจารย์สุจินต์ และได้อ่านหนังสือนี้ประกอบ แต่บางเรื่องก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ เช่น การเจริญสติ พอตาเห็นก็กำหนดว่าเป็นนาม สิ่งที่เห็นก็เป็นรูป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่คน ก็เห็นไก่หรือนก ก็กำหนดเช่นเดียวกัน ไม่ใช่สัตว์ เป็นแต่เพียงนาม รูปเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้การฆ่าสัตว์ การทำร้ายสัตว์ก็ไม่บาป เพราะเห็นคน เช่น บิดามารดา ก็เป็นเพียงนามรูปเท่านั้น ทำอะไรก็ได้ เห็นเช่นนี้ต้องผิดแน่ๆ อย่างไร

    อีกเรื่องหนึ่ง การถวายสังฆทาน ทั่วๆ ไปก็รู้กันว่า ถวายสังฆทานได้บุญมาก อาจารย์สุจินต์ท่านเคยบรรยายว่า ถ้านึกเช่นนั้นก็เป็นโลภมูลจิต เป็นอกุศล จะคิดอย่างไร ในทางปฏิบัติก็เห็นไปนิมนต์พระมาองค์เดียว มารับสังฆทานที่บ้าน อย่างนี้จะเป็นสังฆทานไหม เพราะ พระท่านว่าสงฆ์ต้อง ๔ รูปขึ้นไป แต่ผมฟังท่านอาจารย์ว่า แม้สามเณรก็เป็นสงฆ์ได้ (ข้อนี้ไม่แน่ใจ อาจฟังผิดก็ได้) ขอความกรุณาคุณดวงเดือนช่วยอธิบายการถวายสังฆทานที่ถูกต้องให้ผมทราบด้วย ขอขอบพระคุณ อาจารย์สุจินต์ท่านคงไม่มีเวลา ขอแสดงความนับถือ

    มีท่านผู้ฟังที่จะเกื้อกูลให้ท่านผู้ฟังท่านนี้ได้เข้าใจเพิ่มขึ้นไหม ในเรื่องของการเจริญสติ และในเรื่องของสังฆทาน เพราะว่าเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่ต้องฟังนาน แล้วก็ฟังด้วยการพิจารณาจริงๆ แม้แต่คำพูด ก็จะต้องพยายามเข้าใจว่าคำนั้นหมายถึงอะไร แล้วก็ถูกต้องอย่างไร เช่นที่ถามว่าการเจริญสติ พอตาเห็นก็กำหนดว่าเป็นนาม สิ่งที่เห็นก็เป็นรูป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่คน

    ถ้าพูดอย่างนี้ก็ไม่ต้องกล่าวถึงอะไรอีกแล้วใช่ไหม กำหนดเอาว่าเป็นนาม แล้วก็เป็นรูปเท่านั้น ซึ่งเท่านี้ไม่พอ จะใช้คำว่ากำหนด แต่ว่าเข้าใจหรือยังว่าหมายความว่าอะไร แล้วก็กำหนดว่าเป็นนาม พอตาเห็น ก็กำหนดว่าเป็นนาม สีที่เห็นเป็นรูป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่คน พอเห็นไก่หรือนกก็กำหนดเช่นเดียวกัน นี่คือยังไม่ได้เข้าใจเรื่องของภาวนา ซึ่งเป็นการอบรมจริงๆ เป็นการที่จะต้องอาศัยสุตมยปัญญา การฟัง แล้วก็จินตามยปัญญา สิ่งที่ใดที่ได้ฟังแล้วก็จะต้องพิจารณา ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ จนกระทั่งเป็นความเข้าใจ เพราะเหตุว่าการที่สติปัฏฐานจะเกิด เป็นสภาพที่ระลึกเพื่อที่จะรู้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่เคยได้ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมมาก่อนเลย จะไม่เห็นประโยชน์เลยว่าทำไมสติปัฏฐานจะต้องระลึกที่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ตามปรกติ ตามธรรมดาในขณะนี้เอง แต่เพราะเหตุว่าต้องเคยได้ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมอย่างละเอียดจนกระทั่งเห็นจริงๆ ว่าเป็นนามธรรมเท่านั้น เป็นรูปธรรมเท่านั้น ไม่ควรที่จะยึดถือนามธรรมและรูปธรรมสักอย่างเดียวว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    นี่อาศัยการฟังจนกระทั่งเข้าใจ แล้วจึงเห็นประโยชน์รู้ว่า เพียงขั้นที่เข้าใจแค่นี้ก็ยังไม่พอที่จะดับกิเลส จะต้องเป็นเพราะเมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว สติจะเกิดระลึกตรงลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมทางหนึ่งทางใด คือ ทางตาที่กำลังเห็นอย่างนี้ หรือว่าทางหูที่กำลังได้ยินอย่างนี้ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เท่านั้นยังไม่พอ เพราะเหตุว่าลักษณะของสติเป็นสภาพที่เพียงระลึก สติไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าในขณะนี้เอง มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมจริงๆ จะระลึกไม่ได้ ก็ยังคงไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร แต่ว่าเพราะเหตุว่าเมื่อฟังแล้วรู้ว่านามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วจะมากำหนดไหมว่า พอตาเห็นก็กำหนดว่าเป็นนาม ไม่ใช่ให้กำหนด แต่หมายความว่ามีความรู้ว่านามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้

    เพราะฉะนั้นเวลาที่สติเกิดระลึกได้ สติเป็นสภาพที่เพียงระลึก เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังเห็นก็ระลึก แต่สติไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้นปัญญาก็คือขณะที่เริ่มพิจารณาสังเกต เพื่อที่จะรู้ขึ้นว่า ในขณะที่เห็นนี้เป็นอาการรู้ หรือเป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่ง

    นี่คือการที่จะพิจารณา ใส่ใจ สังเกต ไม่ใช่กำหนดว่าเป็นนาม ไม่ใช่เอาชื่อมานึกว่า ขณะที่เห็นนี้เป็นนาม หรือสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นรูป ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นการเริ่มที่จะเข้าใจ เพื่ออะไร เพื่อไถ่ถอนการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เช่นที่บอกว่าพอเห็นไก่หรือนกที่เข้าใจว่าก็กำหนดเช่นเดียวกันคือ ไม่ใช่สัตว์ เป็นเพียงนามรูปเท่านั้น

    นี่จะไม่ทำให้เกิดปัญญาเลย เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะเป็นคนหรือว่าเป็นไก่หรือว่าเป็นนก ปัญญาจะต้องรู้ว่าลักษณะสภาพของสิ่งที่ปรากฏทางตา คือสีหลายๆ สีเท่านั้นเอง เพราะเหตุว่าหลับตาแล้ว อาจจะมีสีเดียวปรากฏ แล้วแต่ว่าจะอยู่ในที่สว่างหรือว่าจะอยู่ในที่ร่ม แต่ว่าไม่ปรากฏว่าเป็นคนเป็นสัตว์เลย เป็นแต่เพียงสี คือเป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏกับผู้ที่มีจักขุปสาท เพราะฉะนั้นเวลาลืมตา ก็อย่าทิ้งลักษณะของสีที่กำลังเคยปรากฏในขณะที่อยู่ในที่โล่งที่แจ้งว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพียงแต่เปลี่ยนเป็นสีต่างๆ

    นี่คือการที่จะต้องเข้าใจ เพื่อที่จะไถ่ถอนการที่เคยนึกถึงรูปร่างสัณฐาน แล้วก็จำได้ว่า รูปร่างสัณฐานอย่างนี้ สีอย่างนี้ ลักษณะอย่างนี้เป็นคน สีอย่างนั้น ลักษณะอย่างนั้นเป็นนก หรือว่าสีอย่างนั้นลักษณะอย่างนั้นเป็นไก่ แต่ให้ทราบว่า เมื่อเป็นผู้ที่มีปรกติค่อยๆ ระลึกลักษณะของรูปธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็ทางตาก็รู้ว่าเป็นแต่เพียงหลายๆ สี ก็จะไถ่ถอนการที่เคยเห็นว่าเป็นคน หรือว่าเห็นว่าเป็นไก่ เห็นว่าเป็นนก เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ไม่ใช่ว่าโดยรวดเร็ว

    นี่คือความหมายของการละคลายด้วยปัญญาที่เข้าใจจริงๆ พร้อมสติที่ระลึกได้ว่าในขณะนี้ แท้ที่จริงก็เป็นแต่เพียงสีต่างๆ ไม่ใช่ว่าพอทางตาเห็นก็กำหนดว่าเป็นนามเท่านั้น เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเป็นปรมัตธรรมโดยละเอียดไปเรื่อยๆ เพื่อที่สติจะได้ระลึกได้ แล้วก็ค่อยๆ ศึกษาสังเกต ไถ่ถอนการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล โดยแยกรู้ว่าทางตาจริงๆ มีสีหลายสีปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    11 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ