แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 61
ครั้งที่ ๖๑
เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกท่านได้พิจารณาว่าอะไรที่เป็นเครื่องกั้นการเจริญสติ โรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้เลย เมื่อมีการเกิดขึ้น มีตา ก็มีโรคตา มีหู ก็ต้องมีโรคหู มีจมูก ก็ต้องมีโรคจมูก มีลิ้น ก็ต้องมีโรคลิ้น มีกาย ก็ต้องมีโรคกาย เป็นของธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้น ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกก็แสดงให้เห็นว่า การเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นไม่เป็นเครื่องกั้นการเจริญสติปัฏฐานสำหรับผู้ที่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค คิลายนสูตร มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ภิกษุมากรูปกระทำจีวรกรรมของพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่าพระผู้มีพระภาคทรงทำจีวรเสร็จแล้ว จะเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกโดยล่วง ๓ เดือน
ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราชทรงทราบ จึงเสด็จไปเฝ้า กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้หม่อมฉันยังไม่ได้ฟัง ยังไม่ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า อุบาสกผู้มีปัญญา พึงกล่าวสอนอุบาสกผู้มีปัญญา ป่วยได้รับทุกข์เป็นไข้หนัก
นี่เป็นเรื่องที่พระเจ้ามหานามศากยราชใคร่ที่จะได้ทราบด้วยพระองค์เองว่า เมื่อมีผู้ป่วย อุบาสกผู้มีปัญญาควรจะปลอบอุบาสกผู้มีปัญญาว่าอย่างไร เพราะการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นหลีกหนีไม่พ้นแน่ เมื่อเกิดขึ้นแล้วอะไรจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ มีข้อความว่า
อุบาสกผู้มีปัญญา พึงปลอบอุบาสกผู้มีปัญญา ป่วยได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการว่า
ท่านจงเบาใจเถิดว่า ท่านมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ มีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด เป็นไปเพื่อสมาธิ
พอจะเบาใจได้ไหมเวลาป่วยไข้ว่า เป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์แล้ว นี่เป็นอุบาสกผู้มีปัญญา จึงมีความรู้ความเข้าใจในธรรม
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
เมื่อปลอบอุบาสกผู้มีปัญญาผู้ป่วยดังนี้แล้ว พึงถามว่า ท่านมีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่หรือ
ถ้าเขากล่าวว่า ยังมีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่ ก็พึงกล่าวกะเขาว่า ท่านผู้เช่นกับเรา ซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา ถ้าแม้ท่านจักกระทำความห่วงใยในมารดาและบิดา ก็จักตายไป ถ้าแม้ท่านจักไม่กระทำความห่วงใยในมารดาและบิดา ก็จักตายไปเหมือนกัน ขอท่านจงละความห่วงใยในมารดาและบิดาของท่านเสียเถิด
ก็เป็นของธรรมดาซึ่งเกี่ยวเนื่องกันในชีวิตประจำวัน ในคราวก่อนที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ ญาติปลิโพธ ความห่วงใย ความกังวลในผู้ที่มีความสนิทสนมใกล้ชิด เกื้อกูลอุปการะกัน เช่น บิดา มารดา บุตร ธิดาก็ดี เป็นความห่วงใย เป็นความเพลิดเพลิน ซึ่งท่านอาจจะคิดว่าเป็นเครื่องกั้นการเจริญสติปัฏฐาน
ความพึงพอใจก็เป็นเครื่องกั้น ครั้นอาพาธได้รับความทุกข์เป็นไข้หนักก็จะให้เป็นเครื่องกั้นอีก แล้วใครจะหนีพ้นความยินดีความไม่ยินดี ซึ่งมีอยู่เป็นประจำทุกวันๆ ในลักษณะที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นอุบาสกผู้มีปัญญา ซึ่งท่านผู้นั้นเข้าใจธรรม ได้เจริญสติ แต่แม้กระนั้นเวลาที่ป่วยไข้ก็ยังต้องอาศัยธรรมีกถา คำพูดในเรื่องธรรมที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลให้น้อมนำธรรมประพฤติปฏิบัติในขณะนั้น เช่น ในขณะที่ป่วยไข้ก็อาจจะระลึกไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะเคยเจริญสติ เพราะเหตุว่าการเจริญสติรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏแล้ว ก็แล้วแต่ว่าขณะใดสติเกิดขึ้นพิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น กำลังปรากฏในขณะนั้น เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสติพละ เป็นปัญญาพละ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปกติ เห็นตามปกติ เห็นแล้วจะชอบ ไม่ชอบ จะรู้ความหมาย จะคิดนึก จะได้ยินต่อไป จะมีสุข มีทุกข์ต่างๆ เกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ปัญญาที่รู้ชัดเป็นพละ ที่ทำให้รู้สิ่งที่สติกำลังระลึกขณะใดก็ได้ แล้วไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรือว่าสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ตามปกติธรรมดาจริงๆ แต่เพราะเหตุว่าปัญญารู้แล้ว เป็นพละแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาที่สติระลึกที่นามหรือรูปชนิดใด ก็ไม่ยึดถือ ละความยินดี ความต้องการในนามนั้น ในรูปนั้น
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติไม่ใช่ว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง คือ พระนิพพานที่ดับกิเลสโดยง่าย เจริญเนืองๆ เจริญบ่อยๆ ปัญญาเพิ่มขึ้น รู้ชัดมากขึ้น แล้วสติเกิดขึ้นขณะใด ปัญญาก็รู้ลักษณะของสิ่งนั้นเพิ่มขึ้นอีก ละคลายมากขึ้นอีก จึงต้องมีชีวิตตามปกติธรรมดา แต่อาศัยการฟัง เพื่อจะให้น้อมระลึกถึงสภาพธรรมนั้นถูกต้องตามความเป็นจริง
อย่างผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เจริญเป็นปกติในชีวิตประจำวัน มีความผูกพันในบิดามารดา ในญาติสาโลหิตไหม ตามปกติธรรมดามีไหม ไม่ว่าจะเป็นบิดา มารดา เป็นบุตร ธิดา เป็นญาติสาโลหิต ความผูกพันก็ต้องมี แต่ว่าผู้นั้นเป็นผู้กำลังเจริญสติ เป็นผู้ที่ควรจะมีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับตน เพราะอาศัยเหตุปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้รับทุกขเวทนาเพราะอาพาธ เพราะป่วยไข้ ความผูกพัน นั้นหมดไปไหม ไม่หมดใช่ไหม ก็เหมือนปกติธรรมดา บางท่านเวลาที่เจ็บหนักก็ผูกพันในบิดามารดา ในบุตรธิดามาก ไม่ต้องการที่จะพลัดพรากจากไปเลย ความเยื่อใยเป็นนามเป็นรูปที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น อุบาสกผู้มีปัญญาจึงควรปลอบอุบาสกผู้มีปัญญาที่ป่วยว่า มีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่หรือ ถ้าเขากล่าวว่า ยังห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
พึงกล่าวกะเขาว่า ท่านผู้เช่นกับเรา ซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา ถ้าแม้ท่านจะกระทำความห่วงใยในมารดาบิดา ก็จักตายไป ถ้าแม้ท่านจักไม่กระทำความห่วงใยในมารดาและบิดา ก็จักตายไปเหมือนกัน
บางทีผู้ป่วยก็อาจจะเป็นห่วงมารดาบิดามาก แต่ถึงจะห่วงหรือไม่ห่วงก็ต้องตายแน่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น อย่างไรก็จะต้องตายแน่ๆ แล้ว ห่วงดีหรือไม่ห่วงดี ห่วงก็ต้องตาย ไม่ห่วงก็ต้องตาย ไม่ว่าจะเป็นมารดา บิดา หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่เคยประสบพบเห็นกันมาในโลกที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ ถึงคราวที่จะพลัดพราก ทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังปรากฏเหมือนกับความฝัน เพราะเหตุว่าบุคคลนั้นมีอะไรบ้างที่ยังเหลืออยู่ ไม่มีเลยสักอย่างเดียว รูปของบุคคลนั้นก็ไม่มีเหลืออยู่ นามที่จะปรากฏความเป็นบุคคลนั้นที่จะเหลืออยู่ก็ไม่มี ไม่มีเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผ่านไปแต่ละขณะเป็นอดีตที่เหมือนกับความฝันจริงๆ แต่ถ้าตราบใดยังไม่จากโลกนี้ไป ยังเห็นอยู่ ยังได้ยินอยู่ ก็เหมือนกับความจริง
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าเป็นบิดามารดาก็เหมือนความฝันเหมือนกัน ถ้าพลัดพรากจากไปแล้ว ไม่มีอีกแล้วที่จะได้เห็น จะได้พบ จะได้ประสบเป็นบิดามารดาอีกต่อไป ก็เป็นบิดามารดาในภพนี้ในชาตินี้ ต่อไปก็แล้วแต่ภพภูมิข้างหน้าของบุคคลนั้นว่า จะไปเป็นบุตรธิดาของผู้ใด ในภพภูมิใด ในชาติใด ชาติที่แล้วก็เป็นเหมือนกับความฝันจริงๆ ซึ่งอาจจะไม่รู้ อาจจะระลึกไม่ได้ อาจจะลืมหมด ไม่สามารถที่จะเกิดในภูมิที่ระลึกรู้ได้ แต่ภพภูมิใหม่ที่กำลังประสบที่กำลังพบที่กำลังเห็นอยู่ก็เป็นปัจจุบันอีก จนกว่าจะพลัดพรากจากภูมินั้นเมื่อไร ก็เป็นความฝันไปอีกภูมิหนึ่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจประโยชน์ของธรรม อย่างเวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วยมาก ก็ควรที่จะได้มีผู้ปลอบหรือชวนให้ระลึกถึงความจริงว่า ถึงจะห่วงหรือไม่ห่วงก็ต้องตาย
ถ้าเขากล่าวว่า ละความห่วงใยในมารดาและบิดาแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พึงถามเขาอย่างนี้ว่า
ยังมีความห่วงใยในบุตร และภริยาอยู่หรือ
อาจจะละความห่วงในมารดาบิดาผู้สูงอายุแล้ว แต่ก็ยังมีความเยื่อใยห่วงกังวลในบุตรและภรรยาอยู่
ซึ่งถ้าเขากล่าวว่า ยังมีความห่วงใยในบุตรและภริยาอยู่ ก็พึงกล่าวกะเขาว่า ท่านผู้เช่นกับเรา ซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา ถ้าแม้ท่านจะกระทำความห่วงใยในบุตรและภริยาอยู่ ก็จักตายไป ถ้าแม้ท่านจะไม่กระทำความห่วงใยในบุตรและภริยาอยู่ ก็จักตายไปเหมือนกัน ขอท่านจงละความห่วงใยในบุตรและภริยาของท่านเสียเถิด
ไม่ให้ห่วงใครทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นมารดา บิดา บุตร ภริยาก็ตาม ถึงคราวที่ควรจะได้รู้สภาพความจริง ก็ควรเจริญปัญญาให้รู้สภาพความจริง ดีกว่าจะเอาความห่วงใยความกังวล ความผูกพันนั้นมาเป็นเครื่องกั้นภพ คติต่อไป ไม่ให้ไปสู่สุคติภูมิ เพราะถ้าเกิดความห่วงใยแล้ว ก็ไม่ได้ละความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน ไม่มีใครรู้แน่ว่า ภพภูมิต่อไปจะเป็นภพไหนภูมิไหน แต่ถ้าผู้นั้นละความเห็นผิด ไม่ยึดถือนามรูปว่า เป็นตัวตน ผู้นั้นก็จะไม่เกิดในอบายภูมิอีกต่อไป
ถ้าเขากล่าวว่า ละความห่วงใยในบุตรและภริยาแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พึงถามเขาอย่างนี้ว่า
ยังมีความห่วงใยในกามคุณ ๕ อันเป็นของมนุษย์อยู่หรือ
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ในมนุษย์ภูมิ น่าเพลิดเพลินน่าพอใจหรือเปล่า สิ่งที่พบเห็นในโลกนี้ดีนักหรือ หรือว่ายังมีที่ดีกว่านี้อีก เพราะฉะนั้น ผู้ที่กำลังจะจากโลกนี้ไปแล้ว ถ้าได้ทำบุญกุศลที่จะไปสู่สุคติภูมิ ซึ่งอาจจะไม่ต้องกลับมาเกิดในโลกนี้ เพราะเหตุว่าถ้าได้บำเพ็ญบุญไว้มาก ก็คงจะเกิดในภพภูมิที่ประณีตขึ้น
เพราะฉะนั้น ถ้าเขากล่าวว่า ยังมีความห่วงใยในกามคุณ ๕ อันเป็นของมนุษย์อยู่ ก็พึงกล่าวกับเขาอย่างนี้ว่า
กามอันเป็นทิพย์ยังดีกว่า ประณีตกว่ากามอันเป็นของมนุษย์ จงพรากจิตออกจากกามอันเป็นของมนุษย์ แล้วน้อมจิตไปในพวกเทพชั้นจาตุมหาราชเถิด
เป็นเรื่องของคนที่ยังไม่หมดกิเลส ยังคงต้องการสิ่งที่ดีกว่าอยู่เรื่อยๆ ไป ถ้าจะจากโลกนี้ไปแล้ว ก็หวังถึงกาม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ประณีตยิ่งกว่าโลกนี้ เช่น ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช ทำไมถึงให้คลายการที่จะยึด พอใจในกามของมนุษย์ แล้วก็ไปน้อมคิดถึงในชั้นจาตุมหาราช ก็เพื่อไม่ให้เกิดความเสียดายอาลัยอาวรณ์นั่นเอง เพราะเหตุว่ามนุษย์ก็ยังคงชอบสิ่งของในมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ ยังอาลัยอาวรณ์ ยังหวงแหน ยังปรารถนา ยังต้องการอยู่ ยังไม่อยากที่จะพลัดพรากจากไปง่ายๆ แต่ถ้าถึงคราวที่จะพลัดพราก ที่จะไม่ให้อาลัยอาวรณ์ ก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น คือ อย่าคิดถึงกามในมนุษย์โลกเลย กามอื่นที่ประณีตกว่านั้นมี เช่น ในชั้นจาตุมหาราชเป็นต้น
ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตออกจากกามอันเป็นของมนุษย์แล้ว น้อมไปในพวกเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
พึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า พวกเทพชั้นดาวดึงส์ยังประณีตกว่าพวกเทพชั้นจาตุมหาราช ฯลฯ แล้วก็ต่อไปเป็นลำดับ คือ พวกเทพชั้นยามายังดีกว่าประณีตกว่าพวกเทพชั้นดาวดึงส์ พวกเทพชั้นดุสิต ยังดีกว่าประณีตกว่าพวกเทพชั้นยามา พวกเทพชั้นนิมมานรดี ยังดีกว่าประณีตกว่าพวกเทพชั้นดุสิต พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ยังดีกว่าประณีตกว่าพวกเทพชั้นนิมมานรดี พรหมโลกยังดีกว่าประณีตกว่าพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี
ถ้าเขากล่าว่า จิตของเราออกจากพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว น้อมไปในพรหมโลกแล้ว อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ แม้พรหมโลกก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ยังนับเนื่องในสักกายะ ขอท่านจงพรากจิตออกจากพรหมโลก แล้วนำจิตเข้าไปในความดับสักกายะเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพรหมโลกแล้ว เรานำจิตเข้าไปในความดับสักกายะแล้ว
ดูกร มหาบพิตร อาตมาภาพไม่กล่าวถึงความต่างอะไรกัน ของอุบาสกผู้มีจิตพ้นแล้วอย่างนี้ กับภิกษุผู้พ้นแล้วตั้ง ๑๐๐ ปี คือ พ้นด้วยวิมุตติเหมือนกัน
เสียดายไหมถ้าจะต้องจากโลกนี้ ยังเสียดาย เพราะฉะนั้น ถ้าป่วยหนัก ก็คงจะต้องอาศัยพระสูตรนี้ คือ คิลายนสูตร แต่ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานอยู่เนืองๆ สูตรนี้ก็ไม่มีประโยชน์เหมือนกัน เพราะยังไม่ประจักษ์ในสภาพธรรมจนกระทั่งไม่หวั่นไหวในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์
ถ. สงสัยเรื่องบรรดาเทพแต่ละชั้น เช่น จาตุมหาราช ดาวดึงส์ ยามา ดุสิตว่า ไม่มีจริง มีหนทางที่จะหายสงสัยได้ไหม เพราะในโลกนี้วุ่นวายมากเหลือเกิน มีโรคภัยไข้เจ็บ ต้องทำมาหากิน จะปฏิบัติธรรมก็ไม่สนิทสนม ไม่สะดวก ทำบุญทุกครั้ง ทาน ศีล ภาวนาก็ดี ตั้งใจขอให้ไปเกิดชั้นดาวดึงส์ เพราะมีศาลาสุธรรมสภา สำหรับศึกษาธรรมขั้นสูง เพราะตัดความกังวลเรื่องทำมาหากิน มีของทิพย์ ตัดเรื่องโรคภัยต่างๆ ไม่มีคนพาลสะดวกต่อการปฏิบัติธรรม คิดอย่างนี้จะสมควรไหม
สุ. คิดดี ผลดีแน่ แต่เหตุต้องดีด้วย คือ หวังผลที่ดี หวังว่าเมื่อจากโลกนี้ไปแล้วซึ่งแสนจะยุ่ง โลกนี้ยุ่งมาก ขอให้ได้ไปสู่ดาวดึงส์เทวโลก ความคิดอย่างนี้จะดีไหม เป็นผลที่ดี แต่การที่จะได้รับผลที่ดีอย่างนี้ ก็ต้องมีเหตุที่ดีด้วย
เพราะฉะนั้น เหตุนี้สำคัญมาก ทุกท่านจะหวังผลอะไรก็ได้ในชีวิต แต่ก็ควรที่จะได้ทราบด้วยว่า ผลที่ดีอย่างที่หวังนั้นจะเกิดขึ้นได้เพราะเหตุอย่างไร ถ้ายังคงหวังผลที่ดีเสมอ ไม่มีใครหวังผลที่ไม่ดีเลย แต่เหตุไม่ดีก็ไม่สมความหวัง คือ จะต้องเข้าใจเหตุผลด้วย
จากสูตรนี้คงจะเห็นได้ว่า แม้ผู้ที่เป็นไข้หนักก็เจริญสติปัฏฐานได้ ละสักกายะได้ แต่การที่จะละได้นั้น ไม่ใช่ว่านึกละ พอได้ฟังก็นึกละสักกายะ ขันธ์ ๕ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ไม่ใช่ตัวตนแล้ว ไม่เป็นไปอย่างที่คิดเลย เพราะการที่จะละได้จริงๆ นั้น ต้องอาศัยเหตุ คือ การเจริญปัญญาที่เกิดพร้อมกับสติ ระลึกรู้ลักษณะของขั้นธ์ ๕ ที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าปัญญานั้นจะเจริญคมกล้า รู้ชัด แล้วจึงจะละได้
มีอีกสูตรหนึ่งซึ่งเป็นสูตรที่ยาว แต่ว่ามีความไพเราะสำหรับท่านที่สนใจจะได้ฟังพระธรรมที่มีแสดงไว้ในพระไตรปิฎก
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ มาคัณฑิยสูตร มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับบนเครื่องลาดอันลาดด้วยหญ้า ในโรงบูชาไฟของพราหมณ์ภารทวาชโคตร ใกล้นิคมของชาวกุรุอันชื่อว่า กัมมาสธัมมะ ในกุรุรัฐ ตอนเช้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ยังกัมมาสธัมมนิคม ภายหลังภัต เสด็จเข้าไปยังป่าแห่งหนึ่ง เพื่อประทับพักกลางวัน ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง
มาคัณฑิยปริพาชกเดินเที่ยวไปมาแก้เมื่อย เข้าไปถึงโรงบูชาไฟของพราหมณ์ภารทวาชโคตร แล้วก็สนทนากันเรื่องเครื่องลาดหญ้าที่ปูไว้แล้วสำหรับพระผู้มีพระภาค มาคัณฑิยปริพาชกก็ถามว่าเครื่องลาดหญ้านั้นเป็นของผู้ใด ซึ่งพราหมณ์ภารทวาชโคตร ก็กล่าวตอบว่า ปูลาดไว้สำหรับพระผู้มีพระภาค
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 61
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 62
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 63
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 64
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 65
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 66
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 67
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 68
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 69
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 70
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 71
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 72
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 73
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 74
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 75
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 76
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 77
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 78
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 79
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 80
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 81
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 82
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 83
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 84
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 85
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 86
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 87
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 88
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 89
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 90
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 91
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 92
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 93
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 94
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 95
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 96
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 97
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 98
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 99
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 120