เมตตา ตอนที่ 18
หรือว่าในขณะที่ถือตัว หรือว่า ดูหมิ่นคนอื่น ในขณะนั้นไม่ประกอบด้วยเมตตา แม้เพียงการเห็น หรือว่าการได้ยิน มีวาจาต่างๆ ที่กระทบหู และรู้ความหมายของคำนั้น ถ้าสติเกิดจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นมีจิตที่โกรธหรือไม่โกรธ ถ้าสามารถที่จะมีขันติ ความอดทน ความอดกลั้น มีความ ไม่โกรธ มีการให้อภัย มีความเป็นมิตรด้วยในบุคคลนั้น ในขณะนั้น ก็เป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตา นี่คือ ทางตา ทางหู
ทางจมูก บางแห่งกลิ่นไม่สะอาด มีไหม และบางคนก็ยังคิดว่า นี่เป็นกลิ่นไทย นั่นเป็นกลิ่นเทศต่างๆ ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่ใช่จิตที่ประกอบด้วยเมตตา ทางลิ้น รส ต่างๆ มีการถือเขาถือเรา มีการดูถูกดูหมิ่น ลักษณะอาการอย่างนั้นไม่ใช่จิตที่ประกอบด้วยเมตตา
ในขณะที่คิดนึก ไม่ใช่ท่อง แต่ไม่ว่าจะนึกถึงใคร ก็คิดในทางที่จะเกื้อกูลอนุเคราะห์ช่วยเหลือ คิดที่จะทำอะไรให้ใครเป็นสุขบ้างไหม คิดที่จะช่วยเหลือ เพื่อนบ้านใกล้เคียง หรือว่าคนที่อยู่ในบ้านให้เขามีความสุขความสบายใจขึ้นบ้างไหม ไม่ใช่ท่อง แต่คิดที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลบุคคลอื่น ให้เขาได้รับความสุข ความสบาย ในขณะนั้นไม่ใช่การท่อง แต่คิดที่จะให้ คิดที่จะช่วย คิด ที่จะอภัย ทั้งหมดเหล่านั้น เป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตา
ผู้ฟัง ก็เป็นเหตุเป็นผล แต่ว่าถ้าถูกแกล้ง เมตตาของเรามีจำกัด ถ้าถูกแกล้งนิดๆ หน่อยๆ เมตตาของเรา ความอดทนของเรา ก็พอจะทนได้ พอจะคิดได้ว่า ที่เราถูกแกล้งเพราะวิบากของเรา หรือว่าจะพิจารณาความดีของเขา มีอะไรก็พิจารณากันไป แต่ถ้าถูกแกล้งครั้งที่ ๒ คิดไม่ได้ ทนไม่ได้แล้ว ในเมื่อกำลังกายของเรายังมีอยู่ วาจาของเรายังมีอยู่ ก็อาจจะใช้กำลังกาย หรือวาจาไม่เหมาะไม่ควรกับคนที่มาแกล้ง ขณะนั้นเมตตาของเราหมดแล้ว ขันติก็หมดแล้ว จะทำอย่างไร
ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่า แม้เมตตาในชีวิตประจำวันก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดง่าย กุศลทั้งหมดไม่ใช่ว่าจะเกิดได้โดยง่าย เพราะฉะนั้น ต้องอบรมเจริญกุศล เพราะว่าทุกคนยังมีอกุศลอยู่ แต่ว่าการฟังธรรมเพื่อที่จะพิจารณาให้เข้าใจในเหตุในผล ในสภาพธรรมที่กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล จนกว่าจะเห็นโทษของอกุศลจริงๆ จะเป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะที่อกุศลกำลังเกิด
ถ้าพูดถึงโทษของอกุศล บางท่านอาจจะอธิบายได้มากมาย โทษของโลภะมีมากมาย ทั้งดับหรือละได้ยาก และก็ช้าด้วย และก็ไม่ปรากฏให้เห็นในชีวิตประจำวันในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยินตามปกติ ไม่รู้ตัวเลยว่ามีโลภะอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้น คนที่พรรณนาโทษของโลภะ สามารถที่จะพรรณนาตามได้ว่า โลภะมีโทษโดยประการต่างๆ แต่การที่จะเห็นโทษของโลภะในขณะที่โลภะกำลังเกิดขึ้นปรากฏจริงๆ คือ การปฏิบัติธรรมที่จะต้องอบรม จึงจะเป็นปัญญาที่รู้ชัดแจ้ง ฉันใด เวลาที่โทสะกำลังเกิด และอภัยให้ไม่ได้ เป็นขณะที่สติสัมปชัญญะจะต้องระลึกรู้ว่า ขณะนั้นปราศจากเมตตา
ท่านอาจารย์ เมตตาเป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับความโกรธ ตรงกันข้ามกับความพยาบาท ตรงกันข้ามกับความผูกโกรธ เพราะฉะนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดในขณะนั้น เห็นโทษของความโกรธ ไม่ใช่ไปพรรณนาโทษของความโกรธเวลาอื่น แต่เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้นไม่เห็นเลยว่าเป็นโทษ ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นแล้ว เมตตาก็เจริญไม่ได้
แต่เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น สติสัมปชัญญะเห็นความโกรธนั้นว่า เป็นอกุศลที่ควรละด้วยเมตตา เมตตาจึงจะเจริญขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ริษยา มัจฉริยะ ที่จะเห็นโทษจริงๆ ได้ ต้องขณะที่กำลังเกิดขึ้น
ผู้ฟัง โทสะใครๆ ก็เห็นโทษ ไม่ว่าศาสนาไหน บุคคลไหน ไม่ชอบโทสะทั้งนั้น
ท่านอาจารย์ เห็นโทษเวลาอื่น ใช่ไหม แต่เวลาที่กำลังเกิดโทสะ ไม่ยอมเป็นเมตตา ขณะนั้นไม่ยอม เมตตาไม่ไหว เมตตาไม่ได้ อดทนไม่ได้ อดกลั้นไม่พอ ในขณะนั้น ไม่ชื่อว่าเห็นโทษของโทสะ
ผู้ฟัง โทสะ มีความไม่แช่มชื่นแก่บุคคลทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ไม่มีใครชอบ
ท่านอาจารย์ ไม่มีใครชอบ แต่ไม่ยอมเป็นเมตตาที่แช่มชื่น ก็รู้ว่าเมตตาดีกว่าโทสะ ถ้าเห็นโทษจริงๆ ต้องละในขณะที่โทสะกำลังเกิดขึ้น
ผู้ฟัง ก็รู้อยู่ แต่อารมณ์แรงมากระทบ ทำให้ความแค้นเกิดขึ้น เมื่อความแค้นเกิดขึ้น ขณะนั้นกำลังกายก็มีอยู่ เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไรดี ผมนับถือพระสารีบุตร ขณะที่ท่านบันลือสีหนาท ท่านอุปมาว่า ถ้าบุคคลใดที่เจริญกายคตาสติแล้ว ก็เหมือนกับโคเขาขาด โคเขาขาดไม่มีอาวุธ สู้ใครเขาไม่ได้ เดินไปก็ต้องสงบเสงี่ยม ไม่ไปหาเรื่องเกเรเกะกะกับใคร หรือบางทีท่านก็อุปมาว่า เหมือนเด็กขอทาน เด็กขอทานจะไปหาเรื่องกับใครก็ไม่ได้ทั้งนั้น ทั้งๆ ที่ท่านพระสารีบุตรมีฤทธิ์ด้วย มีกำลังด้วย ท่านยังทำตัวของท่านได้ขนาดนั้น แต่ปุถุชนทั้งหลายทำไม่ได้ เพราะว่าเมตตามีจำกัด ปัญญามีจำกัด และถ้าเมตตาให้ไปหมดแล้ว อารมณ์อะไรมากระทบขึ้นอีก ก็ย่อมทนไม่ไหว เป็นธรรมดาของปุถุชน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทจริงๆ คือ เจริญสติปัฏฐาน ถ้าไม่ใช่ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ยังไม่ถึงความเป็น พระอนาคามีบุคคล ก็ยังต้องโกรธ การที่ศึกษาเรื่องของสมถภาวนา ก็เพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่า จิตที่สงบคือในขณะไหน
บางท่านได้ยินคำว่า สมถภาวนา ก็เข้าใจว่าตนเองกำลังเจริญสมถภาวนา แต่เพียงได้ยินคำว่าสมถภาวนาเท่านั้น ไม่พอ จะต้องเข้าใจด้วยว่าสมถภาวนา หรือว่าจิตใจที่สงบนั้นเมื่อไร คือ เวลาที่กุศลจิตเกิดขึ้นเท่านั้นที่จิตจะสงบ ถ้าขณะใดกุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นต้องเป็นโลภมูลจิต หรือว่าโทสมูลจิต หรือว่าโมหมูลจิต ซึ่งการที่จะรู้ว่าจิตเป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล ก็ต่อเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของจิต
เรื่องของจิต หลายท่านได้ฟังมามากและได้ศึกษามามาก รู้จำนวนประเภท ต่างๆ ของจิตว่า มีทั้งหมดกี่ประเภท แต่การที่จะรู้จักสภาพลักษณะของจิตจริงๆ ไม่ใช่ง่าย ไม่ใช่เพียงรู้ว่าจิตมีจำนวนเท่าไร เพราะในขณะนี้จิตก็กำลังเกิดดับทุกขณะ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของจิตจริงๆ ต้องในขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดขึ้น เมื่อได้ศึกษาเข้าใจแล้วว่า จิตเป็นสภาพรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ นี่เป็นความเข้าใจโดยทั่วไปสำหรับเบื้องต้นของการศึกษาเรื่องจิตว่า จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ นี่เป็นเพียงความเข้าใจ
แม้จะได้ฟังอย่างนี้ ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง ๑๐,๐๐๐ ครั้ง ก็ไม่ใช่ว่าจะรู้ลักษณะของจิตจริงๆ ทั้งๆ ที่เข้าใจแล้ว แต่การที่จะรู้ลักษณะของจิตจริงได้ ต้องรู้ในขณะที่สติสัมปชัญญะระลึกในขณะที่จิตกำลังรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ
เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นโทสะ เป็นโลภะ ที่จะละได้ ที่จะขัดเกลาได้ ก็ต่อเมื่อปัญญารู้ชัดในลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น มิฉะนั้นแล้วก็เข้าใจว่า ตัวท่านเองทำสมถะ แต่ไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะรู้สภาพของจิตเลย อย่างนั้นจะชื่อว่า สงบได้อย่างไร ได้ยินแต่เพียงคำว่า สมถภาวนาๆ หรือบางทีก็ได้ยินคำว่า วิปัสสนาภาวนาๆ แต่ไม่ใช่ว่าเพียงแต่ไปนั่งเฉยๆ ไม่คิดอะไร หรือว่าไปนั่งท่องอะไรสักอย่างหนึ่งก็จะเข้าใจว่านั่นเป็นสมถภาวนาโดยที่ไม่มีความรู้เลยว่า สติสัมปชัญญะที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตมีหรือเปล่า
ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต จะรู้ได้อย่างไรว่า จิตในขณะนั้นสงบหรือไม่สงบ เพราะสมถภาวนา คือ การอบรมเจริญกุศลจิตที่สงบขึ้นๆ จนกระทั่งจิตเป็นสมาธิมั่นคง สงบมั่นคงขึ้น
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นสติสัมปชัญญะที่ระลึกรู้ลักษณะของจิตที่สงบ จึงจะเจริญสมถภาวนาได้ แต่ไม่ใช่ว่าโดยสติสัมปชัญญะไม่เกิดก็จะกล่าวว่า กำลังเจริญสมถภาวนา กำลังท่องอย่างนี้ ก็นั่งท่องไป โดยสติสัมปชัญญะไม่ได้เห็นความต่างกันของจิตที่สงบที่เป็นกุศลกับจิตที่เป็นอกุศลเลย ไม่สามารถที่จะรู้ความต่างกันได้ จิตจะสงบขึ้นได้อย่างไร
เวลาที่กำลังโกรธ ก็จะต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ในสภาพของจิตที่โกรธ และเห็นโทษในขณะนั้น จิตจึงจะสงบและเกิดเมตตาได้ นั่นเป็นขั้นสมถภาวนา แต่ถ้าเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานก็ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นแม้ความโกรธก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล นี่เป็นความต่างกันของสมถภาวนาและ วิปัสสนาภาวนา
สำหรับสมถภาวนาไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะยังไม่ประจักษ์ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่จะดับโทสะได้เป็นสมุจเฉท คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งในขณะที่ กำลังเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง สติจะมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปในขั้น ทานบ้าง ในขั้นศีลบ้าง ในขั้นความสงบบ้าง ในขั้นสติปัฏฐานบ้าง ซึ่งเป็นการอบรมเจริญกุศลทุกประการ จนกว่าจะเป็นบารมีที่พร้อมจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ไม่ใช่มีตัวตนที่อยากจะไม่โกรธ ซึ่งไม่สามารถจะเป็นไปได้ เพราะยังมีปัจจัยที่จะทำให้ความโกรธเกิดขึ้น
ความรักตัวมีมาก และเหนียวแน่นเหลือเกิน เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญธรรมที่จะสละความยึดถือสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวเรา หรือว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมเจริญ จนกว่าปัญญาสามารถที่จะรู้ชัด และละการยึดถือความเป็นตัวตนได้จริงๆ แต่ถ้าตราบใดที่ปัญญายังไม่เจริญขึ้น ขอให้ชีวิตประจำวันของแต่ละท่านนี้เป็นเครื่องตรวจสอบว่า ท่านมีความมั่นคงในการที่จะอบรมปัญญาที่จะดับกิเลส หรือว่าท่านเป็นผู้ที่พยายามหาวิธีที่จะทำให้ตัวตนของท่านได้รับความสุขสบายอย่างที่ท่านต้องการ โดยที่ยังไม่ยอมละคลาย
อยากได้อานิสงส์ของเมตตา หรือว่าอานิสงส์ของเมตตาทั้ง ๑๑ ประการ เป็นเครื่องตรวจสอบว่า ท่านอบรมเจริญเมตตาได้แค่ไหน แทนที่จะหวังผล คือ อานิสงส์ของเมตตา โดยมุมกลับ ใช้อานิสงส์นั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวของท่านเองว่า ท่านประกอบด้วยเมตตามากน้อยแค่ไหน ถ้ายังไม่ได้อานิสงส์ของเมตตาทั้ง ๑๑ ประการ ก็แสดงว่าเมตตาของท่านยังมีเล็กน้อยมาก จึงไม่ได้อานิสงส์ตามที่พระองค์ทรงแสดงไว้ทั้ง ๑๑ ประการนั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าเมตตายังไม่พอที่จะได้รับอานิสงส์อย่างนั้น ก็ควรที่จะอบรมเจริญเมตตาต่อไป เมตตาที่มีบ้างแล้ว อย่าคิดว่าพอ เพราะกุศลทั้งหมดควรเจริญให้มากขึ้น ไม่พอเลย ไม่ว่าจะเป็นเมตตา หรือว่าเป็นสติปัฏฐาน ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท จะต้องอบรมเจริญไปเรื่อยๆ
เมตตาบารมี ซึ่งก็ได้กล่าวถึงแล้วมากทีเดียว และเมื่อได้พูดถึงอธิษฐานบารมี ก็จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ดำรงมั่น ในการเจริญกุศลเพื่อขัดเกลากิเลสเป็นผู้ที่มีอธิษฐานบารมีนั้น เป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตา นี่คือข้อความในอรรถกถา ซึ่งเป็นเครื่องตรวจสอบความมั่นคงในการเจริญกุศลของตนเองจริงๆ ที่ว่า ผู้ที่มีอธิษฐานบารมี มีความมั่นคงที่จะขัดเกลากิเลส เป็นผู้ที่มีปกติอยู่ด้วยเมตตา
เพราะฉะนั้น ใครก็ตามเป็นผู้ไม่โกรธ และมีปกติอยู่ด้วยเมตตา ก็แสดงว่า ผู้นั้นเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการไม่โกรธ เห็นประโยชน์ของการเจริญบารมีเพื่อที่จะ ขัดเกลากิเลสด้วย
สำหรับเมตตาที่จะต้องเข้าใจให้ถูก คือ เป็นสภาพของจิตที่มีความเป็นมิตร เพราะฉะนั้น ไม่เกี่ยวกับการท่อง ไม่เกี่ยวกับการแผ่เมตตา แต่เป็นขณะที่มีสัตว์ มีบุคคล ไม่ว่าจะเป็น ณ สถานที่ใดก็ตาม และบุคคลนั้นจะเป็นใครก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่ มีปกติอยู่ด้วยเมตตา ก็เป็นผู้ที่พร้อมจะเกื้อกูลบุคคลนั้น
ด้วยเหตุนี้เมตตาจึงเป็นพรหมวิหาร หมายความว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่ ที่ประเสริฐ และสำหรับจิตของผู้ที่มีเมตตาที่จะตรวจสอบว่ามีความมั่นคงเพียงใดนั้น ใกล้ที่จะมีความประพฤติตามพระโพธิสัตว์หรือไม่ ข้อความใน ขุททกนิกาย จริยาปิฎก มีว่า
อนึ่ง จิตของมหาบุรุษนั้นถึงความสงัดตั้งมั่นโดยไม่ยาก ความเป็นผู้มีจิตเมตตาย่อมตั้งอยู่แม้ในฝ่ายที่เป็นศัตรูอย่างเร็ว
แสดงว่าไม่มีใครที่จะเป็นศัตรูได้ ท่านอาจจะคิดขุ่นเคืองใจ และคิดว่าบุคคลนั้นบุคคลนี้เป็นผู้ที่ตัดรอนประโยชน์ของท่านด้วยประการใดๆ ก็ตาม แต่ถ้าเป็นผู้ที่ สะสมกุศลและมีความตั้งมั่นในการขัดเกลากิเลสแล้ว จิตของบุคคลนั้นจะสงบตั้งมั่น ได้ไม่ยาก และจะเป็นผู้ที่มีจิตเมตตาแม้ในฝ่ายที่เป็นศัตรูอย่างเร็ว
ถ้าเกิดโกรธใครนิดหนึ่งขึ้นมาแล้ว สักครู่หนึ่งก็หมดแล้ว หายแล้ว เปลี่ยนเป็นความเมตตา นั่นคือผู้ที่สะสมบารมีเหมือนกับจิตของพระโพธิสัตว์ ซึ่งตั้งมั่นโดยไม่ยาก และมีจิตเมตตาตั้งอยู่แม้ในฝ่ายที่เป็นศัตรูอย่างเร็ว
ต่อไปนี้ก็สังเกตได้ โกรธใครนานหรือเปล่า ถ้าเปลี่ยนเป็นเมตตาได้เร็ว ก็แสดงว่าเป็นผู้ที่สะสมการขัดเกลากิเลส
สำหรับเมตตาที่เป็นพรหมวิหาร เป็นธรรมเครื่องอยู่ของพรหม ซึ่งพรหมวิหารมี ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
เมตตา ได้แก่ อโทสเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ระงับสงบโทสะ
กรุณา ได้แก่ กรุณาเจตสิก เป็นขณะที่มีเมตตา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ระงับความเบียดเบียน
มุทิตา ได้แก่ มุทิตาเจตสิก เป็นสภาพที่พลอยยินดีกับความสุขของคนอื่น
อุเบกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตา เป็นสภาพธรรมที่ระงับโลภะและโทสะ
ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนใดๆ ทั้งสิ้นตั้งแต่เกิดจนตาย แม้ขณะที่ มีเมตตาก็เป็นอโทสเจตสิก ขณะที่มีความกรุณา มีความอาทรห่วงใยใคร่เกื้อกูลผู้ที่กำลังเป็นทุกข์ ขณะนั้นก็เป็นกรุณาเจตสิก ขณะที่บุคคลอื่นมีความสุข ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ เป็นต้น ขณะนั้นมีความยินดีด้วย ก็เป็นมุทิตาเจตสิก และขณะที่ ระงับโลภะ โทสะ มีความเป็นกลาง เสมอในสัตว์ทั้งปวง ขณะนั้นก็เป็น ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งเป็นอุเบกขาพรหมวิหาร
นอกจากอโทสเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่ไม่โกรธแล้ว ก็ยังเป็นเบื้องต้นสำหรับ ผู้ที่คิดจะเมตตาต่อบุคคลที่ทำสิ่งที่ขุ่นเคืองใจได้
ความหมายของเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาที่เป็นพรหมวิหาร ข้อความ ในอรรถกถามีว่า
เพราะเป็นธรรมที่ไม่มีโทษ และเพราะอรรถว่า ประเสริฐ
คนที่มีเมตตาจะไม่มีโทษใดๆ ทั้งสิ้น และเป็นผู้ประเสริฐด้วยในขณะที่มีเมตตาต่อคนอื่น รวมทั้งกรุณา มุทิตา และอุเบกขาด้วย
เพราะเป็นการปฏิบัติชอบในสัตว์ทั้งหลาย พวกพรหมทั้งหลายมีจิตปราศจากโทษอยู่ฉันใด ผู้ประกอบด้วยพรหมวิหารเหล่านี้ ย่อมเป็นผู้เสมอกันกับพรหม ดังนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า พรหมวิหาร
มีเครื่องอยู่ ๔ อย่างนี้ เป็นความสงบเย็นจริงๆ ไม่มีความเดือดร้อน และปราศจากโทษ พรหมวิหารมี ๔ เพราะเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์เป็นต้น คือ ตั้งแต่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
อนึ่ง ลำดับของพรหมวิหารเหล่านั้นย่อมมีเพราะอาการมีความเกื้อกูลเป็นต้น และพรหมวิหารเหล่านั้น ย่อมเป็นไปในอารมณ์อันหาประมาณมิได้ จึงเรียกว่า อัปปมัญญา
แสดงให้เห็นว่า เพียงความไม่โกรธนิดหน่อยอย่าเพิ่งพอใจ หรือเพียงความเมตตาต่อบางบุคคลได้ก็อย่าเพิ่งพอใจ เพราะว่ายังไม่พอ ยังมีคนอีกมากที่เมื่อประสบพบเห็นแล้ว บางกาลก็ควรจะเมตตา บางกาลก็ควรจะกรุณา บางกาลก็ควรจะมุทิตา และบางกาลก็ควรจะอุเบกขา โดยหาประมาณมิได้ ไม่จำกัดเฉพาะบางบุคคล ซึ่งแต่ละท่านสามารถพิสูจน์จิตใจของท่านเองได้ว่า ท่านพร้อมที่จะมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขากับบุคคลอื่นๆ เพิ่มขึ้นๆ ได้ไหม ถ้าเพิ่มขึ้นได้ก็เป็นทางที่จะทำให้ มีความเป็นอยู่อย่างพรหม
สำหรับพรหมวิหาร ๔ มีข้ออุปมาว่า เมตตาอุปมาเหมือนลูกที่ยังเล็ก กรุณาอุปมาเหมือนลูกที่ป่วยไข้ มุทิตาอุปมาเหมือนลูกที่กำลังเป็นหนุ่มสาว อุเบกขาอุปมาเหมือนลูกที่กำลังประกอบการงาน
ลูกที่ยังเล็ก เด็กเล็กๆ ทุกคนก็มีความหวังดีต่อเด็กที่จะให้เจริญเติบโตขึ้นในทางที่ดี เพราะฉะนั้น ความเมตตาต่อเด็ก ไม่ควรมีเฉพาะกับเด็กเท่านั้น ทุกคนก็เสมือนเด็กที่ควรจะเกื้อกูล จึงจะเป็นความรู้สึกที่มีเมตตาจริงๆ กับบุคคลนั้น
นี่เป็นเพียงการเปรียบเทียบให้เห็นลักษณะของเมตตาว่า เหมือนกับผู้ที่มีความรู้สึกต่อบุตรคนเล็กที่ต้องการให้เจริญเติบโตขึ้น คือ เกื้อกูลต่อบุตรคนเล็กฉันใด ก็เกื้อกูลต่อบุคคลอื่นฉันนั้น
สำหรับกรุณา อุปมาเหมือนกับบุตรที่ป่วยไข้ ผู้ที่มีบุตร และบุตรป่วยไข้ คงจะทราบว่า ต้องพยายามบำบัดให้บุตรหายป่วยจากความทรมาน จากโรคภัย ต่างๆ ฉันใด เวลาที่เห็นคนอื่นทั่วไปหมดแม้ไม่ใช่บุตร ก็มีความหวังดีที่จะให้ บุคคลนั้นพ้นจากทุกข์ นั่นคือกรุณา ซึ่งควรจะหาประมาณมิได้ คือ ไม่ได้จำกัด แต่เฉพาะบางบุคคลเท่านั้น
สำหรับมุทิตา คือ ความพลอยยินดีด้วย อุปมาเหมือนมารดาบิดาที่มีบุตรกำลังเป็นหนุ่มสาว ก็หวังที่จะให้บุตรที่เป็นหนุ่มสาวนั้นมีความสมบูรณ์ เป็นหนุ่ม เป็นสาวนานๆ เป็นที่ชื่นชมยินดีในความเจริญเต็มที่ของบุตรนั้น
สำหรับอุเบกขา อุปมาเหมือนบุตรที่กำลังประกอบการงาน ซึ่งมารดาบิดา ก็หมดธุระ ไม่ต้องขวนขวายในกิจธุระทุกอย่างให้แก่ลูกที่ประกอบกิจการงานแล้ว
เพราะฉะนั้น ถ้าทุกคนมีจิตอย่างนี้ แสดงว่าได้ขัดเกลากิเลสและได้อบรม เจริญปัญญาที่จะรู้ว่า สิ่งใดมีประโยชน์ และสิ่งใดมีโทษ เพราะบางคนแม้ได้ยินคำว่า พรหมวิหาร รู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่มีเมตตาได้ไหม มีกรุณาได้ไหม มีมุทิตาได้ไหม มีอุเบกขาได้ไหม นี่ก็แสดงให้เห็นถึงจิรกาลภาวนาว่า ต้องเป็นเรื่องของการขัดเกลา ต้องเป็นเรื่องของการอบรม ด้วยเหตุนี้เมตตาจึงเป็นบารมี ซึ่งควรจะได้พิจารณาว่า เพราะเหตุใดเมตตาและอุเบกขาจึงเป็นบารมี แต่กรุณาและมุทิตาไม่เป็นบารมีด้วย
เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่จะคิดพิจารณาได้ เพราะว่าในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ เห็นสัตว์ที่มีทุกข์น้อยกว่าสัตว์ที่ไม่มีทุกข์ ที่ห้องนี้ วันนี้ มีบุคคลที่มีทุกข์หรือเปล่า หรือไม่ใช่บุคคลที่กำลังมีทุกข์ เพราะสำหรับคนที่ปัญญายังไม่สมบูรณ์ถึงขั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่เห็นว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นทุกข์เพราะเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป เป็นสภาพที่เป็นทุกขอริยสัจจ์ เป็นทุกข์จริงๆ แต่ทุกข์ขั้นนี้ยังไม่มีใครเห็น เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่เห็นสัตว์บุคคล ซึ่งไม่ได้เป็นทุกข์ ก็ควรจะมีเมตตา ด้วยเหตุนี้เมตตาและอุเบกขาจึงเป็นบารมี
สำหรับกรุณาและมุทิตาไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้เวลาที่เห็นสัตว์บุคคลส่วนใหญ่ก็ควรจะมีเมตตา และสำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญามา ซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือบุคคลอื่นได้ ขณะนั้นก็เป็นผู้ที่มีความเสมอทั้งบุคคลที่เป็นคนดี และบุคคลที่มีความประพฤติที่ไม่ดีก็ตาม บุคคลนั้นก็สามารถเป็นกลาง สม่ำเสมอได้ นั่นก็เป็นอุเบกขาบารมี
อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์
- เมตตา ตอนที่ 01
- เมตตา ตอนที่ 02
- เมตตา ตอนที่ 03
- เมตตา ตอนที่ 04
- เมตตา ตอนที่ 05
- เมตตา ตอนที่ 06
- เมตตา ตอนที่ 07
- เมตตา ตอนที่ 08
- เมตตา ตอนที่ 09
- เมตตา ตอนที่ 10
- เมตตา ตอนที่ 11
- เมตตา ตอนที่ 12
- เมตตา ตอนที่ 13
- เมตตา ตอนที่ 14
- เมตตา ตอนที่ 15
- เมตตา ตอนที่ 16
- เมตตา ตอนที่ 17
- เมตตา ตอนที่ 18
- เมตตา ตอนที่ 19
- เมตตา ตอนที่ 20
- กรรม ตอนที่ 01
- กรรม ตอนที่ 02
- กรรม ตอนที่ 03
- กรรม ตอนที่ 04
- กรรม ตอนที่ 05
- กรรม ตอนที่ 06
- กรรม ตอนที่ 07
- กรรม ตอนที่ 08
- กรรม ตอนที่ 09
- กรรม ตอนที่ 10
- กรรม ตอนที่ 11
- กรรม ตอนที่ 12
- กรรม ตอนที่ 13
- กรรม ตอนที่ 14
- กรรม ตอนที่ 15
- กรรม ตอนที่ 16
- กรรม ตอนที่ 17
- กรรม ตอนที่ 18
- กรรม ตอนที่ 19
- กรรม ตอนที่ 20