แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 14
ครั้งที่ ๑๔
ครั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธัมมารมณ์ทั้งสิ้นอันน่าปรารถนาน่าใคร่เหล่านั้น ดับไปในที่ใด เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น สมมติว่าเป็นทุกข์คือว่าพอสิ่งที่น่าปรารถนาน่าพอใจนั้นดับไป เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นสมมติว่าเป็นทุกข์ ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย เห็นการดับสักกายะ (สักกายะก็คือการประชุม รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งได้แก่รูปารมณ์เป็นต้นที่บุคคลถือว่าเป็นของตน) เมื่อพระอริยเจ้าทั้งหลาย เห็นการดับสักกายะที่ดับไป เพราะเห็นว่าการดับสักกายะที่ดับไปนั้นเป็นสุข
การเห็นของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้เห็นอย่างนี้ ย่อมเป็นข้าศึกกับชาวโลกทั้งปวง เธอจงเห็นธรรมอันรู้ได้ยาก คนพาลผู้หลง ไม่รู้แจ้งในนิพพานนี้ ความมืดย่อมมีแก่บุคคลผู้ถูกนิวรณ์หุ้มห่อไว้ เหมือนความมัวมล ย่อมมีแก่บุคคลผู้ไม่เห็นนิพพานย่อมมีแก่สัตบุรุษ เหมือนแสงสว่างย่อมมีแก่บุคคลผู้เห็น ชนทั้งหลายผู้แสวงหา ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมไม่รู้แจ้งนิพพาน อันมีในที่ใกล้ธรรมนี้อันบุคคลผู้ถูกความกำหนัดในภพครอบงำ ผู้แล่นไปตามกระแสตัณหาในภพ ผู้อันห่วงแห่งมารท่วมทับ ไม่ตรัสรู้ได้ง่าย ใครหนอ เว้นจากพระอริยเจ้าทั้งหลายแล้ว ย่อมควรเพื่อจะตรัสรู้นิพพานบทที่พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้โดยชอบ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน ในตอนแรกก็จะเห็นได้ว่า ชนทั้งหลายผู้แสวงหา ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมไม่รู้แจ้งนิพพาน อันมีในที่ใกล้ แล้วต่อไปว่า ใครหนอ เว้นจากพระอริยเจ้าทั้งหลายแล้ว ย่อมควรเพื่อจะตรัสรู้นิพพานบทที่พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้โดยชอบ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน
นิพพานนี้ใกล้หรือไกล ใกล้ตามพระสูตรนี้ ถ้าพระสูตรว่าอย่างนี้ ก็เป็นอย่างนี้ เมื่อพระสูตรบอกนิพพานใกล้ นิพพานก็เลยใกล้ แต่ว่าในที่อื่น แห่งอื่นพยัญชนะอื่น นิพพานไกล นิพพานใกล้สำหรับใคร ไกลสำหรับใคร ที่ว่านิพพานมีอยู่ในที่ใกล้ เวลานี้นิพพานอยู่ที่ไหน ที่ว่า
นิพพานอยู่ในที่ใกล้ ที่ใกล้ก็คือในที่นี้เอง แล้วนิพพานอยู่ที่ไหนเวลานี้ ที่ใกล้ๆ มีอะไรบ้างดูซิว่า เป็นนิพพานหรือเปล่า ใกล้ในเวลานี้กำลังนั่งอยู่ที่นี่ เห็น ใกล้หรือไกล ถ้ากำลังได้กลิ่นๆ กำลังปรากฏ กลิ่นนั้นใกล้หรือไกล รส ขณะที่กำลังรับประทานอาหารแล้วก็รสปรากฏ กำลังปรากฏในขณะนั้น รสใกล้หรือไกล โผฏฐัพพะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มีใครที่กำลังรู้สึกเย็น รู้สึกร้อนในขณะนี้บ้างไหม ถ้ามีสภาพเย็นที่กำลังปรากฏ เมื่อกำลังปรากฏ แล้วจะกล่าวว่าไกลได้อย่างไรเพราะเหตุว่ากำลังปรากฏ ไม่ใช่เย็นเมื่อวานนี้ หรือไม่ใช่เย็นพรุ่งนี้ แต่ว่ากำลังเย็นในขณะที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ จะกล่าวว่าไกลไม่ได้ ฉะนั้น เย็นที่กำลังปรากฏก็ใกล้ ก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ที่รับกระทบสิ่งต่างๆ ถ้าไม่มีตาก็ไม่เห็นแน่ ตาใกล้หรือไกล ถ้าไม่มีหูก็ไม่ได้ยินแน่ แล้วเวลาที่มีเสียงมากระทบหู มีการได้ยินเกิดขึ้น หูใกล้หรือไกล
ไม่ใช่อยู่ไกลเลยสักอย่างเดียว ใช่ไหม โลกนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่เกิดขึ้นอยู่ทุกๆ ขณะ แล้วก็ถ้ารู้แจ้งความจริงของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของรูปที่เห็น ของเสียงที่ได้ยิน ของกลิ่นที่กำลังปรากฏ ของรสที่กำลังปรากฏ ของเย็น ร้อน อ่อนแข็งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง โดยที่ไม่มีอภิชฌาโทมนัส ไม่มีความยินดี ยินร้าย ไม่มีการยึดถือสภาพลักษณะที่เกิดขึ้นนิดเดียวแล้วก็หมดไป เปลี่ยนไป เพราะว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ ถ้ากำลังมีสติแล้วล่ะก็ สภาพลักษณะของนามและรูปจะปรากฏทีละอย่าง ฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีเยื่อใย ไม่มีความติดข้องเพราะว่ารู้แจ้งในลักษณะของนามและรูปซึ่งกำลังปรากฏใกล้ๆ นี่ ในขณะนี้ทุกๆ ขณะตามความเป็นจริงแล้วละก็ ย่อมมีการละ เมื่อมีการละ ก็เป็นการดับตัณหาความที่ยินดีพอใจ เห็นผิด ยึดถือสิ่งต่างๆ เหล่านั้นว่าเป็นตัวตน ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ นิพพานก็ไม่ไกล เพราะไม่ได้อยู่ที่อื่น ไม่ใช่อยู่ที่ฟากฟ้าป่าหิมพานต์ ที่จะต้องเดินทางติดตามไปเพื่อแสวงหา แต่ไม่ว่าตัวจะอยู่ที่ไหนมีนามมีรูปเกิดดับอยู่ที่ไหน แล้วมีปัญญารู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ย่อมจะละคลาย แล้วก็เมื่อละคลายความยินดี ตัณหาความพอใจ ความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปนั้นว่าเป็นตัวตนแล้ว ก็ย่อมประจักษ์สภาพของนิพพาน จากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ปรากฏให้รู้ได้ ที่ใกล้ที่สุดคือทุกๆ ขณะนี้เอง
ถ. ...........
สุ. ฉะนั้น การที่จะศึกษาพระธรรมวินัย การที่จะฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ ยิ่งมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นประโยชน์และอนุเคราะห์ความเข้าใจให้ถูกต้องมากขึ้น สำหรับในตอนนี้มีท่านผู้ใดสงสัยไหมคะ
ถ. ............
สุ. ค่ะ เพราะความเข้าใจนั้นมีหลายขั้น คือว่า อันนี้ก็เป็นสิ่งที่มักจะเกิดเสมอ สำหรับการฟัง ความเข้าใจก็รู้สึกว่าแจ่มแจ้ง แต่พอถึงเวลาจริงๆ สติเกิดขึ้นเมื่อไร มีลักษณะอย่างไร รู้สึกว่าออกจะยาก สิ่งที่อยู่ใกล้และเป็นธรรมดาเป็นธรรม ชาติเป็นปกติที่สุด แม้ผู้เจริญสติพยายามที่จะทำวิปัสสนา ก็เลยวุ่นวายเป็นการใหญ่ นี่คือจุดที่สำคัญ พยายามที่จะรู้นามรูปอื่น พยายามที่จะบังคับ แทนที่จะพยายามเป็นปกติธรรมดา ไม่ว่าชีวิตตามปกติธรรมดานั้นจะเป็นอย่างไร ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะเข้าใจเรื่องของปัญญาที่สมบรูณ์ขึ้นเป็นลำดับขั้น ไม่ข้ามขั้น
ปัญญาขั้นที่ ๑ นามรูปปริจเฉทญาณ ยังไม่เกิดขึ้น เพราะว่าการพิจารณา รู้ลักษณะของนามและรูปที่ต่างกันยังไม่สมบรูณ์ แต่ผู้เจริญสติพากเพียรที่จะไป รู้ทุกข์ พากเพียรที่จะไปละ แต่ไม่พากเพียรที่ว่ากำลังได้ยินปกติธรรมดาอย่างนี้ ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ตรงตามสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทีนี้ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเพราะขาดความเข้าใจ ว่าจะต้องเป็นปกติธรรมดา ธรรมชาติ เพราะว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นนามเป็นรูปทั้งนั้นเลยแต่ละคนนี้ แล้วก็เหมือนกันไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเหตุปัจจัยที่สะสมกันมานั้นต่างกัน ผู้ที่จะเป็นพระอริยสาวกได้นั้น ต้องเป็นผู้ตรง ซึ่งถ้าไม่ได้ศึกษาก็จะไม่รู้ว่า พระสัพพัญญูตญาณนั้นทรงแสดงลักษณะประเภทของจิตมากมายแตกต่างกันประการใดบ้าง อย่างบางท่านเวลาฟังเรื่องจิต เจตสิก ก็มาพิจารณากับตัวเอง เป็นตัวเองทั้งนั้นเลย ไม่ผิดใช่ไหมคะ จิตเห็นก็มี จิตได้ยินก็มี โลภะก็มี โทสะก็มี มานะอิสสา มัจฉริยะ หรือเมตตากรุณา ก็แล้วแต่ว่าใครจะมีมากมีน้อย นั่นก็เป็นเรื่องของแต่ละคน แต่ถ้ายิ่งอ่านในพระธรรมวินัยมาก เรื่องของความตรง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้มากทีเดียว
ใน อังคุคตรนิกาย ปัญจกนิบาต กกุธะสูตร
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โฆษิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี สมัยนั้น บุตรเจ้าโกลิยะ นามว่า กกุธะ ผู้อุปัฏฐากท่านพระมหาโมคัลลานะ กระทำกาละไม่นาน (หมายความว่าสิ้นชีวิตไม่นาน) บังเกิดในหมู่เทพ อโนมยะ หมู่ ๑ เป็นผู้ที่ได้อัตภาพใหญ่ (เทพพวกนั้นเป็นผู้ที่มีรูปร่างกายใหญ่) กกุธะเทพบุตรได้เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวเรื่องพระเทวทัตใคร่จะบริหารสงฆ์ และเสื่อมจากฤทธิ์ ท่าน พระมหาโมคคัลลานะก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้กราบทูลให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงคือ ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่าเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ พวกสาวกรู้ แต่คิดว่าถ้าบอกคฤหัสถ์ ศาสดาจะไม่พอใจสาวกไม่กล้าทำให้ศาสดาไม่พอใจ ก็ไม่กล่าว โดยที่พวกสาวกเหล่านั้นก็คิดว่า สาวกจะพึงกล่าวด้วยความไม่พอใจของท่านอย่างไรได้ อีกอย่างหนึ่งมหาชนก็ยกย่อง ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานะปัจจัย เภสัช บริขาร ด้วยคิดว่าศาสดานี้จะทำกรรมใด เขาเองจะปรากฏด้วยกรรมนั้น ดังนี้พวกสาวกย่อมรักษศาสดาเช่นนี้ โดยศีล และศาสดาเช่นนี้ยอมหวังเฉพาะการรักษาจากพวกสาวก โดยศีล
ไม่ใช่พระผู้มีพระภาคจะไม่รู้ถึงจิตใจของชาวโลก แม้แต่การที่จะแสดงศาสดาผู้ที่ฝึกสอนผู้อื่น พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงไว้ทั้งประเภทของศาสดาและสาวก เพราะเหตุว่า บางท่านถึงแม้ว่าจะรู้ว่าผู้ใดเป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ แต่ก็คิดว่าถ้าผู้นั้นจะไม่พอใจ ก็ไม่กล้าทำให้ไม่พอใจ คือไม่กล่าวถึง ฉะนั้น สาวกก็ย่อมรักษาศาสดาพวกนี้ด้วยศีล คือรักษาในที่นี้ หมายความถึงรักษาไว้เป็นความลับไม่เปิดเผย ไม่กล่าว ไม่แสดง แต่ทั้งกาย ทั้งวาจา ใจของพระผู้มีพระภาคนั้น อันสาวกไม่ต้องรักษาเลย คือไม่มีสิ่งใดที่พระองค์จะทำผิดหรือจะทำไม่เหมาะสมต่างๆ ซึ่งจะทำให้สาวกต้องช่วยกันรักษาหรือปิดบังนั้น ไม่มี พระผู้มีพระภาคก็ยังทรงแสดงศาสดาต่อไปอีกว่า ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณว่า เป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ ........... ฯลฯ ดังนี้ พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้ โดยอาชีวะ และศาสดาเช่นนี้ย่อมหวังเฉพาะการรักษาจากพวกสาวก โดยอาชีวะ นี่คือการจำแนกโดยพระธรรมเทศนาในลักษณะต่างๆ
ประการที่ ๓ ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีพระธรรมเทศนาไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณตนว่า เป็นผู้มีพระธรรมเทศนาบริสุทธิ์ พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้ โดย ธรรมเทศนา
ประการที่ ๔ ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีไวยากรณะไม่บริสุทธิ์ (ข้อความต่อไปซ้ำ .......ฯ ลฯ) พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนี้ ด้วยไวยากรณะ
ประการที่ ๕ ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์ ย่อมปฏิญาณตนว่า เป็นผู้มีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ พวกสาวกย่อมทราบ แต่ถ้าพวกสาวกพึงบอกคฤหัสถ์ ก็ไม่พึงเป็นที่พอใจของศาสดา ก็พวกสาวกจะพึงกล่าวด้วยความไม่พอใจของศาสดานั้นอย่างไรได้ เพราะว่า มหาชนก็ยกย่องด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เพราะฉะนั้น พวกสาวกย่อมรักษาศาสดาเช่นนั้น ด้วยญาณทัสสนะที่ไม่บริสุทธิ์
สำหรับพระผู้มีพระภาคเองนั้น มีศีลบริสุทธิ์ก็ย่อมปฏิญาณว่าศีลบริสุทธิ์ พวกสาวกก็ย่อมไม่รักษาพระผู้มีพระภาค โดยศีล และพระผู้มีพระภาคก็ไม่หวังเฉพาะการรักษาจากพวกสาวก โดยศีล โดยอาชีวะ โดยธรรมเทศนา โดยไวยากรณ์ โดยญาณทัสสนะนี่ก็เป็นเรื่องที่ว่าแต่ละท่านก็ควรที่จะให้เปรียบเทียบ ความตรงของท่านเองกับพระธรรมเทศนา ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แม้แต่ในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ท่านต้องการอะไร ถ้าท่านต้องการปัญญาจริงๆ รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจตามความเป็นจริง ไม่บังคับ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แสร้ง ไม่สร้างสิ่งอื่นขึ้นมารู้ ในขณะนั้นก็เรียกว่าท่านเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมที่ปรากฏและเป็นผู้ที่จะละความเห็นผิด ความสงสัย ความไม่รู้ที่เคยยึดถือสภาพธรรมเหล่านั้นว่าเป็นตัวตนได้
เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติปัฏฐานเมื่อต้องการปัญญา จะต้องพิจารณาเหตุแล้วจะต้องเจริญเหตุและผลที่เกิดขึ้นนั้น ก็จะต้องพิจารณาให้ตรงด้วยว่าผลที่เกิด ขึ้นนี้ ตรงกับเหตุที่ท่านเจริญอยู่หรือไม่ ถ้าตอนนี้ไม่ตรงก็ไม่มีทางตรง
ในปฐมกุกกุฏารามสูตร กับทุติยกุกกุฏารามสูตร ที่ท่านพระอานนท์กับพระภัททะอยู่ที่กกุธตาราม ใกล้นครปาฏลีบุตร แล้วท่านพระภัททะก็ออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ปราศัยแล้วถามว่า ที่เรียกว่า "อพรหมจรรย์ อพรหมจรรย์ ดังนี้ อพรหมจรรย์เป็นไฉน" ถ้าไม่มีการที่จะเห็นผิดไปบ้าง หรือว่าคลาดเคลื่อนไปบ้าง ท่านพระภัททะก็คงไม่ต้องไปถามท่านพระอานนท์ แต่ถึงท่านพระภัททะ ท่านก็ยังถามท่านพระอานนท์ว่า "พรหมจรรย์เป็นไฉน" ซึ่งท่านพระอานนท์ก็ไม่ได้ตอบว่าเป็นอย่างอื่นเลย แต่ได้กล่าวว่า อพรหมจรรย์ นั้นคือ มิจฉามรรค อันประกอบไปด้วยองค์ ๘ คือ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉาวายามะ มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ
และเวลาที่ท่านพระภัททะถามถึง สัมมามรรค ไม่ใช่มิจฉามรรค ท่านพระอานนท์ก็กล่าวว่า อริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นพรหมจรรย์ บุคคลผู้ประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘ เรียกว่า พรหมจารีย์ ความสิ้นราคะ โทสะ โมหะเป็นที่สุดของพรหมจรรย์ และใน อสัปปุริสสูตร ที่กล่าวว่า อสัตบุรุษ เห็นผิด แล้วก็ดำริผิด ผิดไปหมด จนกระทั่งถึงมิจฉาสมาธิ และอสัตบุรุษ ยิ่งกว่า อสัต บุรุษ นั้นก็คือ รู้ผิด พ้นผิด ส่วน สัตบุรุษ นั้นเป็นผู้ที่เห็นชอบ และเป็นสัมมามรรคมีองค์อื่น จนกระทั่งถึงสัมมาสมาธิ และสัตบุรุษยิ่งกว่าสัตบุรุษ นั้นก็คือ ผู้ที่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นผู้ที่เห็นชอบเป็นต้น จนถึงสัมมาสมาธิและรู้ชอบ พ้นชอบด้วย นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่ามีได้ ความเห็นผิดและความคลาดเคลื่อนต่างๆ ในเรื่องของการปฏิบัติ ซึ่งความเห็นผิดนั้น ไม่ใช่อยู่ที่คนอื่น อยู่ที่ตัวเอง เพราะฉะนั้น ตัวเองที่จะเป็นผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐานนั้น ก็เป็นผู้ที่จะต้องรู้ว่า มีความเข้าใจผิด มีความคลาดเคลื่อนในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานบ้างหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น แต่ว่าเป็นเรื่องของตัวเองที่จะต้องพิจารณาเรื่องของข้อปฏิบัติให้ตรง เพื่อว่าเมื่อมีความเข้าใจถูกต้องแล้ว ก็สามารถที่จะเจริญปัญญายิ่งขึ้น
และใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มีข้อความว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือน เดือยข้าวสาลี หรือเดือยข้าวยะวะ ที่บุคคลตั้งไว้ผิด มือหรือเท้าย่ำเหยียบแล้ว จักทำลายมือหรือเท้า หรือว่าจะให้ห้อ เลือด ข้อนี้มิใช่ฐานะจะมีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเดือย บุคคลตั้งไว้ผิด ฉันใดก็ดี ภิกษุนั้นแล ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักทำลายอวิชชา จักยังวิชชาให้เกิดขึ้น จักทำนิพพานให้แจ้ง ด้วยความเห็นที่ตั้งไว้ผิด ด้วยการเจริญมรรคที่ตั้งไว้ผิด ข้อนี้มิใช่ฐานะจะมีได้ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะความเห็นตั้งไว้ผิด เป็นพระพุทธวจนะที่เตือนพุทธบริษัท อาจจะมีความเข้าใจผิด การเจริญผิด การปฏิบัติผิด แต่ว่าถ้าได้พิจารณาและได้เหตุผล ได้รู้ทางที่ปฏิบัติที่ถูก ก็ย่อมจะมีโอกาสที่จะทำลายอวิชชา แล้วก็ยังวิชชาให้เกิดได้ เพราะว่าทุกท่านเป็น ผู้ตรงว่าสิ่งที่ท่านเคยปฏิบัติมานั้น ทำให้ปัญญาเกิดขึ้น หรือว่าไม่ได้ทำให้ปัญญา เกิดขึ้น เพราะว่า ถ้าไม่ได้ทำให้ปัญญาเกิดขึ้น ก็เหมือนการตั้งเดือยข้าวไว้ผิด เพราะฉะนั้น ถึงแม้เท้าจะเหยียบย่ำลงไปก็ไม่บาด หรือว่าไม่ทำให้ห้อเลือดขึ้นได้ฉันใด ข้อปฏิบัติผิดนั้น ก็ไม่ยังวิชชาให้เกิดขึ้น แล้วก็ไม่ทำให้อวิชชาหมดไปด้วย นี่ก็เป็นเรื่องของเหตุผล ที่ท่านจะต้องเป็นผู้ตรงต่อตัวของท่านเอง มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม
ถ ..............
สุ. คือเวลาที่ท่านเริ่มเจริญสติปัฏฐาน มีการรู้ว่าผิดไปอย่างโน้นบ้างอย่างนี้บ้างเป็นประโยชน์ ถ้าไม่รู้จะเป็นอย่างไร ก็เจริญผิดไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่กลับมารู้ทางที่ถูกเลย
ถ. ในการที่พยายามปฏิบัตินี้ ขณะที่เดินอยู่นี้ ในขั้นต้นก็รู้สึกว่าการที่เราถอยไปแล้ว เดินไปประเดี๋ยวหนึ่งก็รู้สึกว่า เอ นี่มันไม่ถูกนี่ ทำไมเรามารู้สึกเฉพาะการเดินนี้ทางเดียว ทางตาเราก็เห็น ทางหูเราก็ได้ยิน เอาสติไปทิ้งเสียที่ไหน จึงไม่ปรากฏ
ส. ความจริงเรื่องเจริญสติปัฏฐาน รู้ที่ลักษณะของนามและรูป ชนิดหนึ่งชนิดใดก็ได้ที่ปรากฏแล้ว คือที่เกิดขึ้นแล้วปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ฉะนั้น เวลาที่กำลังเดินอยู่ แล้วก็มีการรู้ที่ส่วนหนึ่งส่วนใด ของรูปที่กำลังก้าว หรือกำลังไหว ในขณะนั้นถ้ารู้ลักษณะ ก็เป็นความรู้ที่ถูก ไม่ใช่ความรู้ที่ผิด แต่ส่วนการที่นึกขึ้นมา นั่นเป็นนามอีกชนิดหนึ่ง
ถ. รู้สึกว่าเวลาเดิน รู้สึกขึ้นมา
ส. คือ เวลาที่กำลังพิจารณานามและรูปชนิดหนึ่งชนิดใดนาน รู้ว่าเป็นการจดจ้อง ที่ถูกแล้วในขณะที่กำลังพิจารณานามและรูปในขณะนั้น ควรจะได้ พิจารณาถึงลักษณะของนามและรูป เพราะว่า ขณะนั้นปัญญาจะเพิ่มความรู้ลักษณะของนามและรูปขึ้น
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 3
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 4
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 5
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 6
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 7
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 8
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 9
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 10
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 11
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 12
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 13
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 14
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 15
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 16
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 17
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 18
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 19
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 20
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 21
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 22
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 23
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 24
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 25
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 26
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 27
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 28
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 29
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 30
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 31
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 32
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 33
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 34
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 35
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 36
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 37
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 38
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 39
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 40
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 41
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 42
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 43
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 44
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 45
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 46
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 47
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 48
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 49
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 50
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 51
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 52
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 53
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 54
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 55
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 56
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 57
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 58
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 59
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 60