เมตตา ตอนที่ 13
สำหรับพรหมวิหารทั้ง ๔ เป็นธรรมที่เกื้อหนุนกรรมดีทั้งหลาย เป็นคุณธรรมที่เกื้อกูลในธรรมที่ดีทุกอย่างให้บริบูรณ์ เพราะแม้ในการให้ทาน ก็ย่อมไม่แบ่งแยกการให้เฉพาะบางพวก ถ้าไม่เป็นผู้ที่ประกอบด้วยพรหมวิหาร การให้ก็อาจจะแบ่งแยก ให้เฉพาะกับบางพวกเท่านั้น นอกจากนั้นยังเป็นธรรมที่ยังศีลให้บริบูรณ์ด้วยเมตตา และเมตตานั้นเองจะเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดพรหมวิหารอื่น คือ กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เวลาที่มีเหตุปัจจัย ปทัฏฐานที่จะทำให้เกิดสภาพธรรมนั้นๆ
สำหรับข้อความในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ควรที่จะอบรมเจริญพรหมวิหารทั้ง ๔ ไม่จำเป็นต้องเจริญแต่เฉพาะเมตตาอย่างเดียวไปมากๆ ก่อน จึงจะเจริญกรุณา มุทิตา และอุเบกขาในภายหลัง
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อาฆาตวรรคที่ ๒ อาฆาตวินยสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๖๑ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาตซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงถึงการไม่นึก ไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตนให้มั่นในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นทายาท (ผู้รับผล) ของกรรมนั้น ดังนี้ ๑ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นด้วยประการฉะนี้ ฯ
จบ สูตรที่ ๑
ทุกคนมีผู้ซึ่งท่านโกรธ หรือว่าขุ่นเคืองมากหรือน้อยก็แล้วแต่ ผูกโกรธไว้นาน หรือว่าจะหายไปก็แล้วแต่ แต่ให้ทราบว่า เวลาใดที่ความอาฆาต หรือความพยาบาท หรือโทสะ หรือจิตที่หยาบกระด้างเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นอกุศล ซึ่งมีทางที่จะระงับได้ด้วยการเจริญพรหมวิหาร ๔ ซึ่งข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสนี้ไม่ยากเลย ใช่ไหม ที่ว่า ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑
นี่คือประการที่ ๑ ไม่ยากเลยที่จะพูด แต่ที่จะทำจริงๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วแต่ว่าท่านสะสมเหตุปัจจัยมาที่จะปฏิบัติตามได้โดยง่าย หรือว่าท่านยังจะต้องอบรมเจริญอีกมากที่จะปฏิบัติตามได้ ซึ่งข้อความใน วิสุทธิมรรค สมาธินิทเทส พรหมวิหารนิเทส เรื่องการเจริญเมตตา ก็เป็นข้อความที่ขยายจากพระสูตรนี้ที่ว่า เวลาที่มี ความอาฆาต หรือความโกรธ เกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น
ความละเอียดมีปรากฏในพระไตรปิฎกหลายสูตร ท่านผู้ฟังคงจะไม่ลืมข้อความใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อาฆาตวินยสูตรที่ ๒ ซึ่งท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับภิกษุทั้งหลายถึงการพิจารณาบุคคลเวลาที่ความโกรธเกิดขึ้นว่า พิจารณาอย่างไรจึงจะระงับความโกรธ หรือความอาฆาตในบุคคลนั้นได้ เพราะทุกบุคคลย่อมมีกาย วาจา ใจ
บางท่านกายดี วาจาไม่ดี ใจไม่ดี บางท่านกายไม่ดี วาจาดี ใจไม่ดี บางท่านกาย วาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ว่าเป็นผู้ที่ได้ทางสงบใจ ยังมีการฟังธรรม ยังมีการสนใจศึกษาธรรม รู้ว่าธรรมใดเป็นธรรมที่ถูก ธรรมใดจะขัดเกลากิเลสได้ ธรรมใดที่จะอบรมเจริญ แต่เมื่อยังไม่ได้อบรมเจริญ กายส่วนที่ไม่บริสุทธิ์ คือ ที่ไม่ดี ก็ย่อมมีปรากฏ วาจาส่วนที่ไม่บริสุทธิ์ ที่ไม่ดี ก็ย่อมมีปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่จะนึกถึงบุคคลนั้นและไม่โกรธ ระงับความอาฆาต โดยมีความเมตตาในบุคคลนั้นได้ เมื่อนึกถึงเฉพาะส่วนที่ดี ในขณะที่ส่วนที่ดีปรากฏ ไม่จำเป็นต้องไปนึกถึงส่วนที่ไม่ดีของคนอื่น ในเมื่อนึกแล้วจิตใจเศร้าหมอง แต่ในคนนั้นเองต้องมีสิ่งที่ดี คือ บางคนกิริยามารยาทนุ่มนวล วาจาก็ดี แต่ว่าใจยังไม่เป็นไปตามกายและวาจา
เพราะฉะนั้น เมื่อรู้อย่างนี้ ก็พิจารณาในส่วนที่ดี คือ กายที่บริสุทธิ์ หรือวาจาที่บริสุทธิ์ และก็เกิดเมตตาได้ หรือบางท่านอาจจะเกิดความกรุณา สงสาร เกื้อกูลบุคคลที่กำลังมีความทุกข์ เพราะนึกถึงส่วนที่ดีของเขา คือ กายที่ดี หรือวาจาที่ดี หรือแม้ว่ากาย วาจาไม่ดี แต่ก็ยังเป็นผู้ที่ยังได้ทางสงบใจ เป็นผู้ที่ควรจะอนุเคราะห์ ควรที่จะเกื้อกูล ยิ่งถ้าท่านสามารถจะมีมุทิตากับบุคคลนั้นได้ ย่อมแสดงว่า การอบรมพรหมวิหารของท่านเจริญขึ้น
เพียงไม่โกรธ อาจจะได้ แต่ว่าเมื่อไม่โกรธแล้ว จะกรุณาถึงกับจะช่วยบุคคลนั้นไหม ถ้าเขาประสบความทุกข์ ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญเมตตา มีความเห็นว่า โทสะเป็นอกุศลที่ไม่ควรจะให้เกิดขึ้น ก็อาจจะมีการพิจารณากาย วาจา ส่วนที่ดีของบุคคลนั้นจึงไม่โกรธ ในขณะนั้นละความโกรธได้ เป็นเมตตา มีความรู้สึกเป็นเพื่อนเกิดขึ้น แต่ว่าจะถึงกับกรุณาไหม ถ้าบุคคลนั้นตกทุกข์ได้ยาก หรือประสบความลำบาก หรือจะถึงกับมุทิตา พลอยยินดีไปด้วยไหม ถ้าบุคคลที่ท่านขุ่นเคืองใจได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข ถ้าจิตใจของท่านสามารถจะบันเทิง ยินดีด้วย ประกอบด้วยมุทิตาจิต ในขณะนั้นแสดงว่า พรหมวิหารของท่านเจริญขึ้น
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เมตตาสูตรที่ ๑ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว ซึ่งแสดงถึงผลของการอบรมเจริญพรหมวิหาร ๔ ว่า
การอบรมฌานที่ประกอบด้วยเมตตา เมื่อไม่เสื่อมจะเป็นปัจจัยให้เกิดใน พรหมกายิกา มีอายุถึง ๑ กัป
ฌานที่ประกอบด้วยกรุณา เมื่อไม่เสื่อมจะทำให้เกิดในพรหมชั้นอาภัสสรา มีอายุถึง ๒ กัป
ถ้าเป็นการอบรมเจริญฌานที่ประกอบด้วยมุทิตา เมื่อไม่เสื่อมจะเป็นผลให้เกิดในพรหมชั้นสุภกิณหะ มีอายุถึง ๔ กัป
และถ้าเป็นการเจริญฌานที่ประกอบด้วยอุเบกขา เมื่อไม่เสื่อมจะทำให้เกิดในพรหมชั้นเวหัปผลา มีอายุถึง ๕๐๐ กัป
ซึ่งท่านผู้ฟังควรจะได้ทราบว่า พรหมโลกซึ่งเป็นที่อยู่ของพรหมมีทั้งหมด ๑๖ ชั้น ได้แก่ พรหมที่เป็นปฐมฌานภูมิ เป็นผลของปฐมฌานกุศล
ความสงบที่เกิดจากการอบรมเจริญความสงบ สมาธิที่ประกอบด้วยความสงบจะมั่นคงขึ้นจนถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ เป็นปฐมฌานกุศลจิต แต่ผู้นั้นต้องอบรมเจริญให้ปฐมฌานกุศลจิตเกิดจนคล่องแคล่ว และเวลาที่ใกล้จะจุติฌานจิตก็ไม่เสื่อม สามารถที่จะเกิดก่อนจุติจิตได้ จึงจะเป็นผลให้ปฏิสนธิในพรหมโลกที่เป็นปฐมฌานภูมิ ๓ ภูมิ คือ ปาริสัชชาภูมิ ๑ ปุโรหิตาภูมิ ๑ มหาพรหมาภูมิ ๑ ตามกำลังของฌาน คือ กำลังที่อ่อน กำลังที่ปานกลาง และกำลังที่กล้า คือ ประณีต
ซึ่งข้อความใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เมตตาสูตรที่ ๑ แสดงผลของฌานที่ประกอบด้วยเมตตาที่ไม่เสื่อม จะทำให้เกิดเป็นพรหมกายิกาในชั้นปฐมฌานภูมิ
สำหรับทุติยฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ คือ ปริตตาภาภูมิ ๑ อัปปมาณาภาภูมิ ๑ อาภัสสราภูมิ ๑ ซึ่งข้อความใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เมตตาสูตรที่ ๑ แสดงว่า ฌานที่ประกอบด้วยกรุณา เมื่อไม่เสื่อมจะเป็นปัจจัยให้เกิดในอาภัสสราภูมิ คือ ทุติยฌานภูมิ
สำหรับตติยฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ คือ ปริตตสุภาภูมิ ๑ อัปปมาณสุภาภูมิ ๑ สุภกิณหาภูมิ ๑ ซึ่งข้อความใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เมตตาสูตรที่ ๑ แสดงว่า ฌานที่ประกอบด้วยมุทิตาและไม่เสื่อม จะทำให้เกิดในสุภกิณหาภูมิ มีอายุ ๔ กัป
และสำหรับจตุตถฌานภูมิ มีถึง ๗ ภูมิ คือ เวหัปผลาภูมิ ๑ อสัญญสัตตาภูมิ ๑ ทั้ง ๒ ภูมินี้สำหรับผู้ที่ได้ฌานถึงขั้นจตุตถฌานโดยจตุกกนัย หรือปัญจมฌานโดยปัญจกนัย ซึ่งเป็นฌานขั้นสูงที่สุด ที่ไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล
เวหัปผลาภูมิ เป็นภูมิของพรหมที่มีทั้งนามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้นในภูมินั้น ส่วนอสัญญสัตตาภูมิ เป็นภูมิที่ไม่ใช่สำหรับพระอริยบุคคล แต่สำหรับผู้ที่มีความเห็นว่า ถ้ายังมีนามธรรมอยู่ตราบใด ก็ยังไม่พ้นจากการที่จะต้องเป็นสุข เป็นทุกข์ โดยการเห็น โดยการได้ยิน โดยการคิดนึก ถ้ามีแต่เพียงรูปธรรมปฏิสนธิเท่านั้น ย่อมไม่เดือดร้อน เพราะฉะนั้น ท่านที่ได้ถึงจตุตถฌานโดยจตุกกนัย หรือปัญจมฌานโดยปัญจกนัย ก็มีสัญญาวิราคะในนามธรรม มีความหน่ายในการที่จะต้องเห็น ในการที่จะต้องรู้อารมณ์ต่างๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่ฌานไม่เสื่อม และจตุตถฌานกุศลจิตโดยจตุกกนัย หรือปัญจมฌานกุศลจิตโดยปัญจกนัยเกิดก่อนจุติจิต ก็จะทำให้ผู้นั้นปฏิสนธิในอสัญญสัตตาภูมิ เป็นรูปปฏิสนธิเท่านั้น ไม่มีนามธรรม จนกว่าจะสิ้นอายุ คือ ๕๐๐ กัป จึงจะจุติจากอสัญญสัตตาพรหมภูมิ และก็มีกรรมอื่นที่ทำให้ปฏิสนธิในภูมิอื่นต่อไป
สำหรับอีก ๕ ภูมิ คือ สุทธาวาสภูมิ ๕ ได้แก่ อวิหาภูมิ ๑ อตัปปาภูมิ ๑ สุทัสสาภูมิ ๑ สุทัสสีภูมิ ๑ และอกนิฏฐาภูมิ ๑ เป็นภูมิเฉพาะของพระอนาคามีบุคคลที่ได้จตุตถฌานโดยจตุกกนัย หรือปัญจมฌานโดยปัญจกนัย เพราะฉะนั้น ก็เป็นภูมิที่บริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ทั้งการดับกิเลสจนกระทั่งถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล และบริสุทธิ์จากจิตที่ประกอบด้วยนิวรณ์จนกระทั่งถึงฌานจิตขั้นสูงสุด
ผู้ที่เจริญฌานที่ประกอบด้วยอุเบกขาพรหมวิหาร และฌานไม่เสื่อม เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในเวหัปผลาภูมิ ซึ่งเป็นภูมิของจตุตถฌานกุศลโดยจตุกกนัย มีอายุถึง ๕๐๐ กัป
และถ้าศึกษาโดยละเอียดจะทราบว่า สำหรับเมตตาพรหมวิหาร กรุณาพรหมวิหาร และมุทิตาพรหมวิหารนั้น สามารถที่จะให้บรรลุถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน และตติยฌาน ฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ โดยจตุกกนัย
เพราะฉะนั้น การแสดงไว้ใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เมตตาสูตรที่ ๑ ถึงฌานที่ประกอบด้วยเมตตาและไม่เสื่อม จะเกิดในชั้นมหาพรหมาภูมิ ซึ่งเป็นผลของปฐมฌานก็ดี หรือว่าฌานที่ประกอบด้วยกรุณาและไม่เสื่อม ทำให้เกิดในพรหมโลก ซึ่งเป็นผลของทุติยฌานภูมิ คือ อาภัสสราภูมิก็ดี หรือว่าฌานที่ประกอบด้วยมุทิตา และไม่เสื่อม เป็นผลทำให้เกิดในสุภกิณหา ซึ่งเป็นภูมิของตติยฌานภูมิก็ดี เป็นการแสดงตามขั้นของเมตตา กรุณา มุทิตาว่า ไม่สามารถที่จะถึงปัญจมฌานได้
สำหรับพรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา เจริญได้ตั้งแต่อุปจารสมาธิถึงอัปปนาสมาธิที่เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน และตติยฌาน โดยจตุกกนัย หรือ จตุตถฌาน โดยปัญจกนัย แต่สำหรับอุเบกขาพรหมวิหาร ไม่สามารถที่จะเจริญตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน ต่อเมื่อใดเจริญเมตตาพรหมวิหาร หรือกรุณาพรหมวิหาร หรือมุทิตาพรหมวิหาร จนกระทั่งถึงตติยฌานแล้ว จึงจะเจริญอุเบกขาต่อได้จนถึงจตุตถฌาน
เพราะฉะนั้น อุเบกขาพรหมวิหารไม่มีในปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และสำหรับเมตตา กรุณา มุทิตา ไม่มีในปัญจมฌาน หรือจตุตถฌาน โดยจตุกกนัย
ผู้ฟัง ในพรหมโลกชั้นมหาพรหมา ในพระอภิธรรมกล่าวไว้ว่า ผู้หญิงจะเกิดในภูมินี้ไม่ได้ แต่ถ้าจะเกิดในภูมิที่สูงกว่า เช่น อาภัสสราภูมิ จะได้ไหม
ท่านอาจารย์ ในพรหมโลกไม่มีเพศ ไม่มีปุริสภาวะหรืออิตถีภาวะเกิดในพรหมโลก แต่ว่ารูปร่างเป็นบุรุษ เป็นชาย
ผู้ฟัง อาจารย์กล่าวว่า ภิกษุผู้ได้จิตสงบแล้ว จะไม่ฉันบิณฑบาตของชาว แว่นแคว้นเปล่า คำว่า ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า กับฉันโดยความเป็นเจ้าของ มีความต่างกันไหม โดยความเป็นเจ้าของหมายถึงพระอรหันต์ ท่านฉันโดยความเป็นเจ้าของ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านก็ยังบอกว่า ท่านเป็นหนี้ก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้น ๗ วัน
ท่านอาจารย์ ใช่ ในความรู้สึกของท่านพระมหากัสสปะ ซึ่งความรู้สึกของแต่ละท่าน ละเอียดประณีตต่างกันตามคุณธรรม สำหรับชาวบ้าน เวลาที่ท่านมีอกุศลจิตเกิดขึ้น เช่น ความยินดีพอใจในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง ในกลิ่นบ้าง ในรสบ้าง ในโผฏฐัพพะบ้าง ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับชีวิตของคฤหัสถ์ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ ความชั่ว หรือว่าอกุศลแม้เพียงเท่าปลายเส้นผม ก็ปรากฏเสมือนเมฆฝนก้อนใหญ่ที่ปรากฏในท้องฟ้า ท้องฟ้านี้ใสกระจ่างเป็นปกติ แต่เวลาที่มีความชั่วแม้เพียงเท่าปลายเส้นผม สำหรับผู้ที่มีความละอายและมีหิริโอตตัปปะจะเห็นว่า ความชั่วเล็กน้อยนั้นปรากฏเหมือนกับเมฆฝนก้อนใหญ่ที่ปรากฏในท้องฟ้า เห็นชัดเจน แต่เวลานี้คฤหัสถ์คนไหนเห็นอย่างนั้นบ้าง
โลภมูลจิตที่เป็นไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้ายังไม่ถึงอกุศลกรรม ก็ไม่รู้สึกว่าน่ารังเกียจ เพราะฉะนั้น ในความรู้สึก ความประณีตของจิตใจของแต่ละบุคคล จะเห็นได้ว่า ทำให้ท่านกล่าววาจาต่างๆ กัน ที่จะเปรียบเทียบให้ถึงความละเอียด ความประณีตของจิตใจของท่าน
สำหรับปุถุชน ยากที่จะเห็นความน่ารังเกียจของอกุศล และสำหรับผู้ที่เป็น พระโสดาบัน และได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ท่านย้อนระลึกถึงขณะก่อนที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ท่านก็กล่าวว่า ท่านเป็นหนี้ก้อนข้าวอยู่ ๗ วัน ในความรู้สึกของท่านซึ่งรู้สึกอย่างนั้น ตราบใดที่ท่านยังไม่เป็นพระอรหันต์
ผู้ฟัง ขณะที่ท่านบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว จิตของท่านไม่สงบอย่างนั้นหรือ
ท่านอาจารย์ พระโสดาบันยังมีโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต แล้วแต่ว่าใครจะมีความละเอียด ประณีต ที่จะเห็นลักษณะของโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิตว่า เป็นสิ่งที่ชั่ว สิ่งที่น่ารังเกียจ เปรียบเหมือนเมฆฝน
ผู้ฟัง แต่กุศลจิตของพระโสดาบัน ทั้งวันจะไม่เกิดขึ้นชั่วขณะลัดนิ้วมือเดียว เชียวหรือ
ท่านอาจารย์ เกิด แต่ในความรู้สึกของผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว เห็นความต่างกันของพระโสดาบันกับพระอรหันต์
ผู้ฟัง ความหมายของคำว่า ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า หมายความว่า ผู้ที่ใส่บาตรจะต้องได้อานิสงส์จากความสงบของท่านอย่างนั้นหรือ
ท่านอาจารย์ ท่านเป็นผู้ที่บวช และมีชีวิตอยู่ด้วยก้อนข้าวของบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้กิจหน้าที่ของตนว่า ท่านควรจะมีความประพฤติปฏิบัติอย่างไรเมื่ออาศัยก้อนข้าวของบุคคลอื่น ท่านก็รู้ว่า ถ้าท่านไม่ได้อบรมเจริญสมณธรรม ก็เป็นการฉันก้อนข้าวของบุคคลอื่นโดยเปล่าประโยชน์ นั่นเป็นความรู้สึกของท่าน แต่ถ้าท่านจะไม่มีความรู้สึกอย่างนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผู้ที่มีความรู้สึกว่า บวชเพื่ออะไร ถ้าเพื่อที่จะอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ เพื่อที่จะขัดเกลากิเลส แต่ไม่ได้ปฏิบัติหนทางอย่างนั้น ในความรู้สึกของท่านผู้นั้นก็ย่อมรู้สึกว่า เป็นการฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า
ผู้ให้ย่อมได้รับอานิสงส์ แต่ผู้ฉัน ฉันอย่างไร ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า เป็นเรื่องของผู้ฉัน แต่ว่าผู้ให้ก็ได้อานิสงส์ของการให้ จะไปคาดคั้นเคี่ยวเข็ญให้ท่านฉันอย่างอื่น เพื่อที่จะได้อานิสงส์มากหรือ
ผู้ฟัง ที่เรียกว่า ฉันเปล่า หมายถึงผู้ฉันอย่างนั้นหรือ ไม่ใช่หมายถึงผู้ให้
ท่านอาจารย์ ผู้ฉัน
ผู้ฟัง ผมคิดว่า หมายถึงผู้ให้ ผู้ให้คงจะไม่ได้อานิสงส์จากความสงบ ผู้ฉัน ฉันแล้วไม่ได้กุศลอย่างนั้นหรือ
ท่านอาจารย์ เรื่องของใครก็เรื่องของคนนั้น ผู้ให้ก็เป็นกุศลในการให้ แต่ผู้ที่รับบิณฑบาตแล้ว จะฉันโดยที่ไม่ได้ฉันเปล่า ก็คือ เจริญกุศล เจริญสมณธรรม เพราะว่าเป็นผู้ฉันก้อนข้าวของบุคคลอื่นที่ให้ด้วยศรัทธา เพราะฉะนั้น ไม่ฉันก้อนข้าวของบุคคลอื่น ถ้าไม่ได้เจริญกุศล ก็รับประทานอาหารของตนเอง และเป็นผู้ที่เจริญกุศล ขัดเกลากิเลส จะได้ไม่ใช่ผู้ที่ฉันก้อนข้าวของคนอื่นเปล่า
ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เมตตาภาวสูตร ข้อ ๒๐๕ มีข้อความที่ พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญผู้ที่มีจิตประกอบด้วยเมตตา ผู้ที่เป็นสาวก คือ ผู้ที่ฟัง และประพฤติปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอย่างไร ก็ค่อยๆ ประพฤติอบรมเจริญไปทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดก็จะสามารถประพฤติตามได้ยิ่งขึ้น
ข้อความใน เมตตาภาวสูตร มีว่า
จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งมีอุปธิกิเลสเป็นเหตุ บุญกิริยาวัตถุทั้งหมดนั้น ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งเมตตาเจโตวิมุตติ เมตตาเจโตวิมุตตินั้นแล ครอบงำบุญกิริยาวัตถุเหล่านั้น สว่างไสวไพโรจน์ เปรียบเหมือนรัศมีแห่งดาวชนิดใดชนิดหนึ่ง รัศมีดาวทั้งหมดนั้นย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งรัศมีพระจันทร์ รัศมีพระจันทร์นั่นแล ครอบงำรัศมีดาวเหล่านั้น สว่างไสวไพโรจน์ ฉะนั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนในเมื่ออากาศโปร่ง ปราศจากเมฆในสารทสมัย ในเดือนท้ายแห่งฤดูฝน พระอาทิตย์ลอยขึ้นไปสู่ท้องฟ้า กำจัดอากาศอันมืดทั้งปวง สว่างไสวไพโรจน์ ฉะนั้น อนึ่ง เปรียบเหมือนดาวประกายพฤกษ์ในปัจจุสสมัย แห่งราตรี สว่างไสวไพโรจน์ ฉะนั้น ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้ใดมีสติ เจริญเมตตาไม่มีประมาณ สังโยชน์ทั้งหลายของผู้นั้นผู้พิจารณาเห็นซึ่งธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิ ย่อมเป็นธรรมชาติเบาบาง ถ้าว่าผู้นั้นมีจิตไม่ประทุษร้ายซึ่งสัตว์มีชีวิตแม้ชนิดหนึ่ง เจริญเมตตาอยู่ไซร้ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีกุศลเพราะการเจริญเมตตานั้น อันพระอริยบุคคลมีใจอนุเคราะห์ซึ่งสัตว์มีชีวิตทุกหมู่เหล่า ย่อมกระทำบุญเป็นอันมาก พระราชฤๅษีทั้งหลายทรงชนะซึ่งแผ่นดินอันเกลื่อนกล่นด้วยหมู่สัตว์ ทรงบูชาอยู่ซึ่งบุญเหล่าใด (คือ อัสสเมธะ ปุริสเมธะ สัมมาปาสะ วาชเปยยะ นิรัคคพะ) เสด็จเที่ยวไป บุญเหล่านั้นย่อมไม่ถึงแม้เสี้ยวที่ ๑๖ แห่งเมตตาจิต อันบุคคลเจริญดีแล้ว (เหมือนหมู่ดาวทั้งหมดย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งรัศมีพระจันทร์ ฉะนั้น) ผู้ใดมีส่วนแห่งจิตประกอบด้วยเมตตาในสัตว์ทุกหมู่เหล่า ย่อมไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ชนะเอง ไม่ใช้ผู้อื่นให้ชนะ เวรของผู้นั้นย่อมไม่มีเพราะเหตุอะไรๆ เลย
เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วฉะนี้แล ฯ
จบ สูตรที่ ๗
จบ ตติยวรรคที่ ๓
อย่าลืมว่า บุญกิริยาวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งมีอุปธิกิเลสเป็นเหตุ บุญกิริยาวัตถุทั้งหมดย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งเมตตาเจโตวิมุตติ เมตตาเจโตวิมุตตินั้นแล ครอบงำบุญกิริยาวัตถุเหล่านั้น และอย่าคิดว่า เมตตาของท่านไม่มีใครเห็น เห็นชัดเหมือนกับเวลาที่เห็นพระจันทร์ สว่างชัดเจนยิ่งกว่าดาวทั้งหลาย กุศลที่เป็นบุญกิริยาทั้งหมด ถ้าจะเปรียบก็เหมือนดาว ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งรัศมีของพระจันทร์ เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตประกอบด้วยเมตตา มีการกระทำด้วยกายที่ประกอบด้วยเมตตา มีวาจาที่ประกอบด้วยเมตตา ไม่ใช่ว่าจะไม่มีใครเห็นเมตตาจิตของท่านในขณะนั้น เพราะว่าเมตตาในขณะนั้น ย่อมสว่างไสวไพโรจน์ เปรียบเหมือนดาวประกายพฤกษ์ หรือว่าเปรียบเหมือน พระอาทิตย์ลอยขึ้นไปสู่ท้องฟ้า กำจัดอากาศอันมืดทั้งปวง
และข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ใดมีสติ เจริญเมตตาไม่มีประมาณ แสดงว่า ถ้าขาดสติ ที่จะให้เมตตาเจริญขึ้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จะเป็นไปได้ก็แต่เฉพาะอุปนิสัยที่สะสมมาที่จะเกิดเมตตาขึ้น แต่ไม่ได้อบรมเจริญให้ยิ่งขึ้น ถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะของจิตที่ประกอบด้วยเมตตากับจิตที่ไม่ประกอบด้วยเมตตา
ท่านอาจารย์ การที่จะบอกว่าโทสะมีโทษมาก ไม่เป็นการยากที่จะพรรณนาโทษของโทสะ หรือว่าโทษของอกุศลทั้งหลาย แต่การที่จะเห็นโทษของโทสะในขณะที่โทสะกำลังเกิด ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เพราะว่าสติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง โดยเฉพาะในการอบรมเจริญภาวนาจะขาดสติสัมปชัญญะไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรื่องการอบรมเจริญเมตตาคู่กันไปกับการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน ด้วยข้อความที่ว่า
สังโยชน์ทั้งหลายของผู้นั้น ผู้พิจารณาเห็นซึ่งธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิ ย่อมเป็นธรรมชาติเบาบาง
ไม่ใช่ให้แยกจากชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ทุกท่านอย่าลืมอธิษฐานบารมี ความมีใจมั่นคง หรือว่าความเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นในการที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลส มิฉะนั้นแล้ว เดี๋ยวก็เผลอไป ต้องการที่จะให้จิตสงบ ต้องการอานิสงส์ของสมาธิ ต้องการเกิดในพรหมโลก หรือว่าต้องการอย่างอื่น แต่อธิษฐานบารมีไม่ใช่ว่า นั่งตลอดคืน และคอยให้เลือดเนื้อกระดูกแห้งเฉพาะในคืนนั้น โดยที่บารมีทั้งหลายไม่เคยอบรมมาพร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพียงแต่คิดว่า จิตจะมั่นคงเฉพาะตอนที่นั่ง และตั้งใจว่า ถ้าไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมก็จะไม่ลุกขึ้น แต่อธิษฐานบารมีได้อบรมมาแล้วหรือยัง เช่น ในปัจจุบันชาตินี้ มีจิตที่มั่นคงที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งปัญญาที่กำลังรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นเองจะละอกุศล และจะเป็นปัจจัยให้กุศลอื่นๆ เจริญควบคู่กันไปด้วย เช่น เมตตา
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการขัดเกลากิเลสเพื่อที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่ได้หวังเจริญเมตตาพรหมวิหารจนถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ ซึ่งยากที่จะถึง เพราะจะต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เห็นความต่างกันของจิตที่เป็นอกุศลและจิตที่เป็นกุศลในขณะนั้น และมีปัจจัยที่จะให้เมตตาค่อยๆ เจริญขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งนั่นจะไม่ทำให้อธิษฐานบารมี หรือความตั้งใจมั่นหันเหไปทางอื่นที่จะทำให้การะรู้แจ้งอริยสัจธรรมล่าช้าไปอีก เพราะถ้าปราศจากบารมีแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะอกุศลมีมากมาย แต่อกุศลที่มากมายนี้ก็จะค่อยๆ เบาบางเพราะบารมีที่ได้สะสมอบรมขึ้นเป็นปัจจัย จนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
แต่อย่าลืม สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแม้จิตที่ประกอบด้วยเมตตาในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ให้เจริญแต่เมตตาจนกระทั่งเป็นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ โดยที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน
ข้อความใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เมตตากถา มีมาก ตั้งแต่ข้อ ๕๗๔ จนกระทั่งถึงข้อ ๕๘๗ ซึ่ง ข้อ ๕๗๖ ตอนท้ายมีข้อความที่อธิบายความหมายของคำว่า เมตตาเจโตวิมุตติ มีข้อความว่า
จิต ชื่อว่าเมตตา เพราะรัก
รัก ในที่นี้อย่าคิดว่าเป็นโลภะ แต่เป็นไมตรี ในหมายความที่ว่า เป็นมิตร
จิต ชื่อว่าเจโต เพราะคิดถึงธรรมนั้น
ไม่ลืมว่า ลักษณะที่ประกอบด้วยเมตตาเป็นอย่างไร
จิต ชื่อว่าวิมุตติ เพราะพ้นจากพยาบาท และปริยุฏฐานกิเลสทั้งปวง
ในขณะนั้นสงบ
จิตมีเมตตาด้วย เป็นเจโตวิมุตติด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเมตตาเจโตวิมุตติ
ความหมายของเมตตาเจโตวิมุตติ คือ จิตที่สงบจนกระทั่งถึงฌานจิตที่ประกอบด้วยเมตตา แต่ต้องไม่ลืมว่า ต้องคู่กันไปกับการเจริญสติปัฏฐาน จึงจะทำให้สังโยชน์ทั้งหลายของผู้นั้น ผู้พิจารณาเห็นซึ่งธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิ ย่อมเป็นธรรมชาติเบาบาง
- เมตตา ตอนที่ 01
- เมตตา ตอนที่ 02
- เมตตา ตอนที่ 03
- เมตตา ตอนที่ 04
- เมตตา ตอนที่ 05
- เมตตา ตอนที่ 06
- เมตตา ตอนที่ 07
- เมตตา ตอนที่ 08
- เมตตา ตอนที่ 09
- เมตตา ตอนที่ 10
- เมตตา ตอนที่ 11
- เมตตา ตอนที่ 12
- เมตตา ตอนที่ 13
- เมตตา ตอนที่ 14
- เมตตา ตอนที่ 15
- เมตตา ตอนที่ 16
- เมตตา ตอนที่ 17
- เมตตา ตอนที่ 18
- เมตตา ตอนที่ 19
- เมตตา ตอนที่ 20
- กรรม ตอนที่ 01
- กรรม ตอนที่ 02
- กรรม ตอนที่ 03
- กรรม ตอนที่ 04
- กรรม ตอนที่ 05
- กรรม ตอนที่ 06
- กรรม ตอนที่ 07
- กรรม ตอนที่ 08
- กรรม ตอนที่ 09
- กรรม ตอนที่ 10
- กรรม ตอนที่ 11
- กรรม ตอนที่ 12
- กรรม ตอนที่ 13
- กรรม ตอนที่ 14
- กรรม ตอนที่ 15
- กรรม ตอนที่ 16
- กรรม ตอนที่ 17
- กรรม ตอนที่ 18
- กรรม ตอนที่ 19
- กรรม ตอนที่ 20