แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 72
ครั้งที่ ๗๒
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยภิกษุพอจะเป็นที่พึ่งได้อย่างไร
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอเข้าไปหาภิกษุผู้เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ตามเวลา แล้วไต่ถาม สอบสวนว่า
ท่านผู้เจริญ พระพุทธพจน์นี้อย่างไร ความแห่งพระพุทธพจน์นี้อย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยธรรมที่ยังไม่เปิดเผย ย่อมทำธรรมที่ยังมิได้ทำให้ตื้นแล้วให้ตื้น และย่อมบรรเทาความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมิใช่น้อยแก่ภิกษุนั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยภิกษุพอจะเป็นที่พึ่งได้อย่างนี้แล
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ถึงความเป็นผู้มากมูลไพบูลย์ในกุศลธรรมทั้งหลายไม่นานเลย
การเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยภิกษุพอจะเป็นที่พึ่งได้นั้น ไม่ใช่พึ่งด้วยการไปหา แล้วทำตามคำสั่ง แต่พึ่งเพื่อให้เข้าใจถูกต้องในพระพุทธพจน์ ไม่ใช่คำของบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่เพื่อให้เข้าใจถูกต้องในพระพุทธพจน์ด้วยการไต่ถาม ด้วยการสอบสวน ด้วยการเทียบเคียง
เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน จะต้องสอบสวนเทียบเคียง เพื่อให้การปฏิบัตินั้นถูกต้องสมบูรณ์ตามพระพุทธพจน์ด้วย สำหรับท่านที่ตั้งใจจะไปสู่สถานที่หนึ่งที่ใดแล้วจะทำวิปัสสนา ท่านคงจะคิดว่า ท่านจะได้สติมากๆ ปัญญามากๆ ไปเพราะหวังว่าจะได้มากๆ แต่ขอให้ตรวจสอบกับในพระธรรมวินัย
อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต นิททสสูตรที่ ๒ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้พระนครโกสัมพี ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครโกสัมพี ท่านคิดว่า ยังเช้านักแก่การที่จะไปบิณฑบาต ควรที่จะเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก เมื่อท่านเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกแล้ว ก็ได้ทักทายปราศรัยกัน ขณะนั้นพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกกำลังนั่งประชุมสนทนากันว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรจะเรียกว่า ภิกษุผู้นิททสะ
เป็นลัทธิชนิดหนึ่งของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ซึ่งถือเวลานาน
เมื่อท่านพระอานนท์ได้ฟังพวกอัญญเดียรถีย์ประชุมสนทนากันดังนั้น ท่านพระอานนท์ไม่ยินดี ไม่คัดค้านคำกล่าวของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยตั้งใจว่า เราจะรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งคำกล่าวของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกในสำนักของพระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้เที่ยวบิณฑบาตในพระนครโกสัมพี กลับจากบิณฑบาต ในเวลาปัจฉาภัต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลให้ทรงทราบเรื่องและข้อความที่ได้ฟังจากพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกในตอนเช้า ซึ่งพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกประชุมสนทนากันว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรเรียกว่า ภิกษุผู้นิททสะ
ท่านพระอานนท์ได้ทราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจหรือหนอ เพื่อทรงบัญญัติภิกษุผู้นิททสะ ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียวในธรรมวินัยนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ ไม่มีใครๆ อาจเพื่อบัญญัติภิกษุผู้นิททสะด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียวในธรรมวินัยนี้
ดูกร อานนท์ วัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ประกาศแล้ว ๗ ประการเป็นไฉน
ดูกร อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ เป็นพหูสูต ๑ ปรารภความเพียร ๑ มีสติ ๑ มีปัญญา ๑
ดูกร อานนท์ วัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้แล เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ประกาศแล้ว
ดูกร อานนท์ ภิกษุผู้ประกอบด้วยวัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้แล ถ้าประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปีก็ดี ควรจะเรียกได้ว่า ภิกษุผู้นิททสะ ถ้าประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๒๔ ปีก็ดี ๓๖ ปีก็ดี ๔๘ ปีก็ดี ควรจะเรียกได้ว่า ภิกษุผู้นิททสะ
๔๘ ปี ไม่ใช่เป็นเวลาน้อยเลย ๑๒ ปีก็ดี ครบ ๒๔ ปีก็ดี ๓๖ ปีก็ดี ๔๘ ปีก็ดี ถ้าเป็นผู้ที่ประกอบด้วยวัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการ คือ เป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ เป็นพหูสูต ๑ ปรารภความเพียร ๑ มีสติ ๑ มีปัญญา ๑
จะเห็นได้ว่า เว้นการเป็นพหูสูตไม่ได้เลย คือ การฟัง ฟังแล้วปรารภความเพียร มีสติ มีปัญญาด้วย แม้พระผู้มีพระภาคยังตรัสถึงการบำเพ็ญเพียร คือ การเจริญสตินานถึงเพียงนี้ที่จะเป็นการเจริญสติเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นภิกษุฆราวาส อุบาสก อุบาสิกา เจริญสติปัฏฐานเป็นปีๆ เมื่อเป็นปีๆ ก็เป็นชีวิตปกติ ประจำวัน
อย่างใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สัลเลขสูตร เป็นเรื่องของสติทั้งสิ้น ในสัลเลขสูตรนั้นอาจจะไม่ได้กล่าวโดยตรงว่าเป็นสติ แต่ถ้าพิจารณาอรรถและประโยชน์ที่จะได้รับจากสัลเลขสูตรจะเห็นได้ว่า เป็นสติตามลำดับขั้นทีเดียว ซึ่งมีข้อความบางตอนว่า
ดูกร จุนทะ ผู้ที่ตนเองจมอยู่ในเปือกตมอันลึกแล้ว จักยกขึ้นซึ่งบุคคลอื่นที่จมอยู่ในเปือกตมอันลึก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีไม่ได้ ผู้ที่ตนเองไม่จมอยู่ในเปือกตมอันลึกแล้ว จักยกขึ้นซึ่งบุคคลอื่นที่จมอยู่ในเปือกตมอันลึก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
ผู้ที่ไม่ฝึกตน ไม่แนะนำตน ไม่ดับสนิทด้วยตนเอง จักฝึกสอน จักแนะนำผู้อื่น ให้ผู้อื่นดับสนิท ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีไม่ได้ ผู้ที่ฝึกตน แนะนำตน ดับสนิทด้วยตนเอง จักฝึกสอน จักแนะนำผู้อื่น จักให้ผู้อื่นดับสนิท ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
ถ. ผู้ที่ดับสนิทแล้วไม่ค่อยจะมี เพราะฉะนั้น จะหาใครที่จะอุปการะฝึกสอน หรือแนะนำ เป็นที่น่าสงสัย เมื่อกาลสมัยล่วงไปแล้วก็ยากที่จะรู้ว่า บุคคลใดเป็นพระอริยบุคคล บุคคลใดไม่ใช่พระอริยบุคคล
สุ. สมัยนี้พระธรรมวินัยยังมีไหม ใครแสดงพระธรรมวินัย เป็นบุคคลผู้ฝึกตน แนะนำตน เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดยังเคลือบแคลง ยังสงสัยในบุคคลนั้นในบุคคลนี้ว่าเป็นผู้ที่ฝึกตนแล้วหรือยัง แนะนำตนแล้วหรือยัง ดับสนิทด้วยตนเองแล้วหรือยัง พอที่จะอุปการะเกื้อกูลพึ่งพาได้หรือไม่ ถ้าคิดอย่างนี้ไม่มีวันได้รับคำตอบแน่ จนกว่าผู้นั้นจะฝึกตนแล้วรู้ว่า บุคคลใดช่วยอุปการะหรือเกื้อกูลได้
แต่ตามความเป็นจริง บรรดาผู้แสดงธรรมทั้งหลายเปรียบเหมือนผู้อ่านหนังสือ หรือพระราชสาส์นของพระราชา ผู้แสดงธรรมทุกท่านไม่ใช่เจ้าของธรรม ไม่ใช่ผู้ที่สามารถจะค้นคิดแสดงธรรมโดยวิจิตรนานาประการด้วยตนเอง ผู้แสดงธรรมทุกท่าน แม้ท่านพระสารีบุตรก็เป็นเสมือนหนึ่งผู้ที่อ่านพระราชสาส์นของพระราชาเท่านั้น ท่านอุปมาไว้ว่า ในเมืองไกลและไม่มีผู้อ่านหนังสือออก เมื่อมีพระราชสาส์น ของพระราชาไปถึงบุคคลในตำบลที่อยู่ไกลนั้น ก็ต้องหาคนที่อ่านหนังสือออกเป็นผู้อ่านข้อความในหนังสือนั้น ฉันใด ผู้ที่แสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน ใครอ่านพระไตรปิฎกออกก็ให้ผู้นั้นอ่าน แต่ไม่ใช่เขียนเอง ไม่ใช่คิดเอง สอนเอง แต่ตามพระธรรมวินัยที่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฝึกตน แนะนำตน คือ ผู้ที่ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างดี เสมือนผู้ที่อ่านออก แล้วช่วยอ่านให้คนอื่นฟังเท่านั้นเอง ยังสงสัยอีกไหมว่า จะต้องไปแสวงหาผู้ดับสนิท หรือจะต้องไปแสวงหาพระอริยบุคคลเป็นรายบุคคล ใครบอกว่า เป็นพระอริยบุคคล ก็เชื่อ เชื่อได้ไหม
ถ. ข้อความที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน จะเข้ากับข้อความนี้ได้อย่างไร
สุ. ถ้าตนไม่สอนตน ไม่ประพฤติปฏิบัติด้วยตนเอง จะให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติให้ได้ไหม ก็ไม่ได้
จักขุวิญญาณ การเห็น เที่ยงหรือไม่เที่ยง
รูป รูปารมณ์ เที่ยงหรือไม่เที่ยง
โสตวิญญาณ การได้ยิน เที่ยงหรือไม่เที่ยง
สัททารมณ์ เสียงที่กำลังปรากฏ เที่ยงหรือไม่เที่ยง
เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ท่านจะไม่สงสัยเคลือบแคลงว่า พระอริยบุคคลนั้นรู้แจ้งลักษณะของนามและรูปตามปกติทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่เองจึงได้บรรลุอริยสัจได้ ในขณะที่เพิ่งเริ่มเจริญสติปัฏฐาน สติเริ่มเจริญขึ้นบ้าง อาจจะเคลือบแคลงสงสัยได้ ความเคลือบแคลงไม่ใช่ว่าจะหมดไปได้ทันที กำลังแข็งส่วนใด กำลังอ่อน หรือกำลังเย็น กำลังร้อน ความเคลือบแคลงเกิดขึ้นได้ ยังไม่หมดง่ายๆ ไม่ใช่ว่าพอเจริญนิดหนึ่งก็บรรลุมรรคผลนิพพาน
ท่านที่เริ่มเจริญสติปัฏฐานย่อมจะสงสัยว่า แข็งอย่างนี้ไม่เห็นดับ ยังคงแข็งอยู่ ยังคงอ่อนอยู่ รู้ว่าเป็นรูป ลักษณะนี้ปรากฏเป็นลักษณะแข็งหรืออ่อน แต่ความเคลือบแคลง ความสงสัย ความยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนนั้นยังมีอยู่มาก ยังไม่หมดไปเลย เทียบได้กับปริยัติ คือ พระอภิธรรมปิฎก เวลาเห็นก็ตาม ได้ยินก็ตาม ได้กลิ่นก็ตาม รู้รสก็ตาม สัมผัสกระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม แล้วสติเกิดขึ้นเพียงนิดเดียว หลังจากนั้นโมหะท่วมทับเป็นเวลานาน สติยังไม่เจริญพอที่จะรู้ลักษณะของนามและรูปที่ต่างกันทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ท่านเพียงเริ่มระลึกลักษณะของนามหรือรูปได้ทีละทาง ทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดสติระลึกรู้ลักษณะของรูปทางหนึ่งทางใด หรือนามทางหนึ่งทางใดขึ้นแล้ว หลังจากนั้นหลงลืมสติ ไม่ได้พิจารณานามรูปมากสักเท่าไร ท่วมทับด้วยอวิชชา แล้วสติค่อยๆ เกิดแทรกขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ทีละลักษณะของนามและรูป ต้องเป็นในลักษณะอย่างนี้ เจริญสติเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด
ถ้าเจริญสติเป็นปกติ ปัญญาเพิ่มมากขึ้น จะไม่สงสัยเลยว่า พระอริยบุคคลสามารถรู้แจ้งลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติปัฏฐานต้องพิจารณาสังขารธรรมทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็น ณ สถานที่ใด ขณะไหน สภาพของจิตเป็นสภาพที่สงบ หรือสภาพที่ไม่สงบ อย่างไรก็ตามสติจะต้องตามพิจารณาลักษณะของสังขารธรรมทั้งปวงจึงจะรู้ชัดว่า สังขารธรรมทั้งปวงนั้นไม่ใช่ตัวตน
ข้อความใน สัลเลขสูตร บางตอน มีต่อไปว่า
จักไม่มีความโกรธ
ต้องการบรรลุอริยสัจจธรรมใช่ไหม ต้องการหมดกิเลสด้วยหรือไม่ วันหนึ่งๆ มีชีวิตเป็นปกติธรรมดา ถ้าเกิดโกรธขึ้นแล้วสติเกิดขึ้นรู้ว่า ลักษณะของจิตในขณะนั้นเป็นสภาพที่หยาบกระด้าง ท่านที่จะขัดเกลาด้วยคิดว่าเราจะไม่โกรธ ก็ทำให้ท่านเป็นผู้ที่แสวงหาหนทางที่จะดับความโกรธ ข้อความใน สัลเลขสูตร แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องของสติจริงๆ
เวลาโกรธ บางคนก็หมดไปโดยง่าย แต่บางคนก็ยังผูกโกรธ คือ ความโกรธนั้นรัดรึงใจไว้บ่อยๆ เมื่อนึกถึงก็โกรธอีก ทำไมเรื่องนั้นนิดเดียว แต่โกรธต่อไปอีกได้นาน นั่นเป็นความผูกโกรธ แต่ผู้มีสติระลึกได้อีก เพราะฉะนั้น สติมีอุปการคุณมาก ไม่เป็นโทษเป็นภัยอะไรเลย
จักไม่ลบหลู่คุณท่าน
พระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น ไม่ใช่ทรงแสดงไว้สำหรับให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังแล้วไปคิดถึงคนอื่น แต่สำหรับสอนตนเอง เพราะเหตุว่าบางท่านไม่ว่าจะอ่านพระไตรปิฎก หรือฟังธรรม คิดว่าเป็นคนอื่น พระพุทธเจ้าท่านช่างรู้ละเอียดถึงความไม่ดีต่างๆ ของเขา แต่สำหรับใจของตนเองมีกิเลส หรือมีสิ่งที่จะต้องขัดเกลามากน้อยประการใด บางท่านไม่รู้ ไปรู้ของคนอื่น อย่างความลบหลู่มีลักษณะอย่างไร ตัวท่านเคยมีบ้างไหม ถ้ามีแล้ว ควรเป็นผู้ไม่ลบหลู่เพื่อขัดเกลา
สำหรับเรื่องของความลบหลู่นั้น ได้แก่ การกระทำซึ่งทำให้การกระทำดีของคฤหัสถ์หรือบรรพชิตเสียไป ไม่ว่าใครจะทำคุณงามความดีมากเท่าใดผู้ที่ลบหลู่ก็ไม่ปรารถนา หรือไม่กระทำให้คุณงามความดีนั้นปรากฏ ผู้ที่ลบหลู่ย่อมกระทำให้คุณงามความดีของคฤหัสถ์หรือบรรพชิตนั้นเสียไป
ท่านอุปมาเหมือนกับคนที่ยากจนขัดสน แล้วมีท่านผู้หนึ่งมีจิตเมตตาอุปการะ แต่ภายหลังก็กล่าวคำว่า ท่านได้ทำอะไรแก่เรา คือ ไม่เห็นคุณของผู้ที่มีคุณ หรือ บรรพชิตที่มีอาจารย์ มีอุปัชฌาย์สงเคราะห์ให้ศึกษาเล่าเรียน ตั้งแต่เป็นสามเณรน้อย เมื่อศึกษาเล่าเรียนเป็นผู้ที่ฉลาดเปรื่องปราชญ์ เป็นที่นับถือของพระราชามหากษัตริย์และบุคคลทั่วไปแล้ว ภายหลังก็ไม่ยำเกรงอาจารย์อุปัชฌาย์ ลบหลู่ว่า ไม่ได้ทำอะไรให้
นี่ก็เป็นลักษณะที่ถ้าเกิดมีขึ้นแม้เพียงน้อยนิด สติไม่เกิดระลึกในขณะนั้นว่า จะขัดเกลา ก็เป็นผู้ที่สะสมอกุศลต่อไป
เพราะฉะนั้น ที่กล่าวถึงสัลเลขสูตรเพื่อให้เห็นคุณของสติ แม้ท่านพระวังคีสะ ยังกล่าวว่า เวลาที่มานะเกิดกับท่านท่านก็รู้ ก่อนที่ท่านจะเป็นพระอรหันต์มานะก็ต้องมี แต่คุณของสติ คือ การระลึกได้ มีอุปการะที่ว่า ถ้าผู้ใดเจริญสติเนืองๆ บ่อยๆ เวลาที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปในขณะนั้น ก็สามารถละอกุศลธรรมในขณะนั้นตามขั้นของสติ จนสามารถดับกิเลสได้แน่นอน
ถ. ที่อาจารย์บรรยายการเจริญสติปัฏฐาน มีบางท่านกล่าวว่าการบรรยายของอาจารย์นี้ห้ามผู้เจริญสติปัฏฐานไปสู่สำนักใดสำนักหนึ่งโดยเฉพาะ ผมก็บอกว่า กระผมได้ฟังคำบรรยายนี้เหมือนกันแต่ไม่เคยทราบว่าอาจารย์ห้ามไว้เช่นนั้น อาจารย์เพียงแต่แนะนำว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นจะเจริญที่ใดก็ได้ ไม่จำกัด ที่ใดมีรูปนามที่นั่นเจริญได้ทั้งนั้น และท่านอาจารย์ยังพูดว่า การห้ามใครไม่ให้ไปในที่ใดนั้น ไม่ใช่วิสัย แล้วแต่ฉันทะของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้น ผมอยากจะให้อาจารย์ย้ำอีกสักครั้งหนึ่งว่า การที่อาจารย์บรรยายนี้ไม่ได้ห้ามใครไม่ให้ไปเจริญสติปัฏฐาน ณ สำนักใด
สุ. ท่านผู้ฟังต้องการผู้ตัดสิน ผู้ชี้ขาด หรือต้องการไตร่ตรองธรรมด้วยตัวเอง เพราะบางท่านไม่สามารถตัดสิน หรือไตร่ตรองด้วยตนเอง เป็นผู้ที่เคยเชื่อในบุคคลมานานทีเดียว
เพราะฉะนั้น ถ้ามีศรัทธาในบุคคลใด บุคคลนั้นกล่าวว่าอย่างใดก็ถือว่าถูก เป็นจริง แล้วก็ปฏิบัติตามทุกประการ แต่ถ้าจะเปลี่ยนความเชื่อจากบุคคลนั้นไปสู่อีกบุคคลหนึ่ง ก็ยังเป็นผู้ที่ต้องการความแน่ใจ ความมั่นใจที่จะให้ชี้ขาด หรือตัดสิน หรือกล่าวเป็นวาจาออกไป เพราะเคยชินกับการที่จะประพฤติปฏิบัติตามด้วยศรัทธาต่อบุคคลมานาน
ดิฉันเองไม่อยากจะให้ท่านผู้ฟังถือคำพูดของบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นเครื่องตัดสิน เป็นเครื่องชี้ขาด แต่ใคร่ที่จะให้ท่านผู้ฟังไตร่ตรอง ธรรมพิสูจน์ธรรมด้วยตัวเอง เพราะความจริงนั้นเป็นสิ่งที่ทนต่อการพิสูจน์
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 61
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 62
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 63
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 64
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 65
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 66
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 67
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 68
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 69
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 70
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 71
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 72
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 73
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 74
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 75
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 76
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 77
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 78
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 79
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 80
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 81
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 82
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 83
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 84
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 85
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 86
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 87
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 88
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 89
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 90
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 91
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 92
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 93
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 94
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 95
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 96
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 97
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 98
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 99
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 120