เมตตา ตอนที่ 01
สำหรับกัมมัฏฐานที่เหลือ คือ พรหมวิหาร ๔ เริ่มด้วยเมตตาพรหมวิหาร เป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้อบรมเจริญเป็นอันมาก เพราะผู้ที่อบรมเจริญเมตตาภาวนาแล้ว ย่อมเกื้อกูลพรหมวิหารอื่นๆ เช่น ย่อมไม่เป็นผู้ที่เบียดเบียนบุคคลอื่น และย่อมเป็นผู้ที่สามารถยินดีด้วยในความสุขของบุคคลอื่นได้ แต่ถ้าผู้ใดที่ขาดเมตตา และไม่ได้อบรมเจริญเมตตา ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่เบียดเบียนบุคคลอื่นได้ หรือว่าไม่อาจจะยินดีด้วยกับความสุขของบุคคลอื่นได้ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญเมตตาเป็นธรรมที่เกื้อกูลอุปการะ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้มาก และเป็นเรื่องที่ละเอียดที่ควรจะได้พิจารณา
สำหรับท่านที่อาจจะเคยท่อง เวลาที่ท่านเจริญเมตตา ท่านมักจะท่องว่าอย่างไร
ผู้ฟัง ในตำรามี ท่านกล่าวว่า ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีความสุข บริหารตนอยู่เถิด
ท่านอาจารย์ สัตว์ทั้งปวงเลย ใช่ไหม
ผู้ฟัง นี่แปลเป็นไทย ที่เขาท่องเป็นบาลีก็มีว่า สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ อัพพะยาปัชฌา โหนตุ อะนีฆา โหนตุ สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ แต่บาลีเรายังไม่ค่อยรู้ความหมายนัก ภาษาไทยเรารู้ความหมายดี เพราะฉะนั้น ผมจึงท่องเป็นภาษาไทยว่า ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความทุกข์ มีความสุข บริหารตนอยู่เถิด
ขณะที่ท่องผมคิดว่า ขณะนั้นมีสติ บางครั้งเราท่องไปๆ หยุดท่องเมื่อไรเราก็ไม่รู้ ท่องไปอาจจะถึง ๓ ครั้ง ๕ ครั้ง ๘ ครั้ง ส่วนใหญ่ก็หลงลืมไปทางนึกคิด คิดไปถึงเรื่องโน้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง แต่ว่าสักครู่หนึ่งก็นึกขึ้นมาได้ว่า เรากำลังท่องอยู่ ทำไมไปนึกคิดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ ขณะที่ระลึกได้ว่า การท่องนี้หายไป ขณะนั้นก็เป็นสติแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อมีสติ ก็ตั้งต้นท่องกันใหม่ ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน
ท่านอาจารย์ แผ่ไปไม่เจาะจง สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ ใช่ไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด เพราะในคัมภีร์กล่าวว่า การที่จะแผ่ไปโดยเจาะจง หรือไม่เจาะจง แม้คำที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวไว้ใน ปฏิสัมภิทา ว่า เมตตาเจโตวิมุตติที่แผ่ไปไม่เจาะจงโดยอาการ ๕ เมตตาเจโตวิมุตติที่แผ่ไปเจาะจงโดยอาการ ๗ เมตตาเจโตวิมุตติที่แผ่ไปทั่วทิศโดยอาการ ๑๐ ดังนี้ ก็พึงทราบว่า ย่อมสำเร็จแก่พระโยคีผู้มีจิตที่บรรลุอัปปนาแล้วเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ที่ท่องมา บรรลุอัปปนาแล้วหรือยัง นี่เป็นข้อความใน วิสุทธิมรรค พรหมวิหารนิทเทส
ผู้ฟัง แต่ว่ามีตอนหนึ่งที่ท่านให้ทำพรหมวิหารให้ถึงฌานจิต
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่ถึงฌานจิต จะแผ่ไปได้อย่างไรสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งลักษณะของเมตตา สภาพจิตที่สงบในขณะที่นึกถึงแม้บุคคลผู้มีเวร หรือว่าบุคคล ผู้เป็นที่รัก หรือว่าบุคคลผู้ที่เป็นผู้เฉยๆ บางครั้งก็ยังไม่สะดวกเลย เพราะเมื่อนึกถึงคนที่มีเวร เมตตาก็ไม่เกิด และจะไปแผ่ว่า ขอให้สัตว์ทั้งหลาย จะเป็นการแผ่จริงๆ ไหม เพราะการที่จะแผ่จริงๆ โดยไม่เจาะจง หรือโดยเจาะจง โดยอาการ ๕ โดยอาการ ๗ หรือว่าโดยอาการ ๑๐ หรือว่าโดยทั่วทิศทั้งหมดนั้น ต้องเป็นผู้ที่บรรลุอัปปนาแล้ว คือ เป็นผู้ที่ได้ถึงฌานจิตแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การเริ่มต้นด้วยการขอให้สัตว์ทั้งหลาย ในเมื่อตัวเองยังรู้สึกว่าไม่ได้เป็นอย่างที่ใจขอ เพราะเวลาที่นึกถึงคนที่ไม่ ชอบใจ เมตตาก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น จะเป็นการขอให้สัตว์ทั้งหลายได้อย่างไร ถ้าเป็นการขอให้สัตว์ทั้งหลายจริงๆ ปฐมฌาน คือ อัปปนาต้องเกิดก่อน จึงจะแผ่ไป ขยายไป ทั้งโดยเจาะจง และโดยไม่เจาะจงได้
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญภาวนาเป็นเรื่องละเอียด จะได้ยินได้ฟังใครบอกว่าอย่างไร หรือให้ท่องว่าอย่างไร ก็ต้องเป็นผู้ที่รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า จิตสงบที่ประกอบด้วยเมตตานั้นคืออย่างไร และจะเริ่มเจริญขึ้นถูกต้องได้อย่างไร
ในขั้นแรก ยังไม่ต้องนึกถึงสัตว์ทั้งหลาย เพราะไม่จริง จิตยังไม่สามารถที่จะสงบได้ เวลาที่นึกถึงคนที่เป็นที่รัก เกิดความยินดี เป็นโลภะ เป็นความพอใจ ไม่ใช่เมตตา เวลาที่นึกถึงคนที่ชัง หรือว่าเป็นศัตรู คนที่ผูกเวรกัน ในขณะนั้นไม่ใช่ความสงบ ความสงบไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ยังเป็นสัตว์ทั้งหลายไม่ได้ อย่าเพิ่งเป็นสัตว์ทั้งหลาย เพราะการอบรมเจริญความสงบ กุศลจิตที่สงบต้องเกิด จริงๆ และเพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ เพราะฉะนั้น ในขั้นแรกเพียงรู้ลักษณะของเมตตาว่า เมตตามีลักษณะอย่างไร เพื่อที่จะได้อบรมเจริญเมตตาจริงๆ ได้ถูกต้อง เหมือนกับผู้ที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก่อนอื่นต้องรู้ลักษณะของสติว่าคืออะไร ธรรมชาติที่มีลักษณะอย่างไรที่เป็นสติปัฏฐาน โลภะไม่ใช่สติ การตรึกนึกคิดต่างๆ เรื่องนั้น เรื่องนี้ ไม่ใช่สติปัฏฐาน สติปัฏฐานต้องเป็นสภาพธรรมที่ไม่หลงลืม ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ฉันใด ผู้ที่จะอบรมเจริญเมตตา อย่าเพิ่งรีบร้อนไปท่องโดยที่ความสงบไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ แต่ต้องเริ่มจากการรู้ลักษณะของเมตตาก่อน
ใน อัฏฐสาลินี อรรถกถาพระธัมมสังคณีปกรณ์ พระบาลีนิทเทส อโทสะ มีข้อความว่า
ที่ชื่อว่าไมตรี เนื่องด้วยเป็นกิริยาที่สนิทสนม อาการเมตตา ชื่อว่ากิริยาที่สนิทสนม ภาวะแห่งจิตอันเมตตาให้เป็นไปแล้ว มีความพรั่งพร้อมด้วยเมตตา ชื่อว่าความสนิทสนม
ที่ชื่อว่าการเอ็นดู ด้วยอรรถว่า คอยปกป้อง อธิบายว่า คอยคุ้มครอง อาการที่คอยปกป้อง ชื่อว่ากิริยาที่เอ็นดู ภาวะแห่งจิตที่คอยปกป้อง ชื่อว่าความเอ็นดู
ที่ชื่อว่าความแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล เนื่องด้วยคอยแสวงหาแต่ประโยชน์เกื้อกูล
ที่ชื่อว่าความสงสาร เนื่องด้วยคอยหวั่นไหวตามไปด้วย
ด้วยบททั้งหมดเหล่านี้ ตรัสถึงเมตตา อันถึงขั้นอุปจาระและอัปปนานั่นเอง
ด้วยบทที่เหลือ ตรัสถึงอโทสะ อันเป็นโลกียะและโลกุตตระ
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นให้ชินกับลักษณะของเมตตาจริงๆ และพิจารณาสภาพของจิตอาการของจิตในขณะนั้นว่า ประกอบด้วยเมตตาจริงๆ หรือเปล่า จึงจะเริ่มเจริญเมตตาได้ ตั้งต้นเริ่มจากบุคคลใดเป็นขั้นๆ ที่จะพึงเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น อย่ารีบร้อน ก่อนอื่นแม้ในขณะนี้ ขอให้พิจารณาพยัญชนะที่ว่า ที่ชื่อว่าไมตรี เนื่องด้วยเป็นกิริยาที่สนิทสนม
กำลังนั่งกันอยู่ในที่นี้หลายคน มีความรู้สึกเป็นมิตร เหมือนเพื่อนแท้เพื่อนสนิท มีความสนิทสนมกันด้วยใจจริงหรือเปล่า ถ้าด้วยใจจริง ขณะนั้นคือลักษณะของเมตตา ไม่ต้องคนไกล คนที่กำลังอยู่เฉพาะหน้า ลองพิจารณาไปแต่ละท่าน แต่ละบุคคล เพราะในโลกนี้ย่อมมีบุคคลต่างๆ บางท่านเป็นผู้ที่มีฐานะดี บางท่านเป็นผู้ที่มีฐานะฝืดเคือง ยากไร้ มีอัธยาศัย มีกิริยามารยาท มีความรู้ มีการสะสมมาต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น ความรู้สึกของท่าน เป็นมิตรสนิทสนม จริงใจโดยแท้จริงกับบุคคลแต่ละบุคคลที่มีอัธยาศัย มีฐานะ และมีกิริยาอาการที่ปรากฏต่างๆ กันหรือเปล่า นี่เป็นการเริ่มที่จะรู้จักลักษณะของเมตตา คือ ความรู้สึกที่เป็นมิตร มีความสนิทสนมกันด้วยใจจริง
ไม่ว่าท่านจะประสบพบเห็นใครในห้องนี้ นอกห้องนี้ ตามถนนหนทาง ใน รถประจำทาง มีความรู้สึกอย่างนี้หรือเปล่า เป็นเพื่อน เป็นมิตร มองดูให้ทั่ว อย่าเว้น เดี๋ยวพอถึงคนนี้ มีความเป็นมิตรสนิทสนมได้เพราะคุ้นเคยคบกันมาหลายปี พอถึงอีกคนหนึ่ง เคยพูดอะไรที่ไม่ถูกใจหลายครั้ง คงต้องข้ามบุคคลนี้ไป และไปมองดูบุคคลอื่นว่ามีความรู้สึกเป็นมิตร มีอาการสนิทสนมที่จริงใจหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้น เมตตาก็จะเจริญไม่ได้ ยังไม่ต้องไปท่องถึงสัตว์ทั้งหลาย เพราะไร้ประโยชน์ ในเมื่อบุคคลที่กำลังเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ เวลาที่มองแล้วอาจจะเกิดความขุ่นเคืองใจ เพราะฉะนั้น จะไปถึงสัตว์ทั้งหลายได้อย่างไร ยังไม่ใช่สัตว์ทั้งหลายจริงๆ อย่าเพิ่งสัตว์ทั้งหลายจนกว่าอัปปนาจะเกิด ฌานจิตเกิดแล้วจึงจะแผ่ได้ เพราะเมตตาพรหมวิหารเป็น พรหมวิหารที่กว้างขวาง หาประมาณไม่ได้ ซึ่งต้องเริ่มจากเมตตาจริงๆ
ผู้ฟัง ใช่ แต่ผู้ที่จะหวังได้ฌานจิต ก็ต้องปฏิบัติไปตามขั้นตอน แต่ว่าจุดประสงค์ของผม ไม่ได้ต้องการจะได้ฌานจิต
ท่านอาจารย์ แต่ยังเป็นสัตว์ทั้งหลายไม่ได้ เพราะต้องถึงฌานจิต จึงจะเป็นสัตว์ทั้งหลายได้ แผ่ไปได้
ผู้ฟัง ที่ผมท่องว่า สัตว์ทั้งหลาย จุดประสงค์ของผมคือผมคิดว่า ขณะที่ท่อง ขณะนั้นจิตเป็นกุศล
ท่านอาจารย์ เป็นกุศล และเวลาที่เห็นคนที่เป็นศัตรู หรือนึกถึงคนที่เป็นศัตรู เกิดความขุ่นเคืองใจ
ผู้ฟัง เป็นไปได้
ท่านอาจารย์ เป็นไปได้ ก็อย่าเพิ่งไปสัตว์ทั้งหลาย เพราะไม่จริง ถ้าสัตว์ทั้งหลาย แต่เวลาที่นึกถึงศัตรูก็ขุ่นเคือง จะเป็นสัตว์ทั้งหลายได้อย่างไร
ผู้ฟัง ประโยชน์อยู่ขณะที่ท่อง ขณะนั้นจิตเป็นกุศล จุดประสงค์ที่ท่องก็ ต้องการเพียงเท่านี้
ท่านอาจารย์ แต่เป็นไปไม่ได้ถ้าไม่ได้เริ่มอย่างถูกต้อง โดยรู้ลักษณะของเมตตาจริงๆ
ผู้ฟัง เริ่มต้น ในตำราท่านก็กล่าวไว้เหมือนกัน คือ แผ่ให้กับตัวเองก่อน เมื่อแผ่ให้กับตัวเองแล้ว จึงแผ่ให้กับ ...
ท่านอาจารย์ สำหรับที่ว่าแผ่ให้ตัวเอง มีข้อความว่า ยังไม่สำเร็จประโยชน์จนกว่าจะมีเมตตาต่อบุคคลอื่นจริงๆ ที่ใช้คำว่า แผ่ให้กับตนเอง หมายความว่า เตือนให้ระลึกถึงตนเท่านั้น นี่เป็นข้อความที่กล่าวไว้ในตำรา เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญเมตตา ต้องเป็นเรื่องที่พิจารณาโดยละเอียด ทุกวรรคตอน อย่าข้าม และต้องอบรมเจริญจริงๆ เป็นการพิสูจน์ ถ้าปากว่าสัตว์ทั้งหลาย แต่ใจจริงยังไม่สัตว์ทั้งหลาย ก็อย่าไปท่องว่า สัตว์ทั้งหลาย
ผู้ฟัง แผ่ให้กับตนเอง จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะทำสีมสัมเภท
ท่านอาจารย์ อย่าเพิ่ง สีมสัมเภทนั่นกี่บุคคล
ผู้ฟัง ๔ บุคคล
ท่านอาจารย์ ใครบ้าง
ผู้ฟัง ตนเอง ๑ เวรีบุคคล ๑ ปิยบุคคล ๑ มัชฌัตตบุคคล ๑
ท่านอาจารย์ ถ้าเวรีบุคคลยังไม่ได้ ก็ยังแผ่ไม่ได้ และถ้าผู้ที่เป็นที่รักแผ่ครั้งใดก็เกิดราคะ หรือว่าเกิดโลภะ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของเมตตา ก็ยังไม่ได้อีก เพราะฉะนั้น บุคคลแรกที่ควรจะแผ่ ควรจะเป็นใคร
ผู้ฟัง แผ่ให้ตัวเอง
ท่านอาจารย์ นั่นเป็นการเตือนตนเท่านั้น ยังไม่สำเร็จประโยชน์จนกว่าจะมีการนึกถึงบุคคลอื่นที่มีคุณเสมอด้วยอาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีเมตตาและเป็นผู้ที่มีกุศลธรรมที่จะทำให้จิตอ่อนโยนเวลาที่นึกถึงบุคคลนั้น และก็ล้วนแต่นึกถึงในทางที่ดี ที่ทำให้กุศลจิตเกิดขึ้น หวังดีต่อท่านด้วยประการทั้งปวง นั่นเป็นการเริ่มต้น
ผู้ฟัง แต่ที่ท่องๆ บางครั้งก็ยากที่เราจะนึกถึงว่า ให้บุคคลซึ่งเป็นศัตรูของเรา ให้เขามีความสุขนี้ บางครั้งไม่ยอม
ท่านอาจารย์ เพราะเป็นการข้ามขั้น ไม่ได้อบรมเจริญตามลำดับขั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น อย่าหวังผลไกลถึงกับขอให้สัตว์ทั้งปวง หรือว่าขอให้สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งท่านจะต้องระลึกว่า ท่านสามารถจะถึงอัปปนาสมาธิหรือถึงฌานจิตหรือเปล่า
ผู้ฟัง เราก็ไม่ได้มีจุดประสงค์นี้
ท่านอาจารย์ เมื่อไม่ได้มีจุดประสงค์นี้ คนที่อยู่เฉพาะหน้า มีความรู้สึกเป็นไมตรี เป็นมิตรสนิทสนม จริงใจ ไม่ว่าชาติชั้นวรรณะใด ผิวพรรณวรรณะใด เป็นมิตร หรือว่าเป็นศัตรูก็แล้วแต่ ที่กำลังอยู่เฉพาะหน้า มีความรู้สึกเมตตาได้ไหม เริ่มอย่างนี้
ผู้ฟัง บางครั้งเฉพาะหน้า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล
ท่านอาจารย์ ยาก อยู่อย่างไรไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล
ผู้ฟัง บางทีเราขับรถอยู่กลางถนน ขับไปเรื่อยๆ
ท่านอาจารย์ เต็มไปหมด คนอื่นที่ขับอยู่ข้างหน้า ข้างหลังก็มี คนที่ยืนอยู่ข้างๆ ถนนก็มี
ผู้ฟัง ใช่ แต่ไม่ได้มาเกี่ยวข้อง
ท่านอาจารย์ เกี่ยวแล้วโดยการเห็น จะต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ถึงสภาพของจิตที่เป็นกุศล ที่สงบ และมีความรู้สึกเป็นมิตร ไม่ใช่ว่าเพียงมองตาก็โกรธ อย่างนั้นไม่ได้เจริญเมตตาแน่ หรือว่าเพียงใครพูดผิดหูสักคำหนึ่งก็ทนไม่ได้ ขณะนั้นก็ไม่ใช่การอบรมเจริญเมตตาแล้ว
เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญเมตตาเป็นการปฏิบัติ ธรรมทั้งหมดแม้แต่ในเรื่องของสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา เป็นเรื่องอบรม เป็นเรื่องเจริญ เป็นเรื่องปฏิบัติจริงๆ
และถ้าพิจารณาถึงสภาพของจิต ความประพฤติที่เป็นไปทางกาย ทางวาจาบ่อยๆ จะเป็นการอบรมเจริญเมตตาอย่างแท้จริงให้เพิ่มขึ้น เช่น จะต้องรู้ว่า อาการของเมตตา ชื่อว่ากิริยาที่สนิทสนม ไม่ว่าจะเป็นใคร มีความคุ้นเคยสนิทสนมด้วยความจริงใจ นั่นคือลักษณะของเมตตา
ภาวะแห่งจิตอันเมตาให้เป็นไปแล้ว มีความพรั่งพร้อมด้วยเมตตา ทั้งกาย ทั้งวาจา และใจที่คิดถึงบุคคลนั้นด้วย ชื่อว่าความสนิทสนม
ที่ชื่อว่าการเอ็นดู ไม่ใช่เพียงสนิทสนม ต้องมีความรู้สึกเมตตาเพิ่มขึ้นเจริญขึ้น มีความเอ็นดู ด้วยอรรถว่า คอยปกป้อง คือ คุ้มครองไม่ให้มีภัยอันตรายเกิดขึ้นกับบุคคลนั้น
อาการที่คอยปกป้อง ชื่อว่ากิริยาที่เอ็นดู ภาวะแห่งจิตที่คอยปกป้อง ชื่อว่าความเอ็นดู
เวลาที่ใครเป็นทุกข์เดือดร้อน ท่านเกิดความเมตตา เอ็นดู สนิทสนม มีไมตรีจิตกับบุคคลนั้นเหมือนเพื่อนของท่าน และคอยปกป้องให้ ขณะนั้นคืออาการของเมตตา
ที่ชื่อว่าความแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล คือ ต้องกระทำด้วย ไม่ใช่ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงมีความสุข แต่ไม่ได้ทำอะไรให้เขา แต่นี่ ที่ชื่อว่าความแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล เนื่องด้วยคอยแสวงหาแต่ประโยชน์เกื้อกูล ไม่หาโทษให้บุคคลนั้นเลย ไม่ว่าด้วยกาย หรือด้วยวาจา
ที่ชื่อว่าความสงสาร เนื่องด้วยคอยหวั่นไหวตามไปด้วย
ด้วยบททั้งหมดเหล่านี้ ตรัสถึงเมตตา อันถึงขั้นอุปจาระและอัปปนานั่นเอง
เริ่มตั้งแต่ขณะเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันตามปกติ ตามความเป็นจริง เพราะทุกท่านย่อมอยู่กับบุคคลอื่น ไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เพราะฉะนั้น ก็มีบุคคลอื่น มีสัตว์อื่นที่ท่านจะพิจารณา และอบรมเจริญกุศลได้ เพราะว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ท่อง
ข้อความใน วิสุทธิมรรค สมาธินิทเทส พรหมวิหารนิเทส แสดงลักษณะ กิจ อาการที่ปรากฏ และเหตุใกล้ของพรหมวิหารทั้ง ๔ ว่า
เมตตามีความเป็นไปโดยอาการประพฤติเกื้อกูล เป็นลักษณะ
มีการน้อมเข้าไปซึ่งประโยชน์เกื้อกูลในสัตว์ เป็นรสะ คือ เป็นกิจ
มีการบำบัดความอาฆาต เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ
มีการเห็นความที่สัตว์เป็นที่ชอบใจ คือ ไม่โกรธเคือง ไม่ขุ่นเคืองในขณะนั้น เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
มีการเข้าไปสงบพยาบาท เป็นสมบัติ
มีการเกิดความเสน่หา เป็นวิบัติ
เรื่องของจิตใจระวังยาก เพราะเคยชินกับการที่จะเป็นอกุศล ไม่โลภะ ก็โทสะ หรือโมหะ เพราะฉะนั้น เรื่องของกุศลที่จะอบรมเจริญให้มีมากขึ้นได้ จะต้องประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพราะขณะใดที่มีความประพฤติเกื้อกูลจริงๆ ไม่ใช่ด้วยความพอใจ หรือว่าด้วยความเป็นพวกพ้อง ในขณะนั้นเป็นลักษณะของเมตตา มีการเห็นความที่สัตว์เป็นที่ชอบใจ คือ เป็นมิตร เป็นปทัฏฐาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด มีการเข้าไปสงบพยาบาท เป็นสมบัติ มีการเกิดความเสน่หา เป็นวิบัติ
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และเป็นผู้ที่พิจารณาจริงๆ ในชีวิตประจำวันสามารถที่จะอบรมเจริญเมตตาจริงๆ พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของเมตตาที่กำลังมี ที่กำลังปรากฏได้ เช่น ในขณะที่เห็นคนหนึ่งคนใด อาจจะเป็นคนแปลกหน้า อาจจะเป็นต่างชาติต่างภาษา ท่านรู้สึกอย่างไรในขณะนั้น มีความรู้สึกเหมือนเห็นมิตร เหมือนเห็นเพื่อน หรือเหมือนเห็นศัตรู ถ้าในขณะใดที่มีความรู้สึกเหมือนเห็นมิตร หรือเห็นเพื่อน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ขณะนั้นเป็นอาการปรากฏของเมตตา เพราะ มีการบำบัดความอาฆาต คือ ความขุ่นเคืองใจ หรือความ ไม่พอใจ เป็นอาการปรากฏ
ถ้าท่านเห็นคนที่โกรธกัน กำลังทะเลาะกัน ท่านเป็นพวกคนหนึ่งคนใดหรือเปล่า ถ้าขณะนั้นท่านเป็นพวกคนหนึ่งคนใด ไม่ใช่เมตตา เป็นโลภะ มีความเสน่หาเป็นวิบัติ แต่ท่านสามารถจะมีความเป็นมิตรกับทั้ง ๒ คนที่กำลังโกรธกันได้ไหม ไม่ว่าใครจะประพฤติดีหรือใครจะประพฤติชั่ว เวลาที่ท่านเห็นบุคคลที่ประพฤติชั่ว ท่านก็มีความรู้สึกเอ็นดู เมตตา สงเคราะห์ สามารถที่จะทำประโยชน์เกื้อกูลกับบุคคลนั้นได้ นั่นคือลักษณะของเมตตาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ไม่ใช่มีเห็นว่าเป็นโทษ ก็ขุ่นเคือง ซ้ำเติม ซึ่งเป็นการทำให้บุคคลนั้นเดือดร้อน นั่นไม่ใช่ลักษณะของเมตตา
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นมิตรกับทุกคน มีความรู้สึกสนิทสนมด้วยความจริงใจ ย่อมจะเป็นผู้มีกรุณาเวลาที่บุคคลทั้งหลายประสบความทุกข์เดือดร้อน และย่อมเป็น ผู้มีมุทิตาเวลาที่บุคคลอื่นประสบกับความสุขความเจริญและความสำเร็จ และถ้าไม่สามารถที่จะเกื้อกูลได้ หรือได้ทำประโยชน์เกื้อกูลแล้วแต่ไม่สำเร็จ บุคคลนั้นก็ยังเป็น ผู้ที่ไม่ขุ่นเคือง เพราะรู้ว่าแล้วแต่เหตุปัจจัยหรือกรรมของบุคคลนั้น ก็สามารถที่จะอบรมเจริญอุเบกขาได้
สำหรับพรหมวิหารทั้ง ๔ เป็นธรรมที่เกื้อหนุนกรรมดีทั้งปวง เป็นคุณธรรมที่ทำให้ความดีทั้งหลายบริบูรณ์ได้ แม้แต่ในเรื่องของทานก็ไม่แบ่งแยกการให้เฉพาะบางพวก และยังเป็นผู้ที่ยังศีลให้บริบูรณ์ด้วยเมตตา
- เมตตา ตอนที่ 01
- เมตตา ตอนที่ 02
- เมตตา ตอนที่ 03
- เมตตา ตอนที่ 04
- เมตตา ตอนที่ 05
- เมตตา ตอนที่ 06
- เมตตา ตอนที่ 07
- เมตตา ตอนที่ 08
- เมตตา ตอนที่ 09
- เมตตา ตอนที่ 10
- เมตตา ตอนที่ 11
- เมตตา ตอนที่ 12
- เมตตา ตอนที่ 13
- เมตตา ตอนที่ 14
- เมตตา ตอนที่ 15
- เมตตา ตอนที่ 16
- เมตตา ตอนที่ 17
- เมตตา ตอนที่ 18
- เมตตา ตอนที่ 19
- เมตตา ตอนที่ 20
- กรรม ตอนที่ 01
- กรรม ตอนที่ 02
- กรรม ตอนที่ 03
- กรรม ตอนที่ 04
- กรรม ตอนที่ 05
- กรรม ตอนที่ 06
- กรรม ตอนที่ 07
- กรรม ตอนที่ 08
- กรรม ตอนที่ 09
- กรรม ตอนที่ 10
- กรรม ตอนที่ 11
- กรรม ตอนที่ 12
- กรรม ตอนที่ 13
- กรรม ตอนที่ 14
- กรรม ตอนที่ 15
- กรรม ตอนที่ 16
- กรรม ตอนที่ 17
- กรรม ตอนที่ 18
- กรรม ตอนที่ 19
- กรรม ตอนที่ 20