เมตตา ตอนที่ 05
แต่ให้คิดถึงกำลังของตัณหาซึ่งเป็นความอาลัยที่ไม่อยากจะจากโลกนี้ไป ความอาลัยในทรัพย์สมบัติ ความติด ความพอใจในทรัพย์สมบัติ แม้แต่ในขณะที่ใกล้จะตาย ผู้ที่ใกล้จะตายอย่างที่สุด แม้ว่าจะไม่มีกำลังวังชา ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะลุกขึ้นหยิบจับวัตถุทรัพย์สินสิ่งใดบริจาคให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น แต่ในความรู้สึกของผู้นั้น ทรัพย์สมบัติซึ่งแม้ไม่มีโอกาสจะจับ ก็ยังยึดถือว่าเป็นของเรา ทั้งๆ ที่ไม่มีเรี่ยวแรงกำลังวังชาที่จะลุกขึ้นไปหยิบ ไปจับ ไปครอบครอง แต่ความอาลัย คือ ใจซึ่งยึดถือทรัพย์สมบัติเหล่านั้น ไม่หมด ในขณะนั้นยังคงเห็นว่าเป็นของเราอยู่ แม้แต่ร่างกายซึ่งกำลังจะจากโลกนี้ไป ก็ยังเป็นตัวของเรา หรือว่ากายของเรา ถ้าปัญญาไม่รู้จริงๆ ว่า ไม่มีสักอย่างเดียวซึ่งจะยึดถือว่า เป็นของเราได้
ลองขอสมบัติจากคนที่ใกล้จะตาย จะให้ไหม มีท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า ลูกของท่านกำลังจะสิ้นชีวิต ใส่แหวนไว้วงหนึ่ง ท่านก็ลองใจ ลองขยับแหวนนั้นดู ปรากฏว่าลูกของท่านกำไว้แน่น แม้ว่ากำลังจะจากโลกนี้ไปแล้ว
นี่คือความอาลัยจริงๆ ซึ่งไม่สามารถที่จะพ้นไปได้ ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้จริงๆ ว่า ไม่ควรที่จะยึดถือสิ่งใดว่าเป็นของเรา หรือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
ที่ชื่อว่าความผูกพัน ด้วยอรรถว่า ผูกพันไว้ในอารมณ์เฉพาะแต่ละอย่างๆ อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าความผูกพัน หรือพวกพ้องเฉพาะ แม้ด้วยอรรถว่า เป็นพวกพ้องเฉพาะแต่ละอย่าง โดยความหมายว่า เป็นญาติ
ที่ชื่อว่าการหวัง เพราะการหวังอารมณ์ทั้งหลาย ความว่า เพราะท่วมทับ และเพราะบริโภคไม่เข้าถึงความอิ่มเสียเลย
ที่ชื่อว่าธรรมชาติผู้กระซิบ ชปฺปา ด้วยอรรถว่า ยังสัตว์ทั้งหลายให้กระซิบอย่างนี้ว่า นี้ของฉัน นี้ของฉัน ดังนี้ หรือว่า สิ่งนี้คนโน้นให้แก่เรา สิ่งนี้ก็ให้
นี่คือของฉันๆ นี่ก็ของฉัน นั่นก็ของฉัน ตลอดเวลา นั่นคือลักษณะของตัณหา ซึ่งเป็นธรรมชาติผู้กระซิบ
ชื่อว่าอาวรณ์ ด้วยอรรถว่า กางกั้นกุศลธรรมทั้งหลาย
ชื่อว่าเครื่องปิดบัง เกี่ยวกับปิดบังไว้
ชื่อว่าเครื่องผูก ด้วยอรรถว่า ผูกสัตว์ไว้ในวัฏฏะ
ชื่อว่าอุปกิเลส ด้วยอรรถว่า เข้าไปหาจิตแล้วให้เศร้าหมอง คือ กระทำให้เศร้าหมอง
ชื่อว่าอนุสัย ด้วยอรรถว่า นอนเนื่อง โดยความหมายว่า ถึงความสามารถ
ชื่อว่าปริยุฏฐาน ด้วยอรรถว่า เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต อธิบายว่า ยึดการประพฤติกุศลไว้โดยไม่ยอมให้เกิดขึ้น
เวลาที่โลภะเกิด จะทำกุศลไหวไหม ไม่ว่าจะเป็นไปในทาน หรือศีล หรือ ความสงบ หรือว่าสติปัฏฐาน เวลานั้นมีเครื่องกั้น มีเครื่องปิดบัง ไม่ให้กุศลจิตเกิด ตามที่ทรงอุปมาว่า พวกโจรปล้นในหนทาง หรือว่าพวกนักเลงดักในหนทาง กำลังเดินอยู่ในหนทาง ในมรรคมีองค์ ๘ แต่ถึงกระนั้นก็มีพวกโจรปล้นในหนทางนั้น คือ บรรดาอกุศลทั้งหลาย มีโลภะ เป็นต้น เปรียบเหมือนพวกนักเลงดักในหนทาง ไม่ยอมที่จะให้ไปสู่จุดหมายโดยราบรื่น
ตัณหาเหมือนเถาวัลย์ ด้วยอรรถว่า เปรียบดังเถาวัลย์ โดยความหมายว่า พันไว้รอบ และยังแตกแขนงตั้งอยู่ด้วย
ชื่อว่ารากเหง้าแห่งทุกข์ ด้วยอรรถว่า เป็นมูลแห่งวัฏฏทุกข์.
ชื่อว่าแดนเกิดแห่งทุกข์ ด้วยอรรถว่า ทุกข์นั้นเกิดจากนี้
ที่ชื่อว่าบ่วง ด้วยอรรถว่า เปรียบเหมือนบ่วง โดยความหมายว่า ผูกไว้ ดุจบ่วงแห่งมาร
ชื่อของตัณหามีมากมาย ยังไม่จบ และคงจะพบในที่ต่างๆ อีกมาก แม้ที่นำมากล่าวก็ยังไม่ครบทั้งหมดตามที่ได้แสดงไว้ใน อัฏฐสาลินี ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็น พระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงลักษณะของธรรมโดยละเอียด แม้แต่โลภะ หรือตัณหา ถ้าไม่ทรงแสดงธรรมไว้โดยละเอียดจริงๆ จะไม่ทราบว่า แม้แต่เพียงความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ เช่น ความอาลัย ความผูกพัน ความรักพวกพ้องเหล่านี้ ก็เป็นลักษณะของอกุศลธรรม ที่เป็นสภาพของโลภะ
ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ นิธิกัณฑ์ มีข้อความซึ่งอุปมาพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงธรรมเกื้อกูลแก่สัตว์โลกโดยละเอียดว่า พระองค์ทรงเปรียบเหมือนพ่อค้าที่ขายสินค้า ซึ่งพรรณนาคุณประโยชน์ของสินค้าที่ขายนานาประการ เพื่อที่จะให้คนฟังเห็นประโยชน์ และซื้อสินค้านั้นไป
พระองค์ทรงแสดงเรื่องกุศลธรรมไว้มาก และทรงแสดงชี้แจงเรื่องอกุศลธรรมทั้งหมดไว้โดยละเอียดเพื่อที่จะให้เห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของการอบรมเจริญกุศล โดยให้ผู้ฟังได้พิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ มากๆ โดยประการทั้งปวง เพื่อที่จะเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดขึ้น แต่พระมหากรุณาของพระองค์มากมายกว่าพ่อค้าที่พรรณนาคุณประโยชน์ของสินค้า เพราะมิได้ทรงมุ่งหวังสิ่งใดเพื่อพระองค์เอง นอกจากเพื่อประโยชน์ของผู้ฟังที่จะให้เกิดศรัทธา เกิดกุศลจิตตามลำดับขั้นเท่าที่ควรจะเป็นไปได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญเมตตาไม่ใช่แต่เฉพาะเวลาที่เกิดโกรธ แต่แม้แต่ในระหว่างมิตรสหายวงศาคณาญาติ บุคคลในครอบครัว ซึ่งเป็นผู้ที่มีความผูกพัน มีความเกี่ยวข้อง ก็จะต้องพิจารณาให้รู้ความต่างกันของขณะที่จิตเป็นเมตตา และจิตที่เป็นโลภะ ถ้าเป็นผู้ที่จะอบรมเจริญเมตตาจริงๆ จะไม่เว้นโอกาสเลย ไม่ใช่นึกแต่จะเจริญเมตตาเฉพาะเวลาที่เกิดโทสะเท่านั้น แต่แม้ความที่เคยผูกพันใน พวกพ้อง ในวงศาคณาญาติ ก็จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ในขณะนั้นไม่ใช่เมตตา และถ้ารู้อย่างนั้นแล้ว ย่อมมีปัจจัยที่จะให้เมตตาเจริญขึ้นได้
ผู้ฟัง การรักใคร่ผูกพันในญาติมิตรสหายเป็นโลภะ ถ้าคนไหนที่มีความรักใคร่ผูกพันในญาติมิตร คนๆ นั้นเป็นคนไม่ดี ถ้าพูดอย่างนี้รู้สึกว่า จะขัดกับทางโลก
ท่านอาจารย์ จะเจริญเมตตา หรือว่าจะเป็นผู้ที่ไม่เจริญเมตตา ถ้าเป็นผู้ที่จะเจริญเมตตา ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ไม่ใช่เพียงท่อง แต่ต้องเป็นผู้ที่รู้ลักษณะของเมตตา เวลาที่เป็นเมตตาจริงๆ จะไม่โกรธในบุคคลนั้น แต่เวลาที่เป็นโลภะ จะเป็นปัจจัยให้เกิดโกรธได้ เพราะฉะนั้น ธรรมชาติใดดีกว่ากัน แม้แต่ในครอบครัว หรือในระหว่างพวกพ้องวงศาคณาญาติ
ลักษณะของเมตตาเป็นลักษณะที่หวังดี ไม่เจือปนกับความผูกพันในลักษณะของโลภะ เป็นความหวังดีที่บริสุทธิ์ เพราะไม่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดโทสะ หรือความ ไม่แช่มชื่นใจในบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น ยิ่งมีเมตตาแทนโลภะมากเท่าไร บุคคลอื่นย่อมได้รับผลดีมากขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้รับผลดี เป็นผลดีทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งสำหรับผู้ที่มีเมตตา และสำหรับผู้ที่ได้รับความเมตตาด้วย
ถ้ามีแต่โลภะ วันหนึ่งจะต้องมีปัจจัยให้เกิดโกรธขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเมตตา ยิ่งเมตตาเจริญขึ้น ความโกรธจะน้อยลง ความหวังดีจริงๆ จะเพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง ที่อาจารย์กล่าวว่า การเจริญเมตตาจะต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญเมตตาก็ต้องรู้จักลักษณะของสติสัมปชัญญะ ถ้าไม่รู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะ จะเจริญเมตตาไม่ได้ อย่างนั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ การอบรมเจริญภาวนา ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่มีกล่าวไว้ที่ไหนเลยว่า สามารถที่จะเจริญสมถะและวิปัสสนาได้โดยไม่มีสติสัมปชัญญะ เพียงแต่ว่าเป็นปัญญาต่างขั้น
ผู้ฟัง ถ้ามีเมตตาเกิดขึ้น สงสารบุคคลที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก ในขณะนั้นมีสติ แต่ไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสติ ขณะนั้นชื่อว่าเมตตาหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เวลาที่เมตตาเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศล ประกอบด้วยสติที่เป็นโสภณธรรม แม้ว่าผู้นั้นจะไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะเจริญความสงบยิ่งขึ้น แต่เมตตาก็มีปัจจัยที่จะเกิดพร้อมสติ
แต่ท่านผู้ฟังต้องการจะเจริญสมถภาวนาใช่ไหม สมถภาวนา หมายถึงสภาพธรรมที่สงบจากอกุศล เพิ่มขึ้น มั่นคงขึ้น เจริญขึ้น ไม่ใช่เพียงชั่วขณะนิดๆ หน่อยๆ
ทาน การให้ เกิดขึ้นได้ฉันใด ศีล การวิรัติทุจริตเกิดขึ้นได้ตามอัธยาศัยที่สะสมมาฉันใด เมตตาจิตย่อมเกิดขึ้นได้สำหรับผู้ที่สะสมอุปนิสัยที่จะเกิดเมตตาฉันนั้น แต่การที่จะอบรมเจริญเมตตาให้สงบมั่นคงยิ่งขึ้น จะต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะในขณะนั้น แต่ไม่ใช่การท่อง อย่าลืม ต้องเป็นสติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะของเมตตา แม้ชั่วลัดนิ้วมือ ก็รู้ว่าต่างกับสภาพของโลภะ
ผู้ฟัง เรื่องของการท่อง ผมยังไม่หายข้องใจ การท่อง บางครั้งไม่ใช่ง่าย เช่น เราจะนึกให้บุคคลที่ไม่เป็นที่รักของเรา เช่น นาย ก. ซึ่งทำความเจ็บใจให้เราในอดีต ในเวลานี้เราจะเจริญเมตตา เราจะนึกว่า ขอให้นาย ก. มีความสุข ไม่ให้นาย ก. มีความทุกข์ ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร ก็ไม่ยอมนึก
ท่านอาจารย์ เพราะไม่ได้อบรมเจริญเมตตาจริงๆ ตามลำดับขั้น วันนี้ไม่เห็นนาย ก. แต่เห็นคนอื่น ระลึกได้ไหม ขณะที่กำลังเห็นคนอื่น เป็นเมตตาหรือเปล่า ไม่เห็น นาย ก. แต่กำลังเห็นคนอื่น ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญเมตตาต้องรู้ว่า ขณะนั้นปราศจากอกุศลทั้งปวง ปราศจากมานะ ความสำคัญตน แม้แต่การมอง ก็ไม่ได้มองอย่างดูถูก ดูหมิ่น แม้แต่การคิด แม้แต่กายหรือวาจาที่จะพูดกับบุคคลนั้น ก็ต้องประกอบด้วยเมตตา ยังไม่ต้องคิดถึงนาย ก. ซึ่งเคยโกรธ เวลานั้น ปกติธรรมดา ถ้าจะอบรมเจริญเมตตา ไม่ว่าจะพบเห็นใคร สัตว์ บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น สติสัมปชัญญะเกิดได้ ระลึกรู้ได้ว่า ขณะนั้นสภาพของจิตเป็นเมตตา หรือว่าไม่ใช่เมตตา เริ่มไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ไปเจาะจงนาย ก.
ผู้ฟัง ก็จะเริ่มไปเรื่อยๆ เห็นคนอื่นทั่วๆ ไป ยอมนึกว่า ขอให้บุคคลทั้งหลายเหล่านี้ จงมีความสุข จงไม่มีความทุกข์
ท่านอาจารย์ ทำไมบุคคลทั้งหลาย
ผู้ฟัง ก็เห็นบุคคลเป็นหมู่ เป็นกลุ่ม
ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นเวลานี้ เป็นแต่นามธรรมกับรูปธรรมทั้งนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด ลักษณะของรูปธรรมแต่ละชนิดจริงๆ พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่รู้ว่า ขณะนี้กำลังมีนามธรรมใดเป็นสภาพที่จิตกำลังระลึกเพื่อความรู้ชัดว่าเป็นกุศล เป็นสติปัฏฐาน เป็นสภาพที่ระลึกได้ ไม่หลงลืม พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ
การที่จะมีเมตตาก็เหมือนกัน ต้องมีสติสัมปชัญญะที่เกิดรู้ลักษณะของจิตอย่างรวดเร็วทีละคนไป ไม่อย่างนั้นก็จะเหมือนกับเป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรมทั้งหมดที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ แต่ว่าปัญญาไม่ได้รู้ชัดแต่ละนาม แต่ละรูปตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่า ท่อง คิด หรือว่าเมตตาจิตเกิดขึ้น จริงๆ ในแต่ละบุคคล
ผู้ฟัง ขณะที่ท่อง บางครั้งสัมปชัญญะอาจจะไม่มี แต่ขณะนั้นสติมี มีสติในขณะที่ท่อง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า เจริญเมตตา กับความหมายของคำว่า แผ่เมตตา ถ้ายังไม่ได้เจริญเมตตาจริงๆ จนมีเมตตาเพิ่มขึ้น ถ้าจิตใจยังไม่สามารถที่จะเยือกเย็น หวังดี สงบ ปราศจากโลภะ โทสะได้ ก็อย่าเพิ่งแผ่ แต่เมื่อใดที่เจริญแล้ว มีมากขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งไม่ว่าจะนึกถึงใคร ในขณะไหน เห็นใครในขณะไหน กาย วาจา ใจ ประกอบด้วยเมตตาจริงๆ แต่ไม่ใช่ท่องเสร็จ ตาไม่เหมือนที่ท่อง หรือวาจาที่กล่าวออกมาก็ไม่ได้เป็นไปอย่างนั้น สักนิดเดียว
ผู้ฟัง อาจจะเกิดจากยังไม่ได้แผ่ให้กับบุคคลนั้น
ท่านอาจารย์ เจริญก่อน จึงค่อยแผ่ และที่จะแผ่ได้จริงๆ อย่าลืม ต้องบรรลุถึง อัปปนาสมาธิหรือฌานจิต ความสงบต้องมั่นคง
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่จะอบรมเจริญเมตตา เวลาที่เห็นใคร ระลึกได้ทันทีถึงสภาพของจิตในขณะนั้นว่า มีการดูหมิ่น ดูถูกบุคคลนั้นแม้ในใจหรือเปล่า มีความไม่พอใจในบุคคลนั้น ในอาการที่ปรากฏบ้างหรือเปล่า เวลาพูด พูดด้วยความหวังดี ความเป็นไมตรี ความเกื้อกูล แสวงหาประโยชน์ให้บุคคลนั้นหรือเปล่า ไม่ใช่คิดเป็นระเบียบ คือ ท่องเป็นคำ เป็นระเบียบออกมาเป็นบรรทัดๆ ว่า เริ่มตั้งแต่ ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นผู้มีความสุข ปราศจากทุกข์ ไม่มีเวรซึ่งกันและกัน ไม่ต้องเป็นระเบียบอย่างนั้น แต่ว่าคิดที่จะทำประโยชน์ให้แก่บุคคลนั้น คิดที่จะคุ้มครอง ไม่ทำให้บุคคลนั้นเดือดร้อน คิดอะไรก็ได้ซึ่งเป็นกุศล ที่ประกอบด้วยเมตตา แต่ไม่ใช่ท่องเป็นระเบียบอย่างนั้น เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
ถ้าจะท่องจริงๆ ต้องนึกใช่ไหม อันไหนก่อน ขอให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุขก่อน หรือว่าขอให้สัตว์ทั้งหลายปราศจากเวรก่อน แต่ว่าสภาพของเมตตา แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีเหตุการณ์อะไรเฉพาะหน้าเกิดขึ้น ควรแก่การที่จะช่วยให้สัตว์นั้นพ้นจากความทุกข์ยาก ให้มีความสุข หรือว่าอย่าเบียดเบียดบุคคลนั้นด้วยกาย ด้วยวาจา แทนที่จะท่องเป็นระเบียบ เวลาท่องต้องท่องเป็นระเบียบอย่างนั้นหรือเปล่า
ผู้ฟัง ในตำราท่านกล่าวไว้ เราก็ท่องไปตามตำรา
ท่านอาจารย์ และเวลาที่จิตจะเกิด จะต้องเกิดเป็นระเบียบอย่างนั้นไหม
ผู้ฟัง ไม่เป็น
ท่านอาจารย์ ก็ไม่จำเป็น ขอให้เข้าใจลักษณะของเมตตาจริงๆ และเจริญเมตตา อย่าเพิ่งแผ่จนกว่าจะเจริญได้แล้ว และเวลาที่จิตสงบมากขึ้นจะรู้ว่า ลักษณะของเมตตานั้นต่างกับอกุศล ไม่ว่าจะเป็นโลภะ ก็ไม่ใช่ลักษณะของเมตตา
ผู้ฟัง การเจริญสมถภาวนา มีอารมณ์ทั้งหมด ๔๐ ผู้ใดจะเจริญกัมมัฏฐานใดก็แล้วแต่ ส่วนใหญ่ต้องท่อง มีปฐวีกสิณ เป็นต้น
ท่านอาจารย์ ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า ต้องท่องหรือเปล่า
ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พราหมณสังยุต อรหันตวรรคที่ ๑ ธนัญชานิสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ก็โดยสมัยนั้นแล นางพราหมณีชื่อธนัญชานีแห่งพราหมณ์ผู้ภารทวาชโคตรคนหนึ่ง เป็นผู้เลื่อมใสยิ่งในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ฯ
ครั้งนั้นแล นางธนัญชานีพราหมณีกำลังนำภัตเข้าไปเพื่อพราหมณ์ภารทวาชโคตร ก้าวเท้าพลาดจึงเปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ... ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ฯ
เมื่อนางธนัญชานีพราหมณีกล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้กล่าวกะนางธนัญชานีพราหมณีว่า
ก็หญิงถ่อยนี้กล่าวคุณของสมณะโล้นอย่างนี้ อย่างนี้ ไม่ว่าที่ไหนๆ แน่ะ หญิงถ่อย บัดนี้ เราจักยกวาทะต่อพระศาสดานั้นของเจ้า ฯ
นางธนัญชานีพราหมณีกล่าวว่า
พราหมณ์ ฉันยังไม่เห็นบุคคลผู้จะพึงยกถ้อยคำต่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นในโลก พร้อมด้วยเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมด้วยสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ ข้าแต่พราหมณ์ เอาเถิด ท่านจงไป แม้ไปแล้วก็จักรู้ ฯ
ลำดับนั้นแล พราหมณ์ภารทวาชโคตรโกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
พราหมณ์ภารทวาชโคตรนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวกะ พระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
บุคคลฆ่าอะไรได้ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าอะไรได้ย่อมไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ย่อมชอบใจการฆ่าธรรมอะไรเป็นธรรมอันเอก ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลฆ่าความโกรธได้ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าความโกรธได้ย่อมไม่เศร้าโศก ดูกร พราหมณ์ พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธ อันมีมูลเป็นพิษ มีที่สุดอันคืนคลาย เพราะว่าบุคคลฆ่าความโกรธนั้นได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ฯ
เป็นระเบียบอะไรไหม ขอให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุขหรือเปล่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ... ฯลฯ
และพราหมณ์ภารทวาชโคตรได้ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค ไม่นานนักได้บรรลุคุณธรรม เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล ฯ
ต้องท่องไหม
ผู้ฟัง พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสไว้ลอยๆ อย่างนั้น แต่วิธีฆ่า พระองค์ก็ไม่ได้ทรงแสดงไว้
ท่านอาจารย์ ถ้าทรงแสดง คิดว่าจะให้มีแบบแผนอย่างนั้นหรือเปล่า หรือว่าจะทรงแสดงธรรมโดยประการทั้งปวง โดยละเอียด ให้เห็นโทษของอกุศล และให้เห็นคุณของกุศลทั้งหลาย พร้อมด้วยการอบรมเจริญปัญญาที่จะฆ่าความโกรธได้เป็นสมุจเฉท
ผู้ฟัง การฆ่าความโกรธได้ก็มีอยู่ การเจริญวิปัสสนาภาวนาก็ฆ่าได้ การเจริญสมถภาวนาก็ข่มได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญสมถภาวนากับผู้ที่จะเจริญ วิปัสสนาภาวนามีความต่างกัน ในพระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ ข้อ ๖๐๙ หัวข้อฌานนิทเทส ท่านกล่าวว่า ผู้ที่จะทำเครื่องกั้นให้ออกไปจากจิต จะต้องเดิน ต้องนั่ง เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะกำจัดนิวรณ์จำเป็นต้องเพียร ท่านอธิบายลักษณะของความเพียรว่า ผู้ที่จะทำความเพียรเพื่อกำจัดนิวรณ์ จะต้องนั่งและเดินจงกรม แต่ผู้ที่เจริญวิปัสสนาภาวนา ไม่จำเป็นต้องนั่ง ไม่จำเป็นต้องเดินจงกรมในขณะที่มีความเพียร ขณะใดที่มีอารมณ์ปรากฏลักษณะหนึ่งลักษณะใด ก็รู้อารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น การปฏิบัติวิปัสสนากับสมถภาวนามีความต่างกัน ซึ่งขณะที่เจริญสมถภาวนานั้น ต้องมีแบบแผน
ท่านอาจารย์ เริ่มอย่างไร
ผู้ฟัง เริ่มจากการท่อง
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เริ่มจากการเข้าใจให้ถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พร้อมสติสัมปชัญญะ
ผู้ฟัง ในสมถภาวนา ผู้ที่จะได้ฌาน ท่านจะต้องผ่านนิมิตทั้ง ๓
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ก็ไกลไปจากตัวท่านตามความเป็นจริง ซึ่งเพิ่งเป็น ผู้เริ่มแท้ๆ ผู้เริ่มแท้ๆ ในชีวิตประจำวัน เคยสังเกตลักษณะของความโกรธไหม ที่พราหมณ์ภารทวาชโคตรทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า บุคคลฆ่าอะไรได้ย่อมนอนเป็นสุข และพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ฆ่าความโกรธได้ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าความโกรธได้ย่อมไม่เศร้าโศก
ในชีวิตประจำวัน อย่าคิดถึงเพียงความโกรธอย่างแรงๆ อย่างเดียว ในชีวิตประจำวันท่านที่ประกอบธุรกิจการงาน มีความทุกข์อะไรบ้างที่เกิดจากการงาน หรือว่าที่เกี่ยวข้องกับการงาน กับบุคคลที่ร่วมงาน มีความพอใจ มีความไม่พอใจ มีความคับแค้นใจ หรือว่าเสียใจในการงาน ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ขณะนั้นเป็นทุกข์ทั้งหมด เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่น่ายินดี เป็นลักษณะอาการต่างๆ ของความโกรธ
เพราะฉะนั้น การฆ่าความโกรธ ไม่ใช่เวลาอื่น แต่เป็นเวลาที่กำลังมีเหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นเฉพาะหน้า และสามารถที่จะระงับความโกรธได้ ถ้าเป็นขั้นสมถะ ขั้นที่เห็นโทษของความโกรธ และไม่เห็นประโยชน์ของความโกรธเลย จึงรู้ว่า ในขณะนั้นแทนที่จะให้เป็นอกุศลจิต คือ ความโกรธ ก็ควรที่จะมีเมตตา ซึ่งสามารถจะเกิดได้จริงๆ ถ้าอบรมในขณะนั้น ไม่ใช่ในขณะอื่น ในขณะที่ชีวิตกำลังเผชิญกับความโกรธในลักษณะต่างๆ ในธุรกิจการงาน ในความคับแค้นใจ ในความไม่สะดวกใจ ในความขัดข้อง ในอุปสรรคต่างๆ ในขณะนั้น สามารถฆ่าความโกรธได้ ย่อมเป็นสุข
ผู้ฟัง ความโกรธนี้ ไม่มีใครชอบ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขอให้เป็นชีวิตจริงๆ ซึ่งสามารถชนะได้ ระงับได้ในขณะนั้น โดยขั้นของการเจริญเมตตา เป็นสมถภาวนา
- เมตตา ตอนที่ 01
- เมตตา ตอนที่ 02
- เมตตา ตอนที่ 03
- เมตตา ตอนที่ 04
- เมตตา ตอนที่ 05
- เมตตา ตอนที่ 06
- เมตตา ตอนที่ 07
- เมตตา ตอนที่ 08
- เมตตา ตอนที่ 09
- เมตตา ตอนที่ 10
- เมตตา ตอนที่ 11
- เมตตา ตอนที่ 12
- เมตตา ตอนที่ 13
- เมตตา ตอนที่ 14
- เมตตา ตอนที่ 15
- เมตตา ตอนที่ 16
- เมตตา ตอนที่ 17
- เมตตา ตอนที่ 18
- เมตตา ตอนที่ 19
- เมตตา ตอนที่ 20
- กรรม ตอนที่ 01
- กรรม ตอนที่ 02
- กรรม ตอนที่ 03
- กรรม ตอนที่ 04
- กรรม ตอนที่ 05
- กรรม ตอนที่ 06
- กรรม ตอนที่ 07
- กรรม ตอนที่ 08
- กรรม ตอนที่ 09
- กรรม ตอนที่ 10
- กรรม ตอนที่ 11
- กรรม ตอนที่ 12
- กรรม ตอนที่ 13
- กรรม ตอนที่ 14
- กรรม ตอนที่ 15
- กรรม ตอนที่ 16
- กรรม ตอนที่ 17
- กรรม ตอนที่ 18
- กรรม ตอนที่ 19
- กรรม ตอนที่ 20