แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 55
ครั้งที่ ๕๕
สมัยต่อมาในโรงอุโบสถไม่มีใครปูอาสนะไว้ ภิกษุทั้งหลายนั่งพื้นดิน ทั้งตัวทั้งจีวรเปื้อนฝุ่น ภิกษุทั้งหลายจึงได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปูอาสนะในโรงอุโบสถ
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า ภิกษุรูปไหนหนอ พึงปูอาสนะในโรงอุโบสถ แล้วจึงกราบทูลเรื่องนั้นแต่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระใช้ภิกษุนวกะ
ภิกษุนวกะทั้งหลายอันพระเถระใช้แล้ว ไม่ยอมปูอาสนะ
ภิกษุทั้งหลาย จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่อาพาธอันพระเถระบัญชาแล้ว จะไม่ปูอาสนะไม่ได้ รูปใดไม่ปู ต้องอาบัติทุกกฏ
นี่เป็นเรื่องของพระภิกษุนวกะ พระเถระบัญชาแล้วก็ยังไม่ทำ ต้องถึงพระผู้มีพระภาคบัญญัติเป็นอาบัติทุกกฏ
สมัยต่อมา ในโรงอุโบสถไม่ได้ตามประทีปไว้ เวลาค่ำคืนภิกษุทั้งหลายเหยียบ กายกันบ้าง เหยียบจีวรกันบ้าง แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ตามประทีปในโรงอุโบสถ
ซึ่งพระภิกษุท่านก็สงสัยอีกเหมือนกันว่า รูปใดจะเป็นผู้ตามประทีป
ครั้งนั้นภิกษุทั้งหลาย ได้มีความปริวิตกว่า ภิกษุรูปไหนหนอ พึงตามประทีปในโรงอุโบสถ แล้วจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระใช้ภิกษุนวกะ
ภิกษุนวกะทั้งหลายอันพระเถระใช้แล้ว ไม่ยอมตามประทีปในโรงอุโบสถ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่อาพาธอันพระเถระบัญชาแล้ว จะไม่ตามประทีปในโรงอุโบสถไม่ได้ รูปใดไม่ตามประทีป ต้องอาบัติทุกกฏ
ชีวิตของบรรพชิตท่านยังมีกิจ และฆราวาสก็ยังต้องเพิ่มกิจมากกว่านั้นมากที เดียวตามวิสัยของฆราวาส แต่ไม่พ้นวิสัยของการที่จะเจริญสติ ถ้าพ้นวิสัย อุบาสกอุบาสิกาจะบรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้เลย แต่เพราะเหตุที่ไม่พ้นวิสัย อุบาสกอุบาสิกาจึงเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็บรรลุมรรคผลนิพพานได้
อีกตัวอย่างหนึ่งใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรคนวกัมมิกสูตร ที่ ๗ (ข้อ ๗๐๕)
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ไพรสณฑ์แห่งหนึ่งในแคว้นโกศลสมัยหนึ่ง นวกัมมิกภารทวาชพราหมณ์ให้คนทำงานอยู่ในป่านั้น เขาได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งคู้บัลลังก์ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้เฉพาะหน้า ที่โคนสาลพฤกษ์แห่งหนึ่ง ครั้นเห็นแล้วเขามีความคิดว่า เราให้คนทำงานอยู่ในป่านี้จึงยินดี ส่วนพระสมณะนี้ให้คนทำอะไรอยู่จึงยินดี
ลำดับนั้น นวกัมมิกภารทวาชพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ข้าแต่ท่านภิกษุ ท่านทำงานอะไรหรือ จึงอยู่ในป่าสาลพฤกษ์ พระโคดมอยู่ในป่าผู้เดียว ได้ความยินดีอะไร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เราไม่มีกรณียกิจในป่าดอก เพราะเราถอนรากเหง้าป่าอันเป็นข้าศึกเสียแล้ว เราไม่มีป่ากิเลส ปราศจากลูกศร คือ กิเลส ละความกระสันเสียแล้ว จึงยินดีอยู่ผู้เดียวในป่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว นวกัมมิกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจะมองเห็นรูปได้
ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับพระธรรม และ พระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ผู้ที่มีโชคดี คือ ได้พบพระผู้มีพระภาค แม้ว่าตนเองกำลังจะทำงานหรือว่าให้คนทำงานอยู่ในป่า จะเห็นได้ว่า คนที่อยู่ในป่านี้ไม่เหมือนกัน พระผู้มีพระภาคประทับนั่งขัดสมาธิ ดำรงพระสติเฉพาะหน้า แต่ว่านวกัมมิกภารทวาชพราหมณ์ทำงานอยู่ในป่า เวลาที่คนมีกิจการงานและมีความเพลิดเพลินยินดี ต้องการผลของงาน เพราะฉะนั้น ก็ทราบว่าที่ตนอยู่ในป่าในขณะนั้นมีความยินดีเพราะอะไร มีความยินดีเพราะได้ผลในการที่ให้คนทำงานให้ในป่า เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ในป่านั้น ก็เกิดความสงสัยว่า พระสมณะนี้ให้คนทำอะไรอยู่จึงยินดี
นี่เป็นความคิดของคนโลภ คนโลภนั้นต้องมีผลตอบแทนที่เห็นจากการงาน จึงจะเกิดความยินดี เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งขัดสมาธิ ก็ไม่เข้าใจว่า อะไรเป็นความยินดีที่ทำให้พระผู้มีพระภาคประทับนั่งคู้บัลลังก์อยู่ในป่านั้นได้ เพราะฉะนั้น คนอยู่ในป่าไม่เหมือนกัน เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
พระองค์ไม่มีกรณียกิจในป่า เพราะพระองค์ถอนรากเหง้าป่าอันเป็นข้าศึกเสียแล้ว ไม่มีป่ากิเลส ปราศจากลูกศร คือ กิเลส ละความกระสันเสียแล้ว จึงยินดีอยู่ผู้เดียวในป่า
พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ทรงยินดีการอยู่ป่า เพราะพระองค์ไม่ทรงมีกิเลสเลย ไม่ ใช่อยู่ด้วยความหวัง แต่คนอื่นเข้าไปในป่าด้วยความหวังหรือเปล่า ผู้ที่จะกระทำกิจการงานในป่าก็เข้าไปในป่าด้วยความหวัง คือ การที่จะกระทำการงานในป่า ส่วนบุคคลอื่นที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังมีความหวังอย่างอื่น อาจจะไม่ใช่ความหวังในการงานก็ตาม แต่เข้าไปในป่าเพราะหวังอย่างอื่นได้ไหม
ที่อยู่ป่ากันนี้ อยู่ด้วยความหวัง หวังต้องการอะไรสักอย่างหนึ่งจึงได้ไป หวังความสงบหรือว่าหวังอะไรก็แล้วแต่ นั่นก็ยังคงเป็นความหวัง แม้ว่าความหวังนั้นจะต่างกัน ไม่ใช่หวังกิจการงานอย่างนั้นก็ตาม แต่ว่าไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ ของผู้นั้น ที่ทำไปเพียงด้วยความหวังที่จะได้ผล
การเจริญสตินั้นเพื่อการรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดขึ้นแก่ตน ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่แต่ละคนได้สะสมมา ไม่ใช่ไปเปลี่ยนหรือว่าไปบังคับ หรือว่าไปด้วยความหวัง แต่ไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ ของผู้นั้น เพราะเหตุว่าไปด้วยความหวังและความหวังนั้นก็บังไว้ ทำให้ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่เป็นปกติ
เรื่องกิจการงาน กัมมปลิโพธคิดว่าจะเป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสติไหม เกิดมาแล้วก็ต้องมีการงานกันทุกท่าน ไม่ใช่แต่เฉพาะการอาชีพ หลังจากการประกอบอาชีพกลับไปบ้าน ก็ดูได้ว่ามีกิจอะไรบ้างที่จะต้องกระทำกันเป็นชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน
ถ. มีความสงสัยเรื่องแม่ชีไทย คือ แม่ชีศาสนาอื่น ก็กระทำกิจหลายประการ แล้วแม่ชีไทยทำได้ไหม
สุ. แม่ชีไทยก็เป็นอุบาสิกา บริษัทหนึ่งในพุทธบริษัท ไม่ใช่ภิกษุณี แต่ว่าอุบาสิกาที่เป็นแม่ชีเป็นผู้ที่รักษาศีลเพิ่มขึ้นจากศีล ๕ สามารถจะทำกิจการงานทุกอย่างได้ตามปกติ อย่าเข้าใจผิดว่าจะเป็นภิกษุณี ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่สามารถจะรักษาศีลได้เป็นปกติ แล้วก็รักษาได้ถึง ๘ ข้อ แม่ชีทั้งหลายก็เจริญสติในเพศของแม่ชีได้ ชีวิตใครเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
สำหรับประการที่ ๖ อัทธานปลิโพธ คือ การเดินทางไกล ไม่เป็นเครื่องกั้น ไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสติปัฏฐาน
ขอกล่าวถึงพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ เรื่อง ถือนิสัย มีข้อความว่า
ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จอยู่ในพระนครราชคฤห์นั้นแล ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน คนทั้งหลายพากันเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า
ทิศทั้งหลายคับแคบ มืดมน แก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ทิศทั้งหลายไม่ปรากฏแก่พระสมณะพวกนี้
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มา รับสั่งว่า
ดูกร อานนท์เธอจงไปไขดาล บอกพวกภิกษุทั้งหลายในบริเวณวิหารว่า อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงปรารถนาจะเสด็จจาริกทักขิณาคีรีชนบท ท่านผู้ใดมีความประสงค์ ท่านผู้นั้นจงมา
ไม่ได้ห้าม ไม่ได้บังคับด้วย
ท่านพระอานนท์ได้รับสนองพระพุทธบัญชาแล้ว ไขดาลแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายในบริเวณวิหารว่า
อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงปรารถนาจะเสด็จจาริกทักขิณาคีรีชนบท ท่านผู้ใดมีความประสงค์ ท่านผู้นั้นจงมา
ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า
อาวุโส อานนท์ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติให้ภิกษุถือนิสสัยอยู่ตลอด ๑๐ พรรษา และให้ภิกษุมีพรรษาได้ ๑๐ ให้นิสสัย พวกผมจะต้องไปในทักขิณาคีรีนั้น จักต้องถือนิสสัยด้วย จะพักอยู่เพียงเล็กน้อย ก็จะต้องกลับมาอีก และจะต้องกลับถือนิสสัยอีก ถ้าพระอาจารย์ พระอุปัชฌายะของพวกผมไป แม้พวกผมก็จักไป หากท่านไม่ไป แม้พวกผมก็จักไม่ไป
อาวุโส อานนท์ ความที่พวกผมมีใจเบา จักปรากฏ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกทักขิณาคีรีชนบท กับภิกษุสงฆ์มีจำนวนน้อย ครั้นพระองค์เสด็จอยู่ ณ ทักขิณีคีรีชนบทตามพุทธภิรมย์แล้ว เสด็จกลับมาสู่พระนครราชคฤห์อีกตามเดิม และพระองค์ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาสอบถามว่า
ดูกร อานนท์ ตถาคตจาริกทักขิณาคีรีชนบทกับภิกษุสงฆ์มีจำนวนน้อย เพราะเหตุไร
จึงท่านพระอานนท์กราบทูลความเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงมีพระพุทธานุญาตให้ถือนิสสัยโดยลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถถือนิสสัยอยู่ ๕ พรรษา และให้ภิกษุผู้ไม่ฉลาดถือนิสสัยอยู่ตลอดชีวิต
ถ้าท่านผู้ฟังสนใจเรื่องของพระวินัย ก็คงจะเข้าใจได้ว่า การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดมีศรัทธาที่จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพื่อจะได้ประพฤติปฏิบัติ เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่ว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้นรู้ได้โดยไม่ต้องมีการอบรม โดยไม่ต้องมีกล่าวแนะนำ โดยไม่ต้องมีการกล่าวสอน ไม่ใช่อย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ฆราวาสที่ต้องการจะเจริญสติปัฏฐานไม่ฟังให้เข้าใจ ไม่ศึกษาเหตุผลในการเจริญสติปัฏฐานโดยละเอียด สามารถที่จะเจริญเหตุให้ตรงกับผลที่ต้องการได้ไหม ถึงแม้ว่าจะเป็นพระภิกษุใหม่ เป็นนวกภิกษุ เป็นผู้ฉลาด ก็ยังต้องถือนิสสัย คือ จะต้องได้รับการอบรมพร่ำสอนอย่างน้อยถึง ๕ พรรษา
นี่แสดงให้เห็นว่า ธรรมนั้นสุขุมละเอียด ศึกษาเปรียบเทียบได้ทั้งพระสูตร ทั้งพระวินัย และจะเห็นได้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จอยู่ในพระนครราชคฤห์ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ทำให้คนทั้งหลายเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา
ไม่ใช่ว่าการที่จะให้อยู่ในที่จำกัดแล้วจะเป็นที่สรรเสริญชื่นชม แต่เป็นที่ติได้ว่าเพราะเหตุใดจึงได้อยู่ประจำ ณ สถานที่เดียว ไม่จาริกไปสู่ที่อื่น
การไปนั้น ไปทำไม สำหรับพระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์ มีกิจหรือไม่จึงได้ไป หรือไปเฉยๆ แต่ละครั้งที่ไป เพื่อทรงเทศนาโปรดเวไนยสัตว์ เพื่อให้มีความเห็นถูก มีความเข้าใจ มีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นข้อหนึ่งที่จะได้พิจารณาจากพระวินัยปิฎกว่า การเดินทางไกลนั้นไม่ได้เป็นเครื่องกั้นการเจริญสติปัฏฐานเลย กิจทุกอย่างตามปกติธรรมดาเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำกัน ใครจะไปไหนมาไหนด้วยกิจธุระอะไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งไม่ขัดขวางการเจริญสติปัฏฐานเลย
นอกจากนั้นใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ อุโบสถขันธกะ เรื่องจะไปไหนต้องอาปุจฉาก่อน อาปุฉา คือ การบอกให้ทราบ การบอกลานั่นเอง มีข้อความว่า
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุหลายรูปด้วยกันเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด ไปสู่ทิศ ไม่อำลาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในศาสนานี้หลายรูปด้วยกันเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด ไปสู่ทิศ ไม่อำลาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ พวกเธออันพระอุปัชฌาย์อาจารย์พึงถามว่า ท่านทั้งหลายจักไปไหน จักไปกับใคร ถ้าพวกเธอเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด พูดอ้างถึงภิกษุเหล่าอื่นที่เป็นผู้เขลา ไม่ฉลาดด้วยกัน พระอุปัชฌาย์อาจารย์ไม่พึงอนุญาต ถ้าอนุญาต ต้องอาบัติทุกกฏ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด อันพระอุปัชฌาอาจารย์ไม่อนุญาต ถ้ายังขืนไป ต้องอาบัติทุกกฏ
จากข้อความนี้ จะเห็นได้ว่า ภิกษุหลายรูปด้วยกันเป็นผู้เขลา ไม่ใช่ว่าจะไม่มีภิกษุที่ไม่เขลาเลย การที่จะเป็นภิกษุหรือเป็นฆราวาสนั้นก็แล้วแต่การสะสมเหตุปัจจัย ถ้าสะสมเนกขัมบารมี คือ การที่จะละอาคารบ้านเรือน ผู้นั้นก็สามารถที่จะมีศรัทธา มีเหตุมีปัจจัยที่จะให้ละอาคารบ้านเรือนได้ แต่ว่าไม่ได้เจริญอินทรีย์ในด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสติ วิริยะ สมาธิ ปัญญา เพราะฉะนั้น จึงยังมีภิกษุผู้เขลา มิใช่ว่าพระผู้มีพระภาคมิได้ทรงทราบ พระองค์ทรงทราบอัธยาศัยของสัตว์โลกโดยละเอียดทั่วถ้วน แต่ทรงมีพระมหากรุณา เมื่อเห็นว่าบุคคลผู้นั้นมีศรัทธาที่จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ก็ได้ทรงพระมหากรุณาเทศนาอุปการะ อนุเคราะห์ทุกประการเพื่อการเจริญปัญญาของบุคคลผู้นั้น
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ในการไปแม้ในพระวินัยบัญญัติ ผู้ที่เป็นพระ อุปัชฌาย์อาจารย์ก็ยังต้องถามว่า จะไปไหน ไปกับใคร ถ้าอ้างถึงภิกษุที่เป็นผู้เขลาไม่ฉลาดด้วยกัน พระอุปัชฌาย์อาจารย์ไม่พึงอนุญาต ถ้าอนุญาตต้องอาบัติทุกกฏ และถ้าภิกษุอันพระอุปัชฌาย์อาจารย์ไม่อนุญาต ถ้ายังขืนไป ต้องอาบัติทุกกฏ
แสดงให้เห็นว่า เรื่องการไปเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าเป็นคนเขลาไปตามลำพัง ก็ไม่ได้รับประโยชน์จากการไป หรือว่าถ้าไปกับบุคคลผู้ที่เขลาด้วยกัน การไปนั้นก็ไม่มีประโยชน์เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น การที่จะอนุญาตให้ภิกษุไปไหน จำเป็นที่จะต้องเล็งถึงประโยชน์ว่า ไปอย่างไร ไปกับใครจึงจะเป็นประโยชน์
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 3
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 4
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 5
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 6
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 7
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 8
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 9
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 10
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 11
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 12
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 13
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 14
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 15
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 16
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 17
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 18
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 19
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 20
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 21
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 22
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 23
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 24
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 25
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 26
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 27
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 28
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 29
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 30
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 31
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 32
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 33
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 34
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 35
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 36
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 37
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 38
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 39
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 40
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 41
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 42
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 43
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 44
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 45
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 46
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 47
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 48
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 49
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 50
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 51
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 52
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 53
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 54
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 55
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 56
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 57
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 58
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 59
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 60