เมตตา ตอนที่ 07
มหาตุณฑิละก็กล่าวปลอบว่า
เจ้าสะดุ้งกลัวภัย หมุนไปมา ปรารถนาที่ซ่อนเร้น เป็นผู้ไร้ที่พึ่ง จะไปไหนเล่า ดูกร น้องตุณฑิละ เจ้าจงมีความขวนขวายน้อย บริโภคอาหารเสียเถิด เราทั้งสองมารดาเลี้ยงไว้ก็เพื่อจะต้องการเนื้อ
ไม่ต้องท่องอะไร ใช่ไหม แต่ไม่ตกใจ และรู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เวลาที่จะเกิดเมตตาขึ้นก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะพูด ไม่ว่าจะคิด ก็เป็นการพูด การคิดในทางที่เป็นกุศล ในทางที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่น แต่ว่าไม่จำเป็นต้องท่องเป็นคำ
มหาตุณฑิละได้กล่าวปลอบลูกหมูตัวเล็กต่อไปว่า
บรรดาผู้ที่เลี้ยงสุกรทั้งหลาย ก็มีวัตถุประสงค์อยู่เพียงแค่นี้
คือ เลี้ยงเพื่อต้องการที่จะขายเนื้อให้แก่คนอื่นเท่านั้น
สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้วในโลกนี้ ที่จะไม่ตายนั้นไม่มีเลย แม้จะเป็นสัตว์มีเนื้อหรือไม่มีเนื้อ ที่เป็นที่บริโภคของผู้อื่นได้หรือไม่ได้ ก็จะต้องตายทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เจ้าจงอย่ากลัวตาย วันนี้เป็นวันที่เราจะต้องตาย เจ้าจงอย่าได้สะดุ้งตกใจกลัวเลย แม้เราจะไม่มีที่พึ่งอื่น มารดาของเราซึ่งเป็นที่พึ่งมาแต่วันก่อน มาวันนี้ก็พึ่งไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น เจ้าจงอย่ากลัว จงเป็นผู้ที่อาบน้ำใสสะอาด ล้าง เหงื่อไคลเสียให้เรียบร้อย แล้วใช้เครื่องหอมลูบไล้ให้สะอาด ให้หอมหวนเช่นนี้ เมื่อจะตายก็ตายอย่างมีความดี เพราะเราไม่เบียดเบียนใคร ดังนี้
ข้อความในพระไตรปิฎก มหาตุณฑิละกล่าวต่อไปว่า
เจ้าจงหยั่งลงยังห้วงน้ำที่ไม่มีเปือกตม แล้วชำระเหงื่อและมลทินทั้งปวงเสีย จงถือเอาเครื่องลูบไล้ใหม่ๆ ที่มีกลิ่นหอมไม่รู้จักหายในกาลไหนๆ เถิด
คนที่อยู่ล้อมรอบ เมื่อเห็นอาการของลูกหมูทั้งสองตัวว่า ตัวหนึ่งกลัวตาย แต่อีกตัวหนึ่งไม่กลัว และก็ปลอบลูกหมูตัวเล็ก ทำให้ทุกคนรวมทั้งหญิงชรานั้นเกิดความสงสาร ความมึนเมานั้นก็หายไป ความเมตตากรุณาก็เกิดขึ้น บุรุษทั้งหลายเหล่านั้นที่จะมาจับลูกหมูก็ทิ้งบ่วง ไม่ต้องการจะซื้อลูกหมูนั้น ลูกหมูนั้นก็ปลอดภัย โดยประการฉะนี้
บุรุษพวกนั้นต้องท่องหรือเปล่า ไม่จำเป็นเลย ทำอะไรก็ได้ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ขอให้เป็นผู้ที่เมตตาสามารถที่จะเกิดได้โดยไม่จำเป็นต้องท่อง
ซึ่งก่อนที่ลูกหมูทั้ง ๒ จะปลอดภัย จุลตุณฑิละก็ได้ถามมหาตุณฑิละว่า
อะไรหนอที่ท่านกล่าวว่า ห้วงน้ำไม่มีเปือกตม อะไรเล่าท่านกล่าวว่า เหงื่อไคลและมลทิน และอะไรเล่าท่านกล่าวว่า เครื่องลูบไล้ใหม่ๆ ที่มีกลิ่นหอม ไม่รู้จักหายในกาลไหนๆ
ไม่ใช่แต่ลูกหมูที่สกปรก ทุกคนมีเหงื่อไคลและมลทิน ซึ่งมหาตุณฑิละกล่าวตอบว่า
ธรรมบัณฑิตกล่าวว่า เป็นห้วงน้ำไม่มีเปือกตม บาปธรรมบัณฑิตกล่าวว่า เหงื่อไคลและมลทิน และศีลบัณฑิตกล่าวว่า เป็นเครื่องลูบไล้ใหม่ที่มีกลิ่นหอม ไม่รู้จักหายในกาลไหนๆ
ธรรมทั้งหมดที่เป็นฝ่ายกุศลธรรมทั้งหมดเป็นห้วงน้ำที่ไม่มีเปือกตม เพราะสามารถที่จะชำระขัดล้างบาปธรรมซึ่งเป็นเหงื่อไคลและมลทินออกได้ และสำหรับศีล ย่อมเป็นเครื่องลูบไล้ซึ่งมีกลิ่นหอมไม่รู้จักหาย ไม่เป็นที่รังเกียจของใครเลย ใครที่มีศีลอยู่ใกล้ใคร จะไม่มีบุคคลใดรังเกียจ
มหาตุณฑิละกล่าวต่อไปว่า
มนุษย์ทั้งหลายผู้โง่เขลา ฆ่าตัวเอง ย่อมพอใจทำบาป ส่วนสัตว์ผู้รักษาตัว ย่อมไม่พอใจทำบาป สัตว์ทั้งหลายรื่นเริงในเดือนมีพระจันทร์เต็มดวง ย่อมสละชีวิตได้
จบ ตุณฑิลชาดกที่ ๓
ในขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้น ทุกคนเป็นผู้โง่เขลา และขณะใดที่ฆ่าคนอื่น ขณะนั้นอย่าลืมว่า ฆ่าตัวเองก่อนด้วย อกุศลเจตนาที่จะฆ่าบุคคลอื่นเป็นบาปธรรมที่ประทุษร้ายบุคคลนั้น เป็นอกุศลธรรมที่ฆ่าบุคคลนั้น และในขณะที่เข้าใจว่า สามารถที่จะฆ่าบุคคลอื่นได้ ฉันใด เวลาที่คิดโกรธคนอื่น ขณะนั้นก็เป็นอกุศลธรรมที่เบียดเบียนคนโกรธ หรือคนที่คิดอย่างนั้น
เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเล่านิทาน คือ ความเป็นมาในอดีตชาติของภิกษุ ผู้กลัวตายรูปนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
มหาตุณฑิละในครั้งนั้น คือ ตถาคตผู้ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมมาสัมโพธิญาณ และจุลตุณฑิละในครั้งนั้น คือ ภิกษุผู้ที่กลัวต่อความตายรูปนี้
ที่กล่าวมานี้เพื่อที่จะให้เห็นว่า ไม่ต้องท่อง การท่องเป็นการคิด เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย อาศัยความเคยชินที่เข้าใจว่าจะต้องท่อง และอาศัยที่เคยท่องมามาก เพราะฉะนั้น ก็มีปัจจัยที่ทำให้จิตเกิดนึกคิดเป็นคำๆ ตามที่เคยท่อง แต่ผู้ที่อบรมเจริญเมตตา สติสัมปชัญญะระลึกรู้สภาพของเมตตาซึ่งเป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับอกุศลธรรม และอบรมเจริญขึ้น
ผู้ฟัง เหตุใกล้ที่จะทำให้เกิดเมตตา คืออะไร
ท่านอาจารย์ เห็นโทษของโทสะ
ผู้ฟัง เมตตาที่จะเกิดนี้ เหตุปัจจัยที่จะเกิดนี้ ต่างกันออกไปได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลธรรม
ผู้ฟัง อย่างเห็นอาการของบุคคลใด และเกิดเมตตาจิตขึ้นมา กับการท่อง และพิจารณาไปตามคำที่ท่องว่า สัตว์ทั้งหลายมีการเกิดเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ควรจะเบียดเบียนกัน เหตุปัจจัยที่เกิดจากการท่องนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดเมตตาได้ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นปกติหรือเปล่า เวลาที่เห็นใครก็นั่งท่องอยู่เรื่อยๆ ต้องมีการพูด มีการคุยเรื่องต่างๆ ขณะใดที่กำลังจะพูดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะเป็นโทษของบุคคลอื่นที่กล่าวถึง ก็วิรัติด้วยเมตตา ไม่หวังที่จะให้เกิดโทษกับบุคคลซึ่งกำลังจะถูกกล่าวถึงในขณะนั้น จิตประกอบด้วยเมตตา แต่ไม่ใช่ว่าพอเจอกัน หรือเห็นใครก็ไม่พูด นั่งท่องอยู่นั่นแหละ เป็นไปได้อย่างไร เวลาเห็นกันอย่างนี้ กำลังพูดกันอย่างนี้ สติสัมปชัญญะก็ระลึกได้รู้สภาพของจิตว่า ขณะนั้นประกอบด้วยเมตตาหรือเปล่า ทางกาย ทางวาจา ทางใจ เวลาพูดก็พูดด้วยเมตตา แต่ไม่จำเป็นต้องขอให้สัตว์ทั้งหลายในขณะที่กำลังพูด
ผู้ฟัง เมตตาที่เกิดจากการเห็น กับการคิดนึก โดยผลแล้วต่างกันไหม
ท่านอาจารย์ วันหนึ่งๆ ก็เห็นสัตว์บุคคลทั้งหลาย ควรจะระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเห็นแล้วรำคาญ เห็นแล้วคอยจ้องจับผิด หรือว่าเห็นแล้วก็มีความรู้สึกเป็นไมตรี หวังประโยชน์เกื้อกูล กระทำทุกอย่างที่จะเป็นประโยชน์ให้บุคคลนั้นได้ มีจิตใจที่แช่มชื่นยิ้มแย้มแจ่มใสเบิกบาน ไม่ทำกิริยาอาการใดๆ ที่จะทำให้บุคคลนั้นลำบากใจ แม้แต่การจะให้วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ให้ด้วยอาการที่จะทำให้ผู้รับเกิดความสบายใจ ความสุขใจ เพราะการให้ก็มีหลายลักษณะ บางคนอาจจะให้โดยที่ทำให้ผู้รับไม่มีความรู้สึกว่า เป็นสุขที่จะรับก็มีใช่ไหม
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เมตตาเกิดขึ้นจริงๆ เจริญขึ้น เพิ่มขึ้น ทั้งทางกาย วาจา ใจ ก็ย่อมจะประกอบด้วยเมตา แม้แต่ขณะที่ไม่เห็น เพียงแต่วันหนึ่งๆ คิดถึงว่าจะทำประโยชน์ให้แก่ใคร หวังประโยชน์เกื้อกูล คิดในทางที่จะเกื้อกูล ขณะนั้นก็เป็นเมตตาโดยที่ไม่ต้องท่อง ไม่ว่าจะคิดอะไร ก็ขอให้ประกอบด้วยเมตตา กิริยาอาการก็ประกอบด้วยเมตตา ไม่ใช่เพียงแต่ท่องหรือคิด แต่ทำ เมตตาต้องออกมาถึงกาย วาจา
ผู้ฟัง เมตตานี่ปรากฏทางใจ โดยผ่านทวารต่างๆ เข้ามา ใช่ไหม อย่างตาเห็นรูปแล้วเกิดเมตตาขึ้นมา มีรูปเป็นปัจจัย
ท่านอาจารย์ มีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์หรือเปล่า ถ้ามีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ ในขณะนั้นเมตตาเกิดได้ เห็นเด็กเล็กๆ เมตตาไหม ถ้าเมตตาเด็กเล็กๆ จะทำอย่างไร จะพูดด้วยดีๆ จะช่วยจูงข้ามถนน หรือจะให้ขนมหวานๆ หรืออะไรก็ได้ ใช่ไหม ขอให้ออกมาถึงชีวิตประจำวัน และทางกาย ทางวาจาจริงๆ เป็นการอบรมเจริญให้มีเมตตาเพิ่มขึ้นจนกระทั่งรู้สึกตัวเองได้ว่า เมตตาเพิ่มขึ้นบ้าง หรือว่าเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่ไม่ใช่มุ่งหวังจะให้มีเมตตา โดยที่ไม่รู้ลักษณะของเมตตา หรือว่าสติสัมปชัญญะ ไม่เกิด เวลาที่เห็น เวลาที่ได้ยิน หรือเวลาที่คิดนึกถึงสัตว์บุคคลต่างๆ
ผู้ฟัง เมตตาที่เกิดกับสิ่งที่ไม่มีชีวิต มีได้ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะพรหมวิหาร ๔ ต้องมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ ฝนไม่ตกก็โกรธฝนที่ไม่ตก ฝนตกมากก็โกรธฝนที่ตกมาก แต่ไม่ใช่ว่าจะไปเจริญเมตตากับฝน เพราะพรหมวิหาร ๔ ต้องมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ แต่ว่าโทสะสามารถที่จะโกรธได้ แม้ไม่ใช่ในสัตว์ ในบุคคล
ผู้ฟัง ผมฟังแล้วไปใคร่ครวญดู โดยมากคนทั่วๆ ไปคิดว่า จะต้องไปภาวนาเมตตา หรือไปแผ่อานิสงส์แผ่ความเมตตาให้คนโน้นบ้าง สัตว์ทั้งหลายบ้าง ซึ่งอย่างนี้ผมว่าอานิสงส์คงไม่ได้เท่าไร โดยเฉพาะถ้าเจริญเมตตาภาวนา ต้องดูเหตุการณ์เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ตัวอย่างที่ผมประสบมาเมื่อ ๒ – ๓ วันก่อน หลังจากที่ฟังอาจารย์บรรยายเรื่องเมตตา มีคนงานของผมคนหนึ่งได้นำของมาขายให้ โดยหามาด้วยความทุจริต ซึ่งผมคิดว่าเป็นของดี ผมก็รับซื้อไว้เป็นเงินจำนวนมากสำหรับฐานะอย่างผม จากนั้นเจ้าของก็มาตามและนำตำรวจมาจับ ถ้าเราไม่คืนให้คนที่นำของมาขายติดตารางแน่ และถ้าทำอย่างนั้นก็ขาดความเมตตา ผมก็นึกสงสาร แผ่เมตตา โดยคืนของไป ก็หมดเรื่องหมดราว ตำรวจก็ไม่จับ อานิสงส์นี้ทำให้เราสบายใจ แต่ถ้าเราไม่มีเมตตา ไม่คืนของให้เขาไป หมกมุ่นคิดแต่จะเอา ก็เกิดความเดือดร้อนก่อเวรก่อกรรม แต่ถ้าเราเกิดความเมตตาว่า ไหนๆ เราก็เสียเงินไปแล้ว เอากลับคืนมาไม่ได้ คิดเมตตาให้เขาพ้นทุกข์จากการติดคุกติดตะราง ทำให้เกิดความสบายใจ ความเสียดายก็ไม่ค่อยได้นึกถึง ผมว่าอานิสงส์ของเมตตาเป็นอย่างนี้เอง คนที่ทำผิดก็กลับมาเกรงกลัวเรา ไม่เป็นศัตรูกับเราด้วย ผมว่าอานิสงส์คงเป็นอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ นี่เป็นการเจริญเมตตาจริงๆ คือ เวลาที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น และสามารถที่จะไม่เกิดโทสะ เป็นการตัดเวรภัยซึ่งจะเกิดต่อไป เพราะในขณะนั้นเป็นการให้อภัย มีความเห็นใจ มีความเมตตากรุณา และมีความหวังดีต่อผู้ที่นำความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้ โดยที่ไม่ก่อเรื่องต่อไป ทำให้พ้นจากเวรภัยทั้งปวงได้
เพราะฉะนั้น เรื่องของเมตตาเป็นเรื่องเจริญจริงๆ อบรมให้มีขึ้นจริงๆ โดยที่ว่าขณะนั้นเป็นลักษณะสภาพที่ตรงกันข้ามกับความโกรธ หรือว่าการก่อเวรก่อภัย
ในคราวก่อนได้กล่าวถึงพราหมณ์ภารทวาชโคตร ซึ่งได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค แต่ท่านเป็นผู้ที่มีญาติมิตรสหายมาก เพราะฉะนั้น เมื่อญาติมิตรสหายของท่านได้ทราบข่าวว่า ท่านเกิดความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคและอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ญาติมิตรสหายของท่านก็โกรธ ขัดใจ และได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แสดงอาการโกรธต่างๆ ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้เกิดในสมัยที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์
ต่อไปเป็นข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อสุรินทกสูตรที่ ๓ มีข้อความว่า
... อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ได้สดับมาว่า ได้ยินว่า พราหมณ์ภารทวาชโคตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในสำนักของพระสมณโคดม โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ด่า บริภาษพระผู้มีพระภาคด้วยวาจา อันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ ฯ
อาการของสัตบุรุษกับอสัตบุรุษย่อมต่างกัน
เมื่ออสุรินทกภารทวาชพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรง นิ่งเสีย ฯ
ไม่โต้ตอบด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งท่านผู้ฟังที่ยังมีกิเลสอยู่ ลองพิจารณาการนิ่งของท่านว่า ถึงแม้จะเป็นการนิ่งด้วยกัน แต่สภาพของจิตในขณะที่กำลังนิ่งนั้น ย่อมต่างกัน การนิ่งของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ทั้งหลาย ของพระอนาคามีบุคคล ของพระสกทาคามีบุคคล ของพระโสดาบัน และของปุถุชน ย่อมต่างกัน เพราะผู้ที่ยังไม่ได้ดับความโกรธเป็นสมุจเฉท บางครั้งอาจจะนิ่ง ไม่แสดงอาการทางกาย ทางวาจาให้ปรากฏ แต่ใจใครจะรู้ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็จะไม่ทราบว่า ขณะนั้นเป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล หรือว่าประกอบด้วยเมตตาหรือไม่ และสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เวลาเห็นคนอื่นนิ่ง ก็ย่อมจะเข้าใจตามอัธยาศัยของตนเองว่า บุคคลนั้นนิ่งเพราะเหตุอื่น ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า
ลำดับนั้นแล อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคว่า
พระสมณะ เราชนะท่านแล้ว พระสมณะ เราชนะท่านแล้ว ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชนพาลกล่าวคำหยาบด้วยวาจา ย่อมสำคัญว่าชนะทีเดียว แต่ความอดกลั้นได้เป็นความชนะของบัณฑิตผู้รู้แจ้งอยู่ ผู้ใดโกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็น ผู้ลามกกว่าบุคคลผู้โกรธแล้ว เพราะการโกรธตอบนั้น
บุคคลไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ย่อมชื่อว่าชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติสงบอยู่ได้ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ แก่ตนและแก่ผู้อื่น เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์อยู่ทั้งสองฝ่าย คือ ของตนและของผู้อื่น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรมย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่าเป็นคนเขลา ดังนี้ ฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ก็เกิดความเลื่อมใส ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค และ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
สั้นมาก แต่ผู้ที่พิจารณาเห็นคุณประโยชน์จริงๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นผู้ที่อบรมได้มากน้อยแค่ไหนที่จะเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตาม เวลาที่ท่านผู้ใดกล่าวคำหยาบ ขณะนั้นเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะ อาจจะเข้าใจว่าชนะแล้ว ที่สามารถจะกล่าวคำอย่างนั้นกับผู้อื่นได้ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เป็นผู้แพ้อกุศล ไม่ควรที่จะเข้าใจว่าเป็นผู้ที่ชนะ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังที่จะอบรมเจริญธรรมที่จะขัดเกลากิเลสต่อไป คงจะพิจารณาได้ว่า ท่านจะชนะอะไรดี จะชนะคนอื่นด้วยการแสดงวาจาหรือกิริยาด้วยความโกรธ โดยเข้าใจว่าในขณะนั้นชนะ แต่ความจริงแพ้ ที่จะชนะจริงๆ คือ ชนะกิเลส เพราะ ผู้ไม่โกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธแล้ว ย่อมชื่อว่าชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก
ถ้าใครกำลังโกรธ ก็อย่าอยู่ร่วมกับเขา คือ อย่าโกรธกับเขาด้วย เพราะขณะใดที่โกรธตอบ ขณะนั้นอยู่ร่วมกัน บริโภคร่วมกันกับอกุศลธรรม
การอบรมจิตเป็นเรื่องที่ยาก ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยวิริยารัมภกถา คือ คำพูดที่ทำให้เกิดวิริยะในการที่จะอบรมเจริญกุศลที่จะขัดเกลากิเลส ซึ่งทั้งหมดนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียดในพระไตรปิฎก ขึ้นอยู่กับท่านผู้ฟังที่จะไม่เบื่อ ที่จะอดทน ที่จะฟังให้เห็นคุณของกุศลธรรมจริงๆ และมีความพากเพียรอบรมเจริญกุศลธรรม แต่ต้องไม่ลืมว่า กุศลทั้งหลายที่จะเจริญขึ้นต้องอาศัยสติปัฏฐาน ให้สติ แต่ละขั้นสามารถเกิดระลึกได้ และเห็นโทษของอกุศลที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นปัญญาที่เห็นอกุศลตามความเป็นจริงว่าเป็นอกุศล เมื่อปัญญาเห็นอกุศลเป็นอกุศล ในขณะนั้น ย่อมมีปัจจัยที่จะให้เกิดกุศลแทนอกุศล แต่ผู้ใดที่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจะเห็นได้ว่า สติปัฏฐานไม่ได้เกิดทุกครั้ง บางครั้งเป็นสติที่เป็นไปในทาน นึกที่จะให้ มีความว่องไวเกิดขึ้น เวลาที่เห็นบุคคลที่ควรจะสละวัตถุที่เป็นประโยชน์ให้ ก็ให้ทันที ซึ่งแต่ก่อนอาจจะเป็นผู้ที่ไม่ค่อยจะขยันนัก หรือจิตใจอาจจะอยากให้ แต่ ขี้เกียจที่จะให้ก็มี แต่เมื่อมีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติจะมีกำลังและว่องไวขึ้น ในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในความสงบของจิต ซึ่งสติปัฏฐานสามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามปกติ ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ประโยชน์ คือ กุศลธรรมย่อมเจริญขึ้นโดยอาศัยการอบรม ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่จะต้องพากเพียร มีวิริยะจริงๆ ที่จะอบรมกุศลให้เจริญขึ้น
ผู้ที่เคยชินกับการท่องที่จะให้จำได้ เวลาที่เหตุการณ์จริงๆ เกิดขึ้น อย่าลืมว่าขณะนั้นประโยชน์ของเมตตามีทันทีที่มีการระลึกได้ว่า ไม่ควรที่จะโกรธตอบบุคคลอื่น หรือว่าไม่ควรที่จะโกรธ เพราะขณะนั้นเป็นอกุศล
สำหรับญาติมิตรของพราหมณ์ภารทวาชโคตร มีอีกท่านหนึ่งซึ่งแสดงความโกรธต่างกับท่านอื่น ข้อความใน พิลังคิกสูตรที่ ๔ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ฯ พิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ได้สดับมาว่า ได้ยินว่า พราหมณ์ภารทวาชโคตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในสำนักของ พระสมณโคดม ดังนี้ โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ยืนนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
ท่านผู้นี้ไม่ด่า ไม่บริภาษ แต่ก็โกรธ และความโกรธของท่านผู้นี้ คือ เมื่อได้ไปเฝ้าแล้วก็ยืนนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงอุปนิสัยที่ต่างกัน ถึงแม้ว่าจะไม่แสดงความโกรธทางกาย ทางวาจา แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงธรรมเพื่อที่จะให้บุคคลนั้นเห็นโทษแม้ความโกรธซึ่งมีอยู่ในใจ ที่ไม่ได้แสดงออกทางกาย ทางวาจา
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระหฤทัยแล้ว ได้ตรัสกะพิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถาว่า
ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย เป็นบุรุษผู้หมดจด ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องยั่วยวน บาปย่อมกลับสนองผู้นั้นผู้เป็นพาลนั่นเอง เปรียบเหมือนธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปสู่ที่ทวนลม ฉะนั้น ฯ
ผลของการฟัง แม้พระธรรมสั้นๆ แต่พิจารณาธรรมด้วยความเคารพ คือ ในเหตุผลของธรรมที่ได้ฟัง ทำให้พิลังคิกภารทวาชพราหมณ์เกิดความเลื่อมใส ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค และ ไม่นานเท่าไรนัก ก็ได้ทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของพระธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะทรงแสดงพระธรรม เรื่องอะไร ผู้ฟังที่ได้พิจารณาจริงๆ ย่อมได้รับประโยชน์ และมีศรัทธาเลื่อมใสที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ซึ่งผลคือ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
นอกจากนั้น ข้อความบางตอนในพระไตรปิฎก ท่านผู้ฟังอาจจะพิจารณาเห็นว่า เป็นเรื่องที่เล็กๆ น้อยๆ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่อให้บุคคลนั้นเจริญกุศล
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อหิงสกสูตรที่ ๕ มีข้อความว่า
สาวัตถีนิทาน ฯ
ครั้งนั้นแล อหิงสกภารทวาชพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ครั้นแล้วสนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคแล้ว ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ อหิงสกภารทวาชะพราหมณ์นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ชื่อว่าอหิงสกะ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ชื่อว่าอหิงสกะ ฯ
เป็นการสนทนาปราศรัยธรรมดาๆ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ถ้าว่าท่านมีชื่อว่าอหิงสกะ ท่านพึงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ชื่อว่าอหิงสกะโดยแท้ เพราะไม่เบียดเบียนซึ่งผู้อื่น ฯ
ซึ่งข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้มีว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อหิงสกภารทวาชพราหมณ์เกิดความเลื่อมใส ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค และ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ให้เห็นประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ ไม่ทรงละเว้นโอกาสที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้เฝ้า
- เมตตา ตอนที่ 01
- เมตตา ตอนที่ 02
- เมตตา ตอนที่ 03
- เมตตา ตอนที่ 04
- เมตตา ตอนที่ 05
- เมตตา ตอนที่ 06
- เมตตา ตอนที่ 07
- เมตตา ตอนที่ 08
- เมตตา ตอนที่ 09
- เมตตา ตอนที่ 10
- เมตตา ตอนที่ 11
- เมตตา ตอนที่ 12
- เมตตา ตอนที่ 13
- เมตตา ตอนที่ 14
- เมตตา ตอนที่ 15
- เมตตา ตอนที่ 16
- เมตตา ตอนที่ 17
- เมตตา ตอนที่ 18
- เมตตา ตอนที่ 19
- เมตตา ตอนที่ 20
- กรรม ตอนที่ 01
- กรรม ตอนที่ 02
- กรรม ตอนที่ 03
- กรรม ตอนที่ 04
- กรรม ตอนที่ 05
- กรรม ตอนที่ 06
- กรรม ตอนที่ 07
- กรรม ตอนที่ 08
- กรรม ตอนที่ 09
- กรรม ตอนที่ 10
- กรรม ตอนที่ 11
- กรรม ตอนที่ 12
- กรรม ตอนที่ 13
- กรรม ตอนที่ 14
- กรรม ตอนที่ 15
- กรรม ตอนที่ 16
- กรรม ตอนที่ 17
- กรรม ตอนที่ 18
- กรรม ตอนที่ 19
- กรรม ตอนที่ 20