แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 13
ครั้งที่ ๑๓
ยังมีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะ
ถ. มนุษย์เรามุ่งละกิเลส กิเลสหมด แล้วคนในโลกก็ไม่มีสิ ไปนิพพานก็สูญกันหมด
สุ. มนุษย์น่ะคืออะไรคะ จิต เจตสิก รูป ไม่มีสาระเลย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ ๆ เท่านั้นเอง แล้วทำไมจะมาสอนให้หลงให้เพลิน ให้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่มีสาระ
ถ. ถ้าเราละกิเลสแล้วว้าเหว่ ละคะ
สุ. ถ้าไม่มีกิเลสแล้วว้าเหว่ เข้าใจว่าที่ว้าเหว่เพราะกิเลส ผู้ไม่มีกิเลสแล้วไม่ว้าเหว่เลย คนว้าเหว่คือคนมีกิเลส ธรรมนี้ขาดการฟังไม่ได้เลย การฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก เพราะว่าได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง พิจารณาติดตามต่อไปก็ย่อมจะได้ความเข้าใจ แล้วก็ได้เหตุผลชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าศึกษาพระ ธรรมวินัย ก็จะหวั่นกลัวต่อความเห็นผิด ความเข้าใจผิด กิเลสอกุศลทุกอย่างทุกประการไม่ว่าจะเล็กจะน้อย แม้ว่าจะเป็นการกล่าวคำไม่จริง เป็นสิ่งที่มีโทษมีภัย จะมากจะน้อยนั้นก็แล้วแต่ว่า ความเห็นผิดจะชักนำให้ประพฤติทุจริตร้ายแรงแค่ไหน ผลของกรรมก็ต้องมากมายแค่นั้นด้วย สำหรับเรื่องของการที่จะได้รับทุกข์โทษภัยในวัฏฏะ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีใครสามารถจะล่วงรู้ไปถึงว่า การได้รับผลของกรรมแต่ละขณะนั้น เกิดขึ้นมาจากการกระทำตั้งแต่ครั้งไหน เมื่อไร ยังไง เพื่อที่จะให้เห็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาค ซึ่งทรงพระมหากรุณาแสดงอดีตกรรมของพระองค์เอง
ในขุททกนิกาย ในพุทธาปาทาน ชื่อ ปุพพกัมฺปิโลติ ที่ ๑๐ จะไม่กล่าวถึงบุพกรรมของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมด จะกล่าวเพียงบางข้อบางประการเท่านั้น ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคแวดล้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก ตรัสชี้แจงบุพกรรมทั้งหลายของพระองค์ ณ ที่นั้นว่าดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังกรรมที่เราทำแล้วของเรา กรรมแรกที่พระผู้มีพระภาคทรงปรารถนา การเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครั้งแรกนั้น ก็ในสมัยที่ชาติหนึ่ง ที่พระองค์ทรงเห็นภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรรูปหนึ่ง แล้วได้ถวายผ้าเก่าพร้อมกันนั้นก็ปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผลของกรรมอันนั้น ก็ได้อำนวยให้ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย
อันนั้นเป็นความปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งแรกของพระองค์ ในกาลก่อน พระองค์เป็นนายโคบาล ต้อนโคไปเลี้ยง เห็นแม่โคกำลังดื่มน้ำขุ่นมัว จึงห้าม ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ในภพหลังสุดนี้ แม้พระองค์จะกระหายน้ำ ก็ไม่ได้ดื่มน้ำตามปรารถนา อันนี้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แม้แต่การห้ามแม่โคที่กำลังดื่มน้ำที่ขุ่นมัว ก็สามารถที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ได้รับผลของกรรมในชาติหลังๆ ได้ ฉะนั้น ภพชาติเป็นสิ่งที่น่ากลัวจริงๆ ตั้งแต่เกิดมา ถ้านึกย้อนถึงอดีตกรรม คนทำอะไรคงทำยิ่งกว่านี้ ยิ่งกว่าห้ามโคที่กำลังดื่มน้ำขุ่นมัว ฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่ากรรมนั้นจะทำให้เกิดในภพไหน ภูมิไหน ก็เป็นเรื่องของวัฏฏะ
ในชาติอื่นในกาลก่อน เป็นนักเลงชื่อ ปุนนานิ ได้กล่าวตู่พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่า "สุรภี" ผู้ไม่ประทุษร้ายตอบ ด้วยวิบากนั้น ท่องเที่ยวอยู่ในนรกเป็นเวลานานด้วยผลกรรมอันเหลือนั้น ในภพหลังสุดนี้ พระองค์จึงได้รับคำกล่าวตู่เพราะเหตุแห่งนางสุนทริกา เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะบำเพ็ญบารมีพากเพียรนานนับไม่ถ้วนอย่างไรก็ตาม เมื่อยังมีเหตุปัจจัย คือภพชาติ ก็ย่อมจะได้รับผลของกรรมนั้น ในกาลก่อน เพราะการกล่าวตู่พระเถระนามว่า นันทะ
สาวกของพระผู้มีพระภาคในสมัยนั้น จึงท่องเที่ยวในนรกนานถึงหมื่นปี เป็นมนุษย์แล้วได้รับการกล่าวตู่เป็นอันมาก ด้วยผลกรรมที่เหลือ นางจิญจมาณวิกากับหมู่ชนได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยถ้อยคำไม่จริง ในกาลก่อน พระผู้มีพระภาคฆ่าพี่น้องชายต่างมารดา เพราะเหตุแห่งทรัพย์ จับใส่ลงในซอกเขาแล้วบดคือทับด้วยหิน ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น พระเทวทัตจึงผลักก้อนหินลงมากระทบนิ้วหัวแม่เท้าจนห้อเลือด ในกาลก่อน เป็นเด็กเล่นอยู่ที่หนทางใหญ่ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ใส่ไฟเผาทั่วหนทาง ด้วยวิบากกรรมนั้น ในภพหลังสุดนี้ พระเทวทัตจึงชักชวนนายขมังธนูผู้ฆ่าคนตายมาก เพื่อให้ฆ่าพระองค์
ที่ทรงแสดงอดีตกรรมของพระองค์ ก็เพราะว่า ในสมัยนั้นมีผู้รู้มีผู้เห็นการกระทำของนางสุนทรี ของนางจิญจมาณวิกา หรือว่าของพระเทวทัต ซึ่งเมื่อมีเหตุการณ์ปรากฏอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีพระสัพพัญญุตญาณ ก็ทรงแสดงให้เห็นถึงอดีตที่ผ่านมาว่า เป็นเพราะกรรมอะไร ในกาลก่อน พระผู้มีพระภาคได้บริภาษพระสาวกทั้งหลาย ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ผุสสะ ว่าท่านทั้งหลายจงเคี้ยว จงกินแต่ข้าวแดง อย่ากิน ข้าวสาลีเลย ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น พระองค์อันพรามหณ์นิมนต์แล้ว อยู่ในเมือง เวรัญชา บริโภคข้าวแดงตลอด ๓ เดือน
ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคในชาติที่ชื่อว่า โชติปาละ ได้กล่าวกะพระสุคตเจ้าพระนามว่า กัสปะ ในกาลนั้นว่า จักมีโพธิมณฑลแต่ที่ไหน โพธิญาณท่านได้ยากอย่างยิ่ง ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น พระองค์ได้ประพฤติกรรมอันทำได้ยากมาก คือทุกกรกิริยา ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมตลอด ๖ ปี แต่นั้นจึงได้บรรลุโพธิญาณ แต่พระองค์ก็มิได้บรรลุพระโพธิญาณอันสูงสุด ด้วยหนทางนี้ พระองค์อันบุพกรรมตักเตือนแล้ว จักพึง แสวงหาโพธิญาณโดยทางที่ผิด หมายความถึงตอนที่ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา บัดนี้ พระองค์เป็นผู้สิ้นบาปและบุญ เว้นจากความเร่าร้อนทั้งปวง ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีความคับแค้น เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักนิพพาน พระชินเจ้าทรงบรรลุกำลังแห่งอภิญญาทั้งปวงแล้ว ทรงพยากรณ์โดยหวังประโยชน์แก่ ภิกษุสงฆ์ด้วยประการฉะนี้ แล นี่เป็นเรื่องที่แสดงอดีตกรรม ก็จะได้ให้ท่านเห็นว่า ควรจะต้องสำรวมกาย วาจา ใจ เจริญกุศลทุกประการ ไม่ให้เกิดความเห็นผิด ไม่ให้มีการพูดผิด หรือว่าไม่ให้มีการประพฤติผิด เพราะว่า เรื่องของการที่จะขัดเกลากิเลสจนกว่าจะบรรลุความเป็นอริยบุคคลนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องเจริญมากๆ บ่อยๆ เนืองๆ ด้วย มีท่านผู้ใดสงสัยบ้างไหมคะ
ถ. ............
สุ. พระองคุลิมาน ก็ถูกเบียดเบียนมากไหมคะ เวลาที่ท่านไปบิณฑบาต
ถ. ...........
สุ. เวลาที่กระทบกาย แล้วก็บาดเจ็บ แล้วเวลาที่ถูกกล่าวตู่ อันไหนจะร้ายแรง กว่ากันคะ
ถ. ...........
สุ. เรื่องของกรรม และการรับผลของกรรม ดูทุกท่านอยากให้เป็นไปตามใจของท่าน ไม่ใช่ให้เป็นไปตามกรรม นี่ค่ะก็เป็นปัญหาที่ว่า ทำไมคนนี้ทำกรรมตั้งเยอะแยะมากมาย แล้วผลของ กรรมทำไมไม่สนองมากมายเช่นเดียวกัน ทำไมถึงอยากให้คนอื่นเขาได้รับทุกข์มากถึงอย่างนั้นนะคะ ควรมีจิตเมตตา กรุณาอนุเคราะห์ อย่าไปหวังต้องให้เขาได้รับตอบแทนให้พอใจกับกรรมที่เขาทำไป
ถ. ..........
สุ. อันนั้นให้ผลตามกาละด้วย เมื่อยังไม่ถึงกาลที่จะให้ผล ใครจะไปเร่งรัดว่าขอให้ผลวันนี้ พรุ่งนี้ เดี๋ยวนี้ ก็เร่งรัดไม่ได้ และผู้ที่จะรู้ว่ากรรมใดจะให้ผล หรือว่าขณะนี้เป็นผลของกรรมใด ไม่ใช่ผู้อื่นนอกจากพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น พระองค์จึงได้ทรงแสดงอดีตกรรมแม้ของพระองค์ได้ ถ้าพระองคุลิมานไม่ปรินิพพาน ก็คงจะได้มีวิบากกรรมที่จะทำให้ผู้อื่นหายสงสัย แต่ว่าควรจะสงสารมากกว่าอยากให้พระองคุลิมานได้รับกรรมให้เพียงพอ อีกประการหนึ่งเท่าที่ได้ฟัง รู้สึกว่าหลายท่านต้องการรับผลของกรรมใน ปัจจุบันชาติ ทำดีอยากได้ดีชาตินี้ ไม่คอยไว้ชาติหน้าหรือคะ
ถ. ช้าไป
สุ. ชาติหน้าคอยไหวไหมคะ
ถ. ช้าไป ชาติหน้าจะได้รับผลหรือไม่ ก็ยังไม่รู้
สุ. ยังไม่รู้กลัวไม่ได้ใช่ไหมคะ กลัวว่าทำไปแล้วจะไม่ได้ นี่อาจจะเป็นเหตุหนึ่งนะคะ ที่ทำให้โดยมากท่านที่ทำกรรมดี ต้องการได้รับผลของกรรมดีชาตินี้ ทำกุศลในชาตินี้ และด้วยผลของบุญกุศลที่ทำในชาตินี้ ชาติหน้าเกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิตบ้าง ดาวดึงส์บ้าง ยามาบ้าง หรือว่าอาจจะถึงนิมมานรดี ปรนิมิตวสวดี ดีกว่าโลก มนุษย์นี้ไหมคะ ชาตินี้ก็ปลอดภัยแล้วอยู่ในโลกมนุษย์ มีทางที่จะเจริญกุศลก็เจริญกุศลให้มากๆ ไม่ต้องคอยไปหวังว่า กรรมที่ทำไปแล้วอยากจะให้ได้รับผลในชาตินี้ กรรมนั้นให้ผลแน่
ถ. ...........
สุ. โดยมากเรื่องของธรรมนี้ บางท่านลืมค่ะ เป็นเรื่องของบุคคล แทนเรื่องของธรรม ซึ่งนี้ไม่ถูก ที่ทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวอย่างนี้ ก็เป็นเพราะว่า ถ้าจะดูทั่วไปแล้ว เวลานี้ก็เป็นความสนใจในบุคคล มากกว่าความสนใจในธรรม ฉะนั้นผู้ที่ต้องการเข้าใจในธรรมจริงๆ ก็มีโอกาสที่จะเลือกเฟ้นธรรมสาระจากใครก็ได้ที่พูด โดยไม่คำนึงถึงว่าบุคคลนั้นเป็นใคร และพร้อมกันนั้นก็ต้องตรวจสอบเหตุผลกับพระธรรมวินัยด้วย เพราะว่า ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถจะเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างได้ละเอียดละออยิ่งกว่าพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้วอย่างครบถ้วน ฉะนั้น เรื่องของเหตุการณ์สถานที่ต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ว่า เมื่อสิ่งใดที่ไม่เหมาะไม่ควร ก็ไม่ควรที่จะยึดถือหรือว่าสนใจเป็นแบบอย่าง แต่ก็ควรที่จะได้เลือกเฟ้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้มากขึ้นต่อไปอีก และก็ละทิ้งสิ่งที่ไม่เป็นสาระนั้น เพราะว่าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งใครก็แก้ไขใครไม่ได้ มีใครคิดอยากจะเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้างไหมคะ แทนที่จะเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ คิดถึงพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ววิธีก็มีค่ะ พระ ธรรมวินัยก็ยังมีครบถ้วน ถ้าอยากจะฟังธรรมจากพระโอษฐ์ก็เปิดพระไตรปิฏก มีท่านผู้ใดสงสัยบ้างไหมคะ
ถ. ...........
สุ. ค่ะ พูดถึงเหตุที่พระพุทธเจ้าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือรู้แจ้งอริยสัจจ์ ใช่ไหมคะ หมายความว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นนี่ต้องมีเหตุ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้สะสมบารมีมาในอดีตอนันตชาติอย่างมากมายแล้วละก็ การที่จะรู้แจ้งสภาพของทุกๆ อย่างที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะว่าเราเกิดมาแล้ว เราก็อยู่กับธรรม อยู่กับของจริงๆ ที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่เรื่อยๆ แต่ว่าไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งนั้นตามความเป็นจริง ผู้ที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏโดยที่ไม่ได้ฟังจากคนอื่นนั้น ต้องอาศัยการอบรมบารมีอินทรีย์ในอดีตมามากทีเดียว ทั้งในเรื่องของการขัดเกลากิเลสให้เบาบางจากจิตใจด้วยคุณธรรมนานาประการ เพื่อว่าขณะใดที่พระองค์พิจารณาสภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏ พระองค์ก็สามารถที่จะแทงตลอด ในสภาพลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้
เวลานี้โลกกว้างใหญ่มากเป็นโลกทั้งโลก แล้วยังไกลออกไปนอกโลก เป็น ดาวมากมายเต็มฟ้า เป็นคนนั้นคนนี้เยอะแยะ ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจ์นั้น รู้ลักษณะของแต่ละสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง ไม่ปนกันเป็นโลกที่กว้างใหญ่เลย ถ้ารู้พร้อมกันทีละหลายๆ อย่าง ไม่ได้รู้ชัดเลยสักอย่างเดียว
ถ. ...........
สุ. ท่านที่ยังไม่ได้เริ่มเจริญสติเลย จะไม่รู้ลักษณะของสติเป็นของที่แน่นอน ฉะนั้น ขอให้รู้ลักษณะของสติ ไม่ใช่สมาธิ สติกับสมาธินั้นไม่เหมือนกัน สมาธิ จิตจะต้องรู้อยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ ในตอนแรกๆ ความรู้สึกว่าเป็นตัวตนนี่จะต้องมีแน่นอน ฉะนั้น เมื่อสติยังไม่ได้เจริญขึ้นความรู้สึกว่าเป็นตัวตนยังต้องมีอยู่
ถ. คำถามว่า สำหรับผู้เจริญสติ เอานามเป็นรูป เอารูปเป็นนาม เข้าใจไขว้ๆ เขวๆ ไปบ้าง เป็นประโยชน์ไหม
สุ. แต่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เจริญเพื่อกุศล หรือเพื่อว่าความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อละความเห็นผิด ความไม่รู้ ความสงสัยในลักษณะของนามและรูป หรือว่าเพื่ออะไร ถ้าผู้นั้นเจริญสติปัฏฐานเพื่อละความไม่รู้ เพื่อละความสงสัย เพื่อละความเห็นผิดในลักษณะของนามและรูปแล้ว ผู้นั้นก็จะต้องพิจารณา แล้วปัญญาก็ต้องรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้าหลงเข้าใจผิด ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐานเลย
ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ใน ปัคคัยหสูตร ที่ ๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เทวดาและมนุษย์เป็นผู้มีรูป เป็นที่มายินดี เป็นผู้ยินดีแล้วในรูป เป็นผู้เพลิดเพลินแล้วในรูป เพราะรูปแปรปรวน คลายไปและดับไป เทวดาและมนุษย์ย่อมอยู่ เป็นทุกข์ ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสเรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะ และเรื่องธรรมารมณ์ว่า เทวดาและมนุษย์นั้นก็เป็นผู้ที่มีความยินดี ผู้ยินดีแล้วในสิ่งเหล่านั้น เพลิดเพลินแล้วในสิ่งเหล่านั้น เพราะสิ่งเหล่านั้นแปรปรวน คลายไปดับไปย่อมอยู่เป็นทุกข์
อันนี้เพียงแต่พยัญชนะในเบื้องต้น เราก็จะเห็นได้ว่าเป็นความจริง มีใครบ้างที่ไม่ยินดี ไม่พอใจในรูป รูปที่เห็นทางตาและเสียงที่ได้ยินทางหู กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ต่างๆ รวมทั้งธรรมารมณ์ที่รู้ได้ทางใจ ก็เป็นสิ่งที่บังเราอยู่ ทำให้เราติดทำให้เราเพลิน เวลาที่ติด เวลาที่เพลินมาก ก็ทำให้ไม่สามารถที่จะพิจารณารู้ลักษณะที่แท้จริงของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของโผฏฐัพพะ ที่ปรากฏ ที่กระทบอยู่ตลอดทุกๆ วัน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ฉะนั้น ก็ให้รับทราบความจริงอันนี้ด้วย ว่าก็ยังเป็นผู้ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แล้วก็เมื่อสิ่งเหล่านั้นแปรปรวนไป ดับไป ก็ย่อมเป็นทุกข์ อันนี้สำหรับเทวดาและมนุษย์
ส่วนตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ รู้แจ้งแล้วซึ่งความเกิด ขึ้น ความดับไป คุณโทษและอุบายเครื่องสลัดออก แห่งรูปทั้งหลายตามความเป็นจริง ไม่เป็นผู้มีรูปเป็นที่มายินดี ไม่เป็นผู้ยินดีแล้วในรูป ไม่เป็นผู้เพลิดเพลินแล้ว ในรูป เพราะรูปแปรปรวน คลายไปและดับไป ตถาคตย่อมอยู่เป็นสุข ผู้ที่ฉลาดและรู้แจ้งแล้วก็ไม่ติดในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นเวลาที่สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ก็ไม่ทำให้ผู้นั้นเป็นทุกข์ ครั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไป มีข้อความว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ธัมมารมณ์ทั้งสิ้นอันน่าปรารถนา น่าใคร่ เหล่านั้น ดับไปในที่ใด เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น สมมติว่าเป็นทุกข์คือว่า พอใจสิ่งที่น่าปรารถนาน่าพอใจนั้นดับไป เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นสมมติว่าเป็นทุกข์ ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย เห็นการดับสักกายะ (สักกายะ ก็คือการประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งได้แก่รูปารมณ์เป็นต้นที่บุคคลถือว่าเป็นของตน)
เมื่อพระอริยเจ้าทั้งหลาย เห็นการดับสักกายะที่ดับไป เพราะเห็นว่า การดับสักกายะที่ดับไปนั้นเป็นสุข การเห็นของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้เห็นอย่างนี้ย่อมเป็นข้าศึกกับชาวโลกทั้งปวง เธอจงเห็นธรรมอันรู้ได้ยาก คนพาลผู้หลง ไม่รู้แจ้งในนิพพานนี้ ความมืดย่อมมีแก่บุคคลผู้ถูกนิวรณ์หุ้มห่อไว้ เหมือนความมัวมลย่อมมีแก่บุคคลผู้ไม่เห็น นิพพานย่อมมีแก่สัตบุรุษ เหมือนแสงสว่างย่อมมีแก่บุคคลผู้เห็น ชนทั้งหลายผู้แสวงหา ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมไม่รู้แจ้งนิพพาน อันมีในที่ใกล้
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 3
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 4
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 5
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 6
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 7
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 8
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 9
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 10
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 11
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 12
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 13
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 14
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 15
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 16
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 17
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 18
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 19
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 20
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 21
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 22
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 23
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 24
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 25
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 26
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 27
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 28
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 29
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 30
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 31
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 32
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 33
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 34
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 35
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 36
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 37
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 38
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 39
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 40
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 41
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 42
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 43
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 44
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 45
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 46
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 47
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 48
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 49
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 50
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 51
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 52
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 53
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 54
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 55
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 56
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 57
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 58
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 59
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 60