เมตตา ตอนที่ 14


    เป็นเรื่องจริง เหมือนกับการเจริญสติปัฏฐาน และเป็นเรื่องที่ควรอบรมเจริญด้วย แต่ไม่ใช่ให้หวังที่จะให้เกิดนิมิต หรือให้ถึงอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เพราะพรหมวิหาร ๔ ไม่มีปฏิภาคนิมิตเช่นกับอารมณ์กัมมัฏฐานอื่นๆ

    ในอารมณ์กัมมัฏฐานทั้งหมด ๔๐ มีปฏิภาคนิมิตเพียง ๒๒ กัมมัฏฐานเท่านั้น สำหรับพรหมวิหาร ๔ ไม่มีนิมิต เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดก็คิดว่า จะไปพยายามให้นิมิตเกิดขึ้นเวลาที่มีเมตตา แต่เวลาที่จิตสงบเพราะพรหมวิหารใด พรหมวิหารหนึ่ง ในขณะนั้นไม่มีนิมิตเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าการอบรมเจริญสมถภาวนาทั้งหมดจะต้องมีนิมิต

    ผู้ฟัง ตามปกติท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ที่จะได้ปฐมฌานจะต้องผ่านนิมิตทั้ง ๓ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพรหมวิหาร หรือกสิณ หรืออสุภะ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีที่กล่าวไว้อย่างนั้น เพราะกัมมัฏฐานที่มีนิมิตมีเพียง ๒๒ กัมมัฏฐาน คือ กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อานาปานสติ ๑ และกายคตาสติ ๑

    ผู้ฟัง ท่านสงเคราะห์ว่า ผู้ที่เจริญเมตตา ผู้ที่ทำสีมสัมเภทะได้แล้ว สีมสัมเภทะนั้นสงเคราะห์เป็นปฏิภาคนิมิต

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ปฏิภาคนิมิต ปฏิภาคนิมิตต้องเป็นความใสของสิ่งที่ปรากฏทางใจ เช่น กสิณต่างๆ หรืออารมณ์ของอสุภะ หรือว่าอานาปานสติ กายคตาสติ

    ผู้ฟัง เขาสงเคราะห์เอา แต่ไม่ใช่ปฏิภาคนิมิตโดยตรง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เป็นนิมิต

    ผู้ฟัง แต่ผู้ที่ทำสีมสัมเภทะได้แล้ว ก็ใกล้ต่อปฐมฌาน

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่มีนิมิต

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์กล่าวถึง อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ถ้าไปมีจิตอาฆาตกับบุคคลใด ก็อย่าไปคิดถึงบุคคลนั้น แบบนี้พูดได้ แต่จะทำอย่างไร ถ้าอาฆาตใคร มักจะคิดถึงคนนั้นทุกที และคิดบ่อยด้วย ตามธรรมชาติเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ แต่คิดให้ถูก คนนั้นมีอะไรที่ดีบ้าง ไม่มีอะไรดีเลยหรือ มองให้ทั่ว ถ้า มีดี ก็คิดถึงส่วนที่ดีของคนนั้น และชื่นชมยินดีด้วยในความดีที่คนนั้นมี ในเรื่องนั้น ในประการนั้น ในวาจาอย่างนั้น ในการกระทำอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ในพระสูตรไม่ได้ว่าอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อย่าไปคิดถึงเขา

    ท่านอาจารย์ แต่ใน อาฆาตวินยสูตร มีข้อความว่า ทุกคนมีกาย วาจา ใจ บางคนกายไม่บริสุทธิ์ วาจาบริสุทธิ์ ใจยังมีทางสงบ ยังเป็นผู้ที่ได้ทางสงบใจ เพราะฉะนั้น ก็คิดถึงส่วนที่ดี ถ้าจะคิด และการอบรมเจริญเมตตาก็จะเจริญขึ้นถ้าไม่โกรธในขณะนั้น และควรพิจารณาจิตต่อไปว่า ถ้าบุคคลนั้นประสบความทุกข์ยากลำบาก สามารถที่จะช่วยบุคคลนั้นได้ไหม ถ้าเมตตาเจริญขึ้น คนที่เคยโกรธ ตกทุกข์ได้ยาก ช่วยได้ ไม่ใช่เพียงไม่โกรธ แต่ไม่ช่วย แต่ไม่โกรธและยังช่วยด้วย หรือว่ายิ่งกว่านั้นอีก เวลาที่บุคคลนั้นได้รับการสรรเสริญ จิตใจยินดีด้วยได้ไหม ไม่โกรธแล้ว ยังสามารถที่จะยินดีด้วยได้ ถ้าไม่โกรธแล้วยินดีด้วยได้ จิตใจในขณะนั้นก็ผ่องใสเบิกบาน ปราศจากความพยาบาทหรือโทสะ นี่เป็นเครื่องวัดว่า เวลาที่เมตตาเจริญขึ้นจะทำให้กรุณาเจริญขึ้น มุทิตาเจริญขึ้น และอุเบกขาเจริญขึ้นด้วย มีความเป็นกลางจริงๆ ในบุคคลทั้งหลาย

    ที่ว่าเป็นกลาง เพราะอะไร

    ถ้าท่านมีบุคคลซึ่งเป็นศัตรู เป็นผู้ที่เขาอาจจะริษยาท่าน หรือโกรธท่าน โดยที่ท่านไม่ได้ริษยาเขา ไม่ได้โกรธเขา แต่ว่าจิตใจที่เป็นกลาง ถึงเขาจะโกรธหรือริษยาท่าน เวลาที่ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกเกิดขึ้น เป็นกลาง ถ้าบุคคลนั้นมีกุศลกรรม ท่านรู้ว่าขณะนั้นเป็นกุศล ไม่ใช่อกุศล ถึงแม้ว่าจะเป็นของบุคคลซึ่งริษยาท่าน หรือโกรธท่าน แต่ขณะนั้นกุศลธรรมเป็นกุศลธรรม นี่คือความเป็นกลาง หรือคนที่ท่านโกรธ เพราะเขาทำให้ท่านโกรธหรือขุ่นเคืองใจ แต่ถ้ามีกุศลธรรมเกิดขึ้นขณะใด จิตใจที่เป็นกลางของท่านก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นกุศลของผู้นั้นเป็นกุศล ถึงแม้ว่าจะเป็นของบุคคลซึ่งเป็นศัตรู หรือว่าเป็นของบุคคลซึ่งผูกพยาบาทอาฆาต ก็ตาม แต่กุศลก็เป็นกุศลนั่นเอง ถึงเป็นกุศลของเขา ก็เป็นกุศล ถึงจะไม่ใช่กุศลของท่าน เป็นกุศลของใครก็ตาม สภาพธรรมที่เป็นกุศลก็เป็นกุศล

    ถ้าคนที่ท่านมีจิตอาฆาตขุ่นเคืองได้รับคำชมเชย ได้รับคำสรรเสริญ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะคนอื่นสรรเสริญเฉพาะกุศลของบุคคลนั้นตามความเป็นจริง คงไม่มีใครสรรเสริญอกุศลเป็นแน่ เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่มีใครสรรเสริญในกุศลของใคร จิตที่เป็นกลางรู้ว่า กุศลเป็นกุศล และก็ชื่นชมยินดีได้ แม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่ชอบท่าน หรือว่าริษยาท่าน หรือว่าขุ่นเคืองท่านก็ตาม แต่ข้อสำคัญท่านไปขุ่นเคืองเขาหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ยิ่งต้องเจริญเมตตาให้มากขึ้น จนกระทั่งไม่โกรธในบุคคลนั้น แม้ว่าเขาจะโกรธท่าน ท่านก็ไม่โกรธเขา และสามารถที่จะมีทั้งกรุณา มุทิตา และอุเบกขา ในคนนั้นได้ด้วยใจจริง และสบายใจ เพราะจิตในขณะนั้นไม่ใช่อกุศล ทำได้ทุกคน ค่อยๆ อบรมเจริญไป ถ้ารู้ลักษณะของกุศลจิตจริงๆ ก็ต้องรู้ว่ากุศลเป็นกุศล ไม่ว่าของใคร

    ส่วนมากท่านผู้ฟังคิดว่า โกรธคนชื่อโน้น ชื่อนี้ ใช่ไหม แต่ความจริงท่านโกรธอกุศล ที่ท่านเรียกว่าอกุศลนั้นว่า ชื่อนั้น ชื่อนี้ ถูกไหม ที่จริงแล้วอกุศลไม่ได้ชื่ออย่างนั้น อกุศลเป็นอกุศล ไม่มีชื่อเฉพาะ แต่เวลาที่ท่านโกรธ ท่านคิดว่าท่านโกรธคนนั้นคนนี้ ความจริงท่านโกรธสภาพที่เป็นอกุศล และท่านเรียกชื่อ ตั้งชื่ออกุศลธรรมนั้นว่า ชื่อต่างๆ เป็นคนนั้นคนนี้ ซึ่งไม่มีประโยชน์ที่จะไปโกรธอกุศลธรรม อกุศลธรรมก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป ควรที่จะเห็นอกุศลของตนเองตามความเป็นจริงว่า เป็นสิ่งซึ่งมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดก็เกิดขึ้นปรากฏ แต่เมื่ออบรมธรรมที่เป็นกุศลมากขึ้น ธรรมที่เป็นกุศลนั่นเองจะขัดเกลาบรรเทาธรรมที่เป็นอกุศลให้น้อยลงได้ และต้องเป็นการอบรมเจริญกุศลที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของกุศล มิฉะนั้นแล้ว ก็จะมีความเข้าใจผิดได้ คิดว่าเป็นกุศล แต่ความจริงไม่ใช่กุศล

    สำหรับการอบรมเจริญกุศล พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เจริญทุกประการ ทั้งกาย วาจา ใจ และทั้งเมตตาด้วย

    ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ กรณียเมตตสูตร ในขุททกปาฐะ ข้อ ๑๐ มีข้อความว่า

    กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ ปรารถนาจะตรัสรู้บทอันสงบ (คือ สันตบท ได้แก่ นิพพาน) แล้วอยู่ พึงบำเพ็ญไตรสิกขา กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญ เป็นผู้ตรง ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง สันโดษ

    ทั้งหมดนี้เป็นคุณธรรมที่ท่านจะพิจารณาตามไปได้ว่า ท่านประกอบด้วยคุณธรรมเหล่านี้พร้อมมากขึ้น หรือว่ายังขาดประการใดบ้าง

    ข้อความต่อไป

    เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์อันสงบระงับ มีปัญญาเครื่องรักษาตน ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย ไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้ พึงแผ่ไมตรีจิตในสัตว์ทั้งหลายว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์มีชีวิตเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ เป็นผู้สะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง ผอมหรือพี และสัตว์เหล่าใดมีกายยาวหรือใหญ่ ปานกลางหรือสั้น ที่เราเห็นแล้วหรือมิได้เห็น อยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้ ที่เกิดแล้วหรือแสวงหาที่เกิด ขอสัตว์ทั้งหมดนั้นจงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์อื่นไม่พึงข่มขู่สัตว์อื่น ไม่พึงดูหมิ่นอะไรเขาในที่ไหนๆ ไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน เพราะความกริ้วโกรธ เพราะความเคียดแค้น

    มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วยการยอมสละชีวิตได้ ฉันใด กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น ก็กุลบุตรนั้นพึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณไปในโลกทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู กุลบุตรผู้เจริญเมตตานั้น ยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วงเหงาเพียงใด ก็พึงตั้งสตินี้ไว้เพียงนั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าววิหารธรรมนี้ว่า เป็นพรหมวิหาร ในธรรมวินัยของพระอริยเจ้านี้

    กุลบุตรผู้เจริญเมตตา ไม่เข้าไปอาศัยทิฏฐิ เป็นผู้มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัศนะ กำจัดความยินดีในกามทั้งหลายออกได้แล้ว ย่อมไม่ถึงความนอนในครรภ์อีกโดยแท้ แล ฯ

    จบ เมตตสูตร

    จบ ขุททกปาฐะ

    ซึ่งข้อความใน กรณียเมตตสูตร นี้ ก็เหมือนกับข้อความใน เมตตสูตรที่ ๘ ข้อ ๓๐๘ ใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต

    ผู้ฟัง ฟังดูแล้วเหมือนกับท่องว่า ให้สัตว์ทั้งหลายอย่าได้มีเวรมีภัยต่อกัน แต่อาจารย์ก็กล่าวว่า ผิด ใช้ไม่ได้ อาจารย์ว่าท่องนี้ไม่เกิดผล ไม่เกิดประโยชน์ แต่ทีนี้เขาเกิดประโยชน์

    ท่านอาจารย์ จะท่องแบบคาถา หรือท่องแบบไหน

    ผู้ฟัง ท่องเหมือนคุณที่เขาเล่าว่า เขาท่อง

    ท่านอาจารย์ ที่ท่องๆ กัน กรณียเมตตสูตร นี้ ท่องอย่างไร ท่องในลักษณะไหน ท่องแบบท่องคาถา หรือว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ผมฟังแล้ว เหมือนท่องคาถา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คาถาที่จะท่อง หรือที่ท่องกันนี้ มีจุดประสงค์อะไรในการท่องคาถา

    ผู้ฟัง ฟังแล้วคล้ายๆ เหมือนกับว่า มีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้สัตว์ทั้งหลายเบียดเบียนกัน ทุกคนอย่าให้มีความอาฆาตกัน

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ขอให้คาถานี้จงบันดาลให้สัตว์ทั้งหลายเป็นสุขอย่างนั้น หรือว่าอย่างไร หรือว่าให้ตัวผู้ที่ท่องนี้มีจิตเมตตาหรืออย่างไร หรือว่าแม้ไม่ท่อง แต่เป็นการระลึกได้ในขณะที่เห็น

    มีข้อความตอนหนึ่งที่ท่านผู้ฟังอาจจะสงสัย ที่ว่า ที่เราเห็นแล้วหรือมิได้เห็น

    นี่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญเมตตา ไม่ใช่เรื่องเพียงท่อง เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่า เมตตาที่จะเจริญก่อนที่จะถึงปฐมฌาน ก่อนที่จะถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธินั้นเจริญอย่างไร เพราะพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุด ตามข้อความที่ว่า กำจัดความยินดีในกามทั้งหลายออกได้แล้ว ย่อมไม่ถึงความนอนในครรภ์อีกโดยแท้ ซึ่งในอรรถกถาอธิบายว่า ได้แก่ บังเกิดในหมู่เทพชั้นสุทธาวาสทั้งหลาย บรรลุพระอรหัตแล้ว ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้นนั่นเอง

    พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งห

    มดตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด เพราะฉะนั้น ท่านเป็นผู้ที่อยู่ระดับไหน ขั้นต้น หรือขั้นที่จะไม่ต้องนอนในครรภ์

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญเมตตา ต้องทราบว่า ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พึงแผ่ไมตรีจิตในสัตว์ทั้งหลายว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีวามสุข มีความเกษม มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์มีชีวิตเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ เป็นผู้สะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง ผอมหรือพี และสัตว์เหล่าใดมีกายยาวหรือใหญ่

    กำลังจะท่องกันตามนี้ใช่ไหม ปานกลางหรือสั้น จะท่องกันตามนี้เลย

    ที่เราเห็นแล้วหรือมิได้เห็น อยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้ ที่เกิดแล้วหรือแสวงหาที่เกิด กำลังจะท่องให้ครบหมดอย่างนั้นหรือคือการอบรมเจริญเมตตา นั่นคือเมตตา หรือท่อง แต่เมตตาจะเกิดเวลาเห็น สำหรับผู้ที่เริ่มจะอบรม หรือว่าเวลานึกถึง เช่น ผอมหรือพี กายยาวหรือใหญ่ ปานกลางหรือสั้น นี่รวมหมด แต่เวลาที่ท่านโกรธ จะโกรธคนผอมหรือคนอ้วน ท่านจะโกรธคนที่มีกายยาวหรือใหญ่ จะโกรธคนที่มีกายปานกลางหรือสั้น ท่านต้องนึกแบบนี้ไหม หรือจะต้องท่องว่า นี่ผอมหรือพี ปานกลางหรือสั้น ยาวหรือใหญ่ในขณะนั้นหรือเปล่า หรือว่าสติเกิด ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร จะเป็นคนอ้วน จะเป็นคนผอม จะเป็นสัตว์หนึ่งสัตว์ใดก็ตามแต่ ในขณะที่กำลังเห็นและจะโกรธ ควรเจริญเมตตา คนที่ท่านโกรธเป็นคนผอมมีไหม เป็นคนอ้วนมีไหม เป็นคนปานกลางมีไหม เป็นคนสูงมีไหม เป็นคนต่ำมีไหม ในขณะนั้นทั้งหมดทีเดียว ไม่ใช่มานั่งท่อง

    ผู้ฟัง ช่วงนี้สำคัญ ที่อาจารย์บอกว่า เวลาจะโกรธคนประเภทไหนก็ตาม ขณะที่โกรธนั้น อาจารย์บอกว่า ให้นึกถึงส่วนที่เป็นความดีของเขา

    ท่านอาจารย์ อะไรก็ตามที่จะทำให้กุศลจิตเกิด แล้วแต่ว่าในขณะนั้นสามารถที่จะระลึกถึงส่วนใดหรือเรื่องใดที่จะทำให้กุศลจิตเกิด ย่อมเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดแทนอกุศล เพราะนึกถึงส่วนที่ดีได้ ถ้านึกถึงอกุศลของคนนั้น จิตใจย่อมโกรธใช่ไหม ถ้าท่านยังไม่ได้อบรมเจริญกุศลพอ แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญกุศลแล้ว จะเกิดเมตตา หรือกรุณา เห็นว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน ความโกรธของท่านจะให้ผลแก่ตัวท่าน ความโกรธของเขา เขาก็ได้รับผลไป ทำไมจะต้องไปโกรธเขาด้วย ในเมื่อเขาก็ได้รับผลของความโกรธของเขาอยู่แล้ว

    ผู้ฟัง อย่าว่าแต่ได้พบ ได้เห็น ได้ฟังก็ยังไม่พอใจ

    ท่านอาจารย์ ต้องเจริญให้มาก แต่อย่าท่อง เพราะถ้าท่อง ท่านก็นึกเป็นคาถาตามลำดับอย่างนี้ กุศลจิตก็ไม่เกิดเพราะคาถาที่ท่อง และเวลาเห็นคนที่จะโกรธ ก็โกรธ

    ผู้ฟัง ผมเคยช่วยเหลือเพื่อนรุ่นน้องที่อ่อนกว่าผมราว ๒๐ ปี เขาเริ่มตั้งตัวใหม่ แล้วถูกขโมยสินค้าไปมากมาย ผมรู้สึกสงสารและเห็นใจเขา โดยที่เขาไม่ได้ขอร้องให้ช่วยอะไร แต่ก็พูดเป็นนัยๆ ว่า ไม่มีเงินจะซื้อเครื่องมือหากินต่างๆ ผมก็ช่วยเงินไปไม่กี่พันบาทเท่าที่จะช่วยได้ แล้วก็ช่วยเขาซื้อของมาทำลูกกรงเหล็กต่างๆ บอกเขาว่า มีเงินแล้วค่อยจ่ายคืนทีหลัง เมื่อไรก็ได้ และผมยังแนะนำเพื่อนฝูงที่พอจะช่วยเหลือเขาได้ในเรื่องกิจการค้า ต่อมานานๆ เข้า ก็เงียบหายไป ไม่ได้จ่ายคืน และยังซื้อรถใหม่มาขับสบายๆ ที่เคยเมตตาก็หายไป เหมือนกับจะเป็นความโกรธขึ้นมาแทน ทำนองนี้

    ท่านอาจารย์ เขามีกรรมของเขาเองหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ตัวผมเองมากกว่า

    ท่านอาจารย์ ทำไมไม่คิดว่า เป็นกรรมของเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม เมื่อเขามีกรรมเป็นของเขา เราเองก็มีกรรมเป็นของเรา ถ้าอกุศลจิตเกิดขึ้น ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้ได้รับผลของอกุศล

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีหลักธรรมมาคิดว่า เป็นกรรมของเรา คงยุ่ง คงจะเข็ดจนตาย

    ท่านอาจารย์ ควรจะคิดอย่างไร ข้อความใน ขุททกนิกาย ชาดก อนนุโสจิยชาดก ข้อ ๖๑๐ – ข้อ ๖๑๓ มีข้อความว่า

    นางสัมมิลลหาสินีผู้เจริญได้ไปอยู่ในระหว่างพวกสัตว์ที่ตายไปแล้วเป็นจำนวนมาก เมื่อนางไปอยู่กับสัตว์เหล่านั้น จักชื่อว่าได้เป็นอะไรกับเรา เพราะฉะนั้น เราจึงมิได้เศร้าโศกถึงนางสัมมิลลหาสินีที่รักนี้

    อีกไม่นานก็อยู่คนละโลกกับเขาแล้ว ไม่ทราบว่าจะช้าหรือเร็ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรจะไปผูกโกรธเอาไว้เลย ที่จะไปคิดถึงทั้งที่เป็นที่รักหรือที่ชัง เพราะว่าคนที่ตายไปแล้วได้ไปอยู่ในระหว่างพวกสัตว์ที่ตายไปแล้วเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน ก็ไปเป็นบุคคลใหม่กับพวกใหม่ ไม่ใช่พวกเก่าด้วยกันแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านผู้นี้กล่าวว่า เมื่อนางไปอยู่กับสัตว์เหล่านั้น จักชื่อว่าได้เป็นอะไรกับเรา ไม่ได้เป็นอะไรกันอีกต่อไปแล้ว เราจึงมิได้เศร้าโศกถึงนางสัมมิลลหาสินีที่รักนี้ ไม่มีประโยชน์เลยที่จะผูกพันไว้ หรือว่าที่จะเศร้าโศก

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ถ้าบุคคลจะพึงเศร้าโศกถึงความตายอันจะไม่เกิดมีแก่สัตว์ ผู้เศร้าโศกนั้น ก็ควรจะเศร้าโศกถึงตน ซึ่งจะต้องตกไปสู่อำนาจของมัจจุราชทุกเมื่อ

    สัตว์ที่ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่ อายุสังขารหาได้เป็นไปตามด้วยไม่ วัยย่อมเสื่อมไปทุกขณะที่หลับตาและลืมตา

    เพราะวัยเสื่อมไปอย่างนั้นหนอ อัตภาพย่อมบกพร่อง หนทางที่คนเดินเมื่อต้องมีความพลัดพรากจากกันโดยไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังเหลืออยู่ ควรมีเมตตาเอ็นดูกัน ส่วนที่ตายไปแล้ว ไม่ควรจะต้องเศร้าโศกถึง

    จบ อนนุโสจิยชาดกที่ ๘

    สัตว์ที่ยังเหลืออยู่ในโลกนี้ ที่ยังเห็นๆ กันอยู่ ยังเหลืออยู่ในโลกนี้ด้วยกัน ยังไม่ได้ไปที่อื่น เพราะฉะนั้น ควรที่จะเมตตาเอ็นดูกัน ชั่วระหว่างที่ยังเหลืออยู่ด้วยกันในโลกนี้ เพราะคนที่ตายไปแล้วก็จากไปๆ อยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ส่วนที่ยังเหลืออยู่ด้วยกัน ก็ควรจะเอ็นดูกัน

    สำหรับข้อความที่ว่า สัตว์ที่ยืน ใครก็ตามที่เห็น ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่ ในขณะนี้ อายุสังขารหาได้เป็นไปตามด้วยไม่ เพราะยังเห็นเหมือนคนยืนอยู่ ยังเห็นเหมือนยังเดินอยู่ นั่งอยู่ หรือนอนอยู่ แต่ตามความเป็นจริง อายุสังขารหาได้เป็นตามด้วยไม่ เพราะสภาพธรรมที่จะนั่งอยู่ นอนอยู่ ยืนอยู่ เดินอยู่ ไม่มี เกิดขึ้นและดับไปทุกขณะอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เห็นว่า ยังนั่งอยู่ หรือว่ายังนอนอยู่ หรือว่ายืนอยู่ หรือว่ายังเดินอยู่ แท้ที่จริงแล้ว ทุกขณะเกิดและดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น วัยย่อมเสื่อมไปทุกขณะที่หลับตาและลืมตา

    ดูเหมือนว่าจะเร็ว ชั่วขณะที่หลับตาและลืมตา แต่ยังช้ากว่าความเกิดดับของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ทั้งนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดดับอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อต้องมีความพลัดพรากจากกันโดยไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ทั้งหลายที่ยังเหลืออยู่ ควรมีเมตตาเอ็นดูกัน ส่วนที่ตายไปแล้ว ไม่ควรจะต้องเศร้าโศกถึง

    ที่ว่าควรจะคิดอย่างไร ก็มีทางที่จะคิดได้หลายอย่างที่จะทำให้เกิดเมตตาต่อกันและกันได้ ที่ว่าเหลืออยู่ ไม่ทราบว่าจะเหลืออยู่ด้วยกันอีกสักกี่วัน กี่เดือน กี่ปี อาจจะเป็นชั่วขณะวันนี้ พรุ่งนี้ก็ไม่เหลืออยู่ เพราะฉะนั้น อย่าโกรธกันเลย

    ผู้ฟัง อาจารย์พูดข้อความหนึ่งว่า ปัจจุบันนี้เราเป็นอย่างนี้ มีมิตรสหายอย่างนี้ เราละจากโลกนี้ไปแล้ว เกิดที่ใหม่ ก็มีมิตรสหายใหม่ มีพวกใหม่ อย่างนี้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง ผมเคยพิจารณา เคยคิดอยู่ว่า สิ่งที่เราเคยหลงรัก ไม่ว่าผู้หญิงหรือสิ่งของ หรือว่าอะไร บางครั้งคิดแล้วไม่น่ายินดี เพราะว่าจากกันไปแล้ว ไม่รู้จะเป็นของใคร หรือเป็นอะไร ไปหลงยินดียึดถือเกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทอง หรืออะไรก็ตาม ประโยชน์อะไร ไม่มีประโยชน์ทั้งสิ้น คิดแล้วทำให้เห็นว่า หนทางการเจริญสติปัฏฐานประเสริฐที่สุด เพราะสิ่งที่เราหวงแหนที่สุดในเรื่องกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ ไม่มีประโยชน์อะไร เมื่อจากกันไปแล้ว ไม่รู้ใครเป็นใคร ภพใหม่จะเป็นของใคร ไม่ได้เจอกัน คนละชั้น คนละภูมิ ก็น่าจะทำให้ละคลายการยึดถือ และทำให้เห็นทางไปสู่นิพพานมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ ชั่วขณะที่คิดอย่างนั้น ก็เป็นคิดถูกในขณะที่กำลังคิด แต่ต้องละเอียดยิ่งกว่านั้น เรื่องของการที่จะเห็นโทษของอกุศล ควรจะเห็นให้ละเอียดและลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น โดยสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที เห็นโทษของทั้งโลภะ โทสะ และโมหะด้วย ถ้าตราบใดยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามความเป็นจริง อย่าเห็นโทษง่ายๆ โดยการเพียงแต่บอกว่าเป็นโทษ แต่ควรจะเห็นโทษให้จริงและลึก โดยที่ว่าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่ไม่เคยรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน และศึกษา พิจารณา สังเกต จนกระทั่งเป็นความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น นั่นจึงจะชื่อว่าเห็นโทษของโมหะ ความไม่รู้ ซึ่งเป็นมูลให้เกิดโลภะ และโทสะจริงๆ

    ผู้ฟัง โทษของโมหะที่อ่านเจอในหนังสือพิมพ์ หรือว่าเกิดขึ้นบ่อยๆ เท่าที่เห็น หรือเกิดกับตัวเรา บางคนทำทุกอย่างแม้ว่าจะทุจริตเพื่อบุคคลที่ตนรัก จะเป็นบุตรธิดา หรือภรรยา หรือคนที่ชอบที่สุด โดยที่ตัวเองต้องทุกข์ยากต่างๆ นานา บางทีบุตรธิดาทำไม่ดี ก็เจ็บช้ำน้ำใจ และเมื่อตายจากกัน ก็ไปคนละทิศละทาง จะทำไปทำไม

    ท่านอาจารย์ คิดอย่างนี้ ก็คงไม่ได้คิดได้ตลอด หรือคิดได้บ่อยๆ เพราะฉะนั้น กุศลจึงควรเจริญทุกประการ พร้อมทั้งการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน และให้เข้าใจ ไม่ว่าท่านจะทำอะไรก็ตาม ขอให้มีเหตุผล อย่างในเรื่องของคาถา เห็นหรือยังว่า จุดประสงค์ของการที่จะท่องเป็นคาถานั้นเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง ผมเข้าใจว่า เหมือนกับว่า ตัวเราไม่ปรารถนาความทุกข์ต่างๆ ก็ไม่ปรารถนาให้ตัวเองทำทุจริตให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน พร้อมกันนั้นปรารถนาให้คนอื่นเหมือนกับเรา ที่เราคิด ที่เราประพฤติอยู่ เพื่อความสุขโดยทั่วไป คือ ไม่มีจำกัด

    ท่านอาจารย์ เคยได้ฟังคาถา นะเมตตา ไหม เพื่ออะไร

    ผู้ฟัง แต่ก่อนนั้นเข้าใจว่า เพื่อให้คนรักใคร่หรือให้เขาเห็นใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เป็นผู้ที่ประกอบด้วยเหตุผลจริงๆ จะเห็นได้ว่า คาถานั้นเพื่อประโยชน์ของตน โดยต้องการผลที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาเรื่องของคาถาให้ละเอียดจริงๆ ว่า แต่ละคาถาที่ท่านเคยท่อง หรือว่ายังท่องอยู่ เพื่อประโยชน์อะไร เพื่อตัวเอง เพื่อที่จะให้มีคนนิยมรักใคร่ เพราะฉะนั้น ก็เป็นการหวังผลจากคาถาที่ท่อง ไม่ใช่เป็นการที่จะสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ และยังมีคาถาอีกมากมายใช่ไหม มีคาถาอื่นๆ อีกมาก ซึ่งท่านควรที่จะได้ทราบจริงๆ ว่า แต่ละคาถานั้นเพื่อประโยชน์อะไร เพื่ออกุศล หรือเพื่อกุศล ส่วนใหญ่จะเพื่ออะไร ถ้าจะเพื่อให้จิตสงบ ก็ไม่สงบ เพราะไม่ได้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่จะรู้สภาพของจิตในขณะที่ท่อง

    ผู้ฟัง คำว่า ท่อง ไม่ใช่ท่องอย่างแบบว่า สัตว์ทั้งหลายอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกันโดยไม่รู้ ท่องไปอย่างนั้น เหมือนอย่างเด็กๆ ที่อ่าน ก. ข. เหมือนร้องเพลง แต่ไม่รู้เนื้อความ ไม่รู้ความหมาย ผมเข้าใจว่า จุดประสงค์ที่ถูกต้อง คือ ให้เข้าใจว่าประโยชน์อยู่ที่ไหนขณะที่ท่อง ผมเข้าใจอย่างนี้ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การท่องคาถามีมาแต่โบราณกาล และท่านผู้ใดที่ยังไม่ได้พิจารณาเหตุผล ก็ยังคงเพียรท่องอยู่ตามที่เคยได้ยินได้ฟัง หรือว่าตามที่ได้รับการสอนมาว่าให้ท่องคาถานั้นบ้าง คาถานี้บ้าง แต่อย่าลืมว่า การสวดก็ดี การท่องก็ดี แม้แต่การสวดพระอภิธรรมในงานศพ เพื่ออะไร เพื่อให้ฟังไม่รู้เรื่อง หรือว่าเพื่ออะไร

    เพราะฉะนั้น ถ้ายังคงไม่ได้พิจารณาในเหตุผลว่า แท้ที่จริงเพื่อเตือนให้ศึกษา ให้รู้เรื่อง เมื่อยังไม่รู้เรื่อง ก็จะได้มีสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นรู้ว่า ไม่รู้เรื่อง



    หมายเลข 3
    4 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ