แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 49
ครั้งที่ ๔๙
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
การที่บุรุษมีกำลัง จับมัด เอาเท้าขึ้น เอาหัวลง โยนลงในหม้อเหล็กแดง ไฟกำลังลุกโชติช่วง ผู้นั้นถูกไฟเผาเดือดดุจฟองน้ำ ในหม้อเหล็กแดงนั้น บางครั้งลอยขึ้นข้างบน บางครั้งจมลงข้างล่าง บางครั้งลอยไปขวางๆ กับการบริโภควิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล ไหนจะดีกว่ากัน
ภิกษุก็กราบทูลอย่างเดิม พระผู้มีพระภาคก็ประทานโอวาทอย่างเดิม แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ของชนเหล่าใด ปัจจัยของชนเหล่านั้น จักมีผลมาก มีอานิสงส์มาก และการบรรพชาของเราทั้งหลาย จักไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล อนึ่ง เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ตน ควรแท้ทีเดียวที่จะให้ประโยชน์นั้นสำเร็จด้วยความไม่ประมาท เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ผู้อื่น ก็ควรแท้ทีเดียว ที่จะให้ประโยชน์นั้นสำเร็จด้วยความไม่ประมาท หรือเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ทั้งสองก็ควรแท้ทีเดียวที่จะให้ประโยชน์ทั้งสองนั้นสำเร็จด้วยความไม่ประมาท
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยกรณภาษิตนี้จบลงแล้ว และเมื่อกำลังตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ โลหิตร้อนพุ่งออกจากปากของภิกษุ ๖๐ รูป ภิกษุ ๖๐ รูปลาสิกขา สึกมาเป็นคฤหัสถ์ ด้วยกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ทำได้ยาก ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ทำได้แสนยาก
อีก ๖๐ รูป จิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น
เป็นพระมหากรุณาหรือเปล่าที่ตรัสถึงโทษภัยต่างๆ ซึ่งยังไม่ใช่นรก เปรียบเทียบให้ฟัง แต่ให้ทราบว่า ถ้ายังไม่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคลแล้วก็แล้วแต่กรรมที่ได้ทำไว้แล้วนั้นจะทำให้ไปเกิดในที่ใด ถ้าเป็นอกุศลกรรม ก็ไปอบายภูมิแน่นอน นอกจากท่านที่เจริญสติ แล้วก็บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล
ในประโยคที่ว่า เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ตน ควรแท้ทีเดียวที่จะให้ประโยชน์นั้นสำเร็จด้วยความไม่ประมาท
ประโยชน์ของตนคืออะไร คือการที่จะไม่ต้องไปในอบายภูมิ ด้วยการเจริญปัญญา เจริญสติ หรือว่าเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ผู้อื่น ก็ควรแท้ทีเดียวที่ให้ประโยชน์นั้นสำเร็จด้วยความไม่ประมาท
ควรจะชักชวนให้ผู้อื่นเห็นประโยชน์ของการเจริญสติ แล้วก็ให้ผู้นั้นได้มีโอกาสเจริญสติด้วยความไม่ประมาทด้วย
เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ทั้งสอง คือทั้งประโยชน์ของตนเองด้วย ประโยชน์ผู้อื่นด้วย ก็ควรแท้ทีเดียว ที่จะให้ประโยชน์ทั้งสองนั้นสำเร็จด้วยความไม่ประมาท
ในการเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเข้าใจถูกต้องจะไม่มีปัญหา จะละความต้องการผลมาก โดยพยายามไปบังคับสติบ้าง หรือว่าเป็นการเจริญสติปัฏฐานแบบสมาธิบ้าง เพราะเหตุว่าปัญญาเป็นการละ ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานถูกต้องจะละตั้งแต่ในเบื้องต้น ไม่คิดหวังต้องการที่จะไปสร้าง หรือว่าไปบังคับให้เป็นสมาธิ จดจ้องเพื่อจะให้รู้ลักษณะของนามและรูป การเกิดดับ บรรลุอริยสัจธรรม แต่เป็นการละความต้องการที่ไม่สมควรแก่เหตุไม่สมควรแก่ผล ด้วยการมีสติ ไม่หลงลืมสติ แล้วมีปัญญาพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปเพิ่มมากขึ้น จึงจะละความไม่รู้ได้
ถ. อย่างสิ่งที่เราเห็น แต่ไม่อยากจะดู เป็นการกดธรรมไว้ใช่ไหม บังคับไว้ใช่ไหม เป็นตัวตนใช่ไหม
สุ. กำลังเห็น เห็นแล้ว บังคับได้ไหม ไม่ให้เห็นได้ไหม กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ก็คือเห็นแล้ว บังคับไม่ได้ เจริญสติระลึกได้ไหม ว่าสภาพที่กำลังเห็นนี้ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ระลึกอย่างนี้ได้ไหม การระลึกรู้อย่างนี้เป็นสติ แล้วปัญญาก็รู้ว่า ที่กำลังเห็นนี้ก็เป็นแต่เพียงสภาพรู้เท่านั้น เป็นการค่อยๆ คลาย ค่อยๆ ละทีละน้อย น้อยมาก แต่ว่าเป็นปัญญา รู้อย่างนี้เป็นปัญญาในขณะที่มีสติระลึกได้ ไม่ใช่เป็นปัญญาที่คิด แต่เป็นปัญญาในขณะที่กำลังเห็น แล้วก็มีการระลึกรู้ว่า เป็นสภาพที่รู้ทางตา หรือว่าเป็นสภาพรู้อย่างหนึ่งเท่านั้น ทีละเล็กทีละน้อยเพื่อละความไม่รู้ ไม่ใช่ทำอย่างอื่นเลย จนกว่าจะรู้ชัด และการรู้ชัดนี้รู้ไม่คลาดเคลื่อนจากปกติ
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. ยังไม่ใช่การเจริญสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป นั่นเป็นพียงแต่การคิดนึก
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน เป็นการนึกไปในเรื่องของธรรมเท่านั้นเอง เพราะเหตุว่าการที่จะรู้ถูกตามความเป็นจริง ทางตากำลังมี ความจริงคืออะไร ในขณะนี้มีลักษณะอย่างไร เห็นเป็นของที่มีจริง ต้องรู้ว่าสภาพที่กำลังเห็น ที่กำลังเห็นปกติเป็นสภาพรู้ ส่วนสีสันวรรณะต่างๆ ก็เป็นของจริง ไม่ใช่ไม่จริง เพราะฉะนั้น เวลาที่มีสติระลึกก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง หมดไปแล้ว รถยนต์สวยก็ผ่านไปแล้ว คนเมื่อกี้นั่งอยู่กันมากมายก็หมดไปแล้ว เพราะเหตุว่าจิตระลึกถึงสิ่งใด หรือว่าสิ่งใดกำลังเกิดต่อ ก็หมายความว่า สภาพเมื่อครู่นี้ต้องหมดไป ดับไปเสียก่อน
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. ในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ นั่นเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่การพิจารณาว่า ธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง โดยที่ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ และกำลังไม่เที่ยง ทางตาก็กำลังไม่เที่ยง ทางหูก็กำลังไม่เที่ยง ทางจมูกก็กำลังไม่เที่ยง ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็กำลังไม่เที่ยง แต่ว่าผู้เจริญสติมีการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทีละอย่าง แล้วก็ไม่จำกัด ไม่เจาะจง เพราะเหตุว่าจะต้องรอบรู้ รู้ทั่ว จึงจะละความไม่รู้ได้
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. แน่นอนค่ะ ถ้าปัญญาไม่รู้ อะไรจะละ ไม่มีตัวตนที่ไปละ แต่ว่าปัญญามีกิจละ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง เข้าใจถูกต้องก็ละความเห็นผิดที่เกิดจากการไม่เคยได้ฟัง หรือว่าเคยเข้าใจผิดได้
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. อายตนะทั้ง ๖ ที่กำลังเห็นนี้ ระลึกรู้กำลังเห็น ไม่ใช่นึกถึงชื่ออายตนะ
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. ละทุกขณะที่รู้ ละไปทีละน้อยๆ เพิ่มความสมบูรณ์ขึ้นเป็นขั้นๆ
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. อย่างนั้นยาวเหลือเกิน ลักษณะของนามและรูปก็ดับไปทุกๆ ขณะ โดยที่ไม่ได้รู้ชัด เพราะว่ากำลังคิด ให้รู้ที่ลักษณะที่กำลังปรากฏ ถ้าลักษณะนั้นเป็นสภาพเย็น ก็รู้ว่าเป็นเพียงสภาพเย็นเท่านั้น ต่อไปเย็นอีกก็ระลึกรู้ วันหนึ่งๆ ก็มีเย็นบ้าง ร้อนบ้าง เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. ทุกท่านมักจะคิดว่า ห้ามคิด ห้ามไม่ได้เลย พอเห็นก็คิด เย็นกระทบรู้สึกตัวก็คิดต่อไป ไม่ได้ห้ามไม่ให้คิด แต่ให้ทราบว่า การคิดก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ลักษณะที่รู้เย็น ไม่ใช่ลักษณะที่ได้ยิน ถ้าวันหนึ่งๆ ได้ยิน แล้วก็ระลึกได้ พิจารณารู้ลักษณะของได้ยินหรือเสียง เห็นตามความเป็นจริงว่า ทั้ง ๒ อย่างนั้นมีลักษณะต่างกัน ในขณะที่ระลึกได้ อาจจะคิดละ ไม่ห้าม เพราะเหตุว่าความคิดก็เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย แต่ผู้ที่เจริญสติต้องละเอียดที่จะต้องรู้ว่า ขณะที่คิด ไม่ใช่ได้ยิน
ลักษณะที่ได้ยินก็อย่างหนึ่ง ลักษณะที่คิดเรื่องที่ได้ยินก็อีกอย่างหนึ่ง คิดก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน แต่คิดไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. ถ้าคิดว่าเป็นปัจจัย ก็เป็นตัวตนที่กำลังคิด ไม่ได้รู้ลักษณะจริงๆ ของแต่ละอย่าง
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. มีหลายอย่าง คือฟังเข้าใจ แต่เวลาเจริญสติจริงๆ งง เพราะว่าความเป็นตัวตนมากมายทีเดียว ผู้ที่เจริญสติเป็นปกติ ไม่หวั่นไหวในอารมณ์ที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การละการคลายก็มีมากขึ้น แต่ว่าอารมณ์ที่กำลังปรากฏไม่ผิดปกติ อารมณ์เป็นปกติเหมือนทุกๆ วัน แต่ปัญญาที่รู้ชัดก็เพิ่มแล้วก็คลายการที่เคยไปยึดถือการที่จะไปจับจ้องจดจ้อง ในขณะนั้นเป็นลักษณะของความต้องการ เมื่อไม่จับจ้องไม่จดจ้อง สภาพของนามรูปแต่ละชนิดก็ปรากฏอย่างรวดเร็วตามสภาพของนามและรูปนั้นๆ และปัญญานั้นก็รู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของนามและรูปแต่ละขณะ ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน จึงจะเป็นการคลายมากขึ้น
ถ. สติถ้าไม่เจริญ จะเกิดได้ไหม
สุ. สติเป็นตัวตนหรือเปล่า มีเหตุปัจจัยให้สติเกิดไหม คนที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังเลย บรรดาเดียรถีย์ปริพาชกในครั้งพุทธกาลที่ไม่เคยได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาค กับบรรดาสาวกที่ได้ฟัง บุคคลใดเจริญสติ บุคคลใดไม่เจริญสติ ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่มีอะไรเป็นเครื่องกั้น แล้วสติที่เป็นสัมมาสติก็จะเกิด
สำหรับลาภปลิโพธนั้น แสดงไว้ว่า
ปัจจัย ชื่อว่า ลาภ สำหรับฆราวาสนั้นก็จะต้องมีปัจจัย ซึ่งจำเป็นต้องใช้อยู่ตามปกติในชีวิตประจำวัน แล้วก็แสวงหาปัจจัย สำหรับฆราวาสที่จะให้ชีวิตดำเนินเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น บางท่านก็คิดว่า การงาน ธุรกิจต่างๆ การประกอบอาชีพนั้นจะเป็นปลิโพธ ซึ่งความจริงแล้ว สำหรับปลิโพธ ๑๐ ประการนั้น ปลิโพธ ๙ ประการ เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสมถะ แต่ไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนา ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใด มีจิตประเภทใดเกิดขึ้น ก็เป็นของจริงที่ทำให้สติระลึกรู้สภาพนั้นตามความจริงได้ เพราะเหตุว่าถ้าท่านคิดว่า ชีวิตของฆราวาสนั้นการประกอบอาชีพเป็นเครื่องขัดขวาง เพราะเหตุว่าท่านจะต้องแสวงหาปัจจัยแล้ว ถึงท่านจะละอาคารบ้านเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต ก็ไม่ใช่ว่าท่านจะไม่อาศัยปัจจัย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะต้องมีการเสพปัจจัย มีการใช้ปัจจัย แต่การแสวงหาของฆราวาสกับบรรพชิตนั้นไม่เหมือนกัน
สำหรับภิกษุ ปัจจัยจะเป็นปลิโพธแก่ท่านได้อย่างไร นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าคิด เพราะเหตุว่าท่านก็ได้ละอาคารบ้านเรือน ละปัจจัยในลักษณะของฆราวาสไปหมดสิ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนุ่งห่ม อาหาร แต่ผู้ใดก็ตามที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ย่อมมีปลิโพธเครื่องกังวล
สำหรับเครื่องกังวลของภิกษุที่เป็นลาภปลิโพธนั้น ก็คือความที่ท่านมีใจติดข้องในลาภ หรือในปัจจัยที่คนทั้งหลายเอามาถวาย เมื่อมีคนเอาปัจจัยมาถวายแล้ว ท่านก็มีกิจที่จะต้องอนุโมทนาบ้าง แสดงธรรมบ้าง ถ้าเป็นภิกษุที่มีชื่อเสียงก็ยิ่งมีผู้คนที่ต้องการจะติดต่อพบปะ ตั้งแต่อรุณขึ้นจนกระทั่งถึงปฐมยาม ท่านก็มีการเกี่ยวข้องกับคนไม่ขาดสาย หรือว่าบางทีบุคคลก็มาบอกว่า อุบาสกผู้นั้น อุบาสิกาผู้นั้น อำมาตย์ผู้นั้น บุตรอำมาตย์ผู้นั้น ธิดาอำมาตย์ผู้นั้นใคร่ที่จะเห็น ใคร่ที่จะพบ ใคร่ที่จะได้ฟังธรรม ซึ่งท่านก็เป็นผู้ที่มีจิตอนุเคราะห์ เมื่อเห็นว่า บุคคลเหล่านั้นมีจิตเป็นกุศล ต้องการความอนุเคราะห์ ท่านก็ย่อมจะขัดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็มีการเกี่ยวข้องในลาภหรือปัจจัย โดยที่ถึงแม้ว่าท่านเองจะเป็นผู้ที่ไม่ติดไม่ข้องในลาภในปัจจัยก็จริง แต่ถึงกระนั้นบุคคลอื่นก็ย่อมต้องการที่จะได้พบปะ หรือได้ฟังธรรม ต้องการจะถวายวัตถุปัจจัยต่างๆ ทั้งๆ ที่ท่านเหล่านั้นเอง ก็อาจจะเป็นผู้ที่ไม่ติดในลาภ แต่ความมีจิตอนุเคราะห์ก็อาจจะทำให้ท่านต้องใช้เวลาติดต่อเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น
สำหรับการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่เป็นเครื่องขัดขวาง เพราะเหตุว่าเป็นชีวิตจริง ของผู้นั้น ผู้นั้นก็ย่อมสามารถที่จะเจริญสติรู้ลักษณะของนามและรูปเพิ่มขึ้นมากขึ้นได้ แต่ถ้าต้องการเจริญสมาธิ ต้องการที่จะเจริญฌานแล้ว ภิกษุเช่นนั้นก็จะต้องจาริกไปผู้เดียวในถิ่นที่ไม่มีใครรู้จัก เพราะเหตุว่าถ้าไปในถิ่นที่มีผู้รู้จัก ก็ต้องมีความเกี่ยวข้องกังวลกับบุคคลอื่น แล้วไม่สามารถที่จะเจริญสมาธิ ให้ถึงความสงบขั้นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิได้
ด้วยเหตุนี้ท่านจึงควรได้ทราบว่า ไม่ว่าจะเป็นลาภปลิโพธ ความกังวลในปัจจัย ในลาภนั้นเป็นเครื่องขัดขวางเฉพาะภิกษุที่จะเจริญสมาธิเท่านั้น ไม่เป็นเครื่องขัดขวางสำหรับการเจริญสติปัฏฐาน
สำหรับวันนี้ก็จะได้กล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า ลาภปลิโพธ ไม่เป็นเครื่องกั้นของการเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าท่านที่เห็นโทษของกิเลส แล้วก็ละอาคารบ้านเรือนออกบวชเป็นบรรพชิตแล้วนั้น เมื่อยังเป็นปุถุชน ลาภปลิโพธ ความยินดีพอใจก็ย่อมยังมีอยู่
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ตัณหาสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาเมื่อจะเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ย่อมเกิดขึ้นในที่ใด ในที่นั้นย่อมชื่อว่า เป็นที่เกิดขึ้นแห่งตัณหา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ
ตัณหา เมื่อจะเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ย่อมเกิดขึ้นเพราะจีวรเป็นเหตุ ๑ เพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ ๑ เพราะเสนาสนะเป็นเหตุ ๑ เพราะเภสัชอันประณีตและประณีตกว่าเป็นเหตุ ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาเมื่อจะเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นในที่ใด ในที่นั้นย่อมชื่อว่าเป็นที่เกิดขึ้นแห่งตัณหา ๔ ประการนี้แล
บุรุษมีตัณหาเป็นเพื่อนสอง ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยืดยาวนาน ไม่ล่วงพ้นสังสาระอันมีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่น ภิกษุผู้มีสติสัมปชัญญะ รู้โทษนี้ และรู้ตัณหาเป็นที่เกิดแห่งทุกข์ พึงเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่ถือมั่น ย่อมเว้นรอบ
นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นบรรพชิตก็ยังมีตัณหาเกิดขึ้น เพราะจีวรเป็นเหตุบ้าง เพราะบิณฑบาตเป็นเหตุบ้าง เพราะเสนาสนะเป็นเหตุบ้าง เพราะเภสัชอันประณีตและประณีตกว่าเป็นเหตุบ้าง
ถ้าเป็นฆราวาส แทนจีวร จะเป็นอะไร แทนบิณฑบาต จะเป็นอะไร แทนเสนาสนะ จะเป็นอะไร ความหมายเหมือนกัน ของฆราวาสก็เป็นเครื่องนุ่งห่มต่างๆ ที่เป็นที่ยินดีพอใจ ทำให้เกิดความพอใจขึ้น อาหารรสต่างๆ ก็เป็นเหตุให้เกิดความยินดีความพอใจ เสนาสนะบ้านเรือนที่อยู่ที่อาศัย เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการอยู่การอาศัยนั้น ก็เป็นที่ตั้งของความยินดีความพอใจ
นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งไม่ว่าใครจะต้องการอะไร ก็ย่อมต้องการสิ่งที่น่าพอใจทั้งนั้น เพราะเหตุว่ายังไม่ได้เจริญเหตุที่จะให้รู้ชัดในสภาพของนามและรูป แล้วละคลายความยินดีพอใจ ซึ่งเป็นโทษตามควรแก่เหตุนั้น เพราะเหตุว่าการละคลายในตอนต้นนั้น ไม่ใช่ละโลภะได้ทั้งหมด เป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่ละโทสะได้หมด เป็นพระอนาคามี แต่เพียงเริ่มรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน
สำหรับที่ว่า มีตัณหาเป็นเพื่อนสอง บางทีบางท่านก็อาจจะไม่ทราบว่า ลักษณะของตัณหานั้นเป็นอย่างไร ถ้าอยู่ตามลำพัง แล้วก็มีความยินดี พอใจ เพลิดเพลินไป อาจจะระลึกถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดหวังไปต่างๆ นาๆ อันนั้นก็แสดงว่า ผู้นั้นไม่ได้อยู่ผู้เดียว แต่อยู่ด้วยความหวัง อยู่ด้วยความพอใจ อยู่ด้วยตัณหา และถ้ายังมีความหวัง มีความพอใจ มีตัณหาอยู่อย่างนี้ ก็ย่อมจะไม่ใช่อยู่ผู้เดียว แต่มีตัณหาเป็นเพื่อนท่องเที่ยวไป ตลอดกาลยืดยาวนาน ไม่ล่วงพ้นสังสาระได้เลย
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 3
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 4
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 5
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 6
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 7
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 8
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 9
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 10
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 11
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 12
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 13
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 14
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 15
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 16
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 17
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 18
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 19
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 20
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 21
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 22
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 23
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 24
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 25
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 26
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 27
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 28
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 29
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 30
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 31
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 32
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 33
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 34
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 35
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 36
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 37
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 38
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 39
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 40
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 41
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 42
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 43
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 44
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 45
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 46
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 47
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 48
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 49
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 50
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 51
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 52
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 53
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 54
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 55
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 56
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 57
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 58
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 59
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 60