แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 21


    ครั้งที่ ๒๑


    การฟังธรรมก็ควรที่จะให้ได้ประโยชน์ ได้เหตุผลจากการฟัง เพื่อจะได้ ประพฤติปฏิบัติตามได้ถูกต้องด้วย แต่รู้สึกว่าถ้าเป็นแบบปกติธรรมดานี่ หลายท่านก็อาจจะรู้สึกว่าสตินี้เจริญน้อยเสียจริงๆ ท่านอยากจะได้สติมากๆ แต่อย่าลืมเรื่องของการเจริญสตินั้น เป็นเรื่องของการเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ด้วยสติ คือการที่ขณะนั้นมีการระลึกได้แล้วก็พิจารณาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ วิธีนี้วิธีเดียวเท่านั้นไม่ใช่วิธีอื่น เพราะเหตุว่าไม่ว่ากิเลสที่ละเอียดสลับซับซ้อนซ่อนอยู่อย่างไรก็ตาม ถ้าขณะนั้นปรากฏ ปัญญาจะต้องรู้ว่าสภาพนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    แล้ววิธีนี้เป็นวิธีขัดเกลา เป็นวิธีที่ทำให้ท่านละคลายความไม่รู้ ละคลาย อกุศลต่างๆ โดยที่ประการแรกที่สุดนั้นรู้ว่าอกุศลต่างๆ เหล่านั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่เหมือนกับวิธีที่จะระงับไว้ด้วยสมาธิ ถ้าเป็นวิธีที่ระงับไว้ด้วยสมาธิแล้วละก็ ท่านได้ความสงบเพียงชั่วคราว แต่ไม่รู้ว่าชีวิตจริงๆ ของท่านวันหนึ่งๆ นั้นไม่มีสิ่งใดเลยที่จะพึงยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ ฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบให้แน่ใจจริงๆ ว่า ถ้าเป็นทางที่จะให้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้แล้วท่านจะต้องเจริญสติในขณะนี้เอง

    มีข้อสงสัยอะไรไหมคะ การรู้ลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏโดยไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดอารมณ์ คือไม่เลือกอารมณ์ ถ้าขณะนั้นรู้ลักษณะของนามและรูปโดยไม่จงใจ โดยไม่เลือก เป็นสัมมาสติ เป็นสัมมาทิฏฐิ เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียดมากทีเดียว ความต้องการแอบแฝงอยู่ที่ไหนอย่างไรบ้างบางท่านอาจจะไม่รู้สึกตัวเลย เคยมีความจงใจในเฉพาะบางนามบางรูป พอมีความรู้สึกตัวทีไร รู้เฉพราะนามนั้น รู้เฉพาะรูปนั้น จิตจดจ้อง อยู่ที่นั่น ไม่สามารถที่จะทำให้รู้กำลังเห็นตามปกติ กำลังได้ยินตามปกติคือในขณะนี้ เพราะเหตุว่าในขณะนี้ไม่ได้จดจ้อง แล้วแต่ว่ากำลังเห็นเกิดระลึกได้ รู้ว่าที่กำลังเห็นก็เป็นเพียงสภาพรู้ทางตา หรือสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ก็เป็นของจริงที่ปรากฏทางตา การเจริญสติปัฏฐานนั้นละ อภิชฌาและโทมนัสในโลก โลกคืออารมณ์ที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ละความยินดียินร้ายด้วยการรู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น ยังสงสัยไหมคะ

    ถ. ถ้าอย่างนั้น ขณะกำลังตั้งใจฟังอยู่ในขณะนี้ ก็เป็นการเพิ่มอภิชชาขึ้นด้วยใช่ไหม

    สุ. อภิชชา ใช่ไหมคะ กำลังฟัง ฟังธรรมเป็นกุศลหรืออกุศลคะ? เป็นกุศล เพราะฉะนั้นไม่ใช่อภิชชา เกิดพร้อมกันไม่ได้ แต่ว่าไม่ใช่สติปัฏฐานเป็นกุศลขั้นการฟัง ถ้าโดยปริยัติโดยอภิธรรมก็เป็น มหากุศลญานสัมปยุตต์ เวลาที่เจริญสติปัฏฐานก็เป็น มหากุศลญานสัมปยุตต์ แต่อารมณ์ต่างกัน เพราะเหตุว่าในขณะที่กำลังฟังด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจ ในขณะนั้นเป็นมหากุศล เป็นญาณสัมปยุตต์จริง แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของได้ยิน และไม่ใช่การรู้ลักษณะของเสียง เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟังแล้วเข้าใจยังเป็นตัวตนอยู่ เป็นกุศลจริงแต่เป็นกุศลขั้นการฟัง ไม่ใช่เป็นกุศลที่ละความเห็นผิดในนามและรูปที่กำลังปรากฏ ฉะนั้น ก็จะต้องแยกด้วยถ้าเป็นกุศลขั้นการฟัง ก็ต้องเป็นกุศลขั้นการฟัง ไม่ใช่กุศลในขณะที่กำลังเจริญสติปัฏฐาน ในขณะที่กำลังฟังก็เจริญสติปัฏฐานได้ รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏได้ แต่ว่าใครจะรู้แล้วหรือยัง นั่นอยู่ที่ว่าเริ่มเจริญสติมากน้อยเท่าไรแล้ว

    เวลาว่างของฆราวาสก่อนที่จะได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานนั้น ฆราวาส ทำอะไรบ้างคะเวลาว่าง เรื่องเพลิดเพลินของฆราวาสมีมากไม่ใช่น้อยเลย แล้วแต่อัธยาศัย ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ในร่ม นอกบ้าน กลางแจ้ง ก็มีเรื่องการที่ฆราวาสจะเพลิดเพลินไป จะทำให้จิตใจเบิกบานสนุกสนาน คลายความเคร่งเครียดจากการ ประกอบธุรกิจการงานต่างๆ นั่นเป็นเรื่องการพักผ่อนของฆราวาส แต่ว่าในเพศของบรรพชิตเวลาว่าง ท่านไม่สามารถที่จะพักผ่อนหาความสนุกสนานเพลิดเพลินได้เช่นเดียวกับเพศของฆราวาสเลย ตามพระวินัยบัญญัติ เพราะฉะนั้น ท่านจะทำอะไรเวลาที่ท่านว่าง เวลาที่ท่านบิณฑบาตท่านก็เจริญสติปัฏฐาน เวลาที่ท่านฉันภัตตาหารท่านก็เจริญสติปัฏฐาน เวลาที่ท่านประกอบกิจการงานท่านก็เจริญสติปัฏฐาน เวลาที่ท่านฟังธรรมท่านก็เจริญสติปัฏฐาน ที่ท่านแสดงธรรมท่านก็เจริญสติปัฏฐาน แล้วก็ยังมีเวลาว่างอีกพระผู้มีพระภาคทรงทราบอัธยาศัยของสัตว์โลก พระธรรมงามพร้อมทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ทั้งศีลซึ่งเป็นข้อประพฤติทางกาย ทางวาจา ตามปกติในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งสมาธิและปัญญา

    และก่อนที่ท่านเหล่านั้นจะมาบวชในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคนั้นท่านเหล่านั้นก็เคยเจริญสมาธิ อานาปานสติ ได้ฌาน ได้อรูปฌานก็มี ท่านเคยทำสมาธิกันมาก่อนแล้ว แล้วอัธยาศัยของท่านน้อมไปในเรื่องของสมาธิก็มี ฉะนั้นในมหาสติปัฏฐาน ภิกษุนั่งคู้บัลลังก์ หมายความว่าเป็นอัธยาศัยที่ท่านได้เคยเจริญ ได้เคยฝึกหัด เคยอบรมในเรื่องของการเจริญอานาปานสติ ในเรื่องของการทำสมาธิมาแล้ว ฉะนั้นเวลาที่ท่านมีเวลาว่าง ใจของท่านก็น้อมไปในเรื่องของสมาธิซึ่งเป็นอัธยาศัยของท่าน พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงบังคับว่าไม่ให้ทำ แต่พระองค์ทรงรู้แจ้งว่าสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความสงบ ไม่ว่าจะเป็นสมาธิไม่ว่าจะเป็นโลภะ ไม่ว่าจะเป็นโทสะ ไม่ว่าจะเป็นโมหะ ของสัตว์โลกแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ก็รู้ลักษณะของสิ่งนั้นตามความเป็นจริง แม้ฌานจิตก็ไม่เที่ยง ผู้ใดจะรู้ ผู้เจริญสติปัฏฐานจึงรู้ได้ว่าฌานจิตนั้นไม่เที่ยง ถ้าไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเลย เพียงแต่เจริญความสงบ เคยทำฌานที่จะให้เกิดความรู้ว่าฌานจิตไม่เที่ยงนั้น เป็นไปไม่ได้เลย แต่ผู้ที่จะรู้ว่าฌานจิตไม่เที่ยงได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ฌานจิตจึงเป็น จิตตานุปัสสนา

    ใน สังยุตตรนิกาย สคาถวรรค ภาค ๒ ปวารณาสูตร ที่ ๗ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปุพพาราม ปราสาทของวิสาขา มิคารมารตา เขตพระนครสาวัตถี พระองค์ประทับกับภิกษุสงฆ์ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด พระองค์ประทับนั่งในที่แจ้ง เพื่อทรงปวารณาในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอปวารณาเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะไม่ติเตียนกรรมไรๆ ที่เป็นไปทางกายหรือทางวาจาของเราบ้างหรือ

    ท่านพระสารีบุตรก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า พระองค์เป็นศาสดาและสาวกก็เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตามพระองค์ เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยที่สาวกทั้งหลายจะติเตียนพระผู้มีพระภาคได้ เพราะพระองค์เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมกันนั้นท่านพระสารีบุตรก็ได้กราบทูลว่า พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ ที่เป็นไปทางกายหรือทางวาจา ของภิกษุทั้งหลายเหล่านี้บ้างหรือ

    พระผู้มีพระภาคก็ตรัสสรรเสริญท่านพระสารีบุตร เวลาที่ท่านพระสารีบุตร กราบทูลว่า พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ ของภิกษุ ๕๐๐ รูป เหล่า นี้บ้างหรือ พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า พระองค์ไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ ที่เป็นไปทาง กายหรือทางวาจา ของบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ เพราะบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ ภิกษุ ๖๐ รูปเป็นผู้ได้วิชชา ๓ ภิกษุ ๖๐ รูปเป็นผู้ได้อภิญญา ๖ ภิกษุ ๖๐ รูปเป็นผู้ได้ อุภโตภาควิมุตต ภิกษุที่เหลือได้ปัญญาวิมุตติ นี่ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นแล้วนะคะว่า ในการเจริญสติปัฏฐานในสำนักของพระผู้มีพระภาคนั้น แล้วแต่อัธยาศัยว่าท่านผู้ใดเคยเจริญสมาธิถึงขั้นที่จะได้ วิชชา ๓ ถึงขั้นที่จะได้อภิญญา ๖ สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ หรือสามารถที่จะได้อุภโตภาควิมุตต คือเจริญสมถะได้ฌานแล้วบรรลุมรรคผล แต่ว่าที่เป็นปัญญาวิมุตติมีมากกว่า

    นี่ก็เป็นเรื่องที่จะชี้ให้เห็นว่า เหตุใด พระผู้มีพระภาคจึงมิได้ทรงวางกฏเกณฑ์ในการเจริญสติปัฏฐาน ด้วยเหตุนี้ในพระไตรปิฏกจึงไม่มีสำนักของฆราวาสเลยในครั้งพุทธกาล มีแต่สำนักของสงฆ์เท่านั้น เพราะว่า คำว่าสำนักนั้นแปลว่าที่อยู่ ฆราวาสมีบ้านเรือนเป็นที่อยู่เจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันตามปกติ เพื่อที่จะให้รู้ลักษณะของนามและรูปทั่ว เพื่อละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือนามและรูปนั้นว่าเป็นตัวตนในเพศของฆราวาส บรรพชิตก็เจริญสติปัฏฐานที่สำนักโดยการ ที่รู้ลักษณะของชีวิตจริงๆ ของท่านตามปกติ เพราะว่า จะต้องรู้ลักษณะของนามและรูปทั่ว จึงจะละคลายความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้

    ถ้าท่านคิดว่าคนในสมัยโน้นมีสัทธาน้อยกว่าคนในสมัยนี้ ก็เข้าใจผิดเพราะเหตุว่าคนสมัยโน้นได้ฟังพระธรรมมีสัทธา ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน หรือไม่ว่าจะเป็นทาสีก็เจริญสติปัฏฐาน ถ้าพูดถึงสัทธาผู้ที่เป็นอริยบุคคลย่อมมีสัทธามากกว่าผู้ที่ไม่ใช่อริยบุคคล อย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นอุบาสก มีทรัพย์สินเงินทองบำรุงพระภิกษุบำรุงพระสงฆ์ แต่ท่านมิได้สร้างสำนักปฏิบัติของฆราวาส วิสาขามิคารมารดาเป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นผู้ที่มีความเลื่อมใส มีความสัทธา มั่นคงในพระรัตนตรัย เป็นผู้ที่มีทรัพย์สินเงินทอง มีทั้งสัทธา มีทั้งปัญญา มีทั้งทรัพย์ แต่ วิสาขามิคารมารดาก็ไม่ได้สร้างสำนักปฏิบัติ เป็นเพราะเหตุใด คนในสมัยโน้นจึงไม่มีสำนักปฏิบัติของฆราวาส เพราะเหตุว่า คนในสมัยโน้น ไม่ได้เข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องของข้อปฏิบัติถ้าจะคิดถึงขุชชุตตรา ซึ่งเป็นอุบาสิกาสาวิกา เป็นเอตทัคคะในทางพหูสูตร เป็นผู้ที่ได้ฟังมาก แต่ขุชชุตตราก็ไม่ได้มีสำนักปฏิบัติ ไม่มีใครตั้งสำนักปฏิบัติในครั้งโน้นเลย

    ขอกล่าวถึง สังยุตตรนิกาย สฬายตนวรรค ภาค ๑ มิคชาละ สูตรที่ ๑ ที่พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระมิคชาละได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว ฉะนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรพระเจ้าข้า ภิกษุจึงชื่อว่ามีปกติอยู่ผู้เดียว และด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่าอยู่ด้วยเพื่อนสอง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร มิคชาละ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจให้เกิดความรัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุยินดีกล่าวสรรเสริญ แสดงความหมกมุ่นในรูปนั้นอยู่ เมื่อเธอยินดีกล่าวสรรเสริญหมกมุ่นในรูปนั้นอยู่ ย่อมเกิดความเพลิดเพลิน เมื่อมีความเพลิดเพลิน ก็มีความกำหนัดกล้า เมื่อมีความกำหนัดกล้า ก็มีความเกี่ยวข้อง

    ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และมีความเกี่ยวข้องเราเรียกว่า ผู้มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง ......... (ตลอดเรื่อยไปจากรูปารมณ์ สัททารมณ์ ..... ธัมมารมณ์ทางใจ) แล้วพระผู้มีพระภาคก็ตรัสต่อไปว่า ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ ถึงจะเสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าหญ้าและป่าไม้ เงียบเสียงไม่อื้ออึง ปราศจากลมแต่ชนที่เดินเข้าออก ควรเป็นที่ประกอบกิจของมนุษย์ผู้ต้องการความสงัด สมควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ยังเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้นั้นยังมีตัณหาเป็นเพื่อนสอง เขายังละตัณหานั้นไม่ได้ ฉะนั้น จึงเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสองโดยนัยตรงกันข้าม ถึงแม้จะเป็นรูปที่น่าพอใจมีอยู่ เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ที่น่าพอใจมีอยู่ แต่ไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่หมก มุ่น ไม่ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และความเกี่ยวข้อง พระผู้มีพระภาคเรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว

    แล้วพระผู้มีพระภาคก็ตรัสต่อไปว่า ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้จะปะปนกับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ในที่สุดบ้านก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ยังเรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว เพราะฉะนั้น ถ้าผู้นั้นเจริญสติปัฏฐานอยู่กับนามและรูป ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง มีคนเยอะก็จริง แต่ขณะนั้นใส่ใจที่ลักษณะของเสียง หรือใส่ใจลักษณะที่ได้ยิน ใส่ใจที่ลักษณะเย็นที่ปรากฏ ในขณะนั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับผู้อื่น บุคคลอื่นเลย ถึงแม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เดียรถีย์ พระราชาหรือว่ามหาอำมาตย์ของพระราชาก็ตาม

    บางท่านก็บอกว่าที่บ้านของท่านไม่สงบ จะทำยังไงละคะในเมื่อเป็นชีวิตจริงๆ ของท่าน มีนามมีรูป และการที่จะไม่รู้จักชีวิตจริงๆ ทุกๆ วัน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ท่านมุ่งหวังเพียงแต่จะประพฤติตามผู้ที่ออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิต ในขณะที่เจริญสมาธิ ในที่หลีกเร้น หรือว่าท่านหวังที่จะเจริญตามพระภิกษุทั้งหลายที่ท่านเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะกำลังนั่ง นอน ยืน เดิน เคลื่อนไหว เหยียดคู้ ประกอบกิจการงาน หรือว่ามีความสงบเพราะว่าพระภิกษุท่านเจริญสติปัฏฐานด้วย ถ้าท่านอยากจะทำตามเพียงการเจริญสมาธิ เป็นที่หลีกเร้นเท่านั้น หรือว่าท่านจะเจริญสติปัฏฐานตามพระภิกษุ ไม่ว่าท่านจะทำกิจการงานใด ฆราวาสทำฆราวาสก็เจริญสติปัฏฐานด้วย เพราะเหตุว่าจะต้องรู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง

    ถ. ท่านผู้ฟังก็บอกว่า เวลาที่ฟังเพลงก็ยังเจริญสติปัฏฐานได้ รู้ลักษณะของนามและรูปได้ แต่เวลาที่มีคนมาพูดคุยด้วยก็จะต้องฟังให้รู้เรื่อง

    สุ. ทำไมจะรู้เพียงได้ยินกับเสียงละคะ การรู้เรื่องก็เป็นนามชนิดหนึ่ง เวลาที่พูดมีปากไหวไปไหมคะ รู้สึกตัวในขณะนั้นได้ไหม อย่างเจาะจงว่าจะต้องรู้ เฉพาะที่แค่ได้ยินเท่านั้นไม่ให้เลยไปถึงรู้เรื่อง

    ถ. ...............

    สุ. ในตอนต้นๆ จะมีความรู้สึกว่า สติรู้ลักษณะของนามนั้นบ้างรูปนี้บ้างยังไม่ทั่ว เพราะฉะนั้นอย่ากลัว ถ้าโลกในพระวินัยของพระอริยเจ้าแล้วเหมือนกันหมด สติจะรู้ที่ลักษณะแข็ง หรือว่ารู้ที่สภาพที่กำลังไหวไปเวลาพูด หรือรู้เย็นหรือร้อน ที่กระทบ ก็เป็นโลก ๑โลกใดใน ๖ โลกในวินัยของพระอริยเจ้า ที่จะต้องปรากฏว่าเป็นเพียงนามและรูปที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญปัญญา เพื่อละความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน ถ้าความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนในตอนต้นไม่มี จะต้องเจริญสติไหมคะ ก็ไม่ต้องเจริญสติ เพราะฉะนั้นความสำคัญอยู่ที่รู้ชัดในโลก ๖ โลก สาวกของพระผู้มีพระภาคก็มี ทั้งผู้ที่บรรลุมัคคผลด้วยการเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่ได้เจริญสมถภาวนา และมีทั้งผู้เจริญสมถภาวนาด้วยเจริญสติปัฏฐานด้วย แล้วเวลาที่บรรลุก็มีการบรรลุพร้อมกับฌานจิต บางท่านก็ได้วิชชา ๓ บางท่านก็ได้อภิญญาด้วย นั่นก็เป็นในครั้งพุทธกาล

    อย่างใน อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ปฏิปทาวรรค ยุตนัทธสูตร ข้อ ๑๗๐ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ อยู่ ณ โฆษิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ท่านเรียกพระภิกษุทั้งหลาย แล้วก็กล่าวว่า ดูกร อาวุโสทั้งหลาย บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ย่อมพยากรณ์การบรรลุอรหัตต์ในสำนักของเราด้วยมรรค ๔ โดยประการทั้งปวง หรืออย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดามรรค ๔ ประการนี้ มัคค ๔ ประการเป็นไฉน ประ การที่ ๑ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า เมื่อเจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า มรรคย่อมเกิด ย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้ มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book แนวทางเจริญวิปัสสนา
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 33
    28 ธ.ค. 2564

    ซีดีแนะนำ