แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 59
ครั้งที่ ๕๙
เรื่องของญาติ สำหรับฆราวาสคงจะไม่เป็นที่สงสัย เรื่องของกิจที่จะพึงกระทำต่อญาติมีอะไรบ้าง แต่สำหรับบรรพชิตที่ท่านละวงศ์ญาติ ละอาคารบ้านเรือนไปแล้ว ละความเกี่ยวข้องกับญาติมิตรทั้งหลาย ละมารดาบิดาไปแล้ว ท่านยังจะมีญาติอยู่ไหม หรือว่าไม่มี ก็มี และก็ยังเพิ่มญาติ คือ นอกจากญาติสาโลหิตที่เป็นโยมมารดาบิดา ซึ่งท่านยังมีกิจที่ถ้าท่านสามารถจะอุปการะได้ ในพระวินัยก็ได้ทรงอนุญาตไว้หลายประการทีเดียว นอกจากนั้นยังมีญาติในธรรม มีญาติในธรรมวินัยด้วย มีพระอุปัชฌายะ มีอาจารย์ มีศิษย์ร่วมอุปัชฌาย์ มีศิษย์ร่วมอาจารย์ เพิ่มญาติในธรรมวินัย
ได้สละวงศ์ญาติในทางโลกแล้วก็จริง แต่เมื่อสละญาติในทางโลกแล้ว ก็จำเป็นเช่นเดียวกันกับชีวิตของฆราวาส ที่จะต้องมีผู้อุปการะอุปัฏฐากเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพราะไม่มีใครเลยที่จะมีชีวิตอยู่ได้เพียงคนเดียวในโลก ต้องมีญาติหรือผู้ที่อุปัฏฐากอุปการะเกื้อกูลกัน เพราะฉะนั้น สำหรับบรรพชิตท่านไม่ได้อยู่ร่วมกับมารดาบิดาวงศาคณาญาติ เพราะเหตุว่าท่านละอาคารบ้านเรือนออกมาแล้วก็จริง แต่เมื่อท่านอยู่ร่วมกับบุคคลใด เช่น พระอุปัชฌาย์ อาจารย์ หรือศิษย์ร่วมอุปัชฌาย์ ศิษย์ร่วมอาจารย์ บุคคลเหล่านั้นก็เป็นญาติในธรรมวินัยที่ต้องมีกิจที่จะพึงประพฤติปฏิบัติอุปการะกัน
สำหรับข้อความที่จะกล่าวให้เห็นถึงความเป็นญาติในธรรมวินัย ถึงแม้ว่าเป็นบรรพชิตแล้วก็ยังมีกิจที่จะต้องกระทำต่อกัน
พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ เรื่องพระอาพาธโรคท้องร่วง มีข้อความว่า
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคท้องร่วง นอนจมกองมูตรกองคูถของตนอยู่ ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคมีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เสด็จพระพุทธดำเนินไปตามเสนาสนะ ได้เสด็จเข้าไปทางที่อยู่ของภิกษุรูปนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุรูปนั้น นอนจมกองมูตรกองคูถของตนอยู่ ครั้นแล้วเสด็จเข้าไปใกล้ภิกษุรูปนั้น แล้วตรัสถามว่า
เธออาพาธเป็นโรคอะไร ภิกษุ
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า
ข้าพระพุทธเจ้าอาพาธเป็นโรคท้องร่วงพระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
เธอมีผู้พยาบาลไหมเล่าภิกษุ
ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า
ไม่มีพระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาลเธอ
ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า
เพราะข้าพระพุทธเจ้ามิได้ทำอุปการะแก่ภิกษุทั้งหลาย ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาลข้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า
อานนท์ เธอไปตักน้ำมา เราจะสรงน้ำภิกษุรูปนี้
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธบัญชาว่า
เป็นดังนั้นพระพุทธเจ้าข้า
ดังนี้แล้ว ตักน้ำมาถวาย
พระผู้มีพระภาคทรงรดน้ำ ท่านพระอานนท์ขัดสี พระผู้มีพระภาคทรงยกศีรษะ ท่านพระอานนท์ยกเท้า แล้ววางบนเตียง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า
ในวิหารหลังโน้น มีภิกษุอาพาธหรือ ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
มีพระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุรูปนั้นอาพาธเป็นโรคอะไร ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
ท่านรูปนั้นอาพาธเป็นโรคท้องร่วง พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุรูปนั้นมีผู้พยาบาลไหมเล่า ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
ไม่มีพระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาลเธอ
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า
เพราะท่านรูปนั้นมิได้ทำอุปการะแก่ภิกษุทั้งหลาย ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาลท่านรูปนั้น พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดา ไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอจะไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธ ถ้ามีอุปัชฌายะ อุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีอาจารย์ อาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีสัทธิวิหาริก สิทธิวิหาริกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีอันเตวาสิก อันเตวาสิกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ ภิกษุผู้ร่วมอาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้าไม่มีอุปัชฌายะ อาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ หรือภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ สงฆ์ต้องพยาบาล ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติทุกกฏ
เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า แม้เป็นอุปัชฌายะ หรือแม้เป็นอาจารย์ หรือแม้เป็นสัทธิวิหาริก หรือแม้เป็นอันเตวาสิก หรือแม้เป็นภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ หรือแม้เป็นภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ ก็พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย
เจริญสติปัฏฐานได้ไหม ในขณะที่กำลังพยาบาล นี่เป็นกิจในพระวินัยที่ให้กระทำ มิใช่ว่าให้งดเว้น ถ้าไม่กระทำเป็นอาบัติทุกกฏ และในระหว่างนั้น ในขณะที่พยาบาลจะเป็นตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหายก็ตาม เจริญสติปัฏฐานได้ไหม ไม่ว่าจะเป็นในขณะใดก็ตาม จะเป็นการสงเคราะห์ญาติ จะเป็นการพยาบาลบุคคลผู้ป่วย หรือว่าไม่ว่าจะเป็นขณะใดทั้งสิ้น ถ้าสติสามารถที่จะระลึกรู้สภาพลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ ก็เป็นการเจริญปัญญาเพื่อให้รู้แจ้งชัดในสภาพของสิ่งที่ปรากฏนั้นได้
มีข้อความหนึ่งที่พระผู้มีพระภาครับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอไปตักน้ำมา เราจะสรงน้ำภิกษุรูปนี้
แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงกระทำกิจ คือ สรงน้ำภิกษุผู้อาพาธ คงจะมีหลายท่านรู้สึกว่า การสรงน้ำพระคงจะได้บุญได้กุศลมากทีเดียว ก็คงจะเป็นธรรมเนียมของการสรงน้ำพระในวันปีใหม่บ้าง หรือว่าในโอกาสที่ท่านคิดว่า ท่านต้องการบำเพ็ญบุญกุศล แต่พระที่ท่านนิมนต์ไปท่านก็สบายดี ไม่ได้อาพาธอะไร และการไปสรงก็ไปสรงเพื่อเป็นบุญเป็นกุศลของตัวท่านที่ต้องการบุญกุศลในขณะนั้น แต่ท่านไม่คิดถึงพระภิกษุผู้อาพาธซึ่งต้องการผู้ปฏิบัติ ผู้พยาบาล และการสรงน้ำให้แก่ภิกษุผู้ที่อาพาธนั้นก็เป็นบุญกุศลจริงๆ เป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง ที่ทำความสะดวกสบายให้แก่ผู้ที่กำลังได้รับทุกขเวทนาอาพาธเพราะความไข้
ถ้าจะสรงน้ำ หรือจะปฏิบัติ หรืออุปัฏฐากพระภิกษุที่กำลังอาพาธ เพื่อให้ความสะดวกสบายอย่างนั้น ก็พร้อมทั้งเหตุผล
ไม่ใช่ท่านต้องการบุญกุศล ท่านก็นิมนต์พระที่สบายดีทุกประการ แล้วมาสรงน้ำเป็นธรรมเนียมให้ท่านเปียก เพื่อที่ท่านจะได้บุญกุศล
แต่บุญกุศลที่ท่านจะได้ในฐานะของพุทธศาสนิกชน ก็มีโอกาสเจริญกุศลได้หลายประการ รวมทั้งการปฏิบัติแก่ภิกษุผู้อาพาธด้วย
พระวินัยปิฎกก็ได้กล่าวถึงองค์ของภิกษุอาพาธที่พยาบาลได้ยากไว้ ๕ อย่าง และองค์ของภิกษุผู้อาพาธที่พยาบาลได้ง่าย ๕ อย่าง นอกจากนั้นก็ยังมีข้อความถึงภิกษุผู้ไม่เข้าใจพยาบาล ๕ อย่าง และผู้เข้าใจพยาบาล ๕ อย่าง
ซึ่งถ้าท่านทราบไว้บ้าง ก็จะเห็นได้ว่าสามารถจะเจริญสติปัฏฐานได้
สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจพยาบาลผู้ป่วยไข้ ๕ อย่างนั้นก็คือ
ประการที่ ๑ ไม่สามารถเพื่อประกอบยา คือ ไม่ทราบว่าจะให้ยาอะไรแก่โรคอะไร
ประการที่ ๒ ไม่รู้จักของแสลงและไม่แสลง ก็อาจจะเอาของแสลงไปให้ และเอาของที่ไม่แสลงกลับไป ซึ่งก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่อาพาธ หรือว่าผู้ป่วยไข้
ประการที่ ๓ ผู้ที่ไม่เข้าใจพยาบาลนั้น เป็นผู้ที่เห็นแก่อามิส ไม่มีจิตเมตตา
มีความมุ่งหวังเพื่อสิ่งหนึ่งประการใดแล้ว ก็ย่อมจะไม่พยาบาลด้วยความเต็มอกเต็มใจ หรือว่าไม่ใช่ด้วยความเมตตาจิตอย่างแท้จริง การพยาบาลนั้นก็พยาบาลอย่างไม่เต็มที่
ประการที่ ๔ ผู้ที่ไม่เข้าใจพยาบาลนั้น ย่อมเกลียดที่จะนำอุจจาระ ปัสสาวะ เขฬะ อาเจียนออกไป
ประการที่ ๕ ไม่สามารถชี้แจงให้คนไข้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาในกาลทุกเมื่อ
นี่เป็นสิ่งสำคัญในพระธรรมวินัย เพราะเหตุว่าสิ่งที่จะมีประโยชน์ยิ่ง คือ ธรรมีกถา คำพูดในธรรมที่จะอุปการะให้คนไข้มีจิตใจที่สบาย เกิดเป็นกุศลจิต ซึ่งจะเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้ได้ประโยชน์ทั้งร่างกายและจิตใจด้วย การเจริญสติปัฏฐานย่อมเจริญได้ทั้งผู้ที่อาพาธเป็นไข้และผู้ที่พยาบาลด้วย มีการกล่าวธรรมหรือแสดงธรรมีกถาให้บุคคลผู้อาพาธนั้นมีใจอาจหาญร่าเริงในธรรม ไม่ใช่แต่รักษากาย แต่ว่ารักษาใจด้วย
อย่าให้ความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนไขว้เขว ละเลยการที่จะพิจารณานามและรูปที่กำลังปรากฏ และก็มุ่งหวังคอยว่า เมื่อไรจะรู้แจ้งอริยสัจ เพราะว่าอริยสัจ คือ การรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลในขณะที่กำลังเจริญเหตุ เพื่อให้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคลเป็นผู้ตรงต่อเหตุและผล เวลาที่ท่านบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล ท่านเป็นผู้ตรงต่อเหตุผล ท่านเป็นผู้ที่ละอคติได้ ท่านไม่หวั่นไหวไปเพราะฉันทาคติ เพราะโทสาคติ เพราะโมหาคติ เพราะภยาคติ ท่านไม่หวั่นไหวในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์
จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลเป็นผู้ที่ละอคติ แต่ท่านก็มีการสงเคราะห์ญาติตามควร ซึ่งถ้าท่านผู้ใดยังไม่เข้าใจ อาจจะอ่านพระไตรปิฎก แล้วก็คิดเข้าใจผิด ว่า ท่านยังมีอคติ คือ ยังมีความลำเอียงเพราะฉันทาคติบ้าง ในความเป็นญาติ หรือเพราะโทสาคติ เพราะโมหาคติ เพราะภยาคติ
แต่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ท่านจะไม่หวั่นไหว และผู้ที่ศึกษาธรรมจะต้องเข้าใจเหตุผลให้ถูกต้องด้วย ที่กล่าวเรื่องนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่า บางท่านอาจจะคิดว่า พระผู้มีพระภาคเองทรงมีอคติ ฉันทาคติในหมู่พระญาติ แต่ถ้าท่านเข้าใจว่า พระอริยบุคคลทั้งหลายท่านละอคติ ท่านเป็นผู้ตรงต่อเหตุต่อผล ต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะว่าบุคคลที่เป็นญาติมีอุปการะกัน ก็จะต้องสงเคราะห์ตามควรแก่หน้าที่ด้วย แต่ไม่ใช่เพราะอคติ
พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ มีข้อความว่า
ภิกษุผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ อันพระอุปัชฌายะว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรม ได้ยกวาทะของท่านพระอุปัชฌายะ แล้วเข้าไปสู่ลัทธิเดียรถีย์นั้นดังเดิม แล้วกลับมาขออุปสมบทต่อภิกษุทั้งหลายอีกนั้น ไม่พึงอุปสมบทให้ แม้ผู้อื่นที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ พึงให้ปริวาส ๔ เดือนแก่เธอ (คือ การที่จะต้องดูความประพฤติปฏิบัติของผู้นั้นว่า สมควรแก่การที่จะอุปสมบทในพระธรรมวินัยหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเมื่อมาขออุปสมบท ก็ให้อุปสมบททันที)
วิธีให้ปริวาส และข้อปฏิบัติที่มิให้สงฆ์ยินดี ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะไม่ให้อุปสมบทในธรรมวินัยนั้น มีดังนี้คือ
ประการที่ ๑ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ในพระธรรมวินัยนี้ เข้าบ้านเช้าเกินไป กลับสายเกินไป
ประการที่ ๒ มีหญิงแพศยาเป็นโคจร มีหญิงหม้ายเป็นโคจร เป็นต้น
ประการที่ ๓ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ขยัน เกียจคร้านในการงานน้อยใหญ่ของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ไม่ประกอบด้วยปัญญา พิจารณาสอดส่องในการนั้น ไม่อาจทำ ไม่อาจจัดการ แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี
ประการที่ ๔ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่สนใจในการเรียนบาลี ในการเรียนอรรถกถา ในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เป็นต้น
ประการที่ ๕ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ในพระธรรมวินัยนี้ หลีกมาจากสำนักเดียรถีย์แห่งครูคนใด เมื่อมีผู้กล่าวติครูคนนั้น ติความเห็นของครูคนนั้น ความชอบใจ ความพอใจ และความยึดถือของครูคนนั้น ก็ยังโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ เมื่อมีผู้กล่าวติพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับพอใจ ร่าเริง ชอบใจ ก็หรือตนหลีกมาจากสำนักเดียรถีย์แห่งครูคนใด เมื่อมีผู้กล่าวสรรเสริญครูคนนั้น สรรเสริญความเห็น ความชอบใจ ความพอใจ และความยึดถือของครูคนนั้น ย่อมพอใจ ร่าเริง ชอบใจ เมื่อมีผู้กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ
ข้อนี้เป็นเครื่องสอบสวนในความปฏิบัติที่ไม่ชวนให้สงฆ์ยินดี แห่งกุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดีเช่นนี้แล มาแล้ว ไม่พึงอุปสมบทให้
ส่วนข้อปฏิบัติที่ให้สงฆ์ยินดีนั้น ก็โดยนัยตรงกันข้าม ต่อไปมีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชฎิลผู้บูชาไฟเหล่านั้นมาแล้ว พึงอุปสมบทให้ ไม่ต้องให้ปริวาสแก่พวกเธอ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะชฎิลเหล่านั้นเป็นกรรมวาที กิริยวาที
ข้อความต่อไปมีความว่า
ถ้าศากยะโดยกำเนิด เคยเป็นอัญญเดียรถีย์มา เธอมาแล้ว พึงอุปสมบทให้ ไม่ต้องให้ปริวาสแก่เธอ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราให้บริหารข้อนี้เป็นส่วนพิเศษเฉพาะหมู่ญาติ
ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงสงเคราะห์พระญาติเลย จะเป็นที่ติหรือจะเป็นที่สรรเสริญ การสงเคราะห์เป็นบุญเป็นกุศล ถึงแม้ว่าจะสงเคราะห์ญาติ ก็ไม่ใช่ว่าจะสงเคราะห์ด้วยความผูกพันในบุคคลเหล่านั้นด้วยอกุศลจิต ไม่ใช่ด้วยโลภะ แต่ว่าด้วยความเมตตา โดยฐานะที่ควรแก่ความเป็นญาติ ไม่ใช่เพราะฉันทาคติ ไม่ใช่เพราะโทสาคติ ไม่ใช่เพราะโมหาคติ ไม่ใช่เพราะภยาคติ
การสงเคราะห์ต้องมี ถ้าจะสงเคราะห์แต่ผู้อื่น ไม่สงเคราะห์ญาติ จะเป็นที่ติเตียนหรือจะเป็นที่สรรเสริญ
สำหรับเรื่องของอคติ ในพระวินัยปิฎกปริวารว่าด้วยไม่ถึงฉันทาคติ ที่กล่าวถึงพระธรรมวินัย ก็เพื่อที่จะให้น้อมนำธรรมที่ได้ฟัง มาไตร่ตรองพิจารณาเทียบเคียงกับจิตใจของท่านเองด้วยความละเอียด เพื่อประโยชน์ของตัวท่านว่า เป็นอย่างนั้นบ้างหรือไม่ เพราะเหตุว่าผู้ที่ละอคติได้นั้นเป็นพระอริยบุคคล แต่ผู้ที่กำลังดำเนินหนทาง ประพฤติปฏิบัติที่จะให้เป็นพระอริยบุคคล ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม
ถ้าท่านผู้ใดหวังที่จะบรรลุผล คือ การละอคติและเป็นผู้ตรงต่อธรรม แต่ระหว่างที่กำลังประพฤติปฏิบัติ ไม่ตรงต่อธรรม ก็ไม่มีการที่จะบรรลุถึงความเป็นผู้ตรงต่อธรรมได้ แต่ถ้าท่านผู้ใดหวังความเป็นผู้ละอคติ การประพฤติปฏิบัติของท่าน ก็ต้องตรงต่อธรรมไปเรื่อยๆ วันหนึ่งท่านถึงจะเป็นผู้ไม่หวั่นไหว และก็ตรงต่อธรรม ละอคติได้
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 3
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 4
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 5
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 6
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 7
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 8
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 9
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 10
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 11
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 12
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 13
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 14
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 15
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 16
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 17
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 18
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 19
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 20
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 21
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 22
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 23
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 24
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 25
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 26
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 27
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 28
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 29
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 30
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 31
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 32
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 33
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 34
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 35
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 36
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 37
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 38
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 39
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 40
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 41
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 42
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 43
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 44
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 45
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 46
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 47
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 48
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 49
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 50
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 51
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 52
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 53
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 54
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 55
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 56
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 57
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 58
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 59
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 60