แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 9
ครั้งที่ ๙
ถามปัญหาต่อจากครั้ง ๘
ถ. เมื่อกี้อาจารย์พูดถึงเรื่องการฟัง เหมือนกับว่าการฟังธรรมนี้สำคัญสูงสุด บางคนอาจจะไม่มีโอกาสที่จะไปฟังธรรม ถ้าจะอ่านหนังสือท่านพุทธทาส หรือหนังสือของหลวงพ่อองค์ใดองค์หนึ่ง แล้วสามารถจะละกิเลสได้ ดิฉันคิดว่าก็เป็นวิธีการที่จะปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ที่ดิฉันฟังจากอาจารย์พูดนี้ ดิฉันรู้สึกว่าที่ท่านอาจารย์อธิบายมาทั้งหมดนี้ ก็คือการที่ว่า ถ้าเมื่อไรเราไม่มีตัวตน เราไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ขณะที่พูดนี้ก็คิดว่าเป็นจิตของเรามาประกอบกัน เนื้อหนังมังสาเอ็นกระดูกมาประกอบกันเป็นตัว ก็มีจิต ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวเรา แล้วเมื่อไรก็ตามที่เราละตัวของเราได้ อันนั้นเราก็เข้าถึงธรรม อันนี้ไม่ทราบว่าจะถูกไหม ดิฉันคิดว่าทุกคนมีปัญญาทั้งนั้น เด็กเกิดมาปัญญาเขาก็เกิดมาแล้ว เพราะว่าเมื่อเขาเกิดหิว เขาก็ร้องออกมา นั่นคือปัญญา ในระดับเด็กระดับหนึ่ง เมื่อโตขึ้นมาเรียนหนังสือระดับ ป.๔ ก็มีปัญญาระดับ ป.๔ จบปริญญาตรีก็มีปัญญาระดับที่จะวิเคราะห์ปัญหาในระดับปริญญาตรี หรือจะเป็นชาวบ้านเขาก็มีปัญญาเหมือนกัน เป็นต้นว่าเขาอาจจะเป็นแม่ค้า เขาก็มีปัญญาในระดับของเขาอย่างนั้น ดิฉันคิดว่าปัญญาคืออย่างไร มีความหมายอย่างไร ลึกซึ้งขนาดไหน ไม่จำเป็นจะต้องไปนั่งฟังพระแล้วปัญญาเกิด ปัญญาคืออะไรก็ตามที่มนุษย์รู้ รับรู้สิ่งเหล่านั้นแล้วเกิดวิเคราะห์พิจารณาแล้วเกิดความรู้สึกรู้ขึ้น ดิฉันคิดว่าเป็นบุญข้อ ๑ ในบุญกิริยา ๑๐ ประการ คือพิจารณาเห็นความเป็นจริงตามสภาวธรรม หรือว่าเห็นธรรมชาติของสิ่งนั้น ดิฉันอยากจะอธิบายเหมือนกับว่า สมมติว่าเงินเดือนออกมา ดิฉันใช้หมด ใช้ไม่เป็น สิ้นเดือนก็เดือดร้อน คืออันนั้นเราก็รู้ว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น เพราะเราไม่สามารถจัดการกับเงินของเราได้ ความทุกข์มันก็ต้องเกิด นี่ก็เป็นปัญญาระดับหนึ่ง แต่ว่าปัญญาคงไม่ได้หมายถึงว่าเราต้องมานั่งเรียนธรรม แล้วรู้ว่าเมื่อเสียงมากระทบหูแล้วนี้คือปัญญา ถ้าเราไม่พิจารณาอย่างนี้ไม่มีปัญญา ดิฉันคิดว่าไม่ถูก ปัญญาก็ต้องว่าปัญญา.
อีกอย่างที่ดิฉันอยากจะติง คือดิฉันเองยึดมั่นในพระพุทธศาสนามากๆ เลย แต่อาจจะทำผิด ทำไม่ถูก แต่ดิฉันได้ยินอยู่เสมอบ่อยๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ที่กล่าวว่า พุทธศาสนานี้เป็นศาสนาที่ดีที่สุดในโลก พระบางท่านก็สอนว่าธรรมก็คือธรรมชาติ ไม่ว่าจะศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ถ้าปฏิบัติอะไรไปในลักษณะของธรรมชาติอันนั้นก็คือธรรม แล้วก็ไม่จำเป็นที่พุทธศาสนา จะต้องดีที่สุดในโลก เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่าทุกศาสนาก็ดีเท่ากัน ดีอย่างไร ดีในแง่ว่าแก้ปัญหาได้หรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ
สุ. นี่เป็นเรื่องของภาษา คือการใช้คำ ตามที่ดิฉันได้เรียนให้ทราบแล้วว่าภาษาไทยเราใช้คำภาษาบาลีมาก ชื่อของเราส่วนมากก็มาจากภาษาบาลี แม้แต่คำว่า สติปัญญา ก็เป็นภาษาบาลีทั้งนั้น มานะก็เป็นภาษาบาลี พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเป็นภาษาบาลี เพื่อส่องถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ เช่นมานะ เป็นสภาพธรรมที่สำคัญตน เหมือนลักษณะของธงซึ่งสภาพที่สูงเด่นนั้น ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ยังมีความสำคัญตน คือเราจะดี จะชั่ว จะต่ำ จะสูง ก็คือเรา นี่คือมานะเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่ในภาษาไทยคำว่ามานะ ดูคล้ายกับจะเป็นกุศล เราเอาภาษาบาลีมาใช้เป็นภาษาไทยในความหมายของภาษาไทยไปเลย
ฉะนั้น เราจึงต้องรู้ว่าเรากำลังพูดถึงคำว่าปัญญาในภาษาไทย หรือกำลังพูดถึงสภาพของปัญญาในพระพุทธศาสนา การพิจารณาทั่วๆ ไปนี้ ไม่ใช่ลักษณะของปัญญา แต่เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงใช้ภาษาบาลีว่า มนสิการ เป็นสภาพธรรมที่สนใจใส่ใจพิจารณา ฉะนั้น เราต้องเข้าใจกันก่อนว่า ขณะนี้เรากำลังพูดในความหมายภาษาไทย หรือว่าเรากำลังพยายามเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นภาษาบาลี
อีกประการหนึ่ง ที่พูดว่าไม่น่าจะคิดว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ดีที่สุด เพราะดูเสมือนว่าชาวพุทธเราจะเป็นผู้ที่ยึดมั่นในความเชื่อของเราว่า เราต้องถูกหรือดีที่สุด แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมซึ่งไม่จำกัดเชื้อชาติศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น "เห็น" เป็นศาสนาอิสลาม หรือศาสนาคริสต์ "ได้ยิน" เป็นศาสนาพุทธหรือศาสนาอะไร
"เห็น" คือ "เห็น" เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่ศาสนาอะไรเลย แต่ชาติในพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง มี ๔ ชาติ ไม่ใช่ชาติไทย ไม่ใช่ชาติฝรั่ง ไม่ใช่ชาติจีน ไม่ใช่ชาติญี่ปุ่น แต่เป็นชาติกุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า จิตที่เป็นกุศลไม่ใช่จิตที่เป็นอกุศล ไม่ได้เป็นชาติไทย ฝรั่งอะไรเลยทั้งสิ้น ฉะนั้นถ้าไม่ได้ศึกษาจริงๆ ก็จะคิดเอาเองว่าพระพุทธศาสนาหมายความว่าอย่างนี้อย่างนั้น ควรศึกษาเสียก่อนแล้วจะได้เปรียบเทียบว่า ก่อนศึกษาและหลังศึกษานั้น ความเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้นถูกต้องขึ้น หรือว่าเมื่อก่อนศึกษานั้นเรารู้ดีกว่า เราไม่ต้องศึกษาพระพุทธศาสนาก็ได้
อีกอย่างหนึ่งจะเปลี่ยนคำก็ได้ คือแทนการฟังพระธรรม ก็เปลี่ยนเป็นศึกษาพระธรรม ซึ่งจะอ่านก็ได้ ฟังก็ได้ ตรึกตรองพิจารณาให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ตามเหตุ ตามผล ชื่อว่าเป็นการศึกษา ในพระพุทธศาสนามี ๒ คำ คือ เสกขบุคคล และ อเสกขบุคคล
อเสกขบุคคล หมายถึงผู้ที่ไม่ต้องศึกษาอีก ซึ่งได้แก่บุคคลประเภทเดียวคือพระอรหันต์ พระอรหันต์กระทำกิจ "ดับกิเลส" เสร็จแล้ว ไม่ต้องทำกิจดับกิเลสใดๆ อีกเลย มีศาสนาอื่นไหมที่สอนให้ดับกิเลสหมด
การเปรียบเทียบศาสนาต่างๆ นั้น ศาสนาที่สอนให้เข้าใจและประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนดับกิเลสได้จนหมดสิ้นนั้น ไม่เรียกว่าศาสนาพุทธก็ได้ กิเลสมีจริงเป็นสิ่งที่ไม่ดี มีหนทางอื่นใดไหมที่จะอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะดับกิเลสหมด นอกจากความรู้ ความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมถึงขั้นดับกิเลสได้จริง นี่ไม่ใช่การยึดถือ แต่สภาพธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้ว่า ความเห็นมี ๒ อย่างคือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ๑ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ๑ ความเห็นถูกคือ เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ไม่คลาดเคลื่อน ไม่เข้าใจผิด เห็นว่าสภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นถูกหรือเห็นผิด เห็นว่าสภาพธรรมไม่มีปัจจัย เกิดขึ้นมาลอยๆ นั้น เห็นถูกหรือเห็นผิด
ผู้ที่ไม่พิจารณาย่อมไม่รู้ไม่เข้าใจเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาพธรรมต่างๆ จึง คิดว่าทุกอย่างเกิดขึ้นมาเอง เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่ผู้ที่รู้นั้น สามารถหยั่งรู้และแทงตลอดในเหตุในผลของสภาพธรรม ฉะนั้น การจะดับทุกข์จึงต้องรู้เหตุของทุกข์ การจะดับกิเลสก็ต้องรู้เหตุของกิเลสจึงจะดับได้ เมื่อเหตุของอกุศลทั้งหลายคือ "อวิชชา" ธรรมที่ตรงกันข้ามคือ "วิชชา" ที่จะดับอวิชชาได้
เมื่อเข้าใจสภาพธรรมถูกต้องก็พิจารณาได้ว่า ศาสนาทุกศาสนาเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร ถ้าเหมือนกันก็ไม่จำเป็นต้องมีหลายศาสนา แต่เมื่อมีความคิดเห็นหลายอย่าง จึงต่าง กันเป็นหลายศาสนา ฉะนั้น จึงควรวิเคราะห์แต่ละศาสนาว่าสอนเรื่องอะไร และข้อไหนถูกข้อไหนผิด จากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สภาพธรรมเป็นความจริงที่ไม่มีศาสนา ถูกคือถูก ผิดคือผิด
จากสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ว่าในศาสนาไหนความกตัญญูเป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดี เอาชื่อศาสนาออก สภาพธรรมนั้น ก็คงเป็นอย่างนั้น คือเป็นกุศลธรรม ความลบหลู่หรือความอกตัญญู ถ้าใครบอกว่าดี ก็ต้องเป็นความเห็นผิดแน่ ในเมื่อเป็นอกุศลจะดีได้อย่างไร
พระพุทธศาสนาแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็น อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ สมัยที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงธรรม ที่ประเทศอินเดียมีศาสนาอื่นมากมายหลายศาสนา มีครูที่มีชื่อเสียงเช่นสัญญชัยเป็นต้น เอาคำสั่งสอนของท่านเหล่านั้นมาตรวจเทียบดูว่า มีเหตุ มีผลไหม และไม่ใช่แต่ในยุคนั้นสมัยนั้น แม้สมัยนี้ก็ตามเราก็สามารถศึกษาศาสนาอื่นๆ และไม่ติดที่ศาสดา แต่พิจารณาว่าคำสอนนั้นถูกหรือผิดอย่างไร เหตุผลก็ต้องเป็นเหตุผล สภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็ต้องเป็นจริงอย่างนั้น
ถ. ถ้าจะบอกว่า ให้ศึกษาตามสภาพเป็นจริง ก็ดูยาวนานเหลือเกิน ถ้าจะว่าไปแล้ว ผมว่าปัจจุบันเทคนิคที่จะฟังหรือจะอ่านอะไรก็ตามเจริญขึ้นเรื่อยๆ ถ้าปรากฏคล้ายๆ กับทำนองว่าคงอีกนาน ซึ่งดูแล้วก็ค่อนข้างจะท้อแท้ ไม่ทราบว่าจะต้อง รอไปอีกกี่หมื่นชาติ ต่างกับอีกหลายๆ คนที่เขาเริ่มดีขึ้น อีกประการหนึ่งที่บอกว่า บางครั้งถูกวัวหรือควายชน ก็มีดวงตาเห็นธรรมวูบขึ้นมาทันที ในขณะที่เราเองก็ค่อยๆ พิจารณาไปว่าจิตเกิดดับอย่างโน้นอย่างนี้ จุติ ปฏิสนธิ มาเรื่อยๆ อย่างนี้ ก็ไม่ง่ายเลยที่จะเห็นธรรม แล้วทำไมเขาถึงทำง่ายๆ อย่างนั้น
สุ. ได้ยินมาอย่างโน้นบ้าง อย่างนี้บ้าง ก็เป็นแนวทางที่จะให้คิดไปต่างๆ เรื่อง ที่ว่าอีกนานนั้น ก็เพราะว่าคนที่ไม่รู้ก็อยากจะรู้เร็ว แต่ว่ายิ่งอยากก็ยิ่งนาน เพราะว่าความอยากนั้นเป็นอกุศล แต่ถ้าปัญญาเกิดแทนความอยาก จะเร็วหรือจะช้า
วันนี้ความอยากของเรามากเท่าไรแล้ว ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้น โลภะก็ไม่ได้ห่างไปเลย จะแปรงฟัน ล้างหน้า รับประทานอาหาร ใส่เกลือ พริกไทย ปรุงรสต่างๆ ทำงาน ดูโน่น ดูนี่ ความอยากของเรามีมากขนาดนี้ ถ้าปัญญาของเราเกิด ขึ้นแทนความอยากเหล่านั้นได้ ก็จะไม่ช้าเลย แต่เมื่อความอยากของเรามีทุกวันตั้ง แต่เช้าจนถึงเย็น ตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ แล้วเราก็ยังบอกว่าปัญญานี้ดูช่างแสนไกลและช้ามากเสียเหลือเกิน ก็ปัญญาไม่ได้เกิดอย่างโลภะ แล้วจะให้เร็วได้อย่างไร และก็ไม่ได้มีแต่เพียงชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น
ผู้ฟังพระธรรมในอดีตกาล มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะอย่างเรา บางคนไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความโกรธ แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมก็รู้ว่าตัวเองผิด และผู้ที่ไปเฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและฟังพระธรรมก็เป็นปุถุชน แต่เมื่อไปเฝ้าบ่อยๆ ได้ฟังพระธรรมบ่อยๆ ในที่สุดก็ได้เป็นพระอริยบุคคลในชาตินั้นเอง หรือในชาติหลังๆ จากนั้นอีกหลายกัปป์ก็ได้
ผู้มีปัญญาย่อมไม่อยากเป็นพระอริยบุคคลโดยไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และถ้าจะให้ไปปฏิบัติอะไร โดยปัญญาไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ จะปฏิบัติไหม หรือถ้าใครจะให้เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี โดยไม่รู้อะไรเลย จะเชื่อไหม หรือใครบอกว่าทำอย่างนี้แล้วเร็วดี จะปฏิบัติไหม ในเมื่อปัญญาไม่เกิดเลย
แม้ปัญญา ในขั้นฟังก็ไม่มีไม่รู้ว่าปัญญารู้อะไร ไม่รู้ว่าจะอบรมให้ปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไร เลยบอกว่าพระไตรปิฏกคลาดเคลื่อน แต่เมื่อศึกษาแล้วก็จะรู้ว่า ไม่มีใครเขียนพระไตรปิฏกได้เลย ถ้าท่านพระอานนท์ไม่ทรงจำไว้ และไม่มีการสังคายนาสืบต่อกันมา คนในยุคนี้สมัยนี้ จะเขียนพระไตรปิฏก เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ถ. ถ้าพระไตรปิฏกมีความสำคัญจริง ทำไมพระผู้มีพระภาคไม่ทรงสั่งสอนให้บรรดาสาวกท่องพระไตรปิฏกไว้เลย ก่อนที่พระองค์จะดับขันธ์ปรินิพพาน เพราะว่าในสมัยพระพุทธองค์ก็ไม่ได้คิดที่จะทำพระไตรปิฏกไว้ เพื่อสอนให้เป็นวิธีที่ง่าย ที่สุด
สุ. ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า พระไตรปิฏกคืออะไร มาจากไหน เมื่อ ศึกษาพิจารณาแหล่งที่มาของพระไตรปิฏกแล้ว ก็จะรู้ว่าพระไตรปิฏกคือ ธรรมที่ประมวลคำสอนของพระผู้มีพระภาคใน ๔๕ พรรษา และแยกออกเป็นพระวินัย ส่วนหนึ่ง พระธรรมส่วนหนึ่ง และพระธรรมนั้นก็แยกเป็นพระสุตตันตปิฏกส่วนหนึ่ง เป็นพระอภิธรรมส่วนหนึ่ง ท่านพระอานนท์และท่านพระเถระทรงจำพระธรรมวินัยสืบทอดต่อๆ กันมา จนกระทั่งจารึกไว้เป็นพระไตรปิฏกนั่นเอง
ความจำของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ลองอ่านพระสูตรสักสูตรหนึ่ง ตั้งแต่ต้น เริ่มตั้งแต่ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ (ข้าพเจ้าคือท่านพระอานนท์) สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ต่อจากนั้นก็ดำเนินเรื่องไปโดยละเอียดมาก
เริ่มตั้งแต่ในเวลาเช้าที่ยังไม่ถึงเวลาเสด็จบิณฑบาต พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่าควรที่จะได้สนทนากับพราหมณ์ชื่อนั้น ณ สถานที่นั้น จึงเสด็จไปยังสำนักของพราหมณ์นั้น ทรงปราศัย ทรงสนทนาโต้ตอบ เมื่ออ่านพระสูตรนั้นจบแล้ว มีใครบ้างที่จำพระสูตรนั้นได้ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ท่านพระอานนท์เถระเป็นเอตทัคคะในทางทรงจำ ขณะที่ท่านฟังพระธรรมนั้น คติคือทางของปัญญาของท่านนั้นพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ สามารถที่จะไตร่ตรองธรรมนั้นเกี่ยวเนื่องกันไปถึง ๖ หมื่นข้อ
ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าความสามารถของบุคคลในครั้งโน้น กับบุคคลในครั้งนี้ที่ผิดกันมาก ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้วกับสมัยปัจจุบัน ซึ่งเมื่อจะเทียบเคียงสติปัญญากัน ก็ควรเทียบเคียงในเรื่องความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม
ขณะที่สภาพธรรมกำลังเกิดดับนี้ ไม่ประจักษ์แจ้งเลย แล้วทำอย่างไรจึงจะประจักษ์แจ้งได้จริงๆ คำว่า อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา จริงหรือไม่จริง ถ้าไม่จริงก็ไม่ใช่สัจจธรรม แต่เมื่อเป็นสัจจธรรมก็ย่อมมีหนทางที่ปัญญาสามารถประจักษ์แจ้งได้ ในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสังขตธรรม ซึ่งมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเกิด ขึ้นแล้วก็ดับไป นี่คือความเห็นถูกขั้นต้นซึ่งยังดับกิเลสไม่ได้
ถ้าใครบอกว่าปัญญาดับกิเลสได้เร็ว ให้ทำอย่างนี้อย่างนั้น ก็ไม่ใช่ปัญญาเพราะเป็นความไม่รู้อยู่นั่นเอง และเป็นความไม่รู้ซึ่งทำไปด้วยความต้องการคือโลภะด้วย ขณะใดที่ต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นเป็นโลภะทั้งนั้น โลภะไม่ได้ต้องการเพียงรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย การสัมผัสที่สบาย แต่โลภะต้องการทุกสิ่งทุกอย่าง ลักษณะของโลภะเป็นลักษณะที่ติดข้อง ฉะนั้นโลภะจึงเป็นสมุทัย และเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ก็ตรัสอุทานว่า ได้ทำลายนายช่างเรือนคือโลภะได้แล้ว
ถึงมีโลภะ แต่เมื่อปัญญาไม่เกิดก็ไม่รู้ว่ามีโลภะเมื่อไร คนหนึ่งต้องการจะบรรลุนิพพานเร็วๆ แต่ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเลย อีกคนหนึ่งไม่ต้องการถึงเร็ว แต่ต้องการอบรมปัญญาที่รู้สภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏ อย่างไหนจะถูกต้องกว่ากัน เร็วหรือช้าไม่สำคัญ เพราะต้องเป็นความรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรม และผู้ที่อบรมปัญญามามากแล้วก็รู้ได้เร็ว ไม่ช้าเลย เช่นท่านพระสารีบุตรรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน เมื่อได้ฟังธรรมจากท่านพระอัสสชิเพียงสั้นๆ และหลังจากนั้นอีก ๑๕ วัน ท่านก็ดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นพระอรหันต์
แทนที่จะอยากเป็น ก็อบรมสติปัญญาระลึกรู้พิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที แทนที่จะเป็นโลภะก็อบรมเจริญปัญญาได้ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ เมื่อปัญญาเจริญขึ้นก็ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมได้ เพราะว่าเหตุสมควรแก่ผล แต่ถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผล อยากสักเท่าไร ผลก็ย่อมเกิดไม่ได้ ฉะนั้นแทนที่จะอยาก ก็ขอให้เป็นปัญญาที่รู้ความจริงว่า ปัญญารู้อะไรและปัญญารู้ในขณะนี้ได้ไหม
ถ้าเป็นปัญญาย่อมสามารถเกิดขึ้นประจักษ์แจ้ง การเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ก็ได้ ขณะนี้ สภาพธรรมกำลังเกิดดับ "เห็น" กำลังเกิดดับ เมื่อประจักษ์แจ้งการเกิดดับและปัญญาคมกล้าขึ้นก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลได้ "คิดนึก"กำลังเกิดขึ้นแล้วดับไป เมื่อไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เลย ก็เป็นพระอริยบุคคลไม่ได้
ถ. อาจารย์พูดถึงการอบรมปัญญา สมมติว่าตอนนี้เรานิยมพระป่าที่ออกธุดงค์ เรามักจะได้ยินว่า พระป่าท่านไปธุดงค์ในป่าเขาลำเนาไพรที่ไม่มีมนุษย์อยู่ อาจจะไปเผชิญกับสิงสาราสัตว์หรือความทุกข์ยาก ก็จะทำให้เห็นทุกข์ เพื่อได้บรรลุธรรม ไม่ทราบว่าวิธีนี้จะตรงกับที่อาจารย์สอนไหม คือถ้าเป็นแบบนี้จะบรรลุธรรมได้ไหม โดยไม่ต้องอบรมปัญญา
สุ. ไม่ได้เลย ไม่ตรง และบรรลุธรรมไม่ได้เลย เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะบรรลุธรรม คือรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
ถ. ทีนี้สมมติว่าเข้าไปอยู่ในป่า อย่างที่เราอ่านหนังสือบ่อยๆ อาจจะมีเทวดามาพูดโต้ตอบกัน พูดคุยกันทางธรรมแล้วปัญญาเกิด ความทุกข์ที่มีมากๆ อาจจะสอนตามธรรมชาติ แล้วทำให้รู้ธรรม ไม่ทราบว่าอย่างนี้จะได้หรือเปล่า
สุ. บรรลุธรรมนั้น บรรลุอย่างไร
ถ. ก็อย่างที่เราอ่านหนังสือกันบ่อยๆ พระป่าท่านก็บอกว่า ท่านบรรลุธรรม ท่านมองเห็นสัจจธรรม
สุ. สัจจธรรม คือเดี๋ยวนี้หรือเปล่า
ต. ก็ไม่รู้ซีคะ
สุ. ไม่รู้ก็คือไม่รู้ ใครปฏิบัติอย่างไรเราก็ไม่รู้ ใครคิดว่าตัวเองบรรลุ เราก็ไม่รู้ คนอื่นว่าคนนั้นคนนี้บรรลุ เราก็ไม่รู้ แทนที่จะเป็นไม่รู้ก็ขอให้เป็นปัญญาของเราเอง ที่รู้หนทางว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลได้นั้น เพราะปัญญารู้อะไร และอบรมเจริญปัญญาขึ้นได้อย่างไร
ถ. คือพระส่วนใหญ่พอบวชเสร็จ ท่านก็ต้องเรียนในวัดบ้างเล็กน้อย
สุ. นั่นเป็นเรื่องของท่าน แต่เรื่องของเราก็คือ จะต้องรู้ว่าปัญญารู้อะไร จึงจะเป็นพระอริยบุคคลได้ มิฉะนั้น ก็จะเป็นผู้ตื่นเต้นง่าย ใครบอกว่าอะไรก็เชื่อ พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้แล้วเป็นศาสดาแทนพระองค์ ผู้ที่ศึกษาพระธรรมเข้าใจแล้วรู้ว่า การปฏิบัติถูกคืออย่างไร การปฏิบัติผิดคืออย่างไร
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 3
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 4
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 5
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 6
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 7
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 8
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 9
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 10
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 11
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 12
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 13
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 14
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 15
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 16
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 17
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 18
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 19
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 20
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 21
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 22
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 23
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 24
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 25
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 26
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 27
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 28
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 29
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 30
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 31
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 32
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 33
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 34
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 35
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 36
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 37
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 38
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 39
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 40
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 41
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 42
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 43
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 44
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 45
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 46
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 47
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 48
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 49
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 50
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 51
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 52
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 53
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 54
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 55
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 56
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 57
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 58
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 59
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 60