แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2
ครั้งที่ ๒
ต่อจากนั้น พระราชาทรงโปรดให้พระโพธิสัตว์เอาลูกธนูยิงทะลุแผ่นเหล็กหนา ๘ นิ้ว ต่อจากนั้น ทรงให้พระโพธิสัตว์ยิงทะลุกระดานไม้ประดู่หนา ๔ นิ้ว แล้วทรงให้พระโพธิสัตว์ยิงทะลุแผ่นกระดานไม้มะเดื่อหนาคืบหนึ่ง ส่วนเจ้าศากยะทั้งหลายก็ตรัสให้พระโพธิสัตว์ยิงเกวียนบรรทุกทราย เกวียนบรรทุกฟาง เกวียนบรรทุกไม้เลียบ แล้วทรงยิงลูกธนูไปในน้ำอุสภะหนึ่ง บนบกได้ประมาณ ๘ อุสภะ นี่ไม่น่าอัศจรรย์เท่ากับการดับกิเลส แต่ว่าก่อนที่จะถึงกาลที่จะดับกิเลสได้ ก็จะเห็นได้ว่าพระกำลังของพระองค์ ความสามารถของพระองค์เป็นเลิศกว่าบุคคลอื่น
ครั้งนั้น เจ้าศากยะทั้งหลายตรัสกับพระโพธิสัตว์ว่า ควรยิงขนทรายที่หมายไว้ที่ผลมะอึก พระโพธิสัตว์ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นพวกท่านจงผูกผลมะอึกไกลประมาณโยชน์หนึ่ง แล้วให้ผูกขนทรายที่หมายไว้ที่ผลมะอึกไกลประมาณโยชน์หนึ่ง ทรงยิงธนูไป ลูกธนูนั้นไปผ่าขนทรายไกลประมาณโยชน์หนึ่ง แล้วเข้าไปสู่แผ่นดิน ไม่ใช่เพียงเท่านั้น วันนั้นพระมหาบุรุษทรงแสดงศิลปะที่ใช้กันอยู่ในโลกทุกอย่าง (ความละเอียดมีในพระไตรปิฏกและอรรถกถา)
ครั้งนั้น เจ้าศากยะทั้งหลายประดับธิดาของตน ส่งไปถวายพระโพธิสัตว์ สตรี ๔ หมื่นนาง ได้เป็นพระสนม ส่วนพระเทวีมารดาพระราหุลได้เป็นพระอัครมเหสี พระมหาบุรุษทรงแวดล้อมด้วยสตรีวัยรุ่นเหมือนเทวกุมารอันเทพธิดาวัยรุ่นแวดล้อมทรงประกอบด้วยดนตรีที่ไร้บุรุษบำเรออยู่ เสวยมหาสมบัติ ประทับอยู่ ณ ปราสาท ๓ หลังนั้น เปลี่ยนไปตามฤดู วันคืนล่วงไปจากทรงเป็นพระกุมาร จนทรงอภิเษก ก่อนที่จะทรงได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อใกล้เวลาตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์ ขณะพระองค์เสด็จประพาสพระอุทยาน เทพบุตรองค์หนึ่งทรงแสดงตนเป็นคนชรา ฟันหัก ผมหงอก ตัวค้อมลง สั่นเทา พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตร แล้วทรงสังเวชพระหฤทัยว่า น่าตำหนิชาติการเกิดจริงหนอ ที่คนเกิดมาแล้วต้องแก่ พระองค์เสด็จกลับจากที่นั้น แล้วเสด็จขึ้นปราสาท
ความแก่มีปรากฏตลอดเวลา แต่ใครบ้างที่เห็นความแก่แล้ว จะเห็นโทษของความเกิดว่าที่แก่นั้นก็เพราะเกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่ต้องแก่ คนที่เกิดแล้วที่จะไม่แก่นั้นไม่มี ยิ่งมีวัยสูงมากจนถึงกับฟันหัก ตัวค้อมลง สั่นเทา ก็ยิ่งเห็นโทษภัยมาก ด้วยเหตุนี้ พระโพธิสัตว์ทรงสังเวชพระหฤทัย แลพระปัญญาที่ได้ทรงสะสมมา ก็ทำให้ทรงเห็นโทษของการเกิด ซึ่งทุกคนในขณะนี้ก็เห็นความแก่ แต่ว่าจะเห็นโทษของความเกิดหรือไม่ ถ้าปัญญาไม่พอ เห็นแล้วก็ผ่านไป แต่ถ้ามีปัญญาก็สามารถที่จะเห็นความน่าสังเวชสลดใจว่า ความแก่นั้นมาจากความเกิด วันรุ่งขึ้นพระโพธิสัตว์เสด็จประพาสพระอุทยานอีก ทรงเห็นเทพซึ่งแสดงตนเป็นคนเจ็บ ทรงสังเวชพระหฤทัย เสด็จกลับขึ้นปราสาท
คนเจ็บเป็นคนที่น่าสงสาร มีความทุกข์ซึ่งก่อนเจ็บนั้นไม่มีทุกข์อย่างนั้น ไม่ว่าจะเจ็บส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย จะเห็นได้ว่าเป็นทุกข์อย่างยิ่ง จะไม่มีความเป็นปกติสุข ไม่ว่าในเรื่องของการจะลุก จะนั่ง จะยืน จะเดิน หรือแม้แต่จะนอน ความสนุกสนานเพลิดเพลินต่างๆ ความสะดวกสบายต่างๆ ก็ไม่มี แล้วยังจะต้องมีความเจ็บปวดของร่างกายด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องมาจากการเกิดนั่นเอง
วันรุ่งขึ้น พระโพธิสัตว์เสด็จประพาสพระอุทยาน ทรงเห็นเทพซึ่งแสดงตนเป็นคนตาย ทรงสังเวชพระหฤทัย แล้วเสด็จกลับขึ้นปราสาท แม้วันรุ่งขึ้น พระโพธิสัตว์ก็เสด็จประพาสพระอุทยาน ทรงเห็นเทพซึ่งแสดงตนเป็นนักบวช พระบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญมา ทำให้พระโพธิสัตว์ทรงพอพระทัยในการบวช ซึ่งใกล้ที่จะบรรลุถึงการตรัสรู้อริยสัจจธรรม
สมัยนั้น พระเจ้าสุทโธทนะมหาราชทรงสดับข่าวว่า พระมารดาของพระราหุล ประสูติโอรส ก็ทรงส่งข่าวให้พระโพธิสัตว์ทรงทราบ พระโพธิสัตว์ทรงทราบแล้วตรัส ว่า "ห่วงเกิดแล้ว เครื่องผูกเกิดแล้ว" พระราชาทรงสดับคำนั้น จึงตรัสว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปหลานเราพึงชื่อว่า "ราหุลกุมาร" แม้พระโพธิสัตว์ก็ขึ้นทรงรถนั้น เสด็จเข้าสู่พระนครพร้อมด้วยข้าราชบริพารหมู่ใหญ่ สมัยนั้นนางกษัตริย์พระนามว่า กีสาโคตมี ทรงเห็นพระรูปศิริของพระโพธิสัตว์ กำลังเสด็จเข้าสู่พระนคร ทรงเกิดปิติโสมนัสขึ้น ทรงเปล่งอุทานนี้ว่า
บุรุษนี้เป็นบุตรของมารดาผู้ใด มารดาผู้นั้นก็เย็นใจแน่
เป็นบุตรของบิดาผู้ใด บิดาผู้นั้นก็เย็นใจแน่
เป็นสามีของนารีผู้ใด นารีผู้นั้นก็เย็นใจแน่
คือไม่นำความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้ใครทั้งนั้น
พระโพธิสัตว์ทรงสดับอุทานนั้นแล้วทรงดำริว่า สตรีผู้นี้ให้เราได้ยินถ้อยคำที่น่าฟังอย่างดี ด้วยว่าเราก็กำลังเที่ยวแสวงหานิพพาน วันนี้นี่แหละ ควรที่เราละทิ้งฆราวาสวิสัย แล้วออกบวช แสวงหานิพพาน ทรงเปลื้องแก้วมุกดาหารที่มีค่านับแสนออกจากพระศอ ประทานแก่เจ้าหญิงกีสาโคตมี ด้วยหมายพระทัยว่า แก้วมุกดาหารนี้จงเป็นสักการะส่วนบูชาอาจารย์สำหรับเจ้าหญิงพระองค์นี้
ฝ่ายพระโพธิสัตว์เสด็จขึ้นปราสาทที่น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง ถึงแม้จะเป็นปราสาทที่น่ารื่นรมย์ แต่ความรู้สึกของคนที่เริ่มหน่ายความน่ารื่นรมย์ต่างๆ ก็จะเห็นว่าไม่น่ารื่นรมย์จริง เพราะแต่ก่อนนั้นเมื่อยังเพียบพร้อมด้วยกิเลสย่อมเห็นสิ่งต่างๆ เป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์ แต่เมื่อปัญญาเริ่มเจริญขึ้นย่อมเห็นว่าสิ่งที่เคยรื่นรมย์นั้น แท้ที่จริงแล้วหาเป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์ไม่ พระโพธิสัตว์บรรทมเหนือพระที่บรรทม ในทันใดนั้นเอง เหล่าสตรีรุ่นๆ ทั้งหลาย ผู้มีดวงหน้างามเหมือนดวงจันทร์เต็มดวง ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้องและบรรเลง มีรูปโฉมงามเช่นเทพธิดา ถือดนตรีที่มีเสียงไพเราะพากันมาห้อมล้อมพระมหาบุรุษนั้นให้ทรงรื่นรมย์ ประกอบการฟ้อนการขับร้องและการบรรเลง แต่พระโพธิสัตว์ไม่ทรงยินดีในการฟ้อน การขับร้องเป็นต้น เพราะทรงมีจิตหน่ายในกิเลสทั้งหลาย บรรทมหลับไปครู่หนึ่ง
สตรีเหล่านั้นเห็นพระโพธิสัตว์บรรทม คิดว่าพวกเราประกอบการฟ้อนเป็นต้นเพื่อประโยชน์แก่ผู้ใด ท่านผู้นั้นก็บรรทมหลับไปแล้ว บัดนี้พวกเราจะลำบากเพื่ออะไรเล่า แล้วก็นอนทับดนตรีที่ถือกันอยู่หลับไป ประทีปน้ำมันหอมก็ยังติดโพลงอยู่ พระโพธิสัตว์ทรงตื่นบรรทม ประทับนั่งขัดสมาธิอยู่เหนือหลังพระที่บรรทม ทรงเห็นสตรีเหล่านั้นนอนทับเครื่องดนตรี มีน้ำลายไหล มีแก้มและเนื้อตัวสกปรก บางพวกกัดฟัน บางพวกกรน บางพวกละเมอ บางพวกอ้าปาก บางพวกผ้าผ่อนหลุดลุ่ย บางพวกมีผมปล่อยยุ่ง นอนทรงรูปเหมาะแก่ป่าช้า
พระโพธิสัตว์ทรงเห็นอาการแปลกๆ ของสตรีเหล่านั้น ก็ทรงมีจิตหน่ายในกามทั้งหลายสุดประมาณ พื้นปราสาทที่ประดับตกแต่งแม้งดงามเหมือนสวรรค์ ก็ปรากฏแก่พระโพธิสัตว์นั้นปฏิกูลอย่างยิ่ง เหมือนป่าช้าผีดิบที่เต็มด้วยซากศพสรีระของคนตายที่เขาทอดทิ้งไว้ แม้ภพทั้งสามก็ปรากฏเสมือนภพที่ไฟไหม้ ทรงพระดำริว่า วุ่นวายจริงหนอ ขัดข้องจริงหนอ พระหฤทัยก็น้อมไปเพื่อบรรพชาอย่างยิ่ง แล้วในคืนนั้นเองก็ได้เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ โดยประทับม้าทรงชื่อ กัณฐกะ ใกล้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เพียงอีก ๖ ปีต่อจากนี้เท่านั้น แต่ชาติสุดท้ายนั้นก็ต้องดำเนินชีวิตไปตามวัยต่างๆ จนกว่าจะถึงกาลที่สมควรแก่การตรัสรู้
บางท่านอาจจะเคยได้ทราบพระพุทธประวัติมาแล้ว แต่ที่จะขอกล่าวถึงก็เพราะเหตุว่า เมื่อได้ฟังพระพุทธประวัติแล้วย่อมเกิดกุศลจิต ระลึกถึงความเป็นมหาบุรุษผู้เลิศของพระโพธิสัตว์ เป็นพุทธานุสติ ก่อนที่จะถึงการอันตรธานของพระพุทธศาสนา
ม้ากัณฐกะนั้น โดยส่วนยาวนับตั้งแต่คอยาว ๑๘ ศอก ประกอบด้วยส่วนสูงเหมาะกับส่วนยาวนั้น ถึงพร้อมด้วยรูป ฝีเท้าและกำลังอันเลิศ ขาวปลอด สีสรรน่าดูเหมือนสังข์ขัด พระโพธิสัตว์ทรงโปรดให้นายฉันนะนั่งจับหางม้าไปด้วย ถึงประตูใหญ่ แห่งพระนครตอนครึ่งคืน เวลาที่พระชนมายุ ๒๙ พรรษา พระมหาสัตว์ทรงทิ้งจักรวรรดิราชย์ ไม่ทรงเยื่อใยเหมือนทิ้งก้อนเขฬะ เสด็จออกจากพระราชนิเวศน์ เมื่อดาวนักษัตรอุตตราสาฬหะ เพ็ญเดือนอาสาฬหะ เสด็จออกจากพระนคร ได้มีพระประสงค์จะทรงแลดูพระนคร เมื่อทอดพระเนตรกรุงกบิลพัสดุ์แล้วจึงทรงกระตุ้นม้ากัณฐกะให้บ่ายหน้าไปตามทางที่พึงไป แสดงเจติยสถานชื่อ "กัณฐกนิวัตตนะ" คือที่ม้ากัณฐกะหันหน้ากลับ ณ ภูมิประเทศนั้น
วันอาสาฬหบูชา ทุกท่านก็คิดถึงวันปฐมเทศนา แต่ควรที่จะได้ทราบด้วยว่าในวันนั้นเป็นวันที่พระโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ พระโพธิสัตว์เสด็จหนทาง ๓๐ โยชน์ ผ่าน ๓ ราชอาณาจักร ราตรีเดียวเท่านั้นก็ถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงกระแทกม้าให้สัญญาณแก่ม้า ม้าก็กระโดดไปยืนอยู่อีกฝั่งหนึ่ง พระโพธิสัตว์เสด็จลงจากหลังม้า ประทับยืนที่หาดทรายตรัสสั่งให้นายฉันนะนำอาภรณ์ ของพระองค์กับม้ากัณฐกะกลับไป แล้วพระองค์จักบวช
นายฉันนะทูลขอบวชถึง ๓ ครั้ง แต่พระโพธิสัตว์ก็รับสั่งให้นายฉันนะกลับไป พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า ผมของเราอย่างนี้ ไม่เหมาะแก่สมณะ ทรงจับพระขรรค์อันคมกริบด้วยพระหัตถ์ขวา รวบพระจุฬาพร้อมด้วยพระเมาลีด้วยพระหัตถ์ซ้ายแล้วตัด เหลือพระเกศาสององคุลีเวียนขวาติดพระเศียร พระเกศาเหล่านั้นก็มีประมาณเท่านั้นจนตลอดพระชนม์ชีพ ส่วนพระมัสสุก็เหมาะแก่ประมาณพระเกศานั้น แต่พระองค์ไม่มีกิจที่จะต้องปลงพระเกศา และพระมัสสุอีกเลย คนช่างคิดก็คิดสงสัยว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีหนวดเคราหรือเปล่า แต่ว่าข้อความนี้ก็แสดงให้เห็นว่าเหลือพระเกศาสององคุลี เวียนขวาติดพระเศียร จนตลอดพระชนม์ชีพ ส่วนพระมัสสุก็เหมาะแก่ประมาณพระเกศานั้น และพระองค์ไม่มีกิจที่จะต้องปลงพระเกศาและพระมัสสุอีกเลย
ท้าวสักกะเทวราช คือพระอินทร์จอมเทพของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทรงตรวจดูด้วยจักษุทิพย์ พระองค์ทรงเอาผอบรัตนะประมาณโยชน์หนึ่ง รับกำพระจุฬามณีนั้น แล้วทรงประดิษฐานพระจุฬามณีเจดีย์ สำเร็จด้วยรัตนะ ๗ ประการ ขนาด ๓ โยชน์ไว้ในภพดาวดึงส์ พระโพธิสัตว์ทรงดำริอีกว่า ผ้ากาสีเหล่านี้มีค่ามาก ไม่เหมาะแก่สมณะของเรา ลำดับนั้น ฆฏิการมหาพรหมสหายเก่าครั้งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ดำริโดยมิตรภาพ ที่ไม่ถึงความพินาศตลอดพุทธธันดรหนึ่งว่า วันนี้สหายเราออกภิเนษกรมณ์ จำเราจะถือสมณบริขารไปเพื่อสหายนั้น จึงนำบริขาร๘ เหล่านี้ไปถวาย คือ ไตรจีวร บาตร มีด เข็ม รัดประคดและผ้ากรองน้ำ พระโพธสัตว์ทรงเหวี่ยงคู่ผ้าที่ทรงนุ่งห่มไปในอากาศ ท้าวมหาพรหมรับผ้าคู่นั้นแล้ว สร้างเจดีย์สำเร็จด้วยรัตนะขนาด ๑๒โยชน์ในพรหมโลก บรรจุคู่ผ้านั้นไว้ข้างใน
แต่นั้นนายฉันนะก็ถวายบังคมพระมหาบุรุษ ทำประทักษิณแล้วหลีกไป ส่วนม้ากัณฐกะยืนฟังคำของพระโพธิสัตว์ตรัสกับนายฉันนะ รู้ว่าบัดนี้เราจะไม่เห็นนายของเราอีก พอละสายตาของพระมหาบุรุษนั้น ไม่อาจทนวิปโยคทุกข์ได้ ก็หัวใจแตกตายไปเกิดเป็นเทพบุตรชื่อกัณฐกะ ในภพดาวดึงส์ ซึ่งขณะนี้ท่านก็ยังอยู่ที่นั่น เพราะว่าสวรรค์แต่ละภพภูมิ มีอายุที่ยืนยาวมาก ความโศกได้มีแก่นายฉันนะอยู่แล้ว แต่เพราะการตายของม้ากัณฐกะ นายฉันนะก็ถูกความโศกครั้งที่สองเบียดเบียน ร้องไห้คร่ำครวญเดินทางไปด้วยความทุกข์
ต่อไปก็เป็นชีวิตของพระโพธิสัตว์ ก่อนการตรัสรู้ เมื่อพระมหาบุรุษทรงผนวชแล้วก็ประทับ ณ สถานที่นั้น คือที่สวนมะม่วง ชื่อ "อนุปิยะ" ๗ วัน ด้วยความสุขในบรรพชา จากปราสาท ๓ หลัง จากข้าราชบริพารแวดล้อม จากความสดวกสบายทุกอย่าง แต่พระโพธิสัตว์ก็ประทับที่สวนมะม่วงชื่อ อนุปิยอัมพวัน ด้วยความสุขในบรรพชา อย่างไหนจะมีความสุขกว่ากัน ไม่วุ่นวาย ไม่ลำบาก ไม่เดือดร้อน ไม่มีเรื่องกังวล แต่เป็นชีวิตที่อิสสระ ซึ่งจะค่อยๆ เริ่มพ้นจากความผูกพันของวัตถุกามต่างๆ
หลังจากนั้น พระองค์ทรงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนราชสีห์ ทรงเป็นนรสีหะ เหมือนควาญผู้รู้จักลีลาของช้างตกมัน ยังแผ่นดินให้เบาด้วยฝ่าพระบาท เสด็จเดินทาง ๓๐ โยชน์ วันเดียวเท่านั้น ทรงข้ามแม่น้ำคงคา เสด็จเข้าสู่พระนครราชคฤห์ เมื่อพระมหาบุรุษเสด็จเที่ยวแสวงหาภิกษา พวกมนุษย์ชาวพระนครที่เห็นพระรูปของพระมหาสัตว์ ก็เกิดปิติโสมนัส พระมหาบุรุษนั้นไม่มีใครงามเท่า แล้วก็ยังบรรพชาด้วยจิตใจสงบ ปลอดโปร่งจากสิ่งรบกวนทางโลก ความสง่างามของพระองค์จึงเป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้พบเห็น
ความสง่างามของพระรูปสมบัติของพระโพธิสัตว์ ทำให้ชาวเมืองราชคฤห์เปรียบความสง่างามของพระองค์ต่างๆ นาๆ เช่นบางคนก็กล่าวว่าเหตุไรหนอ จันทร์เพ็ญที่มีรัศมี ที่ถูกภัยคือราหูกำบังแล้ว ยังมาสู่มนุษย์โลกได้ คือเปรียบพระองค์ว่าเหมือน พระจันทร์เพ็ญซึ่งมาสู่โลกมนุษย์ บางคนก็ยิ้มและพูดว่า พูดอะไรอย่างนั้น เคยเห็นจันทร์เพ็ญมาสู่โลกมนุษย์กันเมื่อไร นั่นกามเทพมีดอกไม้เป็นธงมิใช่หรือ ท่านถือเพศอื่น เห็นความเจริญลีลาอย่างยิ่งของมหาราชของเราและชาวเมือง จึงเสด็จมาเล่นด้วย คนอื่นนอกจากนั้นก็ยิ้มและพูดว่า ท่านเป็นบ้ากันแล้วหรือ นั่นพระอินทร์ผู้เป็นท้าวสหัสสนัยน์ เป็นจ้าวแห่งเทวดามาในที่นี้ด้วยความสำคัญว่าเป็น อมรปุระ คือเข้าใจว่าเป็นเมืองเทพ
คนอื่นนอกจากนั้นก็หัวเราะเบาๆ แล้วกล่าวว่า ท่านพูดอะไรกัน ท่านผิดทั้งคำต้นคำหลัง ท่านผู้นั้นมีพันตาที่ไหน มีวชิราวุธที่ไหน มีช้างเอราวัณที่ไหน ที่แท้ท่านผู้นั้นเป็นพรหม ท่านรู้ว่าคนที่เป็นพราหมณ์ประมาทกัน จึงมาเพื่อประกอบไว้ในพระเวทและเวทางค์เป็นต้นต่างหากเล่า พวกพราหมณ์เสื่อมจากลัทธิพระเวทต่างๆ จึงมาตักเตือนให้ประกอบพระเวทต่อไป ส่วนคนอื่นที่เป็นบัณฑิต ก็ปรามคนเหล่านั้นทั้งหมดแล้วพูดว่า ท่านผู้นี้ไม่ใช่พระจันทร์เพ็ญ ไม่ใช่กามเทพ ไม่ใช่ท้าวสหัสนัยย์ ไม่ใช่พรหมทั้งนั้น แต่ท่านผู้นี้เป็นอัจฉริยมนุษย์ จะเป็นศาสดาผู้นำโลกทั้งปวง นี่ ตาสว่างขึ้นมาแล้ว จากการที่หลงมองเห็นเป็นสิ่งต่างๆ นาๆ ก็มีผู้ที่รู้ว่าไม่ใช่ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด แต่เป็นอัจฉริยมนุษย์และจะเป็นศาสดาผู้นำโลกทั้งปวง
เมื่อชาวพระนครเจรจากันอยู่อย่างนี้ พวกราชบุรุษก็กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระเจ้าพิมพิสาร พระราชาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ประทับยืน ณ ปราสาทชั้นบน ทรงเห็นพระมหาบุรุษ เกิดจิตอัศจรรย์ไม่เคยมี ทรงรับสั่งกะพวกราชบุรุษว่า พวกท่านจงไปทดสอบท่านผู้นั้น ถ้าเป็นอมนุษย์ก็จักออกจากนครหายไป ถ้าเป็นเทวดาก็จะไปทางอากาศ ถ้าเป็นนาคราชก็จักลงไปในดิน ถ้าเป็นมนุษย์ก็จะบริโภคภิกษาตามที่ได้มา
ฝ่ายพระมหาบุรุษมีอินทรีย์สงบ มีพระหฤทัยสงบ เป็นประหนึ่งดึงดูดสายตา มหาชนเพราะความงามแห่งพระรูป ทรงแลชั่วแอก รวบรวมอาหารระคนกัน พอยังอัตตภาพให้เป็นไปได้ เสด็จออกจากพระนครทางประตูที่เสด็จเข้ามา บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศตวันออกแห่งร่มเงาภูเขาปัณฑวะ ประทับนั่งพิจารณาอาหาร ไม่มีอาการผิดปกติเสวย แต่นั้นพวกราชบุรุษก็ไปกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา
ลำดับนั้นพระเจ้าพิมพิสาร ทรงรีบเสด็จออกจากพระนคร บ่ายพระพักตร์ตรงภูเขาปัณฑวะ เสด็จไปแล้ว ลงจากพระราชยาน เสด็จไปยังสำนักพระโพธิสตว์ อันพระโพธิสัตว์ทรงอนุญาตแล้ว ประทับนั่งเหนือพื้นศิลา เมื่อทรงได้รับปฏิสันถารแล้ว ทรงถามถึงนามและโคตร ทรงมอบความเป็นใหญ่ทุกอย่างแก่พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ตรัสว่า ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันไม่ประสงค์ด้วยวัตถุกามหรือกิเลสกาม หม่อมฉันปรารถนาแต่สัมโพธิญาณจึงออกบวช
พระราชาแม้ทรงอ้อนวอนหลายประการ ก็ไม่ได้น้ำพระหฤทัยของพระโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า "จักทรงเป็นพระพุทธเจ้าแน่" แล้วทูลว่า "ก็พระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว โปรดเสด็จมาแคว้นของหม่อมฉันก่อน" แล้วเสด็จกลับพระนคร
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 3
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 4
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 5
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 6
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 7
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 8
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 9
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 10
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 11
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 12
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 13
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 14
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 15
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 16
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 17
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 18
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 19
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 20
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 21
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 22
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 23
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 24
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 25
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 26
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 27
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 28
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 29
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 30
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 31
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 32
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 33
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 34
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 35
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 36
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 37
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 38
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 39
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 40
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 41
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 42
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 43
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 44
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 45
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 46
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 47
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 48
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 49
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 50
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 51
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 52
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 53
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 54
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 55
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 56
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 57
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 58
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 59
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 60