เมตตา ตอนที่ 04


    ความเจริญย่อมมีแก่คนมีสติทุกเมื่อ คนมีสติย่อมได้ความสุข ความดีย่อมมีแก่คนมีสติเป็นนิตย์ และคนมีสติย่อมหลุดพ้นจากเวร ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ความเจริญย่อมมีแก่คนมีสติทุกเมื่อ คนมีสติย่อมได้ความสุข ความดีย่อมมีแก่คนมีสติเป็นนิตย์ แต่คนมีสติยังไม่หลุดพ้นจากเวร ฯ

    แต่ผู้ใดมีใจยินดีในความไม่เบียดเบียนตลอดวันและคืนทั้งหมด และเป็นผู้มีส่วนแห่งเมตตาในสรรพสัตว์ ผู้นั้นย่อมไม่มีเวรกับใครๆ

    ดูเหมือนกับว่า จะทำตามทันทีใช่ไหม ในสรรพสัตว์ทั้งหลาย แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงเบื้องสูง คือ ทั้งผู้ได้ฌานและยังไม่ได้ฌาน ถึงแม้พระผู้มีพระภาคจะตรัสว่า ผู้มีส่วนแห่งเมตตาในสรรพสัตว์ ผู้นั้นย่อมไม่มีเวรกับใครๆ หรือข้อความที่ว่า แต่ผู้ใดมีใจยินดีในความไม่เบียดเบียนตลอดวันและคืนทั้งหมด ซึ่งแสดงคุณของการเจริญเมตตาเป็นอันมาก แต่ไม่ได้หมายความว่า เพียงการมีเมตตา แม้ว่าจะถึงขั้นอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานจิตนั้น จะสูงกว่าหรือ เลิศประเสริฐกว่าสติปัฏฐาน เพราะการที่จะมีเมตตาอย่างแท้จริง ไม่มีโทสะเกิดอีกเลย ต้องเป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล หรือว่าผู้ที่จะมีเมตตาได้มากขึ้น เพิ่มขึ้น ก็เพราะผู้นั้นเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญารู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งสมมติบัญญัติเรียกชื่อไปตามอาการที่ปรากฏต่างๆ กันเท่านั้นเอง แต่ว่าโดยสภาพที่แท้จริงแล้ว เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    มีท่านผู้ฟังบอกว่า เวลาที่นั่งเฉยๆ รู้สึกเลื่อนลอย จึงต้องท่องเมตตายาวๆ ซึ่งความจริงแล้ว ผู้ที่มีจุดประสงค์ในชีวิตที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ควรจะลืมว่า ในขณะที่เลื่อนลอย หรือเข้าใจว่าขณะนั้นไม่ได้คิดอะไร เพราะสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ก็ควรที่สติจะเกิด และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นทันที ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ลืมจุดประสงค์ คือ การระลึกศึกษาเพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ต้องอาศัยการอบรมจริงๆ โดยการที่รู้ว่า สติเกิด และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เท่านั้นยังไม่พอ ยังจะต้องศึกษา สำเหนียก สังเกต เพื่อที่จะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โดยรู้ว่า ขณะนั้นสติกำลังระลึกรู้ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม หรือว่าเป็นลักษณะของรูปธรรม ซึ่งกำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด

    แต่ถ้าท่องจะลืมว่า การที่สติจะเกิดบ่อยๆ เนืองๆ เป็นสิ่งที่ควรอบรม เพราะสภาพธรรมเป็นสิ่งที่รู้ยาก ไม่ใช่รู้ง่าย และขณะที่ท่องก็ไม่แน่ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็ไม่สามารถจะทราบได้ว่า ขณะที่ท่องนั้นจิตเป็นกุศลหรือไม่ใช่กุศล เพราะอาจจะเป็นเพียงการท่องเท่านั้น และในขณะที่ท่อง ไม่ทราบว่าจุดประสงค์จริงๆ นั้น เพราะอะไร

    ผู้ที่จะอบรมเจริญเมตตาให้ยิ่งขึ้น ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล เห็นโทษของโทสะ และต้องเห็นโทษของโลภะด้วย ซึ่งส่วนมากอาจจะไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ในลักษณะของโทสะที่เป็นลักษณะที่หยาบกระด้าง ประทุษร้าย ทำให้จิตเดือดร้อน แต่ลืมว่าแม้แต่โลภะก็เป็นข้าศึกใกล้ของเมตตา เพราะอยู่ใกล้ชิดจนเกือบจะมองไม่เห็นว่าในขณะนั้นเป็นโลภะ หรือว่าเป็นเมตตา เวลาที่โทสะเกิด เห็นชัดว่าลักษณะนั้นตรงกันข้ามกับเมตตา สภาพของโทสะเป็นสภาพที่ไม่ทำให้จิตใจสบาย ไม่ทำให้จิตใจแช่มชื่น เพราะฉะนั้น ก็ไม่พอใจที่จะให้โทสะเกิดขึ้น แต่อย่าลืมว่า การอบรมเจริญเมตตาที่แท้จริงต้องเป็นกุศล ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งจะต้องรู้ว่า เมื่อปราศจากโทสะในขณะนั้น ก็จะต้องปราศจากโลภะด้วย

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของเมตตาไม่ใช่ง่าย คือ ต้องรู้ว่า ปกติธรรมดามีความพอใจ สนิทสนมคุ้นเคยฉันเพื่อนกับบุคคลใด ในขณะนั้นอาจจะเป็นโลภมูลจิตก็ได้ เพราะมีท่านผู้ฟังที่บอกว่า เวลาพูดถึงว่า ให้มีเมตตาต่อคนอื่นเหมือนกับเห็นเพื่อน หรือเหมือนมีเมตตาต่อเพื่อน ท่านผู้นั้นก็บอกว่า พอคิดถึงเพื่อน ทีไร ท่านเป็นโลภมูลจิต ท่านรักเพื่อน ซึ่งในขณะนั้นรู้ได้ว่า ไม่ใช่เมตตา แต่เป็นโลภะ

    ผู้ที่จะอบรมเจริญเมตตา ต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นโลภะ และขณะใดเป็นเมตตาที่แท้จริงซึ่งไม่ใช่โลภะ เพราะฉะนั้น ผู้ใดก็ตามที่เคยเป็นที่รัก ที่สนิทสนม ที่คุ้นเคย เป็นญาติสนิท เป็นมิตรสหาย และความรู้สึกผูกพันที่ท่านมีต่อบุคคลนั้นท่านก็สังเกตได้ว่า ขณะนั้นยังไม่ใช่เมตตา แต่เป็นความผูกพัน เป็นลักษณะ เป็นอาการของโลภะ ถ้าเป็นเมตตาจริงๆ ต้องเสมอเหมือนกันหมด ในบุคคลซึ่งเคยเป็นที่รักและบุคคลอื่น ความรู้สึกเป็นมิตรอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นความรู้สึกผูกพันอย่างโลภะ

    และสำหรับการที่ควรจะอบรมเจริญสติปัฏฐาน แทนการที่เพียงแต่จะท่องโดยที่ไม่ได้ระลึกรู้ว่า ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นเป็นกุศล หรือว่าไม่ใช่กุศล ก็คงจะไม่ลืมข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใน อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต เวลามสูตร ข้อความตอนท้าย ซึ่งมีข้อความว่า

    การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจตุรทิศ

    นี่เป็นการเทียบกุศลขั้นต่างๆ และการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใส สมาทานสิกขาบท คือ ศีลข้อที่ ๑ ถึงข้อที่ ๕ นั้น มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ และการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ ศีล ๕ และการที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญา แม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ที่สำคัญที่สุด คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง เรื่องของเมตตาที่อาจารย์กล่าวว่า ใกล้กับโลภะ แต่ข้อความในพระไตรปิฎก บางครั้งท่านกล่าวว่า ลักษณะเหมือนๆ กับโลภะ ลักษณะของเมตตา ท่านกล่าวว่า การรักใคร่ กิริยาที่รักใคร่ ความรักใคร่ นั่นคือเมตตา

    ท่านอาจารย์ ข้อความใน อัฏฐสาลินี ที่กล่าวแล้วในคราวก่อน ก็ได้กล่าวถึงลักษณะของอโทสะ ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นไมตรี กิริยาที่เอ็นดู กิริยาที่สนิทสนม คอยคุ้มครอง อาการที่คอยปกป้อง ภาวะแห่งจิตที่คอยปกป้อง ความแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญเมตตาจริงๆ เป็นเรื่องละเอียด โดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม สั้นแค่ไหน เพราะสภาพธรรมต้องตรงตามความเป็นจริงว่า ขณะที่กุศลจิตเกิด แม้เพียงเล็กน้อย ก็ยังมีคุณประโยชน์มากกว่าโลภะซึ่งเกิดมากๆ แต่ถ้าสติปัฏฐานหรือว่าสติสัมปชัญญะไม่เกิดจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนั้นเป็นโลภะหรือเป็นเมตตา เพราะฉะนั้น ก็อาจจะเจริญโลภะแทนเมตตา นี่เป็นความจำเป็นที่จะต้องศึกษาโดยละเอียด ที่จะให้ทราบลักษณะที่ต่างกันของสภาพของโลภะและเมตตา

    ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาลักษณะต่างๆ ของโลภะ ตามข้อความใน อัฏฐสาลินี อธิบายนิทเทสโลภะ จะได้ทราบว่า ต่างกับขณะที่เป็นเมตตา

    ข้อความอธิบาย นิทเทสโลภะ มีว่า

    ชื่อว่าความกำหนัด เนื่องด้วยความยินดี ผูกพันพอใจ

    นี่ไม่ใช่ลักษณะของเมตตา

    ชื่อว่าความกำหนัดนัก โดยความหมายว่า ยินดีรุนแรง

    ชื่อว่าความคล้อยตามอารมณ์ เพราะยังสัตว์ทั้งหลายให้คล้อยตามไปในอารมณ์ทั้งหลาย

    นี่เป็นชีวิตประจำวันที่จะต้องพิจารณาจริงๆ ว่า ในขณะใดที่เมตตาไม่เกิด จิตถูกนำไปโดยโลภะ หรือว่าลักษณะของจิตในวันหนึ่งๆ เป็นไป ถูกชักจูงไป หรือว่าคล้อยตามโลภะไปตลอดเวลาตั้งแต่เช้าเป็นต้นมา ทุกวันๆ ถ้าไม่สังเกตจะไม่ทราบว่า จิตคล้อยตามโลภะอยู่เสมอ เมื่อมีความยินดีพอใจในอารมณ์ใด ก็กระทำตามความคิด ตามความพอใจในอารมณ์นั้น ทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ในขณะนั้นให้ทราบว่า ไม่ใช่เมตตา

    เมื่อเห็นลักษณะของโลภะ ภายหลังเวลาเมตตาเกิด จะได้เปรียบเทียบได้ถูกต้องว่า ลักษณะนี้ต่างกับลักษณะที่เคยเป็น แต่ต้องรู้ก่อนในลักษณะของโลภะ ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

    ชื่อว่าความยินดี ด้วยอรรถว่า พอใจ อธิบายว่า ทำให้อยาก

    มีความอยากอยู่เรื่อย อยากไม่รู้จักจบ เดี๋ยวอยากๆ นั่นเป็นลักษณะของความยินดีความพอใจที่เป็นโลภะ ไม่ใช่เมตตา

    ชื่อว่าความเพลิดเพลิน ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์เพลิดเพลินอยู่ในภพใดภพหนึ่ง หรือเพลิดเพลินเอง

    บางท่านกล่าวว่า เวลาฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว รู้สึกตรงกันข้ามกับความพอใจของตนที่เคยมี เพราะแม้ว่าจะฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานก็ยังอยากเกิดอีก ทิ้งโลภะไปไม่ได้ เพราะว่าเป็นเรื่องของความอยากที่ทำให้สัตว์เพลิดเพลินอยู่ในภพใดภพหนึ่ง

    ชื่อว่าความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ในข้อนั้น ตัณหาที่เกิดขึ้นครั้งเดียวในอารมณ์เดียว เรียกว่าความเพลิดเพลิน ที่เกิดอยู่บ่อยๆ เรียกว่า ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน

    ที่ชื่อว่าความอยาก ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุอยากอารมณ์ทั้งหลาย

    ไม่ใช่เพียงอยากข้าวอยากน้ำ แต่สารพัดอยาก ทุกขณะที่อยาก นั่นเป็นเรื่องของโลภะ ไม่ใช่เมตตา พอที่จะเห็นความต่างกันระหว่างโลภะกับเมตตาไหม ซึ่ง โลภะมีอยู่เป็นประจำ

    ที่ชื่อว่าความสยบ ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์สยบ โดยที่เป็นกิเลสมีกำลัง

    แพ้หรือชนะโลภะ ในชีวิตประจำวัน ไม่รู้ตัวเลยใช่ไหมว่าสยบอยู่ตลอดเวลา มีผู้ที่มีกำลังชักจูงไป มีอำนาจมากกว่า ให้เป็นไปตามความอยาก

    ที่ชื่อว่าความหมกมุ่น ด้วยอำนาจที่กลืนเอาไปเสียเสร็จสิ้น

    ในวันหนึ่งๆ ที่สติไม่ค่อยจะเกิดขึ้น ให้ทราบว่า ในขณะนั้นอะไรกลืนเอาไปเสียหมด แต่ถ้าขณะใดที่สติเกิดก็ให้ทราบว่า ขณะนั้นมีปัจจัยสะสมมาพอที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ้าง

    ที่ชื่อว่าความใคร่ ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์มุ่งหวังอย่างยิ่ง คือ ถึงความมุ่งหวังอย่างยิ่ง

    อะไรเป็นความหวังอย่างสูงสุดในชีวิตของแต่ละคน พิจารณาดีๆ ขณะนั้นเป็นความมุ่งหวังในกุศล หรือว่าในอกุศล ถ้าในอกุศล ก็เป็นตามลักษณะของโลภะนั่นเอง

    อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าความใคร่ เคโธ โดยความหมายว่า แน่นหนา ดังที่ตรัสไว้ว่า ความใคร่เป็นดังไพรสณฑ์ทึบ คือ เป็นป่าทึบ

    อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปลิเคโธ ที่แปลไว้ว่า ความรักใคร่ ด้วยอรรถว่า เป็นความมุ่งหวังอย่างยิ่งโดยทุกส่วน

    ที่ชื่อว่าความข้องอยู่ โดยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์ติดอยู่

    ที่ชื่อว่าความจมลง โดยความหมายว่า จมลง

    ที่ชื่อว่าธรรมชาติผู้หลอกลวง โดยความหมายว่า ล่อสัตว์ไว้

    ที่ชื่อว่าธรรมชาติผู้ยังให้สัตว์เกิด โดยความหมายว่า เป็นเหตุให้สัตว์เกิดอยู่ในวัฏฏะ ดังที่ตรัสไว้ว่า ตัณหาย่อมยังบุรุษให้เกิด จิตของสัตว์นั้นย่อมพล่านไป

    ชื่อของตัณหามากมาย ยากที่จะจบ แต่ว่าลักษณะของตัณหาจริงๆ เป็นอย่างนั้นแต่ละลักษณะ แต่ละอาการที่ปรากฏ

    ที่ชื่อว่าธรรมชาติอันร้อยรัด โดยความหมายว่า สืบต่อไว้

    จริงอยู่ ธรรมชาตินี้ย่อมร้อยรัด คือ สืบต่อสัตว์ไว้ในวัฏฏะด้วยอำนาจจุติ และปฏิสนธิ เหมือนดังช่างชุนเอาท่อนผ้าเก่าชุนผ้าเก่าไว้ ฉะนั้น เหตุนั้นจึงตรัสว่า ธรรมชาติอันร้อยรัด

    ที่ชื่อว่าธรรมชาติอันกำซาบใจ ด้วยอรรถว่า เป็นเหมือนอย่างแม่น้ำมีกระแสเชี่ยว โดยความหมายว่า คร่ามา

    อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าสริตา ความกำซาบใจ โดยความหมายว่า ชุ่มใจ ดังที่ตรัสไว้ว่า โสมนัส ชุ่มใจ และถึงเสน่หา ย่อมมีแก่สัตว์

    ลักษณะของโลภะอาการอย่างนี้ในชีวิตประจำวันมีมากไหม บางท่านก็อ่านหนังสือนวนิยาย ดูละครโทรทัศน์ ดูหนัง มีความซาบซึ้งในละคร หรือว่าในหนังสือ นวนิยายต่างๆ ขณะนั้นเป็นลักษณะอาการหนึ่งของโลภะ ซึ่งชีวิตประจำวันของทุกท่านก็คงจะเป็นชีวิตที่ดูละครโทรทัศน์ หรือว่าอ่านนวนิยายต่างๆ ด้วย เพราะฉะนั้น ขณะนั้นให้ทราบว่า ความกำซาบใจ โดยความหมายว่า ชุ่มใจ เป็นลักษณะหนึ่งของโลภะ ขณะนั้นเมตตาหรือเปล่า จะเจริญเมตตาไหม เพราะว่าการอบรมเจริญเมตตาไม่ใช่ในขณะที่ท่อง แต่ขณะที่ระลึกได้ว่า อาการใดเป็นลักษณะของอกุศลจิต ไม่ใช่กุศลจิต จึงจะมีปัจจัยให้เมตตาเกิดขึ้นเป็นกุศลแทนที่จะเป็นอกุศล แต่ถ้าในขณะนั้นสติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็สยบต่อโลภะ เป็นประจำ

    ที่ชื่อว่าวิสตฺติกา ที่แปลไว้ว่า ธรรมชาติอันซ่านไป ด้วยอรรถว่า แผ่ไป

    ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งในละคร ในหนังสือ นวนิยาย ในบทกวี ในบทเพลง ไม่ว่าท่านจะมีความพอใจสะสมมาในทางไหน ก็ย่อมคล้อยไป และมีความรู้สึกซ่านไป แผ่ไปในอารมณ์ต่างๆ

    ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า ซึมซาบไป

    ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า ไพศาล

    ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า กระสับกระส่าย

    ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า ทำให้คลาดเคลื่อน

    ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า สังหารใจไปต่างๆ

    ซึ่งขณะนั้นไม่รู้ตัวเลยว่า โลภะกำลังสังหารใจ ทำให้จิตใจแปรปรวน และคลาดเคลื่อนไปในทางอกุศล

    ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า มีรากเป็นพิษ

    ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า มีผลเป็นพิษ

    ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า มีการบริโภคเป็นพิษ

    บางครั้งในอรรถกถาได้เปรียบเทียบลักษณะของโลภะว่า เหมือนกับรสของดินและน้ำ เวลาที่ปลูกพืชชนิดหนึ่งชนิดใดลงไป ทั้งรสของน้ำและรสของดินย่อมซึมซาบไปทุกส่วน ทั้งกิ่ง ต้น ใบ ดอก ผล ของต้นไม้นั้น ยากแก่การที่จะถ่ายถอน รวมทั้งความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนด้วย ซึ่งมีอยู่ในขณะที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และในขณะที่คิดนึก ตลอดเวลา ซึมซาบไปทั่วหมดในขันธ์ทั้ง ๕ ในนามธรรมและในรูปธรรม เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจะต้องเป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่รู้จริง จนกระทั่งสามารถถ่ายถอนพิษซึ่งมีอยู่ที่ราก ที่ผล ที่ดอก ที่ต้น ที่ใบ ที่กิ่ง ทั้งหมด

    ก็หรือว่าตัณหานั้นแผ่ไป ชื่อว่าวิสตฺติกา ด้วยอรรถว่า แผ่ไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรม ตระกูล คณะ

    ท่านที่มีพวกพ้องหมู่คณะมาก ความรู้สึกของท่านที่มีต่อพวกพ้องหมู่คณะ เป็นอย่างไร นั่นคือลักษณะของความผูกพัน เป็นลักษณะของโลภะ ซึ่งแผ่ไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรม ในตระกูล ในคณะ

    ที่ชื่อว่าธรรมชาติเหมือนเส้นด้าย ด้วยอรรถว่า เป็นธรรมชาติเหมือนเส้นด้ายผูกเต่า โดยความหมายว่า ให้ถึงความพินาศ ไม่ใช่ความเจริญ อันส่ายเสียซึ่งสุขให้พินาศ สมดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำว่าธรรมชาติเหมือนเส้นด้ายนี้ เป็นชื่อแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ดังนี้

    ที่ชื่อว่าธรรมชาติผู้ประมวลมา ด้วยอรรถว่า ยังสัตว์ให้ขวนขวายเพื่อประโยชน์แก่การได้เฉพาะซึ่งผลกรรมนั้นๆ

    จริงไหม นี่เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์ในชีวิตประจำวัน การกระทำแต่ละครั้งๆ มุ่งหวังสิ่งใดเป็นผล ถ้าเป็นด้วยอำนาจของโลภะ ย่อมเป็นทาสของการที่จะติดในผลนั้น ไม่สามารถที่จะพ้นจากความยินดีพอใจในผลนั้นได้

    ที่ชื่อว่าธรรมชาติเป็นเพื่อนสอง โดยความหมายว่า เป็นสหายโดยไม่ยอมให้เงยได้

    นอกจากนั้นยังมีข้อความที่ว่า

    ขึ้นชื่อว่าพวกพ้อง ที่จะเสมอด้วยกับตัณหาย่อมไม่มีแก่สัตว์ทั้งหลาย โดยความหมายว่า อาศัยกันอยู่เป็นประจำ

    ญาติพี่น้องที่ใกล้ชิดสนิทสนมคุ้นเคยกัน พบปะกันบ่อยๆ แต่ว่าใครที่จะอยู่ใกล้ยิ่งกว่าญาติสนิทมิตรสหาย คือ อยู่เป็นประจำ ธรรมชาตินั้น คือ ตัณหา ซึ่งอยู่ประจำใจ

    เวลาที่ไม่ได้ฟังธรรม หรือสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นอะไรอยู่ด้วย มีธรรมชาตินั้นอยู่ด้วยเป็นประจำ คุ้นเคยสนิทสนมยิ่งกว่า ญาติมิตรพวกพ้องทั้งหลาย

    ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสว่า

    บุรุษมีตัณหาเป็นเพื่อนสอง ท่องเที่ยวไปอยู่ สู่ความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่น สิ้นกาลนาน ย่อมไม่พ้นสังสาระไปได้

    ที่ชื่อว่าปณิธาน ด้วยอำนาจตั้งจิตไว้ในอารมณ์

    เป็นประจำ ไม่ว่าจะคิดถึงอารมณ์อะไร ขณะนั้นก็มีความยินดีพอใจที่จะคิดถึง นึกถึงอารมณ์นั้น เพราะเป็นธรรมชาติที่ตั้งจิตไว้ในอารมณ์

    คำว่า ธรรมชาติผู้นำไปสู่ภพ ได้แก่ ธรรมชาติเปรียบเหมือนเชือกประจำภพ

    ถูกผูกไว้แล้วทุกคนๆ ไม่ได้พ้นเชือกนั้นไปได้เลย ไม่ว่าจะไปสู่ภพไหน ก็ไปตามเชือกที่ผูกไว้

    จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายถูกธรรมชาติเปรียบเหมือนเชือกประจำภพนี้ จูงไปสู่สถานที่ที่ปรารถนาแล้ว ที่ปรารถนาแล้ว เหมือนอย่างโคทั้งหลายที่ถูกเชือกล่ามคอไว้ ฉะนั้น

    ท่านผู้ฟังปรารถนาจะเกิดที่ไหน บางท่านก็จับจองด้วยอำนาจความพอใจ จะไปสู่ที่นั่นได้หรือเปล่าก็ยังไม่ทราบ แต่มีความยินดี พอใจ หวังแล้วจะไปสู่ที่นั้น เพราะบางท่านปรารถนาจะเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่ขณะใดที่เกิดในสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ ก็ไม่รู้ตัวว่า เหมือนโคถูกเชือกล่ามและจูงไปสู่ภพดาวดึงส์นั่นเอง ไม่ว่าจะไปสู่ที่ไหนทั้งสิ้น ไปตามเชือก คือ กำลังของความยินดีพอใจทั้งสิ้น

    ชื่อว่าวนํ ด้วยอรรถว่า เกี่ยวพันติดอารมณ์นั้นไว้

    ชื่อว่าวนํ ด้วยอรรถว่า วิงวอนร้องขอไว้

    ชื่อว่าวนํ ด้วยอรรถว่า ตัณหาเหมือนป่า โดยด้วยความหมายว่า ยังอนัตถะและทุกข์ให้ตั้งขึ้น

    ที่ชื่อว่าความเยื่อใย เนื่องด้วยความเสน่หา

    ที่ชื่อว่าความห่วงใย ด้วยอรรถว่า ห่วงใยด้วยอำนาจกระทำความอาลัย

    ไม่มีใครทราบว่า ท่านจะจากโลกนี้ไปเมื่อไร แต่ให้คิดถึงกำลังของตัณหาซึ่งเป็นความอาลัยที่ไม่อยากจะจากโลกนี้ไป



    หมายเลข 3
    4 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ