เมตตา ตอนที่ 19


    อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ แสดงลักษณะของพรหมวิหาร ๔ ว่า

    เมตตา

    มีความเป็นไปโดยอาการเกื้อกูลเป็นลักษณะ

    มีการนำเข้าไปซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลเป็นรส คือ เป็นกิจ

    มีการกำจัดความโกรธ ความอาฆาตเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ

    มีการเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นที่น่ายินดีคือไม่เป็นศัตรูเป็นปทัฏฐาน

    เมตตามีการสงบระงับความพยาบาทเป็นสมบัติ มีการเกิดสิเนหาเป็นวิบัติ

    นี่เป็นสิ่งที่จะพิจารณาได้ว่า กุศลและอกุศลใกล้ชิดกันมาก เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจึงจะสามารถรู้ได้ว่า เจริญกุศลหรือ มีอกุศลเกิดขึ้น

    กรุณา

    มีความเป็นไปโดยอาการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์เป็นลักษณะ

    มีความกำจัดทุกข์ของบุคคลอื่นเป็นรส คือ เป็นกิจ

    มีความไม่เบียดเบียนเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ อาการปรากฏ

    มีความเห็นสัตว์ที่ถูกครอบงำเป็นผู้น่าสงสารเป็นปทัฏฐาน

    กรุณามีความสงบระงับวิหิงสาเป็นสมบัติ มีการเกิดความโศกเป็นวิบัติ

    มุทิตา

    มีความพลอยยินดีเป็นลักษณะ

    มีความไม่ริษยาเป็นรส

    มีการกำจัดความไม่ยินดีเป็นปัจจุปัฏฐาน

    มีการเห็นสมบัติของสัตว์ทั้งหลายเป็นปทัฏฐาน

    มุทิตามีการไม่สงบระงับความไม่ยินดีเป็นสมบัติ มีการเกิดความร่าเริงเป็นวิบัติ

    ใกล้กันมาก เวลาที่ยินดีกับลาภ ยศ สรรเสริญสุขของคนอื่น ถ้าเกิดรื่นเริงมาก ยินดีมาก ขณะนั้นก็เป็นโลภะ ไม่ใช่มุทิตา

    อุเบกขา

    มีความเป็นไปโดยอาการเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลายเป็นลักษณะ

    มีการเห็นความเสมอกันในสัตว์ทั้งหลายเป็นรส

    มีการเข้าไปสงบระงับความยินร้ายและความยินดีเป็นปัจจุปัฏฐาน

    มีการเห็นความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตนเป็นปทัฏฐาน

    คือ มีความเห็นว่า สัตว์เหล่านี้จะมีความสุข หรือจะพ้นจากความทุกข์ หรือ จะไม่เสื่อมจากสมบัติตามความพอใจของใครๆ ไม่ได้เลย นอกจากเป็นไปตามกรรมของตนเองทั้งสิ้น

    อุเบกขามีความสงบความยินดีและยินร้ายเป็นสมบัติ ความเกิดขึ้นแห่ง อัญญาณุเบกขาซึ่งอาศัยเรือนเป็นวิบัติ

    อัญญาณุเบกขา คือ ความไม่รู้ ได้แก่ โมหะ เพราะไม่ได้พิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงไม่สามารถรู้ในเรื่องของกรรม ในเรื่องเหตุที่จะทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น

    สำหรับอุเบกขาอาศัยเรือน เรือนก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทุกคนเวลาที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วเฉยๆ ไม่มีความรู้สึกยินดียินร้าย ก็อย่าเข้าใจว่า ในขณะนั้นเป็นกุศล เพราะเป็นอุเบกขาอาศัยเรือน ในขณะนั้นไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วขณะนั้นไม่ได้ชนะกิเลสอะไรเลย เพราะไม่ได้เป็นผู้ฟัง ไม่ได้เป็นผู้เข้าใจ ไม่ได้เป็นผู้รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง ไม่เกิดปัญญา เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นข้าศึกใกล้ของอุเบกขาพรหมวิหาร เพราะว่าไม่ได้พิจารณาในคุณและโทษ หรือในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    นี่ก็เป็นเรื่องของพรหมวิหารในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง ธรรมดาพรหมวิหารต้องมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ แต่จะมั่นคงได้ ต้องเห็นให้ลึกซึ้งกว่านั้น เช่น เห็นถึงการเกิดดับ ซึ่งเป็นสภาพของความทุกข์จริงๆ จึงจะสามารถเป็นปัจจัยให้กับเมตตาซึ่งมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ได้อย่างมั่นคง ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ ตามปกติของคนที่ไม่มีปัญญาถึงระดับนั้น เวลาที่เห็นสัตว์บุคคลทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะมีความรัก หรือมีความชัง หรือมีความรังเกียจ หรือมีความ ชื่นชม แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความเป็นมิตร เพราะว่าเมตตาหมายถึงสภาพที่เป็นมิตร จะไม่มีความรังเกียจ ไม่มีช่องว่าง มีตนเสมอกับบุคคลนั้น ซึ่งในขณะนั้นเป็นปัญญาระดับที่เห็นประโยชน์ของการเกื้อกูลต่อสัตว์ ต่อบุคคลนั้น โดยที่ขณะนั้นไม่ได้พิจารณาว่า แท้ที่จริงแล้วทุกคนเกิดมามีแต่ความทุกข์ จะมีความสุขก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ที่สั้นมาก เพราะว่าความสุขนั้นก็ไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้น คนที่หลงทางหรือไม่รู้เลยว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม เมื่อไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดง ก็จะอยู่ในโลกของสมมติบัญญัติ อยู่ในโลกของการติดข้องในความ เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่มีโอกาสที่จะรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เพราะไม่เคยแม้แต่จะได้ยินได้ฟังเรื่องของปรมัตถธรรม

    กาลใดที่มีการสนทนาธรรมกันอย่างนี้ บรรดาผู้ที่สนทนาธรรมกันจะเกิดความรู้สึกสงสารบุคคลอื่นจริงๆ ที่เกิดมาแล้วก็มองเห็นอยู่ทุกวัน แต่คนหนึ่งสามารถ รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ ส่วนอีกคนหนึ่งไม่แม้แต่จะฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น ตลอดชีวิตซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่มีความสุขสมบูรณ์ในทางวัตถุ แต่ก็ต้องจากโลกนี้ไป และสังสารวัฏฏ์ที่ผ่านมายาวนานแสนโกฏิกัปป์ ก็หมดไปทีละขณะๆ จนกว่าจะถึงอีกแสนโกฏิกัปป์ด้วยความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    คนที่เข้าใจธรรมและมีศรัทธาที่จะอบรมเจริญปัญญา ในระหว่างที่สนทนาธรรมเรื่องของธรรม ก็อาจจะมีความรู้สึกกรุณาในบุคคลอื่น แต่ถ้าในโอกาสอื่น ทั่วๆ ไป เครื่องที่จะกันโทษ คือ ความผูกโกรธ หรือความพยาบาท หรือความไม่พอใจ ก็คือ มีความเป็นมิตรกับบุคคลนั้น ในขณะที่ไม่คิดถึงเรื่องสภาพนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกิดดับ

    ผู้ฟัง การศึกษาเรื่องนามธรรมและรูปธรรมจนค่อยๆ รู้ลักษณะ จะเป็นปัจจัยอย่างดีในการที่ชีวิตดำเนินไป แม้กระทั่งเมตตาก็จะมีกำลัง เนื่องจากไม่ยึดถือในสัตว์ บุคคล ตัวตนว่ามีจริง เที่ยงแท้แน่นอน ซึ่งความใกล้เคียงกันระหว่างกุศลกับอกุศลขณะที่เจริญเมตตาใกล้เคียงกันมากในการที่จะเกิดความติดหรือพอใจ แทนที่จะเป็นมิตรจริงๆ ก็เพราะคิดว่ามีสัตว์ มีบุคคล มีตัวตน ตามที่สะสมมา ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นต้องเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จึงจะเข้าใจอย่างนี้ แต่วันหนึ่งๆ ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล หลังจากที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็นึกถึงเรื่องราวที่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่เป็นกุศล คือ มีความเป็นมิตรแทนอกุศล แล้วแต่ว่าจะเป็นพรหมวิหารใดใน ๔ พรหมวิหาร ถ้าคนนั้นปกติแข็งแรงดี ก็ไม่ควรที่จะชิงชัง โกรธเคือง หรืออาจจะมีความผูกพัน ซึ่งถ้าเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นอกุศล และกุศลจริงๆ คือ เมตตา ความเป็นเพื่อนที่จะเกื้อกูล ก็จะเปลี่ยนสภาพของอกุศลเป็นกุศลได้

    ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในฐานะที่กำลังเป็นทุกข์เดือดร้อน ก็มีความเห็นใจ มีความต้องการที่จะให้บุคคลนั้นพ้นจากความทุกข์ ขณะนั้นก็เป็นกรุณา

    ผู้ฟัง และรู้ยิ่งกว่านั้นอีก คือ รู้ว่าทุกขณะมีทุกข์ เนื่องจากสภาพของนามธรรมและรูปธรรมก็กำลังเป็นทุกข์อยู่

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้ และคนนั้นเองก็ไม่ได้คิดถึงอย่างนั้นด้วยตลอดเวลา ถ้าขณะใดที่ไม่ได้สนทนาธรรม ขณะใดที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้นก็ เป็นการนึกถึงสัตว์บุคคลหลังจากที่มีการเห็น เพราะฉะนั้น พรหมวิหารก็เป็นความสงบในชีวิตประจำวัน

    มีบางท่านเห็นบุคคลบางคนทำสิ่งที่ไม่ดีต่อโลก ก็มีความเดือดร้อนใจว่า เมื่อไหร่บุคคลนั้นจะได้รับผลของกรรม เมื่อมีผู้ทักท้วงว่า เมตตาหรือเปล่าในขณะนั้น ท่านก็บอกว่า อยากเห็นผลของกรรม เพราะรู้ว่าเมื่อมีการกระทำแล้วต้องให้ผล เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่จะเห็นผลของกรรม แต่ผู้นั้นควรจะพิจารณาจิตว่า ขณะที่ คิดอย่างนั้นจิตเป็นอะไร เป็นเมตตาหรือเปล่า เป็นกรุณาหรือเปล่า เป็นมุทิตา หรือเปล่า เป็นอุเบกขาหรือเปล่า

    ถ้าไม่พิจารณาและคิดว่า อยากเห็นผลของกรรมที่คนนั้นจะต้องได้รับ และเวลาที่คนนั้นได้รับผลของกรรม ทุกคนก็สงสาร เท่าที่ฟังมา ไม่ว่าใครที่ได้รับ ความเดือดร้อน มีความเป็นอยู่ที่คับแค้น หรือมีความทุกข์ยากในชีวิต คนอื่นก็ สงสารทั้งนั้น แต่เวลาที่เขากำลังทำอกุศลกรรม ลืมคิดว่า ต้องเกิดความเห็นใจ และมีความเมตตาด้วย ถ้าไม่เป็นเพื่อนกับคนนั้น ใครจะเป็นเพื่อนกับเขา มีทางใด ที่จะทำให้คนนั้นพ้นจากการกระทำหรือความคิดที่เป็นอกุศล

    ถ้าเป็นเพื่อนจริงๆ สำหรับคนนั้น ก็มีทางที่จะช่วยจากอกุศลให้เป็นกุศลได้ ซึ่งควรจะทำอย่างยิ่ง ไม่ใช่ปล่อยให้เมื่อไรจะเห็นผลของกรรม คือ คอยที่จะดูผลของกรรมและอ้างว่า เพราะรู้ว่ากรรมนั้นจะให้ผล แต่เมื่อกรรมนั้นให้ผลจริงๆ คนนั้นก็จะสงสาร แต่สงสารช้าไป คือ ควรจะมีจิตเมตตาตั้งแต่ขณะที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ทำอกุศลกรรม

    นี่เป็นเรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย มีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ด้วยกุศลจิต หรืออกุศลจิต เพราะฉะนั้น กุศลต้องเป็นกุศล และอกุศลต้องเป็นอกุศล ซึ่งผู้ที่ตรงต่อธรรมจะเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาและเจริญกุศลยิ่งขึ้นได้ เพราะรู้ทันอย่างรวดเร็วว่า ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา ขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ก็สามารถมีความเมตตาต่อบุคคลที่เป็นฝ่ายศัตรู ได้อย่างเร็ว

    ท่านผู้ฟังเห็นด้วยไหม หรือมีใครที่จะคอยดูผลของอกุศลกรรมของใครอีก

    ผู้ฟัง อย่างคนที่เราค่อนข้างจะรักมาก จะมีความเมตตามาก ถ้าคนที่ไม่ค่อยชอบเท่าไร ก็จะมีเมตตาให้เหมือนกัน แต่น้อยมาก วิธีที่จะพัฒนาให้เรารู้สึกเมตตาเขามากขึ้นๆ จนสามารถเท่ากับคนที่เรารักได้ จะทำอย่างไร ตอนนี้ยังทำไม่ได้ ก็พยายามเลี่ยง นึกถึงมงคล ๓๘ ข้อแรกที่บอกว่า อเสวนา จ พาลานัง ไม่คบคนพาล ก็พยายามหลีกเลี่ยงคนที่ไม่อยากอยู่ใกล้ด้วย ไม่ทราบว่าวิธีนี้ถูกหรือเปล่า และวิธีไหนที่จะพัฒนาความเมตตาของเรา

    ท่านอาจารย์ ทุกคนยังเป็นผู้เริ่มต้นในธรรม เหมือนเด็กเล็กๆ กว่าจะโต กว่าจะยืน และกว่าจะเดิน กว่าจะวิ่ง เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ตัวว่าเราเป็นผู้ที่ใหม่ต่อธรรม ระดับไหน ขั้นไหน ถ้าเป็นผู้ที่ใหม่จริงๆ ก็ถูกที่เราจะเว้นบุคคลพาล เพราะเรายังไม่เข้มแข็งพอที่กุศลจิตของเราจะมีมากและมั่นคง แต่ในขณะเดียวกัน เราฟังพระธรรม เราฟังตลอดหมดทุกส่วน และเราก็รู้สภาพจิตของเราด้วยว่าเมตตาของเราจะเกิด ขณะไหน แต่สำหรับคนที่เรารักเคารพ เราก็ต้องระวังที่จะไม่เป็นโลภะ คือ ธรรมที่ เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล ธรรมที่เป็นกุศลก็เป็นกุศล ถ้าเราสามารถรู้ความต่างกันของโลภะกับเมตตา เราจะมีเมตตาเพิ่มขึ้นได้

    สำหรับเรื่องของโลภะก็ยังเป็นโลภะ เพราะเราห้ามไม่ได้ แต่แทนที่จะเป็นโทสะ เพราะถ้าเรามีโลภะ คนที่เราชอบไม่ทำอย่างที่เราต้องการ เราก็จะไม่พอใจ ฉะนั้น แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เมตตาเราเกิดแทนโทสะก็ดี ใช่ไหม คือ โลภะก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่แทนที่จะเป็นโทสะ ก็เป็นเมตตาเพิ่มขึ้น

    เรารู้จักตัวเราด้วยสติสัมปชัญญะ ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล และถ้าเรารู้ลักษณะของเมตตาจริงๆ ซึ่งที่จริงแล้วกุศลนี่ไม่ยาก น่าจะง่ายกว่าอกุศลเยอะ เกลียดคนอื่นนี่ยาก ต้องไปหาจุดไม่ดีของเขา สำหรับจะเกลียด หรือจะไม่พอใจ แต่ถ้าเราเป็นคน ...

    ผู้ฟัง ยกตัวอย่าง เห็นคนๆ หนึ่งเขาขับรถไป อีกคนหนึ่งถอยหลังรถออกมาทำให้ชนโดยไม่รู้ว่ามีคนขับรถมา พอชนปุ๊บ คนที่ขับรถไปชนเขาก็โกรธ แต่คนที่นั่งมาด้วยข้างๆ บอกว่า จะโกรธเขาทำไม เขาไม่รู้ว่ารถเรากำลังมา เพราะเขาถอยหลังมา คนแรกนี่โกรธแล้ว คนที่สองเป็นคนแก้ตัวให้โดยที่ไม่รู้จักกับคนที่ถอยรถมาเลย อย่างนี้เขามีเมตตาหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ถามคนอื่น เรื่องของสภาพธรรม ถ้าเราเข้าใจ คือ ถ้าเราเข้าใจว่า โลภะ คือ ความติด ความต้องการ โทสะ คือ ความขุ่นเคืองแม้เพียงเล็กน้อย ส่วนอโลภะ คือ ความไม่ติด ไม่ข้อง ไม่ต้องการ และอโทสะ คือ ความไม่โกรธ เพราะฉะนั้น เป็นสภาพจิตซึ่งไม่โกรธ ขณะนั้นคนอื่นจะบอกแทนเราไม่ได้เลยว่า เรามีเมตตา คือ ความเป็นเพื่อน ความหวังดี เพื่อประโยชน์ของคนนั้นหรือเปล่า

    ถ้าเดี๋ยวนี้เราเดินออกไปข้างนอก และเราเป็นมิตรกับทุกคน ไม่ได้เป็นศัตรูเลย ไม่ว่าจะมีหนวด หรือมีผิวต่างกับเรา หรือเมื่อกี้ที่เรานั่งรถไป ถ้าเกิดอกุศลจิต อย่างคนขายของบางทีเขาอาจจะมากวนอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าเราสามารถรักษาจิตของเราเป็นเพื่อน คือ เขาก็เป็นคนที่ขายของ เงินทองก็มีความหมายกับเขา บางครั้งเราทำบุญได้เยอะแยะ และเรามานั่งต่อราคาสามล้อบ้าง แม่ค้าบ้าง คิดถึงชีวิตเขาว่า เขามีลูกกี่คน ลูกเขากำลังเรียนหนังสือ ซึ่งเขาก็ไม่ได้มาบรรยายสภาพความต้องการ ความขาดแคลนในครอบครัวของเขา เขาอาจจะมีแม่ป่วยในโรงพยาบาล หรืออะไร ก็ได้โดยสภาพฐานะความเป็นอยู่ อย่างเขาก็ไม่มีรถ ต้องไปเช่าสามล้อมาบ้าง แท็กซี่บ้าง จราจรเรียกบ้าง และเราก็ต่อนิดต่อหน่อย แต่เราไปทำบุญเยอะแยะ

    เพราะฉะนั้น เราน่าจะเป็นมิตรกับทุกคน พร้อมที่จะให้ประโยชน์กับทุกคน แล้วแต่ว่าขณะนั้นเราพบใคร ถ้าเรานั่งสามล้อ เท่าไร อาจจะไม่ต้องทอนก็ได้ เมื่อนึกถึงครอบครัวเขา และพวกผลไม้อะไรอย่างนี้ เขาอาจจะรวยกว่าเรา เพราะเขาขายของกำไรมาก ใช่ไหม ก็เป็นเรื่องของกาลเทศะเกี่ยวกับสภาพจิตของเราว่า ขณะนั้นเรามีความเป็นมิตร หรือเราเป็นเรา เขาเป็นเขา และเราก็คิดไกลจนกระทั่งว่า ต้นทุนเท่านี้ กำไรเท่านั้น เป็นเรื่องคิดมากจัง แต่ถ้าจิตของเราเป็นเพื่อนกับเขา ไม่ว่าเขาจะอาชีพใดก็ตาม ก็สบายใจดี

    เจริญเมตตา คือ ความเป็นเพื่อน เมตตานี่คือความเป็นเพื่อนจริงๆ ไม่มีอะไรมากั้น ถ้าใช้คำว่าเพื่อน จะไม่มียศ ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีฐานะ ไม่มีความรู้ ไม่มีอะไรเลยที่จะมาขวางความเป็นเพื่อน ไม่มีช่องว่าง

    ผู้ฟัง ... (ได้ยินไม่ชัด)

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราคิดว่า คนนี้มาเอาเปรียบเรา รู้ได้อย่างไร ถ้าเรารู้ว่าราคาแพงไปก็แล้วแต่ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราคิดถึงครอบครัวเขาฐานะของเขา จะเป็นประโยชน์กว่า เพราะเหมือนกับทำบุญกุศล เคยทำบุญอย่างอื่นไหม

    ผู้ฟัง ... (ได้ยินไม่ชัด)

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกัน ก็ทำ ไม่อยากเรียกว่าเอาเปรียบเลย ถ้าเอาเปรียบเรา ยิ่งน่าสงสาร เพราะเป็นอกุศล

    ขอยกตัวอย่างเรื่องที่ถนนเพชรบุรี ทุกคนสงสารเหลือเกินคนที่ถูกไฟลวกเผา แต่ทำไมสงสารเขาช้าจัง ทำไมไม่สงสารตอนที่เขาทำอกุศลกรรมซึ่งเป็นเหตุให้เขาต้องถูกเผา เพราะถ้าเขาไม่เคยมีอกุศลกรรมมาก่อน เขาจะไม่ได้รับวิบากกรรมอย่างนี้ ไม่มีทางเลยที่ใครจะไปติดไฟแดงและถูกไฟลวกเผาอย่างนั้น

    ทุกคนใช้คำว่า ขึ้นอยู่กับกรรม ถึงแก่กรรม เมื่อกรรมมาแล้วหนีไม่ได้ ไม่มีใครหนีกรรมพ้น เพราะฉะนั้น ต้องเป็นอกุศลกรรมแน่ๆ ที่ทำให้เขาได้รับวิบากอย่างนั้น และเรามาสงสารตอนเขาได้รับวิบาก แต่ตอนที่เขาทำอกุศลกรรม เริ่มสงสารได้แล้ว เพราะฉะนั้น ตอนที่แท็กซี่เขาจะมีโก่งราคาเรา เราก็สงสารที่เขาโก่งราคา หรือใคร ก็ตามที่ทำอกุศลกรรม สงสารทันทีเลย

    ผู้ฟัง ... (ได้ยินไม่ชัด)

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่เรา แต่ถ้าเราจะมีเมตตาก็ดี

    เพราะชีวิตเราดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว และยิ่งเห็นว่าชีวิตเราดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียวก็น่าจะคิดว่า ขณะจิตเดียวนี้จะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล มีขณะจิตเดียวให้เลือก ชีวิตเราดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว และขณะจิตเดียวนี้จะให้เป็นกุศล หรือจะให้เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ... (ได้ยินไม่ชัด)

    ท่านอาจารย์ ก็อย่าไปโกรธ หรืออย่าไปคิดมาก

    ผู้ฟัง ... (ได้ยินไม่ชัด)

    ท่านอาจารย์ นั่นแหละ อกุศลหมด

    นีน่า ดิฉันคิดว่า ส่วนใหญ่เราคิดถึงเรื่องเมตตา และเรื่องขันติ แต่ไม่ใช่ลักษณะ ถ้าเป็นเรื่องเท่านั้น เจริญไม่ได้ เราพูดเรื่องเมตตา แต่ความจริงในชีวิตประจำวัน ดูคนอื่นที่เราไม่พอใจ ขันติไม่มาก คิดถึงเรื่องขันติและเรื่องเมตตา ต้องมีเมตตาต่อทุกคน มีจริง และสติปัฏฐานสลับกันช่วยให้มีสติสัมปชัญญะ รู้ลักษณะเมตตา และรู้ลักษณะขันติ ไม่ใช่เรื่องเท่านั้น แต่ยากสำหรับทุกคน เราคิดเรื่อง มีแต่เรื่องขันติ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุด คือ จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ลืมไม่ได้เลย ถ้าเราไม่รู้จุดประสงค์ของการเรียน เราจะไม่ไปถึงไหนเลย เราต้องรู้ว่า เราฟังทำไม คือ ฟังเพื่อรู้จักตัวเรา ฟังเพื่ออบรมเจริญกุศล เพื่อแก้ไขตัวเราให้เป็น คนที่ดีขึ้น ไม่อย่างนั้นเราศึกษาพระธรรมแล้วเราก็มีมานะ มีความสำคัญตน เรารู้มาก เราเก่ง เจตสิกมีเท่านี้ จิตมีเท่านั้น ใครก็พูดอย่างเราไม่ได้ คิดอย่างเราไม่ได้ เขียนอย่างเราไม่ได้ นึกอย่างเราไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ต้องกล่าวว่า ไม่มีประโยชน์เลย

    เราไม่ได้เรียนเพื่อไปเป็นอาจารย์ เพื่อมีลาภ มีชื่อเสียง มียศ หรืออะไร แต่เรียนเพื่ออบรมเจริญปัญญา เพื่อละสิ่งเหล่านั้น ละการติดข้องในสิ่งเหล่านั้น นี่จึงจะเป็นประโยชน์ ไม่อย่างนั้น บางคนเราก็ทราบว่า ยิ่งเรียนยิ่งมีความสำคัญตน เพราะฉะนั้น ไม่ได้ประโยชน์จากการเรียน

    ถ้าเรียนแบบนั้นก็เรียนแบบงูพิษ เพราะว่าทำร้ายตัวเอง จะรู้มากหรือรู้น้อยอย่างไรก็ตามเพื่อประโยชน์ คือ เป็นปัญญาที่จะขัดเกลาละคลายอกุศล เพราะว่าอกุศลไม่มีทางที่อย่างอื่นจะขัดเกลาหรือละคลายได้ นอกจากปัญญาอย่างเดียว

    ข้อความในพระไตรปิฎกแสดงให้เห็นว่า วันหนึ่งๆ สติจะเกิดพิจารณาความถูกต้องและความจริงของสภาพธรรมแม้ในทางโลกอย่างไรบ้าง เพราะว่าทุกคนยังอยู่ในโลก ยังพ้นโลกไปไม่ได้เลย ยังมีเพื่อนสนิทมิตรสหาย ยังมีการที่จะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ แต่ว่าจิตที่ระลึกเป็นไปแต่ละขณะในขณะที่เกี่ยวข้องกับ บุคคลอื่น หรือว่าพิจารณาความถูกต้องความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้นอย่างไร

    แม้แต่ในเรื่องของเพื่อน พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงข้อความที่ทำให้ทุกท่านได้พิจารณาว่า สติเกิดระลึกเป็นไปในเรื่องของมิตรสหายในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง ซึ่งใน ขุททกนิกาย ทวาทสนิบาตชาดก มิตตามิตตชาดก ข้อ ๑๗๑๓ – ๑๗๒๔ มีข้อความว่า

    บุรุษผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญา ได้เห็น และได้ฟังซึ่งบุคคลผู้ทำกรรมอย่างไร จึงจะรู้ได้ว่า ผู้นี้ไม่ใช่มิตร วิญญูชนจะพึงพยายามอย่างไรเพื่อจะรู้ได้ว่า ผู้นี้ไม่ใช่มิตร

    เรื่องของมิตรเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าการคบสมาคมกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดอาจจะนำความเจริญอย่างมากมาให้ หรืออาจจะนำความเสื่อมอย่างมากมาให้ ซึ่งความเสื่อมอย่างมาก คือ ความเสื่อมโดยเห็นผิดในข้อประพฤติปฏิบัติในธรรม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บุคคลผู้มิใช่มิตร เห็นเพื่อนๆ แล้วไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ร่าเริงต้อนรับเพื่อน ไม่แลดูเพื่อน กล่าวคำย้อนเพื่อน

    เพียงแค่นี้ก็เตือนสติได้แล้ว ใช่ไหม ถ้าขณะใดที่นึกย้อน หรือพูดย้อนเพียง นิดเดียว ขณะนั้นไม่ใช่เพื่อน เพราะฉะนั้น ท่านที่จะเป็นเพื่อนของใคร หรือใครจะเป็นเพื่อนกับใคร ก็สามารถพิจารณาสภาพของจิตในขณะนั้นได้จริงๆ ว่า ลักษณะของผู้ที่เป็นมิตร และผู้ที่ไม่ใช่มิตรนั้น ต่างกันอย่างไร

    บุคคลผู้มิใช่มิตร คบหาศัตรูของเพื่อน ไม่คบหามิตรของเพื่อน ห้ามผู้ที่กล่าวสรรเสริญเพื่อน สรรเสริญผู้ที่ด่าเพื่อน

    ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานก็มีท่านพระเทวทัต และยังมีพระภิกษุซึ่งมีความเห็นผิด มีการปฏิบัติผิดอีกหลายท่าน

    บุคคลผู้มิใช่มิตร ไม่บอกความลับแก่เพื่อน ไม่ช่วยปกปิดความลับของเพื่อน ไม่สรรเสริญการงานของเพื่อน ไม่สรรเสริญปัญญาของเพื่อน

    เป็นเรื่องสติหรือเปล่า เป็นชีวิตจริงๆ ที่จะรู้ว่าสติเกิดในขณะใด และสติไม่เกิดในขณะใด บางสิ่งบางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์เลยที่จะกล่าวถึง เพราะว่าทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเกิดอกุศลจิต ก็ไม่พูดจะดีกว่า หรือในเรื่องเดียวกัน ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ก็พูด หมายความว่าต้องพิจารณาก่อน ซึ่งในขณะนั้นเป็นสติ เพราะฉะนั้น แม้ในชีวิตประจำวันก็จะเห็นได้ว่า ขณะใดเป็นกุศล และขณะใดเป็นอกุศล

    บุคคลผู้มิใช่มิตร ยินดีในความพินาศของเพื่อน ไม่ยินดีในความเจริญของเพื่อน ได้อาหารที่มีรสอร่อยมาแล้วก็มิได้นึกถึงเพื่อน ไม่ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่า อย่างไรหนอเพื่อนของเราพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง



    หมายเลข 3
    5 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ