โสภณธรรม ครั้งที่ 109


    ตอนที่ ๑๐๙

    ไม่มีกิจอื่นเลย นอกจากศึกษาลักษณะของนามธรรมจริงๆ เพื่อที่จะได้รู้ว่าไม่ใช่เราที่กำลังเห็น เป็นแต่เพียงอาการรู้หรือธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

    พระ เพราะฉะนั้นสติจะต้องระลึกศึกษาและพิจารณาธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงไปเรื่อยๆ จนกว่าธรรมจะค่อยๆ ปรากฏขึ้น สติจึงจะระลึกได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางที่ใครจะไปใช้สติ ไม่มีทางที่ใครจะไปตั้งสติ ไม่มีทางที่ใครจะไปเลือกอารมณ์ให้สติได้เลย แต่ว่าอาศัยการฟังพระธรรม จนเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยให้สติระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก จนกระทั่งแยกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมออกได้ แล้วก็แยกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทวารออกได้

    พระ ถ้าเกิดเราไม่เข้าใจว่า มีลักษณะของปสาทที่กระทบอารมณ์ เช่น เสียงเกิดขึ้น เราจะมองไปที่ตำแหน่ง โดยไม่เคยศึกษาว่า ขณะนั้นจริงๆ แล้วไม่ได้อยู่ข้างนอก เป็นเพียงธรรมที่เพียงเกิดกระทบกัน และก็เป็นปสาทที่กระทบ อันนี้เป็นความคิดตามที่เรียนและพิจารณาตาม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นไม่ชื่อว่า สติระลึกตรงลักษณะของรูปธรรมหรือตรงลักษณะของนามธรรม เพราะเหตุว่าเสียงก็ปรากฏทีละหนึ่งรูป หนึ่งลักษณะ และสภาพที่ได้ยินเสียงในขณะนั้น ก็จะนึกคิดอะไรไม่ได้เลย แต่ในขณะที่กำลังคิดนึกว่าเสียงอยู่ทางซ้ายหรืออยู่ทางขวา ขณะนั้นก็แสดงอยู่แล้วว่า แม้มีเสียง แต่ก็มีใจที่คิดเรื่องเสียง ว่าเสียงนั้นอยู่ทางซ้ายหรืออยู่ทางขวา

    เพราะฉะนั้นเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงเป็นเรื่องที่จะต้องรู้จริงๆ ว่า ถ้าขณะนั้น คือ ศึกษา คือ สังเกตลักษณะที่เป็นสภาพรู้ ขณะนั้นจะไม่ใส่ใจว่ามาจากไหน หรือว่าโสตปสาทรูปอยู่ตรงไหน เพราะเหตุว่าตามปกติแล้ว ยังไม่ได้เพิกอิริยาบถ ทุกคนที่มีรูปร่างกาย รู้ว่านั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดิน เป็นเราตลอดตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เพราะฉะนั้นยังไม่ได้รู้ลักษณะของแต่ละนามแต่ละรูปจริงๆ เพราะเหตุว่ายังระลึกถึงว่า กำลังนอน เพราะฉะนั้นโสตปสาทอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นเสียงจะต้องกระทบกับโสตปสาทตรงนี้ นั่นคือความรวดเร็วของความคิดนึก แต่ว่าไม่ใช่สติที่ระลึกลักษณะของนามธรรม ไม่ใช่สติที่ระลึกลักษณะของรูปธรรม แต่แสดงให้เห็นว่า ในขณะนั้นนึกเรื่องโสตปสาทอยู่ที่ไหน และสัททารมณ์ คือ เสียงกระทบโสตปสาทไหน เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วมีโสตปสาทถึง ๒ ข้าง คือ ซ้ายกับขวา เพราะฉะนั้นคนที่กำลังคิดวุ่นวายในขณะนั้นว่า นี่กระทบทางซ้ายหรือทางขวา อย่างในขณะนี้พิสูจน์ได้เลย ท่านผู้ฟังที่ยังมีความสำคัญตนว่าเป็นเรากำลังนั่งอยู่ในห้องนี้ แล้วก็กำลังได้ยิน นี่คือยังมีความเป็นตัวตนอยู่

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ยินเสียง และได้ยินเรื่องของโสตปสาทกับสัททารมณ์ ก็อาจจะติดตามเสียงที่ปรากฏว่ามาจากไหน แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีโยนิโสมนสิการ คือ ในขณะที่ฟังนี่เอง ก็รู้ว่าไม่มีเรา เพียงเท่านี้ เพียงรู้จริงๆ ว่า ไม่มีเรา และในขณะนั้นถ้าทิ้งเรา เพิกอิริยาบถ ไม่มีตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้านี่ก็ไม่มี เพราะเหตุว่าเพียงเสียงปรากฏ รูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าปรากฏไม่ได้ เพราะเหตุว่าในขณะนั้นเฉพาะเสียงอย่างเดียวที่ปรากฏ ในขณะนั้นจิตเกิดขึ้นทีละขณะ มีเสียงเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นจะมีสิ่งอื่นรวมอยู่ในที่นั้นไม่ได้เลย ถ้าเป็นผู้ที่ฉลาด และเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานมามาก เพียงฟังแล้วสติระลึกที่ลักษณะของสภาพรู้ในขณะนั้น ก็จะรู้ว่า สภาพรู้เสียงดับพร้อมเสียง ไม่มีแล้ว แล้วก็จะมีเสียงเกิดขึ้นอีก ปรากฏอีก มีสภาพรู้เสียงอีก หรือทางตาก็เกิด เห็น ก็จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพที่เห็น ไม่ใช่สภาพที่รู้เสียง

    นี่คือความรู้ชัดในลักษณะของนามธรรม และถ้ามีกลิ่นปรากฏ ก็เป็นเครื่องยืนยันพิสูจน์อยู่แล้วว่า ในขณะที่กลิ่นปรากฏ จะมีจิตอื่นไม่ได้ จะมีได้ยินไม่ได้ จะมีเห็นไม่ได้

    เพราะฉะนั้นผู้ที่อบรมเจริญปัญญามามาก ที่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม หรือว่าวิปัสสนาญาณจะเกิดได้ ก็รู้ว่าในขณะนั้นไม่มีอย่างอื่นเลย เพิกอิริยาบถ สันตติ คณสัญญาหมด มีแต่เฉพาะนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ ไม่มีอะไรเหลือนอกจากสภาพรู้กับสิ่งที่ปรากฏ และเมื่อสิ่งนั้นดับ นามธรรมนั้นก็ดับ แล้วก็มีนามธรรมอื่นเกิดโดยอะไร โดยรู้สิ่งอื่นที่ปรากฏชั่วขณะทีละอย่าง เพียงสั้นๆ เท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นการไปค้นคว้าหาดูว่า โสตปสาทรูปอยู่ตรงไหน ซ้ายหรือขวาด้วย

    พระ ตามที่โยมอาจารย์ให้ความเห็นมา คิดขึ้นได้ว่า บางครั้งเสียงปรากฏ ถ้ามีความต้องการที่จะรู้ปสาท ก็จะสังเกตตามที่ต่างๆ ว่า อยู่ที่ไหน

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่ายังไม่เพิกอิริยาบถ ถ้าที่ไหนแล้วต้องมีอิริยาบถอยู่แน่ๆ เพราะเหตุว่าต้องมีหูอยู่ตรงนั้นที่กำลังนั่ง หรือกำลังนอนก็ต้องมีหูอยู่ตรงนั้นที่กำลังนอน

    พระ แล้วจริงๆ แล้ว ขณะที่เสียงปรากฏ ธาตุรู้เสียงรู้อื่นไม่ได้ นอกจากรู้เสียง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ก็จะเห็นความเป็นปัจจัย ว่าแม้แต่สภาพรู้ก็ต้องอาศัยเสียง ถ้าขณะนั้นเสียงไม่ปรากฏ สภาพรู้เสียงเกิดไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้นจะมีตัวตนที่ไหน เพราะเหตุว่ามีเพียงสภาพรู้เท่านั้น ที่กำลังรู้เพียงอารมณ์เดียว แล้วก็ดับไป

    พระ หลังจากนั้นเป็นคิดทุกครั้งส่วนใหญ่

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ แล้วแต่อะไรจะเกิดขึ้นก็มีเหตุปัจจัยที่จิตจะรู้อารมณ์นั้นๆ ต่อไปเรื่อยๆ ทีละอารมณ์ ทีละขณะ

    เพราะฉะนั้นเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เรื่องของการภาวนา เรื่องของการอบรม ก็จะเห็นได้ว่า ขาดการฟังไม่ได้เลย และเมื่อฟังแล้วก็ต้องอาศัยการพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้เกื้อกูลต่อการที่จะละคลายกิเลส ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมจริงๆ ก็ย่อมได้ประโยชน์ คือว่าเป็นผู้ที่รู้จักสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน แล้วก็ละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้น พร้อมทั้งการละคลายกิเลสอื่นๆ ด้วย แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด แล้วก็พิจารณาพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นข้อความใดก็เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น

    ซึ่งขอกล่าวถึงข้อความที่เคยกล่าวถึงแล้ว คือ อรรถกถากุมาปุตตเถรคาถา ข้อ ๑๗๓ ซึ่งมีข้อความว่า

    ได้ยินว่า ท่านกุมาปุตตเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า

    การฟังเป็นความดี

    อันนี้ทุกท่านคงซาบซึ้ง การฟังเป็นความดี เพราะเหตุว่าเมื่อฟังแล้ว ประโยชน์คือเริ่มเข้าใจสิ่งซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อน ยิ่งฟังมากก็ยิ่งเข้าใจได้ถูกต้องขึ้น ละเอียดขึ้น

    ข้อความต่อไปท่านกล่าวว่า

    ความประพฤติมักน้อยเป็นความดี

    ควรที่จะผ่านเลยไป หรือว่าควรที่พิจารณาให้เข้าใจละเอียดว่า เกี่ยวเนื่องประโยชน์อะไรกับความประพฤติมักน้อยเป็นความดี

    การฟัง ฟังอย่างไรที่จะเป็นความประพฤติมักน้อยเป็นความดี หรือการปฏิบัติอย่างไรจึงจะเป็นความประพฤติมักน้อยเป็นความดี หรือว่าไม่เกี่ยวกับการฟัง ไม่เกี่ยวกับการประพฤติ แต่ว่าธรรมทั้งหมดสอดคล้องกัน เช่น ความประพฤติมักน้อยเป็นความดี ต้องแม้ในการฟังด้วย ถ้าฟังเพราะว่าอยากจะเก่ง มักน้อยหรือเปล่า เป็นความดีไหม ถ้าฟังเพียงเพื่อจะมีความรู้มากๆ เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญ เป็นผู้ที่ได้รับสักการะ หรือว่าสรรเสริญว่าเป็นผู้รู้ ขณะนั้นก็ไม่ใช่เป็นความมักน้อย

    เพราะฉะนั้นแม้แต่การฟัง ก็จะต้องรู้ว่าฟังเพื่ออะไร ถ้าฟังเพื่อความประพฤติมักน้อย จึงจะเป็นความดี และก็เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติธรรมหรือไม่ เกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐานหรือไม่ ในการที่จะเป็นผู้มักน้อยเป็นความดี

    เพราะเหตุว่าถ้าอยากจะเป็นพระโสดาบัน มีคนนับถือมาก ใครๆ ก็ยกย่องสรรเสริญ ขณะนั้นมักน้อยหรือเปล่า แต่ว่าแม้ในการปฏิบัติ ก็เป็นผู้มีความประพฤติมักน้อย ศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจพระธรรม และเพื่อประพฤติปฏิบัติ คือ ละกิเลส

    ถ้าขึ้นชื่อว่า เพื่อละกิเลสแล้ว จะเพื่อความมักมากได้ไหม เพื่อละกิเลสต้องละแม้แต่การที่จะติด หรือยินดีพอใจในแม้คำสรรเสริญ หรือสักการะ นั่นจึงจะเป็นผู้ประพฤติเพื่อความมักน้อยด้วย ไม่ใช่ศึกษาและปฏิบัติเพื่อต้องการที่จะเก่ง หรือว่าจะเป็นผู้ที่มีความรู้แตกฉาน เป็นที่เคารพนับถือ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้การฟัง ก็ต้องฟังให้ละเอียดว่า ในการศึกษาก็ต้องเป็นผู้ที่มักน้อย ในการปฏิบัติก็เพื่อความประพฤติมักน้อยด้วย จึงจะเป็นความดี

    มีข้อสงสัยไหมในเรื่องนี้ หรือว่าไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ ที่จริงน่าจะมีข้อค้าน มีไหม เช่นพระอรหันต์เอตทัคคะต่างๆ น่าคิดไหม เป็นความประพฤติมักน้อยเป็นความดีหรือไม่ ในเมื่อท่านปรารถนาที่จะเป็นเอตทัคคะในทางต่างๆ

    น่าคิดจริงๆ แต่ว่าถ้ารู้ว่า จุดประสงค์ของการอบรมเจริญปัญญา การเจริญกุศล การบำเพ็ญบารมีของท่านเพื่อละคลายกิเลส เพื่อดับกิเลส นั่นก็แสดงอยู่แล้วว่า เป็นความประพฤติมักน้อย ถูกต้องไหม แต่ว่าอัธยาศัย จะเห็นได้ว่าต่างๆ กัน ตั้งแต่ก่อนเป็นพระอรหันต์ อย่างบางท่าน ท่านเป็นผู้มีจิตกรุณากับผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ใจของท่านอ่อนโยน น้อมไปที่จะช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากอยู่เสมอ ท่านถึงกับบอกว่า ถ้าท่านเกิดอีก ก็ขอให้ท่านเป็นผู้ที่มีทรัพย์สินเงินทองมากๆ เพื่อที่จะช่วยคนอื่น

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงอัธยาศัยแล้วว่า เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยอย่างนั้น ในการที่จะช่วยคนที่กำลังลำบาก ตกทุกข์ได้ยากในเรื่องของทาน เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่มีจิตอย่างนี้เรื่อยๆ ทุกภพทุกชาติ แม้ว่าต้องการจะดับกิเลสก็ยังต้องการเป็นผู้ที่สามารถที่จะช่วยสงเคราะห์บุคคลอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ย่อมเป็นเหตุให้เป็นเอตทัคคะในทางนั้นได้ แต่ว่าแม้กระนั้นก็ตามก็เป็นด้วยความประพฤติมักน้อย เพื่อที่จะถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่ใช่ให้เพื่อจะหวังสรรเสริญหรือสักการะ

    นี่ก็จะต้องพิจารณาโดยละเอียดถึงลักษณะสภาพของจิต แม้ของบุคคลอื่น แล้วก็ของตนเอง ถ้าเห็นบุคคลอื่นเป็นอย่างไร ก็จะรู้ว่าสะสมมาในทางให้เพื่อต้องการสรรเสริญหรือเปล่า หรือว่ากระทำทุกอย่างเพื่อความมักมาก หรือว่าเพื่อความมักน้อย เพราะฉะนั้นบุคคลอื่นอย่างไร ท่านก็พิจารณาตัวของท่านเองได้ละเอียดกว่าบุคคลอื่น สามารถที่จะรู้จุดประสงค์แม้ในการศึกษาว่าเพื่ออะไร ในการอบรมเจริญปัญญาเพื่ออะไร ในการปฏิบัติธรรมทุกอย่างเพื่ออะไร

    เพราะฉะนั้นคาถาที่ท่านกุมาปุตตเถระได้ภาษิตมีข้อความว่า

    การฟังเป็นความดี การประพฤติมักน้อยเป็นความดี

    ก็เตือนสติได้แล้วใช่ไหมว่า ไม่ใช่ฟังเพื่อที่จะเก่ง หรือว่าเพื่อที่จะเป็นอย่างนั้นๆ อย่างนี้ เพื่อสักการะหรือสรรเสริญ แต่ว่า ความประพฤติมักน้อยเป็นความดี การอยู่โดยไม่ห่วงใยเป็นความดีทุกเมื่อ การถามสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นความดี การทำตามโอวาทโดยเคารพเป็นความดี กิจมีการฟังเป็นต้นนี้เป็นเครื่องสงบของผู้ไม่มีกังวล

    ต้องค่อยๆ อบรมเจริญไปเรื่อยๆ ในขั้นของการฟัง และในขั้นของการพิจารณาจนกระทั่งสติปัฏฐานสามารถที่จะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ตามปกติ

    พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ สามารถที่จะให้ผู้พิจารณาขัดเกลากิเลสอกุศลธรรมได้อย่างละเอียด เพราะเหตุว่าชี้ให้เห็นโทษของตนเอง ซึ่งยากที่จะเห็นได้ เป็นศาสดาแทนพระองค์ เป็นดุจครูอาจารย์ผู้คอยชี้โทษ เป็นกัลยาณมิตร คือ มิตรแท้ คือ ผู้ที่ชี้ให้เห็นโทษของตนเอง

    มีใครโกรธบุคคลที่ชี้โทษบ้างไหม หรือว่าโทษของเราก็ต้องเราเห็น ไม่ใช่ให้คนอื่นบอก ความสำคัญตนมีมากมายหลายลักษณะจริงๆ เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะพิจารณาว่า มีจิตใคร่ที่จะเป็นผ้าเช็ดธุลีหรือยัง ถ้าระลึกถึงผ้าเช็ดธุลี คือ ไม่หวั่นไหวไม่ว่าจะได้รับคำชมหรือคำติ หรือการกระทำทางกายวาจาที่ควรไม่ควรจากบุคคลใดก็ตาม ก็เป็นผู้ที่สามารถจะไม่หวั่นไหวได้ ก็จะถือผู้ที่ชี้โทษให้ว่า เป็นผู้มีคุณ

    ข้อความในอรรถกถา ขุททกนิกาย วัจฉสามเณรคาถา มีข้อความว่า

    ชื่อว่า อุปัชฌาย์ เพราะเข้าไปเพ่งโทษน้อยและโทษใหญ่ คือมุ่งแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแล้วเพ่งดูด้วยญาณจักษุ

    ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วก็จะขอบพระคุณผู้ที่ชี้โทษไหม เพราะเหตุว่าท่านต้องเสียเวลาของท่านที่จะเข้าไปเพ่งโทษน้อยและโทษใหญ่ โดยมุ่งแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล แล้วเพ่งดูด้วยญาณจักษุ

    คือไม่ใช่เป็นคนที่ไปคอยจับผิดแล้วโกรธ แต่ว่าเป็นผู้พิจารณาจิตใจของแต่ละบุคคลซึ่งยังเป็นปุถุชน แล้วก็รู้ว่าตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนแม้ว่าจะเป็นคนที่คนอื่นกล่าวสรรเสริญเยินยอสักเท่าไรก็ตาม ก็เป็นผู้ที่มีกิเลส ยังไม่ได้ดับกิเลส เพราะฉะนั้นจะชื่อว่า เป็นผู้ที่สมควรแก่การที่จะยกย่องโดยที่ไม่ชี้โทษเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นสำหรับอุปัชฌาย์ ชื่อว่า อุปัชฌาย์ เพราะเข้าไปเพ่งโทษน้อยและโทษใหญ่ คือมุ่งแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแล้วเพ่งดูด้วยญาณจักษุ

    ผู้ที่จะรู้ว่าใครจิตใจเป็นอย่างไรถูกต้อง ผู้นั้นต้องเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้ที่ตรง เป็นผู้ที่ไม่มีอคติ คือ ไม่มีฉันทาคติ ไม่มีโทสาคติ ไม่มีโมหาคติ ไม่มีภยาคติ และต้องรู้ด้วยว่า บุคคลนั้นเป็นบุคคลที่รับฟังที่จะเกื้อกูลไหม หรือว่าเป็นบุคคลที่ไม่รับฟัง เพราะฉะนั้นก็เกื้อกูลไม่ได้ แต่ขอให้เห็นหน้าที่ของผู้ที่จะเป็นมิตรแท้ว่า ต้องมีญาณจักษุ แล้วก็เพ่งโทษน้อยและโทษใหญ่เพื่อแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญาจริงๆ จะรู้ไหมว่า ใครมีกุศลอะไรบ้าง หรือว่าใครมีอกุศลอะไรบ้าง อยู่ด้วยกัน เห็นกัน คบหาสมาคมกัน ถ้าไม่มีปัญญาจะรู้ไหมว่า บุคคลนี้มีอกุศลประเภทไหนมากน้อย มีกุศลประเภทไหนมากน้อย เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีปัญญา ก็อาจจะพลอยเห็นดีเห็นงามตามไปกับอกุศลก็เป็นไปได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่เป็นประโยชน์ในการที่จะนับถือบุคคลนั้นว่า เป็นครูอาจารย์ เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะรู้ตามความเป็นจริงว่า บุคคลใดเป็นอกุศลประเภทใดหรือมีกุศลประเภทใด มากน้อยอย่างไร ซึ่งประโยชน์ของการที่จะรู้อกุศลของคนอื่น หรือโทษของคนอื่นด้วยกุศลจิต แต่ว่าขณะนั้นเห็นโทษของคนอื่น เห็นอกุศลของคนอื่นด้วยอกุศลจิต จะไม่มีประโยชน์เลย เพราะเหตุว่าถ้าเป็นกุศลจิตแล้วก็จะทำให้อกุศลของคนอื่นเป็นเครื่องเตือนให้พิจารณาอกุศลของตนเอง เพราะเหตุว่าคนส่วนใหญ่เห็นอกุศลของคนอื่น แต่ไม่เคยพิจารณาว่า อกุศลของคนอื่นที่กำลังไม่ชอบ ไม่พอใจนั้น ตนเองมีหรือเปล่า มีมากหรือมีน้อย แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญา ขณะที่เห็นอกุศลของคนอื่น สติเกิด จะรู้ว่า จิตที่กำลังเห็นอกุศลของคนอื่นนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นบางคนบอกว่า คนนั้นคนนี้ไม่ฉลาด ไม่รู้จักคนอื่น ก็ควรที่จะย้อนถามผู้ที่คิดว่าตนเองฉลาดที่รู้อกุศลของคนอื่นว่า แล้วฉลาดพอที่จะรู้ทันอกุศลของตนเองหรือเปล่า ถ้าคิดว่าคนอื่นไม่ฉลาดที่จะรู้ทันอกุศลของคนอื่น และสำหรับผู้ที่มีความสามารถที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่นที่กำลังมีอกุศล ก็ย่อมสามารถจะกระทำได้ด้วยจิตเมตตา

    สุชาติ เมื่อพูดถึงการเกื้อกูลก็ไม่อยากให้ผ่านไป ขอย้อนกลับไปสักนิดหนึ่งที่เจ้าของจดหมายถามว่า เห็นหมูเห็ดเป็ดไก่ก็กำหนดเอาว่าเป็นนามรูป สัตว์บุคคลไม่มี ก็เลยเชื่อว่า เมื่อไม่มีแล้วฆ่าแล้วจะบาปไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มี แล้วทำไมจะไปฆ่า ก็ไม่ต้องฆ่า ก็เกิดดับอยู่แล้ว

    สุชาติ จะฆ่าหรือไม่ฆ่า เมื่อไม่มีก็คงจะไม่บาป ใช่ไหม อย่างอชิตเกสกัมพล ท่านก็มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สัตว์ไม่มี ผู้ผุดเกิด คือ โอตปาติกะไม่มี บิดามารดาไม่มี สัตว์บุคคลก็ไม่มี มีแต่ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อฆ่าแล้วก็สักแต่ว่าฆ่า ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือมีครูคนหนึ่งที่บอกว่า เพียงแต่เป็นปรมาณูเท่านั้น เมื่อเราเอาศัสตราวุธแทรกเข้าไป ก็ไม่ได้ฆ่าอะไร เพราะปรมาณูแยกไม่ได้ เมื่อไปแทรกระหว่างปรมาณู ก็ไม่ได้ไปทำอะไร ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นความคิด ใช่ไหม ไม่ใช่การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ผู้ที่กล่าวอย่างนี้เพียงคิดเท่านั้นเอง

    สุชาติ ถ้าไม่คิด จริงๆ เป็นอย่างนั้น จริงๆ แล้วสัตว์บุคคลก็ไม่มี ไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่มี แต่มีสภาพธรรมที่เป็นกุศลธรรมและอกุศลธรรม ซึ่งเป็นเหตุ

    สุชาติ ก็มีแต่สภาวธรรมเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นวิบากมาจากไหน

    สุชาติ วิบากมี เพราะฉะนั้นใครจะคิดว่ามีหรือไม่มี ต้องได้รับผลวิบากนั้นเอง กระผมคิดว่าเจ้าของจดหมายคงจะทราบแล้ว

    ท่านอาจารย์ การฟังพระธรรมก็จะเกื้อกูลต่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในวันหนึ่งแน่นอน เพียงแต่ว่าจะต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปตามการสะสมทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะสมบูรณ์ในชาติไหน ก็จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาตินั้น

    ตัวอย่างของพระอริยบุคคลในครั้งอดีต เช่น ข้อความในอรรถกถา ขุททกนิกายภัลลิยเถรคาถา มีข้อความว่า

    อุบาสก ๒ ท่าน คือ ท่านตปุสสะและท่านภัลลิยะผู้ถวายสัตตุผงและสัตตุก้อนแก่พระผู้มีพระภาค ณ โคนต้นเกตในสัปดาห์ที่ ๘ หลังการตรัสรู้ ท่านทั้งสองเป็นผู้ถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะ คือ ทเววาสิกสรณคมนะ และเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปประกาศพระธรรมจักรที่กรุงพาราณสี และได้เสด็จต่อไปยังพระนครราชคฤห์นั้น ท่านตปุสสะและท่านภัลลิยะก็ไปยังพระนครราชคฤห์ แล้วได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ท่านตปุสสะบรรลุโสตาปัตติผล และได้เป็นอุบาสกอย่างเดิม ส่วนท่านภัลลิยะบวชและได้อภิญญา ๖

    นี่คือความต่างกันของการสะสมของท่าน ๒ ท่าน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    11 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ