แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 34
ครั้งที่ ๓๔
การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญปัญญา รู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติที่สุด ถ้าท่านยิ่งมีปัญญา ปัญญานั้นจะต้องรู้ลักษณะที่เป็นปกติ ธรรมดา ธรรมชาติ ไม่มีความต้องการแอบแฝงให้ทำสิ่งผิดปกติขึ้น นั่นจึงจะเป็นปัญญาที่เรียกว่า รู้จริง รู้แจ้ง รอบรู้ รู้ทั่ว แล้วจึงจะละได้
ได้รับฟังคำปรารภจากท่านผู้ฟังที่รู้สึกท้อใจว่า วันไหนหนอจึงจะได้รู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง ชีวิตนี้สั้นไม่เกิน ๑๐๐ ปี และอยู่กันมานานแล้ว ภพชาติในอดีตก็มากมายเหลือเกิน ถ้าไม่รู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริงในปัจจุบันชาตินี้แล้ว ชาติข้างหน้าก็คงจะอีกยืดยาวต่อไปอีกนานเพราะฉะนั้น ก็รู้สึกว่าเมื่อไรหนอจึงจะได้รู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง
ไม่มีอะไรที่จะให้เหตุผลดียิ่งกว่าพระธรรมวินัย ที่ได้ทรงแสดงไว้เป็นความจริงที่ว่า จะช้าหรือจะเร็วขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ไม่ใช่ปลอบใจให้เร่งและให้บรรลุในชาตินี้ได้โดยที่เหตุไม่สมควรแก่ผล ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุผล พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงธรรมอะไรที่จะปลอบใจคน ชักชวนให้มาหาพระธรรมวินัยของพระองค์ แต่ว่าทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงด้วยเหตุผล เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดมีความรู้สึกในทำนองนี้ ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค นาวาสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่ประกอบภาวนานุโยคอยู่ จะพึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้นจิตของเธอย่อมไม่พ้นไปจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะเธอไม่อบรม เพราะไม่อบรมอะไร เพราะไม่อบรมสติปัฏฐาน ๔ เพราะไม่อบรมสัมมัปปธาน ๔ เพราะไม่อบรม อิทธิบาท ๔ เพราะไม่อบรมอินทรีย์ ๕ เพราะไม่อบรมพละ ๕ เพราะไม่อบรมโพชฌงค์ ๗ เพราะไม่อบรมมรรคมีองค์ ๘ และมีข้อความต่อไปว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย รอยนิ้วมือย่อมปรากฏ หรือรอยนิ้วหัวแม่มือย่อมปรากฏที่ด้ามมีดของนายช่างไม้ หรือลูกมือของนายช่างไม้ แต่นายช่างไม้ หรือลูกมือของนายช่างไม้นั้นหารู้ไม่ว่า วันนี้ด้ามมีดของเราสึกไปประมาณเท่านี้ วานนี้สึกไปประมาณเท่านี้ วันก่อนๆ สึกไปประมาณเท่านี้ นายช่างไม้ หรือลูกมือของนายช่างไม้นั้น มีความรู้แต่ว่าสึกไปแล้วๆ โดยแท้แล แม้ฉันใด
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุประกอบภาวนานุโยคอยู่ หารู้ไม่ว่า วันนี้ อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปแล้วประมาณเท่านี้ วานนี้สิ้นไปแล้วประมาณเท่านี้ หรือวันก่อนๆ สิ้นไปแล้วประมาณเท่านี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น เมื่ออาสวะสิ้นไปแล้ว เธอก็มีความรู้แต่ว่า สิ้นไปแล้วๆ ฉันนั้น เหมือนกันแล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรือที่เขาผูกด้วยตรวนแล่นไปในสมุทร จมลงในน้ำสิ้น ๖ เดือนโดยเหมันตสมัย เขาเข็นขึ้นบก ตรวนเหล่านั้นถูกลมและแดดกระทบแล้ว ถูกฝนตกรดแล้ว ย่อมผุและเปื่อยโดยไม่ยากเลย ฉันนั้น เหมือนกันแล เคยท้อใจไหม ถ้าเคยท้อใจก็ลองจับด้ามมีดดู ด้ามไม้ใหญ่ๆ แล้วก็จับไว้ทั้งวัน กำไว้ทั้งวันก็ยังไม่เห็นเลยว่าสึก พรุ่งนี้จับอีกก็ยังเหมือนเดิม จะอยู่ที่ไหนก็ตาม จะระลึกได้มากหรือน้อยก็เป็นนิสัยที่จะเป็นผู้สมบรูณ์ด้วยสติและรู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น ซึ่งมีแต่ประโยชน์ ไม่เป็นโทษเลย
เพราะฉะนั้น ก็เป็นหนทางเดียวจริงๆ ต้องอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปรารถนาสักเท่าไร หวังไป คอยไปกี่ภพ กี่ชาติ ถ้าผู้นั้นไม่เจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็ไม่มีหนทางที่จะได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงเลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีสติรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จะเป็นนามหรือจะเป็นรูปก็ตาม ขอให้ทราบว่า ท่านมีศรัทธาในพระรัตนตรัย เพราะได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เพราะได้ฟังน้อมใจเชื่อสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดก็ตามเกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย เป็นอนัตตา เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้น ถ้าศรัทธาในพระรัตนตรัย บูชาด้วยการปฏิบัติ หมายความว่าอะไร หมายความว่า ขณะใดที่มีสติระลึกได้ รู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏในขณะใด ในขณะนั้นเป็นปฏิบัติบูชา เป็นการบูชาด้วยการเจริญสติ เป็นการบูชาด้วยศรัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคว่า หนทางนี้เป็นทางเดียวที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคก็ตาม สาวกของพระผู้มีพระภาคก็ตาม ไม่ได้ปรารถนาอะไรจากผู้ฟังเลย นอกจากประโยชน์ของผู้ฟัง
ทรงสอนเรื่องการเจริญสติปัฏฐานเพื่อประโยชน์ของใคร เพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่การเจริญสติ และถ้าผู้หนึ่งผู้ใดมีศรัทธาก็หมายความว่า มีศรัทธาเกิดขึ้นพิจารณาสภาพของสิ่งที่ปรากฏ จึงจะชื่อว่าเชื่อในการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้จริงๆ ว่า กำลังเห็นขณะนี้ก็เกิดดับ สีที่ปรากฏขณะนี้ก็เกิดดับ เพราะตรัสรู้อย่างไรก็แสดงธรรมอย่างนั้น จักขุวิญญาณไม่เที่ยง รูปารมณ์ไม่เที่ยง ไม่ใช่พระผู้มีพระภาคและพระอริยสาวกไม่รู้ แต่เพราะรู้อย่างไรก็แสดงอย่างนั้น จึงทรงแสดงว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น เป็นสภาพที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่ตัวตน ถ้าเข้าใจและเชื่อในการตรัสรู้ เมื่อมีสติระลึกรู้ ขณะนั้นก็มีศรัทธาในพระรัตนตรัย แล้วก็เป็นปฏิบัติบูชาด้วย
ขุททกนิกาย เถรคาถา อานันทเถรคาถา ภาษิตหรือคาถาของท่านพระอานนท์ ซึ่งมีข้อความว่า ผู้ใดเล่าเรียนมามาก ดูหมิ่นผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาน้อย ด้วยการสดับ แต่เขาไม่ได้ปฏิบัติตามที่ได้เล่าเรียนมา ย่อมปรากฏแก่เรา เหมือนคนตาบอดถือดวงไฟไป ฉะนั้น นี่เป็นความไพเราะของภาษิตของท่านที่ได้รู้แจ้งธรรมว่า เมื่อศึกษาธรรมแล้วก็ควรที่จะปฏิบัติธรรมด้วย เป็นผู้ที่เล่าเรียนมามาก และอาจจะดูหมิ่นผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาน้อย แต่ถ้าผู้นั้นไม่ได้ปฏิบัติตามที่ได้เล่าเรียนมา ย่อมปรากฏแก่ท่านพระอานนท์ เหมือนคนตาบอดถือดวงไฟไป ฉะนั้น ไม่ประจักษ์ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง แต่รู้ลักษณะของนามและรูปตามที่ได้สดับหรือตามที่ได้ฟัง ก็เหมือนกับคนตาบอดถือดวงไฟ แต่ไม่เห็นแสงไฟ
นี่เป็นภาษิตของท่านพระเถระที่อุปการะเกื้อกูลให้ท่านมีศรัทธาในการเจริญสติ หรือว่าให้สติของท่านเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ แม้เพียงขณะเดียวก็มีประโยชน์ สติขณะเดียว จะมีสติขณะนี้ที่กำลังเห็น หรือขณะที่กำลังได้ยิน ขณะที่เย็นกระทบ ขณะที่เป็นสุข เป็นทุกข์ ขณะที่กำลังคิดนึก แต่ละขณะนั้นมีประโยชน์ทั้งสิ้น อย่าเป็นผู้ประมาทกุศล เพราะเหตุว่ากุศลแต่ละขณะที่ได้บำเพ็ญนั้น วันหนึ่งก็ย่อมจะมีปริมาณมาก ทำให้ละคลายกิเลสได้
ถ. ดิฉันสงสัยที่ท่านอาจารย์บอกว่า ให้เจริญวิปัสสนาทางตา หรือทางลิ้น ทางตาก็พอจะทราบ เพราะว่าได้มองเห็นอะไรๆ แล้วจะได้เอามาพิจารณาได้ ทางลิ้นนี้นอกจากจะรับประทาน จึงจะทราบเอามาพิจารณาได้ ดิฉันสงสัยตอนนี้
สุ. การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ต้องคอย ถ้าทางลิ้นไม่มีในขณะนี้ อะไรกำลังปรากฏ ก็มีสติ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ทางลิ้นเวลานี้มีไหม ไม่มี ทางตามีไหม มี เจริญสติปัฏฐานได้ไหม ได้ แล้วแต่ว่าอะไรปรากฏ นอกจากแล้วแต่อะไรปรากฏแล้ว ก็ยังแล้วแต่ว่าสติจะรู้อะไร การเจริญสติปัฏฐานเป็นอนัตตาจริงๆ มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วแต่สติจะพิจารณา ได้ยินหรือเสียง หรือว่าจะพิจารณาเย็นที่กำลังกระทบ หรือว่าจะพิจารณาสภาพที่กำลังคิด หรือกำลังเป็นสุขเป็นทุกข์ในขณะนี้ ไม่บังคับ
ถ. ดิฉันเข้าใจว่า ไม่รวมหมดทุกคนไป โดยเฉพาะตัวดิฉันเอง ทำได้โดยเฉพาะบางกรณี อยู่บ้านเห็นอะไร สติมันก็เกิด แต่จะให้สงบจริงๆ ต้องไปที่ปฏิบัติจริงๆ สติของเรามันจะเกิดได้ทุกขณะอย่างอาจารย์ว่าก็ใช่
สุ. ดิฉันเรียนถามถึงปัญญา ดิฉันไม่ได้ถามถึงเรื่องความสงบ
ถ. ปัญญาเกิดได้ทางตาเห็น หรืออะไรอย่างนี้ ก็พิจารณาได้เหมือนกัน แต่จะให้สงบจริงๆ ก็ต้องไปที่ปฏิบัติ นี่เกิดจากตัวดิฉันเอง คือจะทำก็อาย จะไปนั่งหลับตา เด็กๆ เห็น เด็กจะว่าบ้าหรือไงนี่ คือมีอคติในตัวเองอย่างนี้
สุ. ทำไมถึงว่าอับอายขายหน้า
ถ. ไม่ใช่อาย คือ กลัวเด็กจะว่าไปนั่งทำอะไร คล้ายๆ กับมีหิริโอตตัปปะในตัวเอง กลัวเด็กๆ จะว่าแม่เป็นบ้า หรือเป็นอะไรทำนองนั้น คือคิดไปเอง แต่ถ้าไปอยู่ในหมู่ผู้ปฏิบัติด้วยกัน ทำก็ทำเหมือนกัน รู้สึกว่าจิตมันสงบดี
สุ. ขอความรู้ให้ท่านผู้ฟังได้ทราบโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ดิฉันก็ยังเข้าใจตามที่ได้กล่าวนี้ รู้สึกว่าการเจริญสติปัฏฐานไม่ได้เป็นปกติเลย เพราะเหตุว่ากลัวเด็กหรือว่ากลัวคนอื่นจะมาเห็น ยังไม่เข้าใจ ปกติขณะนี้ของการเจริญสติปัฏฐานเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรพิเศษที่จะต้องไปทำอะไรให้ผู้อื่นคิดว่าเป็นบ้า หรือว่าไม่ต้องไปทำอะไรให้คนอื่นมาหัวเราะเยาะ หรือขบขัน ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐานแบบนี้ พระผู้มีพระภาคไม่ทราบว่าจะใช้คำอย่างไร คงจะแย่ทีเดียวที่ทำให้ผู้เจริญสติปัฏฐานแล้ว คนอื่นเห็นว่าเป็นบ้า หรือว่าเป็นคนที่ผิดปกติ ไม่ใช่เป็นคนที่รู้แจ้งตามปกติ แต่การเจริญสติปัฏฐานไม่มีผู้ใดตำหนิเลย ทั้งกายวาจาของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่เป็นช่องทางให้ใครขบขัน หัวเราะเยาะ หรือคิดว่าเป็นคนที่แปลกผิดปกติไปได้
ถ. ที่ดิฉันทำ มีการยกมืออะไรทำนองนี้ ทีนี้อาจารย์ปฏิบัติอย่างนี้คือจับให้รู้เฉพาะที่เหตุมันเกิด ก็ไม่มีใครสามารถจะหยั่งรู้จิตใจ จับอะไรก็ไม่มีใครรู้ แต่อันนี้มีการยกมือ อะไรทำนองนี้ มีกิริยาเกิด ที่ดิฉันปฏิบัติมีการแสดงออก อย่างของที่อาจารย์สอน ให้จับรู้เฉพาะเหตุที่เห็นที่เกิด อย่างนี้ก็ไม่มีใครมาทราบจิตใจของเราได้ เราเห็นอะไรก็ไม่มีใครทราบ แต่อันนี้มีการแสดงออก และมีคนเขาเห็น ถ้าไปทำประเจิดประเจ้อรู้สึกว่าไม่ดี จะต้องไปสู่สถานที่เฉพาะพวกเดียวกัน
ผู้ฟัง ผมสนับสนุนคุณพี่ คือผู้ที่เจริญสติปัฏฐานใหม่ๆ ยังไม่รู้อะไร ความไม่รู้นี้ทำให้จงใจ เพราะอยากจะดูรูปนั่ง อยากดูรูปนั่งเพราะไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็เกิดความจงใจ อยากจะยืนดูรูปยืน นั่งๆ อยู่เดี๋ยวจะลุกขึ้นยืน ทีนี้คนอื่นนั้นจริงอย่างคุณพี่ว่า ยายคนนี้นั่งเงียบๆ เดี๋ยวลุก อยากจะดูรูปเหยียดแขนบ้าง เดี๋ยวจะดูรูปยืนบ้าง แต่เรื่องนี้เปรียบเหมือนเด็กสอนเดิน กับคนเดินเป็น คนเจริญสติปัฏฐานใหม่ๆ นี้เหมือนเด็กเริ่มเดินเตาะแตะ อย่างอาจารย์นี้เดินเก่งแล้วนี่ครับ ทำแล้ว รู้แล้ว หรืออย่างใครก็ตามที่มีภูมิปัญญาเพียงพอแล้ว นั่งเฉยๆ ในขณะนี้ เกิดความรู้สึกว่าไม่พอใจ กำหนดรู้เดี๋ยวนั้นได้เลย หรือเห็นกำหนดเห็นได้เลย ไม่มีอิริยาบถผิดปกติ เพราะรู้เสียแล้วว่า เพียงแต่เรายกรูปนี้นะ นี่คือรูป เราพูดอย่างนี้เป็นวจีวิญญัติ ปากพูดในขณะที่ได้ยิน หรือคนเห็นนี่นะเป็นนามเห็น กิริยาละเมียดละมัยไปแล้ว เป็นไปโดยอัตโนมัติ เพราะอะไร เพราะตัวมีภูมิรู้อยู่แล้ว แต่ผู้เข้าใหม่เหมือนเด็กหัดเดิน การทำกิริยาจะให้แนบเนียนเหมือนผู้ที่เป็นไปเดิน ย่อมเป็นไปไม่ได้ อยากดูเพราะมีเจตนา เพราะอยากจะรู้ธรรมคำสอนของพระองค์ว่า รูปยืนเป็นอย่างไร รูปเดินเป็นอย่างไร ก็เดินย่องๆ นี่ผิดๆ ทั้งนั้น นี่แหละครับที่ผมบอกว่า อย่างที่คุณพี่ว่านี่แหละใช่ คนอื่นเขาจะหาว่าบ้าจริงๆ ครับ แต่เมื่อทำเป็นแล้ว รู้จักวางใจ รู้จักสติ เวลาอารมณ์เกิดขึ้น ก็ไว เฉียบแหลม จับทันแล้ว ทีนี้ความเก้งก้าง ความไม่น่าดูก็ค่อยๆ ลดลงไป ความละเมียดละมัย ความไวของจิตดีขึ้น
สุ. อยากให้ผู้ฟังพิจารณาพระภิกษุ กิจวัตรของท่านมีอะไรที่เก้ๆ กังๆ หรือว่าทำให้คนอื่นรู้สึกว่าผิดปกติไหม เพราะพระภิกษุนั้นท่านเป็นผู้ที่เจริญสติ ถ้าอย่างนั้นต้องทำเก้ๆ กังๆ เสียก่อนหรือ ไม่ทราบว่าผู้ใดจะมีศรัทธาทำเก้ๆ กังๆ บ้างไหม เพราะเหตุว่าผู้ฟังก็มีสิทธิที่จะเลือกสรรธรรมที่จะพิจารณา แล้วแต่ฉันทะของแต่ละท่าน ถ้าท่านผู้ใดอยากจะเก้ๆ กังๆ หรือว่าทำอะไรที่ทำให้คนอื่นรู้สึกว่าผิดปกติ ไม่ใช่คนธรรมดานั่นก็เป็นฉันทะ หรือความพอใจของท่าน แต่ท่านที่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานถูกต้อง ท่านจะทิ้งสิ่งที่ผิดปกติอย่างนั้น ไม่ได้เคยพบที่ไหนเลยว่าให้เจริญเก้ๆ กังๆ ตามที่ท่านผู้ฟังกล่าวว่า เหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นเหมือนๆ กัน ไปอยู่รวมๆ กัน คนอื่นไม่ว่า แต่ว่าถ้าคนที่อื่นๆ ที่เห็นเข้า ก็จะรู้ว่าเป็นพวกที่แปลกพวกหนึ่ง แต่พวกที่อยู่ด้วยกันบอกว่าไม่แปลกเพราะว่าเหมือนกัน มีท่านผู้ฟังท่านใดที่มีความคิดเห็นอะไรบ้างไหม เพราะว่าเป็นเรื่องของเหตุผล เป็นเรื่องของความรู้ เป็นเรื่องของความถูกต้อง แต่เป็นเรื่องอนัตตาด้วย คือ ไม่มีใครบังคับเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของท่านได้ แล้วแต่ฉันทะความพอใจของท่าน
ถ. ผู้ที่จะรู้ว่า สติและปัญญาจะเกิดได้ ก็อย่างเสียงนี้ก็มี ก็เคยเรียนอาจารย์แล้ว ก็มีอยู่ รู้กันอยู่ทุกคน ไปถามเขาก็เล่าให้ฟังอย่างนี้ เขาบอกว่าฟังอาจารย์มานี้ เสียงก็มี เย็น ร้อน อ่อน แข็งอะไรก็มี ก็มีทั้งนั้น แต่คำว่าขั้นปัญญาเมื่อรู้อย่างนี้แล้ว จะทำอย่างไรต่อไปอีก นี่อีกอย่างหนึ่ง เพียงรู้อยู่อย่างเดียวเท่านั้น โลภะก็มี โทสะก็มี บางครั้งก็มี บางครั้งก็เฉยๆ แต่หยุดเพียงแค่รู้เท่านั้น คำว่าปัญญาที่จะรู้ซึ้งขึ้นไปอีก เขาบอกว่าเขายังรู้ไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะแปลว่าอย่างไร
สุ. เขายังรู้ไม่ได้ เพราะว่าเขาเจริญเหตุถูกต้องกับผลหรือไม่ ผลทุกอย่างที่จะเกิดก็ต้องเกิดเพราะเหตุ ถ้าเหตุผิดผลก็ผิด ๒๐ ปี ๓๐ ปี ก็ไม่ได้รู้อะไร ถ้าเหตุถูกก็เป็นทางที่จะให้ผลที่ถูกต้องเกิดขึ้นได้
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค รโหคตสูตร ที่ ๑ ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะ อยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ครั้งนั้น ท่านหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความปริวิตกขึ้นในใจอย่างนี้ว่า
สติปัฏฐาน ๔ อันชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เบื่อแล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่า เบื่ออริยมรรค ที่จะให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
สติปัฏฐาน ๔ อันชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปรารภแล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่า ปรารภอริยมรรค ที่จะให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ รู้ความปริวิตกในใจของท่านพระ อนุรุทธะด้วยใจ จึงไปปรากฏในที่เฉพาะหน้าท่านพระอนุรุทธะเหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ถามท่านพระอนุรุทธะว่า ดูกร ท่านอนุรุทธะ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ภิกษุจึงจะชื่อว่าปรารภ สติปัฏฐาน ไม่น่าที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะจะถามท่านพระอนุรุทธะ แต่ท่านถามเพื่อให้เห็นว่า เป็นพระอรหันต์ที่ถามพระอรหันต์ เป็นคำตอบที่พระอรหันต์ตอบพระอรหันต์ ซึ่งไม่น่าจะถามเลย แต่เพื่อที่ให้ผู้ฟังในภายหลังไม่เข้าใจผิด ไม่คลาดเคลื่อน เพราะฉะนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็ได้ถามพระอนุรุทธะว่า ดูกร ท่านอนุรุทธะ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ภิกษุจึงจะชื่อว่า ปรารภสติปัฏฐาน ดีใช่ไหม เพราะว่าจะได้ทราบว่า ใครเจริญสติปัฏฐาน ใครไม่เจริญสติปัฏฐานผู้ใดปรารภสติปัฏฐาน ผู้ใดไม่ปรารภสติปัฏฐาน ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า
ดูกร ผู้มีอายุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกาย ในภายในอยู่ พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมไปในกาย ในภายในอยู่ พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นและเสื่อมไปในกาย ในภายในอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 3
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 4
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 5
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 6
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 7
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 8
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 9
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 10
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 11
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 12
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 13
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 14
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 15
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 16
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 17
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 18
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 19
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 20
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 21
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 22
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 23
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 24
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 25
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 26
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 27
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 28
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 29
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 30
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 31
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 32
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 33
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 34
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 35
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 36
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 37
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 38
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 39
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 40
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 41
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 42
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 43
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 44
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 45
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 46
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 47
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 48
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 49
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 50
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 51
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 52
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 53
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 54
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 55
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 56
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 57
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 58
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 59
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 60