แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 56
ครั้งที่ ๕๖
ถ. ผมได้ฟังท่านอาจารย์บรรยายเรื่องการเจริญสติปัฏฐานมาหลายครั้งแล้ว ใคร่ถามอาจารย์ว่า เวลาที่เราเห็นรูป เรารู้แล้วว่า เรามีสติ แต่เห็นอยู่เรื่อยๆ เราจะมนสิการอย่างไร เป็นเห็นๆ อยู่เรื่อยๆ คล้ายจะเป็นภาวนาไป
สุ. การเห็นมีอยู่ตลอดเวลา แต่ขณะใดหลงลืมสติ ก็ไม่ได้พิจารณาสภาพที่เห็นและสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ขณะใดที่มีสติมีการระลึกได้ก็รู้
เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานอยากจะให้ใช้คำว่ารู้ เพราะเหตุว่าเป็นการเจริญปัญญา รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้เป็นแต่เพียงของจริงที่ปรากฏให้รู้ได้เฉพาะทางตาเท่านั้น การระลึกอย่างนี้เพื่ออะไร เพื่อละความถือมั่น เพื่อละการติด เพื่อละการเพลิดเพลินไปในนิมิตในอนุพยัญชนะ และเพื่อให้ความรู้นั้นเจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งไม่ว่าจะเห็นขณะใด เวลาที่สติระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ก็รู้ว่าลักษณะนี้เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา
จุดประสงค์ของการเจริญสตินั้น เพื่อปัญญารู้ถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ และสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏไม่ใช่มีแต่เฉพาะทางตา ทางหูก็มี ทางจมูกก็มี ทางลิ้นก็มี ทางกายก็มี ทางใจก็มี
ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพรู้ทางตา ถ้าหลับตาแล้วไม่เห็น ซึ่งไม่ใช่การรู้เรื่อง ไม่ใช่การคิดนึก เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นแล้วทราบว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ผู้ที่เจริญสติพิจารณา หรือว่าระลึกว่า การที่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่หยุดสติหรือปัญญาให้รู้แต่เพียงเฉพาะอย่างเดียว นั่นไม่ใช่การเจริญปัญญา
ทางหู เสียงก็เป็นของจริง ได้ยินก็เป็นของจริง ไม่เหมือนกับเห็นเลย ไม่ใช่การคิดนึก ความสุข ความทุกข์ต่างๆ ด้วย การได้ยินเป็นนามธรรม เกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น แต่เพราะความรวดเร็ว เพราะความไม่รู้ เพราะการไม่เจริญสติ เพราะปัญญาไม่เจริญขึ้น ไม่พิจารณาโดยทั่ว เพราะฉะนั้น ความเห็นว่าเป็นตัวตนก็ต้องมี ท่านผู้ฟังรู้ลักษณะของนามและรูปชัดเจนหรือยัง
ก็เพียงขั้นเข้าใจโดยการฟังเข้าใจ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ต้องแยกกัน ความรู้ขั้นการฟัง ขั้นการพิจารณา กับความรู้ขั้นที่เกิดพร้อมสติระลึกรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ ก็ไม่เหมือนกัน
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. จะให้มีกฎเกณฑ์ไม่ได้ เพราะเป็นอนัตตา ฟังแล้วก็ทราบว่าสภาพที่กำลังเห็นนี้ไม่ใช่สภาพเดียวกับนามธรรมที่คิด คิดมีจริงไหม คิดไม่ใช่เห็น ท่านผู้ฟังกล่าวว่า เวลาเห็น เวลาได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส สัมผัส ทั้ง ๕ ทางนี้ อดคิดไม่ได้
ทุกท่านรับรองว่า จริง เห็นมีจริง สีมีจริง ได้ยินมีจริง เสียงมีจริง รู้กลิ่นมีจริง กลิ่นมีจริง รู้รสมีจริง รสมีจริง รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็งมีจริง เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง ไหวมีจริง คิดนึกมีจริง ของจริงทั้งนั้น
ใครรู้ว่า เป็นของจริง ใครรู้ว่า คิดไม่ใช่เห็น คิดไม่ใช่ได้ยิน คิดไม่ใช่รู้กลิ่น คิดไม่ใช่รู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส ใครรู้
ผู้เจริญสติรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูปแต่ละทาง ไม่อย่างนั้นไม่ชื่อว่าเจริญปัญญา ไม่ชื่อว่าเจริญสติ เพราะเหตุว่าถ้าเจริญสติก็ต้องมีสิ่งที่สติกำลังระลึกรู้ เป็นของจริง แล้วแต่ว่าสภาพนั้นเป็นรูป สติก็รู้ลักษณะนั้น ปัญญาก็พิจารณา ไม่ไปปนกับนามธรรม
เห็นไม่ปนกับสี ได้ยินไม่ปนกับเสียง รู้กลิ่นไม่ปนกับกลิ่น ทั้งหมดนามและรูปทุกชนิด เจริญปัญญาเพื่อรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่บังคับ ไม่ใช่ห้าม ไม่ใช่บอกให้คิดอย่างนั้นให้คิดอย่างนี้ ใครบังคับบัญชาแม้ความคิดนึกของตัวเองได้บ้าง แต่เจริญสติได้ รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูปได้ ไม่ใช่บังคับ ไม่ใช่ให้มีแบบที่ตามไปเหมือนกันหมด นั่นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่การละ แต่เป็นการไม่รู้จึงได้สร้างแบบ จึงได้สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่ด้วยความรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
ถ. ที่อาจารย์ว่า การเจริญสติบังคับไม่ให้คิดไม่ได้ ความจริงได้ สมมติว่าเราเป็นคนชอบลักขโมย เราก็ถือศีล เราก็ไม่ต้องทนทุกข์ลำบาก จิตของเราเมื่อคิด เราก็หยุดคิดได้ เราต้องหาวิธีที่จะหยุดคิด ไม่ให้กิเลสเข้ามา ผมมีความเห็นอย่างนี้ เราจะต้องเห็นใจผู้ที่ยังไม่ได้รับการอบรม เพราะถ้าได้รับการอบรมแล้ว มีปัญญาแล้ว มีทาน ศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว ก็เป็นอันเชื่อแน่ว่า สมพุทธประสงค์
สุ. ไม่มีใครบอกเลยว่า ไม่เห็นใจ แต่ไม่ใช่ว่าบังคับ ให้เหตุปัจจัยที่จะทำให้บุคคลนั้นเป็นคนดีโดยการแสดงเหตุผลที่ถูกต้องเพื่อให้เขาพิจารณา เพื่อให้เกิดหิริ เพื่อให้เกิดโอตตัปปะ แต่ไม่ใช่ว่าให้บังคับ หรือไม่ใช่ว่าบังคับได้ แต่ละคนอาจจะคิดว่า ตัวท่านบังคับได้ แต่ความจริงไม่ใช่ตัวตนที่บังคับ เป็นสภาพของคุณธรรม นามธรรมที่เป็นฝ่ายดี เป็นเรื่องดีที่มีความสนใจและได้สอบถาม
มีข้อความในพระไตรปิฎก เป็นเรื่องของอัทธาน การเดินทางไกล ที่กล่าวถึงเรื่องนี้เพื่อที่จะให้เห็นว่า ก่อนปรินิพพานนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินทางไกลไปสถานที่ใดบ้าง เพื่อทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์
ใน ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร มีข้อความว่า
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ แม้นั้นทรงกระทำธรรมีกถาอันนี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า
อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา
สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวสวะ อวิชชาสวะ
จะเห็นได้ว่า เมื่อทรงแสดงธรรม ก็ทรงแสดงธรรมเหล่านี้เป็นอันมากแก่ภิกษุ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัย ในพระนครราชคฤห์ แล้วตรัสเรียกพวกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
ดูกร อานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังอัมพลัฏฐิกา ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงอัมพลัฏฐิกาแล้ว ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับ ณ พระตำหนักหลวงในอัมพลัฏฐิกา แม้นั้น ทรงกระทำธรรมีกถาอันนี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในอัมพลัฏฐิกา แล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
ดูกร อานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังบ้านนาลันทคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงหมู่บ้านนาลันทคามแล้ว ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในปาวาทิกอัมพวัน ในบ้าน นาลันทคามนั้น ทรงแสดงธรรม คือ ธรรมีกถาในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญาเป็นอันมาก
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัย ในบ้านนาลัทคามแล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
ดูกร อานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังปาฏลิคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงปาฏลิคามแล้ว พวกอุบาสกชาวปาฏลิคามไปเฝ้ากราบทูลให้ทรงรับเรือนสำหรับพัก แล้วก็จัดแจงปูลาด แต่งตั้งอาสนะ ตั้งหม้อน้ำไว้ ตามประทีป
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปประทับพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ แล้วก็ทรงแสดงธรรมแก่อุบาสก ในเรื่องของศีลวิบัติ ศีลสมบัติ จนสว่าง
พวกอำมาตย์ผู้ใหญ่ในแคว้นมคฤไปเฝ้า กราบทูลให้ทรงรับภัตตาหารพร้อมด้วยภิกษุ เสวยเสร็จแล้ว ทรงอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้ มีความว่า
บัณฑิตยชาติสำเร็จการอยู่ในประเทศใด ย่อมเชื้อเชิญท่านผู้มีศีล ผู้สำรวมแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริโภคในประเทศนั้น เทวดาเหล่านั้นได้รับบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบเขา ได้รับความนับถือแล้ว ย่อมนับถือตอบเขา แต่นั้นย่อมอนุเคราะห์เขา เหมือนมารดาอนุเคราะห์บุตรซึ่งเกิดแต่อก ฉะนั้น บุรุษผู้อันเทวดาอนุเคราะห์แล้ว ย่อมเห็นความเจริญทุกเมื่อ
จากนั้นเสด็จไปโกฏิคาม ประทับ ณ ที่นั้น รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานอย่างนี้
เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ เป็นไฉน
เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานอย่างนี้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจแล้ว ตัณหาในภพเราถอนเสียแล้ว ตัณหาอันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี
ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โกฏิคาม แม้นั้นทรงกระทำธรรมีกถา
นี่เป็นการเสด็จดำเนินก่อนที่จะปรินิพพาน และได้ทรงแสดงธรรมพร่ำสอนเป็นอันมาก ซึ่งมีข้อความเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแสดงไว้ชัดทีเดียว
จากนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังนาทิกะคาม ทรงพยากรณ์คติและภพเบื้องหน้าของภิกษุที่เป็นอริยสาวก และของอุบาสกอริยสาวกในนาทิกะคาม และได้ทรงกระทำธรรมีกถาในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอันมาก
จากนั้นเสด็จไปยังเมืองเวสาลี ประทับในอัมพปาลีวัน ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา รับสั่งว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี่เป็นอนุศาสนีของเราสำหรับเธอ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่าภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นผู้มีสติ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก อย่างนี้แล ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้มีสติ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่าภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสัมปชัญญะ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กระทำความรู้ตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในกายเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในการฉัน ในการดื่ม ในการเคี้ยว ในการลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง อย่างนี้แลภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสัมปชัญญะ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นอนุศาสนีของเราสำหรับเธอ
ข้อนี้ก็คงจะทำให้หายสงสัยว่า มีสติคืออย่างไร
มีสติ คือ พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม
มีสัมปชัญญะอย่างไร มีสัมปชัญญะ คือ รู้ตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก เป็นต้น
เวลานี้แลอยู่หรือไม่ เหลียวหรือไม่ คู้เข้าบ้างไหม เหยียดออกบ้างไหม เป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะไหม ในการก้าว ในการถอย ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว
และพยัญชนะของการเป็นผู้มีสติกำกับไว้ว่า
อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้มีสติ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่
ในขณะที่ก้าว มีเวทนาไหม มีจิตไหม มีรูปไหม อยู่ในหมวดใดในมหาสติปัฏฐาน ๔
ทางตา อะไรปรากฏ อะไรเป็นนาม เป็นรูป ทางหู อะไรเป็นนาม เป็นรูป ทางจมูก อะไรเป็นนาม เป็นรูป ทางลิ้น อะไรเป็นนาม เป็นรูป ทางกาย อะไรเป็นนาม เป็นรูป ทางใจ นามอะไรปรากฏ รูปอะไรปรากฏ
ไม่ใช่ให้เจาะจงไปสร้างอะไรขึ้น แต่ทุกขณะที่กำลังนั่ง นอน ยืน เดิน เคลื่อนไหว เหยียด คู้ พูด นิ่ง คิด เป็นผู้มีการรู้สึกตัว พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม
ถ. สมมติว่า เราเจริญวิปัสสนา การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานกับสมถกัมมัฏฐานอยู่ที่อารมณ์ สมถกัมมัฏฐานมีบัญญัติอารมณ์ ซึ่งมีกสิณ ๑๐ หรืออสุภ ๑๐ แต่การเจริญสติปัฏฐานมีปรมัตถ์ คือ รูปนามเป็นอารมณ์
เราจะดูอยู่ที่รูป พิจารณาอยู่ที่รูป รูปเป็นปรมัตถ์ ในฐานะที่เราปัญญายังน้อยยังอ่อนอยู่นี้ เราจะปิดทวารเสีย ๕ ทวาร คือ ให้นึกอยู่ในทวารเดียว คือ มโนทวาร เพื่อที่จะจับหรือเพื่อที่จะรู้ว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม อย่างนี้จะเป็นวิธีที่ถูกหรือผิด
หรือถ้าเราจะเจริญสติไปหมด ได้ยิน เสียงเกิดขึ้นก็รู้ รู้รส มีกลิ่นเกิดขึ้น สัมผัสเกิดขึ้น ก็รู้ ถูกต้อง เย็น ร้อน อ่อน แข็งตามรู้ไปหมด ในฐานะที่เรายังเป็นปุถุชนและสติยังน้อยอยู่นี้ ถ้าหากเราจะพิจารณาเพียงอย่างเดียว หมายความว่าเจริญกายานุปัสสนา ก็ดูที่กาย เอาสติไปตั้งไว้ที่กายเพียงอย่างเดียว หรือว่าจะเจริญเวทนา ก็พิจารณาเวทนาไปเพียงอย่างเดียว
สุ. ที่ท่านกล่าวว่า การที่จะพิจารณารู้นามรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยาก อย่ากระไรเลย จะรู้แต่เฉพาะรูปทางใจเท่านั้นจะได้ไหม ขอถามว่า รูปอะไรทางใจ
ถ. รูปบัญญัติ รูป ๒๘ รูปบัญญัตินี้พูดง่ายๆ ก็ว่าตัวเรา พิจารณาที่ตัวเราเรียกว่ากาย คงไม่ผิดใช่ไหมครับ คือ กายา
สุ. เวลาที่จะรู้ลักษณะของนามและรูป อย่าลืม ลักษณะไม่ใช่ชื่อ ไม่ใช่ความจำ แต่ต้องมีลักษณะที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด ถ้าจะเป็นทางตา สีสัน วรรณะต่างๆ กำลังปรากฏ เป็นสิ่งที่สติจะต้องระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เสียงปรากฏนิดเดียว เป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหูเท่านั้น กลิ่นปรากฏนิดเดียว เป็นสิ่งที่มีลักษณะจริงๆ
ในขณะที่กลิ่นกำลังปรากฏ ไม่ต้องสร้าง ไม่ต้องนึกอะไรขึ้นมาเลย เพราะฉะนั้น ถ้าปิด การไม่เจริญปัญญารู้รูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะรู้รูปอะไรทางใจ มีลักษณะอะไรปรากฏเป็นรูปทางใจ
ถ. เราอาศัยรูปบัญญัติ คือ รูปร่างสัณฐาน คือ รูปทางกายของเรา ในขณะที่เรานั่งอยู่ เราก็พิจารณาว่า เป็นรูปนั่ง ไม่ใช่ตัวเรานั่ง
สุ. ขอประทานโทษ ถ้าพิจารณาว่า เป็นรูปนั่ง พิจารณาอย่างไร
ถ. ก็พิจารณารูปที่นั่ง ในใจก็กำหนดรู้ว่า รูปนั่ง เพื่อจะถอนอัตตะ
สุ. เวลานี้ที่มีความเห็นผิด เห็นผิดในอะไร เห็นผิดในนามรูปที่ประชุมรวมกัน เพราะว่าไม่ได้รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามแต่ละนาม พอถึงรูปที่เราหลงผิดยึดถือว่าเป็นตัวตน ก็เพราะยึดถือรูปที่มาประชุมรวมกัน ไม่ใช่รู้รูปแต่ละทาง
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 3
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 4
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 5
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 6
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 7
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 8
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 9
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 10
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 11
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 12
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 13
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 14
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 15
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 16
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 17
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 18
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 19
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 20
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 21
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 22
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 23
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 24
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 25
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 26
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 27
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 28
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 29
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 30
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 31
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 32
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 33
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 34
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 35
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 36
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 37
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 38
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 39
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 40
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 41
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 42
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 43
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 44
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 45
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 46
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 47
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 48
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 49
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 50
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 51
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 52
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 53
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 54
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 55
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 56
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 57
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 58
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 59
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 60