เมตตา ตอนที่ 12
ซึ่งถ้าท่านพระอานนท์ไม่เป็นพระสาวกที่เป็นเอตทัคคะในการทรงจำ ก็ย่อมจะไม่มีพระธรรมเหลือมาถึงคนในยุคนี้สมัยนี้ที่จะได้ทราบว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้นที่เกิดขึ้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยละเอียดตลอด ๔๕ พรรษานั้น มีว่าอย่างไรบ้าง
เพราะฉะนั้น เมื่อคฤหบดีท่านนั้นกราบทูลถามว่า การจะแสดงความเคารพพระธรรมนั้น จะแสดงได้อย่างไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้ท่านคฤหบดีท่านนั้น กระทำได้โดยการกระทำความเคารพต่อท่านพระอานนท์ ซึ่งคฤหบดีท่านนั้นก็ได้นิมนต์ท่านพระอานนท์ไปที่บ้าน กระทำการนอบน้อมสักการะอย่างสูง ถวายภัตตาหารที่ประณีต และถวายผ้าเนื้อดีราคาแพง พอที่จะกระทำจีวรได้ ๓ ผืน
เมื่อท่านพระอานนท์กลับไปที่พระอารามแล้ว ท่านก็คิดว่า ผ้าเนื้อดีราคาแพงไม่สมควรแก่ท่าน ท่านจึงถวายแก่ท่านพระสารีบุตร
แสดงว่า ท่านพระอานนท์มีจิตที่ประกอบด้วยเมตตา นึกถึงคุณความดีของผู้ที่เป็นอัครสาวก คือ ท่านพระสารีบุตร เพราะฉะนั้น ท่านพระอานนท์ก็ได้ถวายผ้าที่จะกระทำจีวรนั้นให้กับท่านพระสารีบุตร ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็ได้ถวายแก่พระผู้มีพระภาค โดยนัยเดียวกัน เมื่อภิกษุทั้งหลายสนทนากันด้วยเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสเรื่องในอดีตกาล ซึ่งเป็น ภิกขาปรัมปรชาดก มีข้อความว่า
ครั้งหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัตผู้ครองพระนครพาราณสี ทรงใคร่ที่จะทราบว่า พระองค์ทรงมีข้อบกพร่องประการใดบ้าง จึงได้ทรงปลอมพระองค์เที่ยวไปในแว่นแคว้นของพระองค์ แต่ก็ไม่ทรงพบว่า ผู้ใดแสดงว่าพระองค์ทรงบกพร่องประการใด พระองค์ได้เสด็จไปยังหมู่บ้านชายแดน และประทับที่ศาลาแห่งหนึ่ง คฤหบดีผู้มั่งคั่งในหมู่บ้านนั้นเห็นพระองค์ ก็ทูลขอให้พระองค์ประทับที่นั่น แล้วกลับไปเอาอาหารที่บ้านมาถวาย ขณะนั้นมีฤๅษีผู้อยู่ที่ภูเขาหิมพานต์ท่านหนึ่ง และพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ผู้ซึ่งประทับ ณ ภูเขานันทะ ก็ได้มาสู่ที่ศาลานั้น และนั่งอยู่ ณ ที่นั้นด้วย คฤหบดีท่านนั้นได้ถวายอาหารแก่พระเจ้าพรหมทัต พระเจ้าพรหมทัตทรงรับไว้ แล้วพระราชทานแก่พระอาจารย์ของพระองค์ พระอาจารย์ของพระองค์ได้ถวายแก่ พระฤๅษี และพระฤๅษีได้ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงบริโภคอาหารนั้น
เมื่อคฤหบดีเห็นอย่างนั้น ก็ได้ถามข้อที่สงสัยนั้นกับทุกท่าน ซึ่งข้อความใน ขุททกนิกาย ปกิณณกชาดก ภิกขาปรัมปรชาดก มีว่า
คฤหบดีกราบทูลพระเจ้าพรหมทัตว่า
ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นสุขุมาลชาติ เคยประทับในพระตำหนักอันประเสริฐ ทรงบรรทมเหนือพระยี่ภู่อันใหญ่โต เสด็จจากแว่นแคว้นมาสู่ดง จึงได้ ทูลถวายข้าวสุกอย่างดีแห่งข้าวสาลีเป็นภัตอันวิจิตร มีแกงเนื้ออันสะอาด ด้วยความรักต่อพระองค์ พระองค์ทรงรับภัตนั้นแล้ว มิได้เสวยด้วยพระองค์เอง ได้พระราชทานแก่พราหมณ์ ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ ข้อนี้เป็นธรรมอะไรของพระองค์
ตามธรรมดาราษฎรก็มีความจงรักภักดี เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นพระเจ้าพรหมทัตซึ่งเป็นพระราชาที่มีคุณธรรม ก็ถวายอาหารด้วยความยินดี ด้วยความเต็มใจ พระเจ้าพรหมทัตทรงรับไว้ และพระราชทานแด่พระอาจารย์ของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงประกอบด้วยพระเมตตา คิดถึงคุณความดีของผู้ที่เป็นอาจารย์
ในชีวิตประจำวันทุกท่านย่อมได้ลาภมากบ้าง น้อยบ้าง บ่อยๆ บ้าง หรือ นานๆ ครั้งบ้าง เวลาที่ได้มาสังเกตดูจิตใจของท่านบ้างหรือเปล่าว่า ท่านนึกถึงใครหรือเปล่าเวลาที่ได้ลาภ นึกถึงตัวเอง ดีใจมากที่ได้ และอยากจะใช้วัตถุสิ่งนั้น หรือว่านึกถึงคนอื่นซึ่งมีคุณ และเห็นว่าวัตถุนั้นสมควร เหมาะสมกับบุคคลนั้น ที่จะให้กับบุคคลนั้น
เพราะฉะนั้น นี่เป็นชีวิตประจำวันที่จะแสดงให้เห็นว่า เวลาที่เมตตาเกิดขึ้น กระทำกิจต่างกันกับขณะที่เมตตาไม่เกิด ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีใครท่อง แต่ว่าเป็นเรื่องจริงๆ ที่เกิดขึ้นตามการสะสม ตามเหตุปัจจัย
พระเจ้าพรหมทัตตรัสว่า
พราหมณ์เป็นอาจารย์ของฉัน เป็นผู้ขวนขวายในกิจน้อยกิจใหญ่ ทั้งเป็นครู และผู้คอยตักเตือน ฉันควรให้โภชนะ
ซึ่งคฤหบดีก็ได้ถามพราหมณ์ ในการที่พราหมณ์ได้ถวายอาหารแก่พระฤๅษีว่า
บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านพราหมณ์ผู้โคดม อันพระราชาทรงบูชา พระราชาทรงพระราชทานภัต อันมีแกงเนื้ออย่างสะอาดแก่ท่าน ท่านรับภัตนี้แล้ว ได้ถวายโภชนะแก่ฤๅษี ชะรอยท่านจะรู้ว่าตนมิได้เป็นเขตแห่งทาน ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแก่ท่าน ธรรมข้อนี้เป็นธรรมอะไรของท่าน.
ท่านผู้ฟังอาจจะได้ยินคำว่า ผู้โคดม อยู่บ่อยๆ ซึ่งวงศ์ใหญ่ของอินเดีย ของชมพูทวีปแต่ครั้งโบราณก็มีอยู่ ๒ วงศ์ คือ วงศ์พระอาทิตย์ กับวงศ์พระจันทร์ สำหรับโคดม หรือโคตมนั้น ก็เป็นวงศ์พระอาทิตย์ สำหรับพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของพระเจ้าพรหมทัตก็เป็นวงศ์พระอาทิตย์ เพราะฉะนั้น คฤหบดีนั้นจึงเรียกพราหมณ์นั้นว่า ท่านพราหมณ์ผู้โคดม
พราหมณ์ตอบคฤหบดีว่า
ข้าพเจ้ายังกำหนัดอยู่ในเรือนทั้งหลาย ต้องเลี้ยงบุตรและภรรยา ถวายอนุศาสน์แก่พระราชา เชิญให้เสวยกามอันเป็นของมนุษย์ ข้าพเจ้าควรถวายโภชนะแก่ฤๅษี ผู้อยู่ในป่าสิ้นกาลนาน ผู้เรืองตบะ เป็นวุฒิบุคคล อบรมตนแล้ว
ถึงแม้จะเป็นครูอาจารย์ก็จริง แต่ว่าเป็นครูอาจารย์ทางโลก เพราะฉะนั้น เท่าที่พราหมณ์สามารถจะเชื้อเชิญพระเจ้าพรหมทัตได้ ก็เพียงเชื้อเชิญให้ประพฤติในธรรมที่เป็นของมนุษย์ เหมือนกับเชิญให้เสวยกามอันเป็นของมนุษย์ ไม่เหมือนกับพระฤๅษีซึ่งเป็นผู้ทรงคุณทางธรรมที่จะเกื้อกูลให้เสวยสมบัติที่ไม่ใช่กาม ที่ไม่ใช่ของมนุษย์
คฤหบดีนั้นก็ได้ถามพระฤๅษีผู้ถวายโภชนะแต่พระปัจเจกพุทธเจ้าต่อไปว่า
บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านฤๅษีผู้ซูบผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น มีเล็บและ ขนรักแร้งอกยาว ฟันเขลอะ มีธุลีบนศีรษะ ท่านอยู่ในป่าผู้เดียว ไม่ห่วงใยชีวิต ภิกษุที่ท่านถวายโภชนะนั้น ดีกว่าท่านด้วยคุณข้อไหน
ฤๅษีตอบว่า
อาตมภาพยังขุดเผือก มันมือเสือ มันนก ยังเก็บข้าวฟ่างและลูกเดือยมา ตากตำ เที่ยวหาฝักบัว เหง้าบัว น้ำผึ้ง เนื้อสัตว์ พุทรา และมะขามป้อมมาบริโภค ความยึดถือนั้นของอาตมายังมีอยู่ เมื่ออาตมายังหุงต้ม ก็ควรถวายโภชนะแก่ท่านผู้ไม่หุงต้ม ยังมีกังวล ก็ควรถวายโภชนะแก่ผู้ไม่มีความห่วงใย ยังมีความถือมั่น ก็ควรถวายโภชนะแก่ท่านผู้ไม่มีความถือมั่น
คฤหบดีได้มนัสการถามพระปัจเจกพุทธเจ้าต่อไปว่า
บัดนี้ กระผมขอถามท่าน ภิกษุผู้นั่งนิ่ง มีวัตรอันดี พระฤๅษีถวายภัตตาหารอันปรุงด้วยเนื้อสะอาดแก่ท่านดังนั้น ท่านรับภัตตาหารนั้นแล้วนั่งนิ่ง ฉันอยู่องค์เดียว ไม่เชื้อเชิญใครๆ อื่น กระผมขอนมัสการแด่พระคุณท่าน นี้เป็นธรรมอะไรของ พระคุณท่าน
พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า
อาตมาไม่ได้หุงต้มเอง ไม่ได้ให้ใครหุงต้ม ไม่ได้ตัดเอง ไม่ได้ให้ใครตัด ฤๅษีรู้ว่า อาตมาไม่มีความกังวล เป็นผู้ห่างไกลจากบาปทั้งปวง จึงถือภิกษาหารด้วยมือซ้าย ถือเต้าน้ำด้วยมือขวา ถวายภัตตาหารอันปรุงด้วยเนื้อสะอาดแก่อาตมา บุคคลเหล่านี้ยังมีความห่วงใย ยังมีความยึดถือ จึงสมควรจะให้ทาน อาตมาเข้าใจเอาว่า การที่บุคคลเชื้อเชิญผู้ให้นั้น เป็นการผิด
หมายความว่า เมื่อบุคคลใดให้แล้ว จะส่งคืนไม่รับ หรือว่าจะกลับคืนให้ไป ย่อมไม่เหมาะ
เมื่อท่านคฤหบดีท่านนั้นได้ทราบข้อความทั้งหมดนั้นแล้ว ก็ได้กล่าวว่า
วันนี้พระราชาผู้ประเสริฐเสด็จมา ณ ที่นี้ เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระพุทธเจ้าหนอ ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งทราบชัดวันนี้เองว่า ทานที่ให้ในท่านผู้ใดจักมีผลมาก พระราชาทั้งหลายทรงกังวลอยู่ในแว่นแคว้น พราหมณ์ทั้งหลายกังวลอยู่ในกิจน้อยกิจใหญ่ ฤๅษีกังวลอยู่ในเหง้ามันและผลไม้ ส่วนพวกภิกษุหลุดพ้นได้แล้ว
จบ ภิกขาปรัมปรชาดกที่ ๑๓
และพระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระเจ้าพรหมทัตในครั้งนั้น คือ ท่านพระอานนท์ พราหมณ์อาจารย์ของพระเจ้าพรหมทัตในครั้งนั้น คือ ท่านพระสารีบุตร และฤๅษีท่านนั้นคือ พระองค์เอง คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนคฤหบดีในครั้งนั้น ก็คือคฤหบดีในครั้งนี้นั่นเอง
สังสารวัฏฏ์ยาวนานสักแค่ไหน
พระเจ้าพรหมทัตได้อบรมเจริญบารมี จนกระทั่งได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น ท่านพระอานนท์ พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของพระเจ้าพรหมทัตก็ได้อบรมเจริญบารมีจนกระทั่งเป็นพระอัครสาวก คือ พระสารีบุตร และฤๅษีก็ได้อบรมเจริญบารมีจนเต็มเปี่ยมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คฤหบดีในครั้งนั้น ก็ยังคงเป็นคฤหบดี ในครั้งนี้นั่นเอง
เหมือนกันไปทุกชาติๆ ตามการสะสม ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม พ้นจากสังสารวัฏฏ์ได้ ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีเมตตาเป็นคุณธรรม ระลึกถึงบุคคลอื่นด้วยเมตตา แต่ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นสติปัฏฐานด้วย มิเช่นนั้นก็จะไม่เป็นท่านพระอานนท์ ไม่เป็นท่านพระสารีบุตร ไม่เป็นพระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น คฤหบดีในวันนี้ ในชาตินี้ และอีกหลายๆ กัป ก็ยังคงเป็นคฤหบดีเหมือนในชาตินี้ หรือว่าจะอบรมเจริญกุศลพร้อมด้วยการอบรมเจริญปัญญาที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม พ้นจากสังสารวัฏฏ์ แล้วแต่เหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล แต่ให้เห็นว่า แม้ว่าเมตตาจะเป็นคุณธรรมที่ควรอบรมเจริญก็จริง แต่คำสอนอื่นก็มี ในการที่จะให้บุคคลมีพรหมวิหาร ๔ คือ มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา แต่ที่คำสอนอื่นไม่มี คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ
เพราะฉะนั้น เพียงชาดกนี้อย่าเข้าใจว่า ควรเจริญเพียงเมตตาเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นกุศลประการใดก็ตาม ในแต่ละภพ แต่ละชาติ ควรจะอบรมเจริญพร้อมกับการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย ในภพชาติที่สามารถจะเข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน
ที่ได้กล่าวถึงข้อความในชาดก และเรื่องต่างๆ ในชาดก ก็เพื่อท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาเห็นประโยชน์ของชาดก เพราะแต่ละชาดกนั้นเป็นชีวิตจริงๆ เป็นชีวิตปกติธรรมดาเหมือนอย่างชีวิตของแต่ละท่านในขณะนี้ แต่ว่าเป็นเรื่องของบุคคลในครั้งก่อน ซึ่งท่านเหล่านั้นได้อบรมเจริญบารมีจนกระทั่งได้ตรัสรู้อริยสัจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระอัครสาวก และเป็นพระสาวกทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ชีวิตของท่านที่กำลังเป็นอยู่นี้ก็เหมือนกับชีวิตของท่านเหล่านั้น ซึ่งแล้วแต่ว่า แต่ละขณะนั้นจะมีปัจจัยทำให้อกุศลเกิดขึ้น หรือว่ากุศลเกิดขึ้น
การศึกษาเรื่องราวในชาดกทั้งหลาย จะเห็นได้ว่า มีความวิจิตรมาก ทั้งอกุศลและกุศล เพราะเป็นเรื่องราวของแต่ละชีวิตที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น และสำหรับในปัจจุบันชาตินี้ทุกท่านย่อมพิสูจน์ได้ว่า กุศลก็วิจิตรมาก ในการคิดนึกที่จะเกิดขึ้นแต่ละครั้ง เป็นไปทางกาย ทางวาจา ทางใจ ถ้าอ่านข้อความในชาดก เวลาที่มีปัจจัยทำให้กุศลที่วิจิตรเกิดขึ้นเป็นไปทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง จะเห็นได้ว่า ข้อความในชาดกที่เกิดขึ้นเพราะความวิจิตรของจิตที่ทำให้กุศลอย่างนั้นเกิด มีถ้อยคำ มีวาจาที่ไพเราะมาก เพราะเกิดขึ้นจากความวิจิตรของกุศลในขณะนั้น
ในวันนี้ มีท่านผู้ฟังที่ได้พิจารณาจิตใจและรู้ว่าเมตตาภาวนาได้เจริญขึ้น บ้างไหม ซึ่งผลของการฟังพระธรรม ควรเป็นปัจจัยทำให้เมตตาเจริญขึ้น เพราะธรรมทั้งหมดสำหรับประพฤติปฏิบัติตาม และควรพิจารณาว่า มีเมตตาเพิ่มขึ้นไหม และ มีเมตตากับบุคคลใดได้มากขึ้น
สำหรับบุคคลที่ท่านคิดว่า คนนี้ยังเมตตาด้วยไม่ได้ คิดว่าไม่สามารถจะเมตตาคนนี้ได้ แต่การที่เมตตาเจริญขึ้น จะทำให้เวลาที่ท่านนึกถึงบุคคลนั้นและตรวจสอบจิตใจว่า ขณะนั้นความรู้สึกที่มีต่อคนที่ท่านเคยคิดว่าเมตตาด้วยไม่ได้นั้น เปลี่ยนเป็นความรู้สึกที่เป็นมิตรขึ้น ประกอบด้วยเมตตาแทนที่จะเป็นความขุ่นเคืองใจได้ นี่คือการเจริญขึ้นของเมตตาในชีวิตประจำวัน
ถ้าในชีวิตประจำวันเมตตายังไม่เจริญขึ้น แสดงว่า ไม่สามารถมีความสงบมั่นคงขึ้นเพราะเมตตา เพราะเมตตาจะต้องเกิด และก็อบรม และก็เจริญขึ้น จนกว่าลักษณะของความสงบจะปรากฏเพิ่มขึ้นได้
เมตตาเป็นสิ่งที่ควรอบรมเจริญ เพราะเป็นกุศลที่จะขัดเกลาละคลายโทสะให้เบาบางได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการอบรมเจริญเมตตาแม้เพียงชั่วขณะเล็กน้อยให้เห็นประโยชน์ว่า กุศลทั้งหมดอย่าประมาท กุศลแม้เพียงชั่วขณะเล็กน้อยที่เกิดขึ้นได้ก็เป็นประโยชน์ ซึ่งใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต บาลีแห่งเอกธรรม ข้อ ๕๔ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุซ่องเสพเมตตาจิต แม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดา ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า ก็จะกล่าวไยถึงผู้ทำเมตตาจิตนั้นให้มากเล่า ฯ
พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า กุศลทั้งหลายสามารถที่จะอบรมเจริญขึ้น ทีละเล็กทีละน้อยได้ สิ่งที่คิดว่ายาก เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าค่อยๆ ฝึกหัดอบรมก็ย่อมจะค่อยๆ เกิด จนกระทั่งสามารถมีมากได้ เพราะฉะนั้น การที่จะให้มีเมตตาจิตมากขึ้น อย่าหวังว่าวันหนึ่งจะมีมาก แต่ว่าทุกขณะที่เมตตาสามารถเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จะเป็นปัจจัยให้มีเมตตามากได้ มิฉะนั้น พระผู้มีพระภาคคงไม่ตรัสว่า แม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น ก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ถ้าไม่มีเมตตาเลย และหวังจะให้สงบจนถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
และสำหรับการที่จะอบรมเจริญพรหมวิหาร ๔ ไม่จำเป็นต้องเจริญเพียง พรหมวิหารใดพรหมวิหารหนึ่งให้มีมากก่อนจึงจะเจริญพรหมวิหารอื่น เพราะธรรมที่เป็นเครื่องอยู่ของพรหมผู้ประเสริฐมี ๔ อย่าง คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ข้อความใน วิสุทธิมรรค สมาธินิทเทส แสดงลักษณะของพรหมวิหาร ๔ ซึ่งลักษณะของเมตตาได้กล่าวถึงแล้ว เพราะฉะนั้น จะขอกล่าวถึงลักษณะของกรุณา มุทิตา และอุเบกขา
กรุณาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีความเป็นไปโดยอาการปลดเปลื้องทุกข์ เป็นลักษณะ
มีการไม่อดกลั้นได้ต่อความทุกข์ที่เกิดแก่ผู้อื่น เป็นรสะ คือ เป็นกิจ
มีการไม่เบียดเบียน เป็นอาการปรากฏ
มีการเห็นความเป็นผู้อนาถาของสัตว์ผู้ตกยาก เป็นปทัฏฐาน
มีการเข้าไปสงบวิหิงสา คือ การเบียดเบียน เป็นสมบัติ
มีความเกิดความโศก เป็นวิบัติ
เพราะบางทีเวลาเห็นบุคคลอื่นกำลังเป็นทุกข์เดือดร้อน มีความสงสารมาก จนกระทั่งจิตใจเศร้าหมองพลอยเป็นทุกข์อย่างมากไปด้วย จนถึงกับร้องไห้ก็มี เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังร้องไห้ สงสาร เสียใจ เป็นทุกข์ ขณะนั้นไม่ใช่ กรุณาเจตสิก แต่เป็นอกุศลจิต
เพราะฉะนั้น ผู้ใดก็ตามที่จะอบรมเจริญกุศล จะปราศจากสติสัมปชัญญะไม่ได้ มิฉะนั้นไม่สามารถที่จะแยกลักษณะของอกุศลและกุศลออกจากกัน ถ้าแยกไม่ออก ในขณะที่อกุศลจิตเกิด ก็อาจจะคิดว่าขณะนั้นเป็นกุศล
ถ้าบุคคลใดกำลังได้รับความทุกข์ ที่จะเป็นกรุณา คือ ท่านมีจิตที่เห็นอกเห็นใจ สงสาร มีความเป็นไปโดยอาการปลดเปลื้องทุกข์ เป็นลักษณะ มีความไม่อดกลั้นได้ต่อความทุกข์ที่เกิดกับผู้อื่น คือ ไม่เฉยเมยเวลาที่เห็นผู้อื่นกำลังประสบทุกข์ยาก เป็นกิจ มีการไม่เบียดเบียน เป็นอาการปรากฏ แต่ในทางตรงกันข้าม เวลาที่กำลังเบียดเบียน หรือว่าเห็นใครเบียดเบียน ขณะนั้นก็สามารถที่จะรู้ถึงลักษณะของจิตของผู้นั้นได้ว่า ปราศจากกรุณา ขณะนั้นเป็นอกุศล
ปกติมีไหม กรุณา ใครเป็นผู้ที่มีกรุณามากที่สุด พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกอบด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ เพราะถ้าไม่ประกอบด้วยพระมหากรุณาคุณ คงจะไม่ทรงแสดงธรรม ไม่มีข้อความที่จดจำสืบต่อกันมาจนกระทั่งจารึกเป็นพระไตรปิฎกให้บุคคลรุ่นหลังได้รู้ว่า พระองค์ทรงแสดงธรรมที่จะทำให้สัตว์โลกทั้งหลายพ้นจากความทุกข์ได้โดยสิ้นเชิงอย่างไร
เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความกรุณา ก็มีการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น ให้พ้นจากความทุกข์ทั้งทางโลกและทางธรรมเท่าที่จะทำได้
สำหรับลักษณะของมุทิตา
มุทิตาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีการบันเทิงทั่ว เป็นลักษณะ คือ มีจิตที่ยินดี
มีการไม่ประพฤติริษยา เป็นรสะ คือ เป็นกิจ
มีการพิฆาตความไม่ยินดีด้วย เป็นอาการปรากฏ
มีการเห็นสมบัติของสัตว์ทั้งหลาย เป็นปทัฏฐาน
มีการเข้าไปสงบความไม่ยินดีด้วย เป็นสมบัติ
มีการเกิดความร่าเริง เป็นตัววิบัติ
การที่แสดงลักษณะของสภาพธรรมโดยละเอียด ทั้งลักษณะ ทั้งกิจ ทั้งอาการที่ปรากฏ ทั้งเหตุใกล้ที่จะให้เกิดขึ้น ก็เพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลซึ่งใกล้เคียงกัน เพราะตามปกติธรรมดา ถ้ามีความรู้สึกร่าเริงยินดี ย่อมเป็นลักษณะอาการของโลภะในชีวิตประจำวัน แต่ในขณะที่มีการบันเทิงทั่วเพราะมีการเห็นสมบัติของสัตว์ทั้งหลาย พลอยยินดีด้วย เวลาที่บุคคลอื่นได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข ในขณะนั้นเป็นลักษณะของมุทิตา ถ้า มีการเข้าไปสงบความไม่ยินดีด้วย เป็นสมบัติ แต่ถ้ามากเกินไป เพราะยินดีด้วยกับผู้ที่เป็นที่รัก ขณะนั้นสติจะต้องเกิด เพื่อที่จะได้พิจารณารู้ลักษณะของจิตว่า ขณะนั้นความยินดีนั้นเป็นโลภมูลจิต หรือว่าเป็นจิตที่เป็นกุศลที่ประกอบด้วยมุทิตา
สภาพใกล้กันมาก เพราะปกติจิตใจย่อมมีปัจจัยให้เกิดอกุศลอยู่บ่อยๆ แม้แต่เวลาที่บุคคลใดได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข ก็สามารถที่จะพิจารณาได้ว่า ท่านเฉยๆ ไม่ยินดีด้วย หรือว่าท่านยินดีด้วย แต่ยินดีด้วยโลภะ เพราะว่าสภาพของจิตเกิดดับ สืบต่อกันเร็วมาก ซึ่งผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบต้องเข้าใจว่า ความสงบ หมายความถึงจิตที่เป็นกุศล ขณะนั้นปราศจากทั้งโลภะ โทสะ และโมหะ จึงชื่อว่าสงบ แต่ถ้าปราศจากสติก็จะมีปัจจัยที่จะให้กุศลจิตเกิดบ้าง อกุศลจิตเกิดบ้าง สลับกันไป เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะสังเกตได้ว่า บุคคลที่ท่านไม่สามารถจะยินดีด้วยในสมบัติของเขา เป็นผู้ที่ไม่เป็นที่พอใจ หรือในขณะนั้นเพราะจิตริษยา
ความริษยาเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มีจริง เป็นเจตสิกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเวลาที่เห็นบุคคลอื่นเพียบพร้อมด้วยสมบัติ หรือว่าได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ด้วยสติว่า ขณะนั้นลักษณะของจิตประกอบด้วยริษยา หรือว่าเป็นจิตที่ยินดีด้วยที่เป็นมุทิตา
ควรที่มุทิตาจะเกิด แต่เพราะเหตุใดมุทิตาจึงเกิดไม่ได้ ถ้าระลึกได้ จะเห็นสภาพของจิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้นว่า เพราะเหตุใดจึงเกิดไม่ได้ หรือว่าเวลาที่ยินดี ร่าเริงยิ่งนัก เกินลักษณะของมุทิตา ขณะนั้นต้องรู้ว่า เป็นลักษณะของโลภะ ซึ่งควรที่จะขัดเกลาให้เบาบางด้วย
สำหรับลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอุเบกขาพรหมวิหาร ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก
มีการเป็นไปโดยอาการมีตนเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย เป็นลักษณะ
มีการเห็นความเป็นผู้เสมอกันในสัตว์ทั้งหลาย เป็นรสะ
มีการเข้าไปสงบความยินดีและยินร้าย เป็นอาการปรากฏ
มีการเห็นความเป็นผู้มีกรรมเป็นของตนในสัตว์ทั้งหลาย เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
มีการเข้าไปสงบความยินดีและยินร้าย เป็นสมบัติ
มีการเกิดอุเบกขาไร้ญาณที่อาศัยเรือน เป็นตัววิบัติ
นี่เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ได้ด้วยสติ ไม่ใช่ว่าอุเบกขาตลอดเวลาไม่ว่าจะเห็นอะไรทั้งนั้น เข้าใจว่ามีตนเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งความจริงไม่ใช่ แต่เป็นผู้ที่ในขณะนั้นกุศลจิตไม่ได้เกิดขึ้น ไม่รู้ว่าสภาพของจิตที่เป็นกุศลที่เป็นกลางจริงๆ นั้น ต้องเป็นลักษณะที่ มีตนเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นญาติสนิทมิตรสหาย ก็เหมือนกับบุคคลอื่น สามารถที่จะเข้าไปสงบความยินดียินร้ายได้ในขณะนั้น เป็นอาการปรากฏ และมีการเห็นความเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นปทัฏฐาน
สำหรับพรหมวิหารทั้ง ๔ เป็นธรรมที่เกื้อหนุนกรรมดีทั้งหลาย เป็นคุณธรรมที่เกื้อกูลในธรรมที่ดีทุกอย่างให้บริบูรณ์
- เมตตา ตอนที่ 01
- เมตตา ตอนที่ 02
- เมตตา ตอนที่ 03
- เมตตา ตอนที่ 04
- เมตตา ตอนที่ 05
- เมตตา ตอนที่ 06
- เมตตา ตอนที่ 07
- เมตตา ตอนที่ 08
- เมตตา ตอนที่ 09
- เมตตา ตอนที่ 10
- เมตตา ตอนที่ 11
- เมตตา ตอนที่ 12
- เมตตา ตอนที่ 13
- เมตตา ตอนที่ 14
- เมตตา ตอนที่ 15
- เมตตา ตอนที่ 16
- เมตตา ตอนที่ 17
- เมตตา ตอนที่ 18
- เมตตา ตอนที่ 19
- เมตตา ตอนที่ 20
- กรรม ตอนที่ 01
- กรรม ตอนที่ 02
- กรรม ตอนที่ 03
- กรรม ตอนที่ 04
- กรรม ตอนที่ 05
- กรรม ตอนที่ 06
- กรรม ตอนที่ 07
- กรรม ตอนที่ 08
- กรรม ตอนที่ 09
- กรรม ตอนที่ 10
- กรรม ตอนที่ 11
- กรรม ตอนที่ 12
- กรรม ตอนที่ 13
- กรรม ตอนที่ 14
- กรรม ตอนที่ 15
- กรรม ตอนที่ 16
- กรรม ตอนที่ 17
- กรรม ตอนที่ 18
- กรรม ตอนที่ 19
- กรรม ตอนที่ 20