เมตตา ตอนที่ 20
ไม่ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่า อย่างไรหนอเพื่อนของเราพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง
บุคคลผู้มิใช่มิตร ยินดีในความพินาศของเพื่อน
เพื่อนหรือไม่ใช่เพื่อนก็ตาม ถ้ายินดีในความพินาศของใคร ในขณะนั้น สติควรจะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตได้แล้ว แต่ถ้าสติไม่เกิด ขอให้พิจารณาจิต ในขณะที่อ่านหนังสือพิมพ์ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เลยว่า สติเกิดหรือไม่เกิดในขณะใด เพราะไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือไม่เป็นเพื่อนก็ตาม ถ้ายินดีในความพินาศของบุคคลใด ก็ตาม ในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต และถ้า ไม่ยินดีในความเจริญของเพื่อน ก็เป็น อกุศลจิต รวมทั้ง ได้อาหารที่มีรสอร่อยมาแล้วก็มิได้นึกถึงเพื่อน ไม่ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่า อย่างไรหนอเพื่อนของเราพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง
บัณฑิตได้เห็น และได้ฟังแล้ว พึงรู้ว่าไม่ใช่มิตรด้วยอาการเหล่าใด อาการดังกล่าวมา ๑๖ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้มิใช่มิตร
วิธีที่จะทราบว่า ท่านเป็นมิตรของใคร และไม่ใช่มิตรของใคร ก็คงพอที่จะรู้ได้จากจิตที่เกิดขึ้นตามเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
บัณฑิตมีปัญญา ได้เห็นและได้ฟังบุคคลผู้กระทำกรรมอย่างไรจึงจะรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นมิตร วิญญูชนจะพึงพยายามอย่างไรเพื่อจะรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นมิตร
บุคคลผู้เป็นมิตรนั้น ย่อมระลึกถึงเพื่อนผู้อยู่ห่างไกล ย่อมยินดีต้อนรับเพื่อน ผู้มาหา ถือว่าเป็นเพื่อนของเราจริง รักใคร่จริง ทักทายปราศรัยด้วยวาจาอันไพเราะ
คนที่เป็นมิตร ย่อมคบหาผู้ที่เป็นมิตรของเพื่อน ไม่คบหาผู้ที่ไม่ใช่มิตรของเพื่อน ห้ามปรามผู้ที่ด่าติเตียนเพื่อน สรรเสริญผู้ที่พรรณนาคุณความดีของเพื่อน
ถ้าท่านผู้ฟังอยากจะเจริญแต่เมตตา อยากจะมีเมตตามากๆ แต่เวลาที่ พูดถึงเพื่อน เกี่ยวข้องกับเรื่องเมตตาหรือเปล่า เพราะว่าเมตตาคือความเป็นมิตร อย่างจริงใจ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าท่านคิดว่าท่านจะเจริญเมตตาโดยขาดการพิจารณาบุคคลที่เป็นเพื่อนของท่านในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่การเป็นเพื่อนของท่านต่อบุคคลอื่นจริงๆ
ถ้าท่านเป็นเพื่อนแท้ของบุคคลใด ก็แสดงว่า ท่านเป็นผู้ที่มีเมตตาต่อบุคคลนั้น และก็รู้ได้ว่าถ้าหวังร้ายต่อใคร หรือว่ายินดีในความพินาศของใครในขณะใด ขณะนั้นท่านไม่ได้เจริญเมตตา ไม่ต้องไปแผ่ไปให้ไกลมาก เพียงแต่ผู้ที่ท่านรู้จักคุ้นเคย และ ท่านเกิดความไม่พอใจในความเจริญของบุคคลนั้น หรือว่ายินดีในความพินาศของบุคคลนั้น ก็ชื่อว่าท่านไม่ได้เจริญเมตตาในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น ข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมด จะส่องไปถึงสภาพของธรรม แม้แต่ส่วนที่ท่านคิดว่าท่านต้องการเจริญ เช่น เมตตา แต่ถ้าท่านไม่อยากจะฟังเรื่องของเพื่อน ท่านจะรู้จักตัวของท่านได้อย่างไรว่า มีเมตตาจริงๆ หรือเปล่า
ข้อความต่อไปมีว่า
คนที่เป็นมิตร ย่อมบอกความลับแก่มิตร ปิดความลับของเพื่อน สรรเสริญ การงานของเพื่อน สรรเสริญปัญญาของเพื่อน
คนที่เป็นมิตร ย่อมยินดีในความเจริญของเพื่อน ไม่ยินดีในความเสื่อมของเพื่อน ได้อาหารมีรสอร่อยมาย่อมระลึกถึงเพื่อน ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่า อย่างไรหนอเพื่อนของเราจะพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง
บัณฑิตได้เห็นแล้ว ได้ฟังแล้ว พึงรู้ว่าเป็นมิตรด้วยอาการเหล่าใด อาการดังกล่าวมา ๑๖ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้เป็นมิตร
จบ มิตตามิตตชาดกที่ ๑๐
ไม่เคยคิดที่จะนับ ๑๖ ประการเพื่อที่จะทดสอบความเป็นเพื่อน ใช่ไหม ก็ไม่จำเป็น แต่เวลามีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น หรือระลึกถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็พิจารณาจิตว่า ในขณะนั้นเป็นไปด้วยความเป็นมิตร ด้วยความเมตตาหรือไม่ หรือว่าต่อไปนี้จะต้องรีบไปบอกความลับให้เพื่อนทราบหมดทุกอย่าง นั่นก็ ไม่ถูกอีก คือ เรื่องของสติ ต้องเป็นไปในทางที่ถูกต้อง ในทางที่สมควร เพราะข้อความในชาดกตอนหนึ่งมีว่า
ไม่ควรให้มิตรโง่รู้ความลับ
อะไรก็ตามที่จะเป็นเหตุให้อกุศลจิตเจริญมากมาย จากบุคคลหนึ่งสู่อีก บุคคลหนึ่ง จากบุคคลหนึ่งต่อๆ ไปอีกบุคคลหนึ่ง ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่จำเป็น ส่วนในเรื่องของความลับที่จะพิสูจน์ว่าเป็นเพื่อนหรือไม่ คือ เมื่อสามารถ ที่จะเกื้อกูลได้ ช่วยเหลือได้ ก็ควรที่จะบอก แต่ไม่ใช่บอกให้บุคคลอื่นเกิดความ เป็นห่วง ความทุกข์ร้อน หรือว่าความกังวลใจ
เป็นเรื่องของสติจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าท่านจะพูด หรือจะทำอะไร แม้แต่ในเรื่องที่ท่านคิดว่าเป็นความลับ ก็ต้องมีสติที่จะรู้ว่าบอกเพื่ออะไร และไม่บอกเพื่ออะไร
ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า การรู้ธรรมโดยละเอียด เช่น รู้เรื่องจิตประเภทต่างๆ เรื่องเจตสิก เรื่องรูป จำเป็นอย่างไร และมีประโยชน์อย่างไรในการอบรมเจริญ สติปัฏฐาน
นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าคิด
จุดประสงค์ คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ต้องเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมก่อน เพราะถ้าไม่มีความรู้ในเรื่องของสภาพธรรมเลย จะไม่รู้ว่า การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมคืออย่างไร และไม่รู้แม้แต่ว่า สัจจธรรมคืออย่างไร
เพราะฉะนั้น ประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม ซึ่งทุกท่านก็ฟังอยู่เป็นประจำทั้งเช้าทั้งค่ำและในโอกาสอื่นๆ คือ เพื่อละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นตัวตนในขณะที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น
แสดงให้เห็นว่า ความรู้ความเข้าใจธรรมต้องมีหลายขั้นจริงๆ แม้ในเรื่อง การฟัง รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นทุกขสัจจ์ เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ กว่า สติปัฏฐานจะเกิด และเมื่อสติปัฏฐานเกิดกว่าจะรู้ตามที่ได้ฟังว่า สภาพรู้คือปกติธรรมดาอย่างนี้เอง ที่กำลังเห็นนี่เป็นสภาพรู้ กำลังได้ยินตามปกติธรรมดานี่เองเป็น สัจจธรรม เป็นสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ ในขณะที่คิดนึก ในขณะที่เป็นสุขเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ตรงจะเห็นว่า การละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น ไม่ง่ายเลย พิสูจน์ได้จากตัวท่านเอง ทุกๆ ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เพราะว่าไม่ใช่ใครจะละ แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่ได้อบรมสะสมเจริญ จนกระทั่งเกื้อกูลให้สติปัฏฐานเกิดระลึก และต้องมีปัญญาศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนกระทั่งค่อยๆ รู้ขึ้น ไม่ใช่ทีเดียวรู้ได้ชัดเจน ตามความเป็นจริงจะค่อยๆ รู้ขึ้น จนกว่าจะรู้ชัดจนกระทั่งสามารถละคลายความติด ความเยื่อใยที่เคยเห็นก็เป็นเราเห็น โดยไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพรู้ หรือเวลาที่ได้ยินก็ไม่รู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น
ทุกท่านพิสูจน์กับตัวเองได้ว่า เท่าที่ได้ฟังพระธรรมมาแล้ว ซึ่งคงจะไม่ใช่ แต่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว ในชาติก่อนๆ ก็ต้องเคยฟังพระธรรมมาแล้ว แต่ก็ยังไม่พอที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะฉะนั้น จะมีวิธีอื่นอีกไหม นอกจากเมื่อปัญญาไม่พอก็ต้องอบรมเจริญปัญญา และจะอบรมเจริญปัญญาอย่างไร ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมก็ไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาได้ เพราะว่าไม่ใช่เรื่องทำ ไม่ใช่เรื่องวิธี แต่เป็นเรื่องเข้าใจ เป็นเรื่องรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏจนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น
ไม่ว่าจะฟังธรรมที่เกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือชีวิตปกติประจำวัน ก็เพื่อเป็นสังขารขันธ์ที่จะเกื้อกูล และเป็นหนทางเดียวที่จะอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น ต้องฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ พร้อมกับการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เหมือนอย่างท่านพระสาวกทั้งหลายที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ซึ่งท่านเหล่านั้นก็เป็นผู้ฟังพระธรรมและมีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน หรือท่านผู้ฟังคิดว่า ท่านน่าจะทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน
ทุกเรื่องที่ได้ฟัง เช่น ถ้ากล่าวเรื่องประเภทของจิตโดยเหตุ ก็ต้องพิจารณาว่า มีประโยชน์กับการเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไหม ก็ต้องมีแน่ และจะต้องพิจารณาว่ามีประโยชน์อย่างไร จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้ สติปัฏฐานเกิดและรู้ในลักษณะสภาพที่กำลังปรากฏอย่างไร
เช่น การรู้ว่า มีจิตทั้งหมด ๘๙ ประเภท โดยเหตุที่เกิดร่วมกับจิตและไม่เกิดร่วมกับจิต เป็นอเหตุกจิต ๑๘ ดวง คือ เป็นจิตที่ไม่เกิดร่วมกับโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก ซึ่งเป็นเหตุ ๖ จิตใดที่ไม่มีเจตสิก ๖ ดวงนี้เกิดร่วมด้วย จิตนั้นเป็นอเหตุกจิต
มีประโยชน์ไหมในชีวิตประจำวันที่จะรู้ว่า ชีวิตทุกวันมีทั้งจิตที่เป็นอเหตุกะ และมีจิตที่เป็นสเหตุกะด้วย เพราะว่าจิตทั้งหมดมี ๘๙ ดวง เป็นอเหตุกจิต ๑๘ ดวง จิตที่เหลือ ๗๑ ดวง ก็เป็นสเหตุกะ
สเหตุกจิต หมายความว่า จิตบางขณะ บางดวง เกิดร่วมกับโลภะและโมหะ และจิตบางประเภทก็เกิดร่วมกับโทสะและโมหะ และจิตบางประเภทก็เป็นโมหะล้วนๆ ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะเกิดร่วมด้วย และจิตบางประเภทก็เกิดร่วมกับอโลภะ อโทสะ จิตบางประเภทก็เกิดร่วมกับอโลภะ อโทสะ และอโมหะ
การรู้อย่างนี้มีประโยชน์ เพราะว่าโลภมูลจิตก็ดี อยู่ที่ไหน แม้เกิดขึ้น ถ้าไม่ศึกษาก็ไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นตัวเองมีโลภมูลจิตมากมายสักเท่าไร หรือแม้ โมหมูลจิตก็ดี หรือกุศลจิตก็ดี จะเห็นได้ว่า การรู้ว่าวันหนึ่งๆ มีจิตทั้งที่เป็นอเหตุกะและสเหตุกะ ย่อมทำให้สามารถระลึกศึกษาที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นอเหตุกจิต และ ขณะใดเป็นสเหตุกจิต และถ้าใช้คำว่า อเหตุกจิต หรือ สเหตุกจิต ย่อมหมายความว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นจิต นี่ก็เป็นการเตือนให้ระลึกได้ที่จะรู้ว่า ไม่มีตัวตน
การฟังพระธรรมโดยละเอียด จะทำให้ปัญญาเริ่มสังเกต พิจารณา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นลักษณะของนามธรรม ต่างกับลักษณะของรูปธรรม
ลักษณะของสภาพธรรมมีจริงๆ และการรู้เรื่องของสภาพธรรมละเอียดขึ้น จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิด แม้ว่าในขณะที่สติเกิดนั้นไม่ใช่รู้ว่าเป็นอเหตุกจิตหรือสเหตุกจิต ไม่ใช่โดยชื่อ เพราะว่ายังไม่รู้ลักษณะของจิต ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรม จิตเป็นแต่เพียงชื่อหรือคำที่ได้ยินและเข้าใจว่าเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ซึ่งทุกคนมี แต่จะรู้จิตได้ในขณะที่กำลังเห็น ซึ่งจะต้องพิจารณาว่า ขณะเห็นนี้ เป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นไม่ใช่รู้ว่า กำลังเห็นเป็นจักขุวิญญาณ เป็นอเหตุกจิต แต่เพราะว่าเคยฟังเรื่องของเห็นและรู้ว่าเป็นสภาพรู้ เป็นจิตชนิดหนึ่ง และยังรู้ประเภทด้วยว่า ขณะนั้นเป็นจิตประเภทวิบากซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ก็จะระลึกตามได้ในขณะที่เห็นว่า ไม่มีใครสามารถสร้างสภาพธรรมนี้ขึ้นได้เลย และ ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งไม่ให้สภาพธรรมนี้เกิด เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้สภาพนี้เกิด สภาพธรรมนี้ก็ต้องเกิด เพราะว่ามีปัจจัยที่จักขุวิญญาณจะเกิดขึ้นเห็น หรือมีปัจจัยที่โสตวิญญาณจะเกิดขึ้นได้ยิน
ฟังสักเท่าไรก็ยังไม่ง่ายที่จะรู้ความจริง แต่เข้าใจเรื่องได้ เข้าใจเรื่องของ จักขุวิญญาณ เข้าใจเรื่องของโสตวิญญาณ ถ้าใครถามก็บอกว่า เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ แต่ที่จะรู้จริงๆ ต้องสังเกต โดยระลึกและรู้ว่า ที่กำลังเห็น ในขณะนี้เป็นสภาพรู้ และต้องเป็นการรู้ตามลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นและปรากฏในชีวิตประจำวัน จึงจะเป็นปัญญาที่แท้จริงที่สามารถละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ เพราะรู้ความจริงว่า ไม่มีตัวตน ที่จะสร้างสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งสิ้น แม้แต่รูปแข็งที่กำลังปรากฏก็ไม่มีใครสร้างได้ ไม่ว่าจะเป็นธรรม สิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งหมด ถ้าสติเกิดระลึกจะรู้ความจริงว่า ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวันของยุคไหนสมัยไหน คือ ในสมัยที่ พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน หรือปรินิพพานไปแล้ว ๒,๕๐๐ กว่าปี หรือจะถึง ๓,๐๐๐ ปี ๔,๐๐๐ ปี ๕,๐๐๐ ปี ในอนาคตก็ตาม สติของผู้อบรมเจริญปัญญา ที่จะดับกิเลส ต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติทั่วทั้ง ๖ ทวาร และพิจารณาสังเกตลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม คลายความไม่รู้ คลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน
เหตุผลทั้งหมดนี่จะสอดคล้องกัน ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกศึกษา จึงรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏตามความเป็นจริงว่า บังคับบัญชาไม่ได้ ถ้ารู้อย่างนี้จะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน โดยไม่เลือกรู้ เฉพาะบางนามบางรูป
นี่เป็นความรู้ เมื่อรู้ก็ไม่เลือก เพราะไม่ว่าสภาพธรรมอย่างใดที่ปรากฏ สภาพธรรมนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ก็จะมีการเจาะจง และเลือกด้วยความไม่รู้ หรือพยายามหาทางหนึ่งทางใดที่จะรู้นามหนึ่งนามใดโดยที่ ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพธรรมที่ปัญญาจะต้องรู้ทั่วจึงจะละคลายได้
ก็เป็นเรื่องซ้ำ เป็นชีวิตประจำวัน และก็เป็นขณะนี้ที่สติอาจจะเกิดระลึก และกำลังศึกษาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ
เมื่อเป็นสิ่งที่ยากอย่างนี้ ความไม่รู้และความหลงผิดก็ย่อมมีมากด้วย เพราะว่ารู้ยาก เพราะฉะนั้น ก็ทำให้เข้าใจผิดได้ หรือหลงผิดไปได้ ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม โดยละเอียดจริงๆ เพราะท่านที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด บางท่านก็คิดว่า ได้ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว อาจจะเข้าใจอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ข้อความในพระไตรปิฎกจึงมีวิปัสสนาญาณเป็นเครื่องเตือนให้พิจารณาให้รู้ความจริงว่า ใครจะคิดอย่างไรก็ตามว่าได้ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว แต่วิปัสสนาญาณต้องเป็นความรู้ชัดทางมโนทวาร ที่ประจักษ์แจ้งลักษณะที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งต้องอาศัยเหตุที่ถูกต้อง คือ สัมมามรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ สัมมาสติเกิดระลึก และสัมมาทิฏฐิก็เริ่มพิจารณาศึกษาลักษณะของสภาพธรรมทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ จนกว่าความรู้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ไม่ใช่หลงผิดไปทำอย่างอื่นที่ต้องการผลเร็วๆ เพราะว่าผลเร็วเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นการอบรมเจริญความรู้
มีใครที่จะไปนั่งทำอะไรและให้รู้เร็วๆ ได้บ้าง นอกจากการฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการฟังพระธรรมโดยละเอียด ก็เพื่อสะสมเพิ่มพูน ความเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏยิ่งๆ ขึ้น ซึ่งจะเกื้อกูล ให้สติระลึกได้ เพราะได้ยินได้ฟังบ่อยๆ เรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของรูป ซึ่งไม่ได้อยู่ที่อื่น แต่มีอยู่ทุกขณะที่ตนเองที่จะให้พิสูจน์ได้ และเมื่อสติปัฏฐานเกิดและปัญญาค่อยๆ สังเกต ความรู้ค่อยๆ เพิ่ม ก็จะถึงกาลสมัยหนึ่งซึ่งความรู้ทั้งหมดที่ ได้ยินได้ฟังจะเกื้อกูลให้เกิดการละคลายการยึดถือสภาพธรรม ในขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมเลย จะทำอย่างไรๆ ก็ไม่มีการที่จะละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรม แม้ว่าสติเกิดระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรม
เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมเป็นสิ่งที่ต้องเจริญขึ้นในความเข้าใจ และเกื้อกูลแก่การที่จะระลึกถึงธรรมที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ และพิจารณา แล้วแต่ว่าจะเป็นขั้นไตร่ตรอง หรือเป็นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ
ถ. เรื่องตัวตน ผมพอจะทราบแล้ว ขอถามอีกนิดหนึ่ง ฟังจากเทปวิทยุ ที่ว่า ในมหาสติปัฏฐาน ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน พิจารณากายในกาย
ท่านอาจารย์ ยังไม่เคยพิจารณาเลย ใช่ไหม
ถ. ไม่เข้าใจ พิจารณาไม่ถูก
ท่านอาจารย์ ขอถามสักนิด อยากปฏิบัติไหม
ถ. อยาก
ท่านอาจารย์ ผิดหรือถูก
ถ. ถูก
ท่านอาจารย์ ปฏิบัติอะไร อยากปฏิบัติ หรืออยากเข้าใจ
ถ. อยากเข้าใจวิธีปฏิบัติ
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ต้องขอขอบพระคุณอย่างมากที่เป็นตัวแทนของ ท่านผู้ฟังอีกหลายท่านซึ่งยังสับสนมากในเรื่องของการจะปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ควรทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องของการอยาก ขอเปลี่ยนทัศนะความเห็น
ถ. ถ้าถามว่าอยากปฏิบัติไหม ก็พาซื่อว่าอยาก ถ้าถามว่า พอใจปฏิบัติไหม ก็พาซื่อว่าพอใจ
ท่านอาจารย์ ก็เป็นวิสัยของปุถุชน เป็นของธรรมดา เพราะฉะนั้น ต้องชี้กลับจากผิดเป็นถูก คือ ถ้ายังไม่เข้าใจก็ปฏิบัติไม่ได้ ที่ถามวันนี้ ขออนุโมทนาที่ว่าต้องเข้าใจก่อนตั้งแต่ขั้นต้นว่าจะปฏิบัติอะไร
ถ. ก็ปฏิบัติในมหาสติปัฏฐาน
ท่านอาจารย์ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นกายในกาย จะปฏิบัติอันนี้ใช่ไหม
ถ. จะเข้าใจอันนี้ก่อน ยังไม่ปฏิบัติหรอก
ท่านอาจารย์ ดีมาก ถูกต้อง จะเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจปฏิบัติไม่ได้
ถ. แน่นอน
ท่านอาจารย์ ดีมาก เวลานี้มีกายไหม
ถ. กายนี่หมายถึงอะไร ธรรมกายที่วัดนั้นก็มี สังขารก็เป็นกายหรือเปล่า ถ้าบอกว่า กาย คือ สภาพของอาการ ๓๒ โกฏฐาส นั่นคือกาย
ท่านอาจารย์ เอาปัญญาของท่านผู้ฟังเอง ขณะนี้มีกายไหม ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ตั้งแต่เกิดมาเลย
ถ. ตั้งแต่เส้นผมถึงปลายเท้า และมีใจด้วย
ท่านอาจารย์ และทุกคนก็ไม่เคยคิด ไม่เคยรู้เลยว่ามาได้อย่างไร ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเกิดมาจากไหน ใช่ไหม ที่จริงแล้วมีเหตุ แต่เมื่อยังไม่รู้ก็ไม่เป็นไร ถ้าศึกษาต่อไปสามารถจะรู้ได้จริงๆ ว่า ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเกิดขึ้นจากอะไร แต่ไม่จำเป็นต้องย้อนไปไกลมาก แค่ขณะนี้ที่กำลังมีกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้ายึดถือว่าเป็นกาย เพราะมี รูปหลายรูปประชุมรวมกัน ถ้าแตกย่อยกระจัดกระจายออกหมด จะรวมกันเป็นกาย ได้ไหม
ถ. ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ แต่ตราบใดที่ยังรวมกันอยู่ ก็ยังคงยึดถือว่าเป็นร่างกายตราบนั้น ใช่ไหม เพราะฉะนั้น จะต้องฟังและพิจารณาให้เข้าใจว่า รูปร่างกายทั้งหมดกำลังทยอยกันเกิดและทยอยกันดับแต่ละกลาปหรือแต่ละกลุ่มอย่างรวดเร็ว นี่เป็นขั้นการฟังที่จะพิจารณาให้เข้าใจว่า เป็นจริงๆ อย่างนั้นหรือเปล่า
อย่างการเห็น มีจักขุปสาทชั่วขณะเป็นปัจจัยให้เกิดเห็นแล้วก็ดับ การได้ยิน ก็เหมือนกัน ถ้ารูปร่างกายไม่เกิดดับอย่างละเอียดจะไม่ปรากฏเป็นความชรา ความแก่ หรือความเจ็บ ถูกไหม ถ้ายังคงที่อยู่ แต่เพราะว่ารูปเกิดดับเร็วมาก และปัญญาสามารถที่จะประจักษ์แจ้งจริงๆ ซึ่งทางที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมมี ๖ ทาง คือ ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ ทางใจ ๑
สั้นๆ กะทัดรัด คือ ทางที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมมีเพียง ๖ ทาง คือ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑
ขณะนี้เห็น ถ้าจะประจักษ์แจ้งลักษณะธรรมต้องรู้ความจริงขณะที่เห็น ถูกไหมขณะที่ได้ยิน จะรู้แจ้งความจริงของสภาพธรรมก็ในขณะที่ได้ยิน รู้ลักษณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะที่คิดนึก การที่จะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ต้องรู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็กำลังจะใกล้ เข้ามาแล้ว
ถ. ยังไม่ทราบที่ว่า ภายในเป็นภายใน ที่ผมถามประเด็นตอนแรก ผมตั้งจุดว่า พิจารณากายในกาย
ท่านอาจารย์ สิ่งที่ได้เรียนมา อ่านมาทั้งหมด ที่สำคัญ คือ ต้องเข้าใจ ไม่ใช่หยิบคำมาเฉยๆ คำว่า ภายใน และ ภายนอก ความหมายอย่างหนึ่ง คือ ธรรมทั้งหลายที่เกิดภายในตน เป็นภายใน ธรรมทั้งหลายที่เกิดภายนอกคือที่บุคคลอื่น เป็นภายนอก
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ การที่จะรู้สภาพธรรมที่เกิดกับตน คือ ใครเห็น กำลังเห็น ใช่ไหม ไม่จำเป็นต้องไปเอาชื่อมาใส่ว่าภายในเป็นอย่างนี้ ภายนอก เป็นอย่างนั้น แต่เอาสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า จะต้องรู้สิ่งที่มีที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เรื่องบรรพยังไม่ต้องกังวลก็ได้แต่จะต้อง ...
ถ. อย่างผมเห็นอาจารย์ ตาเห็นรูปของอาจารย์ ผมเป็นภายใน รูป เป็นภายนอก ผมเข้าใจง่ายๆ อย่างนี้ได้ไหม
ท่านอาจารย์ นี่เป็นความเข้าใจทั่วๆ ไปที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น จึงมีรูปภายใน ของตนเอง และรูปภายนอกของบุคคลอื่น แต่ปัญญาที่จะรู้นี่สิ ที่ว่าไม่มีใครเลย ไม่มีตัวตนเลย ที่จะต้องฟังจากชาตินี้ พิจารณาไป สะสมไป ประกอบกับชีวิตประจำวัน ทวนไปถึงคำถามตอนต้นถึงเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ก็ไม่ได้ต่างกัน สอดคล้องกัน เพราะว่าจะต้องรู้ความจริงในชีวิตประจำวันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็น อยากจะเกิดปัญญาไหม
ถ. อยาก เอาอีกแล้วผม
ท่านอาจารย์ ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าเป็นฉันทะก็ได้ ถ้าเป็นไปในกุศล เพราะถ้ารู้แล้วละ นั่นไม่ใช่โลภะ แต่เป็นกุศล ถ้าขณะใดที่ไม่อยากรู้นี่สิ เพราะบางคนไม่ได้เห็นประโยชน์ของปัญญาเลย ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมต้องฟังธรรม ทำไมต้องเข้าใจเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีประโยชน์อะไร ก็เห็น ก็ได้ยิน ก็ของธรรมดาๆ นั่นคือผู้ที่ไม่ได้เห็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น เขาต้องการเห็นสิ่งที่สวยๆ งามๆ เพลิดเพลินสนุกสนาน นั่นคือโลภะ แต่เวลาที่ต้องการจะเข้าใจธรรมเป็นฉันทะ เพราะว่าเป็นการเข้าใจเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อติด
ถ. ถ้าอยากไปสวรรค์ อยากไปนิพพาน ก็ไม่ใช่อยาก ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ อยากไปสวรรค์ นั่นอยากแน่ๆ
ถ. ที่ไปทำบุญ อยากไปสวรรค์ รักษาศีล เจริญภาวนา นี่ฉันทะหรืออยาก
ท่านอาจารย์ อยากไปสวรรค์ เพราะอะไร ต้องพิจารณา ทำเพื่ออะไร
ถ. ก็ทำอยากจะไปสวรรค์
ท่านอาจารย์ ก็เป็นโลภะ ขณะที่อยากไปสวรรค์ โลภะแน่นอน
- เมตตา ตอนที่ 01
- เมตตา ตอนที่ 02
- เมตตา ตอนที่ 03
- เมตตา ตอนที่ 04
- เมตตา ตอนที่ 05
- เมตตา ตอนที่ 06
- เมตตา ตอนที่ 07
- เมตตา ตอนที่ 08
- เมตตา ตอนที่ 09
- เมตตา ตอนที่ 10
- เมตตา ตอนที่ 11
- เมตตา ตอนที่ 12
- เมตตา ตอนที่ 13
- เมตตา ตอนที่ 14
- เมตตา ตอนที่ 15
- เมตตา ตอนที่ 16
- เมตตา ตอนที่ 17
- เมตตา ตอนที่ 18
- เมตตา ตอนที่ 19
- เมตตา ตอนที่ 20
- กรรม ตอนที่ 01
- กรรม ตอนที่ 02
- กรรม ตอนที่ 03
- กรรม ตอนที่ 04
- กรรม ตอนที่ 05
- กรรม ตอนที่ 06
- กรรม ตอนที่ 07
- กรรม ตอนที่ 08
- กรรม ตอนที่ 09
- กรรม ตอนที่ 10
- กรรม ตอนที่ 11
- กรรม ตอนที่ 12
- กรรม ตอนที่ 13
- กรรม ตอนที่ 14
- กรรม ตอนที่ 15
- กรรม ตอนที่ 16
- กรรม ตอนที่ 17
- กรรม ตอนที่ 18
- กรรม ตอนที่ 19
- กรรม ตอนที่ 20