แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 71


    ครั้งที่ ๗๑


    ครั้นวิชยาภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมารผู้มีบาปด้วยคาถาว่า

    ดูกร มาร รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่ารื่นรมย์ใจ เราขอมอบให้ท่านผู้เดียว เพราะเราไม่ต้องการ เราอึดอัดระอาด้วยกายเน่าอันจะแตกทำลายเปื่อยพังไปนี้ กามตัณหาเราถอนได้แล้ว ความมืดในรูปภพที่สัตว์ทั้งหลายเข้าถึง ในอรูปภพที่สัตว์ทั้งหลายเป็นภาคี และในสมาบัติอันสงบทั้งปวง เรากำจัดได้แล้ว

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า วิชยาภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง

    ความจริงแล้วไม่ต้องให้ใครเอารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมาให้ คนที่มีกิเลสยังต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นเอง เพราะฉะนั้น ต้องละกิเลสด้วยการเจริญปัญญารู้ลักษณะของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะตามความเป็นจริง จึงจะละได้ ไม่ใช่เพียงคิดละเท่านั้น

    . มารที่กล่าวถึง เป็นมารประเภทไหน

    สุ. ความหมายของคำว่า “มาร” นั้นมีหลายอย่าง แต่ที่แน่นอน คือ เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์โทษภัยต่างๆ เพราะฉะนั้น จึงมีทั้งกิเลสมาร ขันธมาร มัจจุมาร อภิสังขารมาร และเทพบุตรมาร

    ในพระไตรปิฎกมีมารอีกหลายพยัญชนะ เช่น ใน ขุททกนิกาย จุฬนิทเทส (ข้อ ๔๒๓) พระผู้มีพระภาคตรัสตอบภัทราวุธใน ภัทราวุธมาณวกปัญหานิทเทส ว่า

    หมู่สัตว์พึงนำเสียซึ่งตัณหา เครื่องยึดถือทั้งหมด ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ หรือแม้ชั้นกลาง ส่วนกว้าง เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าไปถือรูปาธิขันธ์ใดๆ ในโลก มารย่อมไปตามสัตว์ด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้นนั่นแล

    และมีข้อความอธิบายไว้ว่า (ข้อ ๔๒๗)

    คำว่า มาร ย่อมไปตามสัตว์ ไม่ว่าจะมีการเกิดปรากฏขึ้น ณ ที่ใด ย่อมมีมารติดตามไป มีทุกข์ มีโทษ มีภัย ติดตามไปเรื่อย

    คำว่า มาร ย่อมไปตามสัตว์ ด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้นนั่นแล ความว่า ขันธมาร ธาตุมาร อายตนมาร คติมาร อุปปัตติมาร ปฏิสนธิมาร ภวมาร สังสารมาร วัฏฏมาร

    ทุกอย่างที่เป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นพยัญชนะที่ใช้คำว่า “มาร” ได้

    อีกสูตรหนึ่ง ข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค จาลาสูตรที่ ๖ โดยนัยเดียวกัน คือ

    จาลาภิกษุณีก็ได้ไปบิณฑบาตในตอนเช้า ปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว ก็เข้าไปยังป่าอันธวัน เพื่อพักกลางวัน

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้จาลาภิกษุณีบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหา จาลาภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกับจาลาภิกษุณีว่า

    ดูกร ภิกษุณี ท่านไม่ชอบใจอะไรหนอ

    จาลาภิกษุณีตอบว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุ เราไม่ชอบความเกิดเลย

    มารกล่าวว่า

    เพราะเหตุใดหนอท่านจึงไม่ชอบความเกิด ผู้เกิดมาแล้วย่อมบริโภคกาม ใครหนอให้ท่านยึดถือเรื่องนี้ อย่าเลยภิกษุณี ท่านจงชอบความเกิดเถิด

    จาลาภิกษุณีกล่าวตอบว่า

    ความตายย่อมมีแก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว ผู้ที่เกิดมาแล้วย่อมพบเห็นทุกข์ คือ การจองจำ การฆ่า ความเศร้าหมอง

    เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ชอบความเกิด พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นเครื่องก้าวล่วงความเกิด พระองค์สอนให้เราตั้งอยู่ในสัจจะ (หมายถึงพระนิพพาน) เพื่อละทุกข์ทั้งมวล สัตว์เหล่าใดเข้าถึงรูปภพ และสัตว์เหล่าใดเป็นภาคีแห่งอรูปภพ สัตว์เหล่านั้นเมื่อยังไม่รู้นิโรธ ต้องมาสู่ภพอีก

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า จาลาภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง

    ยังชอบความเกิดไหม ถ้าชอบ ก็เหมือนกับที่มารกล่าวว่า เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงไม่ชอบความเกิด ผู้เกิดมาแล้วย่อมบริโภคกาม เกิดมาแล้วก็เห็นสิ่งต่างๆ ที่น่าเห็น เกิดมาแล้วก็ได้ยินเสียงต่างๆ ที่น่าได้ยิน เกิดมาแล้วก็ได้กลิ่นต่างๆ ได้รสต่างๆ ได้โผฏฐัพพะต่างๆ ได้เสวยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ

    นี่เป็นความเห็นของมารที่ว่าควรเกิด เพราะเกิดมาแล้วเห็น สนุกสนานเพลิดเพลิน ได้ยินสิ่งต่างๆ ที่น่าพอใจ ไม่มีใครที่ไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ยิน เพราะฉะนั้น ความเกิดนั้นดี ควรเกิด

    ถ้าท่านผู้ใดยังคิดอย่างนี้ก็เหมือนกับที่มารคิด แต่ถ้าผู้ใดคิดตรงกันข้ามว่า ความตายย่อมมีแก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว ผู้ที่เกิดมาแล้วย่อมพบเห็นทุกข์ เพราะฉะนั้น จาลาภิกษุณีจึงไม่ชอบความเกิด

    ขุททกนิกาย มหานิบาตชาดก เตมียชาดก มีข้อความซึ่งเตือนใจพุทธบริษัท

    ในสมัยนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นโอรสของพระเจ้ากาสี พระองค์กลัวต่อการเสวยราชสมบัติ มิได้เป็นใบ้ ก็ทำเหมือนเป็นใบ้ มิได้เป็นคนง่อยเปลี้ย ก็ทำเป็นเหมือนคนง่อยเปลี้ย เพราะเห็นว่าชีวิตนี้เป็นของฝืดเคือง เป็นของน้อย ทั้งประกอบไปด้วยทุกข์ ใครเล่าได้อาศัยชีวิตนี้แล้ว พึงก่อเวรกับใครๆ เพราะไม่ได้ปัญญา และเพราะไม่เห็นธรรม ความหวังผลของบุคคลผู้ไม่รีบร้อนย่อมสำเร็จแน่นอน

    ได้รับทราบจากท่านผู้ฟังท่านหนึ่งที่ฟังการเจริญสติปัฏฐาน แต่ท่านอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือเข้าใจผิด ท่านบอกว่า ฟังแล้วพิจารณาเหตุผลไว้สำหรับเวลาที่ไปปฏิบัติจริงๆ เวลาไปปฏิบัติจริงๆ หมายความว่าอย่างไร

    ท่านผู้ฟังอีกท่านหนึ่งตอบแทนว่า ที่ท่านผู้นั้นกล่าวอย่างนั้นเป็นเพราะคงจะเข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐานนี้ต้องไปสู่สถานที่หนึ่งที่ใดแล้วจึงจะเป็นการปฏิบัติจริงๆ บางท่านอาจจะตอบว่า ไปหาอารมณ์ ความจริงแล้วไม่เคยขาดอารมณ์เลย ขณะใดที่มีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีอารมณ์ คือ สิ่งที่จิตกำลังรู้ในขณะนั้น ทุกขณะที่มีจิตก็ต้องมีอารมณ์ทั้งนั้น

    บางท่านไปสู่สถานที่จำกัด ซึ่งคงจะลำบากมากทีเดียว เพราะเป็นสถานที่ที่ร้อนอบอ้าว ไม่สามารถที่จะมีความเป็นอยู่ตามปกติได้ ต้องเข้าไปนั่งไปนอนอยู่ในห้องน้ำ เพราะร้อนมาก เมื่อถามท่านผู้นั้นหลังจากที่กลับมาแล้วว่า ในเมื่อร้อนและลำบากอย่างนั้นทำไมเข้าไปอยู่ ท่านผู้นั้นตอบว่า เข้าไปอยู่อย่างนั้นเพราะขณะนั้นกำลังอารมณ์ดี หรืออารมณ์กำลังดี

    ในพระพุทธศาสนา อารมณ์ดีเป็นอิฏฐารมณ์ ไม่ใช่อารมณ์ที่นำความทุกข์ความโทมนัส หรือความเดือดร้อนมาให้ กำลังนั่งร้อนๆ อยู่ในห้องน้ำอบอ้าว เป็นอิฏฐารมณ์ หรือเป็นอนิฏฐารมณ์

    ถ้าขณะนั้นท่านจะกล่าวว่า รู้ทุกข์ เพราะไปนั่งเมื่อยๆ และอบอ้าวร้อนๆ ทุกข์ที่ควรจะรู้ที่เป็นอริยสัจคืออะไร

    สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ความเกิดและดับไปของสังขารธรรมเป็นสิ่งที่จะต้องทราบด้วยปัญญาที่ได้อบรมให้เจริญขึ้น และได้ประจักษ์ความจริงว่า ความไม่เที่ยงของสภาพธรรมทั้งหลายนั้นเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นทางตาที่กำลังเห็น จะเป็นอารมณ์ดีหรืออารมณ์ไม่ดี จะเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ก็ตาม ผู้เจริญสติรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏในขณะนั้น แล้วต้องอบรมเจริญปัญญาให้มากขึ้นจนกระทั่งประจักษ์ความไม่เที่ยงของนามและรูป จึงจะกล่าวว่า รู้ทุกข์

    เพราะฉะนั้น ที่ว่ากำลังอารมณ์ดี ไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่ในสถานที่จำกัด ถ้าตัวท่านเองกำลังเป็นผู้นั้น ท่านอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ถูก แต่ถ้าท่านถอยห่างออกมาพิจารณาด้วยเหตุผล และตรวจสอบกับพระธรรมวินัยเพื่อความเข้าใจถูกต้อง ท่านมีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมว่าทำไมจึงต้องทำอย่างนั้นด้วย และการเห็นทุกข์นั้น เห็นทุกข์อะไร การอบรมเจริญปัญญา ปัญญานั้นรู้อะไร รู้ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้หรือเปล่า รู้ขณะที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้หรือเปล่า ไม่ว่าท่านจะนั่ง นอน ยืน เดิน อยู่ที่ไหนก็ตามล้วนมีอารมณ์ปรากฏที่สติควรจะระลึกรู้ลักษณะนั้นตามความเป็นจริง และปัญญาก็รู้ชัดขึ้น ละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตนมากขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปทนทรมานร้อนอบอ้าวอุดอู้อยู่ในที่หนึ่งที่ใดเลย

    ถ. สำหรับท่านผู้บรรยายอยู่ก็ดี หรือกำลังพูด กำลังสนทนากันอยู่ก็ดี จะเจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร

    สุ. นี่เป็นปัญหาที่ท่านจะต้องพิจารณาตามเหตุผล ในขณะที่กำลังพูด เป็นตัวตน หรือเป็นนามเป็นรูป ต้องเป็นนามเป็นรูปแน่นอน เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่พึงยึดถือ แม้ในขณะที่กำลังพูดว่าเป็นตัวตน ท่านอาจจะเข้าใจผิด คิดว่าขณะที่กำลังพูดกำลังสนทนากันนั้นไม่สามารถที่จะเจริญสติปัฏฐานได้ ขอให้ท่านตรวจดูใน มหาสติปัฏฐานสูตรว่ามีกล่าวไว้หรือไม่ว่า ให้มีสติในขณะที่กำลังพูด ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่เป็นของจริง มีการเกิดขึ้นปรากฏแล้ว ก็เป็นมหาสติปัฏฐาน ๔ ถ้าไม่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    แม้ในขณะที่กำลังพูด ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็มี

    การเจริญสติปัฏฐานนั้น สติสามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปใดๆ ที่เกิดปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้

    จักขุวิญญาณเป็นธรรมชาติที่เห็นสีสันวรรณะต่างๆ สติเกิดขึ้นรู้ว่า ที่กำลังเห็นนี้ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง

    โสตวิญญาณเป็นสภาพได้ยิน เมื่อได้ยินขณะใด สติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ลักษณะได้ยินนั้นเป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ที่กำลังพูด สติเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ที่คิดนั้นเป็นนามชนิดหนึ่ง หรือจะรู้ลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดในขณะที่กำลังไหวไป หรือในขณะที่เห็นกำลังปรากฏ เสียงกำลังปรากฏก็ได้

    ทุกท่านมีทั้งเห็น มีทั้งได้ยิน มีทั้งเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ซึ่งเกิดดับปรากฏสืบต่อเร็วมาก แล้วแต่สติของแต่ละคนจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามอะไร ของรูปอะไรก็ได้

    ขอกล่าวถึง อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปาปณิกสูตร ที่ ๒ ที่กล่าวถึงสูตรนี้ เพื่อที่จะได้พิจารณาการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าท่านจะเข้าใจสับสน คลาดเคลื่อน หรือเข้าใจผิดประการใด พระสูตรนี้จะช่วยทำให้พิจารณาไตร่ตรองว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นจะเจริญอย่างไร และจะต้องรู้อย่างไรด้วย

    ปาปณิกสูตร ที่ ๒ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ ย่อมถึงความมีโภคทรัพย์มากมายเหลือเฟือ ไม่นานเลย องค์ ๓ ประการ เป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าในโลกนี้เป็นคนมีตาดี ๑ ธุระดี ๑ ถึงพร้อมด้วยบุคคลที่จะเป็นที่พึ่งได้ ๑

    พ่อค้าที่ชื่อว่า เป็นคนมีตาดีนั้น คืออย่างไร

    คือ ย่อมรู้สิ่งที่จะพึงซื้อขายว่า สิ่งที่พึงขายนี้ ซื้อมาเท่านี้ ขายไปเท่านี้ จักได้ทุนเท่านี้ มีกำไรเท่านี้ ดังนี้

    พ่อค้าชื่อว่า มีธุระดีอย่างไร คือ เป็นคนฉลาดที่จะซื้อและขายสิ่งที่ตนจะพึงซื้อขาย

    พ่อค้าชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยบุคคลซึ่งจะเป็นที่พึ่งได้อย่างไร

    ธรรมดาของการค้านั้นย่อมจะต้องอาศัยทุน ถ้าเป็นพ่อค้าที่ตาดี มีธุระดี พวกคฤหบดี บุตรคฤหบดี ผู้มั่งคั่ง ก็ย่อมเต็มใจเชื้อเชิญให้นำโภคะไปเลี้ยงดูบุตรภริยา และใช้คืนให้ตามเวลาได้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการนี้แล ย่อมจะถึงความมีโภคะเหลือเฟือ ไม่นานเลย ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมถึงความเป็นผู้มากมูลไพบูลย์ในกุศลธรรมไม่นานเลย

    ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีจักษุ ๑ มีธุระดี ๑ ถึงพร้อมด้วยภิกษุพอจะเป็นที่พึ่งได้ ๑

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีจักษุอย่างไร

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีจักษุ อย่างนี้แล

    ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมให้รู้แจ้ง ต้องมีจักษุ หรือไม่มีก็ปฏิบัติได้ ไม่เห็นอะไร ไม่รู้อะไร ไม่เข้าใจอะไรก็ปฏิบัติได้ อย่างนั้นถูกไหม แม้แต่พ่อค้ายังต้องเป็นคนที่ฉลาด

    เพราะฉะนั้น ผู้เจริญธรรม ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมต้องฉลาด เป็นผู้ที่มีจักษุ และผู้ที่มีจักษุในที่นี้ คือ รู้ว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ปฏิปทา คือ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งจะต้องเจริญอบรมให้มาก

    แม้แต่ทุกข์ ต้องการจะรู้ไหม หรือไม่มีประโยชน์ รู้ทำไมไม่ใช่ของดีเลย แต่เป็นความจริง เพราะเหตุว่าทุกข์ หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นของจริง เกิดขึ้นปรากฏ แล้วก็หมดไป

    ทางตาเห็น เป็นทุกข์ไหม เที่ยงหรือไม่เที่ยง

    สีที่ปรากฏเป็นทุกข์ไหม เที่ยงหรือไม่เที่ยง

    ทางหูได้ยินเป็นทุกข์ไหม เที่ยงหรือไม่เที่ยง

    เสียงที่ปรากฏเป็นทุกข์ไหม เที่ยงหรือไม่เที่ยง

    ทางจมูกได้กลิ่นเป็นทุกข์ไหม เที่ยงหรือไม่เที่ยง

    กลิ่นที่ปรากฏเป็นทุกข์ไหม เที่ยงหรือไม่เที่ยง

    ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกข์ คือ เกิดดับ ไม่เที่ยงตลอดเวลา แต่ไม่รู้ จึงต้องเจริญปัญญาให้รู้สิ่งที่เกิดปรากฏ อย่าไปทำให้ผิดปกติ และคิดว่าไปรู้สิ่งที่ผิดปกติ ไปหาอารมณ์คือ สิ่งที่ผิดปกติ นั่นไม่ใช่ผู้มีจักษุ

    ผู้มีจักษุ คือ ผู้ที่รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปนั้นเป็นทุกข์ที่สติจะต้องเจริญขึ้น ปัญญาจะต้องรู้ชัดขึ้นว่า ที่ถูกแล้วการอบรมเจริญปัญญานั้น คือ ต้องรู้ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกตินี่เอง

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้มีธุระดีอย่างไร

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่น ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้มีธุระดีอย่างนี้แล

    ขณะนี้มีนาม มีรูป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ท่านผู้ใดปรารภความเพียรรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏบ้าง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book แนวทางเจริญวิปัสสนา
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 34
    28 ธ.ค. 2564

    ซีดีแนะนำ