เมตตา ตอนที่ 06


    ผู้ฟัง ความโกรธนี้ ไม่มีใครชอบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขอให้เป็นชีวิตจริงๆ ซึ่งสามารถชนะได้ ระงับได้ในขณะนั้น โดยขั้นของการเจริญเมตตา เป็นสมถภาวนา หรือว่าเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพื่อที่จะได้ดับความโกรธได้จริงๆ ถึงความเป็น พระอนาคามีบุคคล

    ผู้ฟัง การเจริญเมตตาตามความเข้าใจของผม ไม่พ้นจากคิด คิดก็ดี ท่องก็ดี ก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่บุคคลอื่น คิดอย่างไร กำลังช่วยเหลือบุคคลอื่น หรือหาอาหาร น้ำ ข้าวปลาให้บุคคลอื่น ขณะนั้นท่องอย่างไร คิดอย่างไร

    ผู้ฟัง ขณะนั้นไม่ต้องท่อง

    ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็น

    ผู้ฟัง บางครั้งการหาน้ำหาท่าให้เขา ก็ไม่ใช่โอกาส

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อย่าเพียงเห็นโทษของโทสะ หรือว่าอย่าเพียงเห็นโทษของโลภะ แต่ควรจะเห็นโทษของโมหะ จึงเจริญสติ ถ้าตราบใดที่ไม่เห็นโทษของโมหะ ขณะนั้นจะทำอย่างอื่นแทนที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และศึกษาในสภาพที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม

    ผู้ฟัง คิดว่า ถ้าตราบใดมีสติ แม้ไม่มีสัมปชัญญะ ก็ยังดีกว่าจิตเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้น เมื่อไรจะเจริญสติปัฏฐาน ผลัดไปเรื่อยๆ อย่างนั้นก็ดีกว่าสติ อย่างนี้ก็ดีกว่าสติ และเมื่อไรสติปัฏฐานจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ชาตินี้เป็นอย่างนี้ ชาติหน้าก็ต้องเป็นอย่างนี้ ชาติต่อๆ ไปก็ยังคงเป็นอย่างนี้ ไม่ได้เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสติปัฏฐานเสียที และขอให้ทราบว่า แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยสาวกที่ประกอบด้วยฌานจิตมีจำนวนน้อยกว่าผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยสาวกโดยที่ไม่สามารถถึงฌานจิต

    ถ้าท่านผู้ฟังพยายามที่จะได้ทั้งสองอย่าง เมื่อไรสติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นการเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ฌานจิตก็ยากที่จะถึง สติปัฏฐานก็ไม่ได้อบรมเจริญเลย เพราะมุ่งที่จะท่อง มุ่งที่จะคิดอย่างอื่น

    อย่าลืมจุดประสงค์ ขอให้เป็นการอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่จะฆ่าความโกรธได้เป็นสมุจเฉท เพราะสามารถที่จะระลึกได้ว่า แม้ขณะที่เมตตาเกิด เมตตานั้นก็ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีลักษณะอย่างนั้น เป็นไมตรี เป็นความหวังดี เป็นความเกื้อกูล เป็นความน้อมนำประโยชน์ให้บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่เรา เมื่อสภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น ก็มีอาการอย่างนั้น มีการกระทำกิจต่างๆ เหล่านั้น เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง การฆ่าความโกรธในสังคมปัจจุบันมีอีกวิธีหนึ่ง คือ เขาบอกว่า เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้นให้นับ ๑ ถึง ๑๐ ซึ่งบางคนก็บอกว่าได้ผล ขณะที่นับ ๑ ถึง ๑๐ สามารถระงับความโกรธได้ แต่บางคนก็บอกว่าไม่ได้ผล ผมคิดว่า ขึ้นอยู่กับความโกรธว่าแรงหรือไม่แรง มีกำลังมากหรือมีกำลังน้อย ถ้าโกรธมีกำลังน้อย นับ ๑ ถึง ๑๐ ก็ระงับหายไปได้ เพราะเปลี่ยนอารมณ์ไป

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้น หลังจากที่เปลี่ยนอารมณ์ไปแล้ว เป็นโลภะหรือเป็นโมหะ

    ผู้ฟัง ก็แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ โทสะไม่เกิด จริง แต่เป็นเมตตาหรือไม่ มีท่านผู้ฟังถามว่า เวลาที่ท่านคิดเอื้อเฟื้อสงเคราะห์คนอื่นซึ่งยากไร้ขัดสน โดยในขณะนั้นท่านมีความรู้สึกว่า ท่านสุขสบายกว่าเขา ท่านดีกว่าเขา ในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า

    นี่เป็นเรื่องของความละเอียด ในขณะที่เห็นคนที่ขัดสนยากไร้ และมีจิตคิดเอ็นดู เกื้อกูลสงเคราะห์บุคคลนั้นโดยความคิดว่า ท่านสุขสบายกว่าเขา ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า เรื่องของจิตเป็นเรื่องละเอียดมาก และเกิดดับอย่างรวดเร็ว จะเห็นกำลังของกุศลธรรมว่ามีหลายขั้นด้วย บางท่านเป็นผู้ที่มีเมตตา เวลาที่ท่านเห็นคนอื่นลำบาก ทุกข์ยาก เดือดร้อน ก็สงเคราะห์ช่วยเหลือเขา นั่นก็เป็นเมตตาขั้นหนึ่ง แต่ยังไม่มีเมตตาถึงกับมีกิริยาที่สนิทสนมเป็นเพื่อน หรือว่ามีความเป็นมิตรด้วยใจจริงกับบุคคลนั้น ไม่มีสูงกว่า หรือว่าต่ำกว่าในความรู้สึก ในขณะที่ท่านเกื้อกูล

    เพราะฉะนั้น เมตตามีหลายขั้น และจะเห็นได้ว่า บางท่านมีมานะที่ยังไม่ได้ ขัดเกลา แต่ก็มีเมตตาพอที่จะสงเคราะห์บุคคลที่ควรแก่การที่จะสงเคราะห์ แต่ควรรู้ลักษณะของเมตตามากขึ้นว่า เมตตาที่มีกำลังเพิ่มขึ้น ต้องเป็นความรู้สึกว่า ไม่ต่างกัน ไม่ว่าใคร ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดแตกต่างกันไปตามกำลังของเหตุปัจจัยแต่ละขณะ เดี๋ยวเป็นกุศลกรรม เดี๋ยวเป็นอกุศลกรรม เดี๋ยวเป็นกุศลวิบาก เดี๋ยวเป็นอกุศลวิบาก เหมือนกันหมดไม่ว่าใครทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่ามีใครที่จะมีแต่กุศลวิบากอยู่ตลอดเวลา อกุศลวิบากก็มี วันนี้เป็นอย่างนี้ พรุ่งนี้ก็เป็นอย่างอื่น ชาตินี้เป็นอย่างนี้ ชาติหน้าก็เป็นอย่างอื่น ชาติก่อนเป็นอย่างอื่น ชาตินี้เป็นอย่างนี้ และชาติหน้าก็เป็นอย่างอื่นต่อไปอีก เพราะฉะนั้น ไม่มีความต่างกันเลยจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีเมตตาเพิ่มขึ้น ย่อมจะมีอาการกิริยาที่สนิทสนมอย่างจริงใจไม่ว่ากับบุคคลใดทั้งสิ้น ที่กำลังเอื้อเฟื้อสงเคราะห์ช่วยเหลือในขณะนั้นก็ด้วยความรู้สึกที่เป็นมิตรและสนิทสนมจริงๆ

    การอบรมเจริญเมตตา ผู้ที่อบรมเจริญแล้วย่อมทราบว่า ท่านมีเมตตาเพิ่มขึ้นจริงๆ แค่ไหน หรือว่ายังเหมือนเดิม ยังคงเป็นอย่างเดิมอยู่ แต่ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญเมตตายิ่งขึ้น อกุศลอื่นๆ จะลดน้อยลงด้วย ความมานะ ความสำคัญตน ย่อมจะ เบาบางลงไป เพราะเห็นว่าในขณะใดที่มีความสำคัญตน ถือตน ในขณะนั้นไม่ได้เมตตาบุคคลนั้นเลย ถ้าเมตตาแล้วต้องไม่มีความสำคัญตน ต้องเป็นอาการที่ สนิทสนม และเป็นไมตรีจริงๆ

    การเห็นโทษของโทสะ และยิ่งเห็นโทษของอกุศลอื่นๆ ด้วย เช่น เห็นโทษของมานะ เห็นโทษของอิสสา เห็นโทษของมัจฉริยะ จะเห็นได้ว่า ในขณะใดที่อกุศลเหล่านั้นเกิดขึ้น จิตปราศจากเมตตา

    การฟังธรรมโดยละเอียดในเรื่องลักษณะอาการต่างๆ ของโลภะ ลักษณะอาการต่างๆ ของมัจฉริยะ ลักษณะอาการต่างๆ ของโทสะ และประโยชน์ต่างๆ ของเมตตา ซึ่งต้องเห็นประโยชน์ของการฟังว่า การเคารพในธรรม หมายความถึงการฟังด้วยความตั้งใจ ซึ่งมีการแสดงไว้ว่า การเคารพในธรรมนั้นในขณะใด ถ้าเป็นในขณะที่ฟังด้วยความตั้งใจ นั่นคือ การเคารพธรรม แต่ขณะใดก็ตาม ฟังแล้วไม่ตั้งใจ หรือ ไม่สนใจ ในขณะนั้น ไม่ชื่อว่าเคารพธรรม

    บางท่านอาจจะไม่ทราบความหมายของการเคารพธรรม ท่านก็คิดว่า ท่านเคารพในพระรัตนตรัย ในพระผู้มีพระภาค ในพระธรรม ในพระสงฆ์ แต่ถ้ายิ่งเข้าใจ ก็จะยิ่งเกื้อกูลว่า แม้ในขณะที่ท่านฟังธรรม ท่านจะเป็นผู้ที่เคารพในธรรมจริงๆ ในขณะที่ตั้งใจฟังและพิจารณาด้วยดี ในขณะนั้นเป็นการเคารพธรรม และจะมีประโยชน์มากมายจากการฟังด้วยความเคารพ คือ ด้วยความตั้งใจ

    เหมือนกับผู้ซื้อ ที่ได้ฟังผู้ขายพรรณนาประโยชน์ต่างๆ ของสินค้าเพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อ ถ้าเป็นพ่อค้าทั่วๆ ไป ก็เพื่อประโยชน์ของพ่อค้า แต่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพรรณนาธรรมโดยละเอียดเพื่อประโยชน์ของผู้ฟัง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพระองค์เอง แต่อุปมาพระองค์เหมือนพ่อค้าเพราะเวลาที่พ่อค้าจะขายสินค้า ย่อมจะพรรณนาคุณประโยชน์ของสินค้าที่ตนจะขายอย่างมากมาย โดยละเอียด ฉันใด พระผู้มีพระภาคก็ทรงพรรณนาธรรมทั้งที่เป็นกุศลธรรมและ อกุศลธรรมโดยละเอียด เพื่อที่จะให้ผู้ฟังได้เข้าใจจริงๆ ซึ่งจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ กุศลธรรมเจริญขึ้น

    เพราะฉะนั้น การเจริญเมตตา อย่าลืม ไม่ว่าขณะไหนทั้งสิ้น ไม่ว่าท่านจะพบบุคคลใดซึ่งเป็นที่รัก หรือเป็นที่เฉยๆ หรือเป็นที่ชัง ในขณะนั้น ผู้ที่เจริญเมตตาย่อม รู้ว่า เมตตาสามารถที่จะเกิดขึ้นได้แทนโลภะ แทนโทสะ และแทนความรู้สึกเลื่อนลอย ซึ่งลักษณะของเมตตาต้องปรากฏ

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อักโกสกสูตรที่ ๒ มีข้อความที่แสดงให้เห็นพระคุณของพระผู้มีพระภาคว่า ทรงแสดงธรรมโดยละเอียดเหมือนพ่อค้าที่พรรณนาคุณประโยชน์ของสินค้า

    ข้อความมีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ฯ

    อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้สดับมาว่า ได้ยินว่า พราหมณ์ภารทวาชโคตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในสำนักของพระสมณโคดมแล้ว ดังนี้ โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ด่าบริภาษพระผู้มีพระภาคด้วยวาจาอันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ ฯ

    เมื่อได้ทราบว่าพี่ชายไปบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาค ผู้ที่อบรมความโกรธ ความขัดเคืองไว้มาก ก็ถึงกับ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ด่าบริภาษพระผู้มีพระภาคด้วยวาจาอันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ

    ถ้าท่านผู้ฟังบังเอิญมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น จะได้พิจารณาพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่อประโยชน์ที่จะให้เมตตาเกิดแทนโทสะ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เมื่ออักโกสกภารทวาชพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะ อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ว่า

    ดูกร พราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน มิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกของท่าน ย่อมมาบ้างไหม ฯ

    อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ตอบว่า

    พระโคดมผู้เจริญ มิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกของข้าพระองค์ ย่อมมาเป็นบางคราว ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านจัดของเคี้ยว ของบริโภคหรือของดื่มต้อนรับมิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้น บ้างหรือไม่ ฯ

    อักโกสกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า

    พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์จัดของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มต้อนรับมิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้าง ในบางคราว ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ ก็ถ้าว่ามิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้น ไม่รับ ของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มนั้นจะเป็นของใคร ฯ

    อักโกสกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า

    พระโคดมผู้เจริญ ถ้าว่ามิตรและอำมาตย์ญาติสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มนั้น ก็เป็นของข้าพระองค์อย่างเดิม ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ ข้อนี้ก็อย่างเดียวกัน ท่านด่าเราผู้ไม่ด่าอยู่ ท่านโกรธเราผู้ไม่โกรธอยู่ ท่านหมายมั่นเราผู้ไม่หมายมั่นอยู่ เราไม่รับเรื่องมีการด่าเป็นต้นของท่านนั้น ดูกร พราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นก็เป็นของท่านผู้เดียว ดูกร พราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นก็เป็นของท่านผู้เดียว

    แล้วตรัสต่อไปว่า

    ดูกร พราหมณ์ ผู้ใดด่าตอบบุคคลผู้ด่าอยู่ โกรธตอบบุคคลผู้โกรธอยู่ หมายมั่นตอบบุคคลผู้หมายมั่นอยู่ ดูกร พราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ย่อมบริโภคร่วมกัน ย่อมกระทำตอบกัน เรานั้นไม่บริโภคร่วม ไม่กระทำตอบด้วยท่านเป็นอันขาด

    ดูกร พราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นเป็นของท่านผู้เดียว ดูกร พราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นเป็นของท่านผู้เดียว ฯ

    เป็นไปได้ไหม ในชีวิตประจำวันของท่านผู้ฟังที่จะเจริญเมตตา หรือทิ้งไว้ก่อน ตอนเหตุการณ์จริงๆ ไม่เจริญ แต่จะไปท่อง เพราะฉะนั้น ต้องเจริญ ไม่ใช่ท่อง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะต้องพิจารณารู้ว่า สิ่งใดไม่มีประโยชน์ และสิ่งใดเป็นประโยชน์

    อักโกสกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า

    บริษัทพร้อมด้วยพระราชา ย่อมทราบพระโคดมผู้เจริญอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นพระอรหันต์ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระโคดมผู้เจริญจึงยังโกรธอยู่เล่า ฯ

    นี่แสดงว่า อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ไม่เข้าใจความหมายของความเป็น พระอรหันต์จึงได้กล่าวเช่นนั้น ความจริงพระผู้มีพระภาคตรัสดีๆ แต่บุคคลใดมีความโกรธก็เข้าใจว่า ผู้พูดเช่นนั้น พูดด้วยความโกรธ ซึ่งพระผู้พระภาคตรัสว่า เรานั้นไม่บริโภคร่วม ไม่กระทำตอบด้วยท่านเป็นอันขาด ทำให้พราหมณ์เข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคยังโกรธอยู่

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ผู้ไม่โกรธ ฝึกฝนตนแล้ว มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ชอบ สงบ คงที่อยู่ ความโกรธจักมีมาแต่ที่ไหน ผู้ใดโกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็น ผู้ลามกกว่าบุคคลผู้โกรธนั้นแหละ เพราะการโกรธตอบนั้น บุคคลไม่โกรธตอบบุคคล ผู้โกรธแล้ว ชื่อว่าย่อมชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติ สงบเสียได้ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ แก่ตนและแก่บุคคลอื่น เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์อยู่ทั้งสองฝ่าย คือ ของตนและของบุคคลอื่น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรมย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า เป็นคนเขลา ดังนี้ ฯ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ

    และอักโกสกภารทวาชพราหมณ์ก็ได้ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของ พระผู้มีพระภาค ซึ่งไม่นานเท่าไรนักท่านก็บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย

    พอที่จะเกิดเมตตาได้ไหม ถ้าประสบกับเหตุการณ์อย่างนี้ หรือถ้าใครโกรธ ก็ต้องโกรธตอบ จะเปลี่ยนใจไหมว่า ถึงใครจะโกรธ ก็ไม่โกรธตอบ รู้จักให้อภัย

    เห็นใครกำลังโกรธ ในขณะนั้นไม่มีความรู้สึกขุ่นเคืองใจ ไม่โกรธตอบ แต่ให้อภัยคนที่กำลังโกรธ เพราะว่าความโกรธไม่ว่าจะเป็นของใคร ก็มีอาการที่ไม่สงบ ประทุษร้าย เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นคนที่กำลังโกรธจริงๆ เห็นอาการประทุษร้ายจิตใจ ที่กำลังเกิดขึ้นกับบุคคลนั้น เห็นโทษทันทีเวลาที่เห็นความโกรธของบุคคลอื่น และตัวเองเมื่อเห็นโทษอย่างนั้น ยังอยากจะโกรธเหมือนอย่างนั้นหรือ ในเมื่อกำลังเห็นอาการของความโกรธ เพราะฉะนั้น เมตตาเกิดได้ในขณะนั้น ซึ่งควรเจริญ จนกว่าจะเป็นพื้นของจิตใจที่สามารถจะให้อภัยได้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะกระทำการที่ไม่เหมาะสมทางกาย หรือทางวาจาก็ตาม จะเจริญเมตตาอย่างนี้ไหม

    ผู้ฟัง พยัญชนะต่างๆ บางครั้งต้องตีความให้กระจ่าง คือ ความเห็น ความคิด การท่อง ผมคิดว่า เป็นอย่างเดียวกัน ความคิด ความเห็น ในภาษาไทย บางครั้งก็ใช้ควบคู่กันไป ขณะที่คิด ขณะนั้นก็ท่อง ลักษณะที่คิดกับลักษณะที่ท่อง ก็อย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้น คำว่า เห็นเขากำลังโกรธ และไม่โกรธตอบ ขณะที่ไม่โกรธตอบขณะนั้นต้องเห็นโทษว่า โทสะกำลังประทุษร้ายแก่บุคคลนั้น

    ท่านอาจารย์ ถึงแม้ว่าจะไม่คิดอะไรเลย แต่สภาพของจิตที่สงบ และไม่โกรธตอบ ในขณะนั้นเป็นเมตตา

    ผู้ฟัง ขณะที่ไม่โกรธตอบ ขณะนั้นต้องเห็นโทษ อาจารย์กล่าวเมื่อครู่แล้วว่า ต้องเห็นโทษของโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นถ้าเห็นว่า บุคคลนั้นกำลังถูกโทสะประทุษร้ายจิตอยู่ ที่เห็นอย่างนั้น และคิดอย่างนั้น และพูดไปอย่างนั้น พูดในใจ ขณะที่พูด กับขณะที่ท่อง ก็อย่างเดียวกัน ขณะนั้นจึงไม่โกรธตอบได้ แต่ถ้าไม่เห็นอย่างนั้น ก็ต้องโกรธตอบเป็นธรรมดา

    ท่านอาจารย์ ทำไมจึงติดท่อง

    ขอกล่าวถึงอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องท่อง ใน อรรถกถา ขุททกนิกาย ฉักกนิบาตชาดก ขุรปุตตวรรค ตุณฑิลชาดก มีเนื้อความว่า

    ที่พระวิหารเชตวัน มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่กลัวตายมาก แม้แต่ได้ยินใบไม้ร่วง หรือเสียงอะไรตก หรือเสียงสัตว์ร้องเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็สะดุ้งหวาดกลัวอยู่เป็นนิตย์

    ความกลัวตาย แม้แต่ได้ยินเสียงเบาๆ หรือเสียงอะไรตกก็ตกใจ กลัวว่าจะเป็นเหตุที่จะต้องตาย

    จนกระทั่งเป็นที่เรื่องลือไปทั่วพระวิหารเชตวัน พระภิกษุทั้งหลายก็ได้ประชุมสนทนากันว่า ภิกษุรูปโน้นเป็นผู้ที่กลัวต่อความตาย จนกระทั่งได้ยินเสียงอะไรก็ตกใจสะดุ้งหวาดกลัว อยู่ไม่เป็นสุข ไปไหนก็ไม่เป็นสุขทั้งกลางคืนกลางวัน มีความกลัวอยู่เป็นปกติธรรมดา

    วันนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาสู่โรงธรรมสภา ที่พระภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันถึงเรื่องพระภิกษุผู้กลัวความตายนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถาม ท่านพระภิกษุเหล่านั้นก็กราบทูลให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงว่า ภิกษุรูปนี้เป็นผู้มีความกลัวไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น แม้ในชาติก่อนๆ ก็เคยเป็นผู้ที่กลัวตายยิ่งนัก ดังนี้ แล้วพระองค์ได้ทรงนำเอาอดีตนิทาน (คือ ความเป็นมาในอดีตชาติก่อนๆ) ของภิกษุรูปนั้นเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า

    ในอดีตกาลนานมาแล้ว นานจนแสนนานมานั้น ในเมืองพาราณสี มีหญิงคนหนึ่งเป็นคนทำไร่ฝ้าย เวลาที่จะไปไร่ ก็ใช้ไม้เท้ายันกายไปตามปกติเป็นนิตย์ วันหนึ่งขณะที่กลับจากไร่ฝ้าย ผ่านป่าละเมาะ ก็ใช้ไม้เท้าที่สำหรับยันนำทาง ทุบๆ ตีๆ เหวี่ยงๆ ไปข้างๆ ทาง ครั้งนั้นก็มีแม่หมูตัวหนึ่งกำลังออกลูกอยู่ที่ใกล้ทางนั้น พอได้ยินเสียงไม้เท้าของนางก็ตกใจ หนีไป และทิ้งลูกหมูไว้ ๒ ตัว พอหญิงนั้นเห็นลูกหมูเข้า ก็เกิดความรักใคร่สงสาร เมื่อรู้ว่าแม่ของลูกหมูนั้นก็หนีไปแล้ว ก็เอาลูกหมูทั้ง ๒ ตัวนั้นเลี้ยงไว้ที่บ้าน ตั้งชื่อลูกหมูตัวโตว่ามหาตุณฑิละ ให้ชื่อลูกหมูตัวเล็กว่า จุลตุณฑิละ เมื่อเลี้ยงไปนานๆ ก็มีความรักใคร่ในลูกหมูนั้นมาก เหมือนกับรักลูกของตัวเอง อุตส่าห์พยายามเลี้ยงดูลูกหมูเหมือนอย่างเลี้ยงดูบุตร แต่ว่านางรักลูกหมูตัวโตมากกว่าลูกหมูตัวเล็ก

    ต่อมาลูกหมูนั้นก็โตขึ้นและน้ำหนักมากขึ้น ในครั้งนั้นมีพวกบุรุษอันธพาล หรือพวกนักเลงทั้งหลายซึ่งชอบบริโภคเนื้อหมู ไม่ทราบว่าจะไปหาเนื้อหมูที่ไหนมาบริโภค ก็พยายามขอซื้อลูกหมูจากหญิงชราผู้นั้น

    หญิงนั้นก็กล่าวว่า เราจะขายให้ท่านไม่ได้ เพราะว่าเรารักลูกหมูทั้ง ๒ ตัวนี้เหมือนกับบุตรของตัวเอง เพราะฉะนั้น ก็ขายลูกของตัวให้ไม่ได้เป็นอันขาด

    พวกบุรุษอันธพาลนั้นก็ไม่ท้อถอย พยายามตีราคาของลูกหมูนั้นให้สูงขึ้นอีก หญิงนั้นก็ไม่ยอมขายให้ พวกบุรุษอันธพาลก็คิดอุบายว่า ควรที่จะมอมเหล้าหญิงผู้นั้น และขอซื้อในภายหลัง ก็จัดแจงเอาสุรามาเลี้ยงกันต่อหน้าหญิงนั้น ชักชวนให้หญิงนั้นดื่มสุรา และค่อยๆ ให้หญิงนั้นดื่มสุรามากขึ้นๆ จนกระทั่งเมา พอหญิงนั้นเมา ก็ขอซื้อลูกหมู ซึ่งขณะที่เมาทำให้หญิงนั้นลืมความรักใคร่ลูกหมูชั่วระยะหนึ่ง ก็รับปากว่าจะขายให้ แต่ว่าจะขายตัวเล็กให้ ตัวใหญ่ไม่ขาย

    เมื่อตกลงกันแล้ว ก็เอาอาหารที่ดีๆ เข้าไปให้ลูกหมูตัวเล็กกิน และเรียกให้มาหา ซึ่งลูกหมูก็ตกใจ เพราะว่าไม่เคยเห็นกิริยาอาการอย่างนี้มาก่อน

    ข้อความใน ตุณฑิลชาดก มีว่า

    ลูกหมูจุลตุณฑิละกล่าวว่า

    วันนี้มารดาให้ข้าวที่เทลงใหม่ๆ รางข้าวก็เต็ม มารดาก็ยืนอยู่ใกล้ๆ รางข้าวนั้น ใช่แต่เท่านั้น ยังมีคนเป็นอันมากยืนถือบ่วงอยู่ ฉันไม่พอใจจะบริโภคข้าวนั้นเลย

    ซึ่งตามธรรมดา เวลาจะให้ข้าวลูกหมูกิน หญิงนั้นจะให้ลูกหมูตัวโตกินก่อน เพราะรักใคร่ลูกหมูตัวโตมากกว่า แต่วันนั้นลูกหมูตัวเล็กก็แปลกใจ เพราะแทนที่จะให้ลูกหมูตัวโตกินก่อน กลับเอาอาหารไปให้ลูกหมูตัวเล็ก และมีคนยืนล้อมรอบและถือบ่วง ลูกหมูก็วิ่งไปหาลูกหมูตัวโต แสดงอาการตกใจ ซึ่งมหาตุณฑิละก็กล่าวปลอบว่า

    เจ้าสะดุ้งกลัวภัย หมุนไปมา ปรารถนาที่ซ่อนเร้น เป็นผู้ไร้ที่พึ่ง



    หมายเลข 3
    4 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ