แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 44
ครั้งที่ ๔๔
ภิกษุมากด้วยกัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้ มีชื่อว่าเถระ มีปกติอยู่คนเดียว และมีปกติกล่าวสรรเสริญการอยู่คนเดียว
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งมา แล้วรับสั่งให้ไปบอกภิกษุชื่อเถระ ว่าพระศาสดารับสั่งให้หา
เมื่อท่านพระเถระไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่าน พระเถระว่า เป็นความจริงดังที่ภิกษุทั้งหลายกล่าวหรือ ซึ่งพระเถระก็กราบทูลว่า จริง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร เถระ การอยู่คนเดียวนี้ มีอยู่ เราจะกล่าวว่าไม่มีก็หาไม่ เถระ อนึ่ง การอยู่คนเดียวของเธอย่อมเป็นอันบริบูรณ์ โดยพิสดารกว่าด้วยประการใด เธอจงฟังโดยประการนั้น จงทำไว้ในใจให้ดี เราจักกล่าว
ท่านพระเถระทูลรับพระผู้มีพระภาค แล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังต่อไปนี้
ดูกร เถระ ก็การอยู่คนเดียว ย่อมเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารกว่าอย่างไรในข้อนี้ สิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละได้แล้ว สิ่งใดยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็สละคืนได้แล้ว ฉันทราคะในการได้อัตภาพที่เป็นปัจจุบัน ถูกกำจัดแล้วด้วยดี การอยู่คนเดียวย่อมเป็นอันบริบูรณ์ โดยพิสดารกว่าอย่างนี้แล
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
เราย่อมเรียกนรชนผู้ครอบงำขันธ์ อายตนะ ธาตุ และไตรภพทั้งหมดได้ ผู้รู้ทุกข์ทุกอย่าง ผู้มีปัญญาดี ผู้ไม่แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง ผู้ละสิ่งทั้งปวงเสียได้ ผู้หลุดพ้นในเพราะนิพพาน เป็นที่สิ้นตัณหา ว่าเป็นผู้มีปกติอยู่คนเดียว ดังนี้
นี่ก็แสดงให้เห็นฉันทะต่างๆ ของท่านพระภิกษุในครั้งโน้น และแม้บุคคลในครั้งนี้ว่า เป็นผู้มีปกติต่างๆ กัน ไม่เหมือนกัน สำหรับพระภิกษุรูปนี้ ท่านอยู่ผู้เดียวตลอดเวลา เวลาที่ท่านไปบิณฑบาตก็ไปผู้เดียว เดินกลับก็เดินผู้เดียว นั่งอยู่ในที่ลับก็อยู่ผู้เดียว จงกรมก็จงกรมผู้เดียว เป็นสาเหตุให้พระภิกษุมากรูปด้วยกันไปเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเองเป็นผู้ที่รู้แจ้งอัธยาศัยของสัตว์โลกทั้งปวง เพราะฉะนั้น พระองค์มิได้ทรงเห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะกระทำ หรือว่าควรจะกระทำตามเหมือนๆ กันไปหมด แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร เถระ การอยู่คนเดียวนี้ มีอยู่ เราจะกล่าวว่าไม่มีก็หาไม่
เพราะเหตุว่า เป็นอัธยาศัยของแต่ละบุคคล ผู้ที่ต้องการอยู่คนเดียวตามลำพังก็คงจะมีเป็นปกติ เป็นฉันทะ เป็นอัธยาศัยของผู้นั้นจริงๆ แต่ถ้าผู้อื่นไม่มีฉันทะ ไม่มีอัธยาศัยอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ว่าในการเจริญสติปัฏฐานนั้น จะต้องไปฝืนทำตาม ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะไม่ไช่เป็นผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว แต่จะเป็นผู้ที่อยู่ผู้เดียวด้วยความต้องการ ด้วยความเข้าใจผิด ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเป็นเช่นนั้น
พระผู้มีพระภาคยังได้ทรงแสดงธรรมต่อไปว่า
การอยู่คนเดียวของเธอ ย่อมเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารกว่า ด้วยประการใด เธอจงฟังประการนั้น
การอยู่คนเดียว ไม่ใช่หมายความว่า จะมีประโยชน์เท่าเทียมกันเสมอ บางคนอยู่คนเดียวแล้วทำอะไรบ้าง เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นโมหะบ้าง ทั้งๆ ที่อยู่คนเดียว อยู่ที่นั่นแหละ แต่ว่าใจไปแสนไกล ไปที่อื่นได้สารพัดด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ
เพราะฉะนั้น การอยู่ผู้เดียวนั้น ย่อมเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารกว่า ด้วยประการใด พระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านพระเถระได้ทราบว่า
การอยู่คนเดียวย่อมเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารกว่าอย่างไร ในข้อนี้
สิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละได้แล้ว
สิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็สละคืนได้แล้ว
ฉันทราคะในการได้อัตภาพที่เป็นปัจจุบัน ถูกกำจัดแล้วด้วยดี
การอยู่คนเดียว ย่อมเป็นอันบริบูรณ์ โดยพิสดารกว่าอย่างนี้แล
เป็นการเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า พยัญชนะที่ว่า สิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละได้แล้ว สิ่งใดยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็สละคืนได้แล้ว ฉันทราคะในการได้อัตภาพที่เป็นปัจจุบัน ถูกกำจัดแล้วด้วยดี
ถ้าไม่เจริญสติ ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏว่า เป็นแต่เพียงนามและรูปที่เกิดขึ้นแล้วก็หมดไปเท่านั้นเอง ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ สิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นจะละแล้วไหม ก็ยังมีเยื่อใยผูกพันเอามาเชื่อมโยงติดต่อเป็นตัวตน ไม่ใช่เป็นแต่เพียงนามแต่ละชนิด รูปแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นปรากฏ แล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น การที่จะละได้ ก็ต้องหมายความว่า มีสติรู้ลักษณะของสิ่งที่ล่วงไปแล้วก็ละได้แล้ว ด้วยการที่ไม่ยึดถือว่า เป็นตัวตน ไม่เชื่อมโยงติดต่อที่จะทำให้เห็นผิด เข้าใจผิด และเมื่อเข้าใจถูกอย่างนี้ ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็สละคืนได้แล้ว ไม่ผูกพันต้องการปรารถนา
ขณะนี้บางท่านก็กำลังนั่งอยู่ที่นี่ มีนาม มีรูปที่กำลังปรากฏ แล้วความจริงนามรูปนั้นก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าท่านยังไม่ได้พิจารณานามและรูปที่กำลังปรากฏ ไม่เห็นชอบตามลักษณะของนามและรูป ตามความเป็นจริงแล้ว ท่านหวังอะไรบ้างไหม ท่านคอยอะไรบ้างไหม คอยความสงบไหม หวังความสงบไหม หวังจะไปที่โน่น ที่นี่เพื่อที่จะได้เจริญสมาธิ สติปัฏฐานอะไรบ้างไหม ทั้งๆ ที่ในขณะนี้ สิ่งใดที่เกิดขึ้น สิ่งนั้นก็ดับไป ถ้าไม่รู้ความจริงอันนี้ก็ไม่ละ ทั้งสิ่งที่หมดไปแล้ว และสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ยังคงต้องการอยู่เรื่อยๆ แล้วไม่ใช่การเจริญสติที่จะรู้สภาพลักษณะของนามและรูป ที่เป็นปกติตามความเป็นจริง ถ้ารู้ตามความเป็นจริงแล้ว ก็ต้องรู้ตามปกติที่กำลังเป็นจริงๆ
และพยัญชนะที่ว่า ฉันทราคะในการได้อัตภาพที่เป็นปัจจุบัน ถูกกำจัดแล้วด้วยดี ตัณหาอดีตละได้ไหม ในชาติก่อนเกิดแล้ว แล้วก็หมดไปแล้ว ดับไปแล้ว เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้มีนามมีรูปที่กำลังปรากฏ ในภพนี้ ในชาตินี้ เพราะฉะนั้น เมื่อนามและรูปกำลังปรากฏ ไม่ละความยินดี ไม่ละความพอใจ ไม่ละอภิชฌา ความเพ่งเล็งในนามและรูปที่กำลังปรากฏ ก็ไม่ได้ละตัณหา ไม่ได้ละฉันทราคะในอัตภาพที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อไม่ได้ละฉันทราคะ ไม่ได้ละตัณหา ไม่ได้ละความพอใจในนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ภพชาติข้างหน้าก็ยังต้องมีต่อไป เพราะเหตุว่าความต้องการนามและรูปที่กำลังเป็นอยู่ มีอยู่ในชาตินี้ เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดภพชาติต่อๆ ไปข้างหน้า
เพราะฉะนั้น ที่จะดับภพชาติต่อๆ ไปข้างหน้า ก็จะต้องละความยินดีความพอใจในนามและรูปที่กำลังปรากฏในชาตินี้
นี่เป็นการเจริญสติ ถ้าท่านไม่ได้เจริญสติ ปัญญาไม่สมบูรณ์ขึ้นเป็นขั้นๆ จะไม่ทราบว่า ท่านละฉันทราคะ หรือละตัณหา ละสมุทัยสัจขณะไหน เมื่อไร อย่างไร แต่ถ้าขณะใดไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ ไม่ละคลายความยินดีพอใจ จดจ้องในนามและรูปที่กำลังปรากฏ เมื่อนั้นไม่ชื่อว่าละสมุทัย เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาเพิ่มขึ้น เพื่อละคลายความไม่รู้ ความที่เคยจดจ้องในนามและรูป
ลักษณะของการจดจ้องนั้น เป็นลักษณะของตัณหา ไม่ควรเจริญ แต่ที่จะละได้ก็ต้องมีปัญญาเพิ่มขึ้น ซึ่งเวลาที่เริ่มเจริญสติ ถ้าสังเกต จะรู้ว่า ยังมีความเป็นตัวตนในขณะที่กำลังพิจารณานามใดรูปใดก็ตาม ในตอนแรกๆ ความรู้สึกว่าเป็นตัวตนยังไม่หมดแน่นอน เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่ได้รู้ลักษณะของนามและรูปโดยทั่ว โดยตลอด ท่านเพียงเพิ่งเริ่มเจริญสติ มีการระลึกได้ รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ ปัญญากำลังพิจารณา เพื่อรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปนั้น
เพราะฉะนั้น ความรู้สึกที่ว่าเป็นตัวตนที่กำลังพิจารณาอยู่นั้น ยังจะต้องมีอยู่ ซึ่งการรู้สึกว่าเป็นตัวตนที่กำลังพิจารณานั้นจะหมดไปได้เมื่อไร อย่างไร ไม่ใช่มีผู้หนึ่งผู้ใดไปบังคับให้หมดได้ แต่หมายความว่า ปัญญาที่พิจารณา รู้ลักษณะของนามและรูปเพิ่มขึ้น มากขึ้น ทั่วขึ้น ชัดขึ้น จะละการที่เคยยึดถือว่า แม้ขณะที่สติเกิดขึ้นพิจารณานามและรูปนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามชนิดหนึ่งเท่านั้น ความเป็นตัวตนจะคลาย น้อยลง ลดลงทุกที และการรู้ลักษณะของนามและรูปชัดตามปกติก็มีเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่เป็นลักษณะของการจดจ้อง ไม่ใช่เป็นลักษณะของการจงใจ ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น ไม่ละตัณหาซึ่งเป็นสมุทัย ไม่ได้ละฉันทราคะในการได้อัตภาพที่เป็นปัจจุบัน เพราะเหตุว่าอัตภาพที่เป็นปัจจุบัน ก็คือทุกๆ ขณะที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังได้กลิ่น ที่กำลังคิดนึก ที่กำลังเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง นี่เป็นอัตภาพในปัจจุบัน
ฉันทราคะในการได้อัตภาพที่เป็นปัจจุบัน ถูกกำจัดแล้วด้วยดี
นี่คือพยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระเถระ และพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงอนุเคราะห์ต่อไปอีก ด้วยการตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
เราย่อมเรียกนรชนผู้ครอบงำขันธ์ อายตนะ ธาตุ และไตรภพทั้งหมดได้ ผู้รู้ทุกข์ทุกอย่าง ผู้มีปัญญาดี ผู้ไม่แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง ผู้ละสิ่งทั้งปวงเสียได้ ผู้หลุดพ้นในเพราะนิพพาน เป็นที่สิ้นตัณหา ว่าเป็นผู้มีปกติอยู่คนเดียว ดังนี้
ปกติอยู่คนเดียวของพระผู้มีพระภาคกับของบุคคลอื่นนั้นก็ต่างกัน ด้วยพยัญชนะนี้ เพราะเหตุว่า สำหรับผู้อื่นเพียงแต่การอยู่คนเดียว แล้วก็เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นโมหะบ้างนั้น ไม่ใช่การอยู่คนเดียวที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในที่นี้ เพราะเหตุว่าถ้ายังมีโลภะอยู่ ชื่อว่า มีเพื่อนสอง ไม่ได้อยู่คนเดียว โลภะทำให้เกิดความพอใจ ทำให้แสวงหาทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ไม่ในอารมณ์นั้น ก็ในอารมณ์นี้ แม้ในขณะที่ท่านคิดว่า ท่านเจริญสติ แต่ถ้าท่านยังมีความพอใจ มีความต้องการในนามรูปชนิดหนึ่งชนิดใด ในที่นั้นก็ไม่ใช่อยู่คนเดียวแล้ว เป็นผู้ที่มีเพื่อนสองที่ชักนำให้ท่านพอใจนามนั้นบ้าง รูปนี้บ้าง
เพราะฉะนั้น ที่ชื่อว่า เป็นผู้มีปกติอยู่คนเดียว ก็คือ นรชนผู้ครอบงำขันธ์ อายตนะ ธาตุ และไตรภพทั้งหมดได้
ขันธ์ไม่ได้อยู่ที่อื่น ขณะนี้มีทั้งรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ และเมื่อไรจะครอบงำขันธ์ได้ ถ้าไม่รู้ลักษณะของขันธ์ตามความเป็นจริง ก็ย่อมหลงไปตามขันธ์
ขณะที่เห็น ไม่รู้ลักษณะของสภาพที่เห็นตามความเป็นจริง ว่าเป็นเพียงสภาพรู้เท่านั้น ก็ย่อมหลงไปตามขันธ์ เป็นเราเห็น เวลาที่สีปรากฏทางตา เมื่อไม่รู้ลักษณะสภาพของรูปขันธ์ที่ปรากฏตามความเป็นจริง ก็หลงไปตามขันธ์ เพลิดเพลินไปเป็นไปกับขันธ์นั้นๆ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะครอบงำขันธ์ อายตนะ ธาตุ และไตรภพทั้งหมดได้นั้น ก็ต้องเป็นผู้รู้ลักษณะของขันธ์ตามความเป็นจริงพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เราย่อมเรียกนรชนผู้ครอบงำขันธ์ อายตนะ ธาตุ และไตรภพทั้งหมดได้ ผู้รู้ทุกข์ทุกอย่าง
รูปเป็นทุกข์ไหม นามเป็นทุกข์ไหม ทางตา สีเป็นทุกข์ไหม เห็นเป็นทุกข์ไหม ทางหู เสียงเป็นทุกข์ไหม ได้ยินเป็นทุกข์ไหม ทางจมูก กลิ่นเป็นทุกข์ไหม จิตที่รู้กลิ่นเป็นทุกข์ไหม ทางลิ้น รสเป็นทุกข์ไหม สภาพที่รู้รสเป็นทุกข์ไหม ทางกาย เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง ไหวที่ปรากฏเป็นทุกข์ไหม จิตที่รู้เย็นร้อนอ่อนแข็งเคร่งตึงไหวนั้น เป็นทุกข์ไหม สภาพที่คิดนึกเป็นสุข เป็นทุกข์ ต่างๆ นั้น เป็นทุกข์ไหม
ผู้ที่จะครอบงำขันธ์ อายตนะ ธาตุ และไตรภพทั้งหมดได้ ผู้รู้ทุกข์ทุกอย่าง
จำกัดหรือเปล่าว่า จะต้องรู้ทุกข์เฉพาะรูปนั้น เฉพาะนามนี้ ไม่ได้จำกัดเลย แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้รู้ทุกข์ทุกอย่าง แล้วก็ยังมีพยัญชนะต่อไปว่า
ผู้มีปัญญาดี
ไม่ใช่รู้โดยการคาดคะเน โดยการนึกเดา หรือว่าโดยการฟัง แต่ว่าเป็นผู้รู้ทุกข์ทุกอย่าง
ผู้มีปัญญาดี ผู้ไม่แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง ผู้ละสิ่งทั้งปวงเสียได้ ผู้หลุดพ้นในเพราะนิพพาน เป็นที่สิ้นตัณหา ว่าเป็นผู้มีปกติอยู่คนเดียว ดังนี้
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. ไม่ได้เจาะจง มหาสติปัฏฐานมี ๔ ทั้ง ๔ เป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่เจาะจง แล้วผู้ที่จะครอบงำขันธ์ อายตนะ ธาตุ และไตรภพทั้งหมดได้ เป็นผู้รู้ทุกข์ทุกอย่าง ไม่ใช่เฉพาะบางนามบางรูป เป็นผู้รู้ทุกข์ทุกอย่าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า ท่านพระองคุลีมาลเจริญสติปัฏฐานไหน ทำไมจึงถามว่าเจริญสติปัฏฐานไหน ในเมื่อสติปัฏฐานมี ๔ ท่านพระองคุลีมาลมีตาไหม มีหูไหม มีจมูกไหม มีกายไหม มีใจไหม แล้วทำไมจะให้ท่านพระองคุลีมาลเจริญเฉพาะสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใด เพราะเหตุว่าผู้ที่จะละได้ เป็นผู้ที่รู้ทุกข์ทุกอย่าง เพราะเหตุว่าสติปัฏฐานมี ๔ ระลึกได้ในขณะใด สติก็รู้สภาพของกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม หรือโดยย่อ นามและรูปที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง คือ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ท่านพระอานนท์ก็เหมือนกัน บางคนก็ได้ฟังพยัญชนะที่ว่า ท่านบรรลุอรหัตตมรรค อรหัตตผล ไม่ใช่ในอิริยาบถนั่ง นอน ยืน เดิน แต่เป็นระหว่างอิริยาบถนั่งกับนอน ก็เลยคิดว่า ท่านพระอานนท์นั้นเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมือนเวลานี้ทุกคนกำลังนั่ง รูปทรงอยู่ในลักษณะอาการที่บัญญัติใช้คำว่า “นั่ง” แต่ว่าสติจะระลึกรู้นาม หรือรูปทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ
สติปัฏฐานมี ๔ ไม่ได้เจาะจงว่า จะต้องเจริญเฉพาะสติปัฏฐานนั้น แต่ที่จะรู้ทั่วและละได้นั้น ต้องรู้หมดไม่สงสัย พระโสดาบันบุคคลละวิจิกิจฉานุสัยในลักษณะของนามและรูปทั้งปวง แต่ไม่ใช่หมายความว่า เมื่ออยู่ในอิริยาบถใด ก็คิดว่าท่านจะต้องเจริญอิริยาบถบรรพ หรือว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
การอยู่คนเดียวคงเกี่ยวเนื่องกับอาวาสปลิโพธ หรือท่านที่เคยเข้าใจว่า ถ้าไม่อยู่ผู้เดียวแล้ว เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ จะได้เข้าใจให้ถูกต้องว่า การที่มีปกติอยู่คนเดียวนั้น ไม่ใช่ครั้งคราว แต่ต้องเป็นปกติของผู้นั้นจริงๆ เช่น ท่านพระเถระ เป็นต้น ซึ่งพระภิกษุรูปอื่นก็เห็นว่า ท่านพระเถระนั้นเป็นผู้มีปกติเช่นนั้น ไม่เหมือนภิกษุอื่นๆ ซึ่งภิกษุอื่นๆ ก็เจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ไม่เจริญ แต่ถึงกระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ยังทรงแสดงธรรมกับท่านพระเถระว่า การอยู่คนเดียวนั้นเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารกว่าด้วยประการใด ไม่ใช่เพียงอยู่เฉยๆ แต่ว่าจะต้องรู้ว่า สิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละได้แล้ว สิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็สละคืนได้แล้ว
ถ้าฟังพยัญชนะนี้ บางท่านอาจจะคิดว่า พระผู้มีพระภาคสั่งให้ท่านพระเถระละ อย่าไปติดไปข้อง สิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว ก็ให้ละเสีย สิ่งใดที่ยังมาไม่ถึง ก็สละคืนเสีย แต่ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดมีอำนาจให้ใครละความติดข้องได้เลย แต่พยัญชนะสั้นๆ นี้ ท่านก็ทำให้เข้าใจการเจริญปัญญา เพื่อละความที่เคยยึดถืออัตภาพในปัจจุบันนี้ด้วย
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 3
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 4
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 5
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 6
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 7
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 8
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 9
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 10
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 11
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 12
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 13
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 14
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 15
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 16
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 17
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 18
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 19
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 20
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 21
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 22
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 23
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 24
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 25
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 26
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 27
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 28
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 29
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 30
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 31
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 32
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 33
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 34
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 35
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 36
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 37
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 38
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 39
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 40
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 41
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 42
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 43
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 44
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 45
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 46
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 47
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 48
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 49
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 50
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 51
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 52
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 53
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 54
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 55
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 56
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 57
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 58
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 59
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 60