เมตตา ตอนที่ 09


    ไม่ใช่เป็นผู้ที่อยู่เฉยๆ เวลาที่เห็นอาคันตุกะ คือ เมื่อผู้ที่เป็นแขกกำลังมา พึงลุกขึ้นรับ รับบาตรและจีวร ถวายอาสนะ เชื้อเชิญให้นั่ง พัดวีด้วยก้านใบตาล ล้างเท้า ทาน้ำมัน เมื่อเนยใสและน้ำอ้อยมีอยู่ พึงให้เป็นเภสัช พึงเอื้อเฟื้อด้วยน้ำดื่ม พึงจัดแจงที่อยู่อาศัย

    สำหรับคฤหัสถ์ก็พิจารณาดูตามสมควรว่า ท่านจะทำได้โดยประการใดบ้าง

    สำหรับธรรมปฏิสันถาร ที่จะเกื้อกูลอนุเคราะห์ซึ่งและกัน มีข้อความว่า

    แม้เมื่อภิกษุผู้เป็นนวกะ คือ ผู้บวชใหม่กว่า ยังไม่มาสู่ที่บำรุงของตนนั่นเทียว ก็พึงไปสู่สำนักของเธอ นั่งแล้ว ไม่พึงถามในข้อที่เหลือวิสัย

    ผู้ที่บวชก่อนจะต้องเกื้อกูลผู้ที่บวชใหม่กว่าโดย พึงไปสู่สำนักของเธอ และแม้แต่การที่จะสงเคราะห์ธรรม ก็ไม่ใช่จะหยิบยกเรื่องที่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้หรือที่จะรับได้มาพูด แต่ต้องให้เหมาะกับอัธยาศัยว่า ธรรมประการใดที่สมควรที่จะให้บุคคลนั้นเข้าใจได้

    พึงถามปัญหาในข้อที่เป็นวิสัยของเธอ ไม่พึงถามว่า พวกท่านเรียนนิกายไหนแต่พึงถามว่า พระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของพวกท่านชำนาญคัมภีร์ไหน

    แม้แต่คำพูดที่จะถาม ก็จะต้องเลือกว่า เป็นคำพูดที่เหมาะที่ควร ซึ่งเป็นความระมัดระวังในเรื่องของการที่จะใช้คำพูดด้วยเมตตา

    แล้วถามปัญหาในฐานะอันพอเหมาะ ถ้าเธอสามารถตอบได้ก็เป็นการดี ถ้าไม่สามารถตอบ ก็พึงตอบให้เอง อย่างนี้ย่อมชื่อว่าเป็นอันกระทำธรรมปฏิสันถาร โดยเอกเทศ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ถ้าเธออยู่ในสำนักของตน ควรพาเธอไปเที่ยวบิณฑบาตเนืองนิตย์

    นี่เป็นการกระทำที่ประกอบด้วยเมตตา

    ถ้าเธอยังอยากไป รุ่งขึ้นก็พึงพาเธอไปตามทิศทางที่ควรไป เที่ยวบิณฑบาตในบ้านแห่งหนึ่งแล้วพึงส่งกลับ ถ้าเขานิมนต์พระภิกษุไปในส่วนแห่งทิศอื่น ก็พึงพาภิกษุนั้นผู้ปรารถนาไปด้วย เมื่อเธอไม่ปรารถนาจะไปด้วยคิดว่า ทิศนี้ไม่เหมาะแก่เรา ก็พึงส่งภิกษุที่เหลือไป พาเธอเที่ยวบิณฑบาต อามิสที่ตนได้มาควรถวายเธอ อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นอันกระทำอามิสปฏิสันถาร

    เวลาที่ได้วัตถุสิ่งใดมา ก็ให้แก่ภิกษุที่เป็นอาคันตุกะ

    ถามว่า ก็วัตถุที่ตนได้มา อันภิกษุผู้กระทำอามิสปฏิสันถารควรจะให้แก่ใคร

    ตอบว่า ควรให้แก่อาคันตุกะก่อน

    ไม่ใช่ตนก่อน แต่ผู้เป็นแขกก่อน

    ถ้าภิกษุอาพาธ หรือภิกษุผู้ยังไม่ได้พรรษามีอยู่ ก็ควรให้ แม้แก่พวกเธอ

    ตามความเหมาะสมว่า ถ้าผู้ใดไม่สบาย เป็นทุกข์เดือดร้อน เจ็บไข้ ก็ควรที่จะอนุเคราะห์เกื้อกูล มีเมตตากับบุคคลนั้น คือ ควรให้บุคคลนั้นก่อน

    ควรให้แก่พระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ ควรให้แก่ภิกษุผู้แจกภัณฑะ ก็ภิกษุผู้บำเพ็ญสาราณียธรรมควรให้แก่ภิกษุผู้มาแล้วๆ แม้ร้อยครั้ง แม้พันครั้ง ตั้งแต่ เถราอาสน์ไป

    อนึ่ง ภิกษุผู้กระทำการปฏิสันถาร ควรให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้ ออกไปสู่ภายนอกบ้านแล้ว พบพระภิกษุหรือภิกษุณีผู้ชราหรืออนาถา ควรให้แก่ท่านแม้เหล่านั้น

    ต้องมีจิตเมตตา แม้ว่าจะเป็นบรรพชิตแล้ว ไม่ใช่ว่าเป็นบรรพชิตแล้ว จะไม่มีเรื่องที่จะต้องขัดเกลากิเลส แต่ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ถ้ากิเลสยังมี ก็มีสิ่งที่ควรจะประพฤติเพื่อขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง เรื่องของเมตตา อาจารย์ได้พรรณนาอานิสงส์ไว้มาก ซึ่งความจริงก็เป็นอย่างนั้น แต่ผู้ที่จะเจริญเมตตาในชีวิตประจำวัน ถ้ามีโอกาส บางครั้งกุศลจิตเกิด เมตตาก็เกิดได้ เช่น บนรถประจำทาง อาจจะลุกขึ้นเพื่อให้ผู้หญิง หรือเด็ก หรือคนชรานั่ง ขณะนั้นเป็นเมตตา และเมื่อเราลุกขึ้นแล้ว ถ้าเราจะเจริญเมตตาต่อไป เราจะเจริญอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีเหตุการณ์ใดที่สมควรจะเกื้อกูลบุคคลอื่น ก็กระทำทันที ตามองดู และก็คิด และก็เกิดเมตตาที่จะอนุเคราะห์ในขณะที่สามารถจะอนุเคราะห์ได้ เกื้อกูลได้ มีคำพูดใดที่จะพูดด้วยความเมตตาต่อบุคคลนั้น ก็พูดได้

    ผู้ฟัง ถ้าเขาถือของ เราก็ไปช่วยเขาถือ แต่บางทีก็ไม่ดี เพราะเขาจะว่าเรา เป็นนักล้วงบ้าง นักวิ่งราวบ้าง อะไรพวกนี้

    ท่านอาจารย์ เท่าที่สังเกตรู้สึกว่า พวกนักเรียนถือกระเป๋าใหญ่และหนักมาก และต้องยืนบนรถประจำทางด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าสงเคราะห์ช่วยถือกระเป๋านักเรียนบ้าง หรือช่วยอะไรบ้าง หรือใช้วาจาที่สุภาพเรียบร้อย ฟังแล้วสบายหูอย่างนั้นก็ดี ได้ ทุกขณะ ไม่ว่าจะด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ

    ผู้ฟัง จะทุกขณะได้อย่างไร ก็ต้องเป็นบางโอกาส เป็นบางครั้ง

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ บางครั้งเป็นโอกาสของกาย บางครั้งเป็นโอกาสของวาจา บางครั้งแม้ไม่มีกายวาจา ใจก็ยังอ่อนโยนที่จะช่วยเหลือได้

    ผู้ฟัง มีคนหนึ่งเขาไปศึกษาพระอภิธรรมที่วัดโพธิ์ เห็นเขาถือกระเป๋า มีถุงพลาสติกหลายใบพับไว้อย่างดี เขาบอกว่า เห็นใครถือถุงขาดบนรถเมล์ก็จะให้เขา แสดงว่าการเจริญเมตตานี้ จะต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้นาน และโอกาสที่จะได้เจริญเมตตานี้ลำบากเหลือเกิน โอกาสที่จะทำให้เมตตาจิตเกิดน้อยเหลือเกิน

    ท่านอาจารย์ ถ้าทราบว่าน้อย ก็อบรมเจริญให้ค่อยๆ เกิดขึ้น เพิ่มขึ้นได้ เป็นการดีที่รู้ว่ายังขาดอะไรอยู่ เพราะว่าส่วนใหญ่แต่ละท่านรู้จักตัวเอง บางท่านที่มีมานะมาก และโกรธมาก ท่านรู้ตัวว่า ท่านขาดเมตตา ไม่ค่อยจะมีเมตตากับใคร จึงเป็นผู้ที่โกรธง่ายและรุนแรง และเป็นผู้มีมานะ มีความสำคัญตน มีความถือตน

    เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงอย่างนั้น มีทางเดียวที่จะทำให้ความโกรธค่อยๆ ละคลายลงไปได้ ก็โดยการอบรมเจริญเมตตา

    ผู้ฟัง เมตตาเป็นสิ่งที่ดี ใครๆ ก็ปรารถนา ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรเมตตาจึงจะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ มีวิธีอะไรบ้าง หรือว่าต้องอาศัยอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เมตตาเกิดบ่อยๆ โดยที่ไม่ต้องเตรียมการ เกิดตามธรรมชาติ ธรรมดาทั่วไป

    ท่านอาจารย์ ดูเหมือนว่ากุศลทั้งหลายมีแต่ละวิธีการที่จะเจริญ ว่าใครต้องการประเภทไหน ก็จะได้ซื้อหา หรือว่ามุ่งแต่ที่จะได้เจริญกุศลประเภทนั้น ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว อกุศลมีมากมาย ฉันใด ธรรมที่เป็นกุศลก็ควรที่จะอบรมเจริญทุกประการ ฉันนั้น

    ผู้ฟัง ผมหมายความว่า เหตุที่จะทำให้เกิดเมตตาบ่อยๆ

    ท่านอาจารย์ เห็นโทษของอกุศล

    ผู้ฟัง ผมรู้สึกว่า พักนี้เสื่อมเหลือเกิน เพราะว่าการทำงานหนักเกินไป ขาดการฟังธรรม ขาดการอ่าน ขาดการศึกษา ขาดการเอาใจใส่ ทำให้จิตที่เคยเป็นกุศลบ่อยๆ หายหน้าหายตาไป แต่อกุศล รู้สึกว่าเจริญมากขึ้นๆ

    ท่านอาจารย์ ก็รู้เหตุดี

    ผู้ฟัง กลัวว่าอนาคตจะเป็นเต่าตาบอด ผมมีความรู้สึกอย่างนี้ การงานบีบจนไม่ค่อยได้คิดถึงเรื่องธรรม ทิ้งการฟังไป รู้สึกไม่สบายใจ โทสะเกิดมาก โลภะเกิดมาก เมตตาและกุศลส่วนใหญ่ดูเหมือนหายหน้าหายตาไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ รู้จักเหตุแล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง เพราะขาดการฟัง ขาดการศึกษา ขาดการเอาใจใส่

    ท่านอาจารย์ เมื่อรู้เหตุอย่างนั้น ก็ฟัง เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง จะมีอะไรยิ่งกว่านี้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีอย่างอื่น ธรรมถ้าไม่ฟัง ไม่ศึกษา จะรู้ได้อย่างไร พระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ครบถ้วนทุกประการ เป็นวิริยารัมภกถา เป็นคำที่จะทำให้เกิดวิริยะ คือ ความเพียร ที่จะอบรมเจริญกุศลซึ่งเกิดยาก เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ฟังธรรมอยู่เสมอ ก็มีคำพูดที่เป็นวิริยารัมภกถาที่จะทำให้เกิดวิริยะหรือความเพียร เพราะแม้แต่ความเพียรก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรม ซึ่งแล้วแต่ว่าจะเพียรในอกุศล หรือว่าจะเพียรในกุศล และถ้าไม่ได้ฟังธรรม ก็มีปัจจัยที่จะให้เพียรในอกุศล

    ผู้ฟัง ผมมีเพื่อนอายุใกล้เคียงกัน เขามีประสบการณ์ในการทำมาหากินอย่างมาก และมีความฉลาดเฉลียวในการต่อสู้กับคู่แข่งทางธุรกิจ สามารถทำลายคู่ต่อสู้ให้สาบสูญไปได้ ผมก็เตือนเขาว่า อย่าเลย เราต้องคิดถึงครอบครัวเขา ทำลายเขาได้ แต่ครอบครัวเขาจะลำบาก เขาบอกว่า เขาคิดถึงคำพูดของผม จึงไม่ทำลายโดยให้พังไปข้างหนึ่ง ไม่อย่างนั้นเขาจะทำลายคนอื่นให้ย่อยยับอย่างแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์ของการฟัง และการพิจารณาในสิ่งที่ถูกที่ควร ทำให้กุศลจิตเกิดได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นวาจาที่เกื้อกูลบุคคลอื่นซึ่งประกอบด้วยเมตตา ในขณะนั้น ต้องเตรียมอะไรไหม ถุงกระดาษ หรืออะไร เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

    บางท่านอาจจะรู้สึกว่ายาก เพราะขาดความเข้าใจในลักษณะของเมตตา ก็เลยคิดว่าเมตตานั้นเป็นเรื่องวัตถุ เช่น ต้องเตรียมถุงกระดาษ หรืออะไรๆ อย่างนั้น นั่นเป็นเรื่องวัตถุ แต่ความจริงแล้ว เมตตาเป็นสภาพของจิตที่อ่อนโยน เมื่อมีความอ่อนโยน มีความเป็นมิตรไมตรีกับบุคคลอื่น ก็ไม่เป็นปัจจัยที่จะให้เบียดเบียนบุคคลอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีความคิดที่จะเบียดเบียนบุคคลอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เวลาพูดสังเกตได้เลยว่า คำพูดนั้นประกอบด้วยเมตตาหรือเปล่า เวลากระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็สังเกตได้อีกเหมือนกันว่า เป็นการกระทำที่ประกอบด้วยเมตตาหรือเปล่า

    เคยเป็นคนที่ใช้คำพูดแรงๆ ใช้คำข่ม หรือใช้คำขู่ ถ้าเมตตาเกิด คำพูดอย่างนั้นจะไม่มี ไม่ต้องตระเตรียมวัตถุอะไรทั้งนั้น แล้วแต่ว่าเมตาจะเกิดขึ้นในขณะใด ก็จะกระทำกิจที่ประกอบด้วยเมตตา ด้วยกาย ด้วยวาจา

    อาทิตย์ก่อนมีท่านพระภิกษุรูปหนึ่ง ท่านเล่าถึงเรื่องของพระภิกษุรูปหนึ่งในวัดของท่าน เป็นเรื่องที่ประกอบด้วยเมตตา คือ จะมีที่หนึ่งซึ่งมีน้ำขังอยู่ และมักจะมีมดตกลงไปเป็นประจำ เพราะฉะนั้น กิจวัตรประจำวันของภิกษุรูปนั้น คือ ต้องผ่านที่ที่มีน้ำขังบ่อยๆ เพื่อที่จะได้ช่วยชีวิตของมดที่บังเอิญตกลงไป พอจะทำได้ไหม แล้วแต่เหตุการณ์ในชีวิตของแต่ละคนว่า ใครจะมีอะไร เมื่อไร ที่จะให้เมตตาจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นถ้าสติเกิด ก็จะมีเมตตาเกิดพร้อมที่จะสงเคราะห์อนุเคราะห์บุคคลนั้น กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วยไมตรีจิต ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความช่วยเหลือ เอ็นดู

    ไม่น่าจะยาก อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องยาก แต่เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของกุศล และเห็นโทษของอกุศล อย่าลืม แม้ว่าจะให้ทาน ๑๐๐ หม้อในตอนเช้า ๑๐๐ หม้อในตอนเที่ยง และ ๑๐๐ หม้อในตอนเย็น การที่มีเมตตาจิตแม้ชั่วการหยดของน้ำนมแม่โค ก็ยังมีผลมากกว่าการให้ทานทั้ง ๓ เวลา

    ผู้ฟัง หมายความว่า เวลาที่เมตตาจิตเกิด นิดเดียวเท่านั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ ใช่ ถ้ารู้ว่าเมตตามีผลมากอย่างนี้ อยากจะเจริญไหม ถ้าอยากจะเจริญ เพราะอะไร เพราะหวังที่จะได้ผลมากกว่าผลของทาน หรือว่าเพราะอะไร

    ผู้ฟัง ต้องการผลที่มากกว่าทาน

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้ขัดเกลากิเลส

    ผู้ฟัง ก็ขัดเกลาอยู่ ขณะที่เมตตาจิตเกิด ขณะนั้นอกุศลจิตก็ไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ แต่ติดในผลแล้วใช่ไหม เพราะได้ฟังอย่างนี้ แต่ผลจริงๆ เกิดทันทีที่จิตไม่เป็นโทสะในขณะนั้น และตัดเวรภัยซึ่งจะเกิดเพราะการโกรธ หรือโกรธตอบ เหมือนอย่างที่ท่านผู้ฟังได้เล่าเรื่องในชีวิตของท่านให้ฟังว่า มีคนเอาของมาขาย เป็นของโจร ก็ต้องคืนเจ้าของไป และก็คืนโดยดี เพื่อตัดเวรภัยทั้งหมดที่จะติดตามมาภายหลัง ด้วยเมตตาจิต แต่ถ้าเกิดโกรธขึ้นมาจะเป็นอย่างไร ไม่ให้ เดือดร้อน และก็ยังมีเวร ต่อกันด้วย

    ผู้ฟัง ถ้าคิดได้อย่างนี้ และทำได้ ก็เป็นการดี แต่ถ้าทำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ สำหรับท่านที่ทำไม่ได้ กายจึงเป็นอกุศล วาจาก็เป็นอกุศล จริง แต่ปัญญาที่เกิดพร้อมสติที่รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ก็เป็นปัจจัยที่จะให้กุศลจิตภายหลังเกิดได้ ข้อสำคัญ คือ ให้เห็นอกุศลว่าเป็นอกุศล ถ้าเป็นผู้ที่ขาดเมตตา ก็ให้รู้ว่า จะต้องอบรมเจริญเมตตา ถ้ารู้ว่าเป็นผู้ที่ยังขาดวาจาที่ดี หรือการกระทำที่ดี ก็รู้ว่า ต่อไปนี้จะต้องอบรมทั้งกาย ทั้งวาจาด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะใจ

    ผู้ฟัง ก็รู้อยู่แล้วว่า เมตตา เป็นธรรมที่ดี ใครๆ ก็เห็นด้วย และต้องการจะเจริญเมตตา แต่วิธีที่จะเจริญก็ยังมีความต่างกัน ซึ่งผมก็ยังมีความเห็นเรื่องการท่องว่า มีประโยชน์

    เมื่อหลายปีมาแล้ว หลานสาวของผมมาเรียนอยู่ที่โรงเรียนใกล้ๆ บ้านผม ก็เลยมาพักที่บ้านผม ในระหว่างที่พักอยู่ สมัยนั้นอายุราวๆ ๗ – ๘ ขวบ ผมสอนให้ท่องเหมือนนกแก้วนกขุนทองว่า ศีล ๕ มีอะไร ขันธ์ ๕ ได้แก่อะไร นิวรณ์ ๕ มีอะไร ก็ท่องได้หมดทุกอย่าง แต่ความหมายยังไม่รู้ ซึ่งผมเห็นว่า การท่องได้ของเขาก็ยังเป็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ บางท่านสอนบุตรหลานว่า อย่าฆ่าสัตว์ แต่ไม่ได้ให้ท่องภาษาบาลี ผลก็คือ เด็กคนนั้นเว้นการฆ่าสัตว์ ไม่ตบยุง ไม่ฆ่ามด อบรมให้เห็นว่า ควรจะมี เมตตา ไม่ควรที่จะประทุษร้ายเบียดเบียนสัตว์เล็กสัตว์น้อย หรือบุคคลอื่น อบรมในชีวิตประจำวันจริงๆ โดยที่เด็กคนนั้นก็ไม่ได้รู้ว่า ศีล ๕ ภาษาบาลีเรียกว่าอะไรบ้าง แต่เด็กที่ท่องศีล ๕ ฆ่ามด ฆ่ายุง หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ตอนนั้นเขายังไม่รู้ความหมาย

    ท่านอาจารย์ สอนได้ที่จะให้วิรัติ

    ผู้ฟัง ผมเห็นว่า โอกาสต่อไปถ้าเขามีโอกาสได้ไปฟังเทศน์ ผู้เทศน์จะอธิบายความหมายของคำว่า ปาณาติบาต ว่าคืออะไร ซึ่งจะทำให้เขาเข้าใจได้ง่าย และ จำได้แม่น ผมเห็นประโยชน์ในอนาคตอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ การอบรม ต้องอบรมตั้งแต่วัยเด็ก เพราะฉะนั้น ยิ่งสอนบุตรหลานให้เป็นผู้ที่มีเมตตา วิรัติการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ตั้งแต่เล็ก ย่อมทำได้ทันที ยิ่งเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี ไม่ต้องรอโอกาสให้เขาโตเสียก่อน จึงค่อยไปแปลคำภาษาบาลีเพื่อที่จะได้รู้ความหมาย ไม่ต้องรอช้าถึงอย่างนั้น แต่สอนให้เป็นผู้มีวาจาอ่อนโยนสละสลวยไพเราะตั้งแต่เด็กก็ได้ สอนให้มีเมตตาจิต สอนตั้งแต่เด็กก็ได้ โดยที่ไม่ต้องรู้คำบาลี

    ถ้าเพียงแต่ท่อง ก็ยังไม่รู้ว่าลักษณะของจิตใจจริงๆ ในขณะนั้นเป็นอย่างไร เพราะการท่องเป็นเรื่องของการจำ แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องเข้าใจลักษณะสภาพของจิต ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่า อย่าฆ่าสัตว์ แต่ต้องบอกว่า ให้มีเมตตาด้วย เด็กก็จะเริ่มเข้าใจคำว่าเมตตา หรือสงสาร หรือช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น นี่จึงเป็นการอบรมเจริญกุศล

    ผู้ฟัง ผมก็มีเรื่องที่จะเล่า ที่ว่าไม่ใช่เพียงแต่บอกว่าอย่าฆ่าสัตว์ ต้องให้มีเมตตาด้วย คือ แถวบ้านผมมีเด็กๆ มาก ลูกผมก็ยังเล็ก ตัวเท่าๆ กัน จับแมลงวันมาขังในถุงพลาสติก ผมก็เห็นแมลงวันชักดิ้นชักงอตาย ตีเขาไม่ให้เขาจับ เขาก็ไม่ยอม เผลอเขาก็จับ ผมก็สอนเขาว่า แมลงวันอยู่ในถุงพลาสติกหายใจไม่ออกก็ตาย เปรียบเหมือนตัวเขา ถ้าอยู่ในถุงพลาสติกก็หายใจไม่ออกเหมือนกัน และถ้าพ่อแม่ตามหาลูก หรือลูกจะหาพ่อแม่ ก็หาไม่เจอ จะทำอย่างไร น่ากลัวไหมเวลาเกิดเรื่องอย่างนี้ เขาคิดได้ ก็รีบปล่อยทันที

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นการอบรมเจริญกุศล ที่จะฝึกหัดอบรมตั้งแต่เด็ก ขณะนั้นก็เป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตาที่สอนให้คนอื่นมีเมตตา ต้องอบรมตั้งแต่เด็ก เท่าที่สามารถจะกระทำได้ นั่นเป็นสิ่งที่ถูก

    ผู้ฟัง อาจารย์เคยสอนให้แผ่เมตตาให้ตัวเราเองก่อน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขอกล่าวถึงข้อความใน วิสุทธิมรรค พรหมวิหารนิเทส เมตตาพรหมวิหาร ซึ่งมีหัวข้อว่า

    ชั้นต้น ควรเจริญเมตตาในตน

    ต้องละเอียด คือ ต้องพิจารณาความหมายของพยัญชนะที่ว่า

    ก็ก่อนทีเดียว พระโยคีควรเจริญเมตตาในตนนั่นแหละบ่อยๆ อย่างนี้ว่า ขอเราจงมีความสุข ปราศจากทุกข์ หรือว่าขอเราจงไม่มีเวร ไม่มีเครื่องเบียดเบียน ไม่มีเครื่องเดือดร้อน เป็นผู้มีความสุข บริหารตนเถิด

    หากมีคำถามสอดเข้ามาว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น คำที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในวิภังค์ว่า

    ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุมีใจสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ คือ แผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์ฉันเดียวกับบุคคลเห็นบุคคลหนึ่งซึ่งเป็นที่รัก ที่พอใจ แล้วพึงชื่นชม ฉะนั้น

    คือ มีข้อความค้านว่า สำหรับผู้ที่บอกว่าควรจะเจริญเมตตาในตนก่อน จะไม่ตรงกับที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุมีใจสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ และคำที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทามรรคว่า เมตตาเจโตวิมุตติซึ่งแผ่ไปไม่เจาะจงโดยอาการทั้ง ๕ เป็นไฉน คือ แผ่ไปว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงไม่มีเวร ไม่มีเครื่องเดือดร้อน ไม่มีเครื่องคับแค้น เป็นผู้มีสุข บริหารตนเถิด ขอสรรพปาณสัตว์ ... ขอสรรพภูต ... ขอสรรพบุคคล ... ขอสรรพสัตว์ผู้มีอัตภาพจงไม่มีเวร ไม่มีเครื่องเดือดร้อน ไม่มีเครื่องคับแค้น เป็นผู้มีสุข บริหารตนเถิด ฉะนี้ เป็นต้น

    และคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในกรณียเมตตสูตรว่า

    ขอสรรพสัตว์จงมีสุข จงมีความสุข มีความเกษม ขอจงมีอาตมันถึงความสุข ฉะนี้ เป็นต้น

    คำทั้ง ๓ นั้นก็ผิด เพราะว่าในคำทั้ง ๓ นั้น ท่านมิได้กล่าวภาวนา คือ หมายเจริญเมตตาในตน

    เพราะพระไตรปิฎกทั้งหมด เป็นข้อความที่เจริญเมตตาในบุคคลอื่นทั้งหมด เช่น ตลอดทิศหนึ่ง หรือว่าในสัตว์ทั้งหลาย

    ข้อความต่อไปเป็นคำเฉลย

    คำแก้มีว่า

    ขอเฉลยว่า ก็คำทั้ง ๓ นั้นไม่ผิด

    พระไตรปิฎกย่อมผิดไม่ได้

    เพราะเหตุไร เพราะคำทั้ง ๓ นั้น ท่านกล่าวไว้ด้วยสามารถอัปปนา (คือ สมาธิขั้นที่เป็นฌาน) ส่วนคำนี้ท่านกล่าวด้วยสามารถเป็นพยาน

    จริงอยู่ แม้หากพระโยคีจะเจริญเมตตาในตนโดยนัยเป็นต้นว่า ขอเราจงมีสุข ดังนี้ ตั้งร้อยปี หรือพันปี อัปปนาย่อมไม่เกิดแก่พระโยคีนั้นแน่ แต่ถ้าเมื่อพระโยคีเจริญว่า ขอเราเป็นผู้ถึงสุข ดังนี้ ตราบที่พระโยคีทำตนเป็นพยานว่า เราใคร่สุข เกลียดทุกข์ และต้องการอยู่เป็นสุข ไม่อยากตาย ฉันใด แม้สัตว์เหล่าอื่นก็เช่นกัน ดังนี้แล้ว เป็นผู้ใคร่ต่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขในพวกสัตว์เหล่าอื่นย่อมเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ที่จะสำเร็จได้ ไม่ใช่ในขณะที่นึกถึงตัว แต่การที่จะนึกถึงตนเอง เป็นแต่เพียงพยาน ซึ่งหมายถึงว่า เมื่อตนเองรักสุข เกลียดทุกข์ ฉันใด บุคคลอื่นก็ ฉันนั้น

    อย่างที่ท่านผู้ฟังกล่าวถึงว่า เวลาที่ลูกจับแมลงวันใส่ไว้ในถุงพลาสติก วิธีสอนคือบอกว่า แมลงวันหายใจไม่ออก เพราะฉะนั้น ก็เป็นทุกข์ เหมือนกับถ้าเขาถูกจับอยู่ในถุงพลาสติก เขาก็หายใจไม่ออกเหมือนกัน ฉันใด ก็ควรจะมีเมตตาต่อบุคคลอื่น ฉันนั้น

    เพราะฉะนั้น ตราบใดที่เพียงคิดถึงตน ยังไม่ใช่การเจริญเมตตา แต่เมตตาจะสำเร็จก็ต่อเมื่อคิดถึงบุคคลอื่น หรือสัตว์อื่น



    หมายเลข 3
    4 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ