แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 79


    ครั้งที่ ๗๙


    สำหรับอวิชชา ๔ ก็เช่นเดียวกัน อวิชชา ๔ คือ ความไม่รู้ในทุกข์ ทุกข์ในที่นี้ได้แก่ความเกิดขึ้นและความดับไปของนามและรูปทั้งปวง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่เจริญสติไม่รู้ว่าสภาพที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นในขณะนี้เป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง

    แต่จะรู้ได้ต้องเจริญสติ สามารถรู้ลักษณะของอวิชชาทั้ง ๔ คือ ความไม่รู้ในทุกข์ ในเหตุเกิดแห่งทุกข์ ในความดับทุกข์ ในปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับทุกข์

    สำหรับตัณหา ๓ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานั้น จะรู้ได้ถึงลักษณะของสภาพตัณหาเหล่านั้นในขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏโอฆะ อุปาทาน ก็เช่นเดียวกัน

    สำหรับภพ ๓ ซึ่งได้แก่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เวลานี้ที่ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ที่นี่เป็นกามภพ ขณะใดที่จิตรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นไปกับสีสันวรรณะต่างๆ ที่ปรากฏทางตา เป็นไปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่กระทบสัมผัสกาย

    จิตขณะนี้เป็นกามาวจรจิต เมื่อยังไม่ได้เจริญรูปฌานยังไม่ใช่รูปภพ ยังไม่ได้เจริญอรูปฌานก็ไม่ใช่อรูปภพ ในขณะนี้เป็นกามาวจรจิต เพราะไม่ว่าจะคิด จะนึก จะชอบ ไม่ชอบ ก็เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั่นเอง

    ในวันหนึ่งๆ ของบุคคลที่อยู่ในกามภพ เป็นกามบุคคลก็ต้องรู้กามารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น จิตในวันหนึ่งๆ ก็ไม่พ้นไปจากกามาวจรจิต ยังไม่พ้นไปจากกามภพ เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่รูปฌานจิต ยังไม่ใช่อรูปฌานจิต

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ชัดในกามภพ ไม่ใช่รู้ชาติหน้า หรือไม่ใช่รู้ชาติก่อน ผู้ที่จะรู้ชัดในลักษณะของภพ คือ กามภพของจิต หรือกามาวจรจิต ก็ต้องขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังรู้รส กำลังคิดนึก กระทบกามารมณ์ทั้งหลายทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง

    และหนทาง ปฏิปทาที่จะให้รู้ชัดในกามภพ คือ การเจริญมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง จะเห็นได้ว่า ธรรมที่ชัมพุขาทกะได้สนทนากับท่านพระสารีบุตรเป็นธรรมที่ทุกคนมี แล้วก็มีหนทางที่จะรู้แจ้ง รู้ชัดได้จริงๆ

    ในตอนสุดท้ายของการสนทนา ชัมพุขาทกะก็ได้กล่าวถามพระสารีบุตร เหมือนกับสามัณฑกปริพาชก คือ ถามว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุ มรรคาดีนัก ปฏิปทาดีนัก เพื่อกระทำนิพพานนั้นให้แจ้ง และเพียงพอเพื่อความไม่ประมาท

    ดูกร ท่านสารีบุตร อะไรหนอเป็นการยากที่จะกระทำได้ในธรรมวินัยนี้

    คำตอบก็เช่นเดียวกัน คือ ท่านพระสารีบุตรกล่าวตอบว่า

    บรรพชา ผู้มีอายุ

    ปริพาชกชัมพุขาทกะก็ได้ถามต่อไปมีข้อความเช่นเดียวกับที่สามัณฑกปริพาชก ถามว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุ ก็สิ่งอะไรอันบุคคลผู้บวชแล้วกระทำได้โดยยาก

    ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็กล่าวตอบว่า

    ความยินดียิ่ง ผู้มีอายุ

    ปริพาชกชัมพุขาทกะก็ได้ถามต่อไปว่า

    ก็สิ่งอะไร อันภิกษุผู้ยินดียิ่งแล้วกระทำได้โดยยาก

    ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวตอบว่า

    การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

    เป็นชีวิตจริงๆ ถ้าจะสังเกตจากการสนทนาของท่านทั้งสอง จะเห็นได้ว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นสิ่งที่กระทำได้ในธรรมวินัยนี้ แต่สิ่งที่กระทำยากกว่านั้น คือ การละอาคารบ้านเรือนบรรพชาอุปสมบทเป็นบรรพชิต เป็นอุปนิสัยจริงๆ ที่จะเจริญสติปัฏฐานในลักษณะของการละ สละอาคารบ้านเรือน ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนก็ทราบชัดว่า กระทำได้ยาก

    ทุกท่านอาจรู้สึกว่าสะดวกดี สบายดี การมีชีวิตสงบๆ แต่ชีวิตจริงๆ ทำได้ไหม ถ้าไม่ได้สะสมเนกขัมมะที่จะละอาคารบ้านเรือน ท่านก็ยังคงเป็นฆราวาสที่ครองเรือน หรือไม่ครองเรือน แต่ไม่ใช่เพศบรรพชิต

    นี่ก็เป็นชีวิตจริงๆ ธรรมเป็นเรื่องที่ทุกคนฟังแล้วพิจารณาได้ เพราะเหตุว่าทุกท่านมีธรรมเหล่านั้น นอกจากนั้นผู้ที่บวชแล้วสิ่งที่กระทำได้ยากก็คือ ความยินดียิ่งในการบรรพชา และถึงแม้ว่าเป็นภิกษุผู้ยินดียิ่งแล้ว สิ่งที่กระทำได้โดยยากนั้นก็ยังคงยาก คือ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

    การเจริญสติ ต้องอบรมเจริญให้มากขึ้นเป็นปกติ การที่บุคคลทั้งหลายมีอวิชชาที่สะสมมาในอดีตอนันตชาติมาก หลงลืมสติมาก ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังเห็นในภพหนึ่งชาติหนึ่ง ขณะที่กำลังได้ยินในภพหนึ่งชาติหนึ่งสะสมไว้มากเหลือเกิน เพราะฉะนั้น การที่ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปเพิ่มขึ้น มากขึ้นจนกว่าจะรู้ชัด จนกว่าจะคลายการยึดถือความเห็นผิดนั้น ก็เป็นสิ่งที่ยากมาก

    สำหรับการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มีโลภะเกิดขึ้น มีโทสะกำลังปรากฏ มีเห็น มีได้ยิน สิ่งที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ ผู้เจริญสตินั้นจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด

    ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ วันไหนจะละความไม่รู้ วันไหนจะละคลายการเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปในขณะนี้ว่าเป็นตัวตน ก็ไม่มีวันที่จะละคลายได้เลย

    ขอกล่าวถึงพระสูตรที่ยาวพระสูตรหนึ่ง ซึ่งคงจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังที่จะได้เข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการเจริญสติเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

    ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ภารทวาชสูตร เป็นการสนทนาระหว่างท่านพระบิณโฑลภารทวาชะกับพระเจ้าอุเทน

    ครั้งนั้น ท่านพระบิณโฑลภารทวาชะอยู่ ณ พระวิหารโฆสิตาราม ใกล้พระนครโกสัมพี พระเจ้าอุเทนได้เสด็จไปหาท่านพระบิณโฑลภารทวาชะ ทรงสนทนาปราศรัยกับท่านพระบิณโฑลภารทวาชะ แล้วได้ตรัสถามท่านพระบิณโฑลภารทวาชะว่า

    ท่านภารทวาชะผู้เจริญ เหตุปัจจัยอะไรหนอแล เป็นเครื่องให้ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่นมีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

    เป็นชีวิตจริงๆ ที่ท่านถามว่า ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต เป็นการเจริญสติปัฏฐานตลอดชีวิต ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว ๑๐ วัน ๑๕ วัน ถึงแม้ว่าจะเป็นบรรพชิตก็ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

    คือ พระเจ้าอุเทนทรงสงสัยว่า อะไรเป็นเครื่องให้ภิกษุเหล่านั้นที่ยังไม่หมดความเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น ประพฤติพรหมจรรย์ได้ ซึ่งเป็นข้อที่น่าคิด

    ท่านพระบิณโฑลภารทวาชะ ก็ได้ทูลตอบว่า

    ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสไวัดังนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาตั้งจิตว่า เป็นมารดา ในสตรีปูนมารดา เธอทั้งหลายจงตั้งจิตว่า เป็นพี่สาว น้องสาว ในสตรีปูนพี่สาว น้องสาว เธอทั้งหลายจงตั้งจิตว่า เป็นธิดา ในสตรีปูนธิดา

    ข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่นมีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

    มีข้อคัดค้านไหม อำนาจของกิเลสที่มีอยู่ในใจมากมาย เป็นไปในลักษณะที่ล้ำลึกอย่างใด ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ที่ทราบ พระเจ้าอุเทนทรงแย้งว่า

    ท่านภารทวาชะผู้เจริญ จิตเป็นธรรมชาติโลเล บางคราวธรรม คือ ความโลภทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นในเหล่าสตรีปูนมารดาก็มี ปูนพี่สาวน้องสาวก็มี ปูนธิดาก็มี

    มีไหมหนอท่านภารทวาชะ ข้ออื่นที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่นมีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

    ตราบใดที่ยังมีกิเลสหนาแน่น เหนียวแน่นมากมาย ก็ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่จะอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาได้

    ท่านพระบิณโฑลภารทวาชะทูลตอบว่า

    พระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสไว้ ดังนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาพิจารณากายนี้แหละ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา อันมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเปลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร ดังนี้ ขอถวายพระพร

    แม้ข้อนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่นมีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

    ที่ยกพระสูตรนี้เพื่อให้เห็นว่า ถึงแม้มีอัธยาศัยที่จะประพฤติพรหมจรรย์เป็นบรรพชิตแล้ว อำนาจของกิเลสก็ยังมากถึงอย่างนี้ ปุถุชนที่เป็นฆราวาส ก็แน่นอนว่าคงจะมีกิเลสมากกว่า เพราะฉะนั้น พระธรรมเทศนาทั้งหมดเพื่อเตือนให้รู้จักตนเอง เพื่อความไม่ประมาท เพื่อความสลด เพื่อเจริญกุศลธรรมมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่าเป็นการไร้สาระ หรือไม่มีประโยชน์ที่จะกล่าวถึงความจริง แต่เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักชัดถึงความจริง

    ทุกคนมีของไม่สะอาดมีประการต่างๆ อยู่ในกาย ทั้งผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถ้าแตกย่อยออกไปเป็นส่วนๆ แล้ว เอามาหยิบมายื่นให้ก็คงจะไม่ต้องการ ขน เล็บ ฟัน หนัง เอ็น กระดูก แต่พอมารวมกัน ก็ทำให้จิตโลเล ไม่ได้ประจักษ์ความจริงถึงความไม่สะอาดของแต่ละส่วนที่ทุกคนมี

    พระเจ้าอุเทนได้ตรัสกับท่านพระบิณโฑลภารทวาชะว่า

    ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้มีกายอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีศีลอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีจิตอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีปัญญาอันอบรมแล้ว การอบรมกายเป็นต้นนั้น ไม่เป็นกิจอันภิกษุเหล่านั้นทำได้โดยยาก

    ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นผู้มีกายยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีศีลยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีจิตยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีปัญญายังไม่ได้อบรมแล้ว การอบรมกายเป็นต้นนั้น เป็นกิจอันภิกษุเหล่านั้นทำได้โดยยาก

    ท่านภารทวาชะผู้เจริญ บางคราวเมื่อบุคคลตั้งใจอยู่ว่า เราจักทำไว้ในใจโดยความเป็นของไม่งาม แต่อารมณ์ย่อมมาโดยความเป็นของงามก็มี

    มีไหมหนอแล ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ข้ออื่นที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านั้น ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่นมีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

    การพิจารณาถึงความไม่สะอาดของผม ขน เล็บ ฟัน หนังต่างๆ พระเจ้า อุเทนก็เห็นด้วย สำหรับพระภิกษุผู้ที่เป็นผู้มีกายอบรมแล้ว มีศีลอันอบรมแล้ว มีจิตอันอบรมแล้ว มีปัญญาอันอบรมแล้ว คือ ถ้าพิจารณาเรื่องของความไม่สะอาดของกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง บ่อยๆ เนืองๆ เป็นผู้ที่อบรมอยู่เสมอ เวลาที่เห็นสิ่งที่งาม ก็อาจจะน้อมใจไปถึงสภาพที่ไม่งามได้โดยง่าย สำหรับผู้ที่อบรมอยู่เสมอๆ

    แต่พระเจ้าอุเทนทรงทราบความจริงว่า ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นผู้มีกายยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีศีลยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีจิต คือ สมาธิยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีปัญญายังไม่ได้อบรมแล้ว การอบรมกายเป็นต้นนั้น เป็นกิจอันภิกษุเหล่านั้นทำได้โดยยาก ไม่เหมือนกันระหว่างผู้ที่ท่านเจริญกายคตาสติเนืองๆ กับท่านที่ไม่ได้อบรมเจริญกายคตาสติ พระเจ้าอุเทนจึงได้ตรัสถามท่านพระบิณโฑลภารทวาชะว่า

    ท่านภารทวาชะผู้เจริญ บางคราวเมื่อบุคคลตั้งใจอยู่ว่า เราจักทำไว้ในใจโดยความเป็นของไม่งาม แต่อารมณ์ย่อมมาโดยความเป็นของงามก็มี

    จะตั้งใจไว้สักเท่าไรว่าไม่งาม ผมก็ไม่งาม แต่เมื่อกิเลสยังมี ถึงแม้ว่าจะตั้งใจอย่างนั้น อารมณ์ย่อมมาโดยเป็นของงามก็มี ด้วยอำนาจของกิเลส เพราะฉะนั้น พระเจ้าอุเทนก็ตรัสถามต่อไปว่า

    ข้ออื่นที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นานนั้น จะมีไหม

    เป็นชีวิตจริงๆ เพราะเหตุว่าจะต้องปฏิบัติจนตลอดชีวิต และก็ปฏิบัติอยู่ได้นานด้วย

    ท่านพระบิณโฑลภารทวาชะทูลตอบว่า

    ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาเถิด เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่เถิด

    เธอทั้งหลายเห็นรูปด้วยตาแล้ว จงอย่าเป็นผู้ถือเอาโดยนิมิต อย่าเป็นผู้ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว เป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษาจักขุนทรีย์ จงถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์

    ต่อไปก็เป็นการฟังเสียงด้วยหูแล้วสำรวม ตลอดไปจนถึงจมูก ลิ้น กาย ใจ

    แม้ข้อนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่นมีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

    นี่เป็นข้อความที่ท่านพระบิณโฑลภารทวาชะทูลตอบ ซึ่งก็เป็นความจริงว่า ทางที่ดีที่สุดนั้น คือ การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ไม่ใช่ว่าไม่ดู เพราะว่าพยัญชนะแสดงไว้ว่า

    เห็นรูปด้วยตาแล้ว จงอย่าเป็นผู้ถือเอาโดยนิมิต อย่าเป็นผู้ถือเอาโดย อนุพยัญชนะ

    คือ โดยรูปร่างรวมๆ หรือโดยลักษณะส่วนละเอียดปลีกย่อย

    เพราะในขณะนั้น ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ การไม่ยึดถือ ไม่ใช่ว่าด้วยคำสั่งว่าอย่ายึดถือ แต่ต้องแสดงเหตุว่า การละการยึดถือ ไม่ติดในนิมิต ไม่ติดในอนุพยัญชนะนั้น จะต้องเป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งพระเจ้าอุเทนก็ได้ตรัสสรรเสริญว่า

    น่าอัศจรรย์ ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้ว ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ตามกำหนดธรรมปริยายนี้อันพระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่นมีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

    เพียงให้ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง พระเจ้าอุเทนได้ฟังก็สรรเสริญว่าน่าอัศจรรย์นัก ก่อนๆ นี้ไม่ได้สรรเสริญกายคตาสติ การระลึกว่าเป็นมารดาบ้าง เป็นพี่สาวบ้าง เป็นน้องสาวบ้าง เป็นธิดาบ้าง พระเจ้าอุเทนก็ไม่ได้ทรงสรรเสริญ แต่พอถึงเรื่องของการสำรวมอินทรีย์ซึ่งเป็นการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พระเจ้าอุเทนก็ตรัสสรรเสริญว่าน่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมาแล้ว ตามกำหนดธรรมปริยายนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว

    ยิ่งได้ฟังพระสูตรมากๆ ยิ่งได้เห็นว่า ในครั้งกระโน้นท่านที่เจริญสติท่านเห็นคุณของสติ ท่านผู้ฟังคิดว่าพระเจ้าอุเทนเจริญสติหรือไม่ ถึงได้มาสนทนากับท่านพระบิณโฑลภารทวาชะด้วยเรื่องนี้ หรือว่าเพียงแต่ทรงสงสัยว่า ทำไมพระภิกษุจึงได้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้จนตลอดชีวิต ทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่ยังไม่หมดความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book แนวทางเจริญวิปัสสนา
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 34
    28 ธ.ค. 2564

    ซีดีแนะนำ